ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

โมเดลสังหารอูอองซาน จากย่างกุ้งสู่กรุงเทพฯ กุมภาพันธ์ 2492

6
กุมภาพันธ์
2564

กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เริ่มต้นด้วยข่าวคราวรัฐประหารที่ประเทศเมียนมา ซึ่งทั้งโลกกำลังจับตาสถานการณ์อย่างแข็งขัน ในเดือนเดียวกันนี้ หากมองย้อนอดีตไป เมื่อปี พ.ศ. 2492  เหตุการณ์ทางการเมืองหนึ่งได้ปรากฏขึ้นที่ประเทศไทยและถูกเรียกขานให้เกี่ยวโยงกับกรณีสังหารบุคคลสำคัญชาวพม่าผู้เป็นวีรบุรุษแห่งชาติ นั่นคือเหตุการณ์ "กบฏระบบสังหารอูอองซาน"

วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 เวลาประมาณ 19.30 น. รัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยอ้างว่า

“ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า สถานการณ์ทางการเมืองต่างประเทศใกล้เคียงประเทศไทยได้มีการจราจลขึ้นทั่วกัน และเหตุฉุกเฉินเช่นนี้ได้ลุกลามมายังประเทศไทยจนถึงบางแห่ง รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องใช้กำลังปราบปรามไปบ้างแล้ว จึงประกาศให้ทราบว่าสถานการณ์ฉุกเฉินมีอยู่ในราชอาณาจักร”

รัฐบาลยังแถลงการณ์รายละเอียดให้ประชาชนได้รับทราบและคลายความวิตกไว้อีก 5 ข้อ 

(1) ประการสำคัญที่รัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็เพราะเหตุว่า บรรดาประเทศที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย ส่วนมากภายในของแต่ละประเทศนั้น ได้ถูกสถานการณ์ทางการเมืองทำให้ขาดความสามัคคีปรองดองซึ่งกันและกัน จับอาวุธขึ้นประหัตประหารกันเอง ทำให้ความสงบภายในของแต่ละประเทศอยู่ในฐานะปั่นป่วน การทำมาหากินของประชาชนก็ดี การรักษาความปลอดภัยที่เจ้าหน้าที่จักพึงกระทำเพื่อประชาชนก็ดี อยู่ในลักษณะที่ไม่อาจเป็นไปตามความเหมาะสมได้ รัฐบาลนี้เกรงว่า ประเทศไทยซึ่งเคยมีชื่อว่าเป็นแหล่งของความสงบตามหลักพระพุทธศาสนานั้น จะพลอยถูกสภาพการณ์ทางการเมืองในแบบเดียวกันครอบงำ เพราะนอกจากประเทศไทยเราอยู่ในท่ามกลางของหลายประเทศที่ถูกกระแสคลื่นของการเมืองรบกวนดังกล่าวแล้ว แม้ในบางส่วนของประเทศไทยเองก็มีทีท่าไม่สู้จะน่าไว้วางใจนัก รัฐบาลนี้โดยความเป็นห่วงประชาชนและประเทศชาติ  จึงจำเป็นต้องรีบเร่งหาทางป้องกันสถานการณ์ดังกล่าวแล้วนั้นไว้ และเห็นว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่ได้ประกาศไปแล้วนั้นขึ้น

(2) จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ รัฐบาลขอชี้แจงว่า ประชาชนผู้สุจริตทั้งหลายไม่ต้องตื่นตกใจ เพราะประกาศสถานการณ์ที่ประกาศไปนี้มุ่งที่จะช่วยรักษาประโยชน์ให้แก่ประชาชนผู้สุจริตเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นขอให้ผู้สุจริตทั้งหลายพึงวางตนอยู่ในลักษณะสงบ  และประกอบการทำมาหากินเพื่อความอยู่ดีกินดีโดยทั่วถึงกัน และรัฐบาลจะได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เอาใจใส่สนับสนุนเพื่อยังความสันติสุขของประชาชนยิ่งๆ ขึ้น แม้ผู้ที่ไม่สุจริต รัฐบาลนี้ก็มิได้มุ่งหมายจะประหัตประหารด้วยการใช้อำนาจโดยปราศจากพรหมวิหารธรรม รัฐบาลมุ่งหมายจะหาทางกล่อมเกลานิสัยสันดานให้ได้กลับเป็นพลเมืองดีของชาติเป็นส่วนสำคัญ ดังนั้น ขอให้ผู้ที่ประพฤติตนในทางที่ไม่ดีงาม พึงละเว้นความประพฤติเช่นนั้นเสีย และรีบกลับตนเป็นพลเมืองดีของชาติสืบไป และถ้าผู้กระทำผิดรายใดประสงค์จะเข้าลุกะโทษต่อเจ้าพนักงานเพื่อกลับตนเป็นพลเมืองดีด้วย รัฐบาลนี้ก็พร้อมที่จะให้ความอนุเคราะห์เป็นอย่างดี 

