ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เศรษฐกิจอาเซียน : การแสวงหาความร่วมมือ มิใช่การแข่งขันระหว่างกัน

31
มกราคม
2567

Focus

  • ประชาคมอาเซียนย่อมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและประเทศสมาชิกอย่างยิ่ง แต่รัฐบาลไทยในปัจจุบันให้ความสำคัญเพียงใด? - บทความชิ้นนี้เป็นงานเขียนแนะนำ (review) หนังสือเรื่อง เศรษฐกิจอาเซียน The ASEAN Economics เขียนโดย ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร (2556) นักเรียนเก่าแห่งมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด ราชบัณฑิตผู้มากด้วยความรอบรู้ และอดีตนักวิจัยอาวุโสในด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมขององค์การระดับภูมิภาคอาเซียน และระหว่างประเทศ (สหประชาชาติ)
  • หนังสือเน้น 5 ประเด็น คือ หลักคิดของความร่วมมือ ภาพรวม โครงสร้างและศักยภาพ ความมุ่งหมายและภารกิจ และ บทบาทสู่การบรรลุเป้าประสงค์ของ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”
  • การนำเสนอแบ่งเป็น 4 บท : แสดงถึงความยากท่ามกลางความน่าท้าทายของเศรษฐกิจอาเซียน แม้ว่าประเทศสมาชิกจะพัฒนาความก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจร่วมกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเทียบกับสหภาพยุโรปที่ก้าวหน้ากว่ามาก การมีทั้งข้อจำกัดและจุดแข็ง โดยในรายประเทศมีศักยภาพต่างกัน และความหวังของการปฏิบัติตามปฏิญญากรุงเทพฯ และ‘กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter)’ (รัฐธรรมนูญของอาเซียน)
  • เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ยังชวนให้นึกถึงความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ หลังสงครามโลกครั้งที่สองที่พยายามก่อตั้งความร่วมมือระหว่างประเทศ ในรูปสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลายเป็นการก่อตั้ง “อาเซียน” ในปัจจุบัน

 


หนังสือเศรษฐกิจอาเซียน ผู้แต่ง ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

 

ความพยายามของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อความร่วมมือกันนั้นมีพัฒนาการมายาวนาน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 จากความร่วมมือกันของสมาชิก 3 ประเทศคือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ที่ก่อตั้งสมาคม ASA (The Association of SouthEast Asia) ก่อนที่จะตกผลึกเป็นข้อตกลง “ปฏิญญากรุงเทพ” (Bangkok Declaration) และก่อตั้ง “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (The Association of Southeast Asian Nations) หรือ ASEAN ขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ร่วมกัน 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย

ผู้เขียนคือ ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ท่านเป็นผู้หนึ่งซึ่งมีประสบการณ์และเกี่ยวข้องกับองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งระดับภูมิภาคอาเซียน และระดับสหประชาชาติ และยังเคยเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการประชุมเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (อีโคเซน) และเป็นนักวิจัยอาวุโสซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการวารสารทางวิชาการว่าด้วยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงนับว่าหนังสือเล่มนี้มีความน่าสนใจและมีความน่าเชื่อถือในการศึกษาเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลและความรู้พื้นฐานทางด้าน "เศรษฐกิจอาเซียน" (The ASEAN Economy) ซึ่งประชาชนชาวไทยทุกคนควรให้ความสำคัญ ถึงแม้ว่าผู้เขียนได้ระบุไว้ว่าหนังสือเล่มนี้มิได้มุ่งหมายที่จะเตรียมความพร้อมของธุรกิจไทยเพื่อการแข่งขันกับเพื่อนสมาชิกอาเซียนก็ตาม และผู้เขียนยังเน้นย้ำถึงเป้าประสงค์หลักของความร่วมมือว่า “อาเซียนจัดตั้งขึ้นเพื่อแสวงหาความร่วมมือ มิใช่การแข่งขันระหว่างกัน” ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการปูพื้นฐานแก่ประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจ “เศรษฐกิจอาเซียน” ในฐานะพลเมืองของ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ที่ควรทำความเข้าใจ

สาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วย 5 ประเด็น ได้แก่

1) หลักคิดของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคอันก่อให้เกิด “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”

2) ภาพรวมของเศรษฐกิจแห่งอาเซียน

3) โครงสร้างและศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนแต่ละประเทศ

