ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

บันทึกรายวัน ๒๔๘๕ พุทธทาสภิกขุ: ว่าด้วยเรื่องการพบกับผู้สำเร็จราชการปรีดี พนมยงค์

27
พฤษภาคม
2564

พฤหัศ ๑๘ มิถุนา ๖ฯ๙ ปทุมคงคา ก.ท.

 

เช้าแล้ว รู้สึกมึนและเพลียเล็กน้อย เนื่องจากตอนบ่ายจะต้องไปพบท่านผู้สำเร็จราชการ ปรีดี พนมยงค์ เลยตัดสินใจจำวัด เผื่อจะสดชื่นขึ้นบ้าง ทำให้เจ้าคุณกฤตราชฯ ซึ่งมาตอนเที่ยงไม่ได้พบ

ตื่น ๑๒ เศษ, พอดีมีคนมาตบประตูเรียก เปิดออก มีคนหนุ่ม ๒ คนมาหา ได้ความว่า คนหนึ่งชื่อจรุง และบอกว่า จิตร เพ็ชรมีศรี สั่งมาถามถึงว่า ถ้าจะอยู่ถึงวันชาติ เขามีโอกาศมาเยี่ยม. อิกคนหนึ่งดูเหมือนคนที่เคยมาหาคราวก่อน พร้อมกับน้องภรรยา ของคุณสัญญา ที่มาคราวเดียวกับคุณสุธรรม.

เราเตรียมตัวพร้อม คุณวุฒิมาถึงเวลา ๑๓.๓๐ น. เลยออกไปบ้านผู้สำเร็จด้วยรถ ๓ ล้อ, แวะต้นมณีศรีภัทร เอานาฬิกาให้ช่วยแก้. และสาลดีกา เอาหนังสือที่วานคุณสัญญาพิมพ์, เลยไปบ้านผู้สำเร็จ.

บ้านอยู่ปากคลองหลอด เปนวังกรมพระสวัสดิ์เก่า จำนองแก่ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์, เลยใช้เปนบ้านพักท่านผู้สำเร็จราชการ. เราไปถึง มีคนคอยรับที่บันได ที่ประตู และพาเลยขึ้นไปข้างบน ซึ่งจัดขึ้นเพื่อต้อนรับเปนพิเศษเมื่อวานนี้เอง, ทราบจากคุณวุฒิว่าท่านสั่งจัดเปนพิเศษ สังเกตดูก็เห็นได้ตรงที่ อยู่ติดกับห้องนอน เมื่อผเอินประตูเปิดออก ก็จะเห็นความเปนอยู่ภายในซึ่งไม่ควรที่แขกจะได้เห็น. ห้องที่จัดนี้ กว้างและว่าง ปูพรมผืนใหญ่สีฟ้า โต๊ะเก้าอี้หวายล้วนสีฟ้า. เรานั่งลงที่ตัวหนึ่งทางหน้าต่าง หันหน้าไปทางประตูห้องนอน หันข้างให้บันไดที่ขึ้นมา.

คนที่นำขึ้นมา ไปแง้มประตูบอกคนที่อยู่ข้างใน คนที่ออกมากลายเปนผู้หญิงล้วน เห็นไม่ค่อยถนัด ออกมาพบ ถามถึงว่ามาจากไหน และอะไรอิก ๒-๓ คำ แล้วก็กลับเข้าไป, คนนั้นกระซิบบอกว่า “มารดาของท่าน.” และเอาน้ำเย็นแช่น้ำแข็งประเคน.

อิกราว ๒ นาที ท่านผู้สำเร็จขึ้นมาจากข้างล่าง ตามทางที่เราขึ้นมา, ทักทายตามธรรมเนียม เช่น มาถึงเมื่อไหร่เป็นต้น แล้วจึงเริ่มการสนทนา.

ประโยคแรก ที่เริ่มการสนทนา ดูเปนคำออกตัวอย่างนักปราชญ์ คือว่า พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เชื่อ เพราะเหตุที่สักว่าได้ฟัง แม้ฟังจากพระองค์เอง คือ ท่านได้เปิดโอกาศให้คนเราคิดและถามเปนอิสสระเต็มที่, เพราะฉะนั้นสิ่งไรๆ ต้องถาม และทำความเข้าใจกันจนกว่าเหตุและผล จะเพียงพอสำหรับเชื่อ.

