Focus
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร เขียนถึงชีวประวัติ พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ โดยเน้นไปที่บทบาทของเสรีไทยไว้อย่างละเอียด เน้นไปที่บทบาท หน้าที่ และการปฏิบัติการ รวมถึงการทำงานทางการเมืองในระยะเวลาต่อมาอีกด้วย
ในตอนตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อนายปรีดี “รู้ธ” พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้รับการยอมรับจากฝ่ายสัมพันธมิตรว่าเป็นหัวหน้าของขบวนการเสรีไทยทั้งในประเทศและนอกประเทศและ “รู้ธ” คือบุคคลเดียวที่สัมพันธมิตรจะติดต่ออย่างเป็นทางการด้วย เพราะถือว่าเป็นตัวแทนของคนไทยซึ่งเป็นมิตรกับฝ่ายสัมพันธมิตร หน่วย โอ.เอส.เอส. ของสหรัฐฯ ขอให้ “รู้ธ” ส่งนายทหารบก 1 นาย และทหารอากาศ 1 นาย ซึ่งเคยศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา เมื่อก่อนสงครามให้เป็นตัวแทนของขบวนการเสรีไทยไปประจำอยู่กับหน่วยโอ.เอส.เอส.ที่เมืองแคนดี ลังกา เพื่อทำหน้าที่เป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ และเป็นนายทหารติดต่อระหว่างกองบัญชาการสัมพันธมิตรกับกองบัญชาการเสรีไทยเมื่อต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2488
พล.ท. ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รองแม่ทัพใหญ่ได้เลือกพ.ท. เอกศักดิ์ (นามเดิมบุญมา) ประพันธะโยธิน ซึ่งสําเร็จจากโรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยน์ หรือเวสต์พอยต์ (The U.S. Military Academy West Point) และ พล.อ.ท.หลวงเทวฤทธิ์พันลึก (กาพย์ ทัตตานนท์) ผู้บัญชาการทหารอากาศ เลือก น.ท.ทวี จุลละทรัพย์ ซึ่งเคยไปศึกษาที่โรงเรียนนายเรือสหรัฐฯ ที่แอนแนโพลิสให้ “รู้ธ” ส่งเป็นตัวแทนไปประจําที่แคนดี ตามที่ทางสัมพันธมิตรขอมา
ช่วงเวลาประมาณ 4 เดือนก่อนสงครามจะสงบน.ท.ทวี จุลละทรัพย์เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย 2 ครั้งเพื่อปฏิบัติภารกิจตามที่ฝ่ายสัมพันธมิตรมอบหมายทั้งนี้ไม่รวมถึงการร่วมบินจากอินเดียเข้ามาเหนือน่านฟ้าไทยกับเครื่องบินของสัมพันธมิตรเพื่อศึกษาจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ อีกหลายครั้งการปฏิบัติภารกิจอย่างล่อแหลมต่ออันตรายด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของน.ท.ทวี จุลละทรัพย์ หรือ “ดิ๊คกี้ สโตน” เป็นประโยชน์ต่องานของขบวนการเสรีไทยและปฏิบัติการของสัมพันธมิตรเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นเมื่อสงครามสงบกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จึงมอบเหรียญ “เมดัลออฟฟรีดอม” ประดับใบปาล์มบรอนซ์ให้เช่นเดียวกับนายทหารเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกาอีก 3 นาย คือ พ.ต.บุญมาก เทศบุตร, พ.ต.การะเวก ศรีวิจารณ์ และ ร.อ.วิมล วิริยะวิทย์
พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เกิดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2457 ที่บ้านวัดทองเพลง อําเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรีเป็นบุตรของรองอํามาตย์โทหรุ่นกับนางจ่างจุลละทรัพย์ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยาก่อนที่จะเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบกออกมารับราชการยศร้อยตรีเมื่อปี 2478 (รุ่นเดียวกับพล.ต.บุญมาก เทศบุตร) จากนั้นได้เข้ากองทัพอากาศ ฝึกบินเป็นนักบินขับไล่สมัยที่พล.อ.ท.มุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษฎ์เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ และเมื่อปี 2481 ขณะที่มียศเป็นเรืออากาศโท ได้รับทุนกองทัพอากาศไปศึกษาหลักสูตรการบินขับไล่ทิ้งระเบิดที่ประเทศอังกฤษแล้วไปศึกษาเพิ่มเติมในหลักสูตรต้นหนชั้นสูงที่โรงเรียนนายเรือสหรัฐฯ เมืองแอนแนโพลิส เมื่อกลับเมืองไทยในปี 2483 ร.ท.ทวี จุลละทรัพย์ ได้รับตําแหน่งผู้บังคับฝูงบินขับไล่ที่ 3 ของกองบินน้อยที่ 1 ปลายปีนั้นประเทศไทยเกิดกรณีพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศส ร.ท.ทวีได้รับคําสั่งกองทัพอากาศสนามให้ทําหน้าที่รองผู้บังคับฝูงขับไล่ที่ 60 สังกัด บน.ที่ 66 ประจําดอนเมือง และเป็นส่วนหนึ่งของกองบินใหญ่ภาคใต้ในบังคับบัญชาของนาวาอากาศโทขุนรณนภากาศ (จอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี) ฝูงบินขับไล่ที่ 60 นี้ ใช้เครื่องบินขับไล่ฮอว์ค 75
ร.ท.ทวี จุลละทรัพย์มีโอกาสเข้าร่วมในการรบทางอากาศครั้งสําคัญที่สุดในกรณีพิพาทกับอินโดจีนของฝรั่งเศส คือ การรบเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2484 ก่อนวันสงบศึกเพียง 4 วัน กองทัพอากาศมีคําสั่งให้โหมกําลังทางอากาศเข้าเผด็จศึกและเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่นครวัดนาวาอากาศโทขุนรณนภากาศบินเครื่องนาโกย่าประจําตัวหมายเลข 16 ล่า, เครื่องบินขับไล่แบบฮอว์ค 75 จํานวน 5 ล้า และเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบมาร์ตินอีก 3 ล่าเพื่อโจมตีสนามบิน เรืออากาศเอกหม่อมราชวงศ์เสนาะ ลดาวัลย์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บุลณรงค์) ทําหน้าที่ปืนหลัง และเรืออากาศตรี ตรี อมฤตเป็นพนักงานวิทยุ สําหรับ ร.ท.ทวี จุลละทรัพย์บินนําหมู่เครื่องบินขับไล่ฮอว์ค 75 คุ้มกันอยู่เบื้องสูง
การรบทางอากาศครั้งนี้น.ท.ขุนรณนภากาศได้พิสูจน์ความเป็น “เสืออากาศ” ด้วยการสู้รบกับเครื่องบินขับไล่ แบบโมรานของฝรั่งเศส 4 ลํา โดยเครื่องนาโกย่าหมายเลข 6 ไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด
หลังสงครามอินโดจีน ร.ท.ทวี จุลละทรัพย์ ได้เลื่อนยศเป็นเรืออากาศเอกทําหน้าที่หัวหน้ากองยุทธการในกรมยุทธการทหารอากาศ
เดือนตุลาคมปีเดียวกันก่อนที่สงครามมหาเอเชียบูรพาจะอุบัติขึ้นเพียงไม่ถึง 2 เดือน ร.อ.ทวี จุลละทรัพย์ได้รับ มอบหมายให้เดินทางไปปฏิบัติงานที่มีความสําคัญต่อการป้องกันประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ บันทึกไว้ในตอนหนึ่งของเรื่อง “ชาติอยู่เหนือสิ่งใด” ว่า
“...บ่ายวันหนึ่งในเดือนตุลาคมพ.ศ. 2484 ท่าน (จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด) ให้นายทหารคนสนิทของท่านคือนาวาอากาศตรีภักดีสัมบูรณะพันธ์ไปตามข้าพเจ้าที่ดอนเมืองให้ไปพบท่านจอมพลป.ที่วังสวนกุหลาบ (เดิมเป็นวังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ขณะนั้นได้ใช้เป็นทําเนียบของนายกรัฐมนตรี) ข้าพเจ้าไปถึงวังสวนกุหลาบพร้อม ๆ กับนาวาอากาศตรี ภักดีฯ เมื่อพบท่านแล้วท่านก็ บอกว่าท่านได้สั่งให้นาวาอากาศเอกฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี (ขณะนั้นเป็นเสนาธิการทหารอากาศ) ส่งข้าพเจ้าไปเป็นนายทหารติดต่อที่กองบัญชาการทหารอังกฤษที่สิงคโปร์ ให้ข้าพเจ้าเตรียมตัวเดินทางไปโดยเร็วที่สุด ท่านได้เล่าเรื่องต่าง ๆ