4) ความมุ่งหมายและภารกิจของ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”

5) บทบาทสู่การบรรลุเป้าประสงค์ของ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”

ซึ่งสอดคล้องกับการนำเสนอความรู้ภายในเล่มที่แบ่งเป็น 4 บท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

จากสมาคมสู่ประชาคมอาเซียน บทที่ 1 นำเสนอความเป็นมาของความร่วมมือกันของกลุ่มประเทศต่าง ๆ  ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกลุ่มประเทศในภูมิภาคอื่น เช่น ภูมิภาคยุโรปที่มีการก่อตั้ง “สหภาพยุโรป” (European Union) ที่ให้แง่คิดทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม ผู้อ่านจะได้รับความรู้และมุมมองอย่างเป็นเหตุเป็นผลของความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจถึงความเป็นมา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน สำหรับความร่วมมือของประเทศในอาเซียนนั้น

ผู้เขียนกล่าวว่า ในระยะแรกบทบาทจะไปในทางความร่วมมือในด้านสังคมและวัฒนธรรม ขณะที่ประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้รับความเอาใจใส่ยังไม่มากนัก เหตุผลก็คือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “เทคนิค” อยู่มาก ประกอบกับสมาชิกยังอยู่ในฐานะ “ประเทศด้อยพัฒนา” ซึ่งมีข้อจำกัด ครั้นจะใช้ “ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป” เป็นต้นแบบก็คงทำไม่ได้ จนกระทั่งความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปได้พัฒนาไปไกลมากถึงขั้น “ตลาดร่วม” (Common market) และ “สหภาพศุลกากร” (Customs union) ซึ่งหมายถึงการเป็นประชาคมเศรษฐกิจ (Economic Community) ที่เป็นเขตการค้าเสรี สินค้าและบริการที่สามารถข้ามพรมแดนประเทศสมาชิกโดยไม่ต้องมีภาระในเรื่องภาษีขาเข้าขาออก

หากจะกล่าวถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนที่ได้รับความเห็นชอบในหลักการจากรัฐบาลของประเทศสมาชิกตามข้อแนะนำของคณะผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลก เมื่อ ปี พ.ศ. 2515 - 2517 ซึ่งประกอบด้วย

1) การพัฒนาให้อาเซียนเป็นเขตการค้าเสรีอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

2) การให้แต่ละประเทศสมาชิกพิจารณาเลือกเป็นฐานการผลิตสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่งที่มีขีดความสามารถและศักยภาพทั้งในเชิงทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยี ตลอดจนความถนัด และปัจจัยอันเป็นข้อได้เปรียบอื่น ๆ โดยประเทศสมาชิกอื่น ๆ ให้การยอมรับและความสนับสนุน อีกทั้งไม่ทำการผลิตสินค้าประเภทเดียวกันที่เป็นการแข่งขันกันเองด้วย

3) การให้ประเทศสมาชิกร่วมกันผลิตชิ้นส่วน หรือส่วนประกอบต่าง ๆ ที่จะประกอบกันเป็น “ผลิตภัณฑ์อาเซียน” ซึ่งประเทศต่าง ๆ เห็นดีด้วย และได้มีความพยายามมาตลอด เพื่อให้เกิดรูปแบบความร่วมมือดังกล่าวให้บรรลุเป้าหมายนั้นได้ แต่กลับพบคำตอบว่ามีความยากลำบากในทางปฏิบัติ

เพราะอุตสาหกรรมในประเทศอาเซียนส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศอุตสาหกรรมนอกภูมิภาคเข้ามาดำเนินการผลิตในอาเซียน ดังนั้น ความร่วมมือจึงขึ้นอยู่กับประเทศเจ้าของตัวจริงของอุตสาหกรรม มิใช่ขึ้นอยู่กับประเทศอาเซียน

