ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สจ๊วต ฮอล และความคิดชาติพันธุ์ใหม่: ข้อเสนอสําหรับพหุวัฒนธรรม

22
กุมภาพันธ์
2568

Focus

  • แนวคิดของ สจ๊วต ฮอล (Stuart Hall) นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงแห่งประเทศอังกฤษ ผู้มีภูมิหลังเป็นผู้อพยพจากประเทศจาไมกา ได้เคยวิเคราะห์ วิจารณ์ นโยบายพหุนิยมทาง วัฒนธรรม และนำเสนอแนวการแก้ไขปัญหาสังคมในเรื่องความขัดแย้งในเชิงเชื้อชาติ ชาติ พันธุ์ ชนกลุ่มน้อยในประเทศยุโรปและประเทศอื่น ๆ ที่ดำเนินมาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ 80 แต่ข้อเสนอของฮอลไม่ได้รับความสนใจและนำมาเป็นนโยบาย ในขณะที่ผู้นำประเทศ เช่น เยอรมัน อังกฤษ ต่างก็ออกมาประกาศความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายพหุนิยมทางวัฒนธรรม ผู้เขียนค้นพบว่า เฉพาะแนวคิดชาติพันธุ์แนวใหม่ (new ethnicities) เมื่อ ค.ศ. 1995 บทวิเคราะห์แสดงให้เห็นถึงปัญหาการต่อสู้ของคนดำ ผู้อพยพ ชนกลุ่มน้อยที่ใช้อัตลักษณ์ในเชิงสารัตถะ (essential identity) ทางเชื้อชาติมาปรับความสัมพันธ์จากการถูกกดขี่ในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
  • ฮอลได้วิพากษ์ว่าจะสร้างปัญหาในระยะยาว ได้แก่การทำให้อัตลักษณ์กลายเป็นเรื่องการเมืองและกลับจะยิ่งยุ่งยากจนไม่สามารถประสานตนเองเข้ากับสังคมที่อยู่อาศัย ที่มีความแตกต่างหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม ฮอลได้เสนอให้คิดในเชิงชาติพันธุ์แนวใหม่ คือการสร้างการประสานกับผู้คนที่มี ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ชนชั้น โดยไม่ทำให้อัตลักษณ์ของตนเองกลายมาเป็นอัตลักษณ์ที่มีปัญหาในเชิงลดความแตกต่างทั้งภายในและภายนอกกลุ่ม และกลับเข้ามาสนับสนุนให้เกิดการปรับตัว หลอมรวม คนที่มีความแตกต่างให้สามารถขยับสถานะทางสังคมและทำให้แนวคิดสนับสนุนความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมครองอำนาจนำ (hegemony) ในสังคม

 


Prof.Stuart Hall

 

บทนํา

 

นักมานุษยวิทยามีทั้งให้ความสนใจและต่อต้านเกี่ยวกับการจัดประเภทกลุ่มชนโดยใช้เชื้อชาติมายาวนาน อย่างเช่น การวิพากษ์การจัดแสดงชาวอัฟริกันปิ๊กมี่ โอตา เบงกา (Ota Benga) ว่ามาจากการใช้ทัศนคติที่ยึดเอา “ชาติพันธุ์ตนเองคือศูนย์กลาง” (ethnocentrism)[1] กรณีนายเบงกาถือเป็นกรณีหนึ่งที่นักมานุษยวิทยานำมาเป็นตัวอย่างนานมากกว่า 100 ปี ประเด็นข้อถกเถียงสำคัญก็คือ “ใครคือมนุษย์ แต่ที่ยากมากกว่าก็คือ ใครเป็นมนุษย์มากกว่ากัน และใครเป็นมนุษย์มากที่สุด”[2] จากความเชื่อโดยสนิทใจว่าชาติพันธุ์ตนเองคือผู้ที่เจริญกว่าดีงามกว่าชนชาติอื่น ได้แผ่ขยายและถือเอาเป็นแบบอย่าง จากกำเนิดที่ยุโรปได้ย้ายมาครอบงำในเกือบทุกที่ นานาประเทศเกิดความยึดถือว่าตนเองสำคัญกว่าชนชาติเพื่อนบ้านและที่อื่น ๆ ความคิดดังกล่าวเป็นความผิดพลาดที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบการตัดสินคุณค่าความเป็นมนุษย์ ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผู้คนนับล้านคนถูกฆ่าตายเพราะว่ามีสีผิว ความเชื่อ วัฒนธรรม ศาสนา หรือลักษณะของร่างกายในเชิงกายภาพแตกต่างจากกลุ่มตนเอง ในช่วงศตวรรษที่ 20 นี้เอง ฟรานซ์ โบแอส (Franz Boas) แอชลีย์ มอนตากู (Ashley Montagu) และมากาเร็ต มีด (Margaret Mead) อธิบายว่า การบิดเบือนความจริงทางวิทยาศาสตร์และนำเชื้อชาติมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำให้ความเชื่อเกี่ยวกับเชื้อชาติกลายเป็นมายาคติที่อันตรายที่สุดของมนุษย์ชาติ[3]

 


Interrogating racism: toward an antiracist anthropology
ที่มา: https://www.vozesnegras.com/en/mullings

 

การอธิบายถึงเชื้อชาตินิยมได้เปลี่ยนแปลงไประหว่างทศวรรษ 1980 ถึง 1990 จากการใช้ในหมู่ผู้ต่อต้านอาณานิคม ได้ขยายมาสู่ประเด็นการเพิ่มสิทธิพลเมืองและต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว สถานการณ์ช่วงนี้ประเด็นเชื้อชาตินิยมได้ขยายวงแผ่กว้างจากระดับประเทศสู่ระบบทุนนิยมโลก เชื้อชาตินิยมได้พัฒนามาเป็นรูปแบบใหม่ของกระบวนการเหยียดเชื้อชาติ (new racisms)[4] ท้ายศตวรรษที่ 20 สู่ศตวรรษที่ 21 การบริหารจัดการเชื้อชาติแบบใหม่ได้ใช้การเหยียดเชื้อชาติมาจัดประเภทคุณค่ามนุษย์ว่ามีแบบลดหลั่นและผนึกวิธีคิดทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองเข้าไว้ด้วยกันอีกด้วย เช่น ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ความยากจน และการกีดกันในระดับโลก[5] ในศตวรรษที่ 21 ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือการอพยพเข้าสู่ประเทศยุโรปจากปัญหาการทำสงครามในหลาย ๆ ครั้ง ทำให้ประเทศที่รับผู้อพยพมีนโยบายพหุนิยมทางวัฒนธรรมรองรับการจัดระบบความแตกต่างหลากหลายของผู้คน[6] ซึ่งสามารถตรวจสอบนโยบายการกีดกันทางเชื้อชาติได้ในแต่ละรัฐ[7] (Rzepnikowska, 2019)

 


race as a biological construct
ที่มา : https://link.springer.com/article/10.1007/s11191-020-00178-8

 

เชื้อชาติคืออะไรกันแน่เป็นหัวข้อที่ถกเถียงร้อนแรงมาก สามารถจัดกลุ่มแยกมุมมองออกได้เป็นสองขั้ว คือ กลุ่มแรกเชื้อชาติคือองค์ประกอบทางชีววิทยา (race as a biological construct) และกลุ่มที่สองเชื้อชาติถูกสังคมประกอบสร้างเชื้อชาติ (race as a social construct) การอธิบายความหลากหลายของวัฒนธรรมมนุษย์[8] ในที่สุดนักมานุษยวิทยาหลายคนได้เสนอข้อสรุปว่า ไม่สามารถจัดประเภทเชื้อชาติได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามเชื้อชาติถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์สำหรับการแบ่งแยก จัดประเภททางสังคม-การเมืองทั่วไป โดยชนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจมากกว่าชนกลุ่มอื่นและให้ความสำคัญแก่ตนเองสูงกว่า การต่อต้านปัญหาเชื้อชาติกลายเป็นหลักหมายสำหรับการขยายไปสู่การต่อสู้สิทธิอื่น เช่น เพศ ชนชั้น ความเป็นมนุษย์ วัฒนธรรม ความเท่าเทียมทางการเมืองและความเป็นพลเมือง

ระหว่างนั้นเครื่องมือทางความคิดที่ถูกพัฒนามาเป็นอาวุธของการต่อสู้ในทุกทิศทาง ไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ ชนชั้น ชาติพันธุ์ เพศ ความเป็นมนุษย์ โอบล้อมประเด็นอัตลักษณ์ในเชิงสารัตถะ และได้ให้กำเนิดแนวคิดที่จะนำมาจัดการกับปัญหาความหลากหลายของผู้คนในประเทศเป็นนโยบาย พหุนิยมทางวัฒนธรรม ซึ่ง สจ๊วต ฮอล.[9] เป็นนักวิชาการผู้หนึ่งท่ามกลางนักวิชาการอีกหลายคน ได้นำเสนอแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาพหุนิยมทางวัฒนธรรมโดยแนะนำแนวคิดชาติพันธุ์แนวใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาการต่อสู้แต่การต่อสู้นั้นกลับเป็นการจำกัดตนเองในพื้นที่ความหมายแคบ ๆ คือทำอย่างไรการต่อสู้จะไม่ใช่การหดตัวเองให้เล็กลงในป้ายชื่อ  หลาย ๆ ป้าย ไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ/ชนชั้น เพศ ชาติพันธุ์ ฯลฯ

 


There ain't no black in the Union Jack : The cultural politics of race and nation.
ที่มา: https://sites.gold.ac.uk/goldsmithshistory/there-aint-no-black-in-the-union-jack-by-professor-paul-gilroy/

 

อุดมการณ์ทางชนชั้นในหมู่ผู้ใช้แรงงานที่มีความหลากหลายเชื้อชาติขาดศักยภาพในการโอบรัดการรวมตัวเป็นชนชั้น อุดมการณ์ไม่สามารถสร้างความมีส่วนร่วมคนต่างเชื้อชาติเป็นให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ เนื่องจากปัญหาเชื้อชาติในสังคมทุนนิยมของประเทศอังกฤษซึ่งมีความซับซ้อน นักวิชาการกลุ่มซ้าายใหม่อังกฤษได้วิเคราะห์ทางชนชั้น จนพบว่ามีการแบ่งแยกกลุ่มผู้ใช้แรงงานออกเป็นกลุ่ม โดยทุกกลุ่มต่างก็ใช้เชื้อชาติของตนเองเป็นเกณฑ์สำหรับการแบ่งแยก เช่น แรงงานคนขาวจะมีสถานะสูงกว่าคนดำ และคนดำสำคัญกว่าชาวเอเชียและอื่น ๆ พอล กิลลอย[10] เสนอว่าความคิดว่าจากการเข้ามาทำงานร่วมกันทั้งแนวคิดเชื้อชาติและชนชั้นทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบใหม่ เขาจึงเสนอว่าควรทำให้เชื้อชาติผนึกผู้ใช้แรงงานกลายมาเป็นชนชั้น โดยเฉพาะชนชั้นล่าง (underclass) ซึ่งเป็นคนผิวดำและผิวสีน้ำตาล เหล่านี้คือชนชั้นรองของชนชั้นกรรมาชีพ (sub-proletariat) พวกเขามีสถานะที่ต่ำกว่าชนชั้นกรรมาชีพ คือเป็นคนชั้นล่างรองลงไปจากชนชั้นกรรมมาชีพอีกทีหนึ่ง และยังเป็นฝ่ายที่ถูกเอาเปรียบจากชนชั้นกรรมาชีพ[11]