(3) เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฉะนี้แล้ว อาจมีผู้เข้าใจผิดว่า รัฐบาลจะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชน หรือบางคนอาจเข้าใจเลยไปว่ารัฐบาลจะใช้อำนาจเผด็จการด้วยก็ได้ ซึ่งถ้าเกิดความเข้าใจไขว้เขวผิดจากความจริงไปแล้ว อาจเป็นเหตุให้ผู้มุ่งจะทำลายความสงบของประเทศชาติฉวยโอกาสปลุกปั่นให้ประชาชนเกิดความปั่นป่วนด้วยประการต่างๆ ขึ้นได้

รัฐบาลจึงขอชี้แจงว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้หาใช่เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะทำให้เดือดร้อน หรือ ใช้อำนาจเผด็จการแต่ประการใดไม่ สิ่งที่รัฐบาลจักพึงกระทำในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ จะมีอยู่ก็เฉพาะในเรื่องที่จำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์ของประเทศชาติ และรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนเท่านั้น ในเรื่องที่จะใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยเอกสารหนังสือพิมพ์นั้นเล่า รัฐบาลนี้ก็มิได้มุ่งหมายจะกระทำด้วยอาการรุนแรง ในชั้นแรกนี้เพียงแต่ขอร้องให้ช่วยกันละเว้นเสีย ซึ่งการกระทำใดๆ อันเป็นไปในลักษณะที่อาจยังผลให้แตกความสามัคคีกลมเกลียวแยกหมู่แยกพวก เกิดความปั่นป่วนจราจล หรือทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง และพึงหลีกเลี่ยงเสียจากการที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องเสื่อมถอยหรือแตกร้าวกัน

ข่าวใดๆ ที่จะนำโฆษณา ก็ขอให้ได้เป็นไปตามความเป็นจริง ถ้าหนังสือพิมพ์ฉบับใดไม่เชื่อถือก็จำเป็นที่จะต้องให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายเป็นรายๆ ไป แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลนี้ขอย้ำว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ แล้ว จะไม่รุนแรงต่อหนังสือพิมพ์แต่ประการใด เพราะทราบอยู่ดีว่าหนังสือพิมพ์เป็นประโยชน์อยู่ไม่ใช่น้อย แม้ในเรื่องอาวุธปืนซึ่งรัฐบาลอาจดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนในเมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วก็ตาม รัฐบาลนี้จะไม่ใช้อำนาจด้วยความรุนแรง ผู้ใดมีอยู่อย่างไรก็คงให้มีต่อไปได้ เว้นแต่รายใดก่อให้เกิดผลเป็นที่เสื่อมเสียต่อความสงบเรียบร้อย จึงจะพิจารณาจัดการเป็นรายๆ ไป

(4) รัฐบาลขอวิงวอนให้ผู้ประกอบกรณียกิจในการโฆษณาเพื่อทำลายชาติ หรือ อาจยังผลให้ชาติต้องเสื่อมโทรมนั้น พึงยับยั้งชั่งใจเพื่อเห็นแก่ชาติไว้  ถ้าขืนกระทำต่อไป รัฐบาลนี้รู้สึกเสียใจที่จำต้องดำเนินการปราบปราม เพื่อยังความสันติสุขแก่ประเทศชาติโดยส่วนรวม ขอกล่าวย้ำไว้ในที่นี้ด้วยว่า รัฐบาลนี้ไม่อาจนิ่งดูดายที่จะปล่อยให้ความไม่สงบเกิดขึ้นในบ้านเมืองเป็นอันขาด และใคร่ขอวิงวอนไว้ด้วยว่า ขอให้คนไทยทุกคนตลอดจนชาวต่างชาติผู้เห็นแก่สันติสุขของโลกจงช่วยกันเว้นการโฆษณาทำลายความสามัคคี  หรือเว้นการโฆษณาใส่ร้ายต่อกันและกัน ซึ่งเป็นวิธีการของผู้ทำลายชาติ  หรือของผู้ทำลายสันติสุขของโลกนั้นเสีย  ถ้าทุกคนได้ช่วยกันโดยเว้นสิ่งที่ควรเว้นและกระทำในสิ่งที่พึงกระทำดังกล่าวมานี้แล้ว  ประเทศไทยอันเป็นที่รักก็สามารถหลีกเลี่ยงจากการจลาจลปั่นป่วนได้  และทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือ คนต่างชาติ ต่างก็จะอยู่ดีกินดีได้รับแต่ความสันติสุขโดยทั่วถึงกัน

