ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

บทบาทเสรีไทยในเดลฮี

12
สิงหาคม
2565

ถึงตอนนี้ก็สมควรจะกล่าวถึงบทบาทสำคัญของกลุ่มเสรีไทยในกรุงเดลฮี ที่ทำงานด้านสงครามจิตวิทยา แจ้งข่าวชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรเพื่อปลุกใจคนไทยผู้รักชาติให้คิดขจัดญี่ปุ่นออกไปจากเมืองไทย โดยอังกฤษและอเมริกันจะให้ความช่วยเหลือ พวกเราในเดลฮีฟังวิทยุจากกรุงเทพฯ กันอย่างขะมักเขม้น และในวันที่ 24 กรกฎาคม 2487 ก็ได้ข่าวซึ่งทำให้ปู่จุดที่ท้อแท้ป้อแป้คอตกมาตั้งแต่เดือนมีนาคมคอตั้งขึ้นมาทันที แกเลิกล้มความคิดที่จะไปพักผ่อนบนภูเขา คุณจอยเลขานุการิณีหน้าแฉล้มของแกก็หน้าสลด เพราะอดโอกาสหยุดพักผ่อนแต่ขอขยักข่าววันที่ 24 กรกฎาคม 2487 ไว้ก่อน เพื่อเล่าถึงการปฏิบัติงานของเสรีไทยในกรุงเดลฮี

เดิมทีเสรีไทยที่ทำหน้าที่รับส่งวิทยุมี เสนาะ นิลกำแหง (ซึ่งภายหลังโดนโอนตัวไปอยู่กลุ่มช้างเผือก) ม.ล.จิรายุ นพวงศ์  วิวรรธน์ ณ ป้อมเพ็ชร  ประจิตร กังศานนท์ (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลเป็น ยศสุนทร อันเป็นชื่อบรรดาศักดิ์ของคุณพ่อ) หลวงภัทรวาที ต่อมามีผู้มาร่วมงานอีกคือ สว่าง สามโกเศศ (พี่ตาก) ม.ร.ว.กิตตินัดดา กิติยากร สุภาพ กังศานนท์ (ยอดยาหยีของประจิตร) ม.จ.กอกษัตริย์ สวัสดิวัตน (ท่านจ้อน ซึ่งพวกช้างเผือกเรียกตาจ้อน หรือ นายหนอน ถูกโอนตัวมาจากกลุ่มช้างเผือก)

นอกจากพวกเสรีไทย 10 คน (อีก 6 คนไปทำงานในหน่วยอื่นๆ) ก็ยังมีคุณหลวงสุรณรงค์ นายมาร์ติน หรือ ลุงมาร์ติน (บิดาคุณหมอบุญสม มาร์ติน) อาจารย์ฮีแลร์ แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ ร่วมงานด้วย ทั้งลุงมาร์ตินและอาจารย์ฮีแลร์รู้ภาษาไทยดีมาก อาจารย์ฮีแลร์ยังถนัดแต่งโคลงกลอนอีกด้วย ภายหลังทางโคลอมโบขอตัวเสรีไทยไปช่วยงานวิทยุกระจายเสียงที่นั่น จำไม่ได้แน่ว่าไปกันกี่คน

งานของเสรีไทยกลุ่มนี้เป็นแนวที่สี่ในสงคราม เรียกว่า สงครามจิตวิทยา (Psy-Chological warfare) หน่วยงานนี้สังกัดกระทรวงการสนเทศ (Ministry of Information ใช้อักษรย่อ MOI) ทหารเสรีไทยในกลุ่มสงครามจิตวิทยาได้รับยศนายทหารพร้อมกับ เสรีไทยกลุ่มช้างเผือก ซึ่งเป็นแนวที่ห้า ที่จะปฏิบัติการหลังแนวข้าศึก เมื่อสงครามในยุโรปเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2482 MOI ก็เปิด Far Eastern Bureau of MOI ขึ้นในฮ่องกง เพื่อเผยแพร่ข่าวสารและเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับประเทศอังกฤษแก่ประเทศตะวันออกไกล ต่อมา MOI ได้ย้ายสำนักงานไปสิงคโปร์ เมื่อญี่ปุ่นบุกสิงคโปร์ สำนักงาน MOI ก็ย้ายไปอยู่ที่กรุงเดลฮี

ผมได้กล่าวแล้วว่า กลิ่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา ไปทำงานด้านสงครามจิตวิทยาในแผนกประเทศไทยของกองกำลัง 136 ที่กัลกัตตา อาจถือได้ว่าเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับกลุ่ม MOI อยู่บ้าง ทางกองกำลัง 136 อ้างว่า ต้องการข่าวสารทั้งโดยตรงจากหน่วยของตนเองทั้งจากกระทรวงการสนเทศ แต่งานด้านสงครามจิตวิทยาและสงครามการเมือง (Political Warfare) สลับซับซ้อนก้าวก่ายกันยิ่งกว่างานด้านอื่นใด เพราะมีหน่วยงานที่ทำงานประเภทนี้อย่างน้อย 6 หน่วย คือ

1) Far Eastern Bureau ของกระทรวงการสนเทศ (ใช้อักษรย่อ FEB)

2) หน่วยของกองกำลัง 136 ซึ่งเป็นแผนกสงครามการเมืองของกองบัญชาการทหารสูงสุดของสัมพันธมิตรประจำเอเซียอาคเนย์ (South-east Asia Command อักษรย่อ SEAC) ใช้อักษรย่อ PWD คือ Political Warfare Department

3) All-India Radio (เดลฮี) เป็นกรมหนึ่งของรัฐบาลอินเดีย (มีอุปราชชาวอังกฤษเป็นประมุข)

4) หน่วยโฆษณาการของกองบัญชาการกองทัพอินเดีย (Indian Army H.Q)

5) หน่วยบริหารงานสงครามการเมือง (Political Warfare Executive-PWE) สำนักงานอยู่ในโคลอมโบ สำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงลอนดอน หน่วยบริหารงานสงครามการเมืองได้ขอเสรีไทยไปช่วยดังได้กล่าวแล้ว

6) แผนกตะวันออกไกลของ บี.บี.ซี. (British Broadcasting Corporation หรือ B.B.C.)

