ปี พ.ศ. 2522 เป็นปีแรกที่ผมเข้าเป็นนักศึกษาปี 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์ ช่วงเวลานั้นเพิ่งผ่านเหตุการณ์สังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ได้เพียง 3 ปี บรรยากาศในมหาวิทยาลัยยังอยู่ในช่วงฟื้นไข้จากเหตุการณ์หฤโหด กิจกรรมนักศึกษาเพิ่งกลับมาแต่ยังซบเซา ปกคลุมไปด้วยความหวาดระแวง อึมครึม มีเรื่องต้องห้ามมากมายที่ห้ามพูดห้ามเอ่ยถึง
จำได้ว่า บริเวณทางเข้าประตูท่าพระจันทร์มีโปสเตอร์ตีพิมพ์จดหมายของอาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จากประเทศอังกฤษ เป็นลายมือเขียนด้วยมือซ้ายด้วยเหตุว่า ท่านเพิ่งฟื้นจากอาการเส้นโลหิตในสมองแตก พูดไม่ได้ มือขวาใช้การไม่ได้ แต่ความทรงจำยังดี อาจารย์ป๋วยเขียนคำอวยพรสั้น ๆ ถึงเพื่อนใหม่ที่เพิ่งเดินสู่รั้วเหลืองแดงเป็นครั้งแรก
เวลานั้นไม่มีใครกล้าเอ่ยถึง ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ชื่อนี้เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับสังคมไทยมานานกว่า 30 ปีแล้ว ตั้งแต่ท่านลี้ภัยการเมืองภายหลังรัฐประหารปี 2490 จะมีข่าวสารเรื่องราวของท่านในสังคมก็เพียงช่วงสั้น ๆ ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่พอหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เรื่องราวของท่านกลับเงียบหาย แม้ในมหาวิทยาลัยที่ท่านเป็นผู้ก่อตั้งก็ยังไม่มีใครพูดถึงในที่แจ้ง หนังสือเกี่ยวกับปรีดีตามชั้นหนังสือในห้องสมุดมีแทบนับเล่มได้
ปรีดี พนมยงค์ ในเวลานั้น คนในสังคมรู้เพียงว่า เขาคือหนึ่งในคณะราษฎรที่จะล้มสถาบันกษัตริย์ เป็นผู้เกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ 8 และเป็นคอมมิวนิสต์ เกียรติคุณของท่านในเวลานั้นรู้กันเฉพาะในหมู่คนที่สนใจศึกษา และไม่มีใครกล้าพูดกล้าแสดงความเห็นในที่สาธารณะ ชีวิตการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยทำให้ผมมีโอกาสได้ศึกษาเรื่องราวของอาจารย์ปรีดีเป็นประจำ จนกระทั่งปลายปี 2525 ผมมาช่วยเตรียมงานแปรอักษรของชุมนุมเชียร์ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ที่จะมีขึ้นในเดือนมกราคมปีถัดไป
ผมเห็นปฏิทินของสหกรณ์ธรรมศาสตร์เป็นรูปปรีดี พนมยงค์ พร้อมคำกลอนบทหนึ่งว่า “พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี พ่อของข้านามระบือชื่อ ‘ปรีดี’ แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ”
ผมได้ไปปรึกษา คุณอดุลย์ โฆษะกิจจาเลิศ ประธานชุมนุมเชียร์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท ว่า งานบอลประเพณีฯ ที่จะมีในเดือนหน้า เราน่าจะแปรอักษรเป็นข้อความนี้ และเปิดรูปอาจารย์ปรีดีบนสแตนด์เชียร์ที่เต็มพรืดด้วยนักศึกษาจำนวน 2,500 คน เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์รุ่นนี้ไม่เคยลืมอาจารย์ปรีดี คุณอดุลย์เห็นด้วย และบอกว่า พวกเราอยู่ปี 4 กันแล้ว น่าจะทำอะไรเป็นการตอบแทนผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในบั้นปลายชีวิตของท่าน เมื่อสืบจนพบว่า คนเขียนกลอนบทนี้เป็นเพื่อนคณะนิติศาสตร์ชื่อเล่นว่า เทียน เราก็ได้ขออนุญาตนำกลอนของเขามาแปรอักษร ต่อมาจึงประกาศให้ทีมงานบางคนทราบว่า การแปรอักษรครั้งนี้จะเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ลูกแม่โดมจะเผยแพร่รูปอาจารย์ปรีดีสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ถ่ายทอดสดตลอดรายการ
เราตกลงกันว่า การแปรอักษรนี้จะเป็นความลับ รู้กันไม่กี่คน ไม่บอกอาจารย์หรือศิษย์เก่าใด ๆ เพราะกลัวว่าจะถูกผู้ใหญ่บางคนห้ามปรามด้วยความหวาดกลัว เวลานั้นพวกเราวางแผนกันว่า หากแปรอักษรไปแล้วเกิดมีตำรวจหรือสันติบาลมาถามหา ก็นัดแนะกันว่าจะหนีไปทางไหน และจะไม่ซัดทอดกัน หากมีการจับก็ให้มีคนโดนจับน้อยที่สุด
พอถึงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2526 งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 39 เริ่มขึ้น ณ สนามศุภชลาศัย เราวางแผนเตี๊ยมกับทางโฆษกสนาม ขณะที่ขบวนพาเหรดล้อการเมืองเข้าสู่สนามได้สักพัก พอได้เวลาถ่ายทอดสด เราก็วิทยุไปยังโฆษกบอกผู้ชมให้ตั้งใจดูหน้าสแตนด์เชียร์ธรรมศาสตร์ เพราะจะได้พบปรากฏการณ์ครั้งแรก และให้กล้องโทรทัศน์เตรียมจับภาพ บนอัฒจันทร์เริ่มแปรอักษรเป็นคำกลอนพร้อมกับที่โฆษกสนามอ่านกลอนบทนี้ดังก้องสนามศุภชลาศัย ปิดท้ายด้วยภาพอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ มีฉากหลังเป็นรูปโดม สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
เมื่อโฆษกสนามพูดบทกลอนซ้ำอีกครั้ง ในสนามเงียบก่อนที่เสียงปรบมือจะดังลั่น ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ศิษย์เก่า ต.ม.ธ.ก. หลายคนยืนขึ้น น้ำตาไหลด้วยความดีใจ เพราะเป็นครั้งแรกในรอบ 30 กว่าปีที่มีการพูดถึงอาจารย์ปรีดีชัดเจนในที่สาธารณะ ขณะที่นักศึกษาบนอัฒจันทร์โห่ร้องด้วยความยินดีที่ตนในฐานะลูกแม่โดมได้ทำอะไรบางอย่างเพื่อผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้
พอแปรอักษรรูปนี้เสร็จ พวกเราที่อยู่ด้านล่างทำหน้าที่ควบคุมสแตนด์เชียร์ต่างสวมกอดกันด้วยความดีใจ ที่สามารถทำให้อาจารย์ปรีดีออกมาสู่พื้นที่สาธารณะได้เป็นครั้งแรก ไม่กี่สัปดาห์ต่อมาชุมนุมเชียร์ก็ได้รับจดหมายจากอาจารย์ปรีดีส่งตรงจากประเทศฝรั่งเศส ความว่ามีคนส่งภาพการแปรอักษรครั้งนี้ไปให้ท่านดู จึงเขียนจดหมายมาขอบใจคนที่เกี่ยวข้องทุกคนที่ยังรำลึกถึงท่าน
2 พฤษภาคมปีเดียวกัน ปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ ณ บ้านพักชานกรุงปารีส เมื่อได้ทราบข่าว ผมรู้สึกสะเทือนใจที่คนทำงานหนักเพื่อแผ่นดินมาตลอดชีวิตไม่อาจกลับมาตายที่บ้านเกิดได้ ขณะที่ความตายของท่านทำให้ผู้มีอำนาจผ่อนคลายลงและเริ่มมีคนพูดถึงท่านมากขึ้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้สร้างอนุสาวรีย์รำลึกถึงท่านเป็นครั้งแรก มีการประกาศเกียรติคุณ พิมพ์ผลงานความคิดของปรีดีออกมาเรื่อย ๆ
นับจากนั้น ชื่อ ปรีดี พนมยงค์ ไม่กลายเป็นสิ่งต้องห้ามเหมือนในอดีตอีกต่อไป แต่เมื่อทางครอบครัวจะนำอัฐิของท่านกลับเมืองไทยในปี 2529 กลับไม่ได้รับการต้อนรับหรือไม่ได้รับเกียรติยศใด ๆ จากรัฐบาล ทั้งที่ในฐานะอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าเสรีไทย ท่านได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติมาตลอดชีวิต
ผมได้รับการติดต่อจากอาจารย์ธรรมศาสตร์ให้ไปช่วยตบแต่งรถเชิญอัฐิ เมื่อพวกเราไปถึงสนามบินดอนเมืองก็ต้องประหลาดใจไม่มีพิธีกรรมใด ๆ สำหรับสามัญชนผู้นี้ มีเพียงญาติพี่น้อง ลูกศิษย์ลูกหา ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ผมโชคดีได้เป็นผู้ถือผอบบรรจุอัฐิของท่านบนรถตลอดทางจากดอนเมืองสู่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ จำได้ว่า เมื่อมาถึงมหาวิทยาลัยฝนตกหนัก ลูกศิษย์ลูกหาที่ทราบข่าวต่างมารอรับอย่างเนืองแน่น จากนั้นเราลงเรือตำรวจน้ำ ดำรงราชานุภาพ ไปลอยอังคารในอ่าวไทย
ที่เล่ามานี้เพื่อจะบอกว่า สังคมไทยน่าจะให้การยอมรับ ปรีดี พนมยงค์ อีกครั้งหนึ่งเพียง 20 กว่าปีเท่านั้น และเกียรติคุณของท่านได้รับการฟื้นฟูอย่างจริงจังภายหลังปี 2543 เมื่อยูเนสโกยกย่องท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลกในโอกาส 100 ปีชาตกาล รัฐบุรุษอาวุโส ถึงทุกวันนี้ รูปปูนปั้นอาจารย์ปรีดีก็มีเพียงไม่กี่แห่ง เกือบทั้งหมดอยู่ในรั้วธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นนัยว่าลึก ๆ แล้ว ผู้มีอำนาจในสังคมยังไม่เปิดพื้นที่หรือยอมรับท่านอย่างทั่วถึง
ผมเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสศึกษาชีวิตของอาจารย์ปรีดี ได้สัมผัสท่านผ่านท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และลูกหลานมาหลายครั้งได้ถ่ายทอดเรื่องราวของท่านเป็นตัวหนังสือ จึงพอจะเข้าใจชีวิตและความคิดของท่านพอสมควร
ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ใหญ่ไม่กี่คนในชีวิตที่ผมสามารถก้มลงกราบได้อย่างสนิทใจ และหากมีโอกาสไปธรรมศาสตร์คราใด ก็ไม่ลืมที่จะนำพวงมาลัยไปกราบท่าน สามัญชนผู้อยู่ในหัวใจของผมมาโดยตลอด