เนื่องในโอกาสครบรอบ 122 ปี ชาตกาล ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในปีนี้ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันปรีดี พนมยงค์ และมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ได้จัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงท่านบริเวณลานปรีดี พนมยงค์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
หลังจากนั้นจะมีแจกทุนการศึกษา กองทุนปาล พนมยงค์ พร้อมกับ การเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “มุมมอง SDGs เพื่อการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์” แนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นเป็นสิ่งที่อาจารย์ปรีดีได้พยายามพลักดันให้เกิดขึ้นใน “สยาม” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “ประเทศไทย”
“แนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์” ประกอบไปด้วย ประชาธิปไตยทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิทธิมนุษยชน และ สันติธรรม ส่วนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาตินั้นมี 17 ข้อ ครอบคลุมประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ความยุติธรรม และสังคมที่สงบสุข
“ประชาธิปไตยสมบูรณ์” เกิดขึ้นไม่ได้ หากเราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายบางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals ส่วนการบรรลุเป้าหมายบางข้อใน 17 ข้อก็อาจเกิดขึ้นได้ไม่ดีนัก หรือ ไม่เกิดขึ้นหากสังคมไม่เคลื่อนตัวสู่ภาวะประชาธิปไตยสมบูรณ์มากขึ้น เช่น การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายข้อสาม การศึกษาที่เท่าเทียมอันเป้นเป้าหมายข้อสี่ การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายข้อแปด การลดความเหลื่อมล้ำ เป้าหมายข้อสิบ สังคมสงบยุติธรรม ไม่แบ่งแยกอันเป็นเป้าหมายของ 16 และ เป้าหมายข้อ 17 ข้อสุดท้ายไม่อาจเกิดขึ้นได้หากเราไม่มีประชาธิปไตย ไม่เปิดให้เกิดการมีส่วนร่วม และ ไม่มีบรรยากาศของการปรึกษาหารือด้วยเหตุผลตามวิถีทางประชาธิปไตย
ผลงานของ “ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์” ประกอบไปด้วย ผลงานแรก การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็น ระบอบประชาธิปไตยแบบมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือเรียกในช่วงเวลานั้นว่า ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และ ปัจจุบัน เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ผลงานที่สอง เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ
ผลงานที่สาม การเสนอเข้าเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ความเป็นธรรมและรัฐสวัสดิการ
ผลงานที่สี่ จัดตั้งเทศบาลทั่วประเทศ
ผลงานที่ห้า ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง
ผลงานที่หก เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค ทำให้ไทยได้รับเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ เป็นผู้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งสันนิบาตแห่งเอเชียอาคเนย์ พ.ศ. 2490 ก่อนการจัดตั้งอาเซียน 20 ปี
ผลงานที่เจ็ด ปรับปรุงภาษี และ สถานปนาประมวลรัษฎากรขึ้นเป็นครั้งแรก
ผลงานที่แปด ก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย
ผลงานที่เก้า จัดตั้งขบวนการเสรีไทยทำให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม
ผลงานที่สิบ รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ ฉบับ 2489
แม้นจะมีผลงานมากมายเพื่อสังคมไทย แต่เป็นเรื่องที่น่าแปลกของประเทศไทย ที่ในบางช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ไทย ชื่อ “ปรีดี พนมยงค์” เป็นชื่อต้องห้าม ไม่ค่อยมีใครเอ่ยถึงชื่อนี้ เป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมร่วม 30 ปี
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคมประชาธิปไตย ชื่อนี้จึงได้รับการกล่าวขาน และ มีการศึกษาแนวคิดและผลงานอย่างแพร่หลายในหมู่ปัญญาชนและคนรุ่นใหม่ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ตามด้วยการรัฐประหาร มีการด้อยค่าเกียรติคุณ ผลงาน แนวคิด และ คุณความดีของ “ปรีดี พนมยงค์” ที่มีต่อชาติ ราษฎรและประชาธิปไตย สำหรับคนบางกลุ่มแล้ว ชื่อนี้กลายเป็นชื่อต้องห้ามและเป็นคำแสลงสำหรับผู้มีอำนาจที่ไม่รักความเป็นธรรม ปฏิเสธความจริงและความถูกต้อง และ มีซากทัศนะเผด็จการหรือจิตสำนึกแบบศักดินาอยู่
แม้นชื่อของ “ปรีดี พนมยงค์” ผลงานและเกียรติคุณของอาจารย์ปรีดี ได้รับการกล่าวขาน ศึกษาและเผยแพร่มากขึ้นหลังจากประเทศไทยคลี่คลายมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในช่วงหลังของทศวรรษ 2520 อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเศร้าใจสำหรับผู้รักความเป็นธรรมและรักประชาธิปไตย ที่ผู้เป็นกำลังสำคัญในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมี “กษัตริย์” อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เสียสละและทำงานหนักเพื่อประเทศและราษฎรต้องถึงแก่อสัญกรรม ณ. บ้านพักชานกรุงปารีส 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 โดยไม่สามารถกลับมาละสังขารหรือเสียชีวิตในประเทศที่ท่านได้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญกับสมาชิกคณะราษฎรคนอื่นๆ ในการสร้างประชาธิปไตย สร้างเศรษฐกิจและสังคมในยุคใหม่ แต่ยังดีที่ก่อนที่ท่านอาจารย์ปรีดี จะละสังขาร คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์คุณอดุลย์ โฆษะกิจจาเลิศ และ นักกิจกรรมชาวธรรมศาสตร์หลายท่าน ได้ทำให้ชื่อของอาจารย์ปรีดี สู่พื้นที่สาธารณะผ่านการแปรอักษร ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาธรรมศาสตร์ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2526 นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปีที่ชื่อของอาจารย์ปรีดี ได้พูดถึงอย่างชัดเจนในที่สาธารณะและมีการเผยแพร่ข่าวออกไปสู่สาธารณชน โดยมีข้อความว่า
พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน
พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี
พ่อของข้านามระบือชื่อ “ปรีดี”
แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ
(คำกลอนโดย เทียน ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์)
ท่านทูตสุโข สุวรรณศิริ อดีตเอกอัครราชทูต อดีตกรรมการมูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนบทความกล่าวถึง อาจารย์ปรีดีในฐานะศิษย์เตรียม ม.ธ.ก. ว่า อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลที่น่าศรัทธาและเคารพบูชา ท่านได้ให้ข้อคิดแก่บัณฑิตธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 1 ไว้เมื่อพ.ศ. 2479 ว่า “ขอให้ใช้สติประกอบปัญญานำความรู้ที่เป็นสัจจะนี้ไปใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาประเทศชาติและราษฎรให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น” ข้อความที่ท่านให้เป็นการสอนให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน อีกทั้งท่านยังเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลครอบคลุมด้านประชาธิปไตย ด้านสิทธิพลเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านการต่างประเทศ ด้านธรรมะ และด้านการศึกษา
ด้านการสร้างประชาธิปไตยและคุ้มครองสิทธิพลเมือง ท่านได้วางพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้กับราษฎรโดยจัดให้มีเทศบาลตำบลทุกแห่งทั่วประเทศ ให้มีการเลือกตั้งสภาตำบล มีคณะมนตรีตำบล เพื่อให้ราษฎรเข้าใจการปกครองและการรักษาผลประโยชน์ของตนเอง นอกจากนี้ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ท่านได้ตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งศาลปกครองในเวลาต่อมา และยังได้คิดกฎหมายประกันสังคมแต่คณะรัฐมนตรีขณะนั้นไม่เห็นความสำคัญ
ด้านเศรษฐกิจ ท่านได้สร้างประมวลรัษฎากรเพื่อความเป็นธรรมแก่ราษฎรและจัดตั้งธนาคารแห่งชาติเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลัง และออกพระราชบัญญัติงบประมาณ เพื่อให้มีการควบคุมการใช้ภาษีอากรอย่างรัดกุมและสมประโยชน์ นอกจากนี้ท่านยังได้ซื้อทองเพื่อนำเก็บไว้ในคลังชาติ
ด้านการต่างประเทศ ท่านได้แก้ไขยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมกับประเทศต่างๆ และยังได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย นอกจากนี้ท่านยังเห็นความสำคัญของการรวมตัวกันของประเทศเล็กๆ และจัดตั้งเป็นสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดประชาคมอาเซียนในปัจจุบัน
ด้านธรรมะ ท่านได้เชิญท่านพุทธทาสมาแสดงธรรม และท่านได้ประพันธ์หนังสือ “ความเป็นอนิจจังของสังคม” และยังออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 โดยให้มีสังฆสภา สังฆมนตรี และพระวินัยธรเป็นตุลาการ ใช้ได้เพียงไม่นานก็ถูกยกเลิกไป สุดท้ายวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาท่านได้จัดให้มีโรงเรียนเทศบาลและประชาบาลทั่วประเทศ และในระดับอุดมศึกษาได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นเมื่อพ.ศ. 2477
อย่างไรก็ตาม แม้นชื่อของ “ปรีดี พนมยงค์” ไม่กลายเป็นสิ่งต้องห้ามหลังปี พ.ศ. 2526 แต่เมื่อครอบครัวของท่านอาจารย์ปรีดีจะนำอัฐิของท่านกลับสู่เมืองไทยในปี พ.ศ. 2529 กลับไม่ได้รับการต้อนรับหรือไม่ได้รับเกียรติยศใดๆ จากรัฐบาลในขณะนั้น เฉกเช่นรัฐบุรุษของชาติเช่นประเทศอื่นๆ ไม่ให้เกียรติทั้งในฐานะอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าขบวนการเสรีไทย และ ทำคุณประโยชน์มากมายมาตลอดชีวิต อย่างที่ควรจะเป็น แต่ท่านทั้งหลายไม่ต้องแปลกใจ เพราะผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ยังคงระแวดระแวง หวั่นวิตก จากอุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตยเพื่อชาติและราษฎรที่อาจจะสั่นคลอนผลประโยชน์ ท้าทายการโกหกบิดเบือน และ เขย่าอำนาจผูกขาดทางการเมืองเศรษฐกิจสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ ดีว่ารัฐบาลในระยะหลังได้ตระหนักถึงคุณความดีของท่านมากขึ้น โดยเฉพาะรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้เสนอชื่อท่านให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ภายใต้การรณรงค์ของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายท่านซึ่งไม่สามารถเอ่ยชื่อได้ทั้งหมด เช่น ดร.วิเชียร วัฒนคุณ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นต้น
รองศาสตราจารย์ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ
ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์
๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