ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สง่างามบนความภราดรภาพแห่งมนุษย์คือ ผู้พิพากษาที่สังคมต้องการ

17
กรกฎาคม
2568

Focus

  • บทความ “สง่างามบนความภราดรภาพแห่งมนุษย์คือ ผู้พิพากษาที่สังคมต้องการ” มุ่งวิพากษ์บทบาทของสถาบันตุลาการไทย โดยเฉพาะการขาดความเข้าใจในหลักสิทธิมนุษยชนและความไม่เท่าเทียมในการคัดเลือกผู้พิพากษา ผ่านกรณีของศุภวิชญ์ จันทร์เสถียร ผู้พิการที่ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าสอบเป็นผู้พิพากษา ทั้งที่ไม่มีข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย บทความตั้งคำถามต่อความ “สง่างาม” ของผู้พิพากษาในสังคมไทย ซึ่งในความเป็นจริงอาจเป็นเพียงเปลือกนอกของพิธีกรรมและภาพลักษณ์อำนาจที่ไม่สะท้อนคุณค่าของความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง
  •  ผู้เขียนใช้กรอบคิด Dramaturgy ของ Erving Goffman มาอธิบายปรากฏการณ์ โดยเปรียบเปรยศาลเป็น “โรงละคร” ที่มีทั้งหน้าเวทีซึ่งเต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ และหลังเวทีที่แสดงอคติ เย็นชา และการเลือกปฏิบัติ พร้อมทั้งเสนอแนวคิดเรื่อง “ภราดรภาพ” (fraternity) ว่าเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยที่ศาลควรยึดถือร่วมกับหลักเสรีภาพและความเสมอภาค ทั้งนี้ บทความได้เรียกร้องต่อสถาบันตุลาการให้ตระหนักถึงบทบาทในการปกป้องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง หยุดยึดติดกับแบบแผนอำนาจและความเหมาะสมอันแคบ และเปิดเผยเหตุผลในการตัดสินใจต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส มิฉะนั้นความศักดิ์สิทธิ์ของศาลก็จะเหลือเพียงเปลือก และไม่อาจเรียกศรัทธาจากประชาชนได้อีก

“หน้าที่สำคัญของผู้พิพากษา คือ การประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดี ซึ่งจักต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และนิติประเพณี ทั้งจักต้องแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่าตนปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน เพื่อการนี้ผู้พิพากษาจักต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระของตนและเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์ศรีแห่งสถาบันตุลาการ[1]

- ข้อ 1 ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ

 

ภาพของผู้พิพากษาในความคิดของคนทั่วไปและที่สะท้อนผ่านสื่อบันเทิงต่างๆ คงหนีไม่พ้นภาพของคนในชุดครุยสีดำติดตราสัญลักษณ์ทางราชการ นั่งอย่างองอาจบนเก้าอี้ในห้องยกพื้นสูง ในขณะเดียวกันความเชื่อของสังคมทั่วไป ผู้พิพากษาก็ควรเป็นผู้เปี่ยมไปด้วยความรู้ทางกฎหมาย มุ่งมั่นพิทักษ์ความยุติธรรมอย่างเคร่งครัด ดังเช่นอุดมการณ์ที่ประกาศกร้าวไว้ในข้างต้นของประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ

อย่างไรก็ดี ภาพดังกล่าวเป็นจินตนาการทางสังคมที่ถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อและพิธีกรรมทางกฎหมายต่างๆ ซึ่งเป็นเพียงเปลือกภายนอกของผู้พิพากษาเท่านั้น ในรัฐสมัยบทบาทสำคัญของรัฐคือ การอำนวยความยุติธรรม โดยเฉพาะรัฐที่เป็นนิติรัฐประชาธิปไตยแล้ว ผู้พิพากษาไม่ได้จำกัดตนอยู่เพียงแค่การนั่งบัลลังก์สูงตัดสินอรรถคดีไปตามตัวบทกฎหมาย ผู้พิพากษาถูกเรียกร้องจากสังคมให้ต้องมีสำนึกต่อบทบาทในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ชายขอบของสังคม

