ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

องค์กรสันนิบาตฯ: ปณิธานของปรีดี พนมยงค์ที่มาถึงอีก 4 ทศวรรษ

7
กันยายน
2564

“องค์กรสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Southeast Asian League) คือหนึ่งในไอเดีย ที่ปรากฏตัวขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีสาระสำคัญคือการรวมตัวของประเทศในกลุ่มประเทศเอเชียวันตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ได้เกิดขบวนการชาตินิยมปลดแอกจากมหาอำนาจอาณานิคมหลายประเทศ โดยมุ่งรักษาเสถียรภาพและความเป็นมิตรกันของแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ 

แต่ความพยายามครั้งนั้นก็เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น เพราะภายใต้ระเบียบทางการเมืองโลกใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ นโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็ถูกชูขึ้นมาเป็นธงนำในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ส่งผลให้ภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และอุดมการณ์ทางการเมืองนี้ ความหลากหลายซึ่งน่าจะเป็นโอกาสก็กลายเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งองค์กร ในเวลาต่อมา

ปาฐกถาพิเศษของ ‘รัศม์ ชาลีจันทร์’ อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศและอดีตเอกอัครราชทูต ในวันสันติภาพไทย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้กล่าวถึง ‘ปรีดี พนมยงค์’ ไว้ว่า เปรียบเสมือนผู้วางรากฐานนโยบายต่างประเทศ เพราะนอกจากบทบาทในการพยายามเจรจาต่างๆ กับนานาประเทศ ในเรื่องสนธิสัญญาต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่ปรีดีทำหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือความพยายามก่อตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแนวความคิดนี้ก็ได้นำไปสู่การก่อตั้ง “อาเซียน” ได้สำเร็จในช่วงเวลาต่อมา[1] แต่นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นกว่า 4 ทศวรรษ และหลังจากที่ปรีดี เสียชีวิตไปแล้ว 

แต่เราก็พอจะกล่าวได้ว่า ร่องรอยความคิดนั้น ยังพอสืบค้นได้อยู่ไม่มากก็น้อยว่า อะไรคือมูลเหตุที่ทำให้องค์กรนี้เกิดขึ้นไม่ได้ในช่วงเวลาดังกล่าว ดังที่ครั้งหนึ่ง ปรีดีเคยบันทึกสถานการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระบุว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่เจรจาให้การประกาศสงครามเป็นโมฆะ ซึ่งปรีดีอธิบายไว้ว่ารัฐบาลในสมัยนั้นได้ก่อสงครามโดยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และโดยไม่ประกาศสงครามกับจีนและฝรั่งเศส รัฐบาลของประเทศเหล่านี้[2] ความแตกต่างทางความคิดแสดงออกผ่านท่าทีของประเทศต่างๆ ถึงที่สุดไทยประสบความสำเร็จในการเจรจาไม่ต้องผ่านสงคราม แต่กระบวนการหลังจากนั้นก็เผชิญความยากลำบากมากกว่าครั้งใดๆ

จากบทสัมภาษณ์ระหว่าง ‘ชาญวิทย์ เกษตรศิริ’ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ถาม และ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ตอบแสดงให้เห็นถึงปณิธานตั้งต้นของปรีดีว่ามาจากอะไร โดยพบว่าความคิดการก่อตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian League) ที่เกิดขึ้น ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อไทยเป็นศูนย์กลางของประเทศที่ต้องการปลดแอกและนำไปสู่การคิดก่อตั้ง “สันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” แต่ปรีดีกล่าวว่าไม่ได้อ้างเรื่องสันนิบาตนี้ว่าเป็นความคิดริเริ่มของท่านเองโดยเฉพาะ

โดยปรีดีมีความเห็นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่กลางระหว่างจีนและอินเดีย ถ้าประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างแยกกันก็จะอยู่ได้ลำบากถ้ารวมกันสมานกันได้ก็จะเป็นพลังอันหนึ่ง จึงได้ตกลงกันเรื่องสมาคม (สันนิบาต) มีลาว เวียดนาม เขมร อินโดนีเซีย มอญ และไทยใหญ่มาร่วมประชุมกัน แต่ยังมิได้ลองลงมือตั้งให้เป็นทางการ

ดังนั้นจึงยังคงเป็นแต่ความคิดริเริ่ม ‘เตียง ศิริขันธ์’ นับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญเพราะเป็นคนที่ได้ช่วยเหลือและมีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวกับเอกราชของลาวและเวียดนามมาก

 

 