(5) ในประการสุดท้าย รัฐบาลขอวิงวอนไว้ในที่นี้ด้วยว่า ขออย่าให้ผู้ประกอบการค้าถือโอกาสที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ เป็นเหตุกักตุนหรือขึ้นราคาสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชน เพราะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ หาเป็นเหตุให้กระทบกระเทือนกับเรื่องการค้า หรือราคาของสินค้าแต่ประการใดไม่ และขอตักเตือนประชาชนไว้ด้วยว่า ไม่ควรรีบร้อนในการที่จะหาซื้อสิ่งของใดๆ โดยเกรงว่าจะไม่มีใช้ในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ ถ้าประชาชนทำตนแตกตื่นในการหาซื้อขึ้นเมื่อใด ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้ขายจะต้องรีบฉวยโอกาสขึ้นราคาเมื่อนั้น”

 

มูลเหตุเร่งเร้าให้ต้องออกประกาศและแถลงการณ์ข้างต้น สืบเนื่องจาก 'พันเอก ศิลป รัตนพิบูลชัย' (หรือ 'ขุนศิลป์ศรชัย' หนึ่งในสี่นายทหารของคณะรัฐประหาร 2490 ที่บุกเข้าจี้ 'นายควง อภัยวงศ์' ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 และต่อมา 'จอมพล ป. พิบูลสงคราม' ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน) เจ้ากรมรักษาดินแดน ได้รายงานด่วนมายังฝ่ายรัฐบาลว่า ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์จะมีคณะนายทหารจำนวนหนึ่งวางแผนยึดอำนาจภายในกรมรถรบ แล้วนำรถถังหุ้มเกราะหลายคันพร้อมอาวุธครบมือเคลื่อนมาเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลตอนที่คณะรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมกัน

 

พันเอก ศิลป รัตนพิบูลชัย หรือขุนศิลป์ศรชัย ภาพจากหนังสือ การปฏิบัติหน้าที่ราชการ (บางตอน) ของ พลโท ขุนศิลป์ศรชัย
พันเอก ศิลป รัตนพิบูลชัย หรือขุนศิลป์ศรชัย
ภาพจากหนังสือ การปฏิบัติหน้าที่ราชการ (บางตอน) ของ พลโท ขุนศิลป์ศรชัย

 

'พลโท ผิน ชุณหะวัน' ผู้บัญชาการทหารบก และ 'พลโท กาจ กาจสงคราม' (ชื่อเดิมคือ เทียน เก่งระดมยิง หรือ หลวงกาจสงคราม) รองผู้บัญชาการทหารบก กำลังบัญชาการประลองยุทธใหญ่ที่ตำบลเชียงราก ปทุมธานี จึงสั่งให้หยุดชะงักการประลองยุทธลง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี สั่งให้ทั้งสามเหล่าทัพ ได้แก่ ทัพบก ทัพเรือ และตำรวจ ตระเตรียมความพร้อม ส่วน 'พลตำรวจตรี เผ่า ศรียานนท์' (ยศขณะนั้น) รองอธิบดีกรมตำรวจ ออกคำสั่งปิดถนนสายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ปิดเขตพระบรมรูปทรงม้าและเขตถนนจักรพงษ์ ถนนสายบางกระบือ ร. พัน 3 จากสะพานควายถึงบางซื่อ และให้รถเมล์จำนวนมากกว่าหนึ่งร้อยคันมาชุมนุม ณ ท้องสนามหลวงเพื่อขนส่งกองทหารไปยังจุดฉุกเฉินทันท่วงที 

