สื่อ (แนว) วาย (Y) คืออะไร
(แนว) วาย (Y) เป็นคำย่อที่นำมาใช้เรียกสื่อประเภทคนรักเพศเดียวกัน (homosexual) โดยพื้นฐานของคำว่า วาย (Y) มาจากคำในภาษาญี่ปุ่น 2 คำ คือคำว่า “やおい” (Yaoi: ยาโออิ) ซึ่งใช้เรียกสื่อบันเทิงที่มีการนำเสนอความสัมพันธ์และความรักระหว่างผู้ชายกับผู้ชายด้วยกัน และ “百合” (Yuri: ยูริ) ซึ่งใช้เรียกสื่อบันเทิงที่มีการนำเสนอความสัมพันธ์และความรักระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง
แม้วายจะถูกนำมาใช้เรียกสื่อประเภทคนรักเพศเดียวกันก็ตาม แต่เดิมความมุ่งหมายของสื่อแนววายไม่ใช่เรื่องของ เพศวิถี (sexuality) ของบุคคล หากแต่เป็นประเภทของเรื่องเล่า (narrative) ประเภทหนึ่งที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์และความรักของคนที่มี เพศกำเนิดเดียวกัน (sex) มากกว่าจะพูดถึงเรื่องเพศวิถีของบุคคลโดยตรง
ฉะนั้น แต่เดิมเมื่อพูดถึงสื่อแนววาย ตัวละครและความสัมพันธ์อาจจะไม่ใช่คู่รักเกย์เสมอไป (สิ่งนี้ทำให้บางอย่างที่ดูคล้ายจะเป็นสื่อวายก็อาจจะไม่ใช่) และสิ่งนี้ก็น่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ สื่อวายไม่ค่อยสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ
การเติบโตของอุตสาหกรรมวายมีความเป็นมาอย่างไรในประเทศไทย
ในประเทศไทยแต่เดิมนั้น สื่อแนววายนั้นเป็นพื้นที่เฉพาะกลุ่ม (niche market) ของคนที่เรียกว่า “สาววาย” ซึ่งการบริโภคสื่อวายแต่เดิมถูกจัดประเภทให้เป็นเช่นเดียวกันกับสื่อลามกอนาจาร ที่ผู้บริโภคจะต้องทำแบบลับๆ โดยไม่สามารถโชว์ หรือ นำเสนอสินค้าบนแผงหน้าร้านได้อย่างชัดเจน และเปิดเผยแบบในปัจจุบัน
กระแสความนิยมและการยอมรับของสื่อค่อยๆ พัฒนาขึ้นในสังคมไทย ในช่วงประมาณปี 2557 เป็นต้นมา ปัจจุบันสื่อแนววายมักปรากฏตัวอยู่ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การ์ตูน นิยาย ภาพยนตร์ ซีรีส์ และละครโทรทัศน์ เป็นต้น
สื่อวายได้การตอบรับอย่างดีมากจากสังคมวงกว้างในฐานะสื่อบันเทิงประเภทหนึ่งโดยไม่จำกัดเฉพาะสาววายอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อแนววายดัดแปลงจากนิยายมาสร้างเป็นซีรีส์ มักจะได้รับความนิยมเป็นพิเศษจากฐานนักอ่านเดิมที่เข้ามาสนับสนุน และฐานแฟนคลับใหม่จากความนิยมในตัวนักแสดงคนนั้นๆ
ภาพ: ซีรีส์ เรื่อง Love Sick the Series (รักวุ่น วัยรุ่นแสบ)
ตัวอย่างของซีรีส์วายที่ประสบความสำเร็จที่ผ่านมาจากการดัดแปลงมาจากนิยายวาย เช่น Love Sick the Series (รักวุ่น วัยรุ่นแสบ) เดือนเกี้ยวเดือน (2 Moons the series) Sotus the series (พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง) เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดีๆ (Tharn Type) นิทานพันดาว และ เพราะเราคู่กัน (2gether the Series) เป็นต้น
ภาพ: ซีรีส์ เรื่อง เพราะเราคู่กัน (2gether the Series)
ตัวอย่างเชิงประจักษ์ที่เห็นชัดสุดของการเติบโตของสื่อประเภทวายในประเทศไทยก็คือ เมื่อเราเปิดเข้าไปในแอพพลิเคชันประเภทวีดีโอสตริมมิ่ง (Video Streaming) เช่น LINE TV WeTV และ Netflix เป็นต้น จะเห็นได้ว่ามีการนำเสนอซีรีส์ หรือ ภาพยนตร์สั้นที่เป็นสื่อแนววายจำนวนมาก โดยในปีๆ หนึ่งมีการพยายามนำผลิต และเผยแพร่ซีรีส์วายมากกว่า 24 เรื่อง (เฉลี่ยเดือนละ 2 เรื่องโดยประมาณ) (สำหรับซีรีส์ตอนยาวโดยไม่รวมมินิซีรีส์) จากค่ายสื่อขนาดใหญ่ที่พร้อมกันกระโจนเข้าสู่ตลาดซีรีส์วาย และแม้แต่กระทั่งช่องโทรทัศน์ในอุตสาหกรรมสื่อดั้งเดิมก็เริ่มพยายามลงเนื้อหา (Content) ในผังรายการโทรทัศน์ของตัวเองด้วยละครโทรทัศน์แนววาย (แม้จะเอาไปลงช่วงดึกมากๆ ก็ตาม)