จะเห็นได้ว่าแนวที่สี่ของอังกฤษ คือ งานด้านสงครามจิตวิทยาและสงครามการเมืองนั้นยุ่งเป็นยุงตีกัน น่ากลัวว่าจะแถลงข่าวขัดแย้งกันเองบ้าง ตามการประเมินผล หน่วยของกระทรวงการสนเทศ (MOI) และออลอินเดียเรดิโอมีผลงานดีเด่น ได้รับความชมเชย เห็นจะต้องเปิดหมวกให้เสรีไทยกลุ่ม FEB ซึ่งทำงานขยันขันแข็ง

งานของเสรีไทยที่กระทรวงการสนเทศแบ่งเป็นสามอย่าง อย่างหนึ่ง คือ การรวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่ได้ไป จากประเทศไทยและรวบรวมจากไมโครฟีลม์ที่ถ่ายจากเอกสารต่างๆ งานอย่างที่สอง คือ การฟังและจดข่าวจากวิทยุกระจายเสียงของไทย งานอย่างที่สาม คือ การส่งวิทยุกระจายเสียงภาคภาษาไทย งานนี้ประกอบด้วยการแปลข่าว วิจารณ์ข่าว และส่งบทความปลุกใจและจูงใจชาวไทยให้ต่อต้านญี่ปุ่น งานแผนกนี้มีคุณพโยม โรจนวิภาต เป็นหัวหน้า คุณพโยมเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักแต่งโคลงกลอน บทละคร และคติพจน์ประจำวัน เคยทำงานอยู่ในสิงคโปร์ก่อนญี่ปุ่นบุก จิรายุก็เป็นนักเขียนบทความมือหนึ่งของพวกเรา มีความรู้ภาษาไทยดีมาก

การฟังและจดข่าวทางวิทยุกรมโฆษณาการของไทยเป็นงานหนักมาก คุณหลวงสุรณรงค์เป็นหัวหน้า (ใช้นามแฝงว่า มิสเตอร์วอง) อังเคิ่ลมาร์ตินก็อยู่แผนกนี้ สถานีรับวิทยุของแผนกนี้อยู่บนเนิน ตำบลคารอลบาฆ อยู่ห่างจากกรุงเดลฮีหลายกิโลเมตร มีเครื่องรับวิทยุกำลังสูงมาก ความลำบากของงานด้านนี้เกิดจากเสียงรบกวน หลังจากการฟังรายการข่าวครึ่งชั่วโมง พวกเราอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะถอดข้อความได้ครบถ้วน โดยต้องฟังซ้ำแล้วซ้ำอีกจากกระบอกบันทึกเสียง หลังจากถอดข้อความแล้ว พวกเราต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษและรายงานให้หัวหน้าสถานีทราบ พวกเราผลัดกันไปทำงานจดข่าวจากเมืองไทยวันละสองคน โดยนั่งรถม้าเรียกว่ารถต้องก่า หรือตั้งก่า หรือถีบจักรยานจากกรุงเดลฮีตอนเย็นไปยังสถานีวิทยุที่ตำบลคารอลบาฆ กว่าจะกรองข่าวได้ครบถ้วนและกลับถึงที่พักในเดลฮีก็ราวๆ สองถึงสามทุ่ม

งานอ่านข่าวบางครั้งบางคราวก็ขลุกขลัก เพราะเจ้าหน้าที่เอาข่าวด่วนมาส่งให้ขณะที่กำลังออกอากาศ พวกเราต้องรีบแปลข่าวด่วนออกอากาศอย่างกะทันหัน ไม่มีเวลาเรียบเรียงถ้อยคำให้สละสลวย

ชีวิตความเป็นอยู่ของเสรีไทยในกรุงเดลฮีและในหน่วยต่างๆ ไม่ระหกระเหินทุลักทุเลเหมือนของพวกเสรีไทยกลุ่มช้างเผือก แต่พวกช้างเผือกได้หยุดพักผ่อนมากกว่าพวกอื่นๆ อย่างไรก็ตามกรุงเดลฮีเป็นศูนย์พบปะสังสรรค์ระหว่างเสรีไทยทั้ง 35 คน ที่ขาดไปคนหนึ่งก็คือตัวผมเอง เหตุผลสำคัญก็เห็นจะเป็นเพราะผมป่วยด้วยโรครักอย่างที่ชาวอังกฤษเรียกว่า love-sick ต้องการไปรักษาใจอย่างเงียบๆ ในบรรยากาศสงบสงัดตามลำพัง

เสรีไทยในเดลฮีเช่าห้องชุดไว้สองชุดที่โรงแรมเซ็นทรัลคอร์ต (Central Court) อยู่ใกล้ๆ คือ ค็อนน็อตเซอร์คัส (Conaught Circus) ซึ่งเป็นสนามกลมใหญ่ มีถนนอยู่รอบๆ และมีอาคารร้านรวงรวมทั้งตึกสำนักงานของกระทรวงการสนเทศ ห้องชุดแต่ละชุดมีห้องนอนสองห้อง ห้องรับแขกยาวๆ สองห้อง ห้องส้วมหนึ่ง ห้องน้ำหนึ่ง ห้องนอนแขกรับใช้หรือที่เรียกกันว่าแบเร่อร์ (Bearer) หนึ่งห้อง มีระเบียงข้างห้องนอนและหน้าห้องน้ำ ห้องชุดทั้งสองของพวกเราอยู่คนละชั้น ชุดบนอยู่เหนือชุดล่างพอดี แบ่งกันอยู่ชั้นละ 5 คน พวกช้างเผือก หลายคนเมื่อได้หยุดพักผ่อนก็มักจะไปซุกหัวนอนกันในห้องรับแขกที่เซ็นทรัลขอร์ต บุญพบ บุญเลิศ โต กลิ่น ก็แวะไปที่นั่นเป็นครั้งคราว

