ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ราวกับอากาศมิวายหอมหวาน : ถ้อยบันทึกเมื่อคราวเข้าไปสูดลมหายใจในโรงงานน้ำตาลเกาะคา

20
พฤศจิกายน
2567
 

 

Focus

  • บันทึกการเดินทางของผู้เขียนในบ่ายวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 กับคณะของทางสถาบันปรีดี พนมยงค์นำโดย คุณปรีดิวิชญ์ พนมยงค์, คุณชรินทร์ หาญสืบสาย พร้อมทั้งพนักงานประจำสถาบัน รวมถึง คุณวันใหม่ นิยม ที่ได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานน้ำตาลเกาะคา หรือเคยมีชื่อเรียกขานแบบทางการว่า “โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง” สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่รัฐบาลคณะราษฎรกำลังแสดงบทบาทในการบริหารประเทศ

 

ภาพโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง ค.ศ. 1937

 

บ่ายวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ภายหลังอิ่มหนำอาหารพื้นเมืองภาคเหนือโอชารสแล้ว คณะของทางสถาบันปรีดี พนมยงค์นำโดย คุณปรีดิวิชญ์ พนมยงค์, คุณชรินทร์ หาญสืบสาย พร้อมทั้งพนักงานประจำสถาบัน รวมถึง คุณวันใหม่ นิยม และตัวผมเองในฐานะวิทยากรผู้เข้าร่วมเสวนาว่าด้วย “เรื่องเล่าประวัติศาสตร์และปฏิบัติการเสรีไทยในลําปาง” ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน ณ ห้อง 1208 อาคารสิรินธรารัตน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลําปางนั้น ได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานน้ำตาลเกาะคา หรือเคยมีชื่อเรียกขานแบบทางการว่า “โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง” ซึ่งนับเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่รัฐบาลคณะราษฎรกำลังแสดงบทบาทในการบริหารประเทศ

เมื่อรถตู้ที่คณะของทางสถาบันปรีดี พนมยงค์โดยสารเลี้ยวเข้ามาสู่ลานด้านหน้าโรงงานน้ำตาลเกาะคา ก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสิ่งก่อสร้างทางอุตสาหกรรมอันเก่าแก่กว่าเก้าสิบปีแห่งนี้มาคอยรอต้อนรับอยู่ถึงสองท่าน เพื่อจะนำพวกเราเดินชมพื้นที่ต่าง ๆ ภายในอาณาบริเวณของพื้นที่แห่งนี้

 


รูปปั้นอนุสาวรีย์ของพระยาพหลพลพยุหเสนาทางด้านหน้าโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง

 

เริ่มต้นด้วยการที่คณะของพวกเราได้สักการะต่อรูปปั้นอนุสาวรีย์ของ พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งยืนเต็มตัวแลดูโดดเด่นตระหง่านในท่วงทีน่าเลื่อมใส

เหตุที่จำเป็นต้องมีอนุสาวรีย์ของ พระยาพหลฯ คงเพราะการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้และประสบความสำเร็จ ก็เนื่องจากแรงสนับสนุนของรัฐบาลพระยาพหลฯ นั่นเอง

หากคุณผู้อ่านยังมิหลงลืมเนื้อหาที่ผมเคยเขียนเล่าไว้ในบทความ “ลำปางยังหวานอยู่”: โรงงานน้ำตาลเกาะคา ดาราภาพยนตร์ และชีวิตคนในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็น่าจะพอนึกออกว่า แท้จริง ได้ปรากฏความคิดที่จะสร้างโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลแบบสมัยใหม่มาตั้งแต่หลังการอภิวัฒน์สยามเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หมาดใหม่ ซึ่งมีทั้งเจ้านาย ขุนนาง และพ่อค้าที่ทำหนังสือเสนอมายังรัฐบาลคณะราษฎรเพื่อขอให้ช่วยสนับสนุนโครงการสร้างโรงงานน้ำตาลของพวกตน แต่ก็ยังเผชิญอุปสรรคและข้อจำกัดหลายประการ จนทำให้โรงงานน้ำตาลไม่อาจอุบัติขึ้นมาได้

กระทั่งในสมัยที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  รัฐบาลได้พยายามยกข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลมาพิจารณาอีกหน ครั้นพอปี พ.ศ. 2478 พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ (เภา เพียรเลิศ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการได้เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งโรงงานน้ำตาลทรายขาวขึ้น พระยาพหลฯ จึงผลักดันอย่างเต็มที่จนนำไปสู่การลงมติอนุมัติให้สร้างโรงงานน้ำตาลขึ้นที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปางในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ก่อนที่จะมีการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ในการก่อสร้างเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2480 ผู้ที่เป็นประธานในพิธีคือ หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันทน์)

 


ภาพของพระยาพหลพลพยุหเสนา

 

สรุปง่าย ๆ ก็คือ ถ้าไม่มี พระยาพหลฯ เสียสักคน  โรงงานน้ำตาลเกาะคาซึ่งเป็นโรงงานน้ำตาลแห่งแรกของไทย ก็คงจะยังไม่สบโอกาสถือกำเนิดขึ้นมา และนั่นก็คงไม่แปลกอะไร หากเราจะได้เห็นอนุสาวรีย์ของ พระยาพหลฯ ตั้งอยู่ ณ ที่แห่งนี้

 


รูปปั้นของพระยาพหลพลพยุหเสนาด้านในโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง

 