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนปัจจัยการส่งเสริมมาจากมูลค่าทางเศรษฐกิจของสื่อประเภทนี้ ซึ่งไม่เพียงเกิดขึ้นจากการบริโภคภายในประเทศ แต่สื่อวายไทยนั้นเติบโตเป็นอย่างมาก และถูกส่งออกไปต่างประเทศในฐานะสินค้าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศจีน พม่า ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งจากการประเมินของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยว่า มูลค่ารวมเฉพาะของประเทศไทยรวมกันอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท
ไม่ใช่เพียงแค่สื่อบันเทิงประเภทซีรีส์เท่านั้นที่สร้างรายได้ และมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ อุตสาหกรรมสื่อวายได้ขยายวงออกไปสู่การผลิตสินค้าสำหรับแฟนคลับ (loyalty) เช่น ตุ๊กตา นิยาย โฟโต้บุ๊ค โปสการ์ด และสติกเกอร์ไลน์ เป็นต้น โดยของที่ระลึกทั้งหมดดังที่กล่าวมานั้น เป็นส่วนหนึ่งของการชื่นชมนักแสดงที่ตนชื่นชอบ บริษัทสื่อรายใหญ่จำนวนมากในประเทศสามารถต่อยอดธุรกิจบันเทิงของตนจากนักแสดงในซีรีส์แนววายโดยการขายประสบการณ์ให้กับแฟนคลับทั่วโลกผ่าน visual fan meeting เช่น กรณีของ Global Live Fan Meeting ของคู่นักแสดงไบร์ท-วิน จากซีรีส์คู่กันที่สามารถดึงดูแฟนคลับได้ถึง 93 ประเทศ มียอดการกดหัวใจมากถึงพันล้านดวง และมียอดรีทวีตถึง 2 ล้านกว่าทวีตจากแฟนคลับทั่วโลกภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
ภาพ: Global Live Fan Meeting ไบร์ท-วิน
การเติบโตของอุตสาหกรรมสื่อแนววายนี้ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบธุรกิจเป็นจำนวนมาก และแม้แต่กระทั่งรัฐบาลเองก็มีท่าทีที่สนใจเป็นอย่างมาก และอยากกระโดดเข้ามามีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ โดยพยายามออกนโยบายสนับสนุนให้มีการผลิตเนื้อหาแนววายมากขึ้นเพื่อส่งออก
คำถามสำคัญ คือ เมื่อสื่อแนววายในประเทศ ทั้งในฝั่งของผู้บริโภคเอง หรือ ในฝั่งของธุรกิจเอง ได้รับการตอบรับและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี แต่ทำไมยังคงละเลย และไม่ให้การสนับสนุนถึงสิทธิต่างๆ ที่กลุ่มรณรงค์เรื่องความหลากหลายทางเพศยื่นข้อเสนอเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสมรสเท่าเทียม สิทธิสวัสดิการต่างๆ หรือแม้แต่การยอมรับกันโดยเท่าเทียมทางสังคม
สาเหตุสำคัญที่อุตสาหกรรมวายดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยช่วยสนับสนุนความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยเลย สิ่งนี้ทำให้กลับไปหาพื้นฐานที่ว่า แนววายเป็นประเภทเรื่องเล่าเท่านั้นไม่ใช่เพศวิถีของบุคคล แนววายจึงเป็นเพียงแค่เรื่องแต่ง (fiction) ซึ่งอาจจะไม่ต้องสะท้อนนัยของการเคลื่อนไหว การต่อสู้ และการยอมรับประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ
ในทางตรงกันข้าม แนววายในประเทศนั้น ได้รับอิทธิพลจากแนววายดั้งเดิมของประเทศญี่ปุ่นที่มีลักษณะเป็นเหมือนเรื่อง แฟนตาซี (หมายถึงการไม่ยึดโยงกับความเป็นจริง) โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญของเรื่อง คือ ความรักเป็นนิรันดร์แบบอุดมคติ และความรักจะทำให้ฟันฝ่าอุปสรรคใดๆ ไปก็ได้ โดยไม่สนใจว่า สภาพความเป็นจริงทางสังคม (social reality) ว่าสังคมมีการยอมรับหรือสถานการณ์สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นอย่างไร