ห้องชุดทั้งสองชุดที่เซ็นทรัลคอร์ตไม่มีห้องอาหารหรือครัว (แต่พวกเราก็ทำอาหารไทยกินกันได้) ตามปกติแขกของโรงแรมกินอาหารเช้า กลางวันและเย็นร่วมกันในห้องอาหารของโรงแรม แต่มีอาหารพิเศษอีกสองมื้อตามแบบฉบับของนายฝรั่งในแดนอาบัง คืออาหารกระตุ้นกระเพาะก่อนอาหารเช้า เรียกว่า “โฉตา ฮัซซรี” ซึ่งแขกรับใช้หรือแบเร่อร์เอามาให้ที่เตียงตั้งแต่เช้าตรู่และปลุกเราให้ตื่นขึ้นมากิน

โฉตา ฮัซซรี ประกอบด้วยชาร้อนถ้วยหนึ่งกับขนมเค็กชิ้นเล็กๆ หนึ่งหรือสองชิ้น ตอนบ่ายก็กินน้ำชากับขนมเค็กและขนมปังทาเนยทาแยมแบบอังกฤษ พวกช้างเผือกนั้นไม่มีแบเร่อร์มาปลุกให้ตื่นตอนเช้าตรู่ แต่มีร้อยเอกไซมอน รีด (คือ ไอ้เฟิ้ม) มาตะโกนเรียกหรือไม่ก็เป่านกหวีดแสบแก้วหู เมื่อพวกเราขยี้ตาจนขี้ตาหลุดออกไปแล้วก็ไม่ได้กินโฉตา ฮัซซรี แต่ต้องกระวีกระวาดพรวดพราดออกจากกระต๊อบไปเต้นหยองแหยงกับไอ้เฟิ้มจนเหงื่อไหลไคลย้อย แล้วจึงจะได้ไปอาบน้ำและกินอาหารเช้า

ฉะนั้น ในเวลาที่ได้หยุดพักผ่อน พวกช้างเผือกหลายคนจึงไปพักอยู่กับสหายที่กรุงเดลฮี เพื่อจะมีความเป็นอยู่อย่างช้างหลวงที่มียศถาบรรดาศักดิ์ ทั้งนี้โดยต้องเดินทางโดยรถไฟเป็นเวลาเกือบ 30 ชั่วโมง ข้อเสียของการเดินทางในประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาลเช่นอินเดียก็คือ ไม่ว่าจะไปไหนกันก็ต้องใช้เวลามาก พวกช้างเผือกที่ขี้เกียจเดินทางไกลหรือที่กำลังตกมันก็เลือกเดินทางไปผ่อนคลายอารมณ์ที่บอมเบย์ โถมลูบจูบกอดลูกครึ่งแขกอังกฤษไปพอเบากายสบายใจ

การเดินทางจากค่ายคารัควัสลาไปบอมเบย์กินเวลาเพียงสามชั่วโมงเศษ พวกที่ลงทุนใช้เวลาเดินทางนานไปเยี่ยมเยียนสหายในเดลฮี เป็นพวกที่รักกันจริง เมื่อไปถึงแล้วก็ได้ทั้งความเกษมสำราญ ทั้งได้รู้เรื่องราวในเมืองไทย ได้กินอาหารไทย อาหารจีน อาหารแขก ได้กินน้ำชาตอนเช้าตรู่และตอนบ่าย จะตีเทนนิสหรือจะตีนังแขกก็ได้ พ่อครัวเอกของคณะเสรีไทย คือ กิตตินัดดา กิติยากร

การกินอยู่ที่เซ็นทรัลขอร์ตสะดวกสบายมาก พวกเราโผล่หน้าต่างห้องอาบน้ำตะโกนสั่งอาหารจีนจากร้านที่อยู่ใต้โรงแรม ไม่ต้องลงไปกินในร้าน บ๋อยเจ๊กหรือแขกก็เอาอาหารใส่ตะกร้า เราก็หย่อนเชือกลงไปจากหน้าต่าง ให้บ๋อยผูกปลายเชือกกับตะกร้า แล้วชักขึ้นมาข้างบน แล้วก็เอาเงินค่าอาหารใส่ตะกร้าหย่อนกลับลงไป สะดวกดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย

จิรายุชี้แจงว่า เตียงที่โรงแรมเป็นเตียงที่มีแถบผ้าใบสานกันเป็นพื้น แบบเดียวกับเตียงของแขกยามในเมืองไทยสมัยหกสิบปีมาแล้ว แขกเรียกเตียงแบบนี้ว่า ปัลลัง ราชบัณฑิตยสถานว่า เป็นคำเดียวกับ บัลลังก์ ซึ่งหมายถึงที่นั่งของตุลาการ แบเร่อร์ไม่มีเตียงนอนเอาที่นอนปูลงบนพื้นเลย

นอกจากได้รู้เรื่องราวของเมืองไทยจากวิทยุของกรมโฆษณาการ เสรีไทยในกรุงเดลฮียังมีโอกาสได้พบปะเสรีไทยสายอเมริกาที่ผ่านไปมาสองสามคน เช่น บุญรอด บิณฑสันต์  โผน อินทรทัต  ม.ล.เอกชัย กำภู

บุญรอดเล่าให้พวกเราฟังว่าได้พบ อรุณ สรเทศน์ (ช้างเผือก) ที่คุนหมิง พวกเราที่เดลฮียังได้พบผู้ใหญ่ที่เล็ดลอดออกมาจากเมืองไทยด้วย เช่น เรืออากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ (ภายหลังเป็นพลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์) ซึ่งผ่านไปเมื่อเดือนเมษายน 2487 พวกเราในเดลฮีไม่รู้เรื่องความคืบหน้าของกลุ่มช้างเผือกจากกองบัญชาการในกัลกัตตา และแม้แต่พวกช้างเผือกเองก็ไม่เล่าเรื่องการปฏิบัติงานของกลุ่มให้สหายนอกกลุ่มฟัง เพราะเราได้รับการอบรมให้ปกปิดเรื่องราวทั้งหมด ไม่ให้เปิดเผยแม้แต่กับเพื่อนสนิท

