ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์วันสตรีสากล (International Women's Day)

8
มีนาคม
2568

 

Focus

  • วันสตรีสากล (8 มีนาคม) มีจุดเริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวของกรรมกรหญิงในปี ค.ศ. 1857 ที่นิวยอร์ก ซึ่งเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรมและสภาพการทำงานที่ดีขึ้น เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งใน ค.ศ. 1907 ที่ชิคาโก โดยมีการนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องลดชั่วโมงการทำงานและสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง คลารา เซทคิน (Clara Zetkin) นักสังคมนิยมหญิงชาวเยอรมัน มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้วันที่ 8 มีนาคมเป็นวันสตรีสากล ซึ่งได้รับการรับรองครั้งแรกในที่ประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมที่โคเปนเฮเกนใน ค.ศ. 1910
  • ในประเทศไทย การเคลื่อนไหวของขบวนการสตรีเริ่มมีบทบาทสำคัญตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ผ่านการประท้วงของแรงงานหญิง และเหตุการณ์อันเป็นตำนานที่สุด คือ การประท้วงยึดโรงงานฮารา ตรอกวัดไผ่เงินของกรรมกรหญิงไทย
  • ข้อเรียกร้องของขบวนสตรีในปัจจุบันไม่ได้จำกัดแค่เรื่องค่าจ้าง แต่ครอบคลุมถึงสิทธิในการตัดสินใจของผู้หญิงในภาครัฐ ความปลอดภัยในที่ทำงาน และสิทธิของกลุ่มผู้หญิงที่เปราะบาง ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการยอมรับสิทธิสตรีมากขึ้น แต่ยังคงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศในด้านค่าจ้าง การเข้าถึงตำแหน่งผู้นำ และความรุนแรงทางเพศ

 

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าวันที่ ๘ มีนาคม คือวันสตรีสากล (International Women’s Day) ในวันนี้ของทุกปี ผู้หญิงจากหลายประเทศและจากทุกทวีป จะมารวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองและรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของเพศตนเอง   จึงถือว่าเป็นวันแห่งความภาคภูมิใจ เพราะกว่าจะถึงวันนี้ ผู้หญิงจำนวนมากไม่เพียงแต่ต้องอุทิศหยาดเหงื่อ แรงกาย และแรงใจให้กับขบวนสตรีในฐานะนักสู้  ทว่าในเวลาเดียวกัน ผู้หญิงหลายคนยังยอมสละชีวิตเพื่อแลกกับความเป็นธรรม ซึ่งหมายถึงความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย

ประวัติความเป็นมาของวันสตรีสากล เริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวของกรรมกรหญิงเมื่อ ๑๖๘ ปีก่อน  โดยในวันที่ ๘ มีนาคม  ค.ศ. ๑๘๕๗  (พ.ศ. ๒๔๐๐) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก  ประเทศสหรัฐอเมริกาได้รวมตัวกันเรียกร้องสิทธิของตน ด้วยการลุกฮือประท้วงและให้นายจ้างเพิ่มค่าแรงงาน  ผลของการประท้วงครั้งนี้ทำให้กรรมกรหญิง ๑๑๙  คนเสียชีวิต  จากการลอบวางเพลิงเผาโรงงานขณะที่พวกเธอกำลังนั่งชุมนุมกันอยู่

ในเวลาต่อมา การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีครั้งสำคัญ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗  (พ.ศ. ๒๔๕๐)  โดยกรรมกรหญิงโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก  ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รวมตัวกันนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องให้นายจ้าง ปรับปรุงเงื่อนไขและสภาพการทำงานให้ดีขึ้น  การประท้วงมีสาเหตุมาจากการที่นายจ้างกระทำต่อกรรมกรหญิงเยี่ยงทาส สภาพการทำงานของกรรมกรหญิงในโรงงานเวลานั้นเลวร้ายมาก เพราะพวกเธอต้องทำงานหนักวันละ ๑๖-๑๗  ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด  แต่ได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด หากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก จึงเป็นแรงงานที่ไร้หลักประกันใด ๆ  ที่สำคัญสภาพการทำงานดังกล่าว ทำให้กรรมกรหญิงหลายคนเจ็บป่วยได้ง่าย และเสียชีวิตภายในเวลาอันรวดเร็ว  การเคลื่อนไหวของกรรมกรหญิงครั้งนี้  ดำเนินไปภายใต้การนำของ  “คลารา เซทคิน”   ผู้หญิงชาวเยอรมัน ก่อนที่คลารา เซทคิน เข้ามาเคลื่อนไหวที่อเมริกา เธอเคยก่อตั้งกลุ่มนักสังคมนิยมสตรีในเยอรมันมาก่อน