ดังนั้นชนชั้นกรรมชีพจึงไม่สามารถรวมตัวเป็นชนชั้นได้หากไม่มีการนำเสนอยุทธวิธีใหม่ กิลลอยจึงได้ย้ายสมรภูมิการต่อสู้จากชนชั้นซึ่งล้มเหลวไปแล้ว มาสู่ชนชั้นแบบใหม่ เพราะการกดขี่บนพื้นฐานของเชื้อชาติชัดเจนมากในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน แต่ ฮอล มีความคิดเห็นในเชิงคัดค้านโดยเฉพาะจากบทความที่เขาเขียนให้แก่ ยูเนสโก้ (the UNESCO)[12]

เชื้อชาติเชิงชนชั้นเมื่อนำมาใช้อาจจะส่งผลระยะยาวทางอุดมการณ์ สิ่งที่กิลลอยหวังไว้ว่าจะสร้างไม่น่าจะเป็นจริงได้ ก็เพราะความจริงแล้วมีความหลากหลายทางเชื้อชาติจนไม่สามารถรวมเป็นกลุ่มที่มีจิตสำนึกร่วมและพัฒนามาเป็นชนชั้นได้ ฮอลเตือนว่าปัญหาเชื่อชาตินิยมไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะของคนดำและไม่ใช่เฉพาะคนดำเท่านั้นที่มีชะตากรรมอันเจ็บปวด[13] แนวคิดเชื้อชาติเชิงชนชั้นจึงเป็นแนวคิดที่ทำให้อัตลักษณ์กลายเป็นเรื่องการเมือง และโดยเฉพาะการนำเชื้อชาติซึ่งเป็นประเด็นปัญหามากที่สุดมาทำให้เป็นอัตลักษณ์ในเชิงสารัตถะนิยมด้วยแล้ว จึงถือว่าเป็นเรื่องอันตรายเป็นอย่างยิ่ง การที่ผู้เขียนนำแนวคิดของฮอลมาใช้เพราะฮอลชัดเจนที่สุดในกลุ่มซ้ายใหม่อังกฤษในช่วงเวลาเดียวกันที่ได้พัฒนา/นำเข้า แนวคิดทาง มานุษยวิทยาว่าด้วยชาติพันธุ์ แนวคิดในเรื่องความแตกต่างเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาสารัตถะนิยมซึ่งเกิดขึ้นมาจากการต่อสู้ทางการเมือง ทั้งการเมืองทางชนชั้น การเมืองสีผิว และการเมืองแห่งอัตลักษณ์ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งจากการศึกษาแนวคิดทฤษฎีของฮอลในประเด็น “ชาติพันธุ์แนวใหม่” มีศักยภาพและความเหมาะสมสำหรับนำมาเป็นแนวทางสำหรับแก้ไขปัญหาพหุนิยมทางวัฒนธรรมที่กำลังอ่อนล้าสิ้นหวังอยู่ในขณะนี้มีทางออก

การจำแนกกลุ่มชนโดยเชื้อชาติไม่เป็นที่สนใจแก่นักมานุษยวิทยาอีกต่อไป เพราะมีความคับแคบและผิดพลาด เช่น การใช้ปัจจัยทางชีววิทยาเป็นตัวบ่งชี้จัดประเภทคนโดยเชื้อชาติ แต่ทว่าความคิดเชื้อชาติในอดีตได้แพร่กระจายจนมีลักษณะแปรเป็นสัญลักษณ์ไปเสียแล้ว นอกจากนั้นเชื้อชาติเคยถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมืออันทรงพลานุภาพในการกดขี่โดยลัทธิอาณานิคม ดังนั้นสำหรับนักมานุษยวิทยาโดยทั่วไปแล้วเชื้อชาติเป็นเพียงวัฒนธรรม ไม่ใช่ความจริงทางชีววิทยาแต่เป็นความจริงในระดับสัญลักษณ์ ซึ่งยังขาดข้อพิสูจน์ที่น่าเชื่อถือจึงไม่น่าเป็นที่ไว้วางใจนักหากจะนำมาใช้จำแนกกลุ่มชน นักมานุษยวิทยาจึงใช้ตัวแบบอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า ชาติพันธุ์หรือชาติพันธุ์สัมพันธ์” (ethnicity) เนื่องจากการที่ผู้คนได้ใช้แสดงสิ่งบ่งบอกตนเองและวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการจำแนกตนเองเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีเหตุผลที่ดีกว่าและยังยืดหยุ่นมากกว่าการใช้ข้อมูลทางพันธุกรรม[14] นอกจากนั้นแล้วชาติพันธุ์เป็นวิธีการจำแนกกลุ่มชนที่ให้ความเคารพยอมรับต่อการนิยามตนเองของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเท่าเทียมกัน จึงมีความเหมาะสมมากกว่าเชื้อชาติ

 


โรคเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (Xenophobia)
ที่มา:  https://www.9news.com/article/news/history/denver-chinatown-race-riot-history/73-59d118bd-031a-4b5b-ac65-d627750359f8

 

นักมานุษยวิทยาเป็นหนึ่งในผู้นำในการต่อต้านแนวความคิดเชื้อชาตินิยม แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการคว่ำบาตรแนวคิดนี้แต่การเหยียดเชื้อชาติก็ฝังจิตใจคนทั่วไปเสียแล้ว เหมือนกับว่ามีความคิดที่ผนึกฝังไว้กับลักษณะทางกายภาพไปด้วย ทำให้สีผิว ริมฝีปาก เส้นผม ฯลฯ เป็นสัญลักษณ์สำหรับการตัดสินความสูงต่ำของความเป็นมนุษย์ ต่อมาเมื่อชาวยุโรปเผชิญกับคนต่างชาติจำนวนมาก จึงเกิดการพัฒนาความคิดอคติทางเชื้อชาติมาสู่มิติใหม่ เรียกว่า โรคเกลียดกลัวชาวต่างชาติ (xenophobia) ซึ่งในความเป็นจริงแล้วความเกลียดกลัวชาวต่างชาติก็คือแนวคิดเชื้อชาตินิยมเดิมนั่นเอง[15] แต่การใส่ป้ายชื่อก็เพื่อแสดงให้เห็น ว่ามีความผิดปกติบางประการของคนที่มีอาการคล้ายโรคทางจิตใจชนิดหนึ่ง มีอาการกลัวและเกลียดคนแปลกหน้า การอธิบายอาการแสดงความเกลียดกลัวว่าเป็น “โรค” เพื่อแสดงให้เห็นว่าอาการเหล่านี้สามารถแพร่ข้ามไปสู่คนอื่นได้ และพัฒนาเป็นโรคที่ติดต่อทางอารมณ์ได้โดยง่ายและรวดเร็ว นอกจากนี้โรคเกลียดกลัวชาวต่างชาติใช้เหตุผลน้อยกว่าเชื้อชาตินิยมในการตัดสินคนอื่นอีกด้วย หากเกิดปรากฏการณ์รวมหมู่ในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งก็สามารถพัฒนาเกิดเป็นวิกฤติในเชิงโครงสร้างของนโยบายพหุนิยมทางวัฒนธรรมดังที่ปรากฏมาแล้วในหลายประเทศ

นักวิชาการนอกสาขามานุษยวิทยาก็ได้เข้ามาถกเถียงเรื่องเชื้อชาติ เพื่อต่อต้านอาณานิคมในประเทศของตนเอง เช่น กลุ่มต่อต้านอาณานิคม และกลุ่มหลังอาณานิคม[16] แนวคิดหนึ่งเป็นที่น่าสนใจมากเมื่อค้นคว้ากลับไปดูกระแสวิจารณ์เชื้อชาตินิยม ได้แก่เค้าโครงความคิด “เนกลิจูด” (Négritude) คำ Négritude ในภาษาฝรั่งเศสหมายถึงการปฏิเสธข้อกล่าวหาของคนผิวขาว เช่น คำอธิบายว่าคนดำไม่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ในเกลิจูด กลับยืนยันว่าคนดำมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งคนดำควรหันกลับมาฟื้นฟู ผู้ก่อตั้งแนวคิด คือ เอมี เซเซ่[17] หนังสือ “Discourse on colonialism” แปลจากภาษาฝรั่งเศส ตีพิมพ์เมื่อปี 1955 แนวคิดเนกลิจูดไม่ได้ถูกนำไปขยายผลในอัฟริกาเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเป็นอย่างมาก รวมทั้งคนดำทั่วไปในยุโรปและอเมริกาก็ไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก[18]

บุคคลสำคัญต่อมาก็คือ ฟรันซท์ ฟาน็อง (Frantz Fanon) ปัญญาชนชาวอัลจีเรีย ผู้ต่อต้านลัทธิเชื้อชาตินิยมและสนับสนุนการปลดปล่อยอัลจีเรียจากอาณานิคมของฝรั่งเศสโดยการปฏิวัติ ได้เขียนหนังสือ “Black Skin, White Masks”[19] ฟาน็องวิจารณ์ความคิดของระบบอาณานิคมฝรั่งเศส ดังที่ชาวฝรั่งเศสเชื่อว่าประเทศตนเองเป็นเมืองแม่ มีวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าจากทั่วทั้งโลก ฟาน็องอธิบายว่าการให้ภาพแทนอันงดงามของฝรั่งเศสเป็นเพียงภาพลวงตาที่ชาวฝรั่งเศสสร้างขึ้น จากการชักนำให้ผู้คนคล้อยตามว่าประเทศอาณานิคมของตนเองมีความล้าหลัง ลัทธิอาณานิคมฝรั่งเศสได้ใช้วิทยาการทางเชื้อชาติมาใช้จำแนกจัดประเภทชาวอัลจีเรีย และเรียกคนดำทั้งหมดว่า นิโกร (the Negro) เป็นการเลือกปฏิบัติโดยการกดขี่ให้คนดำต่ำต้อยและเป็นอื่น (Others)[20]

แรงบันดาลใจที่ได้รับจากเซเซ่และฟาน็องได้กระตุ้นการอ่านและค้นคว้าในหลายวงการ แต่อย่างไรก็ตามนักวิชาการกลุ่มหลังอาณานิคมกลับไม่ยอมรับในจุดยืนของเนกลิจูด เพราะแนวคิดเนกลิจูดจำกัดอุดมการณ์ไว้ที่อัฟริกาในเชิงภูมิศาสตร์จึงไม่สามารถขยายไปสู่พื้นที่อื่นได้ นอกจากนี้คนดำที่อัฟริกามีความแตกต่างหลากหลายและยังมีลักษณะผสมที่รับมาจากลัทธิอาณานิคม ถึงแม้จะมีข้อเสนอให้คนดำรื้อฟื้น วัฒนธรรมเพื่อดึงเอาจิตสำนึกคนดำออกมาจากวัฒนธรรมชาวอัฟริกัน แต่ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะความแตกต่างของชาติ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ท้ายที่สุดแล้วการบริหารอาณานิคมมีความแตกต่างกันจึงกระตุ้นวัฒนธรรมอัฟริกาให้มีพัฒนาการแตกต่างและหลากหลาย ระบบการถูกกดขี่ก็หนักเบาไม่เท่ากันและวิธีคิดของลัทธิอาณานิคมก็มี ความแตกต่าง ดังนั้นในแต่ละประเทศจึงไม่เหมือนกัน[21] การต่อต้านจึงแตกต่างและเมื่อมีการเรียกร้องให้รื้อฟื้นวัฒนธรรมอัฟริกาจึงสับสนว่า อัฟริกาที่ไหน เมื่อไหร่ ทำให้วัฒนธรรมร่วมของคนดำไม่สามารถเป็นจริงได้