รวมทั้งเหตุการณ์ต่าง ๆ ในภาคเอเชียและแปซิฟิก ท่านกล่าวถึงภัยสงครามที่ทางญี่ปุ่นจะก่อขึ้น ประเทศที่พอจะต่อต้านได้ก็คือกําลังทหารอังกฤษที่สิงคโปร์-มลายู ให้ข้าพเจ้าไปอยู่ติดต่อกับจอมพลอากาศ Sir Robert Brook Popham (เซอร์ บรูค พอพแฮม) เพื่อดูความแน่นอนในสภาพที่แท้จริงของหน่วยทหารอังกฤษดังกล่าว โดยตั้งสมมุติฐานว่าถ้าญี่ปุ่นบุกรุกประเทศไทย อังกฤษจะใช้กําลังที่สิงคโปร์-มลายู ทําการช่วยเหลือประเทศไทยได้เพียงใด ท่านจอมพล ป. ได้บอกว่าเพื่อให้ทางอังกฤษเข้าใจในไทยยิ่งขึ้น ท่านได้สั่งให้พันโทหลวงสุรณรงค์ (ธงไชย โชติกเสถียร) เดินทางไปในฐานะหัวหน้าคณะ เพราะคุณหลวงมีเพื่อนฝูงที่ได้เรียนหนังสือร่วมกันมาในอังกฤษมาก และพวกนั้นได้รับหน้าที่อยู่ในสิงคโปร์-มาลายู”
เสร็จจากการดูงานทั้งในสิงคโปร์และมลายูแล้ว ร.อ.ทวี จุลละทรัพย์จึงแยกกับหลวงสุรณรงค์เดินทางกลับกรุงเทพฯ ผ่านทางด่านสะเดา ส่วนหลวงสุรณรงค์คงประจําอยู่กับกองทัพอังกฤษต่อไป จนกระทั่งได้เดินทางไปประจําอยู่ที่อินเดียระหว่างสงคราม
ร.อ.ทวี จุลละทรัพย์ รายงานให้จอมพล ป. พิบูลสงครามทราบว่าอังกฤษมีขีดความสามารถที่จํากัดมากในการ ป้องกันสิงคโปร์-มลายู ดังนั้นประเทศไทยจะหวังพึ่งความช่วยเหลือจากอังกฤษได้ไม่มากนัก ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นโจมตีอังกฤษในแหลมมลายู ก็สามารถเข้ายึดครองสิงคโปร์และมลายูได้ในเวลาอันรวดเร็ว
พล.อ.อ.ทวีจุลละทรัพย์บันทึกเหตุการณ์ตอนที่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทยก่อนรุ่งอรุณของวันที่8 ธันวาคม 2484 ได้
“ในตอนเช้ามืดวันที่ 8 ธ.ค. 2484 ข้าพเจ้าได้นํา บ.ขับไล่ฮอว์ค 75 (Hawk-75) เข้าสกัดกั้นเครื่องบินตรวจการณ์ของญี่ปุ่นเพราะเป็นวันที่ญี่ปุ่นได้ส่งกําลังเข้าบุกประเทศไทยครั้งนั้นข้าพเจ้าจําได้อย่างแม่นยําคือเช้าวันนั้นเองประมาณ08.00น.ทางฝ่ายญี่ปุ่นได้ส่งเครื่องบินตรวจการณ์ระยะไกลมาตรวจการณ์ที่ดอนเมือง บินโฉบต่ําลงมาที่โรงเก็บเครื่องบินทางฝั่งตะวันออก...ข้าพเจ้าได้รับคําสั่งให้บินขึ้นทําการขับไล่เครื่องบินข้าศึกเครื่องนี้ออกไปให้พ้นจากดินแดนไทย ข้าพเจ้าจึงได้นําเครื่องบินแบบฮอว์ค 75 วิ่งขึ้นจากสนามบิน ติดตามด้วยเครื่องบินของเรืออากาศตรี สังวาลย์ (หรือน.ต.เทอดศักดิ์ วรทรัพย์ นักบินขับไล่ชั้นยอดของกองทัพอากาศ ซึ่งได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญจากการรบทางอากาศ 2 ครั้ง ครั้งแรกในกรณีพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศสเมื่อปี2484 และครั้งหลังเมื่อ พ.ศ. 2487 โดยน.ต.เทอดศักดิ์นําเครื่องบินขับไล่ฮายาบูซ่าขึ้นต่อสู้กับป้อมบินบี 29 ของฝ่ายสัมพันธมิตรที่เข้ามาทิ้งระเบิดเมืองไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่ง บี 29 ลําหนึ่งไปตกลงในอ่าวเบงกอล เข้าใจว่าเป็นฝีมือการยิงของน.ต.เทอดศักดิ์ ส่วนเครื่องบินของน.ต.เทอดศักดิ์ ถูกยิงไฟไหม้จึงกระโดดร่มลงที่ปากท่อ ร่างกายถูกไฟลวกบาดเจ็บสาหัส แต่รอดชีวิตวีรกรรมครั้งนี้ทำให้ น.ต.เทิดศักดิ์ วรทรัพย์ได้รับเหรียญกล้าหาญประดับช่อชัยพฤกษ์) ทําหน้าที่เป็น Wing Man ของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้านําเครื่องบินบ่ายโฉมหน้าไปทางทิศตะวันออก พอวิ่งขึ้นตั้งตัวและกําหนดเส้นทางบินแล้ว Wing Man ก็เข้าเกาะทางด้านขวา เราเร่งเครื่องยนต์พุ่งทะยานออกติดตามไปทันที ข้าพเจ้าคุ้นกับฝีมือการบินของสังวาลย์เป็นอย่างดี เพราะครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ปฏิบัติงานด้วยกันมาข้าพเจ้าทราบฝีมือและความสามารถของสังวาลย์อยู่แล้วซึ่งไม่เป็นการยากอะไรที่ข้าพเจ้าจะเร่งความเร็วพาสังวาลย์ไปจนสุดแรง ในใจนึกแต่เพียงว่าขอให้เราตามไปทันหน่อยเถอะ จะได้ช่วยกันโชว์ฝีมือยิงปืนกันคนละ 2 ชุด แต่เมื่อเราตามทัน กําลังสับสวิตช์ซัลโวปืนกลอากาศทุกอย่างที่มี และพร้อมที่จะลั่นไกอยู่นั้น ก็ได้รับคําสั่งทางวิทยุไม่ให้ยิง เพราะทางรัฐบาลไทยได้ตกลงกับญี่ปุ่นได้แล้ว...”
หลังจากรัฐบาลไทยยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านและทํากติกาสัญญาร่วมมือเป็นพันธมิตรกันแล้วไม่นาน จอมพล ป. พิบูลสงครามส่ง ร.อ.ทวี จุลละทรัพย์ไปประจําอยู่ในกองบัญชาการกองทัพที่25 ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นกองกําลังบุกมลายูและสิงคโปร์ โดยมีพล.ท.โตโมยูกิ ยามาชิตะเป็นแม่ทัพ เพื่อสังเกตการณ์การปฏิบัติการของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งกําลังรุกลงไปเพื่อยึดสิงคโปร์ (และยึดได้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2485) ขณะนั้นกองบัญชาการส่วนหน้าของนายพลยามาชิตะอยู่ที่อลอร์สตาร์หรือไทรบุรีไม่ห่างจากพรมแดนไทยมากนัก ร.อ.ทวีติดตามกองทัพที่ 25 ของญี่ปุ่นรุกไล่กองทัพอังกฤษ เรื่อยลงไปจนถึงกัวลาลัมเปอร์ และจนสุดแดนมลายูที่ยะโฮร์บาห์รู จากนั้นกองทัพญี่ปุ่นก็ข้ามช่องแคบจากแหลมมลายูไปขึ้นบกที่เกาะสิงคโปร์ ร.อ.ทวีไม่สามารถเดินทางต่อไปได้เพราะป่วยเป็นมาลาเรียจึงถูกส่งตัวกลับกรุงเทพฯ
ปี 2485-2487 ผ่านไป ร.อ.ทวี จุลละทรัพย์ สําเร็จจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกรุ่นที่ 26 ได้เลื่อนยศเป็น นาวาอากาศตรีและนาวาอากาศโทตามลําดับ มีตําแหน่งเป็นหัวหน้ากองยุทธการทหารอากาศ
ปลายเดือนมีนาคม 2488 น.ท.ทวี จุลละทรัพย์ ได้รับแจ้งจาก พล.อ.ท.หลวงเทวฤทธิ์พันลึก (กาพย์ ทัตตานนท์) ผู้บัญชาการทหารอากาศว่า หัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้เลือกให้เดินทางไปประจําอยู่กับกองบัญชาการสัมพันธมิตรที่อินเดียและให้ไปรายงานตัวต่อพล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รองแม่ทัพใหญ่ที่กรุงเทพฯเป็นการด่วน ซึ่งทางกองทัพอากาศจะอําพรางโดยการออกคําสั่งให้เดินทางไปตรวจราชการในต่างจังหวัดเพื่อสํารวจสถานที่สําหรับสร้างสนามบินแห่งใหม่แล้วมอบเงินให้2,000บาทและกําชับให้ปกปิดเรื่องทั้งหมดเป็นความลับที่สุด น.ท.ทวีจึงไปรายตัวต่อรองแม่ทัพใหญ่ แล้วไปรายงานตัวต่อนายปรีดี พนมยงค์ที่ทําเนียบท่าช้าง
หัวหน้าเสรีไทยได้ให้โอวาทตามสมควรและบอกว่าต้องออกเดินทางในคืนนี้
น.ท.ทวี จุลละทรัพย์กลับไปเตรียมตัวที่บ้านแล้วย้อนมาที่ทําเนียบท่าช้างอีกครั้ง ก่อนออกเดินทางโดยเรือศุลกากรพร้อมด้วย ร.ต.วิมล วิริยะวิทย์นายทหารเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา, พ.ต.จอห์น เวสเตอร์ นายทหารอเมริกันซึ่งกําลังป่วยโดยมีนายแพทย์ฝนแสงสิงแก้วเป็นผู้ดูแล และ ร.อ.โฮเวิร์ด ปาล์มเมอร์ กับ ร.ท.วิลเลียม แมคแกร์รี่นักบินที่ถูกญี่ปุ่นยิงตกที่แม่ฮ่องสอน โดยมีนายสินธุ์ อุทัยศรีเป็นกัปตัน
เรือศุลกากรวิ่งเข้าคลองดาวคะนองเมื่อเวลาเกือบตีหนึ่งต้องผ่านทหารญี่ปุ่นหลายจุดกว่าจะถึงสมุทรสาครจากนั้นก็ออกสู่ทะเลแล่นเลียบชายฝั่งจนกระทั่งไปลอยลําอยู่ที่ชะอําในตอนเที่ยงคืนของอีกวันหนึ่ง เครื่องบินทะเลคาทาลิน่า 2 ลําเดินทางมาถึงตามที่นัดหมาย ร.ต.วิมลจัดการส่งวิทยุติดต่อแล้วออกไปที่หัวเรือฉายไฟสีแดงขึ้นไปบนฟ้าส่งสัญญาณเป็นโค้ด เครื่องบินลําหนึ่งร่อนลงสู่พื้นน้ํา ในขณะที่อีกลําบินวนอยู่เหนือบริเวณนั้น เรือยางบรรทุกอาวุธและเครื่องมือสื่อสารเต็มลําถูกปล่อยมาจากเครื่องบินแล้วขนขึ้นมาไว้บนเรือศุลกากรจากนั้นน.ท.ทวีและนายทหารอเมริกันจึงลงเรือยางไปขึ้นเครื่องบินทะเล
