ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

สตรีไทยผู้กล้าหาญแห่งยุค ผู้นำเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายครอบครัว

25
ธันวาคม
2567

Focus

  • บทบาทในการทำงานทางกฎหมายและเพื่อสังคมของคุณหญิงจันทนี สันตะบุตร สตรีคนสำคัญที่ผลักดันกฎหมายเพื่อความเสมอภาคของหญิง-ชายในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญสำเร็จในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 โดยดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ เป็นนายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย 2 สมัย และสมาชิกวุฒิสภา 

 


คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร
(25 ธันวาคม 2465 – 21 พฤษภาคม 2563)

 

ชีวิตการทำงานของแม่เริ่มต้นหลังจากได้รับทุนจังหวัดมาเรียนที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา เมื่อเรียนจบจากสวนสุนันทาแล้ว แม่ได้กลับไปบ้านเกิด เพื่อเริ่มทำงาน รับราชการเป็นครู สอนหนังสือที่โรงเรียนบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรีเป็นแห่งแรก จากนั้นก็ย้ายมาสอนที่โรงเรียนเทพสตรี ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดลพบุรี ขณะเดียวกันการได้เห็นบิดาและพี่ชายคนเดียวเป็นทนาย แม่จึงเรียนต่อทางด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปด้วย โดยใช้วิธีซื้อตำราไปศึกษาเอง และลงมาสอบทีละสมัย แต่เรียนยังไม่ทันจบ เกิดสงคราม ก็มาแต่งงานเสียก่อน

แม่เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามามีส่วนร่วมมีบทบาททำงานช่วยเหลือสังคมไว้ดังนี้

พอสามีย้ายเข้ากรุงเทพฯ ตอนนั้น เขาก็บอกว่า พวกภรรยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ต้องเป็นสมาชิกสโมสรวัฒนธรรมหญิง อันนี้ก็ต้องขอขอบคุณอยู่สองคนนะ คือ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ซึ่งริเริ่มให้ผู้หญิงตื่นตัวและคุณหญิงอารี สุนาวินวิวัฒน์ ซึ่งท่านเป็นภรรยารัฐมนตรีมหาดไทย”

หลังจากที่ท่านผู้หญิงละเอียดตั้งภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งหมดมาเป็นนายกสโมสรวัฒนธรรมหญิง เรียกว่า สวญ.ต่างจังหวัด ท่านก็เลยบอกว่า ในส่วนกลางก็น่าจะต้องมาช่วยกันบ้าง ท่านชักชวนภรรยาข้าราชการให้สมัครเป็นสมาชิกสโมสรวัฒนธรรมหญิง ตอนนั้นดิฉันอายุยังน้อยยังไม่ถึง ๓๐ ดิฉันก็ได้มาด้วย ซึ่งก็มีท่านผู้ใหญ่หลายท่านที่มาเป็นสมาชิกสโมสรวัฒนธรรมหญิง เพราะตอนนั้นสามีดิฉันเป็นหัวหน้ากองการสอบสวนในสมัยนั้น เมื่อเป็นสมาชิกที่นี่แล้วก็ให้เลือกว่าจะทำงานด้านไหนตามที่ถนัดมีทั้งงานสังคมสงเคราะห์ คหกรรม ศาสนา สันทนาการ

ดิฉันเลือกทางสังคมสงเคราะห์ตามที่ชอบ เพราะตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ ได้เห็นท่านทั้งสองช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กและครอบครัวคนจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย โดยให้เช่าที่ดินปลูกบ้านและทํามาหากินประมาณ ๕๐ กว่าครอบครัว แล้วเวลาที่คนเหล่านั้นเดือดร้อนท่านจะคอยช่วยเสมอดิฉันช่วยงานสโมสรวัฒนธรรมหญิงทางด้านสังคมสงเคราะห์ ต่อมามีการจัดคอร์สอบรมให้กับผู้ที่ทํางานด้าน สังคมสงเคราะห์ ดิฉันก็ได้ไปอบรมกับเขาด้วย เมื่อจบแล้วก็ได้รับประกาศนียบัตรและเข็ม ซึ่งรุ่นดิฉันเป็นรุ่นแรกและปีแรกที่จบเมื่อเวลามีงานช่วยเหลือสังคมอะไรก็ตาม พวกเราไปช่วยทํางานเสมอ ๆ มีอาสาสมัคร ๔๐-๕๐ คน พากันไปตามโรงพยาบาลมั่งไปดูแลคนไข้มั่ง แล้วก็ไปอยู่ตามโรงพยาบาลแยกกันไป ดิฉันได้ไปโรงพยาบาลเด็กต่อมาก็โรงพยาบาลหญิง สโมสรวัฒนธรรมหญิงชุดนั้นเป็นระเบียบมากในเรื่องการทำงาน ดิฉันก็ได้จากที่นั่นเยอะได้เข้าไปเรียนรู้สิ่งที่มีประโยชน์เยอะแยะ ได้เริ่มต้นทำงานเป็นเรื่องเป็นราวทางด้านสังคม[1]

แม่ทำงานอยู่ในสโมสรวัฒนธรรมหญิงอย่างกระตือรือร้นเต็มเปี่ยม และหวนนึกถึงการทำงานด้านสังคมที่ผ่านมาที่ทำด้วยจิตใจขึ้นมาด้วย

ที่ทำมาตั้งแต่ต้น โดยที่ไม่รู้ก็ทำมานะ เพราะว่าสามีไปเป็นนายอำเภอ เป็นสมัย สงครามไม่ว่าจะปลัดอำเภอ นายอำเภอ ยากจนกันทั้งนั้นแหละ มีลูกกันเยอะ ๆ เราก็ช่วยดูแลทั้งครอบครัวและเด็กในอำเภอเท่าที่จะทําได้ ๆ