ข่าวการประชุม องค์กรสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian League) ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ The Singapore Free Press เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 มีชื่อของ เตียง ศิริขันธ์ เป็นประธานองค์กรสันนิบาตฯ เจ้าสุภานุวงศ์ เป็นรองประธาน และ นาย Le Hi เป็นเลขานุการ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://eresources.nlb.gov.sg/newspapers/Digitised/Article/freepress19471121-1.2.20.10?ST=1&AT=search&k=Southeast%20Asian%20League&SortBy=Oldest&filterS=0&Display=0&QT=southeast,asian,league&oref=article

 

เกี่ยวกับความคิดในเรื่องสันนิบาตและความเป็นกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ มีส่วนทำให้เจ้าหน้าที่อเมริกันบางพวกไม่พอใจและไม่สนับสนุนปรีดี โดยเฉพาะพวกที่เข้ามามีอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง[3]

ถึงตรงนี้มีประเด็นที่สำคัญที่พอจะชี้ให้เห็นอุปสรรคบางประการ จนทำให้เห็นได้ว่าอะไรคือเงื่อนไขที่ทำให้องค์กรที่ดูมีใบหน้าเป็นมิตรเกี่ยวร้อยผู้คนในภูมิภาคนี้ให้สมานสามัคคีจึงเกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งๆ ที่ในช่วงสงครามโลกปรีดี พนมยงค์ และขบวนการเสรีไทย ล้วนปฏิบัติการอย่างแข็งขันในการช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าหน้าที่สหรัฐในภาคพื้นทวีป

เราอาจจะเห็นปมปัญหาดังกล่าวได้ละเอียดลออเพิ่มขึ้นจากการค้นคว้าของ ‘ณัฐพล ใจจริง’ ซึ่งอาศัยหลักฐานชั้นต้นจากบันทึกของเจ้าหน้าที่การทูตสหรัฐที่มีบทบาทอย่างสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว 

ในหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี: การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกสหรัฐอเมริกา 2491-2500 นำเสนอให้เห็นกระบวนการสันติภาพที่แปรเปลี่ยนมาสู่ความขัดแย้งนั้นเกี่ยวพันกับปัจจัยทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ โดยปัจจัยภายในประเทศเกิดขึ้นมาจากการแย่งชิงอำนาจของตัวแสดงทางการเมืองหลายกลุ่ม ก่อให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลปรีดีและมิตรสหาย ตามมาหลายประการ

ขณะเดียวกันอีกปัจจัยที่สำคัญ คือ ทันทีที่ ‘แฮรี่ เอส. ทรูแมน’ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในปี 1945 นโยบายต่างประเทศก็เปลี่ยนไป จากที่สหรัฐเคยเห็นใจขบวนการชาตินิยมต่อต้านอาณานิคม ก็หันไปสู่การให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจและป้องกันมิให้เกิดการปฏิวัติเกิดขึ้นในโลก โวหารการต่อต้านคอมมิวนิสต์และสนับสนุนรัฐบาลอำนาจนิยมในหลายประเทศจึงเริ่มขึ้นอย่างเป็นระบบนับจากนั้น

กรณีเช่นนี้ส่งผลต่อรัฐบาลปรีดีโดยตรง แม้ว่าในช่วงสงครามโลกสหรัฐจะเคยให้ความช่วยเหลือปรีดีในการต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. และญี่ปุ่น รวมถึงช่วยให้ไทยไม่ตกเป็นผู้แพ้สงคราม แต่เมื่อมาถึงยุคทรูแมนแล้ว การสนับสนุนขบวนการชาตินิยมในเวียดนามของปรีดีและความพยายามก่อตั้งองค์กรสันนิบาตฯ ก็นับเป็นสิ่งที่สหรัฐไม่เห็นด้วย แต่ปรีดีก็พยายามต่อไป ดังจะพบได้ในเดือนกันยายนปี 2490 ก่อนการรัฐประหาร 9 พฤศจิกายน จะมาถึงไม่นาน ความเห็นอกเห็นใจของปรีดีต่อรัฐบาลชาตินิยมเวียดนามก็มิได้รับการตอบรับจากดี.ซี. เหมือนเช่นที่เป็นมา[4]

จนกระทั่งกลุ่มนายทหารนอกราชการทำการรัฐประหารรัฐบาล ‘พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์’ ซึ่งปรีดีให้การสนับสนุนสำเร็จ นักการเมืองที่หนุนหลังปรีดีจำนวนมากมีความพยายามต่อต้านการรัฐประหาร รวมถึงผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสันนิบาตฯ เช่น เตียง ศิริขันธ์ ความเคลื่อนไหวนี้รวมไปถึงการที่ผู้แทนไทยประจำสหประชาชาติก็ลาออก โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถร่วมงานกับรัฐบาลใหม่ได้[5]