ผมปรารถนาจะบอกเล่าเพิ่มเติมอีกว่า ในห้วงยามที่ พระยาพหลฯ ยังมีลมหายใจก่อนจะอำลาโลกไปเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ก็เคยเดินทางมาเยี่ยมชมโรงงานน้ำตาลเกาะคาเช่นกัน กล่าวคือ ช่วงกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2484 พระยาพหลฯ ซึ่งขณะนั้นแม้จะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ยังครองสถานะผู้ทรงเกียรติยศยิ่งนัก จึงมีหมายกำหนดการจะต้องเดินทางไปเป็นประธานในพิธีวางรากฐานการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลไทยแห่งที่สองของเมืองไทย ณ ตำบลวังกะพี้ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประสบความสำเร็จอย่างสูงของโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง

พระยาพหลฯ ออกเดินทางเมื่อตอนหัวค่ำเวลา 18.00 น. ของวันพุธที่ 19 มีนาคม ด้วยการโดยสารขบวนรถด่วนกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ไปยังจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งรถไฟจะถึงที่นั่นในตอนเช้าวันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม จากนั้น พระยาพหลฯ ไปทำพิธีวางรากฐานโรงงานน้ำตาลที่ตำบลวังกระพี้ ตกเย็นก็หวนกลับมายังตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ ตรวจเยี่ยมกองทหารและพักผ่อน โดยตอนกลางคืนจะมีการจัดแสดงมหรสพพื้นเมืองที่บริเวณโรงงานน้ำตาลวังกระพี้ให้ท่านเจ้าคุณอดีตนายกรับชม

ถัดมาในวันศุกร์ที่ 21 มีนาคม พระยาพหลฯ เดินทางไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ที่อำเภอลับแล พร้อมเยี่ยมชมเมือง ก่อนจะกลับมาพักผ่อนที่ตัวจังหวัด

พระยาพหลฯ เปี่ยมด้วยความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง เนื่องจากในตอนที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่สบโอกาสได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้เลย ทั้ง ๆ ที่เป็นผลงานอันเกิดจากนโยบายในสมัยรัฐบาลของตน ดังนั้นในวันเสาร์ที่ 22 มีนาคม ท่านเจ้าคุณอดีตนายกจึงออกโดยสารรถไฟจากจังหวัดอุตรดิตถ์ในช่วงสายเวลาประมาณ 10.20 น. เพื่อไปยังจังหวัดลำปาง ซึ่งกว่าจะเดินทางถึงจุดหมายก็เป็นเวลา 17.30 น.

ที่สถานีรถไฟนครลำปาง มีข้าหลวงประจำจังหวัด ข้าราชการแผนกต่าง ๆ พนักงานโรงงานน้ำตาล ยุวชนทหาร ลูกเสือ และประชาชนจำนวนมาก มารอคอยต้อนรับเต็มชานชาลา ซึ่ง พระยาพหลฯ ก็ได้ทักทายและปราศรัยกับผู้มาคอยรับอย่างเป็นกันเองโดยทั่วกัน

พระยาพหลฯ เข้าพักที่เรือนรับรองของโรงน้ำตาลเกาะคา มิหนำซ้ำยังใช้เวลาอยู่ที่โรงงานแห่งนี้เป็นเวลาถึง 4 วัน 3 คืน นับแต่วันเสาร์ที่ 22 มีนาคมถึงช่วงครึ่งวันแรกของวันอังคารที่ 25 มีนาคม ก่อนจะโดยสารขบวนรถด่วนเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ออกจากลำปางไปตอนเวลา 13.45 น.

ยิ่งเฉพาะในวันจันทร์ที่ 24 มีนาคมนั้น ท่านเจ้าคุณอดีตนายกใช้เวลาตลอดทั้งวันในการชมกิจการของโรงงานน้ำตาล เพราะช่วงวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคมได้ติดภารกิจไปเยี่ยมชมกองทหารของลำปางและไปไกลถึงเขตเชียงราย ส่วนช่วงเช้าวันอังคารที่ 25 มีนาคม ได้ไปเยี่ยมโรงเรียนอาชีพชาย (ช่างเหล็กช่างไม้) และโรงเรียนอาชีพหญิง (เย็บเสื้อทอผ้า)

ตลอดช่วงที่ พระยาพหลฯ พำนักที่จังหวัดลำปาง ก็ได้รับการอำนวยความสะดวกและอารักขาเป็นอย่างดีจากทางคณะกรมการจังหวัดที่นำโดย หลวงอุตตรดิตถาภิบาล (เนื่อง ปาณิกบุตร) ข้าหลวงประจำจังหวัด และ หลวงศุภการบริรักษ์ (ชลอ จารุจินดา) ผู้รั้งตำแหน่งปลัดจังหวัด

ครึ่งแรกของวันอังคารที่ 25 มีนาคม ก่อนที่จะเดินทางกลับกรุงเทพฯ พระยาพหลฯ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อชาวไร่อ้อยและพนักงานของโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง ดังมีเนื้อความว่า

 

"ท่านพี่น้องทั้งหลาย

ในโอกาสที่ข้าพเจ้ามาวางรากฐานโรงงานน้ำตาลอุตรติตถ์ และได้เลยมาเยี่ยมโรงงานน้ำตาลไทยลำปางในวันนี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการได้บอกว่าไหนๆก็ได้มาแล้ว ขอให้มาชมโรงงานน้ำตาลไทยลำปางด้วย เพราะว่าในสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้สร้างโรงงานน้ำตาลนี้ขึ้น ณ ที่นี้ ข้าพเจ้ายินดีเป็นอันมากที่ได้มาพบปะญาติพี่น้องที่อยู่ในเมืองนี้