เรื่องที่ถาม มีเรื่อง เกิดใหม่คืออะไร, กรรมให้ผลตรงตามที่เชื่อกัน (ดีให้ดี, ชั่วให้ชั่ว) จริงหรือ, และอื่นๆ อิกหลายข้อ.

ท่านผู้สำเร็จราชการ คงจะได้อ่านและเข้าใจพุทธสาสนาแต่บางส่วน มีบางส่วนไม่เข้าใจ และเข้าใจเขวไปก็มี. เช่น กรรมไม่ให้ผลเที่ยง (ดีเปนดี, ชั่วเปนชั่ว) เสมอไป กรรมดี ให้ผลชั่ว ก็ได้ (อ้างตัวอย่าง หลวงสุนทรออกไปซื้อยาให้มารดา ถูกรถทับ). และเห็นว่า ตายคือความสุข, หรือนิพพาน, และเห็นว่าพระพุทธเจ้า ทรงสอนหลักของความสุขโดยว่า จงจำกัด การมีทรัพย์เพียง ปัจจัย ๔ อย่าง,

และท่านผู้สำเร็จมีความประสงค์จะให้คนจน มีความมั่นใจ ว่าตนมีความสุขเท่ากับคนมั่งมีได้ โดยทำใจให้สันโดษฐ์ ตามหลักพุทธสาสนา. อยากให้แต่ง บทเพลงชะนิดที่เปนแก่นของพุทธสาสนา, และบทที่จะทำให้ผู้นั้นกล้าที่จะหาความสุข โดยการบันเทาตัณหา ดูเอ่ยถึงตัณหาในฐานเปนสัตรูมากที่สุด.

คุยกันครู่หนึ่ง จำกัด พลางกูร ขึ้นมาร่วมคุยด้วยจนตลอดเวลา แย้งในบางตอน เข้าทีในการคุย และหวังว่าคงจะได้คุยกันอีก.

เริ่มคุยกันแต่ ๑๔ น. เลิกคุยเวลา ๑๗ น. รวม ๓ ชั่วโมงเต็ม แล้วนิมนต์ให้ไปพรุ่งนี้อิกครั้งหนึ่ง, ให้เอารถมาส่งถึงวัด และให้คนรถมาดูกุฏิไว้ด้วยตนเอง เพื่อจะได้ไม่ต้องรบกวน คุณวุฒิอิก.

ภรรยานายห้างรัตนมาลา ให้เงินไว้กับท่านผู้หญิง ให้ทำบุญ กับคณะธรรมทาน ๒๐ บาท, และฝากคุณวุฒิมา.

กลับถึงวัด ร่วม ๑๘. นายฉ่ำ จำรัสเนตร ตามที่ส่งมาถึงวัดด้วย เปน...มาก ดังที่ได้ฟังกันมา แต่ก็มีอะไรที่ดีอยู่ในคำพูดนั่นเหมือนกัน. เลยทำให้เราเชื่อว่า คนต้องมีดี อะไรอย่างหนึ่งเสมอ จึงทรงตัวอยู่ได้ ทั้งที่มีอะไรเหลวแหลก เต็มทน.

คุยกับมหาถนอม ที่หอฉัน ใน ๒๐ น. เขียนบันทึกนี้ และจำวัดร่วม ๒๒ น.

 

ศุกร ๑๙ มิถุนายน ๗ฯ๘ ปทุมคงคา กรุงเทพ,

 

เช้าแล้ว จำวัด และอ่านหนังสือเล่น

บ่ายโมงครึ่ง คนรถของผู้สำเร็จราชการ มารับตามที่นัดไว้. มีนายจำกัด อยู่ด้วยตลอดเวลา.

ในวันนี้ พูดกันด้วยเรื่องสมาธิ อานาปานสติอย่างเดียว ซักไซ้อย่างเลอียด ทุกๆ ตอน กินเวลา ๒ ชั่วโมงครึ่งจึงจบ. ในตอนสุดท้ายเราจะกลับได้ถามขึ้นถึงเรื่องที่คิดจะมีกิจการอย่างของคณะธรรมทานในกรุงเทพฯ. ท่านผู้สำเร็จราชการเลย ขอให้ไปพบใหม่ในวันอาทิตย์ บ่าย ๒ โมง เพื่อปฤกษากันถึงเรื่องนี้ และได้ขอร้องให้เราไปสนทนากับพระยาโกษาฯ บิดาของนายโชติ เลขานุการของท่าน ในวันพรุ่งนี้ มีนายโชตินั่งตามมาส่งถึงวัดด้วย

กลับมาถึงวัด เลยไปคุยกับเจ้าคุณจนค่ำ. ให้หนังสือการสอบบาลี, นักธรรมสนามหลวงอย่างละ ๑ เล่ม.