เมื่อตอนที่เป็นครูอยู่ลพบุรีที่โรงเรียนเทพสตรี เคยไปเป็นอาสาสมัครอาสากาชาด รุ่นแรกเลย เขาก็มีหลายแผนกนะ ก็ไปแผนกบำรุงใจคนไข้ พาเด็ก ๆ ไปเล่นละครมั่ง ร้องเพลงมั่ง ให้พวกทหารที่ไปรบแล้วก็เจ็บป่วยที่โรงพยาบาลอานันทมหิดล นั่นน่ะ เป็นการเริ่มเข้าไปทำงานครั้งแรก ยังได้เหรียญช่วยเขตหลังมาเลย เวลาไปไหนขึ้นรถ ลงเรือลดครึ่งราคานะ รักษาถ้าโรงพยาบาลใช้บัตรนี้ได้ลดนะ เรียกว่าบัตรผ่านศึก

ขณะที่ทำก็มีพวกภรรยาทูตบ้าง ผู้อำนวยการองค์กรต่างประเทศบ้าง จำชื่อได้ คนเดียว มิสซิส มาซินทิล ก็มานั่งทำอยู่ด้วย เราก็พูดภาษาอังกฤษกันไม่ค่อยได้เป็นแรงบันดาลใจให้รวบรวมสมัครพรรคพวกตั้งกลุ่มเรียนภาษาอังกฤษกับอาจารย์ฝรั่งซึ่งช่วยในการทำงานตอนหลังมาก[2]

แม่มีโอกาสได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาบวกกับความสามารถและความตั้งมั่น ซึ่งเป็นตัวเชื่อมนำมาสู่การทำงานเพื่อสังคม

“อย่างที่บอกว่า ดิฉันเรียนกฎหมายที่ธรรมศาสตร์ แต่เรียนไม่จบต้องแต่งงานเสียก่อน แล้วก็ได้มีโอกาสกลับมาเรียนอีกครั้ง เมื่อลูก ๆ ทั้ง ๔ คนโตเข้าโรงเรียน กันหมดแล้วนั่นแหละ ที่กลับมาเรียนก็เพราะพวกเราซึ่งเป็นอาสาสมัครได้เข้าไปนั่งฟังๆ นั่งสังเกตการณ์ในการประชุมครั้งแรกของสภาสตรีฯ เมื่อเข้าไปฟังแล้วเราก็ได้เห็นคนเก่ง ๆ ยิ่งคนที่เป็นนักกฎหมายด้วยแล้ว พูดอะไรก็น่าฟัง คนเขาก็ศรัทธา แรงบันดาลใจที่ได้รับรู้ปัญหาเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายที่เสียเปรียบของผู้หญิงทำให้มุมานะ กลับมาเรียนต่อด้านกฎหมายที่ใจรักอีกครั้ง ตัวเองจำได้ว่า ตอนไปรับปริญญานั้นลูกไปเข้าแถวยืนดูแม่รับปริญญาด้วย ลูกตั้ง ๔ แน่ะ สมัยนั้นไม่ค่อยมีอย่างนี้ใช่ไหม และบัณฑิตหญิงก็มีไม่กี่คนและพอถึงตาเราเขาก็เรียก “นาง” เสียด้วยนะ เขาเรียก นางสาวและนาย นาย มาเรื่อย ๆ มาถึงดิฉันเขาเรียก นางจันทนี สันตะบุตร รับเสร็จออกมาใคร ๆ ก็มอง[3]

เมื่อเรียนจบทางกฎหมาย แม่ทำงานทั้งทางด้านสังคมสงเคราะห์และกฎหมายควบคู่กันมา ต่อมาได้เป็นกรรมการของสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายฯ จนได้ เป็นนายกสมาคมอยู่ ๒ สมัย มาเป็นผู้พิพากษาสมทบ ๑๗ ปี และได้ช่วยงานเพื่อสังคมที่อื่นอีกหลายแห่ง เช่น มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ มูลนิธิเพื่อความก้าวหน้าสตรีแห่งประเทศไทย มูลนิธิช่วยการศึกษาเยาวชนสยามฯลฯ และได้ร่วมผลักดันให้มีกฎหมายและปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับ

 


นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

หมายเหตุ

แม่ทำงานมานานมาก ผู้เคยร่วมงานที่ใกล้ชิดกับแม่ ถ้าไม่สูงวัยก็เสียชีวิต หรือ ลืม หรือไปตามหายาก และผู้ร่วมงานบางส่วนเป็นอาสาสมัคร หมุนเวียนเปลี่ยน กันไป พ่อเก็บเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งข่าวหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวงานของแม่ใส่แฟ้มไว้ รวมทั้งอัลบั้มรูป แต่ก็โดนปลวกกินและน้ำท่วม เหลือเพียงบางส่วนเท่านั้นที่พ่อเก็บไว้ ข้างเตียงและพลิกดูทุกคืนยามแม่ไม่อยู่ ไปทํางานต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เมื่อไปตามหาเอกสารจากองค์กรก็ไม่เหลือเช่นกัน เพราะบางส่วนโดนน้ําท่วม ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวและข้อจํากัดของเราเอง เราจึงได้เรียบเรียงเรื่องของแม่กับ งานขึ้นมาจากเอกสารและจากบุคคลเท่าที่หาได้ จึงขอคัดมาเพียงงานด้านละ ๑-๒ องค์กรเท่าที่เราพอจะหาได้

 


แฟ้มข่าวรูปแม่ในหนังสือพิมพ์พี่พ่อตัดเก็บไว้

 

สมาคมบัณฑิตทางกฎหมายแห่งประเทศไทย

 


“สามทหารเสือ” ของสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย (จากซ้าย) คุณแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ คุณจันทนี สันตะบุตร และคุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ ขณะไปร่วมการประชุมสัมมนากฎหมายธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๑๔

 

วัตถุประสงค์ของสมาคมฯ[4]

๑. เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายให้แก่ประชาชน

๒. ให้คําปรึกษาประนีประนอมข้อพิพาทและให้การสงเคราะห์แก่ประชาชนผู้มีปัญหาด้านกฎหมาย

๓. ส่งเสริมการศึกษาและประกอบการวิชาชีพทางกฎหมายของสตรี

๔. ศึกษาและวิเคราะห์บทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อหาทางแก้ไขกฎหมาย ให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมยิ่งขึ้น