จิรายุเล่าว่า บ่ายวันหนึ่งเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2488 เขาไปสถานีวิทยุออลอินเดียเรดิโอ เห็นทหารในเครื่องแบบทหารอเมริกันยืนอ่านใบประกาศอยู่ในห้องโถง ดูหน้าตาเหมือน คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ เลขาธิการ ก.พ. เขาจึงเดินเข้าไปยืนทำทีว่าอ่านประกาศใกล้ๆ กันชักสงสัยว่าเป็นทหารอเมริกันเก๊ จึงกระซิบเบาๆ ว่า “คุณหลวงสุขุมใช่ไหมครับ” ทหารคนนั้นสะดุ้งโหยง หันมาพยักหน้า จิรายุกระซิบต่อไปว่า “ตามผมมาห่างๆ” (เขาสอนพวกเราให้ระมัดระวังเรื่องการรักษาความลับ ไม่จำเป็นก็อย่าแสดงว่ารู้จักกัน) เขาพาคุณหลวงสุขุมไปพบกับพวกเราบางคน ซึ่งกำลังทำงานอยู่ในแผนกวิทยุภาษาไทย ได้ทราบว่าท่านเดินทางจากประเทศไทยกับคุณพระพิศาลสุขุมวิท เพื่อเดินทางไปอเมริกาตามความประสงค์ของหัวหน้าใหญ่แห่งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น

พวกเราดีใจมากที่ได้พบ คุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ และกระหายที่จะรู้เรื่องราวในประเทศไทย จึงเชิญท่านและ คุณพระพิศาลสุขุมวิท (ผู้เป็นพี่ชาย) ไปกินข้าวกับพวกเราที่เซ็นทรัลขอร์ต แต่ขอให้ปกปิดการพบปะของเราเป็นความลับ โดยทางฝ่ายท่านก็จะไม่บอกทางการทหารอเมริกัน และฝ่ายเสรีไทยในอินเดียก็จะไม่แพร่งพรายให้ฝ่ายอังกฤษรู้

หลวงสุขุมและพระพิศาลพักอยู่ที่เซ็นทรัลเอสทูรี่ ซึ่งเป็นที่พักของนายทหารอเมริกันและจะเดินทางต่อไปยังสหรัฐอเมริกา ในระหว่างที่อยู่ในเดลฮี ทางฝ่ายอเมริกันไม่ขัดข้องที่ท่านทั้งสองจะออกไปเที่ยวชมเมืองตามลำพัง เนื่องจากเขาก็ไม่ต้องการให้คนทั่วไปสังเกตเห็นว่าท่านทั้งสองติดต่อกับทหาร ท่านรู้ว่ามีพวกเสรีไทยสายอังกฤษอยู่ในกรุงเดลฮี เพราะได้ฟังวิทยุสถานีออลอินเดียเรดิโอแผนกภาษาไทยเสมอ ท่านจึงได้ปรึกษากันว่าจะแอบไปพบพวกเราในเดลฮี หลวงสุขุมจึงไปที่สถานีวิทยุออลอินเดียเรดิโอและได้พบกับจิรายุ

กิตตินัดดาเป็นพ่อครัวหัวป่าก์ทำอาหารเลี้ยงรับรองพระพิศาลและหลวงสุขุม เสรีไทยทุกคนที่เป็นนักเรียนย่อมรู้จักหลวงสุขุมในฐานะเลขาธิการ ก.พ. ทั้งสองฝ่ายมีเรื่องราวที่อยากรู้และซักถามซึ่งกันและกันมากมาย ได้พูดคุยกันจนดึกกว่าเที่ยงคืน และระหว่างที่ทั้งสองท่านรอเครื่องบินไปอเมริกาเป็นเวลา 6 วัน ท่านได้พบกับพวกเสรีไทยสายอังกฤษหลายครั้งท่านได้เดินทางไปสหรัฐฯ ในวันที่ 13 มิถุนายน 2488

พวกเราดีใจที่ได้พบผู้ใหญ่ที่เสี่ยงอันตรายเล็ดลอดออกไปจากประเทศไทยเพื่อภารกิจเดียวกันกับพวกเรา คือพยายามกอบกู้เอกราชของชาติ และขจัดญี่ปุ่นออกไปจากเมืองไทย เราได้ทราบว่าบุคคลในระดับสูงในขบวนการในประเทศเสี่ยงอันตรายไม่น้อยกว่าพวกเราที่ปฏิบัติงานในสนามหรือในป่า หรือมากกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะภายในปี 2488 ญี่ปุ่นรู้ระแคะระคายแล้วว่า ผู้ใหญ่ในตำแหน่งสูงหลายท่านเป็นผู้บงการขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น ฉะนั้นญี่ปุ่นอาจกำจัดผู้ใหญ่เพื่อตัดไฟต้นลมดังที่ได้กระทำแล้วในอินโดจีน โดยเชิญตัวสำคัญมากินเลี้ยงแล้วเก็บเสียตามระเบียบ

พวกเสรีไทยในเดลฮีได้รู้จากพระพิศาลและหลวงสุขุมว่า กลุ่มช้างเผือกซึ่งในขณะนั้นกำลังปฏิบัติงานในประเทศปลอดภัยกันทุกคน อันตรายสำหรับทุกคนในขณะนั้นก็คือ ญี่ปุ่นอาจกวาดล้างขบวนการและปลดอาวุธทหารไทย และยึดครองประเทศไทยสมบูรณ์แบบ

ท่านที่สนใจรายละเอียดการปฏิบัติงานของพระพิศาลสุขุมวิทและหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ควรอ่านหนังสือ จดหมายเหตุของเสรีไทย เกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริการะหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย พระพิศาลสุขุมวิทจะเห็นว่า ในระหว่างการปฏิบัติงานในอินเดียนั้น เสรีไทยในเดลฮีได้มีโอกาสรู้เรื่องราวจากหลายด้าน ได้มีโอกาสพบปะและทราบเรื่องราวของเสรีไทยสายอเมริกาบ้าง ได้มีโอกาสคบหาสมาคมกับชาวอินเดียและชนชาติอื่นๆ ของประเทศที่ถูกญี่ปุ่นรุกราน

