ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ท่านปรีดี พนมยงค์ กับการวางรากฐานทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศไทย

9
พฤษภาคม
2563
ท่านปรีดี พนมยงค์ กับการวางรากฐานทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศไทย

 

ในโอกาสวาระครบรอบ 120 ปี ชาตกาลนายปรีดี พนมยงค์ ขอยกบทความของ ศาสตราจารย์ดร.อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือปรีดี พนมยงค์ ประดับไว้ในใจชน เนื่องในวาระเปิดอนุสาวรีย์นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันที่ 27 มิถุนายน 2544 ผู้เขียนได้ศึกษาผลงานของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่สำคัญในในการวางรากฐานทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศไทย ได้แก่ การริเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง การสร้างความเป็นธรรมทางภาษีอากร การวางรากฐานทางการเมืองท้องถิ่น  และการจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย

การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโดยไม่จำกัดจำนวน ไม่จำกัดเพศ และอายุ เพื่อเพิ่มพูนความรู้อันจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และเป็นการเผยแพร่ปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยให้แก่คนไทย ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทางสังคม โดยในยุคต้นของระบอบประชาธิปไตย (พ.ศ. 2475-2488) มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้ผลิตบัณฑิตและผู้ได้รับประกาศนียบัตรสาขาต่างๆ ออกไปปฏิบัติงานในภาครัฐบาลและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต ซึ่งมีความรู้ทั้งด้านกฎหมาย รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ได้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยแก่ราษฎรไทย และบุคคลเหล่านั้นได้รับการบรรจุเข้ารับราชการและได้รับตำแหน่งที่สำคัญของประเทศ รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสภาเทศบาลที่มีบทบาทสำคัญในยุคนั้น

ท่านปรีดี ได้สร้างความเป็นธรรมทางภาษีอากร โดยการจัดทำประมวลรัษฎากรขึ้นเป็นครั้งแรก และปฏิรูประบบภาษีอากร โดยคำนึงถึงความรู้สึกของผู้เสียภาษี เพื่อให้ผู้เสียภาษีเห็นว่าภาษีเสียไปเพื่อไปบำรุงความสุขของประชาชนผู้เสียภาษี และยกเลิกภาษีที่ไม่เป็นธรรม เช่น เงินรัชชูปการ ภาษีพัดสร และอากรเช่านา  ทำให้เกิดความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) และทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่นแห่งชาติ (National Solidarity)

ท่านปรีดี ได้วางรากฐานทางการเมืองท้องถิ่น โดยการจัดระเบียบเทศบาล  ท่านปรีดีได้นำรูปแบบของระบบรัฐสภาไปใช้กับระบบเทศบาล ซึ่งเป็นระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสมาชิกสภาเทศบาลมาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เพื่อให้ราษฏรในท้องถิ่นได้เรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นการวางรากฐานของระบบการเมืองท้องถิ่นที่อยู่คู่กับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ

ท่านปรีดี ได้จัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย ซึ่งต่อมาได้แปรสภาพเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย โดยในขั้นแรก ได้จัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยเพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับธนาคารกลางชั่วคราว และเตรียมการที่จะวางรากฐานของธนาคารแห่งชาติในอนาคต เป็นการวางรากฐานทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการเงินการคลังของประเทศที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ในการจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย ไม่ได้นำเงินภาษีอากรมาใช้ แต่ใช้ผลกำไรจากทุนสำรองเงินตรา และดอกเบี้ยจากทุนสำรองเงินตรา ที่ท่านปรีดี ได้ให้รัฐบาลซื้อทองและเหรียญดอลลาร์ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้หลักทรัพย์ของรัฐบาลมีมูลค่าเพิ่มขึ้น นำมาเป็นทุนในการตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย

 

ท่านปรีดี พนมยงค์ กับการวางรากฐานทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศไทย[1]

ศาสตราจารย์ ดร.อิสสระ  นิติทัณฑ์ประภาศ

 

ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ เป็นอเนกประการ ดังเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป
ท่านจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลให้ยกย่องท่านไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโสและให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน[2]

บทความนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาผลงานของท่านปรีดีที่สำคัญบางอย่างซึ่งเกี่ยวกับการวางรากฐานทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศไทย

1. การวางรากฐานทางสังคม

1.1 การริเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้น มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และเป็นสมาชิกสำคัญคนหนึ่งของคณะราษฎรที่ได้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตระหนักดีว่า ในเวลานั้น ราษฎรไทยส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย[3] อันเป็นปัญหาสำคัญในการเสริมสร้างระบอบการปกครองดังกล่าวให้มั่นคง ท่านจึงคิดที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อเปิดสอนวิชากฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และวิชาอื่นแก่ราษฎรทุกหมู่เหล่า แต่ท่านก็ไม่มีโอกาสทำตามตั้งใจได้ เพราะได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้ท่านต้องเดินทางออกนอกประเทศไปพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลาหลายเดือน[4]

ท่านปรีดี ได้เดินทางกลับสู่มาตุภูมิหลังจากที่คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนคณะหนึ่ง ซึ่งมีนาย
พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้า ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยมีนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2476 แล้ว[5]

เมื่อได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ท่านปรีดีได้ดำเนินการยกร่างและเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยและให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่ง ท่านปรีดีได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนี้

“หลักการเพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น เพื่อให้เป็นตลาดวิชาอำนวยการศึกษาวิชากฎหมาย วิชาเศรษฐกิจ และวิชาการอื่นๆ อันเกี่ยวแก่วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นการส่งเสริมให้ข้าราชการและประชาชนมีที่สำหรับศึกษาเพียงพอ เปิดโอกาสให้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้ได้โดยไม่จำกัดจำนวน ไม่จำกัดเพศ และอายุ จะไม่ไปฟังคำบรรยายด้วยตนเองก็ได้ มีตำรา คำสอนให้ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง แล้วสมัครสอบไล่ได้ตามสมัยที่มหาวิทยาลัยประกาศ มีความรู้ถึงขนาดแล้วก็ได้รับปริญญาตรีตามที่กำหนดขึ้น หวังที่จะให้ประชาชน ข้าราชการ เพิ่มพูนความรู้อันจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมในการปฏิบัติหน้าที่การงานของทางราชการและส่วนตัว และเป็นการเผยแพร่ปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยให้แก่คนไทย ให้รู้หน้าที่การปกครองบ้านเมืองในระบอบนี้ไปในตัว และเป็นทางแก้ไขเกี่ยวกับนักศึกษาไม่มีที่ศึกษาไปในตัวด้วย

สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบและอนุมัติให้ใช้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายได้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2476

ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2477 ตำแหน่งนี้ได้ถูกยุบเลิกไปโดยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495[6]

ในยุคต้นของระบอบประชาธิปไตย คือตั้งแต่ปี 2475-2488 ซึ่งเป็นสมัยที่ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้ผลิตบัณฑิตและผู้ได้รับประกาศนียบัตรสาขาต่างๆ คือสาขาธรรมศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ และสาขาการบัญชี ออกไปปฏิบัติงานในภาครัฐบาลและภาคเอกชน ในปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต ซึ่งมีความรู้ทั้งด้านกฎหมาย การเมือง (รัฐศาสตร์) และเศรษฐศาสตร์ ได้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยแก่ราษฎรไทย สมดังปณิธานของท่านผู้ประศาสน์การ บุคคลเหล่านั้นได้รับการบรรจุเข้ารับราชการและได้รับตำแหน่งที่สำคัญ เช่น ประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกา อธิบดี ปลัดกระทรวง และเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ นอกจากนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มีบทบาทสำคัญในยุคนั้น จำนวนไม่น้อยที่เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต (ธ.บ.) เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีตส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี และอดีตรัฐมนตรี นายจำลอง ดาวเรือง อดีตส.ส.จังหวัดมหาสารคาม และอดีตรัฐมนตรี

อนึ่ง ในสภาเทศบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สภาเทศบาลนครและสภาเทศบาลเมือง มักจะมีสมาชิกที่เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตเป็นสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญรวมอยู่ด้วย

ตามที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นการเสริมสร้างสติปัญญาของคนไทย ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทางสังคม ดังนั้น การก่อตั้งมหาวิทยาลัยนี้ จึงถือได้ว่าเป็นการวางรากฐานทางสังคมของประเทศไทย

