ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เรื่องของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กับ นายปรีดี พนมยงค์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒

1
ธันวาคม
2564

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า นับเป็นสมเด็จพระนางเจ้าพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระชนมายุยืนยาวจนได้ทอดพระเนตรสงครามโลกทั้ง ๒ ครั้ง ทรงเป็นพระชนนีของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ซึ่งต่อมาได้เฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในห้วงเวลาของสงครามโลก ครั้งที่ ๒ สมเด็จพระพันวัสสาฯ จึงมีศักดิ์เป็น “พระอัยยิกา” ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

ข้อมูลที่จะเรียบเรียงต่อไปนี้ตามหัวข้อ “เรื่องของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กับนายปรีดี พนมยงค์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒” ส่วนมากมาจากหนังสือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ[1] ซึ่ง ม.จ.อัปภัศราภา เทวกุล เล่าประทาน สมภพ จันทรประภา แล้วเขาจึงเขียนออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้

 

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ และสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ฉายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ ภาพจาก http://www.pbase.com/image/153965131
สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ และสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์
ฉายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕
ภาพจาก http://www.pbase.com/image/153965131

 

ครั้นการทิ้งระเบิดมีมากขึ้น จึงมีการจัดที่หลบภัยถวาย ภายในวังสระปทุม โดยทางวังสระปทุมนั้นใช้ใต้ถุนตำหนักจัดเป็นที่หลบภัยถวาย แต่สมเด็จฯ เข้าไปเพียงครั้งเดียวแล้วไม่ยอมอีก เลย ด้วยตรัสว่า “อึดอัด หายใจไม่ออก” ทางวังจึงจัดที่ประทับให้หลบภัยไว้ที่ชั้นล่าง ทรงรำคาญพระราชหฤทัยมากทุกคราวที่ทรงได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัยทางอากาศ ที่ทรงรำคาญมากที่สุดก็คือการต้องดับไฟมืดสนิท

อนึ่ง ทราบว่าบนหลังคาพระตำหนัก ได้ทาสีขาวแดงเป็นกากบาทไว้ เพื่อเป็นเครื่องหมายให้เครื่องบิน ทิ้งระเบิดทราบว่า ไม่ควรทิ้งระเบิดบริเวณนี้ด้วย[2]

ความฉุกเฉินวุ่นวาย ๑ ความว้าเหว่ ๑ ความน้อย พระราชหฤทัยในเหตุการณ์บ้านเมือง ๑ เหตุ ๓ ประการนี้ทำให้ ทรงทอดอาลัยในพระชนม์ชีพ ไม่ทรงกลัวลูกระเบิด ถึงกับออก พระโอษฐ์ว่า “เมื่อไหร่ฉันจะตายเสียที”

 

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กับพระราชนัดดา และพระสุณิสา ภาพจาก http://lib.cmu.ac.th/exhibition/queensavang/history_born.php
สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กับพระราชนัดดา และพระสุณิสา
ภาพจาก http://lib.cmu.ac.th/exhibition/queensavang/history_born.php

 

ระหว่างสงคราม คราวหนึ่งทรงตรัสถามผู้ที่เชิญเสด็จ ให้มาหลบภัยยังชั้นล่างของที่ประทับว่า “หลานๆ อยู่ที่ไหนล่ะ” ซึ่งหมายถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เมื่อทราบว่าประทับอยู่เมืองนอกก็ตรัส ทันทีว่า “เออ สิ้นเคราะห์ไปที”

เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้น คณะผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขอให้สมเด็จฯ ทรงอพยพไปประทับ ณ ที่อื่นแทน สมเด็จฯ ปฏิเสธไม่ยอมไปที่ใด ทั้งสิ้น พระราชทรัพย์ทั้งปวงก็ทรงทิ้งไว้ที่พระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง ตรัสว่า “ให้หินหักอยู่กับใบโพธิ์” ครั้นทางรัฐบาลจะจัดที่ถวายให้พอสำหรับ ๑๐ คน สมเด็จฯ ก็ไม่ตกลง ดังตรัสว่า “แล้วจะไปยังไงกัน ๑๐ คน ฉันเป็นกุลเชษฐ์ ฉันยังมีลูกเลี้ยง มีน้อง ต้องหลบไปให้หมด ไปไหนก็ต้องไปด้วยกัน”