๕. ให้ความร่วมมือเสริมสร้างความสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนความรู้กับสมาคม และองค์การอื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศ

๖. ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงกิจของสมาชิก

๗. ให้การสงเคราะห์และบําเพ็ญสาธารณประโยชน์ตามโอกาสอันควร

 


รําลึกถึง คุณหญิงจันทน์ สันตะบุตร ธันวาคม ๒๕๑๗ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

 

หลังเหตุการณ์วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ แต่งตั้งสภานิติบัญญัติขึ้น มีสตรีได้รับแต่งตั้งเป็นสภานิติบัญญัติรวม ๑๙ ท่าน คือ

๑. คุณหญิงสมศรี เจริญรัชต์ภาคย์

๒. นางชนัตถ์ ปิยะอุย

๓. นางจันทนี สันตะบุตร

๔. นางแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ

๕. ศาสตราตราจารย์ คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร

๖. เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่

๗. ศาสตราจารย์เต็มสิริ บุณยสิงห์

๘. นางบรรจง นิวาศะบุตร

๙. ศาสตราจารย์ คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู

๑๐. คุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ

๑๑. คุณหญิงสุภาพ วิเศษสุรการ

๑๒. นางสุรีพันธุ์ มณีวัต

๑๓. นางสมศรี เอกชัย

๑๔. คุณหญิงอัมพร มีสุข

๑๕. นางกุหลาบ มัลลิกะมาส

๑๖. นางสายหยุด นิยมวิภาต

๑๗. นางเอื้อนทิพย์ เปรมโยธิน

๑๘. นางจุรี ศัตรวาหา

๑๙. คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร (ถึงแก่กรรมระหว่างเป็นสมาชิกนิติบัญญัติ)

 

คณะกรรมการของสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิก สภานิติบัญญัติ ๒ ท่าน คือ นางแร่ม และนางจันทนี ซึ่งเป็นผู้ช่วยอย่างเข้มแข็ง และเป็นกําลังสําคัญของสมาคม ทั้งสองท่านนี้ พร้อมด้วยสมาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งเป็นผู้หญิงทั้งหมดได้ร่วมมืออย่างพร้อมเพรียงกันขอแก้กฎหมายให้หญิงชาย มีสิทธิเท่าเทียมกัน คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ ในฐานะนายกสมาคมบัณฑิตสตรี ทางกฎหมายฯ ก็ได้มีหนังสือถึงท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติทั้ง ๒๙๙ ท่าน เพื่อขอให้ ท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติทุกท่านได้ช่วยสนับสนุนให้หญิงชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน

ในที่สุดรัฐธรรมนูญซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ ในมาตรา ๒๘ ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า “หญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน[5]

 

สมาชิกวุฒิสภา

 

 

เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาจํานวน ๑oo คน ในจํานวนนี้มีสตรี ๙ ท่าน คือ

๑. นางจันทนี สันตะบุตร

๒. คุณหญิงดิฐการภักดี (สายหยุด บุณยรัตพันธุ์)

๓. ศาสตราจารย์นวลนาฏ อมาตยกุล

๔. ศาสตราจารย์ คุณหญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา

๕. นางแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ

๖. นางสมถวิล สังขทรัพย์

๗. คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ

๘. นางสุวัฒนา เพชรทองคํา

๔. นางเอื้อนทิพย์ เปรมโยธิน

นักกฎหมายของสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายฯ ๓ คน คือ นางจันทนี นางแร่ม และคุณหญิงสุภัทรา ได้พยายามทําหน้าที่อย่างดีที่สุดในสภา เมื่อประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ฉบับแก้ไขใหม่ผ่านเข้ามาสู่วาระการพิจารณาของสภา วุฒิสมาชิกหญิงและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงต่างช่วยกันอภิปราย แสดงความคิดเห็น จนทําให้กฎหมายฉบับนั้นผ่านไปได้ด้วยดีอย่างน่าพอใจ

 


คณะ ส.ส.หญิง จํานวน ๑๕ คน ประกอบด้วยวุฒิสมาชิก ๘ คน และ ส.ส. ๗ คน ออกเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมืองไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีคุณหญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ วุฒิสมาชิก เป็นหัวหน้าคณะ นายไฉ เจ๋อ หมิน เอกอัครราชทูตจีนประจําประเทศไทย กับนายอุทัย พิมพ์ใจชนประธานสภาฯได้ไปส่งที่สนามบินก่อนออกเดินทาง

 

หญิงชายเท่าเทียมกัน

กรรมการและสมาชิกของสมาคมฯ รณรงค์ขอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ บรรพ ๕ ว่าด้วยครอบครัว เพื่อให้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมชาย ด้วยวิธี เขียนบทความ อภิปราย เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจผ่านสื่อมวลชนและกลุ่มสตรี ทั่วประเทศ ดังเหตุการณ์สําคัญที่ควรจารึกไว้ดังนี้

๕ มกราคม ๒๕๑๓ ยื่นหนังสือขอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ในสาระสําคัญ ๕ ข้อ คือ การจดทะเบียนสมรส ความยินยอมของ สามี ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา เหตุหย่า และค่าอุปการะเลี้ยงดู ต่อจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ณ ทําเนียบรัฐบาล

๗ ตุลาคม ๒๕๑๗ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมาตรา ๒๘ บัญญัติว่า “หญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน” บทบัญญัติใดๆ ที่จํากัดสิทธิและ เสรีภาพอันเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะต้อง ปรับปรุงแก้ไขภายใน ๒ ปี

๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๙ รัฐบาลประกาศแก้ไขกฎหมายดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาเป็นผลให้สตรีไทยทั้งปวงได้รับความเสมอภาคเท่าเทียมกันกับบุรุษ ตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นต้นไป

 

 


อภิปรายเรื่องกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๕

 

 

อภิปรายในหัวข้อ “หญิงไทยยุคนี้” ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ โคทม อารียา  สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ ผู้ดําเนินการอภิปราย สุดาทิพย์ สินทร และรงค์ วงษ์สวรรค์

 

สตรีไทยผู้กล้าหาญแห่งยุค ผู้นำเรียกร้องสิทธิทาง กม.