ความสง่างามของผู้พิพากษาในระบอบประชาธิปไตยจึงไม่ได้อยู่ที่ความเคร่งขรึมหรือท่าทีที่สูงส่ง หากแต่เป็นการยืนอยู่เคียงข้างมนุษย์บนพื้นฐานของศักดิ์ศรีที่เท่าเทียม และกล้าท้าทายอคติทั้งในสังคมเพื่อรักษาหลักนิติรัฐเอาไว้ ทว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นต่อองค์กรตุลาการไทยถูกสั่นคลอนจากข้อครหานานัปการ ทั้งการเข้าไปมีบทบาททางการเมืองมากเกินไป การใช้อำนาจโดยไม่ชอบ และการเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริต ปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่เพียงบั่นทอนภาพลักษณ์ของผู้พิพากษาเท่านั้น หากยังสั่นคลอนรากฐานของนิติรัฐอย่างรุนแรง

หนึ่งในเรื่องที่สะท้อนความน่าไม่สง่างามตุลาการไทยอย่างชัดเจนคือ กรณีของ ศุภวิชญ์ จันทร์เสถียร ทนายความผู้พิการจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้าสอบคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาเป็นครั้งที่สอง ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่า การกีดกันเช่นนี้ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยชัดเจน

ศุภวิชญ์ จันทร์เสถียร

ที่มา: Facebook ทนายศุภวิชญ์ จันทร์เสถียร - Supavich Jansatien

 

การกีดกันดังกล่าวมิใช่เพียงการละเมิดสิทธิของบุคคลหนึ่งเท่านั้น แต่ยังสะท้อนความเย็นชาอย่างเป็นระบบ และความล้มเหลวเชิงโครงสร้างของศาลยุติธรรมที่ยังเพิกเฉยต่อหลักสิทธิมนุษยชนและความภราดรภาพ รวมถึงสะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วความสง่างามของผู้พิพากษาในสายตาประชาชน อาจเป็นเพียงฉากหน้าที่ปกปิดความอัปลักษณ์ของพฤติกรรมภายใน ที่พร้อมเพิกเฉยต่อสิทธิของมนุษย์ เมื่อสิ่งนั้นไม่สอดคล้องกับอำนาจที่ตนเองยึดถือ

 

โรงละครแห่งความสง่างามที่เรียกว่าศาล

Erving Goffman (11 June 1922 – 19 November 1982)

 

นานมาแล้วเคยมีนักสังคมวิทยาคนหนึ่งชื่อว่า Erving Goffman ได้เสนอการวิเคราะห์เชิงละคร (dramaturgy) ซึ่งอธิบายชีวิตสังคมของมนุษย์เหมือนละคร มนุษย์ทุกคนมีบทบาททั้งในเชิงหน้าเวที (front stage) และหลังเวที (back stage) ที่สะท้อนบทบาทและตัวตนในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน[2] หากจะเปรียบชีวิตในสังคมสถาบันตุลาการเป็นโรงละคร หน้าเวทีของสถาบันตุลาการคือ ห้องพิจารณาคดี ซึ่งถูกจัดวางให้เป็นพื้นที่ไว้แสดงอำนาจของศาล ได้ถูกออกแบบอย่างพิถีพิถันให้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์และพิธีกรรม ตั้งแต่ชุดครุยที่แสดงถึงยศศักดิ์ การลุกขึ้นยืนเมื่อผู้พิพากษาเข้าห้อง ไปจนถึงการนั่งบนบัลลังก์ยกพื้นสูง ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพียงพิธีที่ไร้สาระ หากแต่เป็นกลไกในการผลิตความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจศาล เพื่อทำให้คำตัดสินของผู้พิพากษาดูแตกต่างจากความคิดเห็นของบุคคลทั่วไป

ในแง่หนึ่งความศักดิ์สิทธิ์นี้จำเป็นต่อศาล เพราะฝ่ายตุลาการไม่มีกำลังบังคับเหมือนฝ่ายบริหาร และไม่มีงบประมาณเหมือนฝ่ายนิติบัญญัติ สิ่งเดียวที่ศาลมีคือ ความน่าเชื่อถือในการตัดสิน ซึ่งจะไร้น้ำหนักโดยสิ้นเชิงหากสังคมไม่ยอมรับว่าเป็นอำนาจที่ถูกต้อง ในแง่นี้พิธีกรรมทางกฎหมายคือเครื่องมือสร้างเสถียรภาพให้กับองค์กรที่เปราะบางที่สุดในโครงสร้างอำนาจรัฐ[3]