วิถีชีวิตของคน LGBTQs (สิ่งนี้ยังรวมถึงความงามในอุดมคติที่อาจจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และสร้างภาพหลอกว่าคนเป็น LGBTQs ต้องมีภาพแทนในลักษณะดังกล่าวเท่านั้น) เป็นเช่นไร สื่อวายในยุคแรกๆ ของประเทศไทย จึงมีลักษณะไม่ต่างกับนิยายรักโรแมนติกที่เอาตัวละครเอกผู้หญิงมาแต่งตัวเป็นผู้ชายหรือเอาตัวละครเอกผู้ชายมาแต่งเป็นผู้หญิงเท่านั้น ทั้งๆ ที่ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศนั้นไปไกลเกินกว่าจะมาจำกัดด้วยเพียงแค่บทบาททางเพศที่นำเสนอ
นอกเหนือจากเรื่องความแฟนตาซีของนิยาย และสื่อวายแบบดั้งเดิมแล้ว จะเห็นได้ว่าสื่อวายแบบดั้งเดิมนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของสิทธิของคนหลากหลายทางเพศ เพราะด้วยแก่นกลางของเรื่องที่ความรักสามารถชนะทุกอย่างนั้นเป็นการเก็บงำและซ่อนวาระของสังคมที่ว่าในความเป็นจริงเพียงแค่ความรักไม่เพียงพอ หากแต่สถานะ ความสัมพันธ์ และเจตจำนงในการก่อตั้งครอบครัวนั้นยังจำเป็นต้องได้รับการรับรองจากกฎหมาย และการรับรองทางสังคมจากสังคม
อย่างไรก็ตาม สื่อแนววายสมัยใหม่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง เริ่มมีแนวโน้มและใส่ไอเดียเกี่ยวกับการต่อสู้ทางสังคม และขบวนการของการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันทางเพศของผู้มีความหลากหลายทางเพศ จนกระทั่งบางเรื่องถึงขนาดใส่ประเด็นเรื่องการสมรสเท่าเทียมเข้าไปในเรื่อง หรือ พยายามสร้างภาพที่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นผ่านทางสื่อ เช่น ในเรื่อง แปลรักฉันด้วยใจเธอ ผู้เขียนบทมีการสร้างฉากของการค้นพบความต้องการของตนว่ามีเพศวิถีแบบใด และค่อยเรียนรู้ เติบโต และพัฒนาบุคลิกภาพของตนเอง หรือการแสดงความเข้าใจของครอบครัวต่อเพศวิถีของตัวะละคร และพร้อมที่จะต่อสู้กับตัวละคร เป็นต้น ซึ่งเป็นพัฒนาการที่ดีของสื่อวายที่เข้ามาสนับสนุนขบวนการเรียกร้องสิทธิของความหลากหลายทางเพศ เพียงแต่สิ่งนี้ยังเป็นส่วนน้อยในสังคมไทย เพราะสื่อวายในยุคแรกยังคงมีอิทธิพลอยู่และยังคงเรืองอำนาจในการผลิตซ้ำมุมมองต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศและสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างไม่เข้าใจ
ภาพ: ซีรีส์ แปลรักฉันด้วยใจเธอ
สำรวจสถานการณ์สิทธิของคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย
แม้รัฐบาลจะสนับสนุนสื่อแนววายในฐานะสินค้าในการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ แต่เมื่อย้อนกลับเข้าไปสำรวจสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในปัจจุบัน ยังคงมีปัญหาอยู่อีกมากที่จำเป็นต้องเข้ามาแก้ไข เริ่มตั้งแต่สิทธิใน การสมรสอย่างเท่าเทียมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิสวัสดิการต่างๆ (สิทธิในการลาไปผ่าตัดแปลงเพศ หรือ สิทธิในการได้รับความช่วยเหลือในการผ่าตัดแปลงเพศ) การได้รับการยอมรับกันโดยเท่าเทียมทางสังคม และบรรดาสิทธิอื่นๆ เท่าที่จะมีได้เพื่อส่งเสริมการดำรงชีวิตของบุคคลและตอบสนองความต้องการในการที่มีตัวตนของเขา (ซึ่งบรรดาสิทธิทั้งหลายเหล่านี้รัฐบาลควรสนับสนุนให้แก่ประชาชนทุกคนในประเทศแท้ๆ)
สิ่งนี้ทำให้สถานการณ์ของ LGBTQs ในประเทศไทยยังคงมีสถานะที่แตกต่างและอาจถูกเลือกปฏิบัติได้จากบทบัญญัติของกฎหมาย เช่น การให้สวัสดิการกับคู่สมรส ซึ่งหากเป็นคู่รัก LGBTQs ก็อาจจะไม่ได้รับสวัสดิการดังกล่าว หรือการให้ความยินยอมในการให้รับการรักษาแก่คู่รักกรณีของคนที่เป็น LGBTQs เป็นต้น
แม้ว่าปัจจุบันจะได้มีกฎหมายรับรองความเสมอภาคทางเพศไว้แล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงกฎหมายฉบับดังกล่าวแทบจะเป็นเสือกระดาษที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง และในทางตรงกันข้ามกฎหมายดังกล่าวยังกลายเป็นภาระและสร้างผลประหลาดที่เป็นโทษแก่ผู้อาศัยกฎหมายดักกล่าวเพื่อเข้าถึงสิทธิความเสมอภาคทางเพศ
