ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปรีดีว่าช่วยป้องกันบัลลังก์มา 3 ครั้งแล้ว

9
มิถุนายน
2563

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ผมได้รับหนังสือของกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการ ค.ร.ม.) ซึ่งลงนามโดยเลขาธิการโดยคณะรัฐมนตรี (นายดิเรก ชัยนาม) ให้ผมโดยเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระเจ้าอยู่อานันทมหิดล ไปรับราชการในพระราชสำนัก ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสส์ ในฐานะผู้ถวายอักษรภาษาไทย กำหนดเดินทางในวันที่ 13 มกราคม 2481

ครั้นถึงวันที่ 13 มกราคม เวลา 6.30 น. ผมได้ไปลงเรือรบหลวงแม่กลอง ซึ่งจอดเทียบท่าอยู่ท่าราชวรดิฐ เวลาประมาณ 7.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยพระประยูรญาติ ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงท่าเรือราชวรดิฐ และเสด็จขึ้นพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย  เมื่อได้ทรงมีพระราชปฏิสันสารกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงค์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี คณะทูตานุทูต และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มาเข้าเฝ้าฯ ส่งเสด็จฯ พอสมควรแก่เวลาแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินลงประทับเรือรบหลวงแม่กลอง อันเป็นเรือพระที่นั่ง  เวลาประมาณ 8.00 น. เรือรบหลวงแม่กลองออกจากท่าเรือราชวรดิฐ ใช้ฝีจักรแล่นไปตามลำน้ำเจ้าพระยามุ่งหน้าสู่เกาะสีชัง เพื่อส่งเสด็จพระราชดำเนินสู่เรือซีแลนเดียของบริษัทอิสเอเชียติก อันเป็นเรือพระที่นั่งสำหรับเสด็จพระราชดำเนินสู่ยุโรป

 

บทความ ปรีดีว่าช่วยป้องกันบัลลังก์มา 3 ครั้งแล้ว โดย เปรื่อง ศิริภัทร์ ในเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์
นายเปรื่อง ศิริภัทร์
ที่มา: วารสาร วัฒนธรรม ปีที่ 55 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2559

 

บรรดารัฐมนตรีที่ไปเฝ้าฯ ส่งเด็จพระราชดำเนินที่ท่าเรือราชวรดิฐในวันที่ 13 มกราคม 2481 นั้น มีอาจารย์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรักษาการแทนนายกรัฐมนตรี (พลตรี หลวงพิบูลสงคราม) เป็นหัวหน้า

เวลาประมาณ 15.00 น. เรือรบหลวงแม่กลอง ทอดสมอที่บริเวณเกาะสีชัง ใกล้เรือซีแลนเดีย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระประยูรญาติดำเนินลงประทับในเรือเล็กซึ่งกองทัพเรือจัดถวาย เพื่อเสด็จไปยังเรือซีแลนเดีย เมื่อเสด็จพระราชดำเนินสู่เรือซีแลนเดียแล้ว ได้เสด็จฯ เข้าประทับในห้องรับรอง  ขณะที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินสู่เรือซีแลนเดียนั้น ปรากฏว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา) อาจารย์นาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย รัฐมนตีว่าการกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) และข้าราชการอื่น ๆ คอยเฝ้ารับเสด็จอยู่  เวลาประมาณ 17.00 น. ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และอาจารย์หลวงสินธุ์ฯ ต่างก็กราบถวายบังคมลา (หมอบกราบ) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกราบทูลลาพระยูรญาติ เดินทางกลับสู่จังหวัดพระนคร  เวลาประมาณ 18.00 น. เรือซีแลนเดียถอนสมอใช้ฝีจักรเดินทางออกจากเกาะสีชัง มุ่งหน้าสู่ยุโรปต่อไป