ความประสงค์ในการตั้งโรงงานน้ำตาลของรัฐบาลนั้น มีความประสงค์อยากจะให้โรงงานน้ำตาลอยู่ในมือคนไทยแท้ ๆ ได้สืบส่วนดูที่ ๆ เคยทำน้ำตาลมาแล้วหลายแห่ง เช่นที่เมืองชลบุรี ก็ได้สืบดูเห็นมีคนอื่นเขาปลูกอ้อยทำน้ำตาลกันทั้งนั้น  ข้าพเจ้าได้ให้สืบที่นครชัยศรี ดูว่ามีคนไทยปลูกอ้อยบ้างหรือไม่ ก็เห็นมีแต่คนชาติอื่นปลูกกันเป็นส่วนมาก ฉะนั้น จึงได้ให้เที่ยวดูที่อื่นๆ อีก จนกระทั่งถึงอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปางนี้แหละ ก็ได้เห็นคนไทยเป็นจำนวนมากปลูกอ้อย จึงได้บอกว่าที่เกาะคานี้แหละดีแล้ว เพราะมีคนไทยทั้งนั้นปลูกอ้อย เมื่อตั้งโรงงานแล้ว ก็จะได้เป็นการส่งเสริมให้มีการปลูกอ้อยมากขึ้น เพื่อส่งโรงงานทำน้ำตาล ทำการหีบเป็นน้ำตาล และเพื่อจะให้คนที่ไม่มีงานทำจะได้มีงานทำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง บ้านเมืองจะเจริญก้าวหน้าต่อไป สิ่งสำคัญที่ประเทศชาติจะก้าวหน้าไปได้อยู่ที่เศรษฐกิจการเงิน ข้าพเจ้าเห็นว่า ควรจะมีโรงงานอุตสาหกรรมทำสินค้าออกไปขายต่างประเทศบ้าง และเพื่อจะลดการสั่งซื้อน้ำตาลต่างประเทศให้น้อยลงได้บ้าง นี่เป็นความประสงค์อันหนึ่ง ความประสงค์อีกอย่างหนึ่ง ก็คือจังหวัดที่ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว จังหวัดนั้นจะเจริญไม่ได้ ท่านจะแลเห็นจังหวัดต่าง ๆ ที่ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม จังหวัดนั้นผู้คนก็ร่วงโรย ถึงแม้จะเป็นจังหวัดใหญ่โตก็ตาม ย่อมไม่มีคนอยู่เป็นปึกเเผ่น การอุตสาหกรรมเป็นแหล่งรวมผู้คนให้อยู่เป็นปึกแผ่น รัฐบาลนี้ไม่มีความประสงค์ที่จะทำให้ประเทศชาติหรือราษฎรของประเทศยากจน เเต่มีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะให้ราษฎรได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งถือกันว่าเป็นของสำคัญยิ่ง

กล่าวคือตั้งหน้าจะช่วยพลเมืองจริง ๆ ทั้งประสงค์จะทำประโยชน์ให้แก่ราษฎรส่วนรวม ท่านจะเเลเห็นว่าโรงงานนี้ตั้งมากี่ปีเเล้ว ให้ประโยซน์แก่ราษฎรอย่างไรบ้าง ข้าพเจ้าขอนำสถิติทำไร่อ้อยมากล่าวให้เห็นดังนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ มิไร่อ้อยจำนวน ๔,๐๐๐ ไร่ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๓ มีไร่อ้อยเพิ่มขึ้นถึง ๒ หมื่นไร่ นี่ก็แสดงถึงความก้าวหน้าเพียงไร ซึ่งในปีหลังๆ ได้เจริญขึ้นเป็น ๕ เท่า นอกจากนั้นเเล้ว ในปีแรก ๆ อ้อยไร่หนึ่งจะได้เงินราว ๓๐ บาท ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ คิดเฉลี่ยแล้วจะได้เงินสูงขึ้นเป็นไร่ละ ๗๐-๑๐๐ บาท  เหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ผลที่ได้จากการทำไร่อ้อยเป็นอย่างไร ข้อสำคัญการทำไร่อ้อย ผู้ทำต้องทำไร่ของตนให้ดีขึ้น แล้วจะได้ผลมากขึ้นกว่านี้อีก  ทั้งนี้ท่านจะต้องปฏิบัติการในการปลูกอ้อยให้ดีขึ้นด้วย ราษฎรจะต้องหันหน้าเข้ามาหาเจ้าหน้าที่ของโรงงาน ปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานนี้ ท่านควรใช้พันธุ์อ้อยที่ดี ซึ่งโรงงานได้จัดเตรียมไว้แล้ว และขอให้เชื่อฟังคำแนะนำของทางราชการด้วย ถ้าใช้พันธุ์อ้อยที่ดี เราปลูกแต่น้อยก็ได้ผลคุ้มค่า การปลูกอ้อยตามต่างประเทศที่ข้าพเจ้าใปเห็น เขาปลูกทดลองกันหลายครั้งหลายหน เช่นประเทศชะวา เขาปลูกพันธุ์อ้อยเพาะเมล็ดพันธุ์อ้อย ปลูกทดลองจนได้พันธุ์อ้อยดีๆ และสิ่งที่ดีที่สุด การทำไร่อ้อยของเขาที่ข้าพเจ้าได้เห็นนั้น เขาปลูกอ้อยชนิดหนึ่ง มีอ้อยเเกนด้วย ซึ่งทำให้หีบแล้วได้น้ำตาลมาก

ท่านทั้งหลาย โรงงานนี้เป็นโรงงานของรัฐบาล ไม่ใช่ของเอกชน เพราะฉะนั้น รัฐบาลตั้งโรงงานขึ้น ไม่ได้หวังจะกอบโกยเอาเงินทอง ไปเป็นผลประโยชน์ของรัฐบาลเองก็หามิได้ รัฐบาลคิดแต่เพียงจะช่วยเหลือราษฎรโดยแท้ ถึงแม้รัฐบาลจะคิดค่าทดแทนบ้าง ก็คิดเอาแต่เพียงเล็กน้อย รัฐบาลไม่ได้คิดถึงตัวของรัฐบาลเองเลย ทำอะไรคิดถึงพี่น้องราษฎร การมีโรงงานนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของราษฎรแห่งนี้อย่างแท้จริง ฉะนั้นการที่ข้าพเจ้าได้ชักชวนพี่น้องเพื่อนฝูงร่วมใจกันทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อจะได้ทำการบำรุงส่งเสริมการอาชีพของราษฎรด้วยประการต่าง ๆ จนสามารถจะทำให้ท่านมีรายได้ร่ำรวยเป็นปึกแผ่น ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติสามารถมีกำลัง จะทำการต่อสู้กับอุปสรรคทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศชาติได้มาก

ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านว่า การทำอาชีพปลูกอ้อยติดต่อกับโรงงานนี้ ขอท่านอย่าได้ไปเชื่อถือคนอื่นเขายุยงเลย. เขาไม่หวังดีกับท่านดอก เขาทำเพื่อประโยชนซน์ส่วนตัวของเขา ท่านทำการค้าอ้อยกับโรงงาน ท่านอย่าเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่ของโรงงานตั้งหน้าจะโกงรายได้ของท่าน ทำไปไม่ได้ เพราะการงานของโรงงานน้ำตาล มีการควบคุมกันหลายครั้งหลายคน ไม่ใต้ทำด้วยคน ๆ เดียว ซึ่งถ้าท่านจะติดสินบนให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ทุจริต ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านไม่มีเงินพอจะให้ เพราะมีมากคนด้วยกัน การตรวจน้ำหนักอ้อย หรือคิดส่วนแบ่งก็ดี ได้กระทำกันหลายชั้น ไม่ได้ทำด้วยคนๆเดียว การชั่งอ้อยก็ชั่งด้วยเครื่องจักร ซึ่งได้น้ำหนักเท่าใด เครื่องจักรก็บอกท่านเท่านั้นเท่านี้โกงกันไม่ได้ ขอให้เชื่อการกระทำของเจ้าพนักงานของโรงงานน้ำตาลเถิด เขาไม่ได้แกล้งจะเบียดบังผลประโยชน์ของราษฎรเลย ข้าพเจ้าได้บอกแล้วว่าอ้อยนั้นมีหลายชนิด ให้ผลดีก็มี ให้ผลไม่ดีก็มี การที่จะทำให้ท่านมีรายได้สูงหรือขาดทุนนั้น สำคัญอยู่ที่การใช้พันธุ์อ้อยและการบำรุงรักษา ถ้าท่านบำรุงรักษาไร่อ้อยไม่ดี จำนวนน้ำตาลที่ท่านได้รับส่วนเเบ่งก็น้อยด้วย เพราะฉะนั้น ต่อแต่นี้ไปท่านควรตรวจดูว่า ไร่อ้อยของท่านได้ให้การบำรุงรักษาเรียบร้อยดีแล้วหรือ ทำไมของคนข้างเคียงเขาดี ของเราทำไมไม่ดี และที่ไม่ดีเป็นเพราะอะไร จงลองค้นคว้าสอบถามดู และจงตั้งหน้าทำมาหากินด้วยจิตใจที่สงบ ถ้าสงสัยสิ่งใดให้หารือกับเจ้าหน้าที่พนักงานของโรงงานนี้ เขายินดีช่วยเหลือแนะนำให้โดยเต็มใจทุกเวลา ให้พูดจากันตรง ๆ และจงเชื่อฟังกัน

ในโอกาสครั้งสุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอวิงวอนอีกครั้งว่า ขอให้พี่น้องที่ได้ทำงานอยู่กับโรงงาน ขอให้มีความซื่อตรงต่อการงานและหน้าที่ จงมีความรักใคร่ซึ่งกันและกัน และจงรักษาวินัยให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โรงงานจะดีได้ ก็เพราะคนงานในโรงงานนี้มีระเบียบวินัยเรียบร้อย ฉะนั้น ระเบียบวินัยต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำความเจริญมาสู่ประเทศชาติ  การทำงานต้องอาศัยระเบียบวินัยเป็นหลัก  เมื่อเวลาเปลี่ยนการปกครอง ซึ่งมีเจ้าสรวย ณ ลำปาง ร่วมอยู่ด้วยนั้น ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะมีคนร่วมมือด้วยไม่มาก แต่คนของข้าพเจ้ามีระเบียบวินัยดี จึงทำการสำเร็จไปโดยเรียบร้อย ฉะนั้น ท่านจะแลเห็นได้ว่าการมีระเบียบวินัยดีเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ขอให้เจ้าหน้าที่ของโรงงานทุกคนจงรักษาระเบียบวินัยโดยสุจริต ขอให้พี่น้องทั้งหลาย จงร่วมความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน และผู้ที่ทำงานอยู่ในไร่อ้อยของตนเอง ก็จงมีความรักใคร่เป็นกันเองกับเจ้าหน้าที่พนักงานของโรงงานนี้ เพราะความสามัคคีนี้แหละ จะนำทุกสิ่งไปสู่ความสำเร็จ อีกทั้งความสามัคคีพร้อมเพรียงก่อให้เกิดสมรรถภาพในการทำงาน

ฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลาย จงปรองดองช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในโอกาสนี้ข้าพเจ้าขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก จงคุ้มครองท่านทั้งหลายให้มีความสุข ความเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดจนปฏิภาณ คุณสารสมบัติจงทุกประการ เทอญ."