1.2 การสร้างความเป็นธรรมทางภาษีอากร

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2481 ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งมีนายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อมาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2481 รัฐบาลได้แถลงนโยบายบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนราษฎร คำแถลงนโยบายดังกล่าว ประกอบด้วยนโยบายทั่วไปและนโยบายสำหรับกระทรวงต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายสำหรับกระทรวงการคลังนั้น นโยบายข้อหนึ่งมีข้อความว่า “จะจัดการปรับปรุงภาษีอากรให้ยุติธรรมแก่สังคม ส่วนเงินรัชชูปการนั้นจะยกเลิกโดยหาเงินรายได้อื่นมาชดเชย”

เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว กระทรวงการคลังได้จัดทำประมวลรัษฎากรขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และได้เสนอร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลรัษฎากร พ.ศ. …. ต่อสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2481

ในการนี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า “….ในการปรับปรุงภาษีอากรครั้งนี้ ได้คำนึงถึงความรู้สึกของผู้เสียภาษีด้วยและปรารถนาจะให้ผู้เสียภาษีเห็นว่า ภาษีอากรนั้นเสียไปก็เพื่อนำไปบำรุงประเทศ นำไปใช้บำรุงความสุขของประชาชนผู้เสียภาษีเอง เพื่อให้ประชาชนมีศรัทธา เต็มใจเสียสละ ภาษีใดๆที่ราษฎรเสียอยู่โดยไม่เป็นธรรม ก็ได้ยกเลิกไปในคราวนี้ อาทิเช่น เงินรัชชูปการ[7] ซึ่งเคยเก็บจากคนมีเงินหรือคนจนที่ไม่มีรายได้อะไรเลย ก็เสียรัชชูปการเท่ากัน ภาษีพัดสรและอากรการเช่านา ซึ่งผู้เสียภาษีเหล่านี้เป็นผู้ยากจน เป็นเสมือนกระดูกสันหลังของประเทศก็ต้องเสียภาษีนี้ด้วย ซึ่งได้ยกเลิกเสียเช่นเดียวกัน”

จะเห็นได้ว่า การปฏิรูประบบภาษีอากรดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) และทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่นแห่งชาติ (National Solidarity)

2. การวางรากฐานทางการเมืองท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2476 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งมีนายพันเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อมาในวันที่ 21 ธันวาคม 2476 รัฐบาลได้แถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีสองส่วนคือ นโยบายทั่วไป และนโยบายสำหรับกระทรวงต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายสำหรับกระทรวงมหาดไทยนั้น มีการกล่าวถึง “เทศบาล” โดยมีคำอธิบายว่า “เทศบาล คือระเบียบการปกครองท้องถิ่นซึ่งราษฎรมีเสียงในการดูแลและจัดการผลประโยชน์ท้องถิ่น รัฐบาลนี้จะได้จัดตั้งและขยายเทศบาลออกไปตามตำบลต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรไทยโดยเร็วที่สุดเพื่อที่จะอบรมเจ้าหน้าที่ในการใหม่นี้ได้ เทศบาลเป็นการศึกษาอย่างหนึ่งด้วย คือ เป็นวิธีที่ราษฎรจะได้รับการฝึกหัดอบรมวิธีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญด้วย”

เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และนักการเมืองในสมัยนั้นว่า ท่านเจ้าคุณพหลฯ เชื่อมือท่านปรีดีและมีความไว้เนื้อเชื่อใจมาก ดังปรากฏเสมอว่า ในเวลาที่สภาผู้แทนราษฎรมีปัญหาหรือข้อสงสัยเรื่องใดที่เกี่ยวกับการงานของรัฐบาล ท่านมักจะขอให้ท่านปรีดีเป็นผู้ชี้แจงเสมอ

ดังนั้น ท่านปรีดี จึงได้รับมอบหมายจากเจ้าคุณพหลฯ ให้จัดทำคำแถลงนโยบายดังกล่าวข้างต้น

เพื่อให้เป็นไปตามที่แถลงนโยบายไว้ข้างต้น รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาลต่อสภาผู้แทนราษฎร และประธานสภาฯ ได้บรรจุเรื่องนี้ไว้ในระเบียบวาระการประชุม วันที่ 21 มีนาคม 2476 ก่อนที่ท่านปรีดีจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประมาณสองเดือน

ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะได้อภิปรายซักถามรัฐบาลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย ได้แถลงต่อที่ประชุมสภาว่า “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นผู้ริเริ่มร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงขอให้ท่านผู้นี้เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดต่างๆ”[8]

