ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ญี่ปุ่นขอยืมเงินไทย

15
สิงหาคม
2567

Focus

  • ภายหลังประเทศญี่ปุ่นได้ขยายอิทธิพลและรุกรานหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ทำให้ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร อันได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ได้ดำเนินการกักเงินตราต่างประเทศและเครดิตที่ประเทศญี่ปุ่นฝากไว้ที่ธนาคาร
  • ประเทศไทยในสมัยสงครามที่รัฐบาลเลือกข้างฝ่ายอักษะจึงดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือกองทัพญี่ปุ่น แต่นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วยต่อการให้ญี่ปุ่นกู้เงินประเทศไทยและเสนอให้นำทองคำแท่งมาชำระแทน

 

เมื่อญี่ปุ่นได้รุกรานมาทางเอเซียใต้จนมีทหารอยู่ทั่วไปในอินโดจีนและคุกคามสันติภาพของเอเชียตะวันออกโดยทั่วไป อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ได้สั่งกักเงินตราต่างประเทศและเครดิตที่ญี่ปุ่นมีอยู่ในธนาคารของประเทศเหล่านั้น ซึ่งเรียกการกักกันเครดิตนั้นว่า “แช่น้ำแข็ง” (Freezing) โดยคิดว่า ถ้าญี่ปุ่นไม่มีเครดิตที่จะใช้ซื้ออาหารและวัตถุดิบแล้ว ก็จะทำสงครามต่อไปไม่ได้

ญี่ปุ่นเดือดร้อนที่ไม่มีเครดิตหรือเงินตราต่างประเทศมาแลกเงินบาทไทยเพื่อซื้อข้าวสารไปเลี้ยงทหารและพลเมืองในเขตยึดครองของตน จึงได้ให้ทูตของตนขอร้องจอมพล ป. สั่งกระทรวงการคลังเปิดเครดิตให้ฝ่ายญี่ปุ่นยืมไปใช้ซื้อข้าวสารไทย จอมพล ป. ส่งเรื่องให้ข้าพเจ้า ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพิจารณา ข้าพเจ้าเสนอว่า ยินดีเปิดเครดิตให้ญี่ปุ่นโดยญี่ปุ่นต้องปฏิบัติอย่างที่ข้าพเจ้าจัดการกับประเทศอื่น คือ ถ้าไม่สามารถมีเงินปอนด์อังกฤษหรือดอลลาร์สหรัฐมาแลกกับเงินบาทตามพระราชบัญญัติเงินตราแล้วนำเอาทองคำที่มีมูลค่าเท่ากันมาแลกกับเครดิตที่เป็นเงินบาท ฝ่ายญี่ปุ่นโกรธข้าพเจ้ามาก โดยให้นายวนิช ปานะนนท์ ซึ่งเป็นสื่อกลางระหว่างญี่ปุ่นกับจอมพล ป. มาแจ้งกับจอมพลฯ นั้น ให้บอกข้าพเจ้าว่า “ให้หลวงประดิษฐ์เอาทองกินเข้าไปแทนกินข้าวเถิด” ข้าพเจ้าย้อนตอบไปว่า “ถ้าญี่ปุ่นเห็นว่าทองคำไม่มีประโยชน์ ก็จะหวงไว้ทำไม ญี่ปุ่นก็มีทองคำอยู่มากที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น ก็สมควรนำมาแลกเงินบาท”

 


ขณะนายปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘

 