กลับเข้ามาคณะใน คุยกับมหาศิรินทร ซึ่งกลับมาจากชุมพรวันนี้ จนกระทั่ง ๒๒ น. เศษ ง่วง ไม่ได้เขียนบันทึก เพิ่งได้เขียนวันรุ่งขึ้น. จำวัดร่วม ๒๓ น.

 

เสาร ๒๐ มิถุนา ๘ฯ๘ ปทุมคงคา. ก.ท.

 

ก่อนเช้า เจ้าคุณลัดพลีมาหา คุยกันถึงเรื่องที่ไปพบท่านผู้สำเร็จราชการ เจ้าคุณเห็นว่าการตั้งสมาคม หรือคณะโดยเปิดเผยโอ่โถงนั้น ไม่เห็นว่าจะจีรังไปได้ และยังเปน การผูดมัดเราเอง และคนอื่นๆ เจ้าคุณเอง ก็ไม่อยากถูกผูกมัด. รวมความว่า เราไม่ควรรับภาระอันนี้โดยตรง. คุยกันเรื่อง อัตตา อิกเล็กน้อย แล้วลากลับเมื่อ ๘.๑๒ น.

ฉันเช้าแล้ว ครู่หนึ่ง เจ้าคุณกฤตราชมา ซักไซ้เรื่อง อานาปานสติ บางตอนอย่างเลอียด ตามหลักที่เรากล่าวไว้ในปาฐ เรื่อง วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธรรม. กลับเลยเพล. *

บ่ายคุยกับมหาชื่น (ซึ่งเข้าห้องไม่ได้ โดยทัดเอากุญแจไปเสีย) บ้าง กับมหาศิรินทรบ้างจนเย็น. อาการท้องเสียซึ่งเปนมา ๒-๓ วันแล้ว ค่อยดีขึ้น. แต่ตอนค่ำนี้ ฉันเครื่องดื่มเย็น ๑ ถ้วย ดูกลับมีอาการไม่ดีนักอิก.

อ่านหนังสือ จำวัด ๒๒ น.

*คนรถผู้สำเร็จราชการ มาแจ้งให้ทราบว่า ตามที่นัดว่าจะไปบ้านบิดานายโชตินั้น ไม่ต้องไป เพราะเมื่อคืนท่านป่วยเลย เปนอันไม่ไป.

 

อาทิตย์ ๒๑ มิถุนา ๙ฯ๘ ปทุมคงคา ก.ท.

 

๗.๐๐ คุณสัญญา เอารถมารับไปฉันที่บ้านใหม่ ซอยถนนภิรมย์ บางกะปิ. เราพามหาชื่นติดไปด้วย เพื่อได้ดูแบบบ้านแปลกๆ ที่บางกะปิ.

ไปถึง, หลวงชุมฯ เจ้าคุณลัดพลีอยู่ที่นั่นแล้ว. คุณพังงา แท้งลูกไปอยู่โรงพยาบาล, คุณฉวีมาช่วยเหลือการครัว แล้วรีบลากลับไปให้ทันเวลาไปวัดเพราะเปนวันพระ (อย่างธรรมยุติ) ก่อนฉัน, กำลังฉัน, และฉันแล้ว คุยธรรมะกันเรื่อย ซึ่งผู้คุยส่วนมากเป็นเจ้าคุณลัดพลี. ๑๑.๐๐ ตรง ลากลับคุณสัญญาเอารถมาส่ง เราให้แวะส่งเพียงที่สถานีหัวลำโพง เพราะต้องการรับจำเนียร ซึ่งจะมาถึง ๑๑.๔๐ วันนี้.