ท่านปรีดีได้แถลงต่อสภาว่า “ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลที่รัฐบาลเสนอมานี้ รัฐบาลได้มอบให้คณะกรรมการพิจารณาและยกร่างพระราชบัญญัติขึ้น เรื่องนี้มีข้อควรคำนึงอยู่หลายอย่าง ด้วยเหตุว่า การเทศบาลนั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีกิจการหลายอย่าง ไม่ใช่แต่การสุขาภิบาลอย่างในครั้งก่อน ซึ่งทำกันแต่อย่างเดียวเท่านั้น กล่าวคือ เราจะต้องพิจารณาตลอดจนกระทั่งในเรื่องภาษีอากรที่จะแบ่งสรรปันส่วนกันในระหว่างรัฐบาลกับเทศบาลอย่างหนึ่ง โดยจะต้องพิจารณาถึงเรื่องกิจการที่เทศบาลจะต้องกระทำเช่นเดียวกัน ในเรื่องสาธารณสุขก็ดี ในเรื่องรักษาความสงบเรียบร้อยในราชอาณาจักรก็ดี และในกรณีอื่นๆ ดังที่ได้เห็นแล้วในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ แต่การที่จะทำให้ครบถ้วนเช่นนั้น ก็จะต้องเสียเวลาอีกนาน เหตุฉะนั้น จึงได้หยิบเอารูปการณ์ของเทศบาลนั้นขึ้นร่างเป็นพระราชบัญญัติ และเสนอรัฐบาลเสียชั้นหนึ่งก่อน ขอให้เทศบาลได้มีโอกาสที่จะเริ่มจัดตั้งหรือจัดทำขึ้นในปีหน้า คือใน พ.ศ. 2477 และในต้นปีนี้ ก็คงจะเริ่มการได้ แต่ว่าการที่จะกระทำกิจการให้ครบถ้วนบริบูรณ์ เราจำเป็นต้องออกกฎหมายอีกหลายฉบับ กฎหมายที่จะออกต่อไปในชั้นต้นก็คือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยภาษีอากรซึ่งเป็นกฎหมายที่จะแบ่งภาษีอากรในระหว่างเทศบาลกับรัฐบาลนั้น อย่างหนึ่ง และเราจะต้องมีร่างพระราชบัญญัติอื่นๆ อีกที่บัญญัติถึงทรัพย์สินว่า ทรัพย์สินชนิดใดบ้างที่จะให้เป็นทรัพย์สินของเทศบาล ดังเช่นที่ดินที่เป็นที่หลวงอยู่ในปัจจุบันนี้ และได้กระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ เราก็อาจพิจารณาได้เหมือนกันว่าที่เหล่านี้ แทนที่จะให้เป็นที่อยู่ในกรรมสิทธิ์ของรัฐบาล เราอาจจะมอบที่นั้นให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่เทศบาลเสียทีเดียว ในการนี้ เราจำเป็นต้องทำเป็นร่างพระราชบัญญัติอีกอันหนึ่ง และจำเป็นต้องพิจารณาให้ละเอียดต่อไปอีกว่า ที่ชนิดใดบ้างเราจะยกให้เป็นที่ของเทศบาล นอกจากนั้น เรายังจำเป็นที่จะต้องออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในราชอาณาจักร ……..และนอกจากนั้นเรายังจะต้องออกพระราชบัญญัติซึ่งว่าด้วยการสาธารณสุข ซึ่งไม่ใช่หมายความแต่จะรักษาทางเดียวเท่านั้น กล่าวคือจะต้องรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บอย่างใดอีกด้วย ยิ่งกว่านั้น เรายังมีวิธีการต่างๆ ดังเช่น วิธีการออมสิน วิธีการโรงจำนำ และวิธีการของเทศบาล ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีระเบียบด้วยเหมือนกัน และอีกอย่างหนึ่ง พระราชบัญญัติที่จะควบคุมอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ก็จะต้องทำด้วย นอกจากนั้นแล้วสิ่งที่จะต้องทำอีกก็มีเช่น กฎกระทรวงที่เราจะต้องออกตามพระราชบัญญัตินี้ วิธีการต่างๆที่เกี่ยวแก่เทศบาล หรือวิธีการที่เกี่ยวแก่พระราชบัญญัติที่จะออกในภายหน้า ตามที่แถลงไปแล้วนั้น เป็นแต่ข้อความที่สังเขปเท่านั้น และการที่รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติเทศบาลขึ้นมา ก็เพื่อปรารถนาที่จะให้เพื่อนสมาชิกทั้งหลายลงมติรับหลัการของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เท่านั้น ส่วนการที่เราจะดำเนินต่อไป เราจะวางรูปตามนี้ คือดำเนินการคล้ายๆ กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามเหมือนกัน กล่าวคือ จะเห็นได้จากเทศบาลตำบล คณะมนตรีตำบล และสภาตำบล[9] เพื่อให้ราษฎรได้รู้จักวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญไปในตัว คือราษฎรจะได้ฝึกการปกครองในตำบลย่อยๆ ของตน เพื่อประโยชน์แก่การที่จะเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรในสภานี้ต่อไป….”

สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้ว สภาผู้แทนราษฎร ได้มี่มติเห็นชอบและให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นกฎหมายได้ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2476 หลังจากที่มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ตั้งท่านปรีดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว 2 วัน

จะเห็นได้ว่า ในการจัดระเบียบเทศบาลดังกล่าวข้างต้น ท่านปรีดีได้นำระบบรัฐสภา (Parliamentary System) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 ไปใช้กับระบบเทศบาล ซึ่งเป็นระบบการเมืองท้องถิ่น ดังจะเห็นได้ว่าสมาชิกสภาเทศบาล (ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ประชุมปรึกษาและพิจารณาให้ความเห็นชอบเทศบาลบัญญัติ ซึ่งเป็นข้อบังคับท้องถิ่น ตลอดจนควบคุมการบริหารงานของคณะเทศมนตรี) มาจากการเลือกตั้งของราษฎรเช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนคณะเทศมนตรี (ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการส่วนท้องถิ่นและปฏิบัติการให้เป็นไปตามเทศบัญญัตินั้น) ประกอบด้วยสมาชิกที่สภาเทศบาล ที่ได้รับเลือกตั้งจากสภาเทศบาล

การนำรูปแบบของระบบรัฐสภาไปใช้กับระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้น ก็เพื่อให้ราษฎรในท้องถิ่นได้เรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยในทางปฏิบัติ อันจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในระดับประเทศ ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า การจัดระเบียบเทศบาลของรัฐบาลเจ้าคุณพหลฯ โดยมีท่านปรีดีเป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการดังกล่าวข้างต้น เป็นการวางรากฐานของระบบการเมืองท้องถิ่นซึ่งยังคงฝักลึกอยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยตราบเท่าจนถึงทุกวันนี้ แต่น่าเสียดายว่า ระบบการปกครองท้องถิ่นของไทยไดล้มลุกคลุกคลานพร้อมกับระบบรัฐสภาเกือบทุกครั้งที่เกิดการรัฐประหารหรือการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจรัฐ[10] มิฉะนั้นราษฎรในท้องถิ่นคงจะได้รับประสบการณ์จากการเรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยท้องถิ่นมากกว่านี้

3. การวางรากฐานทางเศรษฐกิจ: การจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย

ท่านปรีดีได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลที่มีนายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2481 ในการแถลงนโยบายบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2481 ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายสำหรับกระทรวงการคลังนั้น รัฐบาลได้แถลงไว้ในนโยบายข้อ (2) ว่า “จะจัดให้มีเครดิตหมุนเวียนเพิ่มเติมขึ้นตามกำลังของประเทศที่จะทำได้”

เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยต่อสภาผู้แทนราษฎร

ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2482 ท่านปรีดีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงหลักการและเหตุผลต่อที่ประชุมสภา ดังนี้

“รัฐบาลขอเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย พุทธศักราช 2482 โดยมีหลักการว่า เพื่อจัดตั้งสำนักงานธนาคารแห่งชาติไทยขึ้นในกระทรวงการคลัง และให้มีฐานะเป็นทบวงการเมือง เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ประกอบการอันเป็นธุระของธนาคารกลาง และเตรียมการที่จะจัดตั้งธนาคารชาติไทย เพื่อจัดระเบียบการเงินตราและรักษาทุนสำรองไว้ให้เป็นหลักแห่งความมั่นคงในทางการเงิน และดำเนินวิธีเงินตราและเครดิตของประเทศ”

