ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ห้องดำรง

17
กุมภาพันธ์
2567

Focus

  • วันนี้เมื่อ 129 ปี ที่ผ่านมา (17 กุมภาพันธ์ 2438) เป็นวันคล้ายวันประสูติของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล (บ้างครั้งเรียกกันอย่างยกย่องเป็นพิเศษว่าหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล) เจ้าหญิงท่านนี้ เป็นบุตรกตัญญู ผู้ฉลาดหลักแหลมและตั้งใจทำให้บรรดาหนังสืออันมีค่ายิ่งของพระบิดา (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชโอรส ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้รับการจัดเก็บไว้ในห้องสมุดเพื่อเป็นสมบัติของชาติ (ปัจจุบันคือหอสมุดดำรงราชานุภาพ ในสังกัดหอสมุดแห่งชาติ)
  • การได้มีโอกาสพบเห็นแบบอย่างในการจัดเก็บและรักษาสิ่งของที่เคยเป็นของบุคคลผู้มีชื่อเสียงในประเทศยุโรป อาทิ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ให้เป็นสมบัติของส่วนรวม สนับสนุนต่อความเชื่อมั่นของเจ้าหญิงท่านนี้ในเวลาต่อมา ในการจัดการมรดกหนังสือและภาพทั้งหมดที่ได้รับจากพระบิดาให้เป็นของส่วนรวม (และไม่ให้ตกเป็นของญี่ปุ่น) จนสำเร็จ
  • นายปรีดี พนมยงค์ ในขณะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีความคิดเห็นที่สื่อสารถึงหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ในการจัดทำห้องสมุดดำรงให้เป็นสมบัติของชาติด้วยเช่นกัน และช่วยประสานรัฐบาลในเวลาต่อมาในการทำให้ห้องสมุดดำรงเป็นสมบัติของชาติมีความเป็นจริง โดยเปิดบริการเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2490

 


หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล

 

การให้ของมีค่าเป็นสมบัติแก่ชาตินั้น ถ้าเป็นเรื่องในประเทศยุโรปหรืออเมริกาก็ไม่เป็นเรื่องแปลกประหลาดอันใดเลย เพราะเขาทำกันอยู่เสมอแล้ว แม้การให้แก่โลกโดยไม่เลือกชาติศาสนาเขาทำกันได้และถือว่าเป็นยอดของจิตมนุษย์ด้วย ในเมืองไทยก็ได้มีผู้ให้บริจาคมาแล้วมากมายเหมือนกัน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น ข้าพเจ้าจึงไม่เห็นแปลกประหลาดอันใดที่จะให้ห้องดำรงนี้แก่ชาติ แต่ได้มีเพื่อนฝูงหลายคนมาซักถามว่า เหตุใดจึงคิดให้ดังนี้ และในที่สุดรุ่งอรุณก็ขอให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้ให้ ข้าพเจ้าลังเลใจว่าจะเขียนดีหรือไม่ดี แต่แล้วก็นึกได้ว่าการจดความจริงไว้ดีกว่าปล่อยให้เป็น “พระอินทร์สร้าง” ในภายหน้า แล้วก็ลงมือเขียนเล่าดังต่อไปนี้

ในสมัยเมื่อข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ในวงสมาคม พวกเพื่อนตามสถานทูตเคยถามว่า

“พรินเซสท่านเคยนึกถึงงานของพ่อท่านที่ได้ทำไว้บ้างหรือเปล่า”

ข้าพเจ้าถามว่า “ทำไมจะต้องนึกถึงเล่า”

เขาตอบว่า “ฉันหมายความว่าต่อไปภายหน้าเมื่อไม่มีพระองค์ท่านแล้ว”

ข้าพเจ้าสะดุ้งมองดูด้วยกลัวคำว่า “ไม่มีพระองค์ท่านแล้ว”

แล้วก็ตอบไปว่า “ยังไม่คิดละ”