 

ที่ศรีราชา

ต่อมาสมเด็จฯ ทรงยอมย้ายไปประทับที่โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา โดยประทับที่พระตำหนักซึ่งยื่นออกไปในทะเล แต่เมื่อผ่านไป ๓ เดือน ราวเดือนมีนาคม ๒๔๘๗ เครื่องบินสัมพันธมิตรก็มาทิ้งระเบิดที่เกาะสีชังและรอบๆ ไม่ห่างจากที่ประทับเท่าใดนัก ทำให้ดูน่าพรั่นพรึง จึงได้มีการกราบทูล ให้ประธานคณะผู้สำเร็จฯ ทราบ เพราะพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เคยตรัสสั่งไว้ว่า “ดีแล้ว ที่ประทับที่โรงพยาบาลสมเด็จต่อไป เพราะที่วังสระปทุมก็ไม่ปลอดภัยเสียแล้ว ถ้ามีเหตุอะไรให้เข้ามาบอก จะจัดการถวายใหม่” ดังนั้น เมื่อทรงทราบแล้ว ประธานคณะผู้สำเร็จฯ จึงตรัสว่า “ท่านปรีดีได้บอกไว้ว่า ถ้าถึงคราวจะอพยพสมเด็จพระพันวัสสา ท่านปรีดีจะจัดถวายเอง”

ท่านปรีดีที่ว่า ก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้า ขบวนการเสรีไทย ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนหนึ่งด้วย

 

ที่โรงพยาบาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เมื่อถึงกำหนด นายปรีดีมารับเสด็จ และเชิญเสด็จ ลงประทับในเรือพระที่นั่งประพาสแสงจันทร์ นำเรือไปจอดที่นนทบุรีตรงข้ามกับเรือนจำบางขวาง ๑๕ วัน เพื่อรอการจัดที่ประทับที่โรงพยาบาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างอพยพอยู่นี้ สมเด็จฯ ทรงมีพระราชหฤทัยนึกถึงสมเด็จพระราชนัดดา อยู่เสมอ ดังได้ตรัสว่า “ดีใจ๊ ดีใจ หลานอยู่เมืองนอก ไม่ต้องมาลำบากอย่างนี้ ไม่อย่างนั้น ฉันคงเอาตัวไม่รอด ห่วงหลาน”

ที่อยุธยา นายปรีดี และ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยา ได้เข้าเฝ้าแหน กราบบังคมทูลซักถามถึงความสะดวกสบายอยู่เป็นเนืองนิตย์ มีกิริยาพาทีในเวลาเข้าเฝ้าเรียบร้อย นุ่มนวลนัก นัยน์ตาก็ไม่มีวี่แววอันควรระแวงสงสัยถึงความไม่จงรักภักดีจากชายผู้เขียนประกาศคณะราษฎรผู้นี้ ส่วนท่าน ผู้หญิงพูนศุขนั้น ทางบ้าน ณ ป้อมเพชร์ คุ้นเคยกับสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร[3] มาก่อน จึงไม่มีปัญหาในการเข้าเฝ้าเจ้านาย

โดยครั้งแรกที่นายปรีดีเข้าเฝ้าสมเด็จฯ นั้น ม.จ.อัปภัศราภา เทวกุล ผู้ควบคุมกระบวนเสด็จ กราบบังคมทูลว่า หลวงประดิษฐ์ฯ[4] มาเฝ้าสมเด็จฯ ไม่ทรงรู้จักคุณหลวงมาก่อนเลย จึงทรงเข้าใจว่า หมายถึงหลวงประดิษฐ์บาทุกา (เซ่งชง) เจ้าของห้างทำรองเท้า ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในพระนคร ซึ่งเป็นผู้ที่ทรงพระกรุณาในเรื่องเงินทองอยู่เสมอ สมเด็จฯ จึงตรัสว่า “อ๋อ เขาเอาเงินมาใช้ฉันน่ะ”