การเรียกร้องให้เห็นถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมของคนดําไม่ได้ใช้แนวคิดเนกลิจูดโดยตรง แต่รับการใช้สัญลักษณ์ของ สีผิว ริมฝีปาก เส้นผม และอื่น ๆ มาสร้างอัตลักษณ์ในเชิงสารัตถะ ทําให้การ ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติได้รับการติดตั้งอาวุธทางการเมืองที่แหลมคม คือ “อัตลักษณ์ทางการเมือง” อัตลักษณ์คนดำถูกแนะนำผ่านสื่อหลายช่องทาง เช่น ศิลปะภาพยนตร์ ดนตรี การต่อสู้ของคนดํานั้นพวกเขาไม่ได้ต้องการย้ายกลับไปที่อัฟริกาแต่ต้องการมีพื้นที่ทางสังคม โอกาสทางเศรษฐกิจ ได้รับความเคารพจากชนผิวขาวของประเทศ การขยายแนวร่วมสีผิวได้ถูกนำมาประกอบสร้างเป็นแนวคิดชนชั้นแบบใหม่ และกลายมาเป็นสงครามการต่อสู้ทางสีผิวที่แหลมคมและรุนแรงซึ่งก็เกิดผลที่ตามมา คือ จากการต่อสู้เพื่อเพิ่มสิทธิกลายเป็นการสร้างลัทธิเหยียดเชื้อชาติแบบใหม่ ผู้เขียนจะอธิบายถึงผลกระทบและการวิจารณ์ในหัวข้อต่อไป ในประเด็นปัญหา สารัตถะแห่งอัตลักษณ์

 

ปัญหาสารัตถะแห่งอัตลักษณ์

 


สังคมพหุวัฒนธรรมนิยม (multicultural society)
ที่มา: https://mckellinstitute.org.au/research/articles/why-australia-is-the-worlds-most-successful-multicultural-society/

 

สจ๊วต ฮอล (Stuart Hall) นักวิชาการหลังอาณานิคมศึกษา ซ้ายใหม่อังกฤษ และวัฒนธรรมศึกษา ได้นำเสนอแนวคิดต่อต้านเชื้อชาตินิยม จุดเด่นที่ผู้เขียนนำแนวคิดของเขามานำเสนอก็เพราะ ฮอลอธิบายพื้นฐานของสังคมยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษที่มีลักษณะที่เรียกว่าสังคมพหุวัฒนธรรมนิยม (multicultural society) จากจุดยืนที่ตนเองเป็นนักวิชาการคนดำจากอาณานิคมจาไมกาและได้อพยพเข้ามาศึกษาต่ออังกฤษ ฮอลได้รับประสบการณ์ตรงของปัญหาการกีดกันทางเชื้อชาติ เขาเป็นคนพันธุ์ผสม คือ ผิวดำ ผสมกับผิวขาวและอาจจะมีเชื้อสายจีนปนอยู่ด้วย ในครอบครัวแล้วฮอลมีผิวสีดำรองจากพ่อของเขาเอง เขามีแม่ที่รังเกียจคนดำและพยายามปรับทัศนคติของลูกทุกคนให้มีสำนึกเช่นคนขาว

แต่สำหรับฮอลแล้ว การเป็นคนขาวคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับตนเอง พ่อของเขาพยายามพาฮอลเข้าร่วมกิจกรรมสังสรรค์กับคนขาวที่สำนักงาน แต่สำหรับเขาเองแล้วไม่ใช่แค่เพียงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แต่เป็นเรื่องที่น่าขบขัน อับอาย ในวัยเด็กเขาถูกต่อต้านไม่ให้คบกับคนดำ ในที่สุดเขาคิดว่ามีพื้นที่ทางสังคมที่เหมาะสมกับตนเองมากกว่าที่จะอยู่อย่างแปลกแยกในพื้นที่คนขาวที่จาไมกา ด้วยเหตุนี้เขาจึงใช้ข้ออ้างเรื่องการศึกษาต่อเพื่อหนีสังคมเหยียดเชื้อชาติคนในครอบครัวตนเอง ที่อังกฤษเขาได้แต่งงานกับชาวอังกฤษผิวขาว คือ แคทเธอรีน ฮอล (Catherine Hall) ดังนั้นฮอลจึงแตกต่างจากนักวิชาการคนดำอื่น เขามีความเข้าใจการกดขี่ กีดกัน ความแปลกแยกจากภายในกลุ่มตนเองอย่างลึกซึ้ง และเขาคิดอย่างประนีประนอมกับชนผิวขาว ลดข้อจำกัดผูกมัดตัวเองในเชิงสารัตถะนิยมสู่การปลดปล่อยเพื่อสร้างพันธมิตรโดยไม่ใช้เชื้อชาติเป็นเป้าหมายทางการเมือง สำหรับการเรียกร้องสิทธิของชนผิวสี คนชายขอบ และชาติพันธุ์ ฯลฯ ผู้เขียนคิดว่าข้อเสนอของฮอล คือ ทางออกหนึ่งของปัญหาเชื้อชาตินิยมและการต่อต้านเชื้อชาตินิยม จากการต่อสู้โดยสร้างทัศนคติในเชิงลบมาสู่การเรียกร้องกระแสเชิงบวก ซึ่งผู้เขียนคิดว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้

อัตลักษณ์ทางเชื้อชาติได้ถูกนำมาสร้างภาพแทนสำหรับการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติที่ประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นที่สำคัญมากยิ่งขึ้นแต่ไม่ค่อยได้ถูกนำมาขยายความเข้าใจเพื่อปรับการรับรู้ของชนพื้นเมืองอังกฤษ คือ ผู้ลี้ภัยและคนพลัดถิ่น (diaspora) นอกจากเรื่องเชื้อชาติแล้วการพลัดถิ่นก็แปรแล้วเกิดคุณลักษณะใหม่ของคนต่างถิ่นให้มีความแตกต่างหลากหลายในสังคมอังกฤษ ไม่ยิ่งหย่อนกว่าความแตกต่างหลากหลายที่มีมาก่อนหน้านี้ คนพลัดถิ่นคือกลุ่มชนหลากหลายสีผิว หลากหลายที่มา ซึ่งพวกเขาไม่สามารถกลับบ้านได้ และยังคงรักษาการระลึกถึงบ้านเกิดไว้ในเชิงจินตนาการ นักวิชาการและศิลปินจำนวนหนึ่งได้ใช้แนวคิดดังกล่าวอธิบายว่า ผู้อพยพย้ายถิ่นมีอัตลักษณ์ข้ามชาติ/ประเทศและยังคงพยายามรักษาความสัมพันธ์ตนเองให้ต่อเนื่องกับท้องถิ่นเดิม ภาพแทนตนเองที่แสดงออกมาในสังคมพลัดถิ่นมีทั้งการขัดเกลาตัวเองให้เป็นคนใหม่และในบางครั้งก็แสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างตนเองในปัจจุบันและสังคมเดิม ในทำนองว่าตนเองยังคงมีอัตลักษณ์ร่วมที่ดำรงเอาไว้ได้ ฮอลอธิบายว่า อัตลักษณ์ที่เขานำมานำเสนอมีลักษณะในเชิงสารัตถะ คือ มีความหยุดนิ่ง ณ เวลาหนึ่ง ซึ่งในความจริงแล้วเขาเองมีความเปลี่ยนแปลงและอัตลักษณ์มี ความเป็นพหุลักษณ์

คนพลัดถิ่นเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์เมื่อข้ามเวลาไปแล้ว แต่ที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นหมายถึงอัตลักษณ์แสดงออกมาจากการเปลี่ยนแปลงและอ่อนไหวในทุกขณะเวลา หากเราจะอธิบายในเชิงทฤษฎีว่า “อัตลักษณ์เปลี่ยนได้และมีความหลากหลาย” อาจจะทำให้เข้าใจแนวคิดฮอลผิดพลาดไป จริง ๆ แล้ว ฮอลอธิบายว่า “อัตลักษณ์อยู่ในกระบวนการที่ผลิตสร้างอย่างไม่เคยเสร็จสมบูรณ์” ซึ่งแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ คนพลัดถิ่นมีปัญหา คือ พวกเขามีความคิดที่ผิดพลาดว่าตัวเองสามารถควบคุมความแท้ของตนเองไว้ได้ แต่ราคาที่ต้องจ่ายนั้นแพงมากเพราะการแสดงความแท้กลับต้องปะทะกับความแตกต่างหลากหลายและการเปลี่ยนแปลง อัตลักษณ์ในเชิงสารัตถะของพวกเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ตนเองดำรงจริง[22] ฮอลคิดว่าอัตลักษณ์พลัดถิ่นมีความหลากหลายดังนั้นการแสดงอัตลักษณ์ในเชิงหยุดนิ่งจึงปะทะกับอุปสรรคหรือแรงฝืน และด้วยความไม่รู้ตนเองว่าเป็นการยากเหลือเกินที่เขา (คนพลัดถิ่น) จะปฏิเสธการรักษาตัวตนในพื้นที่พลัดถิ่นได้ ซึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการที่จะหลุดพ้นจากปัญหาการนำเสนอนี้ได้เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและต้องเข้าใจเงื่อนไขในประเทศที่ตนเองอยู่อาศัยเป็นหลัก

การแสดงอัตลักษณ์สารัตถะสร้างการเชื่อมต่อระหว่างตนเองและสังคมเดิม ผู้เขียนคิดว่าสำหรับผู้อพยพทุกคนล้วนต่างก็ต้องมีกระบวนการพิเศษเกิดขึ้นระหว่างการปรับตัวในสังคมใหม่ แต่จากการเป็นคนพลัดถิ่นและยังมีจินตนาการถึงบ้านเก่าก็สร้างความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ แต่ก็มีปัญหาที่ยากจะแก้ไข เช่น ปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ได้ช้า หรือยากมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายพหุนิยมทางวัฒนธรรมไม่ได้ใส่ใจกับสถานการณ์คนพลัดถิ่นที่เขามีปัญหาการหวนระลึกถึงบ้านตนเองที่แก้ไขไม่ได้ แต่นโยบายพหุนิยมทางวัฒนธรรมกลับกระตุ้นให้คนพลัดถิ่นรวมกลุ่มในทางวัฒนธรรม และสร้างความรู้สึกติดยึดกับวัฒนธรรมบ้านเกิด ซึ่งก็เท่ากับเป็นการเสริมแรงอารมณ์พลัดถิ่น ข้อบกพร่องที่สำคัญของนโยบายพหุนิยมทางวัฒนธรรม คือ ขาดวิสัยทัศน์ที่จะเข้าใจได้ว่าวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงได้ ขาดความเท่าทันปัญหาคนพลัดถิ่น จึงหยิบยื่นอาวุธให้กับคนบาดเจ็บทางจิตใจโดยการให้อำนาจและความชอบธรรมแก่ผู้พลัดถิ่นฐาน สร้างตัวตนในเชิงสารัตถะในสังคมที่มีทัศนคติต่อต้านคนต่างชาติ