แต่....แล้วก็ทำให้ข้าพเจ้าคิดจริงๆ

แต่นั้นมาเป็นแต่ยังไม่เห็นทางว่าจะทำอย่างไรดี ถึงปี พ.ศ. 2473 โชคชะตาเดาะเราไปสู่ยุโรปประเทศโดยมิได้นึกฝันแล้วข้าพเจ้าก็เริ่มละเมอเพ้อพกไปตามความรู้เห็นใหม่ๆ นั้นเช่นเดียวกับคนอื่นๆ

เมื่อข้าพเจ้าโผล่ขึ้นไปบนบันไดโรงออปราที่กรุงปารีส ได้เห็นท่านวากเนอร์ ท่านปูจินี และท่านโมซาต์ ฯลฯ ยืนถือโน้ตเป็นสง่าอยู่ตัวโตใหญ่ และมีรูปหินอ่อนครึ่งตัวของผู้แต่งเพลงที่มีชื่อเสียงไว้เป็นระยะๆ ไปทั้งสองฟากโรงออปราที่มีชื่อเสียงนั้น ข้าพเจ้าร้องว่า “อ้อ หน้าตาเป็นอย่างนี้เอง” แล้วก็ตื่นเต้นดูอื่นต่อไป

ครั้นข้ามทะเลไปถึงเมืองอังกฤษ เราก็ได้เฝ้าควีนอาลิศซาเบธ ทรงฉลองพระองค์ของท่านประทับอยู่บนพระเก้าอี้ในห้องโบสถ์เวสมินสเตอร์ ถามผู้นำว่า “เหมือนหรือ” เขาตอบว่า “นี่คือพิมพ์จากพระพักตร์เมื่อสิ้นพระชนม์” เราได้พบท่านลอร์ดเนลซันใส่เสื้อและวิกของท่านอยู่หลังหมอนกำมะหยี่ที่วางดาบของนโปเลียนที่ 1 ไว้ และมีเศษกระดาษลายพระหัตถ์ของนโปเลียนที่ 1 เขียนไว้ว่า “ข้าพเจ้ายอมแพ้ และยอมเรียกชาติของท่านว่าผู้ครองทะเล”

ต่อมาเราไปดูพระราชวังวินด์เซอร์ พอก้าวขึ้นอัฒจันทร์ใหญ่ก็เห็นรูปเกราะยืนอยู่ตรงกลาง ข้าพเจ้าร้องทักออกไปทันทีว่า “แน่ะ เฮนรี่ที่ 8” ราชบรรณารักษ์ผู้นำหันมาก้มหัวรับและอมยิ้ม แล้วเขาก็พาไปแวะดูกรอบกระจกติดไว้ที่ฝา มีหมวกและถุงตีนเด็กอ่อนและคอลเลอร์จีบ ซึ่งมีรอยจุดดำๆ ติดอยู่ในกรอบกระจกนั้น และมีการ์ดจดไว้ว่า “ของพระเจ้าชาร์ลที่ 1” วันที่ลอร์ดแมร์เชิญเราไปกินกลางวันที่กรุงลอนดอน (City of London) เครื่องทองที่ตั้งอยู่กลางโต๊ะก็ล้วนแต่แกะสลักบอกเรื่องไว้ว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นๆ พระราชทานแก่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่และปีนั้นๆ ซึ่งยันหลังขึ้นไปตั้ง 100-200 ปี ท่านแมร์ก็ยินดีหยิบอวดให้เราดูเป็นชิ้นๆ ข้าพเจ้าร้องอ้าปากว่า “ที่นี่ไม่มีใครตาย”

เมื่อกลับมาแล้ว ข้าพเจ้าก็เริ่มคุยกับเสด็จพ่อว่า “แหม อยากเป็นคนไม่ตายบ้างจริง ทำไมเราไม่ทำอย่างนี้บ้าง มันหนุนกำลังใจดีพิลึก” ท่านทรงยิ้มอย่างสมเพชแล้วตรัสถามว่า “ทำยังไง” ข้าพเจ้าวางโตตอบว่า “ก็พระระเบียงวัดพระแก้วมีถมไป ตั้งเข้าให้เป็นแถวก็จะดีจริงๆ” ท่านย้อนถามว่า “ใครจะเป็นคนเลือกว่าจะทำรูปใคร” ข้าพเจ้าดันต่อไปว่า “ก็เอางานที่ทำเป็นเครื่องตัดสินไม่ได้หรือ” ท่านทรงยิ้มแล้วตอบว่า “เธอมันยังรู้จักเมืองไทยน้อยนัก ถ้าเลือกผิดไปแม้คนเดียวมันก็หมดค่า แล้วจะเป็นประโยชน์อะไร นอกจากรกและรำคาญตา”