รถไม่มาง่ายเราเลยกลับก่อน เพราะเกรงจะไม่ทันเวลาคณะรถจากบ้านผู้สำเร็จราชการมารับ, แต่แล้ว ก็ไม่เห็นมา เพราะเราฟังผิด วันอาทิตย์เปนวันจันทร์

ครู่หนึ่ง มหาชื่นกลับมาจากสถานี เลยคุยกันถึงเรื่องที่รถมาถึงแล้ว ทำไมจำเนียรไม่มา พอดีจำเนียรโผล่เข้ามาร่วมคุยด้วย ได้ความว่า มารถพิเศษยี่ปุ่น ถึงเสียแล้วตั้งแต่เมื่อคืน พักที่วรจักร เที่ยวตามหากุฏิพระมหายิ้ม (ที่ถูกเปนพระมหาขึม คณะ ๑) เสียแย่. เลยพากันไปธุระสองคน.

เราหลงคอยคนรถที่จะมารับเสียแย่ โดยความสำคัญผิด เพราะฟังผิด.

เย็นจวนค่ำ เจ็กชุนเอาสบงมาให้เลือด ตามที่สั่งไว้, เลือกได้ ๕ ตัว ตัวละ ๒.๗๕ บาท, เปนเงิน ๑๓.๗๕ บาท.

ค่ำอ่านหนังสือ. จำวัดร่วม ๒๒ น.  

 

จันทร์ ๒๒ มิถุนา ๑๐ฯ๘ ปทุมคงคา

 

เช้าแล้ว ไม่ได้ไปไหน โดยเกรงว่าเจ้าคุณกฤตราชจะมาหา. อ่านหนังสือ และคุยเล่นกับทัด แต่ก็ไม่เห็นมา.

๑๔ น. รถบ้านผู้สำเร็จราชการมารับเลยต้องไป แทนที่จะได้ไปซื้อของกับทัดตามกะไว้

วันนี้คุยกันถึงการวางแผนการและเบ็ตเล็ดอื่นๆ มากมาย จน ๑๗ น. เศษ เกือบ ๑๘ น. จึงได้มีโอกาศกลับ เราถือโอกาศลากลับวันที่ ๒๖ ท่านผู้สำเร็จราชการแจ้งถึงการช่วยเหลือ เช่น จะมอบค่าพาหนะ กับคุณวุฒิ เปนต้น.

ในเรื่องที่คุย บางตอนเห็นว่าท่านเปนผู้ที่คอยนำอะไร ที่ได้ฟังใหม่ๆ เข้าจับกับที่รู้อยู่เก่าๆ เสมอ, เช่น นำพุทธสาสนาเข้าเปรียบกับ Communism, โดยแง่ที่ว่าพุทธสาสนา ให้เสียสละกรรมสิทธิ์ทุกๆ อย่าง ตลอดร่างกายของตัวเอง, และคอมมูนิสม์ก็เหมือนกัน หลักเดิมของมารค ให้ทุกคนวาง คือสละทุกสิ่งที่ตนมี จึงจะมีความสุขกันทุกคน คือ เจือจานกัน แต่ต่อมาสตาลินเห็นว่า ทุกคนในโลกไม่อาจทำเช่นนั้น จึงจัดชั้นให้เปนลดหลั่นกัน ดังนี้ เปนต้น. ข้อนี้ ท่าทีก็ตรงกัน แต่ความจริงผิดกัน, โดยการสละวางนั้น พุทธสาสนา หมายถึงความยึดติด ฉะเพาะตน ส่วนเรื่องสิทธิ์ส่วนที่เกี่ยวกับภายนอกนั้น ไม่ได้ถือเปนเรื่องสำคัญอะไรนัก

อิกประการหนึ่ง ท่านผู้สำเร็จราชการ ใคร่จะให้มีเด็กที่ได้รับทุนเล่าเรียนฟรี แต่ต้องตอบแทนคณะธรรมทาน ด้วยการเปนครูสอน. ข้อนี้เราเห็นด้วย กลับไปถึงจะลองคัดเลือกหาเด็กที่ควรเรียนด้วย ทุนของท่านผู้สำเร็จราชการ, เปนค่าหนังสือ และค่าครองชีพอย่างอื่น, แต่ค่าเล่าเรียน ควรเปนของที่โรงเรียนยกให้. เมื่อเรียนแล้ว จะต้องเปนครูในโรงเรียนแบบมิชชั่นนารี่ของคณะธรรมทาน เปนเวลาอย่างน้อยเท่ากับปีที่ตนเปนนักเรียน โดยนับเงินเดือนตามอัตราที่โรงเรียนจะกำหนดให้อยู่ตามธรรมดา, หรือว่าอย่างน้อยต้องบวช และทำกิจของสาสนาให้คณะธรรมทาน ๕ ปี. ในขั้นต้น จะลองดูสัก ๑๐ คน. และทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของเราเอง.