ปรีดีมีความพยายามจั้งตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น แต่จนถึงที่สุดท่าทีของสหรัฐกลับเมินเฉย โดยณัฐพลเสนอว่า ท่าทีเช่นนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลของปรีดีเคยดำเนินนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐ ด้วยการจัดตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแม้ว่าปรีดีจะได้รับความช่วยเหลือจากโอเอสเอส มิตรเก่าที่เคยร่วมกันในการต่อต้านญี่ปุ่น แต่การดำเนินนโยบายใหม่และเจ้าหน้าที่ชุดใหม่ของรัฐบาลทรูแมนก็มีท่าทีที่แตกต่างจากเดิมไป อีกทั้งขบวนการเสรีไทยที่ปรีดีตั้งใจให้เป็นเพียงองค์กรชั่วคราวปฏิบัติการภารกิจรับใช้ชาติ เมื่อเสร็จสิ้นก็สลายตัวในที่สุด ก็ไม่มีพลังอย่างน้อยในเชิงขบวนการ

ถึงที่สุด รัฐบาลวอชิงตัน ดี.ซี. ก็มิได้ตอบรับท่าทีของกลุ่มปรีดี โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือต้องการให้เกิดเสถียรภาพมากภายใต้สถานการณ์หลังสงคราม อันจะเอื้อให้นโยบายต่างประเทศของสหรัฐดำเนินต่อไปได้ ท่ามกลางการต่อสู้กับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และขบวนการชาตินิยมในหลายประเทศ

กล่าวได้ว่า ภายใต้ระเบียบโลกใหม่ในยุคสงครามเย็น 1950-1990 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องเผชิญกับความรุนแรงและความขัดแย้งมหาศาลมีผู้คนเผชิญไฟสงคราม บาดเจ็บล้มตายไปเป็นจำนวนมาก แต่ปณิธานที่ปรีดีนำเสนอ ก็ยังทิ้งข้อคิดอยู่เป็นระยะ ดังที่รัศม์ ชาลีจันทร์ เสนอไว้ว่า แนวคิดการก่อตั้งสันนิบาตฯ ได้ถูกนำไปสานต่อในนักการทูตรุ่นต่อๆ มา ไม่ว่าจะเป็นยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐมนตรีถนัด คอมันตร์ นักการทูตไทยก็ได้สานต่อนโยบาย ดังจะเห็นได้จากการก่อตั้งสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (Association of Southeast Asian Nations) ซึ่งสำเร็จมาในช่วง 1950's-1960's ยุคของ ‘คุณถนัด คอมันตร์’ ซึ่งช่วยสร้างการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความมั่นคงให้กับประเทศไทยได้[6]

โดยหนึ่งในหลักคิดสำคัญของปณิธานครั้งนั้นแสดงออกในหลักที่เรียกว่า “อธิปไตยในอาเซียน” อันสอดคล้องกับหลักเอกราชที่ปรีดี ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกเมื่อครั้งมีบทบาททางการเมือง โดยมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ที่การปฏิเสธการแทรกแซงอำนาจอธิปไตยของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งอาเซียนยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกมาโดยตลอด โดยแนวทางการวางตัวเป็นกลาง ยึดมั่นในหลักสันติภาพ การริเริ่มก่อตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ South East Asia League หรือ ส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีโลก ส่งอิทธิพลมาถึงนโยบายต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรคิดต่อคือ เนื้อหาสาระของหลักการนี้ จะยังเป็นดังปณิธานตั้งต้นของปรีดีมากน้อยเพียงใด หลักสันติภาพยังมีอยู่มากแค่ไหน เนื่องจากอาเซียนยังคงเผชิญปัญหาที่เกิดขึ้นหลังสงครามเย็น ทั้งการรัฐประหาร ความรุนแรงต่อพลเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้คงเป็นโจทย์ของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต ที่ต้องหาทางแก้ไข เพราะจากอดีตถึงปัจจุบัน ทุกคนในแต่ละช่วงเวลาล้วนมีเงื่อนไขที่ยากลำบากแตกต่างกัน 

 

 


[2] ปรีดี พนมยงค์. 2558. โมฆสงคราม: บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, หน้า 23

[4] ณัฐพล ใจจริง. 2563.  ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี: การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกสหรัฐอเมริกา 2491-2500. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, หน้า 55-57 

[5] เพิ่งอ้าง หน้า 63-64