คนพลัดถิ่นก่อตัวทางสังคมขึ้นในสังคมพลัดถิ่น จากแรงกระตุ้นที่หลากหลายรายล้อมทำให้พวกเขาหมกมุ่นกับการแสดงตนเองเป็นตัวตนเดิม มากกว่าการเข้าใจตัวตนที่เป็นอยู่อยู่ในปัจจุบันในพื้นที่สังคมพลัดถิ่น ดังนั้นจึงเกิดปัญหาที่แก้ไขได้ยากมาก หากผู้ดำเนินนโยบายไม่เรียนรู้ปัญหาการดำรงอยู่ของคนพลัดถิ่นและไม่เรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมคือ “การเปลี่ยนแปลง” พหุนิยมทางวัฒนธรรมจึงกลายเป็นลัทธิทางวัฒนธรรมเชิงสันโดษ พหุนิยมทางวัฒนธรรมไม่ใช่แนวคิดสำหรับการปลดปล่อยมนุษย์สู่ความแตกต่างหลากหลายท่ามกลางความหลากหลาย (diversity) ที่เป็นอยู่จริงของทุกสังคม เมื่อนำสถานการณ์คนดำอังกฤษต่อต้านลัทธิเชื้อชาตินิยมโดยสร้างลัทธินิยมแบบใหม่คือนิยมคนดำ โดยเหยียดคนขาว (และเกิดการเหยียดเชื้อชาติอื่น ๆ เพิ่ม มากขึ้น การต่อสู้แทนที่จะปลดปล่อยตนเองจากปัญหาเชื้อชาตินิยมแต่กลับถลำลึกจากการนำวิธีคิดเหยียดเชื้อชาติมาเป็นวิธีคิดของตนเอง คือ คนดำที่เหยียดเชื้อชาติอื่น ปัญหาเชื้อชาตินิยมและปัญหาคนพลัดถิ่น พัฒนามาเป็นการเป็นโรคเกลียดกลัวชาวต่างชาติ ทั้งหมดเกี่ยวข้องกันอย่างยุ่งเหยิง เมื่อกลับมาพิจารณาสิ่งที่ฮอลตั้งคำถามกับการต่อสู้ของคนดำเพื่อนำมาปรับใช้กับสถานการณ์พหุนิยมทางวัฒนธรรมว่า คือ ทำอย่างไรจึงจะข้ามพ้น และไม่ทำให้ตนเองไม่ติดพันอยู่ภาพแทนทางการเมืองอัตลักษณ์ (คนดำ) เสียเอง

การต่อสู้ในมิติใหม่ที่ฮอลนำเสนอก็คือ การหลุดจากปัญหาอัตลักษณ์ที่แข็งตัวขาดความยืดหยุ่น และสร้างอัตลักษณ์ที่เน้นความแตกต่างที่สามารถแตกต่างออกไปได้ ไม่ใช่แค่กลุ่มที่ดำรงความแตกต่างรักษาความแตกต่างแบบหยุดนิ่ง ทำอย่างไรที่จะนำความคิดเรื่องความแตกต่างมาแทนที่ความคิดเดิม หากมีความลึกซึ้งมากพอก็จะทำให้การนำเสนอภาพแทนผู้อพยพไม่เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างของการสื่อความหมาย และลดการกีดกันความหลากหลายภายในกลุ่ม ทางออกดังกล่าวจะสามารถทำให้คนดำได้ตรึกตรองสะท้อนกับสังคมลดการสันโดษตนเอง ยอมรับสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นความจริงที่เขาเผชิญ ฮอลอธิบายว่าคล้ายดั่งว่าคนดำกีดกันตนเองให้อยู่ชายขอบจากตนเอง และในขณะเดียวกันนั้นก็ชักนำตนเองให้อยู่ภายใต้อัตลักษณ์กลุ่ม เช่น ศาสนา ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ เพศ และชนชั้น และการกระทำนั้นทำให้พวกเขาถูกกดขี่จากอัตลักษณ์ ต่าง ๆ เช่น ศาสนา ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ เพศ และชนชั้น ซึ่งผู้เขียนจะอธิบายในหัวข้อถัดไปในประเด็นความเป็นชายขอบของผู้อพยพในสังคมหลากหลายทางวัฒนธรรมของฮอล

 

ความเป็นชายขอบของผู้อพยพในสังคมหลากหลายวัฒนธรรม

หากต้องการเข้าใจปัญหาการอพยพเข้าไปอยู่อาศัยในยุโรปรุ่นใหม่ แนวคิดที่น่าจะเหมาะสมกว่าสำหรับนำมาพิจารณา คือ รูปแบบและสถานการณ์คนพลัดถิ่น อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจปัญหาการอพยพย้ายถิ่นโดยสมัครใจหรือไม่สมัครใจได้ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อกลับมาวิพากษ์นโยบายพหุนิยมทางวัฒนธรรมใหม่อีกครั้งว่ามีความเข้าใจและจัดการกับคนพลัดถิ่นอย่างเหมาะสม แนวคิดในการอธิบายของ ฮอล มีความสอดคล้องกับสถานการณ์เป็นอย่างยิ่งและอาจจะสามารถนำมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความแตกต่างหลากหลายของคนพลัดถิ่นในสังคมที่ดำเนินนโยบายพหุนิยมทางวัฒนธรรม เพื่อความอยู่รอดแล้วพวกเขาจะต้องพยายามหยั่งรากตัวเองเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งในสังคมใหม่ และในขณะเดียวกันคนพลัดถิ่นก็ได้สร้างความสัมพันธ์กับประเทศบ้านเกิด นอกเหนือจากปัญหาการเมือง สงคราม และปัญหาในเชิงวัตถุวิสัยสำหรับการอยู่รอดแล้ว พวกเขายังมีปัญหาทางจิตใจจากปัญหาความขัดแย้งกันเองภายในระหว่างความปรารถนาที่จะกลับบ้านแต่ก็ต้องการหยั่งรากฐาน ความรู้สึกเหล่านี้ขัดแย้งกันเองและตรงข้ามกับสถานการณ์จริง จึงส่งผลให้ความขัดแย้งในจิตใจเติบโตในอารมณ์ ในลักษณะเก็บกด และทำให้การดำรงอยู่และความต้องการกลับบ้านได้ทำลายความเป็นปัจจุบันลง[23]

ความแตกต่างของสังคมภายนอกผู้ลี้ภัยเข้ามารุกและสลายสภาวะการดำรงอยู่ของผู้อพยพ พหุนิยมทางวัฒนธรรมนั้นเต็มไปด้วยความแตกต่าง สภาวะเช่นนี้ได้กระตุ้นคนพลัดถิ่นให้เปลี่ยนแปลงตัวเอง และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในอย่างมหาศาล ขอขยายความว่าผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพโดยสมัครใจรักษาการดำรงอยู่ในสองแบบคือ ดำรงอยู่ในสังคมปัจจุบันและดำรงอยู่ในสังคมบ้านเกิดแต่ในเชิงจินตนาการ ซึ่งเป็นอดีตแต่ยึดเหนี่ยวไว้ในความคิด แต่จากการสนับสนุนการเมืองแห่งอัตลักษณ์ เช่น ศาสนา ชาติพันธุ์ เพศ และการเมือง โดยนโยบายพหุนิยมทางวัฒนธรรม กลับทำให้การหวนรำลึกถึงอดีตส่งผลกระตุ้นให้คนพลัดถิ่นรักษาอัตลักษณ์เดิมซึ่งขาดความสอดคล้องอย่างมากกับสังคมปัจจุบัน สำหรับสังคมพหุลักษณ์การยึดถือรากเหง้าคือการปิดกั้นการรับรู้ว่าความจริงแล้วตนเองเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จึงเกิดปัญหาซ้ำซ้อนขึ้น[24] ทั้งเรื่องชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ (การกีดกันทางเพศ การกดขี่เพศสตรี การกดขี่ครอบครัว ซึ่งมาจากความคิดอนุรักษ์นิยมในสังคมบ้านเกิด) หรือการสร้างความสัมพันธ์ต่อกันในเชิงเครือญาติซึ่งอาจจะสำคัญมากกว่าชาตินิยมด้วยซ้ำ[25] สำหรับคนพลัดถิ่นรุ่นที่สองแล้วถึงแม้จะไม่มีประสบการณ์จากแผ่นดินแม่แต่ความสัมพันธ์ในเชิงชาติพันธุ์อาจจะกระตุ้นให้พวกเขาสืบสาวหาความแท้ของประเทศที่พ่อและแม่อพยพผ่านประวัติศาสตร์ของครอบครัว เช่น ค้นหาจากวรรณกรรม หรือการเมืองในประเทศนั้น[26] ชาติพันธุ์และการอนุรักษ์นิยมทางประเพณีบ้านเกิดกลายมาเป็นพื้นที่เฉพาะที่ประกอบควบรวมกลายมาเป็นอัตลักษณ์ในเชิงสารัตถะได้