พึงสังเกตว่า แม้พิธีกรรมและสัญลักษณ์ทางกฎหมายเหล่านี้จะมีบทบาทในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรตุลาการในระบบกฎหมายตะวันตก แต่อาจต้องตั้งคำถามว่า เมื่อประเทศไทยรับเอารูปแบบเหล่านี้มาใช้ผ่านกระบวนการปฏิรูประบบราชการและศาลยุติธรรมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั้น สถาบันตุลาการไทยได้ซึมซับคุณค่าร่วม อาทิ ความเป็นกลางทางอำนาจ หรือหลักสิทธิมนุษยชน มาพร้อมกับแบบแผนภายนอกด้วยหรือไม่ หรือสิ่งที่เราเห็นในวันนี้ อาจเป็นผลลัพธ์ของการรับมาเพียงเปลือกของของระบบศาลแบบตะวันตกเท่านั้น หากแต่ไร้ซึ่งจิตวิญญาณของความเป็นกลางหรือสิทธิมนุษยชน

โมเดลสามมิติห้องพิจารณาคดีของศาลไทยจัดทำโดย คิดอย่าง

 

ทว่า นอกเหนือจากหน้าเวทีอันอลังการแล้ว การศึกษาเกี่ยวกับสถาบันตุลาการของไทยยังไม่ค่อยให้พื้นที่กับฉากหลังของอำนาจ ซึ่งไม่ควรถูกมองข้ามรวมถึงการใช้อำนาจของสถาบันตุลาการโดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ ทั้งการประชุมปรึกษาคดี การเขียนสำนวน การสั่งคำร้อง และการทำคำพิพากษาล้วนเป็นพื้นที่ที่ผู้พิพากษาเปิดเผยตัวตนอีกด้านหนึ่ง ทั้งความคิดเห็นส่วนตัว อคติส่วนบุคคล หรือแม้แต่แรงปรารถนาในการใช้อำนาจที่ไม่มีให้เห็นในห้องพิจารณาคดี  ทั้งนี้ หากสังคมต้องการทำความเข้าใจว่า เหตุใดศาลจึงสามารถปฏิเสธสิทธิของบุคคลผู้พิการได้โดยไม่รู้สึกกระดากใจ ประเด็นนี้สังคมควรจะกลับไปมองที่ฉากหลังเวทีของศาลให้มากขึ้น

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ในกรณีของการควบคุมตัวผู้ต้องหา แม้ว่าตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ว่า ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ใส่เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องหา เว้นแต่เพื่อป้องกันผู้ต้องหาหลบหนี[4]  ทว่า ในความเป็นจริงผู้ต้องหาหลายคน แม้จะไม่มีเหตุให้สงสัยว่าจะหลับหนี ก็ถูกใส่เครื่องพันธนาการคือกุญแจข้อเท้าอย่างเป็นปกติโดยไม่มีการประเมินพฤติการณ์ของผู้ต้องหาแต่อย่างใด

สิ่งนี้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการละเมิดกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ และไม่ว่าจะมีการร้องขอให้ปลดพันธนาการดังกล่าวก็กลับถูกปฏิเสธอยู่เรื่อยไปโดยผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่เป็นเวรชี้ (ผู้พิพากษาที่ไม่ได้ทำหน้าที่พิจารณาคดี แต่มีหน้าที่สั่งคำร้องต่างๆ)[5] การวางท่าทีเมินเฉยต่อสิทธิมนุษยชนและความเย็นชาดังกล่าวเป็นอาการหลังฉากที่ถูกแสดงอยู่ในฉากเบื้องหลังของกระบวนการยุติธรรมที่ไร้จิตวิญญาณแห่งความเป็นกลางหรือสิทธิมนุษยชน

 