โดยที่ต้องไม่ลืมว่าช่วงนั้นทรงเริ่มหลงๆ ลืมๆ ไปแล้ว ตามชราภาพที่ครอบงำ ม.จ.อัปภัศราภา จึงกราบบังคมทูลว่า “ไม่ใช่เพคะ... คนนี้เขาเป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าอยู่หัว” เมื่อ สมเด็จฯ ยังคงสงสัยอยู่ ก็กราบบังคมทูลต่อไปว่า “สมเด็จเจ้าพระยายังไงล่ะเพคะ” สมเด็จฯ จึงทรงเข้าพระทัยทันที มีพระราชปฏิสันถารด้วยอย่างดี “มาซิ พ่อคุณ อุตส่าห์มาเยี่ยม” แล้วตรัสซักถามถึงที่พัก ครั้นเมื่อทราบว่าพักที่คุ้มขุนแผน ก็ทรง หันไปทางข้าหลวง ตรัสสั่งว่า “ดูข้าวปลาอาหารให้เขากินนะ”

 

สมเด็จฯ กับ ม.จ.อัปภัศราภา เทวกุล ภาพจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/alone-win/2009/09/26/entry-1
สมเด็จฯ กับ ม.จ.อัปภัศราภา เทวกุล
ภาพจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/alone-win/2009/09/26/entry-1

 

นายปรีดีตามเสด็จ

เวลาเย็นๆ นายปรีดีจะเชิญเสด็จประทับรถยนต์ ประพาสรอบๆ เกาะ วันหนึ่งมีกระแสพระราชดำรัสว่า “หลานฉันยังเด็กนะ ฝากด้วย” ผู้สำเร็จฯ ก็กราบบังคมทูลสนองพระราชประสงค์เป็นอย่างดีด้วยความเคารพ ทำให้ผู้ที่ชื่นชมก็ทวีความชื่นชมยิ่งขึ้น ผู้ที่เคยคลางแคลงสงสัยถึงความบริสุทธิ์ใจของนายปรีดี แกนนำคณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงปกครอง ก็เริ่มไม่แน่ใจตนเอง

วันหนึ่งที่วัดมงคลบพิตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จฯ ตรัสว่า “ฉันจะไปปิดทอง” แล้วเสด็จไปทรงซื้อทองที่วางขายอยู่ในบริเวณนั้น เมื่อเสด็จไปถึงองค์พระปรากฏว่าทรงปิดไม่ถึง นายปรีดีจึงกราบบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าจะไปปิดถวาย” สมเด็จฯ จึงพระราชทานไปพร้อมตรัสว่า “เอาไปปิดเถอะ คนที่ทำบุญด้วยกัน ชาติหน้าก็เป็นญาติกัน”

เล่าลือกันว่า กระแสพระราชดำรัสนั้น ทำให้ผู้สำเร็จฯ ซาบซึ้งมาก พวกที่ชื่นชมก็สรรเสริญพระปรีชาสามารถในสมเด็จฯ ว่าทรงเปลี่ยนใจคนที่เคยเขียนประกาศประณามพระราชวงศ์ได้อย่างตรงไปตรงมา พวกที่เคลือบแคลงอยู่ก็ยังคงเฝ้าดูต่อไป
 

วิหารพระมงคลบพิตรก่อนการบูรณปฏิสังขรณ์ ภาพจากหนังสือ พระราชวัง และวัดโบราณ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งรูปถ่ายและแผนผัง จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายจำรัส เกียรติก้อง ณ เมรุวัด มกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๑
วิหารพระมงคลบพิตรก่อนการบูรณปฏิสังขรณ์
ภาพจากหนังสือ พระราชวัง และวัดโบราณ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งรูปถ่ายและแผนผัง จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายจำรัส เกียรติก้อง ณ เมรุวัด มกุฏกษัตริยาราม
วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๑