โรมิโอ-จูเลียต

คอลัมน์ เอ็กซ์คลูซีฟ วันอาทิตย์

สตรีผู้ได้ชื่อว่า “ผู้กล้าหาญ” แห่งยุคในด้านการแต่งกายในยุคนี้ ไม่ได้ หมายความถึงผู้กล้าแต่งตัวเปิดเผย หรือเปิ๊ดสะก๊าด เพราะนั่นถือเป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้ว หากแต่ “ผู้กล้าหาญ” ในการแต่งกายกลับหมายถึงผู้กล้าที่จะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าซ้ำ ๆ โดยไม่อายใคร

‘ผู้กล้าหาญ’ เอ็กซ์คลูซีฟ วันนี้ของเรา คือ จันทนี สันตะบุตร นักกฎหมายสตรีชื่อดังที่ใคร ๆ ย่อมรู้จัก ที่ได้รับฉายานี้ ก็เพราะอาจารย์สมศรี สุกุมลนันทน์ เป็นผู้ตั้งให้ เนื่องจากเธอไม่เคยฟุ่มเฟือยในเรื่องเสื้อผ้า แม้จะต้องออกงานหรือออกสังคมบ่อย ๆ ก็มักจะใส่ชุดซ้ำ ๆ กัน แต่เป็นชุดที่เหมาะกับกาลเทศะกับวัยและบุคลิกของเธอ

จันทนีกล่าวว่า “ถ้าตัดเสื้อผ้าให้เหมาะกับตัวแล้ว สมัยใด ๆ ก็ใช้ได้ขณะนี้มีชุดอยู่เพียง ๑๐ กว่าชุดเท่านั้นที่จะใช้ออกงานได้”

จันทนีอายุ ๕๓ ปี เป็นภริยาอดีตผู้ว่าฯ ศิริ สันตะบุตร ที่ตั้งใจทํางานด้านกฎหมายเพื่อสตรีไทยโดยทั่วไป ขณะนี้ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นกรรมการร่างและแก้ไขกฎหมายแพ่ง ร่วมกับ แร่ม พรหโมบลบุณยประสพ ซึ่งเป็นสตรีเพียง ๒ คนในคณะกรรมการ ๙ คน

ก่อนที่จะได้รับตําแหน่งให้เป็นกรรมการร่างกฎหมายครั้งนี้ จันทนีเคยเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลคดีเด็กและเยาวชนอยู่หลายสมัย และเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ ปัจจุบันเป็นวุฒิสมาชิกและดํารงตําแหน่งนายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย

สิ่งที่ภูมิใจที่สุดในชีวิต คือ การได้เข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งมีส่วนชี้แจงถึงความคิดเห็นและความต้องการของสตรี

จันทนีจบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งขณะนั้นเธออายุ ๒๕ ปี และลูกทั้ง ๔ คนก็โตหมดแล้วนี่เป็นสิ่งที่ทําให้จันทน์คิดว่า อายุไม่เป็นอุปสรรค ถ้าตั้งใจจะทําอะไรสักอย่าง

อาชีพแม่บ้านเป็นอาชีพหลักของจันทนี ถ้ามีเวลาว่างชอบปลูกต้นไม้อ่านหนังสือและทำอาหาร แต่ชีวิตประจำวันส่วนมากมักจะไปประชุมพร้อมกับรถออสตินสีขาวที่เธอขับเอง

‘บุคคลผู้กล้าหาญ เอ็กซ์คลูซีฟ’ ซึ่งเป็นทั้งผู้กล้าหาญในด้านการแต่งกาย และผู้กล้าหาญอยู่ในการทำงาน ได้ฝากข้อคิดให้ผู้หญิงไทยในวันนี้ว่า “สตรีควรจะรวมตัวกันเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ เพื่อให้เห็นว่าสตรีไม่ได้เป็นเพียงดอกไม้ประดับโลกเท่านั้น หากแต่เป็นเพศที่เท่าเทียมและมีความสามารถเหมือนชายทุกอย่าง”

 

นายกสมาคม

คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ๒ สมัย คือ พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๒๒[6]

ในขณะนั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ สำนักงานของสมาคมฯ ตั้งอยู่ที่ตึกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยกรุณาให้ยืมห้อง ๑ ห้องของอาคารชั้นที่ ๓ ตึกหอสมุดเป็นที่ตั้งสำนักงานของสมาคม และใช้เป็นที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ประชาชนโดยทั่วไปสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง เฉพาะวันเสาร์เวลา ๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. ได้ผู้สนใจมาขอรับบริการดังกล่าวอยู่ตลอดเวลาที่เปิดสำนักงาน เรื่องที่ปรึกษาส่วนใหญ่เป็นเรื่องครอบครัว ปัญหาระหว่างสามีภรรยา การให้คำปรึกษาของสมาคมถือหลักการดังนี้

๑. ประนีประนอมข้อพิพาท

๒. เป็นสื่อกลางให้ทั้งสองฝ่ายทำความเข้าใจ โดยนัดเชิญพบ หรือออกไปเยี่ยมถึงบ้าน

๓. จัดการหาทนายความให้ กรณีที่ไม่อาจระงับข้อพิพาทได้ต้องฟ้องร้องกัน

๔. ให้บริการในชั้นศาล

๕. ชี้แจงและให้คำปรึกษาหลักกฎหมายต่าง ๆ ตามที่มีผู้ร้องขอ

เนื่องจากมีผู้มาขอรับบริการคำปรึกษามากขึ้นทุกที สำนักงานของสมาคมคับแคบและไม่อาจให้คำปรึกษาทุกวันได้ เนื่องจากเป็นเวลาเรียนของนักศึกษาคุณหญิงจันทนี สันตะบุตร นายกสมาคมบัณฑิตตรีการกฎหมายขณะนั้นได้ทำของคณะบอลชอย จากสหภาพโซเวียตรัสเซีย และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเปิดอาคารของสมาคม เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๒[7]