 

 

สำหรับการนัดหยุดงานเดินขบวนประท้วงที่เมืองชิคาโกครั้งนี้ กรรมกรหญิงได้เรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานให้เหลือเพียง ๘ ชั่วโมง  พร้อมทั้งเสนอให้มีการปรับปรุงสวัสดิการในโรงงาน  นอกจากนี้ยังขยายประเด็นไปถึงการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองผ่านการออกเสียงเลือกตั้งอีกด้วย แม้การเรียกร้องของกรรมกรหญิงครั้งนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จ และจบลงด้วยการถูกจับกุมหลายร้อยคน  แต่เหตุการณ์นี้ ส่งผลให้ผู้หญิงทั่วโลกสนับสนุนการต่อสู้ของ คลารา เซทคิน อย่างกว้างขวาง  ทั้งยังจุดประกายให้ผู้หญิงทั่วโลกตระหนักถึงสิทธิของตน

 

 

หลังจากนั้นอีก ๑ ปี ใน ค.ศ ๑๙๐๘ (พ.ศ.๒๔๕๑)  กรรมกรหญิงกว่า ๑๕,๐๐๐ คน  ได้ร่วมกันเดินขบวนทั่วนิวยอร์ก แต่การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนตรงที่ไม่จำกัดการเรียกร้องอยู่เพียงแค่สิทธิของตนเองเท่านั้น  หากยังครอบคลุมถึงสิทธิเด็ก  โดยได้เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก  คำขวัญที่ใช้รณรงค์ครั้งนี้คือ “ ขนมปังและดอกกุหลาบ”  ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่เพียงพอควบคู่ไปกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี

การต่อสู้ของขบวนสตรีที่นำโดย  คลารา  เซทคิน นักสังคมนิยมหญิงชาวเยอรมัน  บรรลุถึงเป้าหมาย ในวันที่ ๘ มีนาคม  ค.ศ.  ๑๙๑๐ (พ.ศ. ๒๔๕๓ ) เมื่อตัวแทนสตรีจาก ๑๗  ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ ๒ ที่จัดขึ้น ณ เมืองโคเปนเฮเกน  ประเทศเดนมาร์ก  โดยที่ประชุมสมัชชาได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องในระบบ “สามแปด” ของกรรมกรหญิง  กล่าวคือ ที่ประชุมยอมลดเวลาการทำงานให้เหลือเพียงวันละ ๘  ชั่วโมง  ให้เวลาในการศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง ๘ ชั่วโมง  ส่วนอีก ๘ ชั่วโมงที่เหลือนั้นให้ใช้เป็นเวลาพักผ่อน  นอกจากการประกาศรับรองระบบ “สามแปด” นี้  ที่ประชุมยังรับรองให้มีการปรับค่าจ้างของกรรมกรหญิงให้ทัดเทียมกับกรรมกรชาย  อีกทั้งยังรับรองข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสวัสดิการแรงงานหญิงและเด็ก และสิ่งสำคัญที่ขบวนสตรีของผู้หญิงรุ่นหลังมิอาจลืมได้เลยก็คือ  ที่ประชุมมีมติให้วันที่  ๘  มีนาคมของทุกปีเป็นวันสตรีสากล ตามข้อเสนอของ คลารา เซทคิน  เพื่อรำลึกถึงโศกนาฏกรรมของการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีครั้งแรกของกรรมกรหญิง เมื่อ ค.ศ. ๑๘๕๗

หลังจากที่ประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมประกาศให้วันที่  ๘  มีนาคม  เป็นวันสตรีสากล  ทำให้มีการจัดกิจกรรมสำหรับวันสตรีสากลเป็นครั้งแรก ในวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๑ (พ.ศ. ๒๔๕๔)  ประชาชนทั้งชายและหญิงมากกว่า ๑ ล้านคนจากประเทศออสเตรีย  เดนมาร์ก เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์  ได้เข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องสิทธิในการทำงาน โดยได้ขอให้ยุติการเลือกปฏิบัติระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย  จากนั้นในปีถัดมา  กิจกรรมวันสตรีสากลก็ได้รับการจัดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์  ตามด้วยสวีเดน