ข้าพเจ้าหมดท่าตรงนี้เอง เพราะเห็นว่าจริง ครั้นเที่ยวต่อไปถึงเมืองแฮมเบิร์ก พรินส์บิสมาร์คหลานปู่ของท่านบิสมาร์คเป็นผู้ใหญ่รวมอาณาจักรของเยอรมันนีได้เป็นปึกแผ่นเชิญเราไปเลี้ยงน้ำชาที่บ้าน แล้วพาดูห้องที่ท่านบิสมาร์คอยู่ เขาทิ้งไว้อย่างเวลามีชีวิตอยู่ทุกสิ่ง แม้กล้องสูบยาที่เป็นไม้เลวๆ ก็วางไว้ตรงที่เดิม เราดูแล้วจะรู้จักเจ้าของห้องได้ทันทีว่าเป็นคนชนิดไร

ห้องนี้ทำให้ข้าพเจ้านึกได้ว่า ความจนเป็นของไม่น่าอายเลย เราก็น่าจะทำได้เช่นห้องนี้ แล้วก็ลองพูดกับเพื่อนๆ ฝรั่งดูว่าอยากทำบ้าง เขาก็พากันเห็นชอบและหนุนว่าควรทำแต่ข้าพเจ้าไม่ได้ทูลเสด็จพ่อ เพราะข้าพเจ้ายังพูดเรื่องตายกับเสด็จพ่อไม่ได้เวลานั้น ครั้นไปถึงเมืองแอมสเตอร์แดมในฮอลแลนด์ มิสเตอร์ซาเดอแมนกงสุลเจนเนอรราลของเราลุกขึ้นยืนสปีคด้วยอย่างหน้าแดง เมื่อลุกจากโต๊ะแล้วมิสเตอร์ซาเดอแมนก็เดินมาหาข้าพเจ้าบอกว่า “พรินเสซ นี่คือสปีคครั้งแรกของฉันความยินดีที่ได้รู้จักกับพ่อท่านทำให้ลืมอาย”

ครั้นเห็นข้าพเจ้าขอบใจเป็นพิธี มิสเตอร์ซาเดอแมนก็พูดอย่างเคร่งขรึมต่อไปว่า “จริงๆ นะพรินเสซ ท่านมีสิทธิเต็มที่ๆ จะภาคภูมิในพ่อของท่าน คนชนิดนี้เกิดมาเพื่อโลก เขาเป็นคนของโลก จริงๆ โลกเรามีคนชนิดนี้อยู่เพียง 4-5 คนเท่านั้น เผอิญคนหนึ่งใน 4-5 คนนี้ไปเกิดในเมืองไทย”

ข้าพเจ้าหัวเราะตอบว่า “ถ้าเช่นนั้นคนไทยก็ควรจะภูมิใจซีไม่ใช่ฉันคนเดียว” ทุกคนที่รู้จักมิสเตอร์ซาเดอแมนจะรับรองได้ว่าเขาเป็นคนชั้นที่ 1 ทั้งรูปร่างหน้าตา กิริยา และความสามารถไม่มีเกลียวกลม (Screw loose) แต่อย่างไรแม้แต่น้อย ฉะนั้นข้าพเจ้าก็ตัวลอยกลับมาบ้าน และนึกอยู่ว่าเรามีสิทธิเต็มที่ๆ จะภาคภูมิใจในพ่อของเรา

แต่โลกย่อมหมุนไปสู่มืดและสว่างอยู่ทุกวินาที ไม่มีอะไรแน่นอนตามธรรมชาติ ฉะนั้นในเวลา 20 เดือนต่อมาเสด็จพ่อของข้าพเจ้าก็หมุนไปตกช่องชาตา เป็นคนขายชาติ หนังสือพิมพ์รายวันลงเรื่องต่างๆ ล้วนแต่ไม่มีดี ข้าพเจ้านึกปลอบใจ

