ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สารสถาบันปรีดี พนมยงค์ เนื่องในวาระครบรอบ 49 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

15
ตุลาคม
2565

การเสียสละของวีรชนประชาธิปไตยเมื่อ 49 ปีที่แล้ว การเรียกร้องรัฐธรรมนูญของประชาชนโดยขบวนการนิสิตนักศึกษาประชาชน ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร พ่อค้ารายย่อย นักวิชาการ การลุกขึ้นสู้ของวีรชนเพื่อสิทธิเสรีภาพ ความเป็นธรรมและประชาธิปไตย ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ยุติระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารได้ชั่วคราว
 
วีรชนผู้ล้มตายในเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492, เหตุการณ์ 14 ตุลา 16, เหตุการณ์ 6 ตุลา 19, เหตุการณ์ พฤษภา 35, เหตุการณ์ พฤษภา 53, วีรชนผู้สละชีวิตในเหตุการณ์เหล่านี้ ล้วนเป็นลูก ล้วนเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลุง เป็นป้าของครอบครัวผู้สูญเสีย และเป็นสมาชิกของสังคมที่มีจิตใจกล้าหาญ เสียสละ รักความเป็นธรรม รักชาติ รักประชาธิปไตย พวกเขามีฐานะเป็นบุคคลสาธารณะ และ ควรได้รับการประกาศให้เป็นวีรชนของชาติเยี่ยงทหารผู้สละชีพปกป้องอธิปไตยของประเทศ พวกเขา คือ วีรชนประชาธิปไตย เป็นกองหน้าของการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ก้าวหน้าขึ้น    

บทเรียนจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การเปลี่ยนแปลงเพียงตัวบุคคลของระบอบการปกครองอันกดขี่ไม่สามารถทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง การเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ และประเทศเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างที่ทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน 

ขณะนี้ เรามีปัญหาในเชิงโครงสร้างอย่างหนัก เราสูญเสียความเชื่อมั่นต่อระบบความยุติธรรม เราไม่ได้เป็นประเทศที่ปกครองโดยกฎหมายหรือมีนิติรัฐ นิติธรรมอย่างแท้จริง ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนั้นชัดเจนมาก คนไทย 10% ที่มีรายได้สูงสุดและรายได้ต่ำสุด มีรายได้ห่างกันโดยเฉลี่ยประมาณ 22-25 เท่าตัว มีคนอย่างน้อย 7-10 ล้าน มีชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน มีคนไทยมากกว่า 75% ไม่มีบ้านและที่ดินของตัวเอง เด็กไทยมากกว่า 7 แสนคนออกจากระบบการศึกษาเพราะพ่อแม่เผชิญปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจและว่างงานในช่วงโควิด-19 ระบาด เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาต่อเนื่องหลายปี และ มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูงมาก และ หนี้สาธารณะต่อ GDP ก็ยังคงเพิ่มอยู่เรื่อยๆ 

การจะสามารถเปลี่ยนแปลง หรือแก้ปัญหาในระดับโครงสร้างได้ต้องทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริงเสียก่อน จำเป็นต้องยุติการสืบทอดอำนาจของระบอบคสช. อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการรัฐประหาร ปี พ.ศ. 2557 เป็นเบื้องแรก และ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งมั่นคงเป็นสถาบัน เป็นองค์กรทางการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ การปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ทั้งทางด้านการเมืองและระบบราชการเศรษฐกิจ สังคม ค่านิยมวัฒนธรรม ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และกำหนดกรอบเวลาเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างชัดเจน

อำนาจอธิปไตยของประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ระบบรัฐสวัสดิการ ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจสังคม คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การศึกษาที่มีคุณภาพ สาธารณสุขและบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน ความยุติธรรม สันติสุขและความปรองดองสมานฉันท์ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสุญญากาศ แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากพลังการรณรงค์ ต่อสู้เรียกร้องของประชาชน   
 
ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ขบวนการของคนหนุ่มสาว ไม่ว่า 14 ตุลา 6 ตุลา ในไทยก็ดี ไม่ว่าที่เมืองกวางจูเพื่อโค่มล้มเผด็จการทหารเกาหลีใต้ในปี พ.ศ. 2523 และเกิดการสังหารหมู่ ไม่ว่าจะเป็นที่เทียนอันเหมินเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปและเสรีภาพเมื่อปี พ.ศ. 2532 ก็ดี ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติดอกมะลิหรืออาหรับสปริงในปี พ.ศ. 2553 ที่ตูนิเซียจนลุกลามไปทั่วทั้งภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง 

การเรียกร้องประชาธิปไตยหลายเหตุการณ์มักจะจบลงด้วยการปรามปรามของ “ทรรัฐ” ที่ใช้ความรุนแรงด้วยกองทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์จากภาษีประชาชน นำมาเข่นฆ่าและทำร้ายประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการปกครองแบบไหน ล้วนเป็น “ทรรัฐ” ได้ทั้งสิ้น แต่การปกครองประชาธิปไตยผู้นำจะเป็น “ทรรัฐ” ได้ยากเพราะจะถูกถอดถอนโดยกลไกตามกฎหมาย อยู่ในอำนาจโดยมีการกำหนดวาระไม่สามารถผูกขาดอำนาจได้ และยังมีระบบในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจ

ขอเสนอให้สังคมไทยทบทวนบทเรียนและเรียนรู้จากเหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุการณ์ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังสามัคคีของประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย ความปรารถนาดีและความเสียสละของขบวนการคนหนุ่มสาว เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เราเห็นว่า เราสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้นได้ด้วยพลังความสามัคคี ความมุ่งมั่นและการเสียสละของประชาชน 

เราจะสามารถผลักดันสังคมไทยให้ก้าวหน้าต่อไปได้อย่างไร ภายใต้ระบอบกึ่งประชาธิปไตย ภายใต้การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารคสช. ผ่านการใช้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 เป็นเรื่องที่ต้องมาหาทางออกร่วมกัน โดยมีข้อเสนอดังต่อไปนี้  

ข้อเสนอแรก ขอเรียกร้องให้สังคมไทยโดยเฉพาะพรรคการเมือง รณรงค์ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเพื่อให้ได้ “รัฐธรรมนูญ” ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน โดยมีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง 

ข้อเสนอที่สอง ขอให้ช่วยกันหยุด “ระบอบธนาธิปไตย” ซื้อขายนักการเมืองเข้าพรรค เพราะ Money Politics และ ระบอบธนาธิปไตยจะนำมาสู่การทุจริตคอร์รัปชัน และ บุฟเฟ่ต์คาบิเนต ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขหรือข้ออ้างในการเกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต และ คณะรัฐประหารก็จะกลายสภาพเป็นระบอบคณาธิปไตยที่ทุจริตคอร์รัปชันไม่ต่างจากระบอบธนาธิปไตยจากการเลือกตั้ง สังคมไทยจึงต้องร่วมกันต่อต้าน การเข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารใช้กำลังอาวุธ และ การเข้าสู่อำนาจโดยใช้เงินซื้อ เพราะคนสองกลุ่มนี้ไม่มีความชอบธรรมและคุณสมบัติที่จะเป็นผู้บริหารประเทศได้ 

ข้อเสนอที่สาม ขอให้สังคมไทยและผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใน 6 เดือนข้างหน้า ช่วยกันเลือกพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย และ เลือกให้มีเสียงมากพอในการจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่ต้องอาศัยเสียงของสมาชิกวุฒิสภา หากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมีเสียงไม่มากพอ ประเทศไทยก็จะได้รัฐบาลจากเสียงของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะคสช. ต่อไปเหมือนดังเช่น 4 ปีที่ผ่านมา 

ข้อเสนอที่สี่  ขอให้รัฐบาลยกเลิก และทบทวนเนื้อหากฎหมายการควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนภายใต้พระราชบัญญัติองค์กรไม่แสวงหากำไร เนื่องจากกฎหมายมีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพในการรวมกลุ่มขององค์กรภาคประชาชนและองค์กรไม่แสวงหากำไร รัฐบาลควรส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มของประชาชนด้วยการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO 87 และ ILO 98 รัฐบาลควรรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง 

อนุสัญญาสองฉบับนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของแรงงานดีขึ้นโดยรัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณมาดูแล จะเกิดกลไกและกระบวนการในการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมมากขึ้นในระดับสถานประกอบการแต่ละแห่ง เกิดประชาธิปไตยในระดับสถานประกอบการ  

ข้อเสนอที่ห้า  ขอเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการจัดหลักสูตรเนื้อหาการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิไตยโดยให้มีการบรรจุเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ไว้ในบทเรียนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยละเอียด ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อให้เป็นการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ก้าวหน้าขึ้น ปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมประชาธิปไตย 

การมุ่งเน้นเพิ่มจำนวนสถาบันการศึกษา หรือโรงเรียนเพื่อรับใช้ระบบเศรษฐกิจ สังคมและระบบการเมืองอันไม่เป็นธรรม ย่อมไม่อาจนำพาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าได้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยและโรงเรียนก็เพียงสอนและผลิตสร้างแรงงานเพื่อรองรับการสืบทอด และดำรงอยู่ต่อไปของระบบที่ไม่เป็นธรรม ผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจให้ดำรงอยู่ต่อไป

ทำไมบางประเทศจึงประสบความสำเร็จในการพัฒนาประชาธิปไตยและเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้า แต่ทำไมบางประเทศจึงล้มเหลวซ้ำซาก ในหนังสือ Why Nation Fail ของ James Robinson นักรัฐศาสตร์ และ Daron Acemoglu นักเศรษฐศาสตร์ มีข้อสรุปว่า สถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจ หรือ กลไกภาครัฐ และ กลไกตลาด ได้รับใช้ประโยชน์ของสาธารณชนหรือไม่ (เพื่อประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่) สถาบันเหล่านี้ต้องเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม (เป็นประชาธิปไตยหรือไม่นั่นเอง) 

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ
ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์
14 ตุลาคม พ.ศ. 2565