หลังจากบินมาเป็นเวลาประมาณ16 ชั่วโมง คาทาลิน่าลํานั้นก็ร่อนลงที่ทะเลสาบในเมืองมัทราส ประเทศอินเดีย และพักอยู่ 1 คืน น.ท.ทวี จุลละทรัพย์ โดยสารเครื่องบินลําเลียงต่อไปยังที่โคลัมโบ เกาะลังกาและได้พบกับนายสงวน ตุลารักษ์ซึ่งกําลังปฏิบัติงานเสรีไทยอยู่ที่นั่น จากนั้นน.ท.ทวี จึงเดินทางไปเมืองแคนดีที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพสัมพันธมิตรพบกับพ.อ.จอห์น คัฟลิน หัวหน้าหน่วยโอ.เอส.เอส.ประจํากองบัญชาการสัมพันธมิตร และดร.ลาซาล ดูบัว นักจิตวิทยาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการข่าว บ่ายวันนั้น พ.อ.คัฟลินพา น.ท.ทวีไปรายงานตัวต่อพล.ร.อ.ลอร์ดหลุยส์ เม้านท์ แบทเตน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ณ กองบัญชาการ ซึ่งตั้งอยู่ในสวนพฤกษศาสตร์และได้พบบุคคลสําคัญซึ่งประจําการอยู่ที่นั่นอีกหลายคนอาทิ นายเอ็ม.อี. เดนิ่ง ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองและพล.จ.วิคเตอร์ เจคส์ เป็นต้น
ช่วงเวลาที่เดินทางจากเมืองไทยมาจนถึงแคนดีโอ.เอส.เอส.ตั้งชื่อรหัสชั่วคราวให้ น.ท.ทวี จุลละทรัพย์ว่า “เบอร์ 9” เมื่อมารายงานตัวต่อลอร์ดหลุยส์ เมาน์ท แบทเตนที่กองบัญชาการสัมพันธมิตรที่แคนดี พ.อ.จอห์น คัฟลิน หัวหน้า โอ.เอส.เอส. เรียก น.ท.ทวีว่า “นาวาอากาศโทดิ๊คกี้ สโตน” ตามชื่อรหัสที่กองบัญชาการโอ.เอส.เอส. ที่วอชิงตันกําหนดมา ทําให้ลอร์ดหลุยส์หัวเราะชอบใจเพราะในวัยเด็กเมาน์ท แบทเตนมีชื่อเล่นว่า “ดิ๊คกี้” เช่นกัน
งานในหน้าที่ของน.ท.ทวี จุลละทรัพย์ที่แคนดี ได้แก่การพิจารณาภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อค้นที่ตั้งของทหารญี่ปุ่นตลอดจนผลจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินสัมพันธมิตร ขณะเดียวกันทางหน่วยโอ.เอส.เอส. ก็ให้การอบรมเกี่ยวกับการข่าว,การก่อวินาศกรรม, การรบแบบกองโจร ฯลฯ ตามค่ายฝึกต่าง ๆ ที่ทรินโกมาลี, โคลัมโบ, อินเดีย และสุดท้าย น.ท.ทวี และทรัพย์ เดินทางไปรับการอบรม ณ โรงเรียนพิเศษของ โอ.เอส.เอส. ที่รัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 สัปดาห์
เมื่อเดินทางกลับมาที่แคนดีแล้วก็ได้รับคําสั่งให้ไปนิวเดลีเพื่อพบกับพล.อ.วิลเลอร์ ผู้บัญชาการทหารอเมริกันทั้งหมดในภาคเอเชียและได้รับแจ้งจากนายพลวีลเลอร์ให้ประจําอยู่กับกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่เมืองกัลกัตตามีหน้าที่สนับสนุนปฏิบัติการในจีน, พม่า, ไทยรวมทั้งให้จัดหานักบินไทยมาปฏิบัติงานกับกองทัพอากาศสหรัฐฯเพิ่มเติมอีกด้วยเพื่อช่วยชี้เป้าหมายเมื่อเครื่องบินรบหรือเครื่องบินลําเลียงเข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทย น.ท.ทวีจึงส่งวิทยุลับติดต่อร.ท.บุญมาก เทศบุตรที่เมืองไทยให้ช่วยดําเนินการ
ณ กองทัพอากาศสหรัฐฯภาคตะวันออกไกลที่กัลกัตตา น.ท.ทวี จุลละทรัพย์ต้องตอบคําถามเกี่ยวกับสุขภาพ และภารกิจอันหนักหน่วงของ “รู้ธ” หัวหน้าเสรีไทย รวมทั้งชี้แจงสถานการณ์ต่าง ๆ ภายในประเทศไทยตลอดจนคอยแก้ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อเมืองไทยในด้านต่างๆแต่งานหลักก็คือการศึกษาวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ และการชี้เป้าหมายให้เครื่องบินสัมพันธมิตรทิ้งระเบิด