พลตำรวจตรี เผ่าได้รับรายงานว่า หัวหน้าคณะผู้ก่อการคราวนี้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลสมัยที่ 'นายปรีดี พนมยงค์' เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489  ทางตำรวจจึงรีบรุดเข้าจับกุม 'พันเอก ทวน วิชัยขัทคะ'  'ร้อยเอก สุนทร ทรัพย์ทวี'  และ 'เรือเอก ชลิต ชัยสิทธิเวช' รวมถึงเข้าควบคุมตัวทหารอีกหลายนายเพื่อนำมาสอบสวน ตำรวจสันติบาลยังเข้าจับกุมบุคคลอื่นๆ เช่น ชาวจีนผู้ต้องสงสัยเป็นพวกคอมมิวนิสต์ และกวาดล้างย่านชาวต่างชาติที่เชื่อว่าน่าจะมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับขบวนการเคลื่อนไหวคราวนี้

 

พันเอก ทวน  วิชัยขัทคะ ภาพจากหนังสือ อนุสรณ์ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ พ.อ. ทวน วิชัยลักขณา (วิชัยขัทคะ)
พันเอก ทวน  วิชัยขัทคะ
ภาพจากหนังสือ อนุสรณ์ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ พ.อ. ทวน วิชัยลักขณา (วิชัยขัทคะ)

 

พลตำรวจตรี เผ่า ศรียานนท์ เปิดเผยว่า ตามแผนการที่คณะก่อการวางไว้ จะเคลื่อนรถถังหุ้มเกราะจากกรมรถรบมาล้อมทำเนียบรัฐบาล และส่งหน่วยคอมมานโดบุกเข้าไปใช้ระเบิดสังหารคณะรัฐมนตรีที่กำลังประชุมอยู่ โดยมุ่งหมายปลิดชีพให้ตายพร้อมกันหมดสิ้นทุกคน แต่แผนการไม่ประสบผลสำเร็จลุล่วง ฝ่ายรัฐบาลได้รับรายงานข่าวเสียก่อน จึงออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและดำเนินการยับยั้งสกัดกั้น สั่งให้ทหารชั้นผู้น้อยนำรถถังหุ้มเกราะย้อนกลับคืนกรมไปดังเดิม 'พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์' (ยศขณะนั้น) ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 เข้ายึดอำนาจในกรมรถรบโดยเด็ดขาดจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ความเคลื่อนไหวกลายเป็นการก่อกบฏ คณะผู้ก่อการตกเป็นผู้ต้องหา

 

พลตำรวจตรี เผ่า ศรียานนท์ (ยศขณะนั้น) ภาพจากหนังสือ ๒๕ คดีกบฏ
พลตำรวจตรี เผ่า ศรียานนท์ (ยศขณะนั้น)
ภาพจากหนังสือ ๒๕ คดีกบฏ

 

พันเอก ทวน วิชัยขัทคะ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้าคณะที่จะก่อการในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นั้น ต้นตระกูลสืบเชื้อสายมาจาก 'พระยาพิชัยดาบหัก' ทหารเอกใน 'สมเด็จพระเจ้าตากสิน' (‘วิชัยขัทคะ’ เป็นนามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ภายหลังพันเอก ทวนเปลี่ยนมาใช้นามสกุล ‘วิชัยลักขณา’ ตามความประสงค์ของบิดา) เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรสายทหารบกที่ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  เป็นนายทหารม้าที่เคยเดินทางไปศึกษาวิชาเสนาธิการทหารบกในประเทศฝรั่งเศสช่วงต้นทศวรรษ 2480 เคยรั้งตำแหน่งรองผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 1 และผู้บังคับการกรมรถรบ ในสมัยรัฐบาลปรีดี พนมยงค์  พันเอก ทวน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และในสมัยรัฐบาลถัดมาที่มี 'พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์' เป็นนายกรัฐมนตรี เขารักษาการแทนรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงพาณิชย์

ด้าน 'เรือเอก ชลิต ชัยสิทธิเวช' (ชื่อเดิมคือ เล็ก ชัยสิทธิเวช) เคยเป็นนายทหารคนสนิทของ 'นาวาเอก หลวงยุทธกิจพิลาศ' (มี ปัทมนาวิน) ทูตทหารเรือไทยประจำวอชิงตัน ได้ร่วมปฏิบัติงานเสรีไทยทางการทหารร่วมมือกับสหรัฐอเมริการะหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นพี่ชายของ 'เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช' นายทหารคนสนิทของนายปรีดี พนมยงค์ เรือเอก ชลิตยังเป็นตัวแทนของนายปรีดีเข้ามาติดต่อกับ 'พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ' (สังวร สุวรรณชีพ) ช่วงต้นปี พ.ศ. 2492 เพื่อขอให้ทางทหารเรือช่วยสนับสนุนขบวนการที่นายปรีดีย้อนเข้ามาเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยกลับคืนมาจากคณะรัฐประหาร 2490