 

ที่พระบรมมหาราชวัง

หลังจากประทับอยู่อยุธยาได้ ๓ เดือน ก็ต้องอพยพมาประทับที่พระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง เพราะเกิดพายุใหญ่ พัดเอาหลังคาที่ประทับพัง แต่เมื่อประทับได้ ๖ เดือน ก็ต้องตก พระทัยอย่างยิ่ง เพราะวันหนึ่งมีระเบิดลงที่พระที่นั่งบรมพิมานและพระที่นั่งพิมานรัถยา อันอยู่ขวาซ้ายของพระตำหนักไม่กี่เส้น นายปรีดี ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงคนเดียว จึงเชิญเสด็จหลบภัยไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน ซึ่งมีพระบรมวงศานุวงศ์ตามเสด็จด้วยหลายพระองค์

โดยที่ต้องไม่ลืมว่า หลังแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงแล้ว พระมหากษัตริย์รัชกาลถัดๆ มา ประทับนอกพระบรมมหาราชวังทั้งสิ้น อาคารต่างๆ ก็ทรุดโทรมลงไปมาก ดัง ม.จ.อัปภัศราภา บรรยายว่า พระที่นั่งอมรพิมานมณี อันเป็นวิมานที่บรรทมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรุดโทรมหักพังมืดสนิท เป็นที่อยู่อาศัยของงูเหลือม ค้างคาว และพระที่นั่งสุทธา ศรีอภิรมย์ อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทร์ฯ ก็อยู่ในสภาพเดียวกัน

 

ที่พระราชวังบางปะอิน

เมื่อย้ายมาที่พระราชวังบางปะอินนั้น ได้จัดให้ทอดเรือพระที่นั่งประพาสแสงจันทร์ให้เป็นที่ประทับของสมเด็จฯ อยู่หน้าพระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ประทับ

 

พระที่นั่งวโรภาษพิมาน ภาพจาก http://library.stou.ac.th
พระที่นั่งวโรภาษพิมาน
ภาพจาก http://library.stou.ac.th

 

ที่พระตำหนักของ สมเด็จฯ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ประทับที่ตำหนักพระราชเทวี สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทับที่ตำหนักเก้าห้อง พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ประทับที่ ตำหนักพระราชชายา ส่วนข้าราชบริพารก็พักตามเรือนเล็ก ตำหนักน้อยกันทั่วไป ขณะที่ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล และ ม.จ.พัฒนายุ ดิศกุล ประทับที่วัดนิเวศธรรมประวัติ ตรงข้ามพระราชวัง

เนื่องจากได้เชิญเสด็จพระอังคารของ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หนังสือ และของต่างๆ มาไว้ที่นั่น นับได้ว่าพระราชวังบางปะอินเป็นเขตพระราชฐานโดยแท้จริง ส่วนผู้สำเร็จฯ จอดเรือตะวันส่องแสงอยู่หน้าสภาคารราชประยูร อันเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

 

เรื่องหอสมุดดำรงราชานุภาพ

เช้าวันอาทิตย์วันหนึ่ง นายปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข ได้ข้ามฟากจากพระราชวังบางปะอินไปยังวัดนิเวศธรรมประวัติ แวะคารวะพระอังคารของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และเยี่ยม ม.จ.พูนพิศมัย ท่านหญิงพูนฯ จึงได้ขอบคุณผู้สำเร็จฯ ที่เคยให้คนมาบอกว่า เรื่องหอสมุดดำรงราชานุภาพนั้น ควรเป็นสมบัติของชาติ ไม่ควรขายให้ญี่ปุ่นหรือชาวต่างชาติที่มาขอซื้อ ซึ่งต้องกับพระประสงค์ของสมเด็จกรมพระยาพระองค์นั้น ที่อยากรักษาไว้ให้เป็นสมบัติของชาติ แต่ท่านหญิงพูนฯ ติดขัดในการดำเนินการต่อ เมื่อผู้สำเร็จฯ รับจะช่วยจัดการแล้ว จึงสามารถ ดำเนินการให้ลุล่วงได้จริง ตั้งแต่ช่วยบอกกับรัฐบาลจนสำเร็จขึ้นเป็นรูปเป็นร่างได้ ตราบจนทุกวันนี้[5]