เมื่อได้ปฏิบัติหน้าที่ประจําอยู่ที่กัลกัตตากับกองทัพอากาศสหรัฐฯภาคตะวันออกไกลเป็นเวลานานพอสมควรแล้วทางรัฐฯจึงให้น.ท.ทวี จุลละทรัพย์เดินทางเข้าประเทศไทย พร้อมด้วยอาวุธเช่น ปืนพกออโตเมติค 200 กระบอก และปืนกลมือ 50 กระบอก รวมทั้งกระสุนและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ นํามามอบให้ “รู้ธ”
เครื่องบินทะเลนําเสธ.ทวีมาส่งที่บริเวณปากอ่าวสมุทรสาครโดยเรือศุลกากรลําเดิมของกัปตันสินธุ์ อุทัยศรี พร้อมด้วยร.ท.บุญมาก เทศบุตร มาคอยในเที่ยวบินนี้กองทัพอากาศส่งเสรีไทยสายทหารอากาศ 4 นาย คือ พ.อ.อ.สะเกิน,พ.อ.อ.มาลาและจ่าอากาศเอกอีก 2 นายเดินทางไปอินเดียด้วย ภารกิจที่สหรัฐมอบหมายให้น.ท.ทวีปฏิบัติระหว่างอยู่เมืองไทยได้แก่ การหาข่าวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของญี่ปุ่น,การช่วยเหลือทหารสัมพันธมิตรที่ตกเป็นเชลยศึกและการขอให้กองทัพอากาศรีบสร้างสนามบินลับทางภาคอีสานอย่างน้อย 2 สนาม เพื่อรับเครื่องบินซี.47 ที่จะนําคนและอาวุธมาส่ง เป็นต้น
น.ท.ทวี จุลละทรัพย์ เข้ารายงานตัวต่อพล.อ.ท.หลวงเทวฤทธิ์พันลึก ผบ.ทอ. และพล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รองแม่ทัพใหญ่ผู้บังคับบัญชาของน.ท.ทวี กําชับว่าอย่าให้เครื่องบินสัมพันธมิตรทําลายสถานที่สําคัญของไทย พร้อมกับมอบแผนที่บริเวณพระราชวังบางปะอินให้ และบอกว่า “รู้ธ” สั่งห้ามเด็ดขาดมิให้เครื่องบินสัมพันธมิตรแตะต้องพระราชวังบางปะอิน ซึ่งขณะนั้นนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ได้อัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ไปประทับหลบภัยสงครามอยู่ที่นั่น
สัปดาห์ต่อมาหลังจากรายงานตัวต่อ “รู้ธ”แล้วน.ท.ทวีจุลละทรัพย์จึงเดินทางไปสํารวจภูมิประเทศเพื่อหาพื้นที่ สําหรับสร้างสนามบินลับร่วมกับน.ต.เติม ตุงคะนาคและนายทหารฝ่ายยุทธการ ในที่สุดก็เลือกสร้างที่ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และที่ตําบลโนนหัน จังหวัดเลย ผู้บัญชาการทหารอากาศสั่งให้กองบิน 3 ดําเนินการทันที โดยใช้กําลังพลพรรคเสรีไทยในพื้นที่ภายใต้บังคับบัญชาของนายเตียง ศิริขันธ์และนายจําลอง ดาวเรือง เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในประเทศไทย น.ท.ทวีจึงเดินทางไปกัลกัตตา โดยเครื่องบินทะเลตามเส้นทางเดิม
ช่วงเวลาที่ไปปฏิบัติงานในอินเดียครั้งที่ 2 นี้ น.ท.ทวีร่วมบินไปกับเครื่องบินบี 24 ของสหรัฐฯมาทิ้งร่มอาวุธและกระสุนน้ําหนักเกือบ 2 ตันลงที่บริเวณภูพานจังหวัดสกลนคร รวมทั้งบินมาสํารวจและถ่ายภาพความก้าวหน้าในการสร้างสนามบินที่ภูเขียวและนาอานด้วยอีกคราวหนึ่งได้ร่วมบินกับเครื่องซี.46 บรรทุกเชื้อเพลิงเครื่องบินและน้ํามันเบนซิน ไปส่งให้กองทัพจีนที่คุนหมิงบ้าง ที่จุงกิงบ้าง หรือบางครั้งก็นํานักบินจีนที่ผ่านการศึกษาอบรมจากสหรัฐฯไปส่งที่ประเทศจีน