บุคคลทั้งหมดในสังคมคือพลเมืองหรือผู้อยู่อาศัยในรัฐหนึ่ง ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสังคมมานาน หรือถูกเบียดขับให้เป็นชนกลุ่มน้อย ดำรงตนเป็นส่วนหนึ่งของชาติพันธุ์ และกลุ่มอนุรักษ์นิยมทางประเพณี นอกจากจะเป็นสมาชิกของกลุ่มย่อยแต่จริง ๆ แล้ว พวกเขาเป็นพลเมืองของรัฐที่ตนเองอยู่อาศัยอยู่ด้วย และเกิดปัญหาตาบอดร้ายแรงประการหนึ่งก็คือ กลุ่มสารัตถะอัตลักษณ์มักจะเชื่อว่าประเพณีที่ตนเองพยายามอนุรักษ์ได้รับ การถ่ายทอดมาโดยตรง จากการส่งต่อสืบทอดลดหลั่นมาตามแนวดิ่ง กลุ่มประเพณีนิยมหรือ คนดำจำนวนหนึ่งเข้าใจผิดไปจากความจริงและมองไม่เห็นว่า พวกเขาเปลี่ยนแปลงในแนวระนาบตัดข้ามไปมาระหว่างชุมชน เพศ เชื้อชาติและชาติกำเนิดเดิม หากพวกเขาเห็นบริบทของความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงหลากหลาย และเข้าใจว่าผู้อพยพตลอดจนทายาทได้กลายมาเป็นคนใหม่ ฮอลเรียกว่า “คนพันธุ์ผสมหรือพันทาง” (hybridity) คนพันทางไม่ได้นิยามตัวเองหยุดนิ่งแบบเดิมอีกแล้ว พวกเขานิยามตนเองจากความหลากหลาย[27] หากกลุ่มต่อสู้เรื่องพหุนิยมทางวัฒนธรรมเพื่อสิทธิความเท่าเทียมของกลุ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลงก็จะมีทางออกที่แตกต่างออกไป แนวคิดพหุนิยมทางวัฒนธรรมจะต้องตระหนักและทำเข้าใจประเด็นความเป็นชายขอบเชิงซ้อนและไม่ส่งเสริมอัตลักษณ์ในเชิงสารัตถะเพื่อที่จะไม่ให้มีปัญหาเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ความคิดในเชิงสารัตถะนิยม คือ สถานการณ์ที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ แต่การละรึกถึงบ้านแบบโหยหาอดีตก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ คือถึงแม้ไม่ถูกขับเน้นด้วยการเมืองของนักการเมืองพลัดถิ่นเชิงชาติพันธุ์และจารีตทางศาสนา พวกเขาก็มีความรู้สึกหวนรำลึกถึงบ้านและสร้างสารัตถะกับจินตกรรมที่แน่นิ่งในอดีต ไม่ว่าจะเป็น ท้องถิ่น เครือญาติ โบสถ์ มัสยิด เทศการ ภูมิอากาศ อาหาร ฯลฯ เหล่านี้เกิดขึ้นอยู่แล้ว คนรุ่นอื่นก็จะสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่และปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ และก็อาจจะแตกต่างจากปัญหารุ่นคนพลัดถิ่น ก็ได้ผู้เขียนพบว่าปัญหาสำคัญเกิดขึ้นในขณะที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองเข้มข้น ได้มีนักการเมืองพลัดถิ่นเชิงชาติพันธุ์ นักกิจกรรมพหุนิยมทางวัฒนธรรมได้เข้ามากระตุ้นให้เกิดชุมชนในเชิงจินตนาการ ดังนั้นจึงเกิดกลุ่มคนที่คุกรุ่นด้วยอารมณ์พลัดถิ่นแต่หากสถานการณ์เบาบางลงในที่สุดพวกเขาก็จะสามารถผสมกับท้องถิ่นใหม่ได้กลายเป็นคนพันธุ์ผสม[28] หรือกลายเป็นคนของที่นั้นได้โดยไม่รู้สึกแปลกแยกในเชิงผู้พลัดถิ่นอีกต่อไป

คนดำที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกาใช้พื้นที่ทางสังคมและสื่อสารมวลชนเพื่อต่อต้านลัทธิเชื้อชาตินิยมตอบโต้กับวาทกรรมเชื้อชาตินิยมโดยคนผิวขาว อัตลักษณ์คนดำในเชิงสารัตถะถูกหล่อเลี้ยงจากความเกลียดที่มีต่อผู้กดขี่ ซึ่งเป็นความกดดันในด้านตรงกันข้าม ดังนั้นหากถามว่าอัตลักษณ์คนดำมาจากอะไร คำตอบมาจากฝั่งตรงข้ามที่เข้ามามีความสัมพันธ์ในเชิงเหยียดเชื้อชาตินั่นเอง คนขาวหยิบยื่นวิธีคิดเชื้อชาตินิยมและคนดำได้กระตุ้นให้ตัวเองและกลุ่มดำรงอัตลักษณ์คนดำ และสร้างให้เป็นพลังทางการเมืองในเชิงต่อต้านชนผิวขาว ฮอลอธิบายว่าพวกเขาได้สร้างปัญหาใหญ่ตามมาคือ การหาความดำที่แท้จริงไม่พบ[29] เพราะจากที่อธิบายข้างต้นอัตลักษณ์คนดำมาจากการก่อตัวเพื่อต่อต้านคนขาว ดังนั้นอัตลักษณ์คนดำที่เป็นธรรมชาติจึงไม่มีอยู่จริง เพียงแต่ว่าพวกเขารับเครื่องมือการเหยียดสีผิวมาจากคนขาวในลักษณะนำมาใช้แบบกลับด้านแค่นั้นเอง

ถึงแม้ว่าหลายคนจะคิดว่าผู้อพยพ คนดำและชนกลุ่มน้อย ตอบโต้กับการถูกกดขี่ในสังคมพหุนิยมทางวัฒนธรรม แต่ฮอลไขความกระจ่างว่า หากจะอธิบายว่าผู้อพยพคนดำและชนกลุ่มน้อยนั้น ต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง แต่จากรูปการณ์ที่ปรากฏแล้วนั้นเห็นได้ชัดว่าพวกเขา “บั่นทอนตัวเอง” ถึงแม้พวกเขาจะถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงทรัพยากร หรือถูกบิดเบือนการรับรู้จากชนกลุ่มหลักในสังคม แต่การตอบโต้จากความเจ็บปวดในนามศาสนา ชาติพันธุ์ เป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง การตอบโต้จึงไม่ควรเกิดขึ้นจากการสร้างภาพแทนกลุ่มตนเองที่ผิดเพี้ยน เช่น นำเสนอตนเองแบบหยุดนิ่งตายตัวไม่ได้ปรับตัวกับสังคมที่ตนเองอยู่อาศัย ดังนั้นการเรียกร้องสิทธิจากพหุนิยมทางวัฒนธรรม ต้องแก้ไขปัญหาสำคัญก่อน คือ “จะต่อสู้อย่างไรที่จะสามารถก้าวข้ามความสัมพันธ์ภาพแทนทางการเมืองและไม่ติดกับภาพแทนทางการเมืองเสียเอง”

ฮอลรื้อวาทกรรมภาพแทนอัตลักษณ์วิจารณ์เพื่อทำให้เข้าใจถึงที่มาของอัตลักษณ์คนดำ เดวิด มอร์เลย์[30] ให้ความเห็นว่า ฮอลให้ความระมัดระวังในการพิจารณาอัตลักษณ์มาก[31] และเสนอให้เข้าใจอัตลักษณ์แบบใหม่ คือ “ความแตกต่าง” จากตัวอย่างก่อนหน้านี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า หากผู้อพยพและคนดำจะตอบโต้กลับไปที่ลัทธิเชื้อชาตินิยมแต่อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่สามารถ ตอบโต้กลับไปได้จริง ๆ ลัทธิเชื้อชาตินิยมไม่ได้หมดไปแต่กลายเป็นแตกหน่ออ่อนทำให้มีลัทธิเชื้อชาตินิยมหลากหลาย การต่อต้านโดยการพัฒนาความเกลียดและผลักกลับไปฝ่ายตรงข้าม โดยอุปโลกน์ว่าเป็นอัตลักษณ์ตนเองจึงเท่ากับเป็นการสร้างความไม่รู้จักตนเองตลอดไป อีกทั้งเป็นอื่นในสังคมของตนเองอย่างไม่จบสิ้น

ฮอลเสนอทางออกจากปัญหาโดยการสร้างการเมืองแบบใหม่ คือการสร้างภาพแทนที่เป็นพลวัตและทำให้อัตลักษณ์มาจากจากความแตกต่าง กล่าวคือ ความแตกต่างกลายมาเป็นสารัตถะสำหรับก่อตัวให้แก่อัตลักษณ์นั่นเอง อาจจะลองเปรียบเทียบได้กับการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยในสังคมพหุวัฒนธรรม ที่ต้องการทำให้เกิดความเท่าเทียมและให้การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยอมรับสิทธิในการนับถือ/ปฏิบัติ ทางศาสนา ยอมรับในสิทธิทางวัฒนธรรม และยอมรับในสิทธิทางเพศหลากหลาย ฯลฯ หากจะเคลื่อนไหวต่อสู้ตามที่ฮอลนำเสนอผู้ต่อสู้จะต้องเคลื่อนย้ายสำนึกไปสู่ฐานราก และใช้มันเพื่อสร้างความคิดในการประกอบสร้างความเป็นตัวตน โดยยึดโยงฐานรากทั้งเรื่องชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ และเหตุผลที่ทำให้พวกเขาจำต้องย้ายถิ่น และมีปฏิบัติการผ่านภาษาในสังคมการสื่อสาร อาจจะเรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า “พื้นที่ปฏิบัติการทางวาทกรรม” ในพื้นที่ดังกล่าวไม่มีผู้ส่งสารทางเดียว แต่เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถนำเข้าข่าวสารหรือภาษา ไม่มีใครเชื่องหรือถูกครอบงำหรือถูกชักจูงฝ่ายเดียว รวมถึงแนวคิดเชื้อชาตินิยมหรือพหุนิยมทางวัฒนธรรมแบบสำเร็จรูป ทุกคนเป็นผู้สื่อสารและมีเครื่องมือของตนเองในการถอดความหมายของสาร[32] เครื่องมือในที่นี้ ฮอลหมายถึง “วัฒนธรรม” และในสังคมพหุวัฒนธรรมยิ่งต้องพัฒนาเครื่องมือให้สามารถถอดความหมายทางวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายและยืดหยุ่น เพื่อที่จะเข้าคนต่างวัฒนธรรม ฮอลอธิบายว่า รหัสที่มีเงื่อนไขเฉพาะเจาะจงจึงต้องมีความระมัดระวังไม่ทำให้การสื่อสารเพิ่มปัญหาเดิมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะทำให้ภาพแทนที่ใช้สำหรับต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมจะเป็นเครื่องมือที่ผู้ใช้สามารถควบคุมได้”[33]

ความเป็นสารัตถะก็พัฒนาขึ้นจากการสื่อสารแบบคับแคบ แต่จะทำอย่างไรที่ผู้อพยพหรือชนกลุ่มน้อยจะตอบโต้กับการเหยียดเชื้อชาติโดยการเลียนแบบภาพแทนที่มีปัญหาอยู่แล้ว และไม่นำภาพแทนของตนเองมาครอบงำคนในกลุ่ม หากเป็นเช่นนั้น

“คุณจะไม่สามารถบอกได้ว่าแตกต่างจากเชื้อชาตินิยม เพราะพวกเขามองว่าคุณเหมือนกัน”[34]

การนำเสนอภาพแทนในสังคมหลากหลายวัฒนธรรมจากการอ้างเรื่องสิทธิในความแตกต่าง แต่เพิ่มพลังทางการเมืองด้วยการรวมกลุ่มทางวัฒนธรรม ศาสนา ชาติพันธุ์ ฯลฯ ก็เท่ากับเป็นการปิดกั้นความแตกต่างที่มีอยู่ภายใน หากพวกเขาเปลี่ยนแปลงรับสิ่งใหม่ ๆ ทำให้การนำเสนอตนเองเข้าสู่สังคมตลอดจนสามารถสร้างแนวหน้าการต่อสู้แบบใหม่ และพบทางออกสำหรับการแข่งขันทางการเมือง ชาติพันธุ์ ศาสนา ที่กระทำผ่านอัตลักษณ์ กล่าวคืออัตลักษณ์มีลักษณะของการแสดงออกจากการสร้างใหม่อยู่เสมอและปรากฏออกมาในช่วงขณะที่มีผู้สื่อสารสู่สังคม อัตลักษณ์จึงไม่มีตัวแบบที่สำเร็จรูปและไม่มีอัตลักษณ์ที่ไม่มีการทำงาน การทำให้ ชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรม มาเป็นเนื้อหาสำหรับสร้างภาพแทน ก็เท่ากับเป็นการผลักให้ประเด็นเหล่านี้กลายเป็นสมรภูมิทางการเมือง ไม่ใช่การลดความขัดแย้งแต่เป็นการจุดไฟตัวเองมอดไหม้ สำหรับคนที่อ่านงานของฮอลแล้ว บางคนคงคิดว่าฮอลปฏิเสธการใช้อัตลักษณ์ทางการเมืองและชาติพันธุ์ ฮอลไม่ได้ปฏิเสธอัตลักษณ์ทางการเมืองและไม่ได้ปฏิเสธชาติพันธุ์ ถึงแม้ว่าทั้งสองหน่วยนี้มีปัญหา ถึงแม้ฮอลจะรื้อและตีแผ่มันออกมาให้เห็นผลกระทบของการทำให้เห็นปัญหาจากการสร้างสารัตถะให้แก่การต่อสู้แล้วก็ตาม