ครั้นฝ่ายรัฐบาลเผยยุทธวิธีของคณะก่อการที่ถูกจับกุมต่อสาธารณะแล้ว พลันเกิดถ้อยคำเรียกขานความเคลื่อนไหวที่ไม่สำเร็จนี้ว่า “กบฏระบบสังหารอูอองซาน” เพราะแผนการจู่โจมมีลักษณะคล้ายๆ กับแผนการสังหารอูอองซานและคณะรัฐมนตรีในประเทศพม่าเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1947 (ตรงกับ พ.ศ. 2490)

'อูอองซาน' หรือ 'นายพล อองซาน' (Aung San) คือ ผู้นำขบวนการชาตินิยมที่เคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องเอกราชให้พม่าจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษได้สำเร็จ กลายเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ แต่มิอาจครองลมหายใจอยู่จวบวันที่ประเทศของตนเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากถูกสังหารขณะอายุเพียงแค่ 32 ปี อูอองซานเป็นบิดาของ 'นางอองซานซูจี' (Aung San Suu Kyi) ผู้นำสตรีนามกระเดื่องที่เคยเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบเผด็จการทหารพม่าจนเธอต้องถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพักที่กรุงย่างกุ้งเนิ่นนานหลายปี และเพิ่งได้รับอิสรภาพปลายปี พ.ศ. 2553  ล่าสุดเธอเพิ่งถูกควบคุมตัวอีกหนในการรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ตามกำหนดการ พม่าจะได้รับเอกราชสมบูรณ์ในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 ทว่ายามสายของวันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ณ อาคารสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ขณะอูอองซานในฐานะผู้นำพม่า ประชุมกับคณะรัฐมนตรี เรื่องที่อังกฤษเตรียมการพิธีส่งมอบเอกราชคืนให้พม่า รถจี๊ปบรรทุกขนาดกลางแล่นมาจอดหน้าอาคาร กลุ่มชายฉกรรจ์ 4 คนมีผ้าคลุมหน้าพร้อมอาวุธปืนกลทอมสัน ปืนกลมือสเตน และระเบิด ผลุนผลันลงจากรถวิ่งเข้าในอาคาร ขึ้นบันไดไปชั้นบนและพังประตูห้องประชุม พออูอองซานลุกยืนขึ้น กลุ่มชายฉกรรจ์ลั่นปืนกลกราดกระหน่ำยิงประมาณสามสิบวินาที อูอองซานถูกกระสุนตรงบริเวณหน้าอกและเรือนร่างถึง 13 นัด สมาชิกคณะรัฐมนตรีและคนอื่นๆ ในห้องมิแคล้วตกเป็นเหยื่อของมือปืน 

ผู้สูญสิ้นชีวิตรายอื่นๆ นอกจากอูอองซาน ได้แก่ 'อูบะโชว่' (U Ba Choe) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงข่าวสารและเคยเป็นบรรณาธิการวารสารชาตินิยมฉบับลือเลื่อง, 'ทะขิ่นเมียะ' (Thakin Mya) รัฐมนตรีที่เป็นเพื่อนสนิทของอูอองซานและเคยเป็นผู้นำนักศึกษา, 'อูบะวิน' (U Ba Win) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และพี่ชายของอูอองซาน, 'มานบะข่ายง์' (Mahn Ba Khaing) ผู้นำชาวกะเหรี่ยงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, 'ซอส่านทูน' (Sao Sam Htun) เจ้าไทยใหญ่ (รัฐฉาน) และรัฐมนตรีดูแลภูมิภาคที่เป็นเทือกเขาเขตชายแดน, 'อับดุล ราซัค' (Abdul Razak) ชาวทมิฬมุสลิมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, 'อูโอนหม่อง' (U Ohn Maung) เลขานุการอธิบดีกรมการขนส่งและสื่อสารมาประชุมแทนรัฐมนตรีซึ่งติดภารกิจไปตรวจการหัวเมือง และ 'โกเถว่' (Ko Htwe) บอดี้การ์ดของอับดุล ราซัคถูกยิงตอนที่มือสังหารจะบุกพังประตูห้องประชุม[1]