อนึ่ง ๒๓ ตุลาคม ๒๔๘๕ หลังจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จกลับจากการไปเยี่ยมตอบนายปรีดี ผู้สำเร็จฯ แล้ว ได้ตรัสกับท่านหญิงพูนฯ ว่า “ลูกพูน I had a very pleasant talk, you ought to meet him” ท่านหญิงทูลถาม ว่า “เรื่องอะไร?” สมเด็จกรมพระยาพระองค์นั้นตอบว่า “เขาเป็น  learned man”[6] อีกครั้งหนึ่งเมื่อนายปรีดีมาเฝ้าถวายการ์ดเผาศพมารดา สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ตรัสว่า “เจ้าคุณคิดเสียแต่เดี๋ยวนี้นะว่า สงครามเสร็จแล้วมันจะเป็นอย่างไรกัน ตัวฉันน่ะไม่ได้อยู่แลเห็นแน่ จะต้องตกเป็นหน้าที่ของคนชั้นเจ้าคุณละ”[7]

 

หอสมุด ดำรงราชานุภาพ ในปัจจุบัน ภาพจาก www.nlt.go.th/th/ damronglib
หอสมุด ดำรงราชานุภาพ ในปัจจุบัน
ภาพจาก www.nlt.go.th/th/ damronglib

 

ความเป็นไปในพระราชวังบางปะอิน

ฝ่ายชาวบ้านละแวกนั้นได้ชวนกันมาเฝ้า หาอะไรมาถวายให้ทอดพระเนตร เพื่อทรงพระสำราญ บางวันก็มาแข่งเรือถวาย บางวันก็มาเล่นเพลงเรือถวาย บางคืนก็มารำวงถวาย สมเด็จฯ ก็พระราชทานผ้าห่ม เสื้อผ้าแก่เขาเหล่านั้น เพราะของเหล่านี้ราคาแพงมากที่สุดในระหว่างสงคราม แต่นายปรีดีจัดหามาถวายจากองค์การจัดซื้อสินค้า คือร้านค้าของทางราชการในราคาถูก

ผู้สำเร็จฯ ก็หมั่นเฝ้ามาทูลละอองธุลีพระบาทอยู่เสมอ จนเจ้านายที่ตามเสด็จเคยไม่โปรดก็เริ่มจะโปรด พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี เคยตรัสให้ นายสมภพ จันทรประภา ฟังว่า “ผู้สำเร็จฯ นี่เขาดีนะ เมื่อวานเขาเดินผ่านมา เห็นขุดดินปลูกต้นไม้ อยู่ เขาว่าดี ได้ออกกำลัง”

มีครั้งหนึ่ง เครื่องบินของอังกฤษไปทิ้งระเบิดแถว บางปะอิน ในรุ่งขึ้น นายปรีดี ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ต่อว่า นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ แกนนำเสรีไทยสายอังกฤษอย่างรุนแรง ในฐานะที่เขาเป็นผู้ส่งโทรเลขติดต่อระหว่างสัมพันธมิตร กับเสรีไทยในประเทศ ซึ่งนายปรีดีเคยให้นายป๋วยประสานงานไปก่อนแล้วว่าขออย่าให้มาทิ้งระเบิดที่พระบรมมหาราชวังหรือวังที่ประทับของเจ้านาย ป๋วยจึงส่งโทรเลขไปประท้วงกองบัญชาการ ทหารอังกฤษ ทางการอังกฤษโทรเลขตอบขอโทษกลับมา และรับรองว่าจะพยายามไม่ให้เกิดความพลาดพลั้งขึ้นอีก[8]