ตัวเองว่าเป็นคราวเคราะห์ แต่แล้วก็ได้พบเพื่อนคนหนึ่งซึ่งมียศเป็นถึงชั้นพระยา บอกข้าพเจ้าว่า “เรื่องขาย 4 รัฐนี้ใครๆ ก็เชื่อ คนที่มีอายุ 30 ปีแล้วเชื่อทั้งนั้น กระหม่อมเองก็เคยเชื่อเพราะได้ยินเจ้านายท่านรับสั่งกัน”

ข้าพเจ้าหัวเราะแล้วถามว่า “เอ ขายยังไงกัน บ้านนิดเดียวยังต้องมีโฉนด มีเมืองเป็นเมืองๆ ขายยังไงถึงไม่ถูกถอดเสียนานแล้ว” เจ้าคุณหัวเราะตอบว่า “ไม่รู้เลย” ถ้อยคำของเจ้าคุณผู้นี้บวกกับคำของมิสเตอร์ซาเตอแมน ชกตีกันยุ่งอยู่ในหูของข้าพเจ้า แล้วก็ทำให้ตกลงใจแน่นอนว่าจะต้องทำให้โลกรู้จักเสด็จพ่อจริงๆ ให้จงได้ ข้าพเจ้าเริ่มคิดถึงห้องดำรงแต่นั้นมา แต่ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรและที่ไหน

ถึง พ.ศ. 2480 เสด็จพ่อทรงตั้งต้นคิดทำพินัยกรรมใหม่ ท่านตรัสว่าจะต้องทำให้เหมาะแก่เวลา ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ทูลตอบว่าอย่างไร จนเช้าวันหนึ่งในปีนังเสวยกาแฟแล้วตรัสกับข้าพเจ้าว่า “พ่อตั้งเธอเป็นกรรมการคนหนึ่งในพินัยกรรม นั่งลงฟังเหตุผลก่อน” ข้าพเจ้ากำลังจะลุกไปทำงานก็กลับนั่งด้วยอาการไม่สบายใจ เพราะกลัวคำว่าพินัยกรรม ท่านตรัสต่อไปว่า “เพราะแม่เธอต้องทำขนมขายเมื่อแรกเขามาอยู่กับพ่อ” แล้วท่านทรงมองดูข้าพเจ้าด้วยน้ำพระเนตรเต็มพระเนตร

ข้าพเจ้านั่งงงกลั้นหายใจแล้วรีบทูลตอบไปว่า “ขอประทานอย่าให้หม่อมฉันต้องฟังเรื่องพินัยกรรมเลย หม่อมฉันอยู่กับเสด็จพ่อด้วยความตั้งใจจะเป็นลูกดีและบูชาพระคุณที่ไม่เห็นมีใครเหมือน หม่อมฉันไม่อยากได้อะไรตอบแทนถ้านึกถึงพินัยกรรมแล้ว หม่อมฉันก็จะมีราคาเท่าบ่าวคนหนึ่งเท่านั้น” ข้าพเจ้าพูดแล้วก็รีบลุกหนีก่อนที่จะร้องไห้ออกมา ท่านก็ไม่ว่าหรือเรียกให้หยุด รุ่งขึ้นอีก 2-3 วันเราขึ้นรถแล่นเย็นๆ ตามหมอสั่ง ผ่านตึกหลังหนึ่งริมทะเล