หลังฉากของการคัดเลือกผู้พิพากษา

ความเย็นชาในสถาบันตุลาการไม่ได้ปรากฏเฉพาะในกรณีของการยกคำร้องไม่ปลดเครื่องพันธนาการ แต่กระจายไปสู่ทุกอณูของสถาบันตุลาการ แม้ผู้พิพากษาจะถูกสั่งสอนด้วยธรรมะต่างๆ นานาถึงความการปราศจากอคติตามหลักอินทภาษ[6] หรือยึดมั่นในจริยธรรมแห่งตุลาการหรือจริยธรรมแห่งข้าราชการศาลยุติธรรม ทว่า บรรดาเรื่องที่สั่งสอนทั้งหลายเหล่านี้ก็เป็นเพียงใบบอกบทในการแสดงหน้าฉากเท่านั้น

ในด้านหลังฉากเช่นในกรณีของศุภวิชญ์นั้น การปฏิเสธที่เกิดขึ้นนั้นมีถึงสองครั้ง โดยในครั้งแรกในปี 2567 ศาลปฏิเสธไม่ให้ศุภวิชญ์เข้าสอบ เนื่องจากศุภวิชญ์ได้มีคำขอให้สามารถใช้ผู้ช่วยเขียนตอบข้อสอบได้ ซึ่งคณะกรรมการแพทย์ของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมมีความเห็นว่า การร้องขอดังกล่าวไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นการขอให้ใช้กติกาที่แตกต่างจากผู้เข้าสอบรายอื่น รวมถึงการตอบข้อสอบดังกล่าวอาจเป็นการผสมความคิดของผู้ให้คำตอบกับความเข้าใจสาระและประเด็นของผู้เขียนคำตอบ จึงไม่เห็นชอบให้การสมัครของศุภวิชญ์[7]

ในครั้งที่สอง ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดในวันที่ 21 มิถุนายน 2568 สำนักงานศาลยุติธรรมได้ปฏิเสธการรับสมัครของศุภวิชญ์อีกครั้งหนึ่ง โดยไม่ได้มีการชี้แจงแต่อย่างใด  อย่างไรก็ดี ในครั้งนี้ศุภวิชญ์ ไม่ได้ขออนุญาตให้มีการใช้ผู้ช่วยเขียนตอบข้อสอบเหมือนครั้งก่อน และประสงค์ที่จะเขียนตอบข้อสอบด้วยตัวเอง เพียงแต่ขอให้สำนักงานศาลยุติธรรมจัดให้มีโต๊ะที่สามารถให้รถเข็นเข้าได้และสามารถนั่งสอบได้เท่านั้น[8] ซึ่งเป็นความพยายามแก้ไขปัญหาที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมได้กล่าวว่าเป็นการไม่เหมาะสมในครั้งก่อน และนำมาซึ่งการปฏิเสธการสมัครของศุภวิชญ์ในครั้งแรก ในครั้งนี้สำนักงานศาลยุติธรรมยังไม่ได้มีการชี้แจงเหตุผลอย่างเป็นทางการ รวมถึงไม่ได้ให้คำตอบแก่ศุภวิชญ์เช่นกัน

ฉากหลังในกรณีของศุภวิชญ์ คือโต๊ะประชุมของคณะกรรมการแพทย์ ซึ่งทำหน้าที่ตีความ “ความเหมาะสม” แบบเงียบๆ โดยไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจน พร้อมกับความคิดในใจของผู้มีอำนาจว่า คนแบบนี้สอบเป็นผู้พิพากษาไม่ได้หรอก ในขณะเดียวกันความเย็นชาอย่างเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในสถาบันตุลาการก็คือ ความเงียบของทั้งองค์กรตุลาการ ที่พร้อมจะปกปิดคำถามอันค้างคาใจนั้นไว้ใต้พรม

 

ศาลไม่ได้แค่ปฏิเสธผู้พิการ แต่ปฏิเสธความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม

อย่างไรก็ดี มีสิ่งที่น่าสนใจในเอกสารที่สำนักงานศาลยุติธรรมจัดขึ้นเพื่อชี้แจงในประเด็นดังกล่าวก็คือ ย่อหน้าสุดท้าย ซึ่งพยายามสร้างความชอบธรรมในการปฏิเสธการรับสมัครว่า