ในขณะเดียวกันแนวทางความร่วมมือในส่วนที่จะทำให้อาเซียนเป็นเขตการค้าเสรีนั้น อาจเป็นเรื่องยากเช่นกัน แต่โอกาสที่จะบรรลุถึงความสำเร็จจะมีมากกว่า จึงทำให้เกิดความร่วมมือทางด้านการลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บจากสินค้าที่ผ่านพรมแดนประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนในปี พ.ศ. 2535 ที่เริ่มใช้ “แผนอัตราภาษีศุลกากรพิเศษที่เท่ากัน” (Common Effective Preferential Tariff) และต่อมาได้มีข้อตกลง “เขตการค้าเสรีอาเซียน” (ASEAN Free Trade Area-AFTA) สำหรับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่า การปรับระดับการรวมกลุ่มประเทศในภูมิภาคเดียวกันจากการเป็น “สมาคม” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มอย่างหลวม ๆ ที่เน้นความร่วมมือระหว่างประเทศเป็น “ประชาคม” อันมีการผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกันนั้น อาเซียนได้ใช้สถาบันที่เกิดขึ้นในยุโรปนับตั้งแต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นแบบอย่าง หากปรับให้สอดคล้องกับสถานภาพและลักษณะพิเศษของภูมิภาคอาเซียนที่มีความแตกต่างกันทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมอาจต้องใช้เวลานานหลายสิบปีทีเดียว

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังกล่าวถึงข้อเสียเปรียบที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ขาดรัฐบุรุษและนักคิดที่มีความหนักแน่นชัดเจนในอุดมการณ์ในการสถาปนาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค นอกจากนี้ ผู้เขียนได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความเป็นมาของความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปอย่างเป็นลำดับ ทั้งที่เกี่ยวกับสนธิสัญญากรุงปารีส พ.ศ. 2494 สนธิสัญญา

กรุงโรม พ.ศ. 2500 และโครงสร้างของสหภาพยุโรปซึ่งอาเซียนได้นำมาเป็นต้นแบบในปัจจุบัน นั่นคือการยกระดับความร่วมมือให้เป็น “ประชาคมอาเซียน”

ตามแบบอย่างของ “ประชาคมยุโรป” ที่ปรับมาเป็น “สหภาพยุโรป” รวมถึงประชาคมอาเซียนมีการกำหนดให้มี “3 เสาหลัก” คือ

1) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

2) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

3) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

หากผู้อ่านจะได้ติดตามรายละเอียดในบทที่ 1 นี้ ผู้อ่านจะเข้าใจถึงหลักติดของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคนก่อให้เกิด “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ได้เป็นอย่างดี

เศรษฐกิจแห่งอาเซียนในภาพรวม ในบทที่ 2 ผู้เขียนได้ให้ข้อมูลทางด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของขีดความสามารถในการผลิต ซึ่งมีปัจจัยหลายประการได้แก่ พื้นที่ ประชากร ทรัพยากรธรรมชาติเทคโนโลยี ผู้ประกอบการ การเงิน และการเมืองการปกครองของภูมิภาคนี้ในส่วนรวม แต่ยังขึ้นกับปัญหาเศรษฐกิจพื้นฐานที่อาจจุดให้ดิ่งลงในทางลบด้วย ผู้เขียนได้เปรียบเทียบอาเซียนกับสหภาพยุโรป

ว่า ถึงแม้ว่าอาเซียนจะมีพื้นที่ใหญ่กว่าและยังมีประชากรมากกว่าสหภาพยุโรปก็ตาม แต่สหภาพยุโรปกลับมีขีดความสามารถในการผลิตที่เหนือกว่าอาเซียน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคุณภาพของประชากรที่มีความต่างระดับกันอันเนื่องมาจากคุณภาพการศึกษานั่นคือ ในระดับปัจเจกบุคคลที่ว่า ‘ผู้ใดมีการศึกษาสูงผู้นั้นก็มีโอกาสในการทำงานที่มีรายได้หรือผลตอบแทนสูง’ ดังนั้นหลายประเทศในอาเซียนได้ให้ความสำคัญต่อสถาบันอุดมศึกษามาตั้งแต่สมัยอาณานิคมก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง จนถึงปัจจุบันที่มีแนวโน้มว่าอุดมศึกษาจะมีความสำคัญและได้รับความเอาใจใส่ทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนับว่า “การศึกษา” เป็นส่วนสำคัญใน “พลังเศรษฐกิจ” ของอาเซียน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของอาเซียนอยู่ที่ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นปัจจัยที่สร้างความแข็งแกร่งให้แก่ “พลังทางเศรษฐกิจ” ของอาเซียนใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านอาหาร, ด้านพลังงาน, ด้านวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรม และด้านการส่งออก