อิกเรื่องหนึ่ง ท่านฯ ขอให้ทำการโคสนาโดยท่านฯ รับช่วย, คือให้เขียนร่างคำโคสนาส่งไป ท่านจะจัดการพิมพ์ และส่งไปแซกหนังสือพิมพ์ ด้วยทุนของท่านเองทั้งสิ้น.

ท่านเตือนย้ำเรื่องแต่ง Hymn เมื่อกลับออกไปถึงไชยาแล้ว.

จำกัด พลางกูร รับปากไว้ว่าจะเขียน Article เรื่อง “พุทธสาสนากับศิลปะ” ให้พุทธสาสนา ๑ อัน

วันนี้ได้ให้หนังสือ นิราศลพบุรี แก่ท่านผู้สำเร็จราชการ ๑ เล่ม. กลับถึงวัด ๑๗.๕๐ น.

คุยกับมหาชื่น ทัด เรื่องการเตรียมตัว เตรียมส่งของ เพื่อให้เสร็จทันกลับวันที่ ๒๖

อ่านหนังสือ เขียนบันทึก จำวัดร่วม ๒๒ น.

 

อังคาร ๒๓ มิถุนายน ๑๑ฯ๘ ปทุมคงคา.

 

เช้าแล้ว กระทั่งเพล อ่านหนังสือ บ่ายไปกับเสรี เอาเช็คไปขึ้น ๓ ฉบับ เปนเงิน ๒๘.๕๐ บาท ซื้อหนังสือและเครื่องมือ จากเวิ้งนครเกษม สิ้นไปราว ๑๘ บาท. ขึ้นรถ ๓ ล้อ กลับวัด.

เย็นจวนค่ำ ไปเยี่ยมท่านพระครูกัลยาณคุณ คุยกันจนค่ำ ไปเยี่ยมพี่เส็ง ฟังวิทยุและคุยกันอย่างเคย.

กลับมาถึงกุฏิ จับกลุ่มคุยกับพระมหาศิรินทร, มหาถนอม พระธรรมธร (   ) (วัดบ้านกรูด อำเถอบางสพาน จนร่วม ๒๔ น.

๒๔ น. วิทยุมีสวดชยมงคล เนื่องจากเปนวันชาติ วัดย่ำระฆัง.

จำวัดร่วม ๑ น. ของวันใหม่.

 

พุธ ๒๔ มิถุนา ๑๒ฯ๘ ปทุมคงคา.

 

ลูกชายคนรองของเจ้าคุณลัดพลี เอาปินโตมาส่งโดยรถถีบ. ทัด มหาชื่น เสรีและเด็กทั้งหมด ไปเที่ยวตลาดนัดกันหมด กุฏิเงียบดี เราฉันข้าวกันกับสามเณรน้อย

เช้าแล้ว อ่านหนังสือเล่น เคลิ้มหลับไป ปรากฏว่าผู้แทนมาหากับภรรยาเลยไม่ได้พบ. นายจิตร์กับอนงค์ เพ็ชรมีศรี มาให้เสรีปลุกตอนจวนเพล เลยได้คุยกัน. เอาผลไม้ที่ซื้อจากตลาดนัดมาให้เรา. ให้นิราศลพบุรีไป ๑ เล่ม.

๑๑ น. ขึ้นรถ ๓ ล้อไปกับเสรี ไปร้านมังสวิรัติกับเสรี ตามที่เจ้าคุณภะรต นิมนต์ไว้. ไปถึงเจ้าคุณลัดพลี. ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร กับเพื่อนครูของเขาอิก ๒ คน อยู่ที่นั่นแล้ว. เราเริ่มฉัน คุยกันพลาง เสร็จแล้วให้เขาเลี้ยงกันบ้าง. เสร็จแล้วเจ้าคุณลัดพลีขอตัวไปธุระ เราเลยคุยกับนายประเสริฐ เพื่อนครู, จนกระทั่งถึงเวลาไปวัดราชาธิวาส เพื่อเยี่ยม เจ้าคุณธรรมวโรดม. และวัดสามพระยากลางทาง.