“อนึ่ง สำนักงานศาลยุติธรรมให้ความสำคัญกับการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ โดยการบังคับใช้กฎหมายที่อาจมีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจะกระทำได้ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเท่านั้น[9]

ข้อความข้างต้นนี้สะท้อนความพยายามแสดงออกของศาลยุติธรรมในพื้นที่หน้าเวทีว่า องค์กรศาลยุติธรรมนี้ยังคงพยายามรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ โดยอาจจะมีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อความที่แสดงว่าศาลกระทำไปบนพื้นฐานที่กฎหมายรองรับ ทว่า การตัดสินใจดังกล่าวของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ตั้งอยู่บนหลักรัฐธรรมนูญและกฎหมายจริงหรือไม่

หากย้อนกลับไปพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 จะพบว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามผู้มีความพิการในการเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมแต่อย่างใด บทบัญญัติที่มีการพูดเรื่องสุขภาพของบุคคลเพียงแต่ระบุว่า คนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคที่ระบุไว้ในระเบียบของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งได้แก่ โรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษ โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคติดต่อที่เป็นเหตุให้ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ[10] นอกเหนือจากกรณีที่มีโรคแล้ว ตามพระราชบัญญัติยังได้กำหนดให้ผู้ที่จะสมัครสอบคัดเลือก จะต้องเป็นผู้ผ่านการตรวจร่างกายและจิตใจและคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเห็นชอบรายงานการตรวจแล้วเห็นสมควรให้รับสมัคร[11] ซึ่งการตรวจร่างกายและจิตใจนั้น ควรจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อก่อน กล่าวคือ ผู้สมัครจะต้องไม่มีอาการวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคต้องห้าม หากเป็นกรณีอื่นๆ อาทิ ความพิการ นั้นสำนักงานศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจที่จะปฏิเสธไม่รับสมัครแต่อย่างใด

การปฏิเสธการสมัครของศุภวิชญ์ในข้างต้น จึงขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 ที่ระบุว่า ข้อความในมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ซึ่งกำหนดให้ผู้มีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมไม่อาจเป็นข้าราชการตุลาการได้นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่รับรองความเสมอภาคและห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความพิการ จึงส่งผลให้บทบัญญัติดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับอีกต่อไป[12]

การปฏิเสธการสมัครของศุภวิชญ์ จึงไม่ต่างอะไรกับการปฏิเสธความเสมอภาคที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ในทางตรงกันข้ามหากพิจารณาตามหลักความเสมอภาคแล้ว เหตุผลของสำนักงานศาลยุติธรรมที่อ้างว่าการจัดหาผู้ช่วยเขียนข้อสอบ หรือจัดโต๊ะรองรับรถเข็นให้ศุภวิชญ์ เป็นการเอื้อประโยชน์หรือใช้กติกาที่ต่างจากผู้เข้าสอบคนอื่นนั้น กลับสะท้อนความเข้าใจผิดในหลักการดังกล่าว เนื่องจากความเสมอภาคมิได้หมายถึงการปฏิบัติกับทุกคนอย่างเดียวกันในทุกกรณี หากแต่หมายถึงการปฏิบัติอย่างเหมาะสมตามสภาพความแตกต่างของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะในกรณีของผู้พิการ รัฐยิ่งมีหน้าที่ต้องจัดสภาพแวดล้อมหรือเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อให้บุคคลนั้นสามารถเข้าถึงสิทธิและเสรีภาพได้อย่างแท้จริง

 

ภราดรภาพที่หายไปในกระบวนการคัดเลือกผู้พิพากษา

เมื่อพิจารณามาถึงตรงนี้แล้ว การให้เหตุผลต่างๆ ของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรมครั้งนี้ ไม่สอดคล้องกันเกับประมวลจริยธรรมข้าราชศาลยุติธรรมที่กำหนดไว้ว่า

“หน้าที่สำคัญของข้าราชการศาลยุติธรรม...ไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยความแตกต่างไม่ว่าจะเป็นสถานภาพ เพศ การศึกษา หรือความแตกต่างอื่นใด ทั้งจักต้องดำรงตนให้เป็นแบบอย่างทีดี และรักษาภาพลักษณ์ของศาลยุติธรรมให้สมเป็นองค์กรที่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน[13]