แต่หากจะเข้าใจแนวคิดของฮอลให้ถ่องแท้จริง ๆ คงต้องเข้าใจว่าเขาคือนักกิจกรรมที่ต้องการแก้ไขปัญหาการต่อสู้ทางชนชั้นและพยายามปรับแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อที่จะทำให้การต่อสู้มีทางออกไม่ล้มเหลวหรือสร้างความรุนแรงจนยากที่จะแก้ไข ดังนั้นสิ่งที่ฮอลรื้อแล้วสร้างมันขึ้นมาใหม่ซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่า “อัตลักษณ์เชิงบวก” และ “ชาติพันธุ์แนวใหม่” ไม่ใช่อัตลักษณ์ในเชิงสารัตถะดังที่อธิบายไว้มากแล้ว การนำเสนอจำเป็นที่จะต้องทำในพื้นที่เปิดและแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งพัฒนาจากทฤษฎีของ อันโตนิโอ กรัมซี่ (Antonio Gramsci) เรียกว่า “สงครามของการย้ายตำแหน่ง” (war of maneuver) และ “สงครามของการกำหนดตำแหน่งแห่งที่” (war of position) คือการทำงานในสังคมรอบตัวในชีวิตประจำวัน ฮอลเสนอให้สร้างพันธมิตรกับคนอื่นไม่ใช่การแยกตัวเองออกมา[35] เพราะหากเน้นที่อัตลักษณ์กลุ่มที่ยึดโยงกลับไปที่บ้านเกิดรังแต่จะขัดแย้งกับชีวิตประจำวันของตนเองอย่างไม่จบสิ้น แต่หากบ้านเกิดกลายเป็นแหล่งประวัติชีวิต คุณค่าที่พวกเขาจะนำมาพัฒนาหรือแก้ไขบางสิ่งที่ทำให้สมาชิกในสังคมใหม่เปิดรับความแตกต่างได้ น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและจะทำให้เกิดการพัฒนาความเป็นพันธมิตรระหว่าง เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม โดยไม่ยึดติดรวมถึงเปิดให้คนภายในครอบครัว กลุ่มทางสังคมพัฒนาตนเองได้อย่างอิสระ

หากใครต้องการเปลี่ยนพหุวัฒนธรรมในสถานการณ์ที่ต่างเป็นผู้ถูกดูหมิ่นหรือกดทับความเป็นมนุษย์ก็สามารถทำได้ คือ แทนที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวแต่ทำให้มีปัญหาร่วมกันและสร้างสังคมสันติสุขให้เกิดการยอมรับ หรือสร้างอำนาจนำ (hegemony) ในสังคม จากนั้นก็นำมากำหนดทิศทางของผู้คนในสังคมพหุชาติพันธุ์ได้ การสร้างความเป็นพันธมิตรระหว่างชาติพันธุ์และชนกลุ่มหลักจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้เขียนคิดว่าน่าจะมีแต่เพียงยุทธศาสตร์นี้เท่านั้นจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศที่ใช้นโยบายพหุนิยมทางวัฒนธรรม อาจจะเริ่มโดยการผสมกลุ่มเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาร่วมกัน ทั้งเรื่อง ชาติพันธุ์ คุณค่า ศาสนา เพศ ฯลฯ ทั้งนี้ในหัวข้อถัดไปผู้เขียนต้องการนำเสนอว่าหากจะใช้วิธีการสร้างพันธมิตรทุกชาติพันธุ์ในสังคมหลากหลายวัฒนธรรมตามแนวคิดของฮอลควรทำอย่างไร

 

ชาติพันธุ์แนวใหม่และพหุนิยมทางวัฒนธรรม

 


แนวคิดชาติพันธุ์แนวใหม่ (new ethnicities)
ที่มา: https://prezi.com/p/sbio5qapyqb8/stuart-hall-new-ethnicities/

 

แนวคิดชาติพันธุ์แนวใหม่ (new ethnicities)[36] ของฮอลมาจากการวิจารณ์การใช้การเมืองเชิงวัฒนธรรมเพื่อยืนยันตัวตนในเชิงตรรกะของการค้นหาความแท้ ความจริงแล้วอัตลักษณ์เป็นเรื่องของการปรับและมีการประนีประนอมกับวาทกรรมครอบงำทางสังคม ที่ผู้อพยพหรือชนกลุ่มน้อยจินตนาการตนเองในสถานการณ์ที่ถูกควบคุมจากวาทกรรม[37] เนื่องจากมีตรรกะบางอย่างที่ให้ การรับรองอัตลักษณ์ ดังนั้นพวกเขาจึงเข้าใจว่าตนเองมีความมั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง และเหมือนเดิม แต่ในความจริงแล้วมีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปตลอดเวลา[38] ชาติพันธุ์แนวใหม่เสนอให้สนใจว่าการก่อตัวของอัตลักษณ์ที่อัตลักษณ์มีความเป็นคนอื่นปะปนอยู่ในตัวเองอยู่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น จากการที่เราจ้องมองการเห็นได้ถูกนำกลับมาผสมกับตัวเรา ดังนั้นอัตลักษณ์ของตัวเรามาจากพื้นที่ของความสัมพันธ์ในสังคม ไม่ได้มาจากการแยกตัวเองโดดเดี่ยวออกไป[39]

หากพิจารณาแนวคิดพหุนิยมทางวัฒนธรรมที่กำลังมีปัญหาที่แก้ไขได้ยาก โดยเฉพาะแนวความคิดพหุนิยมทางวัฒนธรรมพัฒนามาจากวาทกรรมเสรีนิยม ในความจริงแล้วเสรีนิยมไม่ได้สนใจเรื่องการให้ความเคารพแก่ความแตกต่างมากนัก และไม่ได้แก้ไขปัญหาการพัฒนาการเมืองโดยเน้นความแตกต่างแต่อย่างใด เพราะเสรีนิยมต้องการให้กลุ่มคนมีความชัดเจนจึงสนับสนุนการรวมเป็นกลุ่ม จะว่าไปแล้วคือรูปแบบหนึ่งที่ พัฒนามาจากระบอบอาณานิคม ซึ่งฮอลเรียกว่า “อาณานิคมเชิงซ้อน”[40] จากที่ผู้วิจัยนำเสนอว่าพหุนิยมทางวัฒนธรรมไม่ได้สนใจเคารพความแตกต่างนั้น ฮอลได้เสนอไว้ว่า ตั้งแต่การใช้คำว่า “multiculturalism” โดยการเติมปัจจัย “-ism” ก็เปลี่ยนความหมายจากความหลากหลายกลายเป็นการกลับด้านของคำ คือการนิยมความหลากหลายจากสภาวะของความแตกต่างและหลากหลาย กลายมาเป็นความนิยมในกลุ่มตนเองท่ามกลางกลุ่มอื่นที่หลากหลาย คล้ายกับลัทธิทางการเมืองประเภทหนึ่ง เพราะการเสริมกลุ่มเฉพาะที่หยุดนิ่งก็คือการลดทอนหรือปิดกั้นเงื่อนไขที่จะมีความแตกต่างหากหลากหลายในตัวเอง[41] ฮอลพัฒนาเครื่องมือที่นักมานุษยวิทยาใช้จัดประเภทกลุ่มชน และปรับเปลี่ยนบางส่วน เพื่อให้มีความเหมาะสมสำหรับใช้กับผู้อพยพ หรือชนกลุ่มน้อยทางวัฒนธรรม โดยเรียกว่า “ชาติพันธุ์แนวใหม่” ในเบื้องต้นนี้ผู้เขียนขอเกริ่นว่ามีความแตกต่างจากชาติพันธุ์ที่นักมานุษยวิทยาใช้ เพราะนักมานุษยวิทยาใช้โดยไม่ได้แฝงนัยยะทางการเมืองแต่มุ่งที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ในทางวัฒนธรรม[42] และเกิด การจัดกลุ่มที่แตกต่างหลากลาย รวมถึงพัฒนาการข้ามกลุ่มได้อย่างยืดหยุ่น คำว่าชาติพันธุ์เหมาะสมกว่า ชนเผ่า (tribe) ซึ่งชาวยุโรปเคยใช้เรียกชนกลุ่มอื่นเพื่อกดคนอื่นให้ต่ำกว่าตนเอง นอกจากนี้ชาติพันธุ์ได้ถูกนำมาใช้แทนการจัดประเภทโดยเชื้อชาติอย่างตั้งใจ เพราะมนุษย์ทุกคนคือเชื้อสายเดียวกัน และเพื่อลดปัญหาเชื้อชาตินิยม ดังนั้นนักมานุษยวิทยาจึงใช้ชาติพันธุ์เป็นเครื่องมือที่มีความเป็นกลางแก่ทุกคน ไม่สนับสนุนว่าชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งมีคุณค่าสูงส่งกว่าชาติพันธุ์อื่น

ชาติพันธุ์แนวใหม่ของฮอลแตกต่างออกไปเพราะเขาตั้งใจที่จะนำมาใช้ในเชิงการเมืองและเพิ่มเติมว่ามีวาทกรรมในการกำหนดการดำรงอยู่ของกลุ่มชนซึ่งมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน ขออธิบายเพิ่มเติมว่าภาพแทนเชื้อชาติมีรหัสที่ฝังลึกอยู่แล้วในประวัติศาสตร์ เช่น เชื้อชาตินิยม การเกลียดกลัวชนต่างชาติหรือชนกลุ่มน้อย เป็นต้น ดังนั้นในขณะที่ผู้ที่กำลังแสดงตนเองเชิงชาติพันธุ์ให้เกิดการรับรู้ ทั้งหมดล้วนอยู่ในบริบทที่มีประวัติศาสตร์การกำหนดตำแหน่งแห่งที่ เช่น มีคุณค่า อารยธรรม ที่ให้คุณค่าความเป็นคนที่ไม่เสมอกัน การทำงานลักษณะนี้เป็นการใช้ในเชิงวาทกรรม เช่น ผู้ที่มีอำนาจมากกว่าก็จะสามารถใช้วาทกรรมกำหนดคนอื่นได้ตลอดจนกำหนดได้ว่าใครควรมีคุณค่าที่สูงหรือต่ำกว่า และความเชื่อนี้เข้าครอบงำกดให้คนตระหนักว่าตนเองต่ำต้อยกว่าชาติพันธุ์อื่น การจัดประเภทจึงไม่มีความเสมอกันแต่เป็นแบบลดหลั่นกันไป และต่างก็มีบริบทสัมพันธ์ต่อกันเป็นการเฉพาะในแต่ละพื้นที่ กลุ่ม และช่วงเวลา