สำหรับทางด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคอาเซียนนั้น ในระยะแรกส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้า “เทคโนโลยีสำเร็จรูป” จากยุโรปและอเมริกา แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อการอุตสาหกรรมขยายตัว “การถ่ายทอดเทคโนโลยี” ด้วยการเรียนรู้เทคโนโลยีในบางส่วนจะมีมากขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับการพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยี ตลอดจนในระยะหลังหลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับ “การวิจัยและพัฒนา” มากขึ้นซึ่งอยู่ในระดับที่น่าพอใจ สำหรับทางด้านผู้ประกอบการนั้น ภูมิภาคอาเซียนอาจขาดแคลนนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์หรือนักเทคโนโลยี ตลอดจนแรงงานที่มีความรู้และความชำนาญในบางสาขาวิชา ซึ่งต้องยอมรับว่า ผู้ประกอบการในภาคเอกชนคือผู้ที่ริเริ่มและตัดสินใจทำการลงทุนผลิตสินค้าและบริการ

นอกจากนี้ การเงินยังเป็นพลังอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งประเมินจากความเข้มแข็งทางการเงินของประเทศที่แสดงถึงเสถียรภาพของประเทศที่ปรากฏข้อมูลเชิงปริมาณใน 3 ด้าน คือ รายได้ประชาชาติ มูลค่าการส่งออกโดยเฉลี่ยในแต่ละปี และทุนสำรองระหว่างประเทศ และการเมืองและการปกครองเป็นปัจจัยสุดท้ายที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัจจัยอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้ว

ถึงแม้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีระบอบการปกครองประเทศที่แตกต่างกัน แต่สมาชิกสามารถร่วมกันด้วยความสมัครใจในข้อตกลงร่วมที่ยอมรับได้ 3 ประการคือ

1) จะไม่มีการแทรกแซงในกิจการภายในของประเทศสมาชิกอื่น ๆ ไม่ว่าจะโดยการกระทำใด ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างเคร่งครัด

2) ประเทศสมาชิกอาเซียนยังไม่มีข้อพิพาทใด ๆ ระหว่างกันที่รุนแรงถึงขั้นแตกหัก แม้แต่สถานการณ์ที่รุนแรงที่สุดคือกรณีพิพาทเรื่องพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชาหรือกรณีอื่น ๆ ก็ยังอยู่ในขอบเขตไม่ขยายผล

3) สมาชิกอาเซียนทุกประเทศต่างเห็นถึงประโยชน์ของการร่วมกันเป็นประชาคม โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับภูมิภาคอื่น หรือกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

ส่วนทางด้านการเมืองนั้นพบว่า ถึงแม้บางประเทศบางขณะอาจมีวิกฤติทางการเมืองที่ค่อนข้างรุนแรงบ้างก็ตาม แต่ทุกประเทศสมาชิกมีแนวโน้มที่จะยอมรับระบบ “การค้าเสรี” หรือระบบเศรษฐกิจตามกลไกตลาดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาของประเทศสมาชิก ทั้งทางด้านการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจ บางประเทศยังมีปัญหาอยู่บ้าง โดยเฉพาะปัญหาว่าด้วยการ

ประพฤติมิชอบและความโปร่งใสของผู้มีอำนาจทางการเมือง การขาดจิตสำนึกว่าด้วยความมั่นคงในความถูกต้องของเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักธุรกิจ ซึ่งประเทศสิงคโปร์ได้รับยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นน้อยที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาจากความไม่สมดุลของเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบทเพราะสภาพความยากจนอันเกิดจากขีดความสามารถในการผลิตต่ำ เป็นต้น

เศรษฐกิจแห่งอาเซียน ในบทที่ 3 ผู้เขียนได้นำเสนอเศรษฐกิจอาเซียนเป็นรายประเทศตามลำดับอักษรภาษาอังกฤษ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา

อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยมีรายละเอียดที่เป็นข้อมูลทางด้านปัจจัยที่มีความสำคัญต่อ “พลังอำนาจทางเศรษฐกิจ” ได้แก่ พื้นที่ ประชากร ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยี ผู้ประกอบการ การเงิน และการเมืองการปกครองที่เป็นการสร้างความเข้าใจต่อประเทศต่าง ๆ มากกว่าการสร้างความรู้สึกเพื่อแข่งขัน

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โครงสร้างและภารกิจ บทที่ 4 ให้รายละเอียดของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีวิวัฒนาการมาจากปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) ซึ่งให้กำเนิดอาเซียนเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 (ค.ศ. 1967) ได้แก่