ท่านตรัสขึ้นว่า “ในพินัยกรรมพ่อสั่งไว้ว่า” คราวนี้ข้าพเจ้าหนีไปไหนไม่ได้ เพราะรถกำลังแล่น ข้าพเจ้าก็รีบทูลเปลี่ยนเรื่องขึ้นว่า “เออ ที่หม่อมฉันทูลว่าไม่อยากได้อะไรนั้นดูเหมือนผิดเสียแล้ว มีของสิ่งหนึ่งที่หม่อมฉันอยากได้และเชื่อว่าจะไม่ต้องแย่งกับใครด้วย” ท่านหันมาถามว่า “อะไร” ข้าพเจ้าทูลตอบว่า “หนังสือ” เพราะถ้าหม่อมฉันต้องไปเห็นลายพระหัตถ์เสด็จพ่ออยู่ตามเวิ้งนครเขษมเล่มละ 23 สตางค์ละก็จะร้องไห้งอทีเดียว” ท่านถามว่า “จะเอาไปทำอะไร” ทูลตอบว่า “จะทำห้องดำรงเชื่อว่าคงจะมีใครรับรักษาไว้ให้สักแห่งหนึ่งเป็นแน่” ท่านทรงยิ้มแล้วถามว่า “จริงๆ หรือ” ข้าพเจ้าทูลว่า “จริง” ท่านก็ตอบว่า “เอาซี แล้วพ่อจะบอกเขาให้” ต่อมาพี่น้องข้าพเจ้าทุกคนก็รู้กันว่าเสด็จพ่อประทานหนังสือและรูปเก่าๆ ทั้งหมดให้ข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว

ถึง พ.ศ. 2485 เราได้กลับมาจากปีนัง เพราะเสด็จพ่อไม่ทรงสบายเป็นโรคพระหทัยพิการ เข้าขึ้นท่านก็ทรงแต่งหนังสือตามเคย แต่คราวนี้มีเติมทรงจัดห้องสมุดของท่านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นหมวดๆ ด้วย บ่ายวันหนึ่งท่านกำลังเสวยน้ำมะนาว เมื่อบรรทมตื่นจากทรงพักแล้ว หญิงเหลือเดินมาตามข้าพเจ้าว่า “เจ้าพี่ เสด็จพ่อให้ไปเฝ้าแน่ะ ทำใจเสียให้ดี ฉันคิดว่าท่านจะพูดอะไรด้วย เพราะดูท่าท่านนั่งคิดอะไรอยู่ก็ไม่รู้”

ข้าพเจ้าเดินเข้าไปเฝ้าในห้องหนังสือ ท่านชี้เก้าอี้ข้างพระองค์ “นั่งลงก่อน” แล้วท่านก็มองหนังสือรอบๆ ห้อง แล้วก้มลงมองพระบาทของท่านที่กำลังบวมอยู่ สักครู่ก็ตรัสถามว่า “เธอจะทำอย่างไรกับหนังสือของพ่อ” ข้าพเจ้าทูลว่า “จัดเป็นห้องสำหรับค้นต่อที่ทรงทำไว้” แต่ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะรับหรือไม่ และทำอย่างไร ถึงจะไม่ให้หายได้ แต่ไม่เป็นอะไร ถ้าทำที่นี่ยังไม่ได้หม่อมฉันก็จะให้หอสมุดในยุโรปหรืออเมริกาไปก่อน

เมื่อคนไทยเขาเห็นคุณค่าเมื่อไรเขาก็ไปจัดการเอากลับมาก็แล้วกัน ท่านมองดูข้าพเจ้าแล้วตรัสว่า “อย่าลืมซีว่าเราเกิดมาเป็นไทย” ข้าพเจ้าทูลว่า “ก็ถูกแล้ว” แต่ถ้าเขาไม่ต้องการหม่อมฉันก็จะยัดเยียดให้ไม่ได้ “อย่างไรก็ตาม หม่อมฉันจะมีชีวิตอยู่เพื่อทำงานอันนี้ถวายให้จงได้” ท่านหันมาจ้องถามว่า “แน่หรือ” ข้าพเจ้าทูลว่า “แน่” แล้วก็ร้องไห้โฮอย่างกลั้นไว้ไม่อยู่ ท่านก็น้ำพระเนตรไหลเป็นทาง เรานิ่งกันอยู่ครู่ใหญ่ แล้วข้าพเจ้าก็ลุกมา แต่วันนั้นแล้วก็ไม่ได้พูดอะไรกันอีกในเรื่องนี้ สังเกตดูเห็นว่าท่านหมดกังวล แม้เมื่อได้ของที่ญี่ปุ่นริบไว้ในปีนังคืนมา ท่านก็ทรงมองดูเฉยๆ เป็นแต่หยิบซองบุหรี่พระราชทานใน พ.ศ. 2440 มาทอดพระเนตรแล้วตรัสแต่ว่า “หมดคนรู้เรื่องแล้ว” เท่านั้น