ท่านปรีดี ได้กล่าวต่อไปว่า “ทุกประเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีธนาคารชาติเป็นองค์การที่จะช่วยให้เครดิตของประเทศหมุนเวียนขึ้น กระทรวงการคลังจึงดำริให้มีธนาคารชาติไทย แต่ว่าในการที่เราจะจัดตั้งธนาคารชาติไทยนั้น เป็นกิจการอันใหญ่โตและจะต้องกระทำไปด้วยความระมัดระวังและดำเนินการไปทีละขั้น เหตุฉะนั้น ทางรัฐบาลจึงมีความประสงค์ในชั้นแรกนี้ที่จะจัดตั้งองค์การขึ้นให้เป็นทบวงการเมือง ขึ้นอยู่ในกระทรวงการคลัง กิจการยังหาใช่เป็นธนาคารชาติซึ่งเป็นรูปบริษัทเหมือนดังกับในต่างประเทศไม่ ในขั้นแรกที่จะให้มีสำนักงานธนาคารชาติไทยนี้ ก็มีความประสงค์ที่จะให้สำนักงานธนาคารชาติไทยนี้ได้กระทำหน้าที่อันเกี่ยวแก่ธนาคารกลางไปชั่วคราวก่อน และไม่ใช่ว่าจะให้กระทำกิจการหน้าที่ของธนาคารกลางทั้งหมดก็หามิได้ จะต้องค่อยทำค่อยไป ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด และในระยะนี้เองจะเป็นระยะเตรียมการขึ้นไปสู่ธนาคารชาติไทยที่สมบูรณ์ในภายหน้า”

อนึ่ง ในการจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยดังกล่าวนั้น กระทรวงการคลังไม่ได้นำเงินภาษีอากรมาใช้เลย แต่ได้ใช้จากผลกำไรแห่งทุนสำรองเงินตรา และจากผลดอกเบี้ยอันเกิดแก่ทุนสำรองเงินตราและเงินคงคลัง ดังที่ท่านปรีดีได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า “….ในเวลานี้ก็ประจวบกับที่ทางรัฐบาลได้ซื้อทองมา และในประเทศอังกฤษก็ได้มีการกำหนดราคาทองกับเงินปอนด์ไว้แล้ว ก็เป็นที่หวังได้ว่า ในการที่เราได้ซื้อทองและซื้อเหรียญดอลลาร์ที่อเมริกา ก็จะทำให้หลักทรัพย์ของรัฐบาลในการนั้นมีค่าเพิ่มขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ถือว่าเป็นผลกำไรส่วนหนึ่งซึ่งเราอาจนำมาใช้จ่ายเป็นทุนของสำนักงานนี้ได้ รัฐบาลจึงเห็นว่า เป็นการอันสมควรแล้วที่เราจะได้ริเริ่มเรื่องธนาคารชาตินี้เสียทีหนึ่ง ทุนนั้นเราจะกำหนดไว้ไม่เกิน 10 ล้านบาท”

ตามที่กล่าวข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าสำนักงานธนาคารชาติไทยจะยังมิได้กระทำกิจการซึ่งเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางทั้งหมดก็ตาม แต่การจัดตั้งสำนักงานดังกล่าวขึ้น ก็เป็นการวางรากฐานของธนาคารแห่งชาติ ที่จะจัดตั้งขึ้นในวันข้างหน้า ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากที่สำนักงานธนาคารชาติได้ดำเนินงานมาแล้ว 3 ปี ก็ได้มีการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้น ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 และพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 12 บัญญัติให้โอนสินทรัพย์และหนี้สินของสำนักงานธนาคารชาติไทยไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย

อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พลตรีเภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ) ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร มีความตอนหนึ่งว่า “รัฐบาลเห็นเป็นการสมควรที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามความหมายของพระราชบัญญัติจัดตั้งธนาคารชาติไทย คือธนาคารชาติที่กล่าวในพระราชบัญญัติเมื่อกี้นี้ ก็คือธนาคารแห่งประเทศไทยนี้เอง คือ ทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางแทนสำนักงานธนาคารชาติไทย”