อีกคราวหนึ่งทางหน่วยโอ.เอส.เอส.มอบให้พ.ต.ริชาร์ด กรีนลี (นายทหารอเมริกันชุดแรกที่เข้ามาประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2488 แล้วกลับออกไปตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมกับแผนที่ซึ่งระบุที่ตั้งของหน่วยทหารญี่ปุ่น ในประเทศไทย) นําอาวุธไปส่งให้หน่วยเสรีไทยสกลนครโดยเครื่องบิน บี.24 ลําที่เคยถูกญี่ปุ่นยิงตกที่นครสวรรค์ทําให้ทหารประจําเครื่องเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บสาหัสอีก 1 คน ส่วนดิ๊ค กรีนลีปลอดภัยและได้รับความช่วยเหลือจากเสรีไทยในบริเวณนั้นนํามาส่งที่กรุงเทพฯ เพื่อรอการเดินทางกลับอินเดีย
ขณะนั้นสนามบินลับที่ภูเขียว ชัยภูมิ สร้างเสร็จพอที่เครื่องซี.74 จะลงได้แล้ว (ช่วงนั้นสนามบินลับที่ตำบลบ้านนาคูจังหวัดกาฬสินธุ์ จวนเสร็จและสนามบินที่โนนหัน จังหวัดเลยยังไม่เสร็จ) กองบัญชาการกองทัพอากาศสหรัฐที่กัลกัตตา จึงมอบหน้าหมายน.ท.ทวี จุลละทรัพย์นําเครื่อง ซี.24 ติดตั้งถังเชื้อเพลิงพิเศษสามารถบินไปกลับได้ ไปรับพ.ต.ดิ๊ค กรีนลีที่สนามบินภูเขียว โดยติดต่อนัดหมายกับกองบัญชาการเสรีไทยในกรุงเทพฯ ซึ่งได้ส่งร.อ.เจริญ เจริญรัชต์ภาคย์ เสรีไทยสายสหรัฐอเมริการุ่นที่ 2 ไปจัดตั้งหน่วยวิทยุประจําอยู่ที่ภูเขียว ภารกิจครั้งนี้ดําเนินไปอย่างราบรื่นโดย น.ต.เดิม ตุงคะนาค ผู้บังคับฝูงบินทิ้งระเบิดมาร์ตินบอมเบอร์ที่ภูเขียว และร.อ.หม่อมเจ้ายุธิษเฐียร สวัสดิวัตน์ เสรีไทยสายสหรัฐอเมริการุ่นที่ 1 มาคอยรับ
ในเที่ยวกลับกัลกัตตาเครื่องซี.47 ลํานั้นมีพ.ต.กรีนลี และทหารอเมริกันคนอื่น ๆ เป็นผู้โดยสารส่วนน.ท.ทวี จุลละทรัพย์ เดินทางโดยเครื่องแฟร์ไชลด์จากสนามบินภูเขียวไปลงที่สนามบินบ้านแพะจังหวัดสระบุรี แล้วเดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยทางรถยนต์
ระหว่างที่อยู่ในกรุงเทพฯ น.ท.ทวี จุลละทรัพย์ ได้ชมภาพยนตร์เกี่ยวกับการโจมตีเครื่องบินบี.29 โดยเครื่องบินขับไล่ของญี่ปุ่น ซึ่งพล.ท.อาเคโตะ นากามูระ แม่ทัพญี่ปุ่นประจําประเทศไทยได้เชิญพล.อ.ท.หลวงเทวฤทธิ์พันลึก และคณะไปชม ทางสหรัฐฯ ต้องการภาพยนตร์ชุดนี้มาก น.ท.ทวีจึงเสนอต่อหลวงเทวฤทธิ์ฯ ให้ขอยืมฟิล์มภาพยนตร์จากญี่ปุ่นเพื่อนําไปฉายให้นักบินขับไล่ของไทยได้ชมเป็นความรู้เพิ่มเติม เมื่อได้ฟิล์มมาแล้วน.ท.ทวี จึงติดต่อให้สัมพันธมิตรส่งเครื่องบินมารับน.ท.ทวีไปกัลกัตตาพร้อมกับฟิล์ม หลังจากสหรัฐฯ ก๊อปปี้ภาพยนตร์ชุดนี้เรียบร้อยแล้วจึงส่งฟิล์มกลับประเทศไทยทันที
น.ท.ทวี จุลละทรัพย์เดินทางจากกัลกัตตาเข้ามาประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2488 โดยได้รับมอบหมายจากหน่วยโอ.เอส.เอส. ให้พาพ.ต.นิคอล สมิธไปพบกับ “รู้ธ” หัวหน้าขบวนการเสรีไทยในกรุงเทพฯ เพื่อทําความเข้าใจกับ “รูธ” ว่าเสรีไทยภายในประเทศจะไม่ทําการสู้รบกับญี่ปุ่นจนกว่าสัมพันธมิตรจะได้กําหนดวันดีเดย์ เพื่อกวาดล้างญี่ปุ่นที่แน่นอนแล้ว จากนั้นน.ท.ทวี นำนิคอล สมิธไปขึ้นเครื่องบินที่ทางกัลกัตตาส่งมารับที่ภูเขียวเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2488 ปรากฏว่าเครื่องบิน ซี.47 ซึ่งนายสงวน ตุลารักษ์เดินทางมาด้วยได้ร่อนลงจมโคลนที่สนามบินโนนหัน น.ท.ทวีได้รับความร่วมมือจากร.อ.สนิท จามริก ผู้บังคับฝูงบินและชาวบ้านช่วยกันเผาเครื่องบินลํานั้นทิ้งเพื่ออําพรางให้ญี่ปุ่นเข้าใจว่านักบินประจําเครื่องเสียชีวิตทั้งหมดโดยไปขอศพไม่มีญาติจากเจ้าอาวาสวัดใกล้เคียงมาเผาให้เหมือนซากนักบินที่เครื่องตก
