Focus
- กรุณา กุศลาสัย ผู้เชี่ยวชาญด้านภารตวิทยา ภาษาฮินดี เขียนถึงรัฐบุรุษ ปรีดี พนมยงค์ ว่าเป็น “บุรุษรัตน์” ของไทยจากคำชักชวนของคุณสัมผัส พึ่งประดิษฐ์

ปรีดี พนมยงค์
คุณสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ ประธานคณะอนุกรรมการดําเนินงานจัดทําหนังสือที่ระลึก “วันปรีดี พนมยงค์” ได้ขอให้ผมเขียนบทความสั้น ๆ เพื่อนําลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกดังกล่าวประจํา พ.ศ. ๒๕๓๕

กรุณา กุศลาสัย
หลังจากได้ฟังคําขอร้องของคุณสัมผัสฯ กัลยาณมิตรของผมมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๔๐ ปี ผมงงอยู่เป็นเวลาหลายวัน เพราะไม่ทราบว่าจะเขียนอะไรดี เพื่อสนองความต้องการของเพื่อนรัก และเพื่อให้สมเกียรติแก่บุคคลที่จะต้องเขียนถึง ทั้งนี้ก็เพราะว่าเรื่องราวเกี่ยวกับท่าน "รัฐบุรุษอาวุโส” นั้น ได้มีผู้รจนากันแล้วมากมายจากทุกแง่ทุกมุม ทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังจากอสัญกรรมของท่าน
บังเอิญในช่วงเวลาที่งง ๆ อยู่นั้น ผมได้รับวารสาร “National Herald” จากประเทศอินเดีย ฉบับที่ระลึกวันถึงแก่อสัญกรรมของนางอินทิรา คานธี ธิดาของยวาหระลาล เนห์รู “ผู้สร้างอินเดียใหม่” คงจะยังจํากันได้ว่า นางอินทิรา คานธี ได้ถูกทหารองครักษ์ของเธอเองสังหารเธอด้วยอาวุธปืนถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ หลังจากได้เป็นนายกรัฐมนตรีปกครองประเทศอินเดียมาสองสมัย รวมเป็นเวลา ๑๕ ปี
ในวารสารดังกล่าว มีบทความสดุดีอินทิรา คานธี อยู่บทหนึ่งซึ่งจบลงด้วยถ้อยคําที่ประทับใจผมเป็นอย่างยิ่ง ผมต้องขอรับประทานโทษจากผู้อ่านที่จะหยิบยืมถ้อยคําดังกล่าวซึ่งเขียนโดย นาง Aruna Asaf Ali วีรสตรีผู้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดียคนหนึ่ง มาเป็น “ศรัทธาญชลี” แด่ “ท่านปรีดี พนมยงค์ : บุรุษรัตน์ของไทย” ดังต่อไปนี้
"Immortality in the physical sense is not given to human beings. But some are remembered by future generations for what they did, for the currents of thought and action they released among the people. Among such is INDIRA GANDHI.”
ผมขอเปลี่ยนเฉพาะคําท้ายสุดสองคําคือ “INDIRA GANDHI” เป็น “PRIDI BANOMYONG” ครับ
ท่านผู้อ่านโปรดให้อภัยที่ผมได้ลอกต้นฉบับภาษาต่างประเทศมาประกอบบทความนี้ ทั้งนี้มิใช่เพราะเหตุอื่น นอกจากต้องการจะรักษาไว้ซึ่งคารมอันเพราะพริ้งและคมคายซึ่งเป็นสมบัติของบทความเดิม และหากจะถูกเกณฑ์ให้ถ่ายทอดเป็นภาษาไทย คําแปลของผมก็เห็นจะเป็นดังนี้
“อมตภาพทางกายสังขารนั้น คนเราไม่อยู่ในฐานะที่จะบรรลุได้ แต่มีบางคนที่ชนในยุคต่อไปจะจดจําจารึกไว้ เพราะเหตุแห่งกิจกรรมที่เขาได้กระทํา และเพราะเหตุแห่งกระแสความคิดและปฏิบัติการที่เขาเหล่านั้นได้ยังให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน หนึ่งในบุคคลดังกล่าวได้แก่ “อินทิรา คานธี” "
คงจะเป็นคําแปลที่พอจะแก้ขัดไปได้นะครับ เพราะคําแปลนั้นถึงอย่างไร ๆ ก็เป็นคําแปลอยู่นั่นเอง จะให้ได้ทั้งอรรถและรสของต้นฉบับคงจะไม่ง่าย
ในบรรดาถ้อยคําร้อยกรองที่ได้มีผู้รจนาขึ้นสดุดี “รัฐบุรุษอาวุโส” ในภาษาไทยของเรานั้น ที่ประทับใจผมมากที่สุดเห็นจะได้แก่ “คติธรรม” ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งพระองค์ได้ทรงนิพนธ์ไว้เป็นอนุสรณ์ครบรอบ ๑๐๐ วัน แห่งการอสัญกรรมของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันอังคารที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ตามความต่อไปนี้
ชูดี
คนดีไยมิค้อม ดูดี กันพ่อ
ดีแต่คอยจับที ท่าร้าย
ร้ายน้อยกลับทอยทวี ถวิลเพิ่ม มากนา
หรือมิผิดคิดป้าย โปะร้อนซ้อนสุม
ดีชุมเช่นนี้ขาด คุณงาม
ดีแต่ก่อชั่วลาม เลอะเปื้อน
ดีจริงส่งเสริมความ ดีทั่ว กันแฮ
ดีท่านดีตนเอื้อน ออกอ้างสร้างดี

๕๙๙ ถนนพรานนก
กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐
หมายเหตุ :
- อักขระและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
บรรณานุกรม :
- กรุณา กุศลาสัย, เรื่อง “ท่านปรีดี พนมยงค์ : บุรุษรัตน์ของไทย”, วัน “ปรีดี พนมยงค์” ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๕, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2535), หน้า 91-93.