 

งานวันเกิดผู้สำเร็จฯ

วันคล้ายวันเกิดอายุครบ ๔๕ ปีของนายปรีดี ศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๘๘ ผู้คุมกระบวนเสด็จก็จัดให้มีการแสดงละคร สิ่งละอันพันละน้อยให้เป็นการตอบแทนน้ำใจ พวกที่ชื่นชมยินดี ในการกลับใจได้ของนายปรีดีก็ชื่นชมไป ฝ่ายที่คลางแคลงและหัวแข็งก็ยังไม่ยอมลงใจสนิท

ระทวย จักรพันธุ์ วีระแกล้ว ซึ่งเคยใช้ชีวิตอยู่ในวัง สระปทุมและตามเสด็จไปพระราชวังบางปะอินด้วยนั้น เล่าว่า วันหนึ่งครูที่โรงเรียนหลังคาจาก[9] ได้เลือกเด็กนักเรียนไปรำอวยพร และแต่งกายตามแต่จะหาได้ เพื่อเล่นต้อนรับผู้สำเร็จฯ ซึ่งจะมาฉลองวันเกิดของท่านที่บางปะอิน บทเพลงนั้นเธอยังคงจำได้ดี มีว่า

“ศรี ศรี ศรี วันนี้วันที่ ๑๑ พฤษภาคม วันศุกร์วันศรีสง่า ผู้สำเร็จฯ มาเราต้องต้อนรับเอย

ศรี ศรี ศรี วันนี้วันดีเป็นวันสำคัญ เรามาพร้อมใจกัน อวยพรให้ท่านผู้สำเร็จฯ เอย” * * *[10]

อนึ่ง ระทวยยังได้เล่าด้วยว่า คราวหนึ่งเธอทอนซิลเป็นหนอง อาการทรุดลงเรื่อยๆ เพราะยาเป็นของหายากในยามสงคราม สิ่งที่ต้องรับประทานคือยาฆ่าเชื้อ สมัยนั้นที่ดีที่สุดคือ ยาซัลฟา แต่ในท้องตลาดขาดแคลน ในตลาดมืดขายกันถึงเม็ดละ ๑๐๐ บาท ซึ่งต้องกิน ๑๐ เม็ด ม.จ.แววจักร จักรพันธุ์ บิดาของเธอจึงได้ไปขอความช่วยเหลือจากนายปรีดีให้กรุณาหาซื้อยามาให้ หลังจากนั้นไม่ถึง ๓ วัน ผู้สำเร็จฯ ก็หามาให้ ม.จ.แววจักร ๑๐ เม็ด โดยไม่ยอมรับค่ายาเลย ระทวยถึงกับเขียนในหนังสือ ของเธอว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกสำนึกมาตลอดว่า เป็นหนี้ชีวิตของท่านผู้สำเร็จราชการ เพราะท่านได้ช่วยชีวิตข้าพเจ้าไว้”[11]

 

“ทำบุญกับคนแก่นี่พ่อได้กุศล”

๙ เดือนในพระราชวังบางปะอิน นับเป็น ๙ เดือน แห่งความสุขของทุกคนอย่างดีที่สุดที่จะหาได้ในยามสงคราม ส่วนสมเด็จฯ นั้นทรงประชวรเป็นไข้หวัด เมื่อหายประชวรแล้ว พระอธิษฐานที่เคยทรงไว้เมื่อครั้งถวายพระเพลิง สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ว่า ขอให้ทรงลืมทุกสิ่งทุกอย่างให้หมด เริ่มจะเป็นผลบ้างแล้ว แต่ทุกคราวที่มีคนมาเฝ้าก็ตั้งพระสติได้ ผู้สำเร็จฯ นั้น ทุกคราวที่มาเฝ้า จะทรงต้อนรับอย่างดี เคยตรัสครั้งหนึ่งว่า