สำหรับการสร้างความชอบธรรมจากภาพแทนแบบใหม่นั้นฮอลเสนอว่าไม่ควรทำให้เกิดปัญหาเช่นเดิมและจะต้องทำให้ดีกว่า[43] เมื่อพิจารณาอัตลักษณ์ของผู้อพยพย้ายถิ่น ควรเห็นการอ้างอิงความเป็นอื่นที่เกิดขึ้นตลอดเวลาซึ่งมีความสัมพันธ์กับวาทกรรมที่มีอยู่หลากหลายอีกด้วย เช่น วาทกรรมว่าด้วยครอบครัวสีผิว คนต่างถิ่น คนย้ายถิ่น เพศ ฯลฯ[44] ถึงแม้ ฮอลจะวิพากษ์ภาพแทนแต่เขาก็เสนอว่าให้สร้างการเมืองภาพแทนแบบใหม่ โดยการจัดระบบการเคลื่อนไหวต่อสู้ แบ่งปันและกระจายอุดมการณ์ ที่มีบริบทของชาติพันธุ์ที่มองแบบขยายให้กว้างขวางออกไปและทำให้เกิดการรวมเข้ามากกว่าที่จะกีดกันออก เช่น ไม่ควรสร้างการแบ่งแยกคนดำที่มีเชื้อสายผสมออกไปจากคนดำ ไม่ใช้ความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติมากำหนดการเป็นส่วนหนึ่งหรือไม่ การทำให้เพศที่หลากหลายมีที่ยืนในสังคมครอบครัว ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม ฮอลใช้คำว่า “การประกาศสุนทรพจน์แห่งความแตกต่าง” ที่ “มีการรวบรวมเข้ามามากกว่าการระงับความแตกต่าง” ดังนั้นจึงควรสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ใหม่ที่ใช้ความแตกต่างออกไปเป็นสารัตถะ ทำให้ภาพแทนที่สร้างขึ้นมาสามารถทำงานได้และสาธารณะชนให้การยอมรับ เป็นภาพแทนเลื่อนไหล ยืดหยุ่น และแข่งขันกันได้ อย่างเสมอภาคและชอบธรรม[45]

แนวทางการแก้ไขปัญหาพหุนิยมทางวัฒนธรรมจึงต้องแก้ไขที่สถาบันอำนาจนำ และต้องคิดแบบชาติพันธุ์แนวใหม่ ซึ่งไม่ใช่การทำลายอำนาจนำ แต่เป็นการเปลี่ยนให้เห็นว่ามีความแตกต่างหลากหลาย โดยทำให้ความแตกต่างในเชิงการมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันกลายเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งก็เป็นการเข้าไปปรับวาทกรรมใหม่ เพราะในสังคมพหุนิยมทางวัฒนธรรมนั้นไม่มีใครที่จะสามารถทำลายความแตกต่างหลากหลายให้หมดลงได้ ทั้งความแตกต่างจากกลุ่มตนเองหรือต่างกลุ่ม ดังนั้นจึงต้องกลับมาเข้าใจอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ใหม่ว่า ไม่ควรเน้นที่ความเหมือนแต่เน้นที่ความแตกต่าง ว่าความต่างได้กระตุ้นเขาเองให้แสดงตนในเชิงตอบรับขณะสร้างการรับรู้ของคนอื่นในพื้นที่ของการสื่อความหมาย ซึ่งฮอลอธิบายว่าทำอย่างไรที่จะสามารถทำให้เกิดการอ้างอิงจากความแตกต่างโดยทำให้ผู้คนสามารถมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้[46] หากวางแนวคิดชาติพันธุ์ใหม่ของ ฮอลไว้ในบริบทการเมืองในสังคมพหุชาติพันธุ์ จะต้องไม่เน้นที่การปรนเปรอการอนุรักษ์นิยมจนทำให้เกิดกลุ่มอนุรักษ์นิยมหดแคบ แต่ติดตามการพัฒนาและแตกต่างหลากหลายจากวัฒนธรรมตนเอง หากพิจารณาเห็นก็จะพบว่าความแตกต่างจากกลุ่มตนเอง เพราะความแตกต่างจากภายในกลุ่มตนพัฒนาจากการมีส่วนร่วมนอกสังคมรอบตัว หมายความว่าบุคคลนั้นได้สร้างการเป็นส่วนหนึ่งในสังคมที่เขาอยู่อาศัย ดังนั้นผู้เขียนจึงคิดว่าแนวคิดชาติพันธุ์แบบใหม่ของฮอลน่าจะเป็นทางออกของพหุนิยมทางวัฒนธรรม เพราะลดความขัดแย้งภายในกลุ่มและต่างกลุ่มในสังคม นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้คนในสังคมมาพิจารณาการมีส่วนร่วมกันมากกว่าจะมาเพ่งที่อัตลักษณ์ของคนที่เข้ามาใหม่หรืออัตลักษณ์ของชนกลุ่มหลักในสังคม แต่หันมาสนใจความแปลกใหม่ ส่วนผสมเก่าใหม่ ส่วนผสมที่มาจากภายในภายนอก หรือส่วนผสมคนในและคนที่เพิ่งมาจากต่างถิ่นเป็นต้น

 

สรุป

ผู้เขียนคิดว่ากรณีศึกษาพหุนิยมทางวัฒนธรรมสามารถปรับแนวคิดของฮอลมาใช้วิเคราะห์ได้ เช่น ประเด็นที่ฮอลแนะนำให้การต่อสู้เพื่อสิทธิความเสมอภาคในพหุสังคม พิจารณาความคิดอัตลักษณ์ในเชิงสารัตถะนิยมอย่างระมัดระวัง ผู้เขียนเข้าใจว่าการสร้างอัตลักษณ์เพื่อความรู้สึกมั่นคงเป็นสถานการณ์ที่ยากจะหลีกเลี่ยง คือถึงแม้ไม่ถูกขับเน้นด้วยการเมืองคนพลัดถิ่น สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นอยู่แล้วแต่ก็เบาบางลงได้เช่นกัน หาก พวกเขามีพัฒนาการหลอมรวมกับคนท้องถิ่นกลายเป็นคนวัฒนธรรมผสม หรือพลเมืองที่มีมีคุณค่าร่วมกับคนในประเทศก็จะสามารถลดการต่อต้านและเพิ่มความยอมรับให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้มากยิ่งขึ้น

ฮอลรื้อสร้างอัตลักษณ์ของผู้อพยพและชนกลุ่มน้อยที่สร้างขึ้นมาในสถานการณ์ว่าพวกเขาไม่สามารถตอบโต้กับการกดขี่ได้ทั้งหมด การหาทางออกจากปัญหาที่ผู้เขียนนำมาจาก ฮอล ก็คือการทำให้การเมืองของการสร้างภาพแทนเป็นสิ่งที่ไม่มีพลวัตและอัตลักษณ์ในเชิงสารัตถะพัฒนาสู่ความเป็นสารัตถะอีกแบบหนึ่ง โดยเข้าใจพื้นฐานว่า ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ ทำงานอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการทางวาทกรรมซึ่งทุกคนสามารถแข่งขันกันได้ ซึ่งทำอย่างไรที่จะทำให้การต่อสู้ในการนำเสนออัตลักษณ์และภาพแทนเป็นสิ่งที่ผู้ต่อสู้สามารถควบคุมได้และอยู่ในทิศทางที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมส่วนรวมได้

หากต้องการนำเสนออัตลักษณ์ก็ควรเป็นอัตลักษณ์เชิงบวก และอ่อนน้อมต่อความแตกต่างทั้งของตนเองเมื่อผ่านเวลา ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ประสานความสัมพันธ์รอบตัวเองเพื่อสร้างพันธมิตรกับคนอื่นในสังคม การนำมาปรับใช้สำหรับกรณีพหุนิยมทางวัฒนธรรมก็สามารถทำได้ คือ การทำให้จินตนาการการสร้างสังคมสันติสุขมีอำนาจนำและเป็นตัวกำหนดทิศทางของสังคม และนำมาสู่การปรับวาทกรรมการลดทอนความเป็นมนุษย์สู่การสร้างการรู้จักและทำให้เกิดการรวมตัวเข้าสู่สังคมอย่างกว้างขวางยืดหยุ่น ดังนั้นการต่อสู้จึงไม่ใช่การต่อสู้เพื่อเอาชนะแต่เป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้รับความยอมรับ อยู่ในบริบทสัมพันธ์กับคนที่แตกต่างแทนที่การกีดกันระหว่างกันแบบเชื้อชาตินิยม และลดปัญหาการเกลียดกลัวชนต่างชาติหรือชนกลุ่มน้อย

ชาติพันธุ์แนวใหม่แตกต่างจากการใช้แนวคิดชาติพันธุ์ของนักมานุษยวิทยาซึ่งเน้นความเป็นกลางที่ทุกคนใช้นิยามร่วมกัน ส่วนแนวคิดของฮอลคือ การทำให้ชาติพันธุ์กลายเป็นการเมืองว่าด้วยวัฒนธรรม ที่เน้นการประสานแนวร่วมต่างชาติพันธุ์ สีผิว ศาสนา และชนชั้น ถึงแม้จะต่อสู้กับวาทกรรมครอบงำการกีดกันทางเชื้อชาติ แต่ไม่ใช่การปะทะแล้วลบอุดมการณ์ แต่เป็นการสร้างใหม่แล้วแบ่งปัน และกระจายอุดมการณ์ที่มีบริบทของความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ที่เน้นความแตกต่างรวมถึงการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย ทำให้การเมืองใหม่เป็นการรวบรวมชาติพันธุ์ที่แตกต่างเข้ามา มากกว่าเน้นที่การจัดกลุ่มแบบพหุนิยม ทำให้เกิดการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ โดยสร้างสารัตถะที่ความแตกต่าง เลื่อนไหลและมีความยืดหยุ่น

 


[1] ความคิดการยึดถือยึดถือชาติพันธุ์ของตนเองคือศูนย์กลาง คือการใช้เชื้อชาติและชาติพันธุ์มาจัดประเภทคนเพื่อลดทอนคนอื่นและเพิ่มสถานะของ ชนชาติของผู้จัดให้สูงกว่าคนอื่น ในประวัติศาสตร์ได้เกิดการกระทำที่โหดร้ายต่อมนุษย์ด้วยกัน เช่น บังคับให้คนอื่นกลายมาเป็นทาสและนำมาค้าขายเป็นสินค้า หรือฆ่าล้างเผ่าพันธุ์(genocides) หากเกิดการตัดสินว่าคนอื่นต่ำต้อยและไม่ใช่มนุษย์ เช่น ตัวอย่างเมื่อปี 1890 เสปนได้ฆ่าล้างหมู่บ้านชาวอัฟริกันปีกมีที่ทวีปอัฟริกา เพราะคิดว่าพวกเขาไม่ใช่มนุษย์เนื่องจากมีฟันแหลมคมคล้ายสัตว์ และมีบาทหลวงชาวอเมริกันได้นำเด็กน้อยชื่อ โอตา เบงกา (Ota Benga) ซึ่งรอดมาจากเหตุการณ์ บาทหลวงได้นำ โอตา เบงกา มาขายเพื่อให้จัดแสดงที่สวนสัตว์ในรัฐนิวยอร์ โดยถูกขังให้อยู่กับลิงอุรังอุตัง (Haviland, Prins, Walrath, & Mcbride, 2005, p. 81)

[2] Bradford PV, Blume H. Ota Benga: the pygmy in the zoo. (New York: St. Martin's Press; 1992). p. 29.