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรตอบข้อสงสัยของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า “เมื่อสมาชิกถามข้าพเจ้าว่า ธนาคารชาติ ธนาคารกลาง หรือธนาคารแห่งประเทศไทยนี้ มีความประสงค์เพียงใดนั้น ข้าพเจ้าขอให้ท่านย้อนไปดูพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย เมื่อปี 2482 คือธนาคารเดียวกันนั่นเอง สำนักงานธนาคารชาติก็ตั้งไว้สำหรับเตรียมกิจการงานที่จะรับโอนงานตามมาตรา 4 และ มาตรา 5….”[11]

เมื่อพิจารณาคำแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดังกล่าวข้างต้น ก็เข้าใจได้ว่า สำนักงานธนาคารชาติไทย ได้แปรสภาพมาเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยนั่นเอง

กล่าวโดยสรุป การจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย เป็นการวางรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศมั่นคง บนพื้นฐานของการเงินการคลังของประเทศที่เข้มแข็ง

         

 


อ้างอิง

[1] บทความนี้เรียบเรียงขึ้นโดยใช้ข้อมูลจากหนังสือ “รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) โดยประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ ธรรมศาสตร์บัณฑิต อดีตเลขาธิการรัฐสภา

[2] ราชกิจจานุเบกษา เล่น 62 ตอน 70 วันที่ 11 ธันวาคม 2488

[3] ในระหว่างที่ผู้เขียนศึกษาวิชากฎหมายอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อประมาณ 40 กว่าปีก่อน เคยได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งแต่งโดยคนอังกฤษที่เคยมาทำงานในประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ไม่นานนัก แต่นึกชื่อหนังสือและชื่อผู้แต่งไม่ออก แต่จำได้ว่าผู้แต่งได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนั้นว่า ชาวนาไทยในชนบทได้ถามข้าราชการคนหนึ่งว่า “รัฐธรรมนูญเป็นลูกใคร?” (Whose son is the constitution?)

[4] การที่ท่านปรีดี ต้องเดินทางออกนอกประเทศในครั้งนั้น ก็เพราะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ท่านได้ยกร่าง “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ตามที่รัฐบาลมอบหมาย เมื่อร่างเสร็จแล้วได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมานุการพิจารณาร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจดังกล่าว ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 14 คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมานุการพิจารณาแล้ว กรรมานุการส่วนข้างมากเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

ต่อมา ในวันที่ 1 เมษายน 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีซึ่งไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจดังกล่าว ได้ดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยมีตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี และในวันที่ 2 เมษายน 2476  รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง มีสาระสำคัญว่า “ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้ เกิดแตกกันเป็นสองพวก มีความเห็นต่างกัน และไม่สามารถคล้อยตามกันได้ ความเห็นข้างน้อยนั้นปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ความเห็นข้างมากนั้น เห็นว่า นโยบายเช่นนั้นเป็นการตรงข้ามแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสยาม และเป็นที่เห็นได้โดยแน่นอนทีเดียวว่า นโยบายเช่นนั้นจะนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎรและเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงแห่งชาติ”

หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลให้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้รอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเป็นการชั่วคราวแล้ว ได้มีพระราชวิจารณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งท่านปรีดีเป็นผู้ร่างเสนอคณะรัฐมนตรี และพิมพ์เป็นแถลงการณ์แจกจ่ายประชาชนโดยทั่วไป และผู้มีอำนาจในเวลานั้นได้บังคับให้ท่านปรีดีเดินทางออกนอกประเทศ

[5]ในปลายเดือนกันยายน 2476 หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ลงข่าวว่า ทางการจะให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่ถูกบังคับให้เดินทางไปต่างประเทศเดินทางกลับประเทศสยาม และนักข่าวได้ไปสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ ท่านให้สัมภาษณ์ว่าเป็นความประสงค์ของรัฐบาลเช่นนั้นจริง และได้ติดต่อกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเพื่อให้เดินทางกลับแล้ว แต่ได้รับคำตอบว่า ยินดีกลับประเทศสยาม แต่ขอให้รัฐบาลกราบบังคมทูลพระกรุณาเสียก่อน ต่อมา นายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลฯ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นรัฐมนตรี (รัฐมนตรีลอย) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2476 เป็นต้นไป หลังจากนั้น ท่านปรีดีได้เดินทางกลับประเทศไทย และได้ไปร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2476 ในระหว่างการประชุม นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ความไว้วางใจแก่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ณ โอกาสนี้ ท่านปรีดีได้แถลงต่อที่ประชุมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้กลับประเทศไทยและโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย กับได้ชี้แจงว่า คำกล่าวหาต่างๆ นั้น เป็นการกล่าวหาฝ่ายเดียว ไม่ได้เป็นไปตามที่มีผู้กล่าวหาเลย ก่อนจบคำชี้แจง ท่านปรีดีได้กล่าวคำปฏิญาณว่า “จะไม่ดำเนินวิธีการแบบคอมมิวนิสต์เป็นอันขาด” หลังจากนั้น สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติไว้วางใจเป็นเอกฉันท์