 


วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๒ เวลา ๑๖.๓๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเปิดอาคารของสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ถนนสุโขทัย

 

งานของสมาคมฯ ได้ขยายออกไปตามความเจริญของสังคมมากมายหลายอย่าง ซึ่งในปี ๒๕๑๘-๒๕๒๒ สมาคมฯ ได้ประมวลงานเหล่านี้เข้าไว้เป็นหมวดหมู่ จัดทำเป็นโครงการโดยย่อดังนี้[8]

โครงการที่ ๑ โครงการให้คำปรึกษาปัญหาข้อกฎหมาย และครอบครัว สำนักงานของสมาคมฯ เปิดบริการแก่ประชาชนสัปดาห์ละ ๕ วัน มีผู้มาขอรับคำปรึกษาส่วนใหญ่เป็นปัญหาครอบครัว รองลงมาคือปัญหาอื่น ๆ ขอคำแนะนำเรื่องทั่วไปทางกฎหมาย จัดหาทนายความให้ มีผู้ขอคำปรึกษาทางจดหมายและโทรศัพท์และ ผู้ขอบริการในชั้นศาล รวมแล้วมีผู้มาใช้บริการปีละประมาณ ๒๐๐-๔๐๐ คน

โครงการที่ ๒ โครงการเผยแพร่ความรู้กฎหมายที่ประชาชนควรทราบ สมาคมฯ เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายโดยทั่วไป หรือตามที่มีผู้ร้องขออยู่เป็นประจำ ได้แก่ วารสารของสมาคมฯ บรรยายและอภิปรายทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์บรรยายและอภิปรายความรู้ทางกฎหมายตามที่องค์การและสมาคมต่าง ๆ ขอมาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จัดอบรมผู้นำท้องถิ่นเป็นครั้งคราวและสอดแทรกในการชุมนุม สัมมนาขององค์การต่าง ๆ

ครงการที่ ๓ โครงการศึกษาและเพิ่มพูนความรู้ทางกฎหมายแก่สมาชิกจัดให้สมาชิกมีการพบปะสังสรรค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็น จัดบรรยายและอภิปรายเพื่อเพิ่มพูนความรู้ เสนอแนะข้อกฎหมายที่มีความบกพร่องให้แก่สมาชิกเพื่อให้ได้มีการแก้ไขเพื่อความเป็นธรรมแก่สังคม ตลอดจนจัดให้มีห้องสมุดเพื่อการศึกษาค้นคว้า

โครงการที่ ๔ โครงการสงเคราะห์หญิงและเด็กผู้ประสบความเดือดร้อนสมาคมฯ เป็นสมาชิกของสภาสตรีแห่งชาติ สภาสังคมสงเคราะห์ฯ และเป็นสมาชิกของสหพันธ์นักกฎหมายนานาชาติ ได้ร่วมมือกับองค์กรดังกล่าวปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์ ได้แก่ หารายได้ให้สภากาชาดไทยโดยร่วมในการออกร้านกาชาดและไม่หักค่าใช้จ่าย หารายได้ถวายสมเด็จองค์สภานายิกาสภากาชาดไทย

โครงการที่ ๕ โครงการความร่วมมือสร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความรู้กับสมาคมและองค์การอื่น ได้แก่ มีผู้แทนจากองค์กรอื่นเข้าเยี่ยมที่สมาคมฯ เช่น จากยูเสด ฝ่ายเอเชีย ผู้แทนองค์การวางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ ร่วมกับ ชมรมมิตรสัมพันธ์และนิตยสาร Friend จัดงานฉลองวันสตรีสากลที่โรงแรมนารายณ์ พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นต้น

สมาคมฯ สมัครเข้าเป็นองค์การสมาชิกสหพันธ์สตรีนักกฎหมายนานาชาติ ชื่อภาษาอังกฤษว่า International Federation of Woman Lawyers (FIDA) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร ได้รับเลือกเป็น Country Vice-President ของ FIDA สำนักงานกลางอยู่ที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

 


พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายา เสด็จไปทรงเปิดป้าย บ้านพักฉุกเฉิน ณ สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายฯ ถนนสุโขทัย

 

การแก้ไขกฎหมาย

แม่ได้ทำงานด้านกฎหมายมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ใช้ความรู้ ความสามารถทางด้านกฎหมายเพื่อร่วมผลักดันและแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและผู้หญิง ได้แก่ การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว, แก้ไขพระราชบัญญัติบุตรบุญธรรม, แก้ไขร่างพระราชบัญญัติแรงงานหญิงและเด็ก, แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพิ่มอายุเด็กที่ถูกละเมิดทางเพศจาก ๑๓ ปี เป็น ๑๕ ปี, แก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค จากฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นฉบับแก้ไข พ.ศ. ๒๕๔๑, แก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๓๙, แก้ไขพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๐, กรรมาธิการร่วมแก้ไขพระราชบัญญัติชื่อสกุลและคำนำหน้านาม, แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๔๖, ๒๔๗, การชะลอการลงโทษผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์และมีลูกติดอยู่กับแม่ในเรือนจำและทัณฑสถาน เริ่มดําเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยความร่วมมือของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำให้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับที่ ๒๕ (พ.ศ. ๒๕๕๐) กฎหมายบางฉบับก็ผ่าน บางฉบับก็ไม่ผ่าน ดังปรากฏในข่าวในหนังสือพิมพ์บางส่วนดังนี้

-๑-

สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายเสนอแก้บัตรประจำตัวประชาชนระบุสถานภาพหญิงชาย โสด สมรส ม่าย ป้องกันชายจดทะเบียนสมรสซ้อนให้กรมตำรวจรับบัณฑิตกฎหมายหญิงเป็นพนักงานสอบสวน