เมื่อปี พ.ศ. 2490 ราวเดือนมกราคมต่อเดือนกุมภาพันธ์  อาจารย์ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส กับท่านผู้หญิง พร้อมด้วยผู้ติดตาม คือ หลวงสุขุมนัยประดิษฐ, นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล, นายวิทย์ ศิวะศริยานนนท์, นายดุสิต บุญธรรม, ร.อ. วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ร.น. ได้เดินทางไปเยือนประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา และเดินทางไปเยือนประเทศสวิสส์นั้น อาจารย์และท่านผู้หญิงได้เดินทางไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับสมเด็จพระราชชนนี ที่ตำบลอาโรซา สถานตากอากาศและเล่นสกีอันมีชื่อเสียงของสวิสส์ เพื่อถวายความเคารพ และแสดงความจงรักภักดี  การที่ต้องเข้าเฝ้าที่อาโรซา ก็เพราะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระประยูรญาติ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานจากฐานจากโลซาน์ไปประทับ ณ อาโรซา เพื่อทรงสกี

เรื่องความจงรักภักดีของอาจารย์ที่มีต่อพระราชบัลลังก์และพระราชวงศ์นั้น ย่อมปรากฏประจักษ์ชัดในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งในเวลานั้นอาจารย์ดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  เมื่อกรุงเทพฯ ถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักโดยเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตร ผมได้ทราบว่าอาจารย์ได้กราบทูลเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ให้เสด็จไปประทับและทรงหลบภัยอยู่ที่พระราชวังบางปะอิน จังหวัดอยุธยา  และอาจารย์ได้ไปเฝ้าเยี่ยมพระบรมวงศานุวงศ์นั้น ๆ ในวันเสาร์ หรืออาทิตย์มิได้ขาดเลยทุก ๆ สัปดาห์  จนกระทั่งสงครามสงบแล้ว จึงได้กราบทูลเชิญให้เสด็จกลับมาประทับ ณ วังที่กรุงเทพฯ ตามเดิม  ทั้งนี้เจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์ที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ย่อมทรงสามารถที่จะทรงเป็นพยานยืนยันได้ดี

ยิ่งกว่านี้ ในระหว่างที่อาจารย์ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี บังเอิญเกิดเหตุการณ์อันนำมาซึ่งความเศร้าโศกาดูรอย่างสุดซึ้ง กล่าวคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตด้วยอุบัติเหตุ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลา 9.00 น. และเมื่อมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในตอนกลางคืนวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เพื่อแถลงการณ์ถึงกรณีสวรรคต และเสนอพระนามผู้ที่เห็นสมควรจะเป็นพระมหากษัตริย์สืบราชสันติวงศ์นั้น 

เจ้าหน้าที่กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) คือนายฤกษ์ ทัพพรักษ์ ซึ่งไปจดรายงานการประชุมเพื่อนำออกเป็นข่าวทางวิทยุกระจายเสียง ได้พูดยืนยันกับผมว่า ก่อนตอบคำถามของสมาชิก อาจารย์ได้หันหน้าไปทางพระมหาเศวตฉัตร ถวายบังคม แล้วกล่าวคำปฏิญาณว่า “ข้าพเจ้าจะป้องกันรักษาราชบัลลังก์ไว้จนกว่าชีวิตจะหาไม่ และได้เคยป้องกันรักษามาแล้ว รวม 3 ครั้ง ทั้งครั้งนี้” ต่อจากนั้นจึงได้เสนอพระนามสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระมหากษัตริย์สืบราชสันติวงศ์ต่อไป ทั้งนี้ย่อมชี้ให้เห็นถึงความจงรักภักดีของอาจารย์ที่มีต่อพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ โดยปราศจากความเคลือบแคลงสงสัยอย่างใด ๆ ทั้งสิ้น

 

บทความนี้ นายเปรื่อง ศิริภัทร์ เขียนเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2513
ต่อมาพิมพ์รวมเล่มใน รักหลังราชบัลลังก์ (กรุงเทพฯ: สยามนิกร, 2517).