“พ่อคุณเถอะ ฝากหลานด้วยนะ พ่อมาทำบุญกับคนแก่ นี่พ่อได้กุศล”

นายปรีดี ผู้สำเร็จฯ ก็รับพระราชเสาวนีย์ด้วยกิริยา มารยาทอันงดงาม เจ้านายทั้งหลายเห็นใจในการที่ผู้สำเร็จฯ มา อยู่ใกล้ชิดเป็นประจำทำให้อุ่นพระทัยทั่วกัน แต่ไม่มีสักพระองค์ หรือสักคนจะทราบว่าภายในสภาคารราชประยูร อันเป็นที่พักของผู้สำเร็จฯ นั้น คือสถานที่บัญชาการเสรีไทยในประเทศ มีเครื่องรับส่งวิทยุอันทันสมัยอยู่ชั้นล่างอย่างมิดชิด

 

ส่งท้าย

นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เขียนไว้ว่า การที่เสรีไทยโดยเฉพาะหัวหน้าเสรีไทย ได้แสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ถวายความอารักขาให้พ้นภัยสงครามครั้งนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงซาบซึ้ง พระทัยดี เมื่อสิ้นสงครามได้รับสั่งเรียกนายปรีดีไปที่ประทับและขอบใจ ซึ่งคณะเสรีไทยถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง[12]

โดยที่ยังไม่จำต้องเอ่ยถึงกรณีที่นายปรีดีสามารถผสานไมตรีกับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน พระเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ก็ยังได้ ดังกรณีนั้น นายปรีดีถึงกับให้นายป๋วยโทรเลขไปบอกฝ่าย อังกฤษเลยว่า “การเมืองในประเทศนั้นเป็นอันยุติไม่มีปัญหาอีกต่อไป เสรีไทยมีความมุ่งหมายอยู่อย่างเดียวที่จะรักษาเอกราช และอิสรภาพของประชาชาติ ฉะนั้น คนไทยทุกคนไม่ว่าจะเป็นเจ้านายหรือราษฎรธรรมดา ที่มีความรักชาติอย่างเดียวกัน ต้องถือเป็นคณะเดียวกัน มีความสามัคคีกันเป็นหลักการใหญ่”[13]  ซึ่งฝ่ายอังกฤษอ่านแล้วถึงกับสงสัยว่านายปรีดีเขียนมาตามแบบพิธี หรือมาจากใจจริง นายป๋วยต้องยืนยันไปอีกทีว่า มาจากใจโดยสุจริตใจ

 

นายปรีดี - ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภาพจาก pridi-phoonsuk.com
นายปรีดี - ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
ภาพจาก pridi-phoonsuk.com

 

กล่าวได้ว่า นอกจากการรักษาเอกราช อธิปไตย และการเจรจาภายหลังสงครามแล้ว การถวายความปลอดภัยแด่เจ้านายชั้นสูงและพระบรมวงศานุวงศ์นี้ ก็เป็นผลงานสำคัญที่น่าสรรเสริญของนายปรีดีและคณะของเขา ควรที่เราจะได้ศึกษากันให้เห็นความเป็นจริง ดังที่ผู้ตามเสด็จสมเด็จพระพันวัสสาฯ ได้เห็นถึงน้ำใสใจจริงของผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยมาแล้ว อย่างไรก็ดี สัจจะย่อมเป็นอมตะเสมอ แม้จะมีผู้พยายามใส่ร้ายป้ายสีนายปรีดีต่างๆ นานา แต่เขาเหล่านั้นจะปฏิเสธคุณูปการงานเสรีไทยของนายปรีดีได้ละหรือ?

 

ที่มา : กษิดิศ อนันทนาธร. เรื่องของ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กับนายปรีดี พนมยงค์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒, ใน, หนังสือที่ระลึกในวาระ ๗๒ ปี วันสันติภาพไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพสยามปริทัศน์, 2560) น. 18-37

 

[1] สมภพ จันทรประภา, สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ, พิมพ์ครั้งที่ ๗ (กรุงเทพฯ: ศยาม, ๒๕๕๑), น. ๔๖๖–๔๘๘.

