ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

อยุธยาวิทยาลัย กับ ปรีดี พนมยงค์

28
พฤษภาคม
2563

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสเป็นคนสายน้ำเดียวกันกับผม

ท่านเกิดที่บ้านคลองเมือง เหนือหัวรอขึ้นไป ส่วนผมเกิดในเรือที่คูขื่อหน้า ใต้หัวรอลงมา

ท่านเรียนหนังสือโรงเรียนเดียวกับผม แต่ห่างกันหลายสิบรุ่น ท่านเข้าเรียนเมื่อ ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455) และสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2458 เลขประจำตัว 791 แต่ผมเรียนเมื่อ พ.ศ. 2482 เลขประจำตัว 4450 ห่างไกลกันลิบ

ถึงกระนั้นผมก็เคยเป็นนักเรียนร่วมชั้นกับลูกชายคนหนึ่งของท่านคือ คุณปาล ซึ่งตอนนั้นเป็นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  แต่คุณปาลมานั่งอยู่ไม่กี่วันไม่ทันได้พูดกันด้วยซ้ำ ก็หายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ

มาทราบเรื่องอีกครั้งหนึ่ง ก็ตอนที่คุณปาลจะไปสมัคร ส.ส. ที่อยุธยา เพื่อนร่วมชั้นของผมคนหนึ่ง (คุณอนันต์ วุฒิสาตร์ ซึ่งเกี่ยวดองกับคุณปาล) ดูจะรู้เรื่องดีกว่าผม แต่ก็ไม่ได้พบหน้ากันเกือบ 40 กว่าปีแล้ว

โรงเรียนที่กล่าวถึงนั้น ไม่ใช่โรงเรียนประจำจังหวัด แต่เป็นโรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า ซึ่งอยู่หลังวังจันทรเกษม (สมัยท่านปรีดีเรียนหนังสือ โรงเรียนประจำจังหวัดดูเหมือนจะอยู่ที่วัดสุวรรณดาราม)  ตอนที่ผมเข้าเรียนนั้น เป็นโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยแล้ว เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดชาย ใช้อักษรย่อว่า อ.ย. 1 เรียกกันในครั้งนั้นว่า โรงเรียนหลังวัง 

ตอนผมอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 2 ก็ได้เห็นหน้าท่านปรีดีเป็นครั้งแรก จำได้ว่า ครูประกอบ จันทรปรุง ซึ่งเป็นครูการฝีมือ ได้เอาดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปคนครึ่งท่อน มีแต่ศีรษะกับไหล่ เมื่อปั้นเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ใช้สีดำทา มีคนบอกว่านี่แหละรูปนายปรีดี พนมยงค์ ที่สร้างโรงเรียนหลังใหม่ให้แก่เรา

เมื่อเราย้ายจากโรงเรียนหลังวังไปอยู่โรงเรียนหลังใหม่ (คือโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยในปัจจุบันนี้) เมื่อ พ.ศ. 2483 นั้น ผมยังจำได้ดีว่าเราต้องยกเก้าอี้นั่งของเราไปเอง กว่าจะถึงก็ต้องหยุดพักกันหลายหน  รูปปั้นนายปรีดีที่กล่าวถึง ก็ยกไปตั้งไว้ในห้องพักครู  ส่วนที่ห้องประชุมดูเหมือนจะมีรูปถ่ายของท่านแขวนอยู่ และต่อมาถูกปลดออก เอารูปจอมพล ป. พิบูลสงคราม แขวนแทน 

ความจริงแล้วโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย น่าจะมีรูป “ครูไล้” หรือ อาจารย์วิโรจน์ กมลพันธ์ อีกรูปหนึ่ง เพราะท่านเป็นฝ่ายประสานงานกับท่านปรีดี คือในตอนนั้นอาจารย์วิโรจน์เป็นกรรมการจังหวัด ท่านก็ไปปรารภกับท่านปรีดีถึงเรื่องโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยที่น่าจะสร้างขึ้นใหม่ ท่านปรีดีก็รับช่วย ได้รับพระราชทานเงินจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล 1 แสนบาท โรงเรียนหลังใหม่นี้จึงได้เกิดขึ้น

ส่วนโรงเรียนหลังวังจันทรเกษมนั้น ทราบว่าอาจารย์วิโรจน์ขอเช่าทำเป็นโรงเรียนราษฎร์ แล้วตั้งชื่อเป็นที่ระลึกว่า “โรงเรียนอยุธยานุสรณ์”  ชื่อนี้จะได้เค้ามาจากท่านปรีดีหรือเปล่าไม่ทราบ จำได้ว่าท่านเคยให้ชื่อหนังสือของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย “อยุธยาวิทยานุสรณ์”

ท่านปรีดีมีพี่น้องหลายคน เท่าที่ผมจำไว้มีดังนี้

  1. เก็บ กนิษฐะเสน
  2. ปรีดี พนมยงค์
  3. หลุย พนมยงค์
  4. ชวนชื่น นิติทัณฑ์ประภาศ
  5. หลวงอรรถกิติกำจร
  6. น้อม ตามสกุล
  7. เนื่อง ลิมปินันท์
  8. ถนอม พนมยงค์

สมัยที่ผมเป็นเด็กนั้น ได้ยินแต่ชื่อนายปรีดีกับนายหลุย สองคนนี้เท่านั้น เพราะมีเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่นให้ได้ยินบ่อยๆ 

เมื่อพูดถึงชื่อพี่น้องของท่านแล้ว ก็ขอแก้นามมารดาของท่านเสียด้วย เพราะเห็นพิมพ์เป็น “ลูกจันทร์” ไปหมด ที่ถูกต้องนั้นคือ “ลูกจันทน์” ท่านผู้นี้เป็นลูกสาวคุณหลวงซึ่งอยู่ตำบลสำเภาล่ม จึงได้สนิทชิดชอบกับตระกูล ณ ป้อมเพชร 

ท่านเสียงและท่านลูกจันทน์เป็นคนเกิดตอนต้นรัชกาลที่ 5 เพราะฉะนั้นจึงหาคนที่รู้เรื่องของท่านได้ยากในเวลานี้ ผมเคยสอบประวัติท่านเสียงไว้ แต่เมื่อจะเขียนเรื่องนี้หาไม่พบ จะเขียนตามความจำก็ไม่แน่ใจ จึงต้องปล่อยไปก่อน

ก็หวังว่าว่าเรื่องที่เขียนมานี้ คงจะเสริมส่วนที่บกพร่องในบทความที่มีผู้เขียนมาก่อนได้บ้าง

ป.ล. ผมเห็นด้วยกับการสร้างอนุสาวรีย์ แต่ควรเป็นตึกเล็ก ๆ สักหลังหนึ่งเป็นที่แสดงประวัติ ผลงานเครื่องใช้ เครื่องแต่งตัวพวกเสื้อ หมวกปริญญา อะไรต่าง ๆ ของท่าน เพราะการทำไว้ในห้องใดห้องหนึ่งของโรงเรียนแล้ว นานไปจะถูกไล่ที่ ถ้าไม่มีคนเอาใจใส่ ศิษย์เก่าโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยเป็นใหญ่เป็นโตกันมาก โดยเฉพาะรุ่นผมเป็นผู้ว่ากันหลายคน คงจะเป็นกำลังหาทุนได้

 

 

หมายเหตุ:

  • พิมพ์ครั้งแรก: ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2526
  • ชื่อบทความนี้ อยุธยาวิทยาลัย กับ ปรีดี พนมยงค์ เดิมเคยใช้ว่า สาระเพิ่มเติมเรื่องปรีดี พนมยงค์