 

ถ้อยคำปราศรัยข้างต้นสะท้อนความในใจและปณิธานของ พระยาพหลฯ ทั้งยังแสดงออกถึงความผูกพันแน่นแฟ้นต่อโรงงานน้ำตาลเกาะคาไว้อย่างน่าประทับใจ

 

สำหรับการจัดสร้างอนุสาวรีย์ของ พระยาพหลฯ ขึ้นที่โรงงานน้ำตาลไทยลำปางนั้น เกิดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 25 ปีแห่งการก่อตั้งโรงงานเมื่อปี พ.ศ. 2505  เริ่มจากช่วงปี พ.ศ. 2504 ทางพนักงานของโรงงาน รวมถึงพ่อค้า และเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ร่วมแรงร่วมใจกันบริจาคทุนทรัพย์เพื่อสร้างรูปปั้นขนาดเท่าครึ่งตัวของตัวจริง โดยองค์การน้ำตาลไทยติดต่อขอให้ทางกรมศิลปากรหล่อรูปปั้นของ พระยาพหลฯ เพื่อจะนำมาตั้งไว้บนฐานสูงบริเวณด้านหน้าโรงงาน และได้ประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ในวันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2505

ครั้นต่อมา โรงงานน้ำตาลเกาะคาดำเนินกิจการจนกระทั่งในวาระครบรอบ 50 ปีเมื่อ พ.ศ. 2530 ทางโรงงานเกิดความคิดที่จะจัดสร้างอนุสาวรีย์ของ พระยาพหลฯ ขึ้นใหม่ให้เป็นรูปปั้นแบบยืนขนาดเต็มตัว อาศัยการระดมทุนจากเงินบริจาคของพนักงาน รวมถึงชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ แต่งบประมาณก็ยังไม่เพียงพอ จึงมีการจัดสร้างเหรียญรูป หลวงพ่อเกษม เขมโก พระสงฆ์ที่ชาวลำปางให้ความเคารพนับถือ เพื่อนำเงินรายได้จากการเช่าบูชาเหรียญมาเป็นทุนก่อสร้างอนุสาวรีย์ดังกล่าวจนเสร็จสิ้น และได้ประกอบพิธีเปิดในวันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมขณะนั้นคือ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต เดินทางมาเป็นประธานในพิธี

หลังจากคณะของพวกเราได้สักการะอนุสาวรีย์ของ พระยาพหลฯ รวมถึงผมและ คุณวันใหม่ ได้สนทนากันถึงเรื่องบทบาทของท่านเจ้าคุณอดีตนายกกับโรงงานน้ำตาลพอหอมปากหอมคอ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโรงงานทั้งสองได้เดินนำพวกเราให้ไปชมอาคารหลังหนึ่ง ซึ่งบนชั้นสองจะมีห้องโถงโล่งกว้างจำนวนสองห้อง  ในห้องโถงทางปีกซ้ายจะมีรูปปั้นขนาดครึ่งตัวของท่านเจ้าคุณอดีตนายก ผมคิดว่ารูปปั้นนี้แหละคืออนุสาวรีย์เก่าที่เคยตั้งอยู่บนฐานสูงบริเวณลานด้านหน้าโรงงาน ก่อนจะเปลี่ยนแปลงมาเป็นอนุสาวรีย์ที่เป็นรูปปั้นยืนขนาดเต็มตัวเฉกเช่นในปัจจุบัน ส่วนห้องโถงทางปีกขวาคล้ายๆจะมีตู้จัดแสดงข้าวของต่างๆเกี่ยวกับกิจการของโรงงานน้ำตาล

อาจเป็นไปได้อีกว่า อาคารหลังนี้เองที่เคยเป็นเรือนรับรองในครั้งที่ พระยาพหลฯ มาเยี่ยมชมกิจการโรงงานน้ำตาลเกาะคาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2484

 

นายสาย นิธินันท์ ผู้จัดการโรงงานน้ำตาลไทยลำปางคนแรก พ.ศ. 2480-2487

 

ใกล้ ๆ ทางบันไดขึ้นลงบริเวณหน้าห้องโถงยังปรากฏแผ่นป้ายไม้แสดงรายนามผู้จัดการโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ ซึ่งเขียนเป็นตัวอักษรพื้นเมืองของภาคเหนือสีขาว โดยบุคคลหนึ่งที่ผมรู้สึกสะดุดตาคือ นายสาย นิธินันทน์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงงานน้ำตาลไทยลำปางคนแรกสุด และอยู่ในตำแหน่งยาวนานระหว่างปี พ.ศ. 2480-2487

นายสาย เป็นบุตรชายของ ร้อยเอก ขุนวรนิติ์นิสัย (สอน นิธินันทน์) กับภรรยาคนแรกคือ หม่อมหลวงหญิงทรัพย์ สุริยกุล เขาสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมช่างกลจาก University of the Philippines เมื่อกลับมาเข้ารับราชการก็ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรงงานคนหนึ่งของเมืองไทยยุคนั้น ด้วยเหตุนี้ ในช่วงที่มีการจัดสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งแรกของไทย กระทรวงเศรษฐการจึงมอบหมายให้ นายสาย รับหน้าที่ควบคุมดูแลและกำกับการก่อสร้าง ครั้นโรงงานสร้างแล้วเสร็จ ตำแหน่งผู้จัดการโรงงานน้ำตาลคนแรกสุดก็ย่อมมิพ้นไปจากเขา

ความที่ นายสาย ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเขาเคยไปศึกษาอยู่ ส่งผลให้การดำเนินงานของโรงงานน้ำตาลเกาะคาราวกับจะอบอวลด้วยกลิ่นอายของโรงงานน้ำตาลแบบฟิลิปิโน  อีกทั้งยังมีนายช่างจากที่นั่นเข้ามาปฏิบัติงานด้วย

แม้จะเป็นผู้จัดการคนแรกของโรงงานน้ำตาลแห่งแรกสุด แต่ต่อมา นายสาย ได้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานทางด้านไฟฟ้า จนเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เมื่อช่วงต้นทศวรรษ 2500

 

ภาพนางสาวอารีย์ ปิ่นแสง คนแรกด้านซ้ายมือของภาพถ่าย

 