[3] Bradford PV, Blume H. Ota Benga: the pygmy in the zoo. (New York: St. Martin's Press; 1992). p. 81.

[4]Mullings L. Interrogating racism: toward an antiracist anthropology. Annu Rev Anthropol. 2005;34:667-93. doi:10.1146/annurev.anthro.32.061002.093435.

[5]Thomas, D. A., & Clarke, M. K. (2013). Globalization and race: Structures of inequality, New sovereignties, and citizenship in a neoliberal era. Annual Review of Anthropology, 42(1), 305-325. doi:10.1146/annurev-anthro-092412-155515

[6]Valluvan S, Kapoor N. Notes on theorizing racism and other things. Ethnic Racial Stud. 2016;39(3):375-82. doi:10.1080/01419870.2016.1109680.

[7]Rzepnikowska A. Racism and xenophobia experienced by Polish migrants in the UK before and after Brexit vote. J Ethnic Migr Stud. 2019;45(1):61-77. doi:10.1080/1369183X.2018.1451308.

[8] กรอบความคิดเชื้อชาติมนุษย์มีรากฐานมาจากชีววิทยา และในทางโลกของชีววิทยานั้น เชื้อชาติถูกนิยามว่าเชื้อชาติมนุษย์คือ “ชนิดย่อย” (subspecies) คือประชากรที่อยู่ในชนิดเดียวกัน (species) แต่มีความแตกต่างกันออกไป ของสายพันธุ์ โฮโมซาเปี้ยนส์ (Homo Sapiens) การจัดประเภทโดยใช้เชื้อชาติขาดความเที่ยงตรงของข้อมูลทางชีววิทยา ความหลากหลายในทางชีววิทยาของมนุษย์ไม่สามารถแบ่งแยกมนุษย์ออกจากกัน ได้อย่างเด็ดขาด (Haviland, Prins, Walrath, & Mcbride, 2005, p. 82)

[9] บทความในเชิงโต้แย้งกับฮอลภาษาไทยก็มี คือ บทความของ นันทวัฒน์ ฉัตรอุทัย บทความ “เส้นทางความคิดของสจ๊วต ฮอลล์ และวัฒนธรรม ศึกษา” (นันทวัฒน์ ฉัตรอุทัย, 2558) แต่ข้อถกเถียงไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นที่ผู้เขียนนำเสนอ

[10]Gilroy P. There ain't no black in the Union Jack: the cultural politics of race and nation. London: Routledge; 1987.

[11]Gilroy P. There ain't no black in the Union Jack: the cultural politics of race and nation. London: Routledge; 1987. p.2.

[12] “Race, articulation and societies structured in dominance” (Hall, 1980b)

[13] Hall S. Race, articulation and societies structured in dominance. In: UNESCO, editor. Sociological theories: race and colonialism. Paris: UNESCO; 1980. p. 341.

[14]Sanjek R. Race. In: Barnard A, Spencer J, editors. Encyclopedia of social and cultural anthropology. London & New York: Routledge; 1996. p. 696-700.

[15] Rattansi A. Racism: a very short introduction. Oxford and New York: Oxford University Press; 2007. p. 10.

[16] Nayar PK. Postcolonialism: a guide for the perplexed. London and New York: Continuum; 2010.

[17] Césaire A. Discourse on colonialism. New York: Monthly Review Press; 1972.

[18] Arnold AJ. Beyond postcolonial Césaire: Reading Cahier D'un Retour Au Pays Natal historically. Forum Mod Lang Stud. 2008;44(3):258-75. doi:10.1093/fmls/cqn012

[19] Fanon F, Markmann CL, Sardar Z, Bhabha HK. Black Skin, White Masks. London: Pluto; 2008

[20] Hiddleston J. Understanding Postcolonialism: Négritude. Stocksfield: Acumen; 2009.p. 25-26

[21] Ashcroft, W. D., Griffiths, G., & Tiffin, H. (2002[1989]). The empire writes back: theory and practice in post-colonial literatures. London: Routledge.

[22] Hall, S. (1992). What is this "black" in black popular culture? Social Justice, 20(1-2), p. 1-2.

[23] Hall, S., Familiar stranger: a life between two islands. (Durham: Duke University Press Books, 2017), pp. 170-171.

[24] Hall, S., Cultural Identity and diaspora, In J. E. Braziel & A. Mannur (Eds.), Theorizing diaspora: A reader (pp. 233-246). Malden, (Oxford and Victoria: Blackwell, 2007).

[25]Spivak, G. C. , Acting bits/identity talk, Critical Inquiry, 18(4), (770-803. doi:10.1086/448656, 1992) p. 773.

[26]Radhakrishnan, R. , Ethnicity in an Age of Diaspora, In J. E. Braziel (Ed.), Theorizing Diaspora: A Reader (pp. 119-131). Malden, (Oxford and Victoria: Blackwell.2007), p. 119.

[27] Lowe, L. (2007). Heterogeneity, hybridity, multiplicity: Making asian american differences. In J. E. Braziel & A. Mannur (Eds.), Theorizing diaspora: A reader (pp. 132-155). Malden, (Oxford and Victoria: Blackwell, 2007) p. 132.

[28] ผู้เขียนตระหนักดีว่ามีความแตกต่างกันบ้างในบางกรณี อย่างที่ทราบกันดีว่า ปัญหาเชื้อชาติภายใน สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษหรือหลาย ๆ ที่ ถึงแม้คนดำหรือเชื้อสายอื่น ๆ จะกลายเป็นพลเมืองแล้วหลายรุ่นแต่ก็ยังเกิดปัญหาการกีดกันทางเชื้อชาติ และถูกนำมาเป็นประเด็นขัดแย้งต่อต้านการกีดกันทางเชื้อชาติ ด้วยเชื้อชาติ เนื่องจากบทความนี้ใช้ในกรณีผู้อพยพเข้าไปอยู่ใหม่ในสถานการณ์พหุนิยมทางวัฒนธรรม แต่แนวคิดของ ฮอล ใช้ได้กว้างขวางกว่านั้น การที่ผู้เขียนนำมาใช้เฉพาะกรณีผู้อพยพจึงครอบคลุมไม่ได้ขัดแย้งแต่อย่างใด

[29]  คนดำสร้างวัฒนธรรมในเชิงสารัตถะขึ้นมาเป็นแกนกลาง ให้คนดำใช้ประกอบสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง ซึ่งอ้างอิงจากความคิดเกี่ยวกับความแท้ในรากกำพืดเผ่าพันธุ์ เพื่อเป็นพลังตอบโต้กับภาพแทนที่ผลักพวกเขาให้อยู่ชายขอบของสังคม

[30] Morley, D. , General introduction. In D. Morley (Ed.), Stuart Hall: Essential essays Vol. 2, (Durham and London: Duke University Press, 2019).

[31] Morley, D. , General introduction. In D. Morley (Ed.), Stuart Hall: Essential essays Vol. 2, (Durham and London: Duke University Press, 2019), p. 5.

[32] Hall, S. , Encoding and decoding in the television discourse. In D. Morley (Ed.), Stuart Hall: Essential essays Vol. 2 . (Durham and London: Duke University Press, 2019a)., .Hall, S. , Gramsci's relevance for the study of race and ethnicity [1986]. In D. Morley (Ed.), Stuart Hall: Essential essays Vol. 2 (Ed.), (Durham and London: Duke University Press, 2019b).

[33] Hall, S. , New ethnicities. In W. D. Ashcroft, G. Griffiths, & H. Tiffin (Eds.), The postcolonialism studies reader, (London: Routledge, 1995), pp. 223-224.

[34] Hall, S. , New ethnicities. In W. D. Ashcroft, G. Griffiths, & H. Tiffin (Eds.), The postcolonialism studies reader, (London: Routledge, 1995), p. 225.

[35] Hall, S. , Gramsci's relevance for the study of race and ethnicity [1986]. In D. Morley (Ed.), Stuart Hall: Essential essays Vol. 2 (Ed.), Stuart Hall: Essential essays Vol. 2 . (Durham and London: Duke University Press, 2019b), p. 37.

[36] แนวคิดชาติพันธุ์แนวใหม่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ําหลายครั้งการตีพิมพ์นําหลายครั้ง (Hall, 1995, 1997, 2019c)

[37] Hall, S. , Introduction: Who needs 'identity'? In S. Hall & P. D. Gay (Eds.), Questions of cultural identity, (London: Sage, 1996), Zhang, L. , How to understand Stuart Hall's “ identity properly? Inter-Asia Cultural Studies, 18(2), (doi:10.1080/14649373.2017.1309498, 2017), p. 190.

[38] Hall, S. , Old and new identities, old and new ethnicities. In D. Morley (Ed.), Stuart Hall: Essential essays Vol. 2, (Durham and London: Duke University Press, 2019c), pp. 64-65.

[39]  Hall, S. , Old and new identities, old and new ethnicities. In D. Morley (Ed.), Stuart Hall: Essential essays Vol. 2, (Durham and London: Duke University Press, 2019c), pp. 69-70.

[40] Hall, S. , Old and new identities, old and new ethnicities. In D. Morley (Ed.), Stuart Hall: Essential essays Vol. 2, (Durham and London: Duke University Press, 1995, p. 225; Hall, S. , Old and new identities, old and new ethnicities. In A. D. King (Ed.), Culture, globalization and the world-system , (Minneapolis: University of Minnesota Press, 1997).

[41] Hall, S. , Old and new identities, old and new ethnicities. In D. Morley (Ed.), Stuart Hall: Essential essays Vol. 2, (Durham and London: Duke University Press, 2000),  p. 210.

[42]  นิติ ภวัครพันธุ์ อธิบายไว้โดยละเอียดถึงพัฒนาการของกรอบแนวคิดชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในบทที่ 1 (กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์สยาม, 2559), น. 27-49.

[43] Hall, S. , New ethnicities. In W. D. Ashcroft, G. Griffiths, & H. Tiffin (Eds.), The postcolonialism studies reader, (London: Routledge, 1995), p. 226.

[44] Hall, S., Morley, D., & Chen, K. H. , (Stuart Hall: Critical dialogues in cultural studies, Comedia (Vol. null), 1996).

[45] Hall, S. , New ethnicities. In W. D. Ashcroft, G. Griffiths, & H. Tiffin (Eds.), The postcolonialism studies reader, (London: Routledge, 1995), pp. 226-227.

[46] Hall, S. , Old and new identities, old and new ethnicities. In D. Morley (Ed.), Stuart Hall: Essential essays Vol. 2, (Durham and London: Duke University Press, 2019c), p. 81.