ส่วนเสรีไทยกลุ่มช้างเผือกนั้นแทบจะไม่ได้ทำความรู้จักกับใครเลย เพราะต้องรักษาความลับเกี่ยวกับงานของกลุ่มตนอย่างเข้มงวดที่สุด ต้องแยกย้ายกันไปเที่ยวเป็นกลุ่มเล็กๆ ต้องโกหกตอแหลตลอดเวลาว่าเราไม่ใช่คนไทย พวกเราโดยมากอ้างว่าเป็นคนจีนซึ่งเคยอยู่ในต่างประเทศ หากพวกช้างเผือกต้องการรู้สถานการณ์ในประเทศนอกเหนือจากที่ปู่จุดบอกเรา (แกบอกเรื่องราวแก่พวกเราเท่าที่เห็นว่าจำเป็นเท่านั้น) ก็ต้องไปซักถามกลุ่มเสรีไทยในเดลฮี

ได้กล่าวแล้วว่าในปี 2486 และต้นปี 2487 พวกเรายังรู้เรื่องราวในประเทศไทยน้อยมาก พวกรับส่งวิทยุในเดลฮีจึงมีงานหนัก ต้องพยายามกลั่นกรองข่าวจากสถานีวิทยุของกรมโฆษณาการ ต้องป้อนข่าวว่าอังกฤษและอเมริกากำลังเข้มแข็งขึ้นทุกขณะ ต้องปลุกใจคนไทยและจูงใจคนไทยให้เชื่อว่าในที่สุดญี่ปุ่นและเยอรมนีจะแพ้สงคราม

สุภาพ กังสานนท์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยของนายมณี สาณะเลน เป็นเวลาประมาณเก้าเดือน ได้รับการขอร้องให้เดินทางไปอินเดียเพื่อช่วยงานด้านรับส่งวิทยุกระจายเสียงในกรุงเดลฮีสุภาพตอบรับอย่างไม่รีรอ แม้จะรู้อยู่ว่าจะต้องเดินทางโดยเรือบรรทุกทหาร ซึ่งเป็นการเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง เธอเป็นหญิงไทยคนเดียวที่เดินทางเสี่ยงภัยในระหว่างที่การทำลายขบวนเรือกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือด สุภาพเป็นหญิงใจเด็ดเดี่ยว จึงไม่แยแสต่อภัยสงคราม มีแต่ความปลาบปลื้มใจที่ได้พบปะสามีที่รักสุดสวาทขาดใจ

เมื่อสุภาพส่งข่าวว่าจะเดินทางมาร่วมวงไพบูลย์กับพวกเรา และร่วมชีวิตกับประจิตร หลังจากที่ได้เริดร้างห่างเหเสน่หามาร่วมปี พรรคพวกทุกคน เว้นแต่ประจิตร ก็อยากให้สุภาพมาอยู่ด้วยกันที่เซ็นทรัลขอร์ต แน่ละ ประจิตรย่อมคิดว่าถ้าเมียรักเข้ามาอยู่ในบรรดาเพื่อนสนิททั้ง 8 คน ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการจู๋จี๋ดู๋ดี๋กันฉันผัวเมีย จึงติดต่อกองบัญชาการทหารขอเข้าไปอยู่ในค่ายแห่งหนึ่ง อยู่ในเต๊นท์ ในบริเวณสนามกว้างใหญ่ไพศาล น่ารื่นรมย์ข้างขึ้นเดือนหงายก็ได้ทัศนาจันทรา ข้างแรมเดือนมืดก็ได้เคียงคู่ดูดาว โรแมนติคกว่าอยู่ร่วมกับชายโสด 8 คนเป็นไหนๆ

เมื่อสุภาพไปถึงกรุงเดลฮี จิรายุจำไม่ได้ว่ามีใครไปรับ นอกจากประจิตรและนายทหารอังกฤษคนหนึ่ง ซึ่งแปลกใจที่เห็นว่าคู่ผัวตัวเมียซึ่งจากกันแรมปีมิได้กอดกระหวัดเชยชิดแนบสนิทจุมพิตปากกันอย่างดูดดื่ม พวกเราจึงสอนฝรั่งว่า ตามธรรมเนียมไทยนั้น แม้เป็นผัวเมียกันก็ไม่กอดจูบกันในสาธารณสถาน

จิรายุเล่าว่าพวกเราได้เลี้ยงต้อนรับสุภาพอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง หลังจากอิ่มหนำสำราญแล้ว ประจิตรก็พายอดยาใจไปอยู่ในค่าย อนิจจา คืนนั้นเขาทั้งสองแทบจะไม่ได้พักผ่อนหลับนอนอย่างเกษมสันต์ เพราะมดแขกจะชอบกลิ่นคนไทยหรือจะมีสันดานชอบเอาคานเข้ามาสอดเมื่อหมูเขาจะหามก็ไม่รู้ละ มันมะรุมมะตุ้มกัดแข้งกัดขาสุภาพกับประจิตรทั้งคืน ประจิตรต้องไปหายาปราบมดมาโรยรอบๆ เต๊นท์ แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ผลเป็นที่พึงพอใจนัก มดแขกมันก็ตื๊อพอๆ กับอาบังน่ะแหละ มิช้ามินานนักสุภาพและประจิตรก็ย้ายเรือนหอกลางสนามไปอยู่ร่วมกับเพื่อนฝูงที่เซ็นทรัลขอร์ต

สุภาพเป็นกำลังสำคัญของกลุ่มเสรีไทยในเดลฮีทุกด้าน เพราะเก่งภาษาอังกฤษอย่างยอดเยี่ยมทั้งเขียนทั้งพูด นอกนั้นยังเป็นคนเปิดเผย ร่าเริง สนุกสนานเฮฮา เป็นคนมีความรู้ลึกซึ้งและรอบรู้เป็นพหูสูตร นอกจากจะเป็นที่รักของประจิตรแล้ว ยังเป็นที่รักของเพื่อนทุกคน ผมเองแม้จะได้พบสุภาพในระหว่างที่เป็นเสรีไทยในอังกฤษน้อยครั้ง แต่ก็รู้สึกสนิทสนมเป็นกันเองกับสุภาพ