การสอบสวนได้ความว่า ผู้บงการกรณีสังหารคือ 'อูซอว์' (U Saw) คู่ปรับทางการเมืองของอูอองซาน หน่วยงานของอังกฤษบุกเข้าจับกุมตัวอูซอว์และพรรคพวกประมาณ 8 คน ศาลพิเศษที่ตั้งขึ้นพิจารณาคดีโดยเซอร์ ฮิวเบิร์ต อัลวิน แรนซ์ (Sir Hubert Elvin Rance) ผู้สำเร็จราชการชาวอังกฤษที่ปกครองพม่าพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตอูซอว์และมือสังหารด้วยการแขวนคอในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2491  กระนั้น กรณีสังหารอูอองซานและคณะรัฐมนตรีดูเหมือนจะคลุมเครือเรื่อยมา ยังพบหลักฐานว่า ผู้บงการตัวจริงอาจจะมิใช่อูซอว์ แต่เป็นพวกนายทหารและนักธุรกิจชาวอังกฤษที่ต่อต้านอูอองซาน

 

คนซ้ายสุดสวมแว่นคือ ทะขิ่นเมียะ คนกลางโพกผ้าคือ อูอองซาน ภาพจาก pinterest.com
ภาพ: คนซ้ายสุดสวมแว่นคือ ทะขิ่นเมียะ คนกลางโพกผ้าคือ อูอองซาน
ที่มา: pinterest.com

 

การสังหารอูอองซานและคณะรัฐมนตรีได้รับความสนใจยิ่งนักในเมืองไทยช่วงต้นทศวรรษ 2490 ไม่เพียงเป็นข่าวสะเทือนขวัญที่นำเสนอครึกโครมบนหน้าสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับ แต่ยังถูกนำมาผูกเข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองไทย ถ้าลองวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ เนื่องจากความเคลื่อนไหวของคณะก่อการที่นำโดยพันเอก ทวน วิชัยขัทคะประสบความล้มเหลว เราจึงมิทราบชัดเจนหรอกว่า หากเคลื่อนรถถังหุ้มเกราะจากกรมรถรบไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลได้จริงๆ คณะผู้ก่อการจะใช้วิธีจู่โจมรุนแรงเฉกเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในพม่าหรือเปล่า 

แผนการดังเปิดเผยมาก็เป็นสิ่งที่ทางฝ่ายรัฐบาลออกมาชี้แจงเอง อาจเป็นไปได้ที่จะมุ่งสร้างภาพความโหดร้ายรุนแรงให้กับฝ่ายคณะผู้ก่อการ ซึ่งพยายามเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลที่ได้อำนาจตกทอดมาจากการทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 มีข้อสังเกตอีกว่าในสังคมทหารหลังทศวรรษ 2470 มักมีความสัมพันธ์ที่จะไม่ค่อยเล่นงานจนถึงแก่ชีวิตอย่างรุนแรง แม้จะจับพลัดจับผลูไปอยู่คนละข้างทางการเมืองก็ตามที เพราะพวกทหารต่างเคยร่วมรบในสมรภูมิมาด้วยกัน แผนการอุกอาจที่จะสังหารคณะรัฐมนตรีไทยแบบโมเดลสังหารอูอองซานจึงดูชอบกล จนดูเหมือนเป็นแผนการที่ป่าวประโคมให้ดูน่าหวาดหวั่นพรั่นพรึงเสียมากกว่ากระมัง[2]  

กระนั้น การเรียกขานชื่อคณะผู้ก่อการโดยอ้างอิงถึงโมเดลสังหารผู้นำชาวพม่าที่เกิดขึ้นร่วมยุคสมัยกัน ย่อมสะท้อนว่า คนในสังคมไทยก็เอาใจใส่ติดตามข่าวสารและเหตุการณ์ทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง รัฐบาลของคณะรัฐประหาร 2490 เอง ตระหนักและกังวลกับสถานการณ์ทางการเมืองต่างประเทศที่อาจจะลุกลามมาสู่เมืองไทยเช่นกัน มิหนำซ้ำ ยังฉวยใช้สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านมาดำเนินการทางการเมืองในประเทศของตน