 


Women workers demonstrating in St Petersburg, Russia on International Women's Day 1917.
ที่มา: https://www.bunkhistory.org/resources/the-socialist-origins-of-international-womens-day

 

ความหมายของวันสตรีสากลทวียิ่งขึ้น  เมื่อความสำคัญของวันสตรีสากลมิได้หยุดอยู่เพียงแค่เป็นวันที่แสดงถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิผู้หญิง  แต่ได้กลายเป็นวันหยุดแห่งชาติไปด้วย  ที่มาของความหมายใหม่นี้เกิดขึ้นในวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ( พ.ศ. ๒๔๖๐ ) ที่ประเทศรัสเซีย เมื่อกรรมกรหญิงชาวรัสเซียได้มาชุมนุมกันที่เมืองเปโตรกราด (นครเซนต์ปีเตอร์สเบริกในปัจจุบัน) เพื่อประท้วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งเป็นสาเหตุให้รัสเซียต้องสูญเสียทหารรัสเซียกว่า ๒ ล้านคน  แม้ว่าการประท้วงครั้งนี้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปราม แต่กรรมกรหญิงเหล่านี้ก็ไม่ยอมแพ้  ผลของการเดินขบวนประท้วงครั้งนี้แม้จะมิใช่ปัจจัยหลัก แต่ถือได้ว่าเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียถูกโค่นอำนาจ หลังการปฏิวัติโดยพรรคบอลเชวิค รัฐบาลใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์ก็ให้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งแก่ผู้หญิงรัสเซีย

 


Women demand increased rations in a demonstration along the Nevskii Prospekt after International Women's Day, February 23, 1917. Central State Archive of Kino-Photo-Phono Documents, St. Petersburg
ที่มา: https://jacobin.com/author/megan-trudell

 

เนื่องจากว่าประวัติศาสตร์ของวันสตรีสากล มีที่มาจากการเคลื่อนไหวของกรรมกรหญิงภายใต้การนำของนักสังคมนิยมหญิง  ทำให้กิจกรรมวันสตรีสากลในช่วงแรก ๆแพร่หลายอยู่ในประเทศสังคมนิยมและประเทศที่เห็นความสำคัญของปรัชญาสังคมนิยมเป็นหลัก ประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มมีการจัดกิจกรรมในวันสตรีสากลเมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๗  (พ.ศ. ๒๕๑๐)  อันเป็นปีที่ขบวนสตรีเป็นที่นิยมและแพร่หลายในอเมริกา  รัฐบาลอเมริกาเฉลิมฉลองวันสตรีสากลอย่างเป็นทางการใน  ค.ศ. ๑๙๗๕ (พ.ศ. ๒๕๑๘)

 


Members of the National Woman's Party watching as Alice Paul sews a star onto their ratification flag; each star represented a state's ratification of the Nineteenth Amendment.
ที่มา : Library of Congress, Washington D.C. (LC-DIG-npcc-01204)

 

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า กิจกรรมส่วนใหญ่ที่จัดขึ้นในวันสตรีสากลช่วงแรก ๆนั้น  มักเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องสันติภาพ และการต่อต้านสงครามที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในทวีปยุโรป จนเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง หลายประเทศในทวีปต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกา จึงต่างเล็งเห็นความสำคัญของวันสตรีสากลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสตรีอย่างแท้จริง  ส่งผลให้เกิดความร่วมมือกันในการผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนของสตรี  เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย

องค์การสหประชาชาติได้เข้ามามีบทบาทในการเชิญชวนให้ทุกประเทศในโลก กำหนดวันใดวันหนึ่งเป็นวันฉลองแห่งชาติว่าด้วยสิทธิของสตรีและสันติภาพสากลใน ค.ศ ๑๙๕๗  (พ.ศ.  ๒๕๐๐) โดยให้พิจารณาตามขนบธรรมเนียมประเพณี และสภาพทางประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ  ในการนี้มีหลายประเทศสนับสนุน และได้กำหนดให้วันที่ ๘ มีนาคม เป็นวันสตรีสากลเช่นกัน นอกเหนือจากเชิญชวนให้ทุกประเทศมีส่วนร่วมในวันสตรีสากลแล้ว สหประชาชาติยังได้จัดกิจกรรมประกาศเกียรติคุณ ยกย่องผู้หญิงที่ทำคุณประโยชน์ให้กับโลกทั้งที่เสียชีวิตไปแล้วหรือมีชีวิตอยู่ ผู้หญิงเหล่านี้ได้แก่ เจ้าหญิงไดอาน่า แห่งอังกฤษ, แม่ชีเทเรซา แห่งอินเดีย, ประธานาธิบดีเมกาวาตี แห่งอินโดนีเซีย และนางออง ซาน ซูจี แห่งพม่า

กล่าวสำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ มีความเคลื่อนไหวของขบวนสตรีที่ทำให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของพลังผู้หญิงเช่นกัน  โดยขบวนสตรีในระยะแรก เริ่มต้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ จากการประท้วงของกรรมกรหญิงโรงงานสแตนดาร์ดการ์เมนท์ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่ตั้งอยู่บนถนนพระรามสี่ กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างยอมจ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน ในการประท้วงครั้งนี้ นายจ้างได้แยกสลายกรรมกรหญิงออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการประท้วง ในที่สุดนำไปสู่การปะทะระหว่างแรงงานหญิงด้วยกันเอง ส่งผลให้กองกำลังตำรวจตัดสินใจใช้ไม้กระบองทุบตีกรรมกรหญิงฝ่ายที่นัดหยุดงานในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘

 


Members of the Women’s Trade Union League of New York pose with a banner calling for the eight-hour day in 1910. Photograph: Courtesy the The Kheel Center
ที่มา: https://www.theguardian.com/global-development/2023/mar/08/happy-international-womens-day-a-look-back-at-over-a-century-of-the-global-fight-for-justice-and-equality

 

ต่อมาในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ปีเดียวกัน ได้มีการนัดหยุดงานของกรรมกรหญิง โรงงานกระเบื้องเคลือบวัฒนาวินิลไทน์ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร การประท้วงนำไปสู่การปะทะระหว่างกรรมกรหญิงกับอันธพาลคุ้มครองโรงงานที่นายจ้างใช้ เป็นเหตุให้กรรมกรหญิงคนหนึ่ง ซึ่งมีอายุเพียง ๑๕ ปี ถูกยิงเสียชีวิต

การต่อสู้ที่ดุเดือดและยืดเยื้อที่สุดของกรรมกรหญิงไทย ที่ถือกันว่าเป็นตำนานของขบวนสตรี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๘  เมื่อกรรมกรหญิงโรงงานฮารา ตรอกวัดไผ่เงิน นัดหยุดงานและเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงพร้อมทั้งปรับปรุงสวัสดิการ ฝ่ายนายจ้างนอกจากจะไม่ยอมเจรจาแล้ว ยังมีคำสั่งไล่กรรมกรหญิงที่ประท้วงออกจากงานด้วย  การประท้วงดำเนินไปจนถึงวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.  ๒๕๑๘ โดยกรรมกรหญิงได้ยึดโรงงานและทำการผลิตสินค้าออกมาขายโดยใช้วัตถุดิบที่เหลืออยู่ อีกทั้งประกาศขายหุ้นให้ประชาชนหุ้นละ ๒๐ บาท  อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกเข้ายึดโรงงานคืนและจับกรรมกรหญิงหลายคนไปคุมขังด้วยข้อหาผิดกฎหมายแรงงาน

 


กรรมกรหญิงโรงงานฮารา ตรอกวัดไผ่เงิน
ที่มา : บันทึก 6 ตุลา

 