ในแง่ของการเรียกร้อง จุดหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศพยายามมาโดยตลอด คือ การให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือ การมีกฎหมายคู่ชีวิตที่ใช้กับคนทุกคน (ไม่ใช่แค่คนรักเพศเดียวกันเท่านั้น แต่สามารถใช้ได้กับทุกคนที่เกิดมาและมีสถานะเป็นบุคคลโดยไม่แบ่งแยกเพศ) ซึ่งความพยายามของขบวนการดังกล่าวนั้น มีการเคลื่อนไหวมาโดยตลอดทั้งการเสนอร่างกฎหมาย และการยื่นตีให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชายและหญิงเท่านั้น ขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่
ในประเด็นนี้เอง หากศาลจะได้ตระหนักถึงบทบัญญัติในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง” ฉะนั้น บทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่กำหนดให้เฉพาะชายและหญิงเท่านั้นที่จะสมรสได้ ย่อมจะขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (แต่ศาลไม่ได้ตระหนัก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม)
การตีตกประเด็นเรื่องสมรสเท่าเทียมของศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการผลักให้เรื่องการสมรสเท่าเทียมต้องกลับไปสู่ขบวนการทางการเมือง ผ่านการรณรงค์ และเสนอร่างกฎหมายหรือการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมก็คือ ในสังคมประชาธิปไตยการยอมรับความหลากหลาย และการส่งเสริมเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลและสังคมควรตระหนักและเปิดพื้นที่เพื่อให้สิทธิของ LGBTQs ได้รับการรับรองอย่างเต็มที่
จากสภาพดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันแม้สื่อวายจะกำลังเติบโต แต่ด้วยบริบทดังที่กล่าวข้างต้นว่า เนื้อหาของสื่อในปัจจุบันยังไม่ใช่พื้นที่ของการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ LGBTQs หากแต่ยังเป็นเพียงแต่พื้นที่ของความบันเทิงเท่านั้น แม้จะมีความพยายามใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องของ LGBTQs มากขึ้นบ้างก็ตาม
ในขณะเดียวกัน สิทธิของ LGBTQs ในปัจจุบันยังคงไม่ได้รับการสนับสนุนในหลายเรื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมยังไม่เข้าใจและตระหนักเกี่ยวกับ LGBTQs อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในด้านของรัฐบาลที่เห็นว่าเรื่องราวแนววายนั้นสามารถเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ แต่กลับไม่ตระหนักว่าสิทธิของคนหลากหลายทางเพศก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรได้รับการสนับสนุน
อ้างอิง
- ภูวิน บุณยะเวชชีวิน และณัฐนนท์ ศุขถุงทอง, โลกของวาย: ซีรีส์วาย ปรากฏการณ์วาย หัวนมวัยรุ่นชาย และวายาภิวัฒน์ (สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2564).
- สำนักข่าวออนไลน์ ThaiPublica ‘เมื่อรัฐบาลนี้หนุนซีรีส์วายสู่ตลาดโลก’ (Thaipublica, 18 กรกฎาคม 2021) https://thaipublica.org/2021/07/series-society15/ สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2564.
- Narisara Suepaisal, ‘Y-Economy : เมื่ออุตสาหกรรมซีรีส์วายกลายเป็นจักรวาลยิ่งใหญ่ในสื่อบันเทิง’ (the matter, 12 ตุลาคม 2560)
- อรสุธี ชัยทองศรี, ‘Boys Love Manga and Beyond: History, Culture, and Community in Japan’ (2560) 2 วารสารมนุษยศาสตร์ 344.
- ไทยรัฐ, ‘ยืนหนึ่งระดับโลก "ไบร์ท-วิน" คู่จิ้นปัง ฟินถล่มทลายปิดท้าย Global Live Fan Meeting’ (ไทยรัฐออนไลน์, 20 มิถุนายน 2563) https://www.thairath.co.th/entertain/news/1876581 สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2564.