ผมได้เล่าให้ทางคณะของพวกเราฟังอีกว่า ในสมัยที่ นายสาย เป็นผู้จัดการโรงงานนี้เอง ได้มีการจัดประกวด “นางงามโรงงานน้ำตาลไทย” เมื่อปี พ.ศ. 2483 ซึ่งหญิงสาวชาวลำปางผู้ได้รับตำแหน่งคือ นางสาวอารีย์ ปิ่นแสง ก่อนที่เธอจะถูกส่งไปประกวดนางสาวไทยในช่วงงานฉลองรัฐธรรมนูญเดือนธันวาคมที่กรุงเทพมหานคร และคว้าตำแหน่งรองนางสาวไทยร่วมกับสาวงามอีก 3  คน ได้แก่ นางสาวสมจิตต์ ลิ้มไพบูลย์, นางสาวฉลาด ลิ่มสวัสดิ์ และ นางสาวประชัญ ศิวเสน

ขณะที่นางสาวไทยประจำปีนั้น คือ นางสาวสว่างจิตต์ คฤหานนท์

นางสาวอารีย์ ยังได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง “บ้านไร่นาเรา” ซึ่งสร้างมาจากบทประพันธ์ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดสร้างโดยกองภาพยนตร์ทหารอากาศ มีเนื้อหาปลุกใจให้รักชาติและส่งเสริมรัฐนิยม ออกฉายที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2485 โดยเธอสวมบทบาทเป็น ขำคม บำรุงชาติ นางเอกของเรื่อง เคียงคู่กับผู้สวมบทบาทเป็น ชาญ บำเพ็ญดี พระเอกของเรื่องอย่าง เรืออากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ ถือเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จอย่างมาก

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องบ้านไร่นาเรา ปี 2485

 

ต่อมาทั้ง ทวี  และ อารีย์ พระเอกและนางเอกในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้พบรักและแต่งงานกันในชีวิตจริง

พล อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ และคุณอารี ปิ่นแสง ในภาพยนตร์เรื่องบ้านไร่นาเรา

 

พอว่ากันถึงตรงนี้ คุณวันใหม่ ได้อธิบายถึงผู้จัดการโรงงานน้ำตาลไทยลำปางคนอื่นๆ โดยเฉพาะบุคคลที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับขบวนการเสรีไทยในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2  อันได้แก่ นายประเวศน์ บริราช ผู้จัดการโรงงานคนที่ 2 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2487-2489 และ นายเสน่ห์ วรกุล ผู้จัดการโรงงานคนที่ 8 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2501-2509

นายประเวศน์ ได้ช่วยเหลือให้เสรีไทยสายอังกฤษอย่าง ทศ พันธุมเสน ได้หลบซ่อนและปฏิบัติภารกิจกู้ชาติอยู่ภายในโรงงานน้ำตาล

ขณะที่ นายเสน่ห์ แม้ในช่วงระหว่างสงคราม เขาจะยังคงเป็นพนักงานเสมียน แต่ก็ได้ช่วยเหลืองานเสรีไทยโดยพา ทศ ขี่จักรยานจากโรงงานน้ำตาลไปสืบข่าวทหารญี่ปุ่นแถวกาดกองต้าในตัวเมืองลำปาง  รวมถึงคอยติดตาม ทศ ไปรับอาวุธที่เครื่องบินของทางฝ่ายอังกฤษทิ้งร่มลงมาให้

คุณวันใหม่ ยังกล่าวถึง นางสาวอารีย์ นางงามโรงงานน้ำตาลไทย เริ่มจากการที่เอ่ยถามผมว่า เธอเคยเป็นพนักงานในโรงงานน้ำตาลด้วยหรือเป็นสาวงามในจังหวัดลำปางแล้วทางโรงงานสนับสนุน ซึ่งผมตอบว่าไม่แน่ใจว่าเธอจะเคยเป็นพนักงานโรงงานด้วยหรือไม่ ก่อนที่ คุณวันใหม่ จะเสริมข้อมูลว่า นางสาวอารีย์ เป็นบุตรสาวของพ่อค้าเชื้อสายพม่าในเมืองลำปาง ทั้งยังมีความเชื่อมโยงกับการที่เมื่อครั้ง นายพลอองซาน จัดตั้งขบวนการพม่าอิสระเพื่อเรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ โดยตอนที่นายทหารอย่าง ทวี จุลละทรัพย์ ให้ความช่วยเหลือขบวนการพม่าอิสระก็ได้อาศัยเส้นสายจากเครือญาติเชื้อสายพม่าของ อารีย์ ผู้เป็นภรรยาของตน



โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง พ.ศ. 2567

ออกจากอาคารที่คาดว่าเคยเป็นเรือนรับรองแล้ว คณะของพวกเราได้เดินไปเยี่ยมชมในตัวอาคารที่เป็นโรงงานและมีเครื่องจักรติดตั้งอยู่ โดยเฉพาะแผนกลูกหีบและหม้อไอน้ำ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการผลิตน้ำตาลจากอ้อย ท่ามกลางบรรยากาศที่อบอวลกลิ่นเครื่องจักรเก่าคร่ำและฝุ่นฟุ้งรบกวนการสูดดมของจมูก สายตาของพวกเราก็สะดุดเข้ากับสิ่งที่ชวนให้ตื่นเต้น นั่นคือ ตราของบริษัท Škoda Works จากประเทศเชโกสโลวาเกียที่ปรากฏอยู่บนตัวเครื่องจักร

ย้อนไปราว ๆ ปี พ.ศ. 2479 เมื่อทางรัฐบาลไทยได้เปิดประมูลการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดลำปาง ผลปรากฏว่าบริษัท Škoda Works เป็นผู้ชนะการประมูล จึงได้ดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรโรงงานแห่งนี้