นอกจากการต่อสู้ของกรรมกรหญิงในประวัติศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนแล้ว  ในส่วนของภาครัฐ รัฐบาลไทยก็ได้แสดงเจตนารมณ์เผยให้เห็นความสำคัญของผู้หญิงเช่นกัน ดังปรากฏว่า ในวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ประเทศไทยได้ก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติได้รับการก่อตั้งขึ้น  เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของผู้หญิงในสังคม รวมทั้งระลึกถึงความเป็นมาของการต่อสู้ของผู้หญิง เพื่อให้ได้ซึ่งความเสมอภาค ยุติธรรม สันติภาพ และการพัฒนา จากนั้นรัฐธรรมนูญของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้มีการบัญญัติรับรองสิทธิสตรี ดังระบุไว้ว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่างเรื่องเพศจะกระทำมิได้ ส่งผลให้การแก้ไขข้อกฎหมายทั้งในเรื่องกฎหมายครอบครัว กฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืน กฎหมายคำนำหน้านาม-การเลือกใช้นามสกุล และกฎหมายอื่น ๆ ตามการเสนอแนะของสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (สสก.) ที่ได้รับก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ ดำเนินไปอย่างรวดเร็วและราบรื่นยิ่งขึ้น  นอกจากนี้ ในวันที่ ๘ มีนาคม ของทุกปี ประเทศไทยจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองวันสตรีสากลด้วย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดนิทรรศการต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักและเห็นความสำคัญของวันสตรีสากล ควบคู่ไปกับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์วันสตรีสากล  คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติยังได้จัดให้มีการประกาศเกียรติคุณแก่สตรีดีเด่นประจำปีเนื่องในวันสตรีสากลอีกด้วย  ทั้งนี้ก็เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติสตรีผู้สร้างประโยชน์ในสาขาอาชีพต่าง ๆ โดยผู้ที่เคยได้รับรางวัลดังกล่าวได้แก่ แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ปวีณา หงสกุล ฯลฯ

ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนสตรีไทยนับตั้งแต่อดีต ทำให้ความสำคัญของวันสตรีสากลในปัจจุบัน ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากองค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสังคมที่เป็นเครือข่ายด้านแรงงานและด้านสตรี องค์กรและเครือข่ายเหล่านี้ทำงานเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีร่วมกันตั้งแต่ระดับชาติจนถึงระดับท้องถิ่น ซึ่งได้แก่ มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิพิทักษ์สตรี มูลนิธิชุมชนไท เครือข่ายสตรี ๔ ภาค เครือข่ายเพื่อนหญิงล้านนา เครือข่ายแม่หญิงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เครือข่ายแม่หญิงอีสาน  เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงหาสันติภาพ จังหวัดชายแดนภาคใต้  มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน  เครือข่ายเพื่อนหญิงนนท์เพื่อสุขภาพ  โดยตัวแทนของเครือข่ายที่กล่าวถึงนี้ได้จัดกิจกรรมเดินรณรงค์ในวันสตรีสากล พ.ศ. ๒๕๖๒ ภายใต้คำขวัญ “ผู้หญิงต้องกำหนดอนาคตของตนเอง”พร้อมทั้งยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงไทยทั้งระบบ เพื่อความเสมอภาคทางเพศของผู้หญิงไทยทุกภาคส่วนและทุกชนชั้น  ข้อเรียกร้องเหล่านี้ได้แก่

๑. รัฐต้องมีการบังคับใช้กฎหมายการคุ้มครองความเป็นมารดาให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและรัฐ ต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๑๘๓ ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดา

. รัฐต้องจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนอย่างทั่วถึง มีคุณภาพและปรับเปลี่ยนเวลาเปิด-ปิดศูนย์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนทำงาน

๓. รัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ๐ – ๖ ปี

๔. รัฐต้องกำหนดสัดส่วนผู้หญิงในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติและทุกระดับอย่างน้อย ๑ ใน ๓

๕. รัฐต้องให้คนพิการเข้าถึงสิทธิและการบริการเท่าเทียมกับคนทั่วไป

๖. รัฐต้องจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงและเด็กใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้และในพื้นที่สาธารณะ

๗. รัฐต้องเคารพสิทธิการพัฒนาของประชาชนและผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมในการจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

๘. รัฐต้องสร้างความมั่นคงในการทำงานและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

๙. รัฐต้องคุ้มครองผู้หญิงนักต่อสู้ด้านสิทธิแรงงานและสิทธิชุมชน

๑๐. รัฐต้องกำหนดความเสมอภาคหญิงชายและทุกเพศสภาพให้เป็นวาระแห่งชาติ

๑๑. รัฐต