ข้าพเจ้าเสนอความเห็นเช่นนั้น เพราะข้าพเจ้าถือหลักดุลแห่งอำนาจทางเงินตราระหว่างประเทศโดยมิได้ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใด จะเห็นได้ว่า ก่อน พ.ศ. 2475 และสมัยก่อนที่ข้าพเจ้ารับหน้าที่การคลังนั้น ทุนสำรองเงินตราไทยฝากไว้เป็นเงินปอนด์อังกฤษในธนาคารที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นการถ่วงหนักไปทางอังกฤษ ภายหลังข้าพเจ้าในนามกระทรวงการคลังจึงได้สั่งธนาคารอังกฤษให้โอนทุนสำรองส่วนหนึ่งเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ข้าพเจ้าไม่อาจแบ่งไปซื้อเงินตรา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน โดยที่การเงินตราและการคลัง ไม่อาจมีเสถียรภาพในสมัยนั้น แต่ข้าพเจ้าจึงได้ใช้วิธีสั่งให้ธนาคารอังกฤษเอาเงินทุนสำรองเงินตราส่วนหนึ่งของไทยซื้อทองคำแท่งประมาณ 40 ล้านกรัมมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยของกระทรวงการคลังที่กรุงเทพฯ คือ ฝ่ายเราเป็นผู้กุมดุลแห่งอำนาจการคลังของเราเองแทนที่จะให้ผู้อื่นกุม

ทั้งนี้ก็ได้ประโยชน์ คือ เมื่ออังกฤษและสหรัฐเข้าสู่สงครามเป็นเหตุให้เงินตราของ 2 ประเทศนั้นเสื่อมค่าลงไป ทองคำที่ฝ่ายเรามีไว้นั้นก็มีราคาสูงขึ้น ซึ่งผู้อ่านย่อมเห็นได้เองว่าก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ทองคำหนัก 1 บาท มีราคาเป็นเงินตราไทยราว ๆ 25 บาท แต่บัดนี้มีราคาเกือบ 500 บาทต่อทองคำหนัก 1 บาท ญี่ปุ่นได้เร่งเร้าทางจอมพล ป. เร่งเร้าทางจอมพล ป. ขอให้เปิดเครดิตเป็นเงินบาทให้ เพราะญี่ปุ่นมีความจำเป็นรีบด่วนที่จะได้ข้าวสาร ในที่สุดข้าพเจ้าได้เชิญผู้แทนธนาคารไทยพาณิชย์นครหลวง และเอเชียมาพบปรึกษาตกลงร่วมกันที่จะเปิดเครดิตให้ญี่ปุ่น 10 ล้านบาท โดยญี่ปุ่นรับรองจะนำทองคำมูลค่าเท่ากันมามอบให้ที่กรุงเทพฯภายหลังโดยไม่ชักช้า นับว่าเป็นประวัติการณ์ของซาติไทยที่แต่ก่อนนี้เป็นฝ่ายที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศ แต่บัดนั้นกลายเป็นชาติที่ให้ยืมเงินแก่มหาอำนาจโดยมีทองคำเป็นหลักประกัน

 


ขณะนายปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘

 

ต่อมาฝ่ายญี่ปุ่นขอยืมเครดิตเพิ่มอีก 25 ล้านบาทโดยกันทองคำของญี่ปุ่นที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นมูลค่าเท่ากัน “ผูกหู” คือ มีเครื่องหมายบอกว่าเป็นของไทยเก็บไว้ที่ธนาคารญี่ปุ่น ข้าพเจ้ายืนยันให้ญี่ปุ่นนำทองคำมามอบให้ที่กรุงเทพฯ ตามเงื่อนไขเดิม ฝ่ายญี่ปุ่นโกรธข้าพเจ้าอีก หาว่าข้าพเจ้าขัดขวางทางไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น แต่เมื่อข้าพเจ้ายืนยันว่าข้าพเจ้าปฏิบัติโดยไม่ลำเอียงระหว่างญี่ปุ่นกับอังกฤษที่ข้าพเจ้าทำมาแล้วฝ่ายญี่ปุ่นจึงยินยอม แต่วิธีนำทองคำมาไทยนั้นญี่ปุ่นอ้างอุปสรรคในการคมนาคมซึ่งใกล้จะเกิดสงครามเอเซียบูรพา

 

หมายเหตุ:

  • คงอักขรและวิธีสะกดตามต้นฉบับ

บรรณานุกรม

  • ปรีดี พนมยงค์, “ญี่ปุ่นขอยืมเงินไทย” ใน “โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 129-131.