ในการประชุมใหญ่ประจำปีสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย และมีพิธีต้อนรับบัณฑิตใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษาทางกฎหมาย มีผู้เข้าร่วมประชุมหลายร้อยคน คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร กรรมการที่ปรึกษาสมาคมกล่าวต่อที่ประชุมว่า ขอให้บัณฑิตสตรีทางกฎหมายทุกคนช่วยกันรณรงค์ในเรื่องขอ สิทธิสตรีด้านต่าง ๆ ซึ่งทางสมาคมได้ดำเนินการมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะปัญหาการจดทะเบียนสมรสซ้อน และการเรียกร้องให้กรมตำรวจเปลี่ยน พนักงานสอบสวนจากตำรวจชายเป็นตำรวจหญิง เพื่อช่วยในการสอบสวนคดีต่าง ๆ

คุณหญิงจันทน์กล่าวว่า ในเรื่องการจดทะเบียนสมรสซ้อนนั้น ได้มีการเสนอกันมาหลายครั้งหลายหน แต่ได้รับการเมินเฉย ซึ่งทางสมาคมไม่ได้คิดจะป้องกันเฉพาะเมียหลวงเท่านั้น แต่ต้องการช่วยหญิงทุกคน โดยเสนอวิธีการป้องกันไม่ให้จดทะเบียนสมรสซ้อนได้ โดยให้แก้ไขรายละเอียดในบัตรประจำตัวประชาชนของแต่ละคนเสียใหม่ ให้ระบุสถานภาพของแต่ละคนว่า เป็น “โสด” “สมรส” หรือ “ม่าย”

...

“ที่ผ่านมาคดีข่มขืนหญิงสาวที่เกิดขึ้นผู้หญิงมักไม่ค่อยกล้าไปแจ้งความ เพราะพนักงานสอบสวนที่เป็นชายจะสอบสวนอย่างละเอียดยิบ ไม่มีเจ้าทุกข์คนไหนจะไปกล้าแจ้งความเพราะความอับอาย หากมีพนักงานสอบสวนเป็นหญิงด้วยกันและมีจิตใจที่เข้าอกเข้าใจกันย่อมทำให้การสอบสวนคดีข่มขืนเป็นไปด้วยดี”

 

 

ในโอกาสที่ ดร.เฮลมุท โคล์ท นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันและภริยา มิส อิลล์ ดร.เจอร์เก้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และคณะผู้ติดตามอีก ๘๐ ท่าน ได้มาเยือนประเทศไทยแล้วขณะนี้จนถึงวันเสาร์ที่ ๓ พ.ค. นี้ โดยเป็นแขกรับเชิญของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีของไทย การพบปะสนทนาของนายกรัฐมนตรีทั้งสองครั้งนี้นอกเหนือจากเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจในระดับทวิภาคีและระดับโลกแล้ว มีรายงานข่าวจากต่างประเทศมาว่า ทางพรรคสังคมประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของเยอรมัน ได้เร่งเร้าให้นายกรัฐมนตรี หยิบยกเรื่องเซ็กซ์ทัวร์และการจัดหาคู่ทางไปรษณีย์ระหว่างสาวไทยกับหนุ่มเยอรมัน ขึ้นมาเจรจาเพื่อหาข้อยุติกิจการดังกล่าวกับทางเจ้าหน้าที่ของไทยด้วย

...

คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร ในฐานะที่เป็นกําลังสําคัญผลักดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณีจนใกล้สำเร็จออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไปแล้ว คุณหญิงได้ให้ความเห็นว่า ในเรื่องนี้ทางไทยเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เคยหามาตรการป้องกันแล้วทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยกรมแรงงานก็มีหน่วยงานต่าง ๆ ให้คําปรึกษาแก่หญิงก่อนที่จะออกไปทํางานยังต่างประเทศ รวมทั้งสภาสตรีแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนก็เคยร่วมมือกับกรมแรงงานจัดอบรมให้ความรู้แก่หญิงที่จะไปทํางานยังต่างประเทศ “แต่อย่างไรก็ตามเราก็ได้พยายามช่วยในส่วนที่เขาจะถูกข่มเหงรังแกและถูกหลอกลวงเท่านั้น เราไม่สามารถที่จะไปลิดรอนหรือตัดสิทธิ์เขาได้ การที่คนเราจะไปไหนมาไหนนั้นเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงมีและควรที่จะให้ความเคารพในสิทธิมนุษยชนซึ่งกันและกัน”

-๓-

กลุ่มสตรีหลายสถาบันเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมใหญ่ต้อนรับวันสตรีสากล ๘ มีนาคมปีนี้ หยิบยกปัญหาโสเภณีขึ้นมาสัมมนาในหัวข้อ “ปัญหาโสเภณี และการค้าหญิงทั้งในและต่างประเทศ” ให้จัด สัปดาห์ต่อต้านการค้าหญิงในโอกาสวันสตรีสากลระหว่าง ๘-๑๐ มีนาคมนี้ ที่ศูนย์สารนิเทศ จุฬาฯ สําหรับขอบข่ายการสัมมนาครั้งนี้จะได้เน้นไปในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีซึ่ง คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร แห่งสมาคมบัณฑิตสตรี เป็นผู้นําเสนอรายงาน

 

 

ส่วนศิริพร สะโครบาเนค โครงการสตรีศึกษา จะเสนอด้านความเป็นมาของขบวนการค้าหญิง อาจารย์ธีรนาถ กาญจนอักษร จะเสนอข้อมูลด้านสภาพและปัญหาสังคม เศรษฐกิจ คุณหญิงกนิษฐา วิเชียรเจริญ เสนอเรื่องการศึกษาและอาชีพ ทางด้านศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กเสนอเรื่องโสเภณีเด็ก นอกจากการจัดสัมมนาแล้ว ตลอดสัปดาห์สตรีสากลนี้ยังจะได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับโสเภณี ตลอดจนจะฉายวีดีโอและสไลด์เกี่ยวกับโสเภณี เด็ก โดยกองสตรีคริสเตียนสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยอีกด้วย...