นัยสำคัญของถ้อยคำดังกล่าวข้างต้นคือ การกำหนดแนวทางให้ข้าราชการศาลยุติธรรมจะต้องตระหนักถึงความภราดรภาพของเพื่อนมนุษย์ คำว่า ภราดรภาพ (fraternity) ในที่นี้หมายถึง การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันฉันพี่น้อง เพราะโดยสภาพของสังคมแล้วการมีเสรีภาพและความเสมอภาคยังไม่เพียงพอ แต่สังคมยังควรประกอบไปด้วยความภราดรภาพ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะผสานหลักการแห่งสิทธิและเสรีภาพให้เป็นจริง ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะหน้าที่รัฐพึงปฏิบัติต่อประชาชน แต่รวมถึงการที่ปัจเจกบุคคลปฏิบัติต่อกันด้วย[14]

หากกล่าวให้ถึงที่สุด ความขาดไร้ซึ่งภราดรภาพในกระบวนการคัดเลือกผู้พิพากษา มิใช่เพียงการกีดกันผู้หนึ่งออกจากเวทีสอบแข่งขันเท่านั้น แต่คือการเปิดโปงว่า สถาบันตุลาการไทยยังคงใช้มาตรวัดแบบเดิมในการเฟ้นหาบุคคลผู้เหมาะสมที่เต็มไปด้วยอคติทางสังคม ในขณะที่ความพิการ ความจน หรือความหลากหลายทางเพศอาจกลายเป็นปัจจัยที่มองไม่เห็นในกระดาษข้อสอบ แต่กลับเป็นเงื่อนไขที่หนักหน่วงในใจของผู้มีอำนาจพิจารณา

การไม่ยอมรับบุคคลหนึ่งด้วยเหตุเพียงเพราะความแตกต่าง สะท้อนว่าสถาบันตุลาการมิได้แสวงหาผู้พิพากษาที่เข้าใจมนุษย์ แต่มุ่งเฟ้นหาเพียงภาพแทนของอำนาจที่ต้องสง่างามตามแบบแผนเดิม หากภราดรภาพคือการเข้าใจและเกื้อกูลผู้อื่นในฐานะมนุษย์เท่าเทียม การละเลยภราดรภาพก็เท่ากับการล้มเหลวในการทำให้หลักสิทธิเสรีภาพกลายเป็นจริง

ดังนั้น กรณีของศุภวิชญ์จึงไม่ใช่แค่ข้อถกเถียงว่าคนพิการควรสอบเป็นผู้พิพากษาได้หรือไม่ หากแต่สะท้อนอย่างชัดเจนว่าสถาบันตุลาการไทยยังขาดความเข้าใจพื้นฐานต่อความเป็นมนุษย์ และปิดกั้นไม่ให้ความหลากหลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ทั้งที่ในระบอบประชาธิปไตย ศาลควรยืนอยู่เคียงข้างผู้เปราะบางที่สุด ไม่ใช่สูงส่งอยู่เพื่อปกป้องอำนาจของตนเอง

คำวิงวอนสุดท้ายต่อประธานศาลฎีกาคนใหม่ก็คือ หากสถาบันตุลาการยังยึดติดกับภาพผู้พิพากษาที่ “สง่างามในพิธี” แต่ไม่มองเห็นประชาชนในสายตา ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลก็จะเหลือเพียงเปลือก และศาลยุติธรรมก็จะไม่มีวันได้ความศรัทธาคืนจากประชาชนอีกเลย

 

 


[1] สำนักงานศาลยุติธรรม, “ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ,” (สำนักงานศาลยุติธรรม, 2556), น.1.

[2] see Erving Goffman, The Presentation of Self in Everyday Life, (New York: Anchor Books, 1959).