ที่วัดสามพระยาไม่พบน้องท่านปั่นได้พบ พระปริยัติโสภณ (มหาฟื้น) เจ้าอาวาส คุยกันหน่อยหนึ่ง ก็ถึงเวลาท่านไปธุระที่วัดพระศรีมหาธาตุ

ที่วัดราชา พบพระครูธรรมธร และได้ไปเยี่ยมเจ้าคุณธรรม. ดูท่านขอบใจ ให้พร และดูดีใจที่จะพูดกับเรา. ในทางที่เกี่ยวกับธรรมะ ที่จะรำงับทุกขเวทนา. ท่านป่วยเป็นโรคมะเร็ง (แคนเซอร) และมีโรคไตผสมด้วย. เราพยายามหาอุบายเปรยให้ท่านระลึกให้มาก ถึงการเอาชนะเวทนาให้ได้ แต่จะพูดตรงๆ ก็เกรงใจ และน่าเกลียด เลยชวนท่านคิด - คุย - และถามท่าน ในถานเปนการศึกษา และเอ่ยถึงเรื่องภิกษุถูกเสือกัดเจริญเวทนานุปัสสนา จนบันลุอรหันต์ในขณะนั้น และอื่นๆ อิก. สังเกตดู ท่านปลาดใจ และตื่นเต้นในถ้อยคำของเรา โดยฉะเพาะเมื่อเรากราบลามา เราเรียนท่านว่า เราขอภาวนาให้ท่านชนะมันโดยทุกทาง.

กลับมาที่กุฏิท่านพระครูธรรมธร (ฟื้น) พบพระยาภักดี (ภูเก็ต) พระภัทรธรรมธาดา, รวมวงคุยกันหน่อยหนึ่งก็ลากลับ, แวะวัดสามพระยาอิก ไม่พบน้องท่านปั่นอิก เลยกลับวัด. เจ้าคุณภะรตมาสั่งด้วยถึงวัด. เที่ยวด้วยรถ ๓ ล้อตลอดเวลา.

เลยไปหาเจ้าคุณ เล่าเรื่องที่ได้ไปสนทนากับหลวงประดิษฐ์ให้ท่านฟัง. ดูพอใจและทึ่งมาก

กลับคณะใน อาบน้ำ อ่านหนังสือเล่น, ได้ความว่า น้องท่านปั่น มาหาเราถึงวัดเหมือนกัน แต่สวนกันเสีย

ทัด ซึ่งกำหนดจะกลับไชยาพรุ่งนี้ ได้เลื่อนไปกลับพร้อมเราวันที่ ๒๙. ทีแรกเรากำหนดกลับที่ ๒๖ แต่เนื่องจากคณะสหายขอร้องให้สแดงธรรมกถาที่มหามกุฎ สิ่งเรื่องหนึ่ง และคุณหญิงลัดพลีที่ต้องการนิมนต์ไปฉันที่บ้าน วันที่ ๒๘ เลยต้องเลื่อน เพราะเห็นใจ. ทั้งเจ้าคุณลัดพลีบอกว่า จะหาโอกาศไปส่งเราถึงชุมพร ทั้งเพื่อเยี่ยมสมุห์ชวนด้วย

จำวัดร่วม ๒๒ น.

 

พฤหัศ ๒๕ มิถุนายน ๑๓ฯ๘ ปทุมคงคา.

 

เช้าแล้ว เจ้าคุณกฤตราชฯ มา และคุยกันกระทั่งเพล

เพลแล้ว ไปบ้านผู้แทนกับทัศน์ (บ้านคุณหญิงเชย ตรอกสุนทรพิมล ถนนพระราม ๔) ไม่พบ สนทนากับเจ้าของบ้านผู้หญิง ครู่หนึ่ง ลากลับตรงไปบ้านไชยา คุยกับชื่นราวชั่วโมงครึ่ง ออกจากบ้านไชยา พ้นไปบ้านศรีภัทร ไม่พบมหามณีเลยไปวัดมหาธาตุ เยี่ยมคุณแทน มหาสุมน และนายเริ่ม พ่อเลี้ยงคุณชิต, แต่นายเริ่มกลับเสียแล้ว, เย็นจวน ๑๘ น. กลับมาที่ร้านศรีภัทรอิก คุยกันครู่หนึ่งนาฬิกา ๓ เรือน ที่แท้มหามณีไม่ยอมรับค่าแก้และค่าสิ่งของเลย ตามเคย, ซึ่งหลายหนแล้ว ไม่รู้จะขอบใจอย่างไร นาฬิกาเวลานี้แพงมากเหมือนสิ่งของอื่นๆ ชนิดที่เคยให้หอสมุด ๑ เรือน ราคา ๒๕ บาทนั้น เวลานี้ ของใช้แล้วยังขายกันถึง ๕๕ บาท