ต่อมาพระอาการประชวรดีขึ้นถึงทรงรถเที่ยวได้ วันหนึ่งเสด็จไปเยี่ยมหอพระสมุดพิพิธภัณฑ์สถาน กลับมาถึงวังตรัสถามข้าพเจ้าว่า “ลูกพูนเห็นหลักก่อฤกษ์ที่หอพระสมุดหรือเปล่า” ข้าพเจ้าทูลว่า “เห็น” ตรัสถามว่า “นึกอะไรหรือเปล่า” “นึก” ท่านทรงยิ้มแล้วตรัสว่า “เหมาะสำหรับห้องหนึ่งนะลูกนะ” ข้าพเจ้าก็หัวเราะ

ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2486 เสด็จพ่อก็ทรงทิ้งข้าพเจ้าไว้ให้นั่งอยู่กับพระโกศตลอดวัน เสียงบอมบ์เสียงอพยพกันทั่วกรุงเทพฯ เราก็คอยนั่งยกพระโกศและคอยดับระเบิดไฟในเวลาจำเป็นอยู่เช่นนั้น ในระยะนี้เอง น้องชายข้าพเจ้ากลับมาจากทำงานบอกว่า “มิสเตอร์มัซซุโมโต (คนสถานทูต) มาถามว่า - เรื่องห้องสมุดของเสด็จพ่อนั้นจะทำอย่างไรกัน เธอได้บอกไปแล้วว่า - เป็นของพี่สาวเขาคนเดียว อีก 2-3 วันมาบอกอีกว่า มัซซุโมโตมาบอกอีกว่า รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการมากทีเดียว และทำท่าว่าจะเอาเท่าไรก็ได้” ข้าพเจ้าร้องออกไปว่า “เอ ถ้าเขาขอซื้อห้องสมุดของโคโนเบบ้างจะขายไหมเล่า” น้องชายบอกว่า ได้ตอบไปแล้วว่าเข้าใจว่าพี่จะทำห้องดำรง

ต่อมาน้องชายกลับมาบอกอีกว่า “วันนี้พบมัซซุโมโตอีก เขาขอโทษว่าเขาเสียใจที่ได้มาพูดคุยเรื่องห้องสมุดของเสด็จพ่อ เขาไม่มีเจตนาจะดูถูกเลย ต่อมาไม่ช้ามีคนเดินเข้ามาที่พระศพเสด็จพ่อส่งการ์ดชื่อเลียว ผู้แทนหนังสือพิมพ์ข่าวภาพขอพบท่านหญิงพูนฯ เพื่อถามว่า ห้องสมุดของสมเด็จจะทำอย่างไรต่อไป ข้าพเจ้าถามว่า “ทำไมจึงอยากรู้กันนัก” นายเลียวบอกว่า “พวกญี่ปุ่นเขาอยากรู้กันมากเพราะอยากได้ไปเมืองโตเกียว”

ข้าพเจ้าถามว่า “เอาไปทำไมกันถึงโตเกียว” เขาตอบว่า “เข้าใจว่าเขาจะเอาไปทำหนังสือเรียนมาให้คนไทยเอง” ข้าพเจ้าหัวเราะตอบว่า “บอกเขาเถิดว่าฉันจะให้ชาติของฉัน ถ้าญี่ปุ่นต้องการจะเรียนก็มาเรียนที่นี่ได้ แต่เวลานี้ยังคิดทำอะไรไม่ได้ก็เพราะบอมป์ยังอึกทึกนัก” คุยกันสักครู่เขาก็กลับไป 2-3 วันต่อมา ท่านปรีดีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ในเวลานั้น) ให้คนมาบอกข้าพเจ้าว่า เรื่องห้องสมุดของเสด็จพ่อนั้น ท่านปรีดีเห็นว่าควรเป็นของๆ ชาติ ขอให้ข้าพเจ้าตริตรองให้ดี และอยากให้ข้าพเจ้าทำเป็นเล่มๆ ออกเป็นรายเดือนด้วย ข้าพเจ้าตอบขอบคุณแล้วบอกว่าจะเอาไว้บอกกับท่านเองเมื่อได้พบ