สุภาพทำงานเข้มแข็ง และได้ทำหน้าที่ซึ่งไม่มีผู้ชายหน้าไหนทำได้ นั่นคือ รับบทละครเป็นตัวคุณหญิงคุณนาย เป็นแม่ เป็นลูกสาว สาวใช้ ตลอดจนเป็นเด็กหญิง สุภาพไม่เคยเกี่ยงงาน ไม่บ่น ไม่เอาเปรียบเพื่อน มีแต่ความเอื้อเฟื้อโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนทุกคน จิรายุยืนยันว่า ตลอดเวลาที่สุภาพทำงานอยู่ในกระทรวงการสนเทศไม่เคยทำให้ใครเดือดร้อนไม่เคยเป็นปากเสียงกับใคร มีแต่จะคอยดูแลทุกข์สุขของเพื่อน ความสามารถในการงาน ความขยันขันแข็ง ความรอบรู้ ความคล่องแคล่วในการเข้าสมาคม ทำให้สุภาพเป็นดาราดวงเด่นตั้งแต่สุภาพเข้าไปร่วมกลุ่ม

พวกเสรีไทยสามารถจัดงานเลี้ยงรับรองชนชาติเพื่อนบ้านของไทยที่ทำงานด้านวิทยุกระจายเสียงด้วยกัน เช่น พม่า ชวา มลายู จีน และแขก สุภาพเป็นทั้งแม่ครัวช่วยกิตตินัดดา ทำอาหารไทยเลี้ยงแขกและเลี้ยงพวกเราเอง เสร็จจากงานครัว สุภาพก็ขัดสีฉวีวรรณแต่งตัวหรูหราทำหน้าที่แม่บ้านต้อนรับแขก ร้องเพลงไทย รำไทย เวลาบุญพบมาพักอยู่กับพวกเราที่เซ็นทรัลขอร์ต พวกเสรีไทยจะจัดงานเลี้ยงรับรองแขก แสดงนาฏศิลป์ไทย เพราะพวกเรายกย่องว่าบุญพบเป็นศิลปินเอก สุภาพนั้นพอเป็นนางเอกลิเกบ้านนอกได้

พวกที่อยู่ในเคลซีโดนโยกย้ายกันไปหลายคนในวาระต่างๆ กัน ในต้นปี 2488 งานของกลุ่มช้างเผือกในประเทศไทยคืบหน้าไปมากพอควร งานรับส่งวิทยุกระจายเสียงก็ลดน้อยลงตามลำดับ ประจิตรกับสุภาพจึงถูกย้ายไปกัลกัตตา ไปช่วยงานรับฟังวิทยุเมืองไทยและทำใบปลิวสำหรับเอาไปโปรยในเมืองไทย ใบปลิวต้องเขียนด้วยมือตลอด เพราะไม่มีตัวพิมพ์ภาษาไทย หลังจากนั้นประจิตรถูกส่งไปรับการฝึกอบรมเพื่อเข้าประเทศไทย และทำหน้าที่เป็นนายทหารติดต่อประสานงานสำหรับนายทหารอังกฤษที่จะเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งมี พลจัตวาเฮ็คเทอร์ เจ๊คส์ (Hector Jaques) เป็นหัวหน้า ตอนนั้นพันตรีทอมหอบบ์ส์ก็เข้ากรุงเทพฯ ลุงไบร๊ศ์อยู่ป่าในจังหวัดตาก

ความสัมพันธ์ระหว่างสุภาพกับกลุ่มทหารเสรีไทยนั้นมีลักษณะพิเศษ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน ร่วมทุกข์ ร่วมสุข พวกเราส่วนมากไม่ถือว่าสุภาพเป็นเพื่อนผู้หญิง เพราะสุภาพพูดจากับพวกเราอย่างเพื่อนผู้ชาย ใช้คำว่า เฮ้ย หรือโว้ยอย่างคล่องปาก เมื่อผมพบกับสุภาพครั้งแรกผมนึกในใจว่า “นังนี่เหมือนม้าดีดกะโหลก” แต่ในระยะเวลาอันสั้น

จากการพบกันไม่กี่ครั้ง ผมก็ตระหนักในความสามารถและความมีใจเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวของสุภาพ ผมเกิดที่โคราช เมืองย่าโม วีรสตรีไทย ผมจึงเห็นว่าท่านชิ้นและป๋วยทำผิดพลาดที่ไม่เสนอให้สุภาพเข้ากลุ่มช้างเผือก ซึ่งจะทำให้เสรีไทยในกองกำลัง 136 เลื่องชื่อลือนามเป็นหนึ่งไม่มีสอง ผู้หญิงฝรั่งเศสได้ปฏิบัติงานในหน่วยบริหารงานพิเศษ (Special Operations Executive S.O.E.) ซึ่งควบคุมกองกำลัง 136 ผู้หญิงฝรั่งเศสได้โดดร่มลงไปร่วมขบวนการฝรั่งเศสเสรีในประเทศ วีรสตรีไทยได้มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านศัตรูผู้รุกรานไทย ได้แก่ พระศรีสุริโยทัย ท้าวเทพกษัตรีย์ ท้าวศรีสุนทร ท้าวสุรนารีหรือย่าโมของชาวโคราช ถ้าผู้หญิงฝรั่งเศสปฏิบัติการเสมือนผู้ชายได้ หญิงไทยก็ทำได้ สุภาพเป็นหญิงไทยใจเด็ด ผมเชื่อว่าสุภาพจะปฏิบัติงานของกลุ่มช้างเผือกได้ดีกว่าผู้ชายหลายคนรวมทั้งตัวผมเอง