ช่วงเวลาที่อยู่ในประเทศไทยระยะนี้ น.ท.ทวี จุลละทรัพย์ทําหน้าที่ขนอาวุธที่ทางสัมพันธมิตรส่งมาให้ โดยนําไปเก็บไว้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาได้เดินทางจากสนามบินภูเขียวกลับไปกัลกัตตาอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 10 เดือนเดียวกัน และได้ร่วมฉลองวันสันติภาพที่นั่น เมื่อสงครามสงบลงน.ท.ทวี จุลละทรัพย์มีอายุ 31 ปีบริบูรณ์
น.ท.ทวียังคงประจําอยู่ที่กัลกัตตาต่อไปอีกช่วงหนึ่ง เพื่อช่วยพิจารณาภาพถ่ายทางอากาศที่เครื่องบินสัมพันธมิตรไปทิ้งระเบิดในประเทศไทยและดินแดนใกล้เคียงสําหรับรวบรวมทําสรุปเสนอต่อหน่วยเหนือ เมื่อรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะผู้แทนทางทหารเดินทางไปเจรจากับอังกฤษที่เมืองแคนดี ซึ่งมีพล.ท. ศักดิ์ เสนาณรงค์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้าคณะนั้น น.ท.ทวี จุลละทรัพย์ ได้รับแต่งตั้งร่วมคณะไปด้วย ต่อมาเมื่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เดินทางกลับประเทศไทยผ่านกัลกัตตา รัฐบาลก็ให้น.ท.ทวี ร่วมเดินทางมาส่งด้วย และเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัตพระนครเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2488 โดยรัฐบาลอังกฤษส่งเครื่องบิน ซี 47 ให้เป็นราชพาหนะ นายปรีดี โอ.เอส.เอส. ที่กัลกัตตาให้น.ท.ทวี จุลละทรัพย์ คอยรับเสด็จ และเดินทางตามเสด็จมากรุงเทพฯ ด้วย
น.ท.ทวี จุลละทรัพย์ ได้รับใช้ชาติบ้านเมืองอย่างกล้าหาญ มีประสิทธิภาพ และด้วยความเสียสละ ซึ่งนอกจากจะเป็นคุณประโยชน์แก่งานเสรีไทยและประเทศไทยแล้วยังมีส่วนช่วยในการทําสงครามของสหรัฐอเมริกาและสัมพันธมิตรอย่างปฏิเสธไม่ได้ดังนั้นภายหลังสงครามกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จึงได้มอบเหรียญ “เมดัล ออฟ ฟรีดอม” ประดับใบปาล์มบรอนซ์ให้เพื่อเชิดชูเกียรติ และเป็นเครื่องตอบแทนคุณงามความดี
ช่วงเวลาต่อมาน.ท.ทวี รับราชการในกองทัพอากาศโดยดํารงตําแหน่งที่สําคัญหลายตําแหน่ง เช่น เป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศประจําอินเดียและพม่า, เป็นเสนาธิการทหารอากาศได้เลื่อนยศตามลําดับจนถึงพลอากาศเอกเมื่ออายุเพียง 43 ปี ก่อนเกษียณอายุราชการได้ดํารงตําแหน่งเสนาธิการทหาร, ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรักษาบัญชาการทหารสูงสุด
ในด้านการเมืองพล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เคยดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหลายกระทรวง เช่นกระทรวงเกษตรฯ, กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง และประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย, ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์สภาโอลิมปิคแห่งเอเชีย ฯลฯ
พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ ถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2539 ที่โรงพยาบาลศิริราช อายุ 82 ปี ได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมปีเดียวกัน
หมายเหตุ:
- ภาพประกอบจากเพจพลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์
บรรณานุกรม
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ตำนานเสรีไทย (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2546)