ควรกล่าวด้วยว่า ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองไทยเป็นเป้าหมายสำคัญในการที่เชโกสโลวาเกียจะส่งสินค้าของตนเข้ามาจัดจำหน่าย โดยเฉพาะบริษัท Škoda Works ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร ได้นำเข้าเครื่องจักร เครื่องมือ กระดาษ เครื่องเคลือบแก้ว เครื่องเคลือบดินเผา สิ่งทอ และรองเท้ามาขายให้ชาวไทย ขณะที่ทางฝ่ายไทยก็จัดหาข้าว ยางธรรมชาติ พันธุ์ไม้เขตร้อนสำหรับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเทศ และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อส่งไปจำหน่ายในเชโกสโลวาเกีย

สิ่งที่แสดงถึงความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ในความร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระหว่างไทยกับเชโกสโลวาเกีย ย่อมมิแคล้วการสร้างโรงงานน้ำตาลที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง โดยบริษัท Škoda Works ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องจักรและมีชื่อเสียงเลื่องลือในทวีปยุโรป

ตามสัญญาภายหลังผลการประมูล ทางบริษัท Škoda Works จะต้องสร้างทั้งโรงงาน อาคารต่างๆ การติดตั้งเครื่องจักรสำหรับแปรรูปอ้อยให้เป็นน้ำตาล และจัดหาอุปกรณ์เทคโนโลยีสำหรับโรงงานอย่างครบครัน รวมถึงยังต้องฝึกอบรมพนักงานชาวไทยในช่วงแรกเริ่มกิจการของโรงงานด้วย การสร้างโรงงานน้ำตาลที่ลำปางโดยบริษัทสัญชาติเชโกสโลวาเกียเผชิญอุปสรรค

การสร้างโรงงานน้ำตาลที่ลำปางโดยบริษัทสัญชาติเชโกสโลวาเกียเผชิญอุปสรรค

พอว่าถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเชโกสโลวาเกียแล้ว ผมเคยเขียนบทความเรื่อง “ปรีดี พนมยงค์ กับเชโกสโลวาเกีย” ซึ่งเผยให้เห็นถึงช่วงสมัยรัฐบาลพระยาพหลฯ อันเป็นเวลาเดียวกันกับที่มีการสร้างโรงงานน้ำตาลเกาะคาว่าตรงกับช่วงที่ทางเชโกสโลวาเกียก็เพิ่งเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลโตมาซ มาซาริกมาเป็นรัฐบาลเอ็ดวาร์ด เบเนช โดยเฉพาะ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินงานสานสัมพันธไมตรี

สำหรับตัวผมเองนั้น ดูเหมือนว่าในปีนี้จะมีโอกาสได้ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของเชโกสโลวาเกียค่อนข้างมาก เนื่องจากในปี พ.ศ. 2567 หรือ ค.ศ. 2024 ถือเป็นวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเช็ก ทางสถานเอกอัครราชทูตเช็กประจำประเทศไทยจึงได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยจัดกิจกรรมขึ้นหลากหลายรูปแบบเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง  กิจกรรมหนึ่งที่ผมมีโอกาสเข้าร่วมด้วย นั่นคือ การประกวดวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นและบทกวีเนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เช็ก ซึ่งทางสถานเอกอัครราชทูตเช็กประจำประเทศไทย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกันจัดขึ้น ดังเมื่อวันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ทางสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กนำโดย ฯพณฯ ปาเวล ปีเตล ( H.E. Mr. Pavel Pitel) เอกอัครราชทูต ได้จัดพิธีมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการประกวดวรรณกรรม ซึ่งผมเองได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทบทกวีจากผลงาน “ฟรานซ์ คาฟคา ไม่ได้ดูลิงลพบุรี

ผ่านมาเพียงไม่กี่เดือน ผมก็สบโอกาสได้มาเยือนโรงงานน้ำตาลเกาะคา อันเป็นผลงานสร้างชิ้นสำคัญโดยบริษัทสัญชาติเชโกสโลวาเกียอย่าง Škoda Works

จึงอาจกล่าวติดตลก ๆ ได้ว่า ถึงแม้ ฟรานซ์ คาฟคา จะไม่ได้ดูลิงลพบุรี แต่ อาชญาสิทธิ์ ก็ได้มาดูโรงงานน้ำตาลที่ลำปางแล้ว

 


โรงงานน้ำตาล อ. เกาะคา จ. ลำปาง

 


โรงงานน้ำตาล อ. เกาะคา จ. ลำปาง

เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโรงงานน้ำตาลในปัจจุบัน ยังอธิบายถึงการทำงานของเครื่องจักร และเครื่องหีบอ้อย โดยในอดีตจะมีการขนส่งอ้อยจากไร่ของเกษตรกรที่อาศัยรถไฟเป็นหลักเพื่อความสะดวกและประหยัดในการตัดและส่งอ้อยเข้าโรงงาน นับตั้งแต่โรงงานน้ำตาลไทยลำปางได้ทำพิธีเปิดฤดูหีบอ้อยเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2480 การดำเนินงานระยะแรกของโรงงานมีกำลังหีบอ้อยได้ในอัตราวันละ 500 ตันต่อวัน (22 ชั่วโมง) แม้ว่าการเปิดฤดูหีบปีแรกมีจำนวนอ้อยเข้าหีบเพียง 16,971 ตัน ซึ่งส่วนมากเป็นอ้อยที่โรงงานทดลองปลูกไว้ แต่การดำเนินงานในฤดูหีบที่ 2 ในปี พ.ศ. 2481 มีอ้อยเข้าหีบถึง 77,892 ตัน ผลิตน้ำตาลได้ 4,988 ตัน จนโรงงานน้ำตาลต้องเพิ่มกำลังการผลิตด้วยการเพิ่มเครื่องหีบและหม้อต้มเคี่ยวน้ำตาล เพื่อให้สามารถทำการหีบอ้อยได้วันละ 800 ตันในฤดูการผลิตปี พ.ศ. 2483

 

 

 