ในฐานะที่ผมเกิดเมืองย่าโม ผมไม่เคยดูถูกว่าหญิงไทยใจเสาะกว่าชาย

เปลก็ไกวดาบก็แกว่งแข็งหรือไม่
ใช่อวดหยิ่งหญิงไทยมิใช่ชั่ว
ไหนไถถากตรากตรำไหนทำครัว
ใช่รู้จักแต่จะยั่วผัวเมื่อไร
แรงเหมือนมดอดเหมือนกากล้าเหมือนหญิง
นี่จะจริงอย่างว่าหรือหาไม่
เมืองถลางปางจะจอดรอดเพราะใคร
เพราะหญิงไทยไล่ฆ่าพม่าแพ้

น่าเสียดายนักหนาที่สุภาพไม่ได้รับใช้ชาติเช่น ย่ามุก ย่าจัน และย่าโม

สุภาพทำแทบทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนผู้ชาย เช่นผู้ชายใช้รถจักรยานสุภาพก็ซื้อจักรยานมาบ้าง ทั้งๆ ที่ไม่เคยขี่มาก่อน เมื่อลงทุนซื้อรถมาแล้วก็เคี่ยวเข็ญสามีให้หัดให้ขี่ ประจิตรก็ต้องขอแรงพรรคพวกช่วยกันพยุงรถ ไม่ปล่อยให้สุภาพคลุกฝุ่น การหัดถีบจักรยานทำกันในสวนสาธารณะ พรรคพวกบางคนที่ไม่ออกกำลังกายตามปกติ ก็ถูกบังคับขับไสให้ออกกำลังกาย เพื่อช่วยสุภาพให้ขี่จักรยานเป็น หอบซี่โครงรวนไปตามๆ กันกว่าสุภาพจะเลี้ยงตัวได้ ในขั้นสุดท้ายของการหัดถีบจักรยานพวกเราแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ผลักรถให้เลี้ยวลดคดเคี้ยวเหมือนงูจากกลุ่มหนึ่งไปอีกกลุ่มหนึ่ง กลับไปกลับมา อีตอนที่จวนจะขี่เป็นนี่แหละ สุภาพตะครุบกบบ่อยๆ จนฟกช้ำดำเขียวและหนังกำพร้าถลอก แต่สุภาพก็ไม่พรั่นพรึง มุมานะขี่รถเป็นภายในไม่กี่วัน ถลอกโน่นนิด บวมนี่หน่อยจะเป็นไรไปเล่า มีสามีคอยนวดเฟ้นให้อย่างทะนุถนอม พอถีบเป็นสุภาพก็ขี่รถไปทำงานแทบทุกวันยกเว้นในฤดูร้อน มิหนำซ้ำยังคะยั้นคะยอพรรคพวกให้ขี่จักรยานไปเที่ยวในวันหยุดโดยอ่อยเหยื่อว่าจะทำกับข้าวไทยให้กิน

ระหว่างฤดูร้อนในกรุงเดลฮีซึ่งตรงกับฤดูร้อนในกรุงเทพฯ เดลฮีเป็นมหานครนรก นั้นเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ผมไม่สมัครทำงานด้านวิทยุกระจายเสียง เมื่อตอนขึ้นไปสัมภาษณ์ที่เดลฮีในปลายเดือนเมษายน 2486 ตลอดเวลาผมกินอาหารไม่ลง ระหว่างฤดูร้อนในเดลฮีเมื่ออุณหภูมิขึ้นถึง 55 องศาเซลเซียสไม่มีคนไทยขี่จักรยานไปทำงาน นั่งต้องก่าไปยังทนลมร้อนที่ปะทะตัวแทบไม่ไหว มิหนำซ้ำยังต้องทนดมขี้เต่าแขกคนขับรถอีกด้วย ระหว่างฤดูหนาวอากาศในเดลฮีก็หนาวจัด ต้องใช้เตาผิง

ระบบปรับอากาศของแขกในสมัยนั้นน่าสนใจ เขาเอากิ่งไม้ไผ่หรือไม้รวกมาสานกันเข้าแล้วเอาเชือกร้อยรวมกันเป็นแผ่นหนา บางทีก็ใช้หญ้าแห้งแทนไม้ไผ่ เอาแผงนี้แขวนตามประตูหน้าต่าง คนใช้จะคอยเอาน้ำสาดแผงไม้ไผ่ให้เปียกโชก เวลาลมผ่านเข้ามาก็ร้อนน้อยลงนิดหน่อย ที่เซ็นทรัลขอร์ตใช้พัดลมเพดาน ไม่มีระบบปรับอากาศ วันหนึ่งๆ ในฤดูร้อนพวกเราอาบน้ำหลายหน อาบเสร็จก็ไม่ต้องเช็ดตัว เวลาเข้านอนก็นอนบนผ้าเช็ดตัวที่ชุบน้ำไว้พอหมาดๆ มันจะช่วยลดความร้อนบ้าง

ตาจ้อน หรือ ม.จ.กอกษัตริย์ เมื่อต้องจากกลุ่มช้างเผือกซึ่งสนิทชิดชอบคลุกคลีกันมากก็สร้อยเศร้าเหงาหงิมไม่เว้นวาย ในที่สุดก็ถูกศรกามเทพปักอก เมื่อสบตาสาวลูกจีนจากสิงคโปร์ ซึ่งทำงานกระจายเสียงในแผนกประเทศมลายู เธอชื่อ เนลลี วง (ภายหลังเรารู้ว่าเป็นลูกสาวเศรษฐีใหญ่ที่สิงคโปร์)

ตาจ้อนเริ่มแจกขนมจีบ ชวนเธอไปกินน้ำชาเมื่อเลิกงานแล้ว ความรักรุมจิตพิศวงในยามไกลบ้านนั้นฟักตัวรวดเร็วนัก ต่อมาไม่นานตาจ้อนกับเนลลี วง ก็จดทะเบียนแต่งงานกัน เมื่อตอนคู่ชีวันขวัญชีวาเดินทางโดยรถไฟไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ (ไม่มีใครจำได้ว่าไปที่ไหน) เขาจองรถนอนชั้นหนึ่งซึ่งมีสองเตียง แต่มีอาบังคนหนึ่งจองรถนอนไม่ได้ จึงขออาศัยนอนในห้องนั้นด้วย อ้างว่าสองคนผัวเมียนอนเตียงเดียวกันได้ ไม่มีใครจำได้ว่าตาจ้อนแก้ปัญหายังไง ท่านเป็นทั้งมวยไทยและมวยฝรั่ง อาจจะใช้วิธีแจกหมากจนแขกกินกะหรี่ไม่ได้กระมัง