อนึ่ง ในวาระ ๗๒ ปี นายปรีดี พนมยงค์ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๑๕ นายปรีดีได้คัด ข้อความในจากหนังสือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ของ สมภพ จันทรประภา ในส่วน คล้ายๆ กันนี้ไปตีพิมพ์รวมอยู่ในเล่ม บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่าง สงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยให้ชื่อว่า “การถวายความปลอดภัยแด่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” โดย หม่อมเจ้าหญิง อัปภัศราภา เทวกุล

โดยปรีดีได้เขียนในคำปรารภว่า “...ถือวิสาสะที่ท่านหญิงมีพระเมตตานั้น เชิญ คำประทานเล่าบางตอนในหนังสือเล่มนั้นมาลงพิมพ์ไว้เป็นเรื่องประเดิมเริ่มแรก ข้าพเจ้าต้องขออภัยท่านหญิงและนายสมภพ จันทรประภา ผู้จัดพิมพ์หนังสือเล่มที่ อ้าง ในการที่ข้าพเจ้าไม่มีเวลาพอที่จะขออนุญาตก่อน...และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ท่านกล่าว เกี่ยวกับข้าพเจ้า...”

ดู ปรีดี พนมยงค์, “คำปรารภ,” ใน บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ใน ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๓ (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงาน ฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน, ๒๕๔๓), น. (๓๗).

[2]  ระทวย จักรพันธุ์ วีระแกล้ว, นิยายชีวิตในวังสระปทุม (กรุงเทพฯ: นิตยสารแพรว, ๒๕๕๖), น. ๘๐.

[3] สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้เป็นพระราชธิดาที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ แต่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงขอไปเป็นลูก จึงทรงเรียกแม่แท้ๆ ว่า “ป้า” เรียกน้าว่า “แม่” เนื่องจากสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงซึ่งประสูติ แต่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯนั้นล้วนชิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ทั้งสิ้น จึงทรงขอจากสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ.

[4] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นบรรดาศักดิ์เดิมของนายปรีดี พนมยงค์.

[5] ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล อ้างอิงจาก อรุณ เวชสุวรรณ, ท่านปรีดี พนมยงค์ กับความ จริงที่ถูกบิดเบือน (กรุงเทพฯ: อรุณวิทยา, ๒๕๒๖), น. ๓๖–๓๙.

[6] ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น, พิมพ์ครั้งที่ ๓ (กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๙), น. ๔๑๒.

[7] เรื่องเดียวกัน, น. ๔๑๓.

[8]  ป๋วย อึ๊งภากรณ์, “พระบรมวงศานุวงศ์และขบวนการเสรีไทย” ใน อัตชีวประวัติ: ทหารชั่วคราว, พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๙), น. ๑๖๖–๑๖๘.

[9]  โรงเรียนที่นายปรีดี ผู้สำเร็จฯ ให้สร้างขึ้นเป็นโรงเรียนชั่วคราวสำหรับเด็กๆ ที่เป็น ลูกหลานของข้าราชบริพาร รวมทั้งลูกๆ ของท่านเองด้วย ด้วยความเป็นชั่วคราว จึง ไม่มีฝา หลังคามุงจาก เรียกกันว่า โรงเรียนหลังคาจาก.

[10] ระทวย จักรพันธุ์ วีระแกล้ว, นิยายชีวิตในวังสระปทุม, น. ๑๒๐.

[11] เรื่องเดียวกัน, น. ๑๑๙.

[12] ป๋วย อึ๊งภากรณ์, “พระบรมวงศานุวงศ์และขบวนการเสรีไทย”, น. ๑๖๘.

[13] เรื่องเดียวกัน, น. ๑๖๔ – ๑๖๕.