ปฏิญญากรุงเทพฯ หรือปฏิญญาอาเซียน ซึ่งมีทั้งหมด 7 ข้อ

ผู้เขียนได้ให้แง่คิดว่า ช่วงแรกของอาเซียนมีเป้าประสงค์อยู่ที่ความสงบสุขของภูมิภาค และได้พยายามแสวงหารูปแบบสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก และในที่สุดก็พบว่า “การค้าเสรี” น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด แต่

ดูเหมือนว่า เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก ซึ่งมีสาเหตุ 3 ประการ คือ

1) ประเทศอาเซียนเกือบทั้งหมดในขณะนั้นขึ้นอยู่กับการเกษตรเป็นหลัก และผลิตผลทางการเกษตรของประเทศอาเซียนยังเหมือนกันเป็นส่วนมาก

2) กิจการอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจำหน่ายในประเทศที่มาลงทุน แทนการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป ภายใต้การส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็นสินค้าอย่างเดียวกันทุกประเทศ ทำให้ไม่เกิดการค้าระหว่างประเทศ

3) ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องพึ่งรายรับจากภาษีศุลกากรในการใช้จ่ายเพื่อบริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอากรขาเข้า ดังนั้นการเปิดการค้าเสรีซึ่งมีผลกระทบต่อรายรับของรัฐบาลทุกประเทศจึงเป็นเรื่องยาก

นอกจากนี้ สินค้าบางประเภทในบางประเทศที่การผลิตจำเป็นต้องอยู่ในความคุ้มครองด้วยอากรขาเข้า ทำให้ยังไม่อยู่ในฐานะที่จะให้สินค้าอย่างเดียวกันจากภายนอกเข้ามาแข่งขันได้

ในเกือบท้ายของบทผู้เขียนให้ข้อมูลเกี่ยวกับเสาหลัก 3 เสา ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ต่อจากนั้นยังกล่าวถึง ‘กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter)’ ที่เสมือนรัฐธรรมนูญของอาเซียน ที่ทำให้อาเซียนมีสถานะเป็นนิติบุคคล และวางกรอบทางกฎหมาย โครงสร้างขององค์การ และกลไกการดำเนินงานของประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ ผู้เขียนยังอธิบายถึงแนวทางการดำเนินงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ถือเป็นภารกิจหลัก 4 ข้อ คือ

1) การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน

2) การเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง

3) การเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน

4) การเป็นภูมิภาคที่บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก

ท้ายบทเป็นภาคผนวก มีข้อมูลของประเทศติมอร์ตะวันออก และประเทศปาปัวนิวกินี ซึ่งทั้งสองประเทศอยู่ในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์

หนังสือเล่มนี้นับว่าเป็นหนังสือที่มีคุณค่าน่าศึกษา เพราะให้ความรู้ในเชิงวิเคราะห์นับตั้งแต่ความเป็นมาของความร่วมมือของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งด้านหลักการ แนวคิดเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานที่มีผลต่อขีดความสามารถทางการผลิตของอาเซียน ทำให้ผู้อ่านรู้จักเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ชาติ อันเป็นการสร้างพื้นฐานความเข้าใจทางด้านเศรษฐกิจอาเซียนสู่แนวทางการค้าและ

การลงทุนในอนาคต โดยมีการเรียบเรียงเนื้อหาอย่างเป็นลำดับ ประกอบกับการวิเคราะห์อย่างมีหลักการเป็นวิชาการที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วน และผู้เขียนสามารถนำเสนอข้อมูลและให้เหตุผลเชิงเปรียบเทียบที่ค่อนข้างนุ่มนวล ทำให้เกิดความรู้สึกในทางบวกเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้วิจารณ์ยอมรับว่าประทับใจในการนำเสนอของผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง

 

ที่มา :

นภาลัย ทองปัน. Book Review เศรษฐกิจอาเซียน โดย วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2556. 214 หน้า, ใน, วารสารเกษตร (สังคม) ปีที่ 36 2558, น. 196 - 200.

 

บทความอ่านประกอบ :

อิทธิพล โคตะมี “องค์กรสันนิบาตฯ: ปณิธานของปรีดี พนมยงค์ที่มาถึงอีก 4 ทศวรรษ”