 


ภายในหอสมุดดำรงราชานุภาพ (อดีต)
ที่มา : http://www.prince-damrong.moi.go.th/liblary.htm

 

ครั้นถวายพระเพลิงศพเสด็จพ่อแล้ว ข้าพเจ้าก็ขนหนังสือที่หาไม่ได้แล้วใส่หีบไปอยู่วัดนิเวศธรรมประวัติกับพระอังคาร เผอิญท่านปรีดีเชิญเสด็จสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าและพระราชวงศ์ ให้อพยพไปประทับอยู่ที่พระราชวังบางประอิน และตัวท่านเองก็ออกไปเฝ้าเยี่ยมทุกวันเสาร์

เช้าวันอาทิตย์หนึ่ง ท่านปรีดีกับคุณหญิงข้ามฟากไปเฝ้าเยี่ยมพระอังคารเสด็จพ่อแล้วแวะเยี่ยมข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าจึงมีโอกาสได้ขอบคุณท่านปรีดีที่ได้แนะนำเรื่องหนังสือของเสด็จพ่อตรงกับความตั้งใจของข้าพเจ้าเพราะข้าพเจ้าก็กำลังลำบากใจที่ไม่รู้ว่าจะตั้งต้นบอกกับใครว่าหนังสือของพ่อฉันนั้นดีถึงควรเป็นของชาติ ท่านปรีดีรับว่าจะช่วยเมื่อถึงเวลาที่ควรทำ แล้วก็ได้ช่วยจริงๆ ตั้งแต่บอกกับรัฐบาลจนสำเร็จเป็นรูปขึ้นได้ดังนี้

ข้าพเจ้าขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ได้มีส่วนช่วยในเรื่อง “ห้องดำรง” นี้จนเป็นผลสำเร็จ แม้ผู้ที่มี ช่วยทางน้ำใจเพียงเห็นว่าดี ข้าพเจ้าก็ขอขอบคุณด้วย บัดนี้ห้องดำรงกำลังจะแล้วเสร็จเปิดได้ในวันประสูติของเสด็จพ่อ คือวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2490

ข้าพเจ้าจึงยินดีที่ “ห้องดำรง” นี้จะได้เกิดมาแทนพระองค์ และจะได้อยู่กับชาติซึ่งท่านได้อุทิศพระชนม์ชีพให้แล้วมาตลอดพระชนมายุของพระองค์ท่าน เมื่อห้องดำรงได้เปิดเป็นของชาติแล้ว ข้าพเจ้าก็จะได้รับความสุขใจว่า ได้ทำหน้าที่ลูกดีแล้วโดยสิ้นเชิง ต่อไปก็จะเป็นหน้าที่ของชาติ คือไทยทุกคนที่จะพิสูจน์ให้โลกเห็นเองว่า รู้จักรักษาสมบัติของตัวได้หรือไม่ ข้าพเจ้าเชื่อว่าถ้าเรารักษาได้ก็คงจะมีผู้เต็มใจให้ต่อไปอีก และเมืองไทยก็จะได้มีสิ่งพิสูจน์แก่โลกได้ว่า เราเป็นพวกที่ได้มีวัฒนธรรมและศีลธรรมมาแล้วอย่างวิเศษ

 


ภายในหอสมุดดำรงราชานุภาพ (ปัจจุบัน)
ที่มา : National Library of Thailand

 

ที่มา

  • หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล, ม.จ., “ห้องดำรง” ใน อนุสรณ์งานศพในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเนียน โสภณพิศ ณ เมรุวัดเทพศิรินทรวาส วันที่ 27 กรกฎาคม 2509. (พระนคร : โรงพิมพ์การรถไฟฯ, 2509), น. 1 - 6.

หมายเหตุ

  • ขอขอบพระคุณ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล เหลนของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และวุฒิสมาชิกในปัจจุบันที่อนุญาตให้เผยแพร่บทความชิ้นนี้ได้ในสื่อของสถาบันปรีดี พนมยงค์