รัฐบาลของคณะรัฐประหาร 2490 เชื่อมั่นว่า คณะก่อการของพันเอก ทวน วิชัยขัทคะ ข้องเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 เริ่มแว่วยินหนาหูขึ้น เรื่องนายปรีดีลอบเข้ามาติดต่อกับพวกทหารเรือบริเวณฝั่งทะเลอ่าวไทยแล้ว นั่นเพราะคณะผู้ก่อการแต่ละรายล้วนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดนายปรีดี ไม่ว่าจะเป็นพันเอก ทวน ผู้เคยเป็นอดีตรัฐมนตรี หรือเรือเอก ชลิต ผู้เคยช่วยงานเสรีไทย ความเคลื่อนไหวในกรมรถรบนี้เกิดขึ้นก่อน ขบวนการ 26 กุมภาพันธ์ ของนายปรีดีและสมัครพรรคพวกเข้ายึดพื้นที่เมืองหลวง ประกาศยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ผ่านทางวิทยุเพียงแค่ 3 วัน จุดมุ่งหมายของขบวนการ 26 กุมภาพันธ์ถือเป็นความพยายามที่จะนำเอาระบอบประชาธิปไตยแบบก่อนเกิดรัฐประหาร 2490 กลับคืนมา แม้ท้ายสุดขบวนการนี้จะประสบความพ่ายแพ้

คงต้องคอยดูสถานการณ์รัฐประหารเมียนมาจะเป็นเช่นไรต่อไป  เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 นี้ สบโอกาสเหมาะเจาะที่จะเขียนเชื่อมโยงเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์พม่า ซึ่งข้อมูลในอดีตมอบบทเรียนแก่พวกเราเสมอมามิใช่หรือว่า รัฐประหารมิได้ส่งผลดีอะไรเท่าไหร่เลย !

 


[1]  ขอบคุณคุณชนมน จันทร์มี หรือ มะจีจีเยง (Ma Kyi Kyi Nyein) ที่ช่วยแนะนำการอ่านออกเสียงชื่อคนภาษาพม่าออกมาเป็นภาษาไทย

[2]  ข้อสังเกตนี้เกิดขึ้นจากการสนทนากับคุณปรัชญากรณ์ ลครพล จึงขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. พม่า ประวัติศาสตร์และการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552 
  • ถั่นมิ้นอู. สายธารแห่งรอยอดีต ประวัติศาสตร์พม่าในมุมมองของข้าพเจ้า. สุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์ แปล. กรุงเทพฯ: ริเวอร์ บุ๊คส์, 2560
  • ไทยน้อย (เสลา เรขะรุจิ).  ๒๕ คดีกบฏ. พระนคร: ประมวลสาส์น, 2513 
  • บัญชร ชวาลศิลป์, พล.อ.. 2500 สฤษดิ์-เผ่า เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2563
  • ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕-๒๕๑๗). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง, 2517
  • พิชิต ฉินนะโสต, ร้อยตรี. การปฏิบัติหน้าที่ราชการ (บางตอน) ของ พลโท ขุนศิลป์ศรชัย. ภรรยาและบุตร พิมพ์แจกเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท ขุนศิลป์ศรชัย (ศิลป์ รันตพิบูลชัย) ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน พระนคร 6 ตุลาคม 2499. พระนคร : โรงพิมพ์ไทยบริการ, 2499
  • พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ท.ช., ป.ม. (สังวร สุวรรณชีพ) ณ เมรุวัดธาตุทอง ถนนสุขุมวิท วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2516. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2516
  • พูนศักดิ์ ศักดานุวัฒน์.  เบื้องหลังฆาตกรรมสะเทือนโลก. พระนคร : โอเดียนสโตร์, 2508
  • อนุสรณ์ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ พ.อ. ทวน วิชัยลักขณา (วิชัยขัทคะ) อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารม้า, ผู้บังคับการกรมรถรบ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม, มหาดไทย, และ พาณิชย์ ณ เมรุสุสานช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน 2520. กรุงเทพฯ : ศูนย์การพิมพ์, 2520
  • Kin Oung. Who killed Aung San. Bangkok: White Lotus, 1993
  • Lintner, Bertil. Burma in Revolt: Opium and Insurgency since 1948. Chiang Mai, Thailand: Silkworm Books. 2003.
  • Maung Maung, U. A Trial in Burma: The Assassination of Aung San. 2nd ed. Yangon, Myanmar: Unity Publishing House, 2012