คราวหนึ่ง บุญพบ ภมรสิงห์ ไปพักอยู่ที่เดลฮีชั่วคราว พวกเราในแผนกประเทศไทย จึงจัดงานราตรี มีรำอวยพรโดยบุญพบและสุภาพ มีการร้องเพลงไทยและเล่นจานเสียงเพลงไทย ซึ่งแผนกไทยมีอยู่ราวๆ 30 แผ่น พวกเราแต่งเพลงโดยดัดแปลงเนื้อร้องของเพลงม่านมุยเชียงตา ให้มีเนื้อร้องอัญเชิญเทวดามาประทานพรให้พวกเราทำงานสำเร็จสมประสงค์

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2487 เสรีไทยในเดลฮีได้ข่าววิทยุจากกรมโฆษณาการ ซึ่งก่อความตื่นเต้นมาก ข่าวนั้นก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ลาออกด้วยเหตุผลว่า การที่สภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดเรื่องพุทธมณฑล และเรื่องให้เมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง เป็นการแสดงความไม่ไว้วางใจรัฐบาล

ข่าวต่อมาก็คือ การแต่งตั้ง นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2487 คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ประกอบด้วยบุคคลหลายคนซึ่งเป็นพวก นายปรีดี พนมยงค์ หรือเป็นพวกที่ฝักใฝ่ฝ่ายสัมพันธมิตร นอกจากนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ก็ลาออกจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คงเหลือนายปรีดี พนมยงค์ แต่ผู้เดียว (เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินอสัญกรรม)

เมื่อทางกระทรวงการสนเทศรายงานข่าวเหล่านี้ ไปยังแผนกประเทศไทยของกองกำลัง 136 พันโทพอยน์ตันก็วางแผนส่งช้างเผือกคณะที่สามเข้าประเทศไทย โดยเสนอให้ใช้เครื่องบินทะเลนำไปลงในอ่าวไทย แต่เนื่องจากฤดูมรสุมยังจะไม่หมดจนกระทั่งปลายเดือนกันยายน กองทัพอากาศจึงไม่เล่นด้วย อ้างว่าลมมรสุมจะทำให้ทะเลมีคลื่นเป็นอันตรายต่อเครื่องบินทะเล และยังจะมีปัญหาในการที่คณะช้างเผือกจะออกจากเครื่องบินไปขึ้นฝั่งอีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีทางเลือก ต้องใช้วิธีโดดร่มอีกครั้งหนึ่ง

ปู่จุดได้เสนอแผนงานขึ้นไปยังสำนักงานใหญ่ของกองกำลัง 136 ในแคนดี กองบัญชาการทหารสูงสุดของสัมพันธมิตรประจำเอเซียอาคเนย์เห็นชอบด้วย และเสนอแผนงานขึ้นไปยังสำนักงานใหญ่ของ เอส.โอ.อี. ในลอนดอน แต่ก็ไม่ได้รับอนุมัติ จนกระทั่งปลายเดือนสิงหาคม 2487 ตกลงว่าให้ปู่จุดส่งช้างเผือกคณะที่สามเข้าประเทศไทยและให้นำสาส์นจาก หลอด หลุยส์ เม้านท์แบทเทนไปด้วย สาส์นนี้ไม่ระบุชื่อหัวหน้าใหญ่แห่งขบวนการในประเทศ กำหนดรายละเอียดเสร็จเรียบร้อยต้นเดือนกันยายน 2487

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2487 แผนกประเทศไทยและกองกำลัง 136 ในกัลกัตตาสอบถามว่า ทางแผนกภาษาไทยของกระทรวงการสนเทศได้ข่าวอะไรที่น่าสนใจจากสถานีวิทยุกรมโฆษณาการแห่งประเทศไทยหรือไม่เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ปรากฏว่าพวกเราในเดลฮีรับข่าวในคืนวันที่ 7 สิงหาคมไม่ได้ เนื่องจากมีเสียงรบกวนมาก

กลิ่น เทพหัสดิน ที่สถานีวิทยุในกัลกัตตาพอจะรับฟังได้ จับใจความได้ว่า เพื่อนสองคนพูดกันว่ากำลังจะไปงานวันเกิดของเข้มในคืนวันนั้น กลิ่นจึงให้ข้อสันนิษฐานว่า ข้อความนี้ต้องมาจากขบวนการในประเทศแย้มพรายว่า ป๋วย (ชื่อรหัสเข้ม) ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อนจึงจะไปในงานวันเกิด ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่วันเกิดของป๋วย แต่เป็นวันที่เสรีไทยสมัครเป็นทหาร (ยกเว้น ม.จ.จิรีดนัยและผมซึ่งสมัครเป็นทหารหลังวันที่ 7 สิงหาคม 2485)

เท่าที่เล่าเรื่องของพวกเสรีไทยในกรุงเดลฮีมานี้ หวังว่าจะทำให้ท่านผู้อ่านตระหนักว่างานของพวกเราที่รับส่งวิทยุ เป็นงานหนักและมีความสำคัญไม่น้อยกว่างานของกลุ่มช้างเผือกทางการอังกฤษ ให้ยศนายทหารแก่เสรีไทยในกระทรวงการสนเทศพร้อมกับที่ได้ให้แก่กลุ่มช้างเผือก

 

ที่มา : ทศ พันธุมเสน, “บทบาทเสรีไทยในเดลฮี”, ใน, กบฏกู้ชาติ, (กรุงเทพฯ: ส่องสยาม, 2531), หน้า 246-236.