[3] อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน นักการเมืองและหนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เคยให้เห็นผลเกี่ยวกับอำนาจขององค์กรตุลาการไว้อย่างน่าสนใจใน เฟเดอรัลลิสต์ 78 หัวข้อ สถาบันตุลาการ (Federalist No. 78: The Judiciary Department) ซึ่งอธิบายว่า ฝ่ายตุลาการนั้น ไม่มีทั้งดาบ ไม่มีทั้งเงิน ไม่มีอำนาจในการควบคุมกำลังหรือทรัพย์สินของสังคมสิ่งเดียวที่ตุลาการมีคือ คำพิพากษา (judgment) และการตัดสินนั้น ยังต้องพึ่งพาฝ่ายบริหารในการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายด้วยซ้ำ ดังนั้น ในองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งสาม องค์กรตุลาการจึงดูเหมือนจะอ่อนแอที่สุด. see Alexander Hamilton, James Madison, and John Jay, “The Federalist Papers,” Library of Congress [Online], access on 28 June 2025, accessed from https://guides.loc.gov/federalist-papers/full-text.

[4] พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 21.

[5] ที่ผ่านมาได้มีการเรียกร้องให้ปลดพันธนาการของผู้ต้องขังในขณะที่นำตัวมาศาลหลายกรณี อาทิ กรณีของทนายอานนท์ หรือเก็ท โสภณ แต่หลายครั้งที่ผ่านมาศาลปฏิเสธการปลดพันธนาการดังกล่าว พร้อมทั้งรับรองว่า การใส่กุญแจข้อเท้าของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย มากกว่าจะเข้าไปตรวจสอบดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับพฤติการณ์. ดู ประชาไท, “องค์กรสิทธิฯ ร้องคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังการเมือง-ยุติใส่โซ่ตรวน 'เก็ท โสภณ' แถลงปฏิเสธอำนาจศาล,” ประชาไทย, 7 กันยายน 2566 [Online], สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2568, จาก https://prachatai.com/journal/2023/09/105807; มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, “ศาลเรียก ธงชัย วินิจจะกูล เข้าพบ หลังยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและยุติการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมต่ออานนท์ นำภา และผู้ต้องขังคนอื่นๆ พร้อมให้ยื่นคำร้องนัดวันไต่สวน-บัญชีพยานต่อศาล,” มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, 29 พฤษภาคม 2565 [Online], สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2568, จาก https://crcfthailand.org/2025/05/29/59484/.

[6] หลักอินทภาษ ได้ถูกนำมาใช้เป็นแนวทางของผู้พิพากษาและตุลาการในสังคมไทย ในฐานะธรรมะที่พระอินทร์สั่งสอนบุคคลผู้มีหน้าที่เป็นตุลาการไม่ให้ลำเอียงเพราะรัก โลภ โกรธ หลง และกลัว. ดู ยงยศ เอี่ยมทอง, “หลักอินทภาษ หลักแห่งความยุติธรรม,” ห้องสมุดสำนักงานศาลยุติธรรม [Online], สืบค้นเมื่อ 25 มิถุนายน 2568, จาก https://library.coj.go.th/pdf-view.html?fid=39185&table=files_biblio.

[7] ดู สำนักงานศาลยุติธรรม, ข่าวแจกสื่อมวชน เรื่อง สำนักงานศาลยุติธรรมชี้แจงการพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครสอบคัดเลือกผู้ช่วยผู้พิพากษาตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (11) ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2567, จาก https://iprd.coj.go.th/th/content/category/detail/id/4/cid/10241/iid/450505/.

[8] จินต์จุฑา พันธุ์ทองคำ, “ทนายที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่มีรายชื่อเป็น ผู้มีสิทธิสอบ ผู้พิพากษา ติดต่อกันเป็นปีที่ 2,” The Matter, 25 มิถุนายน 2568 [Online], สืบค้นเมื่อ 29 มิถุนายน 2568, จาก https://thematter.co/brief/245710/245710.

[9] สำนักงานศาลยุติธรรม, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 4.

[10] พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (10) ประกอบระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยโรคอันมีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ พ.ศ. 2545.

[11] พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (11).

[12] คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15/2555.

[13] สำนักงานศาลยุติธรรม, ประมวลจริยธรรมข้าราชการศาลยุติธรรม ลูกจ้าง และพนักงานราชการศาลยุติธรรม, (สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2563), น.1.

[14] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, คำอธิบายกฎหมายปกครอง, (สำนักงานทนายความพิมลธรรม, 2513), น.20-22.