-๔-

สภาผ่านฉิว พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี

คณะกรรมการพัฒนาสตรีแห่งชาติ ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการเสนอ พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณีใหม่มาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยนําเข้าสภาจนผ่านวาระต่าง ๆ มาตามลำดับ ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนในวาระ ๓ เป็นที่เรียบร้อย ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ ซึ่งนับเป็นความสําเร็จของกฎหมายไทยที่จะมี พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณีฉบับใหม่ที่ทันสมัยกว่าฉบับเก่า

คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร คณะอนุกรรมการพัฒนาสตรีแห่งชาติทางด้านกฎหมาย เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณีฉบับใหม่จะมีการประกาศใช้หลังจากให้วุฒิสภาพิจารณาอีกครั้ง คาดว่าคงไม่มีปัญหา ซึ่งใน พ.ร.บ.นี้มีบทลงโทษพ่อเล้าแมงดาอย่างรุนแรง รวมทั้งสื่อโฆษณาในทางค้าประเวณี ในขณะเดียวกันจะลดโทษโสเภณีและมุ่งในการสงเคราะห์มากกว่าเอาโทษ โดยเนื้อหากล่าวว่า ผู้ใดเป็นเจ้าของ หรือผู้ดูแลในสถานบริการเพื่อการค้าประเวณีจะระวางโทษตั้งแต่ ๒ ถึง ๓ ปี และปรับตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ ถึง ๒๐,๐๐๐ บาท และถ้ามีการหน่วงเหนี่ยว กักขังหรือทําให้ถึงตาย จะมีโทษตั้งแต่ ๓ ปี ถึงตลอดชีวิตและปรับเพิ่มขึ้นตามลําดับ และการล่อลวงเด็กเพื่อการค้าประเวณีจะยิ่งมีโทษรุนแรงขึ้นด้วย

สําหรับสื่อโฆษณาในเชิงชักชวนหรือแนะนํา หรือเรียกร้องเพื่อการค้าประเวณีจะมีโทษขั้นต่ําจําคุกไม่เกิน ๒ เดือน และปรับไม่เกิน 9,000 บาท ส่วนโสเภณีจะถูกนำตัวไปอบรมฝึกวิชาชีพตามระยะเวลา ๒-๖ เดือน และจะมีการติดตามผลต่อไป

คุณหญิงจันทนีกล่าวเปิดเผยถึงผลดีของ พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณีฉบับใหม่ด้วยว่า จะทําให้ผู้ค้าประเวณีบนความเดือดร้อนของผู้อื่นได้รับโทษอย่างที่ควรจะเป็น และเป็นการช่วยเหลือหญิงเคราะห์ร้ายมากกว่าจะเอาโทษ ดังเช่นที่ผ่านมา

 

๕ นาทีกับคุณหญิงจันทนี สันตะบุตร ที่ปรึกษาสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย

คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า มาตรการทางกฎหมายมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับประชากร ประเทศใดก็ตามเมื่อจะต้องออกกฎหมาย กฎหมายนั้นไม่ควรมีผลขัดแย้งกับสิทธิมนุษยชน ถ้ากฎหมายใดก่อให้เกิดการปฏิบัติอันขัดขวางหรือขัดแย้งต่อสิทธิมนุษยชน ก็สมควรที่จะให้มีการแก้ไขหรือสังคายนา ให้สอดคล้องกับสาระและเจตนารมณ์แห่งสิทธิดังกล่าว เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงความคิดเห็นบางประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับกฎหมายและประชากรของไทย คอลัมน์ “๕ นาที กับปัญหาประชากร” ขอนำท่านผู้อ่านไปพบพบกับคุณหญิงจันทนี สันตะบุตร ที่ปรึกษาสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย ซึ่งอดีตเคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมนี้อยู่ และปัจจุบันยังเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับสิทธิสตรีให้อีกหลาย ๆ สมาคม

ผู้สัมภาษณ์: เพราะเหตุใด กฎหมายจึงกำหนดให้ชายและหญิงอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์แล้วทำการสมรสได้ แทนที่จะกำหนดให้มีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว

คุณหญิงจันทนี: ต้องเท้าความเดิมเสียก่อนว่า แต่ก่อนนี้กฎหมายกำหนดให้ชายอายุ ๑๗ ปี และหญิงอายุ ๑๕ ปีบริบูรณ์แล้วทำการสมรสได้กฎหมายฉบับนี้เราจะแก้ที่บรรพนี้มานานแล้วแต่ก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกัน ต่อมามีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๕๑๗) มาตรา ๒๘ วรรรคสองที่บัญญัติว่า ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน จึงต้องแก้ไขบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในตอนแรกบรรดานักกฎหมายสตรีเสนอให้เลื่อนอายุขึ้นไปเป็น ๑๘ ปีและ ๒๐ ปี การที่เราเสนอให้มีการเลื่อนอายุขึ้นไปก็เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายอาญา ศาลเด็ก การเข้ารับราชการ ฯลฯ แต่ก็แพ้โหวต

อย่างไรก็ตาม การที่เลื่อนอายุการสมรสออกไปก็อาจก่อให้เกิดปัญหาบุตรนอกสมรสมากขึ้น และจะเป็นปัญหาแก่ตัวเด็กในภายหลัง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีมาตรการของรัฐบาลบางประการที่ส่งเสริมการขยายอายุการแต่งงานให้สูงขึ้น โดยระบุให้ลดอัตราภาษีเงินได้ของคนโสด เป็นต้น

ผู้สัมภาษณ์: การจดทะเบียนซ้อนเป็นปัญหาของสังคมในปัจจุบัน อยาก ทราบว่า คุณหญิงมีวิธีการอย่างไรที่จะช่วยเหลือฝ่ายสตรีซึ่งมีความเสียเปรียบ ทางสังคมอยู่

คุณหญิงจันทน์: ทางออกที่ดีซึ่งได้เคยเสนอต่อ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยและปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อสมัยที่ยังดํารงตําแหน่ง นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายอยู่ และท่านก็รับปากแต่ยังไม่มีการปฏิบัติ คือ ขอให้มีรายละเอียดเพิ่มเติมมากขึ้นในบัตรประจําตัวประชาชน ได้แก่ สถานภาพสมรส ชื่อภรรยา/สามี สถานที่เกิด ชื่อบิดามารดา เพียงแต่ เพิ่มรายละเอียดเหล่านี้ลงไป ไม่น่าจะทําให้สิ้นเปลืองมากมาย เป็นสิ่งที่พอทําได้