รู้สึกปวดศีร์สะ ครั่นตัวนิดหน่อยตลอดเวลากลับถึงวัด ไม่กล้าอาบน้ำ สามเณรน้อยช่วยนวด. อ่านนิราศลพบุรีให้ฟัง, เลยให้ไป ๑ เล่ม

จำวัดร่วม ๒๒ น.

 

ศุกร ๒๖ มิถุนายน ๑๔ฯ๘ ปทุมคงคา.

 

เช้าแล้วคุณวุธิมา เนื่องจากเราพลาดที่จะพบจนคล้ายกับเล่นซ่อนหากันอยู่ มา ๒ - ๓ วันแล้ว ได้ถามถึงกำหนดกลับ, ถามถึงเรื่องที่ได้สนทนากับท่านผู้สำเร็จราชการ, และมอบเงินให้กับทัศน์ ๖๐ บาท แจ้งว่าเปนเงินของผู้สำเร็จราชการ ให้เปนค่าใช้จ่ายในการมาของเรา, คุยกันครู่หนึ่ง แล้วกลับไป.

บ่าย เรากับทัศน์ ไปหาซื้อของตามเวิ้ง นาครเกสม ซื้อเครื่องมือช่างไม้ ซื้อหนังสือ และเครื่องแก้ว ถ้วยชาม. กลับถึงวัดเย็นจวน ๖ น. ในระหว่างนี้ ได้เลยไปร้านเข้าคุณภะรตฯ โทรสัพท์ถามคุณสัญญาที่สาลเรื่องกระดาดได้ความว่า ซื้อใช้ในราชการ. คุณสัญญาจะได้จัดการทางกรมแผนที่ใหม่

ตอนสาย ใกล้เที่ยง ได้ไปเพื่อนทิสน์ เอาเงิน ๒๐๐ บาท ไปเข้าบัญชีคณะธัมมทาน เพื่อโอนไปเอาจากคนะธัมมะทานทางโน้น สดวกด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย

พลบค่ำ ปลงผมเอง พอเสร็จ คุณแทนกับมหาสุมนจากวัดมหาธาตุมาเยี่ยม, น้องท่านปั่น ปทุมุตติเร มารอยู่ตั้งแต่บ่าย พอเรามาจากซื้อของ พบนั่งรออยู่นานแล้ว คุยกันจนพลบค่ำ. ซึ่งเปนเวลา ๑๙ น. คุยกับคุณแทน มหาสุมน จน ๒๑ น. เลยขี้เกียจอาบน้ำ เพราะเปนหวัดอยู่ด้วย.

จำวัดร่วม ๒๒ น.

 

หน้าปกสมุดบันทึกรายวัน พุทธศักราช ๒๔๘๕ เล่มที่ ๒ อ่านต้นฉบับเต็ม : “บันทึกรายวัน พุทธศักราช ๒๔๘๕ เล่ม ๒ พุทธทาสภิกขุ”
หน้าปกสมุดบันทึกรายวัน พุทธศักราช ๒๔๘๕ เล่มที่ ๒
อ่านต้นฉบับเต็ม : “บันทึกรายวัน พุทธศักราช ๒๔๘๕ เล่ม ๒ พุทธทาสภิกขุ”

 

ที่มา: “บันทึกรายวัน พุทธศักราช ๒๔๘๕ เล่ม ๒ พุทธทาสภิกขุ”, หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ, หน้า [392] - [410]

หมายเหตุ:

  • อักขรวิธี สะกดตามที่ปรากฏในบันทึกลายมือของพุทธทาสภิกขุ 
  • ในส่วนของ … นั้น หมายถึง ไม่สามารถถอดลายมือของพุทธทาสภิกขุออกได้ เพื่อไม่เป็นการตีความหมายผิดพลาด จึงทำสัญลักษณ์ไว้ 
  • ตั้งชื่อบทความโดยบรรณาธิการ
  • เนื้อหาและรูปภาพได้รับอนุญาตจากหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญแล้ว