เมื่อพวกเราเดินออกมาบริเวณภายนอกโรงงาน ก็จะได้พบกับทางรถไฟและหัวจักรรถไฟ ซึ่งเป็นพาหนะสำคัญที่ลำเลียงอ้อยจากไร่เข้ามาผลิตในโรงงานน้ำตาล ตรงนี้ คุณวันใหม่ อธิบายถึงการสร้างทางรถไฟสายเหนือมาจนถึงลำปาง

เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ คุณวันใหม่ กล่าวถึงบทบาทของสมาชิกคสำคัญอย่าง คณะราษฎร คือ พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ซึ่งสมัยหนุ่มๆ พอเรียนวิชาทหารสำเร็จกลับมาจากประเทศเยอรมัน ก็ได้เข้ารับราชการจนได้ตำแหน่งเป็นนายร้อยเอก หลวงณรงค์สงคราม เมื่อ พ.ศ.2461 ก่อนจะย้ายมารับราชการในตำแหน่งผู้บังคับกองพันที่ 2 ช่างรถไฟ กรมทหารบกที่ 3 ซึ่งได้สร้างผลงานสำคัญทางด้านการคมนาคมทางรถไฟอย่างการสร้างทางทางรถไฟสายเหนือจากถ้ำขุนตาลในเขตเมืองลำปางไปถึงเชียงใหม่

น่าใคร่ครวญอีกว่าในเวลาต่อมา บุตรชายของ พระยาทรงสุรเดช อย่าง ทศ พันธุมเสน ซึ่งเป็นเสรีไทยสายอังกฤษ ก็มีอันต้องมาปฏิบัติภารกิจในเขตจังหวัดลำปางเช่นกัน

 
 
 

อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ และวันใหม่ นิยม

 

ต่อมา คุณวันใหม่ ได้โยนคำถามมายังผม เพื่อให้อธิบายว่าโรงงานน้ำตาลไทยลำปางไปเกี่ยวข้องกับการประกวดนางงามได้อย่างไรกัน ซึ่งผมก็ได้อธิบายว่า ในยุคนั้นโรงงานอุตสาหกรรมก็คงต้องการเสาะหาสาวงามเป็นผู้ประชาสัมพันธ์กิจการของตน

 


อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ และวันใหม่ นิยมกับคณะฯ ของสถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมถ่ายภาพด้านหน้ารูปปั้นพระยาพหลพลพยุหเสนา โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง พ.ศ. 2567

 

การได้มาเยี่ยมเยือนโรงงานน้ำตาลไทยลำปางหรือโรงงานน้ำตาลเกาะคา นับเป็นโอกาสพิเศษสุดและน่ายินดีปรีดาอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบันนี้น้อยคนนักที่จะได้เข้าไปชม เนื่องจากกลายเป็นพื้นที่ของเอกชนไปเสียแล้ว บรรยากาศภายในพื้นที่อาจดูเงียบเหงา เครื่องจักรก็หยุดนิ่งมิได้ทำงาน แม้จะอวลกลิ่นสาบเก่าแก่ของสถานที่ร้างไร้ความคึกคักของผู้คน แต่ถ้าลองสูดลมหายใจดูดี ๆ ก็จะพบว่าโรงงานแห่งนี้ยังเปี่ยมด้วยเรื่องราวจากประวัติศาสตร์ที่น่าค้นหา และมีชีวิตชีวา ราวกับอากาศยังคงมิวายหอมหวาน

 

 

หมายเหตุ : 

  • ภาพประกอบจากสถาบันปรีดี พนมยงค์ และ History of Lampang 

เอกสารอ้างอิง

  • หจช. มท.2.2 /178 นายพลตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา ไปในงานพิธีวางรากฐานโรงงานน้ำตาลไทย จังหวัดอุตตรดิตถ์ แล้วไปชมกิจการของโรงงานน้ำตาลไทย จังหวัดลำปาง (พ.ศ. 2484)
  • จรุง ตุลยานนท์. การพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมประเทศให้ก้าวไปสู่กิจการอุตสาหกรรม. พิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเลื่อน บัวสุวรรณ และนายชื้น อยู่ถาวร ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่ 23 พฤษภาคม 2499. พระนคร: โรงพิมพ์ประเสริฐศิริ, 2499
  • ทิพย์วัลย์ ประยูรสุข (บรรณาธิการ). ภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๔๙๙. นครปฐม: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), 2557
  • ศรัญญู เทพสงเคราะห์. “พระยาพหลพลพยุหเสนากับโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง.” สถาบันปรีดี พนมยงค์  PRIDI BANOMYONG INSTITUTE (14 กุมภาพันธ์ 2567)
  • ปิแอร์ เอ.บูซาร์ด และคณะ. King Rama of Siam's official visit to Czechoslovakia in 1934 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประเทศเชคโกสโลวาเกีย (พ.ศ. ๒๔๗๗). นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2547
  • Nož M, Šitler. J, Todorovová. J, Kučera. K, Pierre. A, Chitrabongs. C, Kroupa. K. J, and Fajfrová. J. Siam Undiscovered, Czech-Thai encounters between the 16th and 21th centuries : rare documents, old photographs, royal visits เรื่องราวที่ยังไม่มีใครค้นพบในสยาม สัมพันธไมตรีระหว่าง ประเทศเชก-ประเทศไทย ช่วงศตวรรษที่ 16-21 เอกสารหายาก ภาพถ่ายอันล้ำค่า และการเสด็จฯเยือนของพระมหากษัตริย์. Bangkok: Amarin Printing and Publishing Public Company Limited, 2004.
  • ตำราพิไชยสงคราม คำกลอน ตำราพิไชยสงคราม. นายสาย นิธินันทน์ ได้จัดบำเพ็ญอุทิศแด่ ร้อยเอก ขุนวรนิตินิสัย (สอน. นิธินันทน์)