ตัวอย่างที่ได้เคยเห็นมา คือ ในประเทศรัสเซีย เคยไปยืนดูเขาจดทะเบียนกัน เขาจะต้องใช้บัตรที่เป็นแบบที่กล่าวมาในการจดทะเบียนสมรส และได้ทราบว่าที่จีนเองก็มีเช่นเดียวกัน

ส่วนในกรณีที่เป็นข้าราชการ อาจจะใช้บัตรข้าราชการนั่นเอง แต่ให้เพิ่มรายละเอียดลงไปในบัตรข้าราชการเช่นเดียวกัน

บัตรดังกล่าวนี้จะเป็นหลักฐานไม่ให้เกิดการจดทะเบียนสมรสซ้อนนอกจากนี้ยังปลอมแปลงได้ยาก และช่วยให้เกิดความปลอดภัยแก่ประเทศในขณะที่บ้านเมืองกําลังถูกคุกคามทางชายแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน

ผู้สัมภาษณ์: คุณหญิงมีความเห็นอย่างไรบ้างกับกฎหมายทําแท้ง

คุณหญิงจันทน์: ที่ผ่าน ๆ มาก็ได้พูดไปมากแล้วในเรื่องนี้ กฎหมายทําแท้งความจริงมีอยู่แล้วแต่ยังคลุมเครืออยู่ ไม่ชัดแจ้ง ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศคําว่า สุขภาพ หมายถึงสุขภาพกาย สุขภาพจิต รวมทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทุก ๆ ประเทศก็ยอมรับ และประเทศไทยเราก็เป็นประเทศหนึ่งซึ่งเป็นประเทศสมาชิก ก็น่าที่จะยอมรับอย่างไม่มีทางเลี่ยงได้

เมื่อไปถามผู้พิพากษาบางคนก็บอกว่าที่ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพนั้น ต้องเป็นอย่างสาหัส ทางจิตไม่ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในเมื่อยังไม่มีคดีเกิดขึ้นที่กล้าสู้กันถึงขั้นขึ้นศาล เพราะฉะนั้นจึงเป็นโอกาสให้มีการเปิดคลินิกทําแท้งกันอยู่มากมาย ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่เป็นทางออกในความผิดพลาดของผู้มีเงิน มีหน้ามีตาทางสังคมที่จะช่วยตัวเองได้มากกว่าคนยากจนในท้องถิ่นชนบท คนเหล่านี้จะมารู้ได้อย่างไรว่าเขามีที่ทําแท้งกันที่ไหน เราจะแก้ไขกฎหมายอย่างไรให้มีประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น

ถ้าเรายอมรับว่าการทําแท้งที่จําเป็น เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทําให้สังคมเราอยู่กันได้ดีขึ้น ก็ควรจะตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง อาจจะมีที่ปรึกษาเพื่อให้คําปรึกษา เช่น ถ้าเขาอยากเอาลูกไว้ จะต้องมีสถาบันรองรับที่จะทําให้เด็กที่เกิดมาไม่มีปมด้อย ดิฉันจึงไม่ตำหนิคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ในเมื่อไม่เห็นด้วยก็ต้องคิดหาช่องทางช่วยว่าจะทําอย่างไร

เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่เราจะต้องมีการร่วมมือกันระหว่างนักสังคมนักกฎหมาย หลาย ๆ คณะมาวางนโยบายและคิดค้นหาวิธีว่าจะมีวิธีใดที่จะทําให้กฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้อย่างได้ผลและมีประสิทธิภาพ

ขณะนี้ก็เป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาแรงงานแห่งชาติ ซึ่งได้เป็นประธานอนุกรรมการศึกษาเรื่องสวัสดิการและความ ปลอดภัยของแรงงานก็ได้นําเอาเรื่องการวางแผนครอบครัวเข้าไปใส่ไว้ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ประการแรก ถ้าทำแท้งโดยมิได้ทำให้ตัวเองแท้ง (แท้งธรรมชาติ) นายจ้างจะต้องให้หยุดงาน หรือให้สวัสดิการด้วย อีกประการหนึ่ง ถ้ามีบุตรแค่ ๒-๓ คน โรงงานก็จะให้สวัสดิการเต็มที่ แต่ถ้าเกินจากนี้ก็ไม่ได้รับสวัสดิการ

 

ภาคผนวก

 


หนังสือรำลึกถึง คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร

 

เอกสารอ้างอิง : 

  • ศิรินี สันตะบุตร, ศุทธินี สันตะบุตร, จิรวุฒิ สันตะบุตร, จริย์วัฒน์ สันตะบุตร, ทองพูล บัวศรี และรังสิมา ลิมปสวัสดิ์. รำลึกถึงคุณหญิงจันทนี สันตะบุตร. (กรุงเทพฯ: บริษัทภาพพิมพ์ จำกัด, 2565), 192-214.

 


[1] “บทสัมภาษณ์ คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร แม่ของเด็กผู้ไร้ที่พึ่ง”,  ผู้หญิง ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ หมดอายุ ๑๖๘ ปักษ์แรก สิงหาคม ๒๕๓๕.

[2] เรื่องเดียวกัน

[3] เรื่องเดียวกัน

[4] สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย, เครื่องหมายแห่งความรุ่งเรือง คือสภาพ แห่งสตรี, ๒๕๓๕, หน้า ๓๒๘

[5] คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ, สิทธิสตรี ประวัติและวิวัฒนาการของการเรียกร้องสิทธิสตรีไทย, ๒๕๓๕, หน้า ๒๑-๒๒.

[6] สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย, อ้างแล้ว, ปกด้านใน.

[7] สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเสด็จเปิดอาคารสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์, ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๒, หน้า ๑.

[8] สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย, อ้างแล้ว, หน้า ๓๓๒-๓๓๓.