[6] การยุบเลิกตำแหน่งผู้ประศาสน์การ เป็นผลมาจากการกระทำของนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่มีการจัดตั้งเป็นกระบวนการที่มุ่งทำลายล้างท่านปรีดี ดังจะกล่าวต่อไปนี้

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะบุคคลซึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะรัฐประหาร” ซึ่งมีพลโทผิน ชุณหวัน เป็นหัวหน้า และประกอบด้วยนายทหารบกบางคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทหารนอกประจำการ ซึ่งจงรักภักดีต่อจอมพลป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นปฏิปักษ์ต่อท่านปรีดี ได้ใช้กำลังทหารเข้าล้มล้างรัฐบาลซึ่งมีพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ภายใต้รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2489 เมื่อทำการสำเร็จแล้ว ผู้นำคณะรัฐประหารได้ส่งกำลังทหารไปจับกุมท่านปรีดีที่ทำเนียบท่าช้างในตอนกลางดึกของวันนั้นแต่ท่านปรีดีได้หลบหนีไปเสียก่อน คณะรัฐประหารจึงได้ประกาศจับท่านในข้อหาพัวพันกรณีสวรรคต ท่านปรีดีจึงต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ในต่างประเทศ นับแต่นั้นมา อาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก็ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นพวกพ้องของท่านผู้ประศาสน์การและมีการกล่าวหาว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นที่ซ่องสุมผู้คนและอาวุธเพื่อต่อต้านรัฐบาล  ในสมัยนั้น อาจารย์และนักศึกษาหลายคนถูกจับในข้อหาเป็นกบฏในราชอาณาจักร ในที่สุด รัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ….ต่อสภาผู้แทนราษฎร หลักการใหญ่ของร่างพระราชบัญญัตินี้ก็คือ (1) เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยนี้จากเดิมเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ โดยตัดคำว่า “การเมือง” ออกไป โดยมีเหตุผลว่า เพื่อมิให้นักศึกษาฝักใฝ่การเมือง และ (2) ยุบเลิกตำแหน่งผู้ประศาสน์การ โดยกำหนดให้มีตำแหน่งอธิการบดีเป็นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวและให้ใช้เป็นกฎหมายได้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2495 เป็นต้นไป

[7] รัชชูปการ คือ เงินช่วยเหลือราชการตามที่กำหนดเรียกเก็บจากราษฎรที่ไม่ได้รับราชการทหาร เป็นรายบุคคล เมื่อผู้เขียนเป็นเด็ก เคยได้ยินผู้ใหญ่เล่าว่า ชายใดไม่ชำระเงินรัชชูปการ ต้องถูกบังคับให้ไปทำงานโยธาแทนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง

[8] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรปี 2476 (สมัยที่ 2) ครั้งที่ 20

[9]ต่อมาคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้แก้ไขคำว่า “คณะมนตรีตำบล” เป็น “คณะเทศมนตรีตำบล” และ “สภาตำบล” เป็น “สภาเทศบาลตำบล”

[10] ตามประกาศของคณะปฏิวัติ (จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะ) ฉบับที่ 34 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2501 ในกรณีที่สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาลว่างลง และการตั้งซ่อมจะต้องกระทำโดยวิธีเลือกตั้งก็ให้กระทำได้โดยการแต่งตั้ง คือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเสนอบุคคลผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งของสมาชิกสภานั้นๆ ไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาดำเนินการแต่งตั้งต่อไป  ต่อมา คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ เป็นหัวหน้า ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ เมือ่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 และได้มีคำสั่งฉบับที่ 21 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2519 ว่า เมื่อมีตำแหน่งสมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาลว่างลงก่อนครบกำหนดวาระไม่ต้องมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง

[11] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16/2484-2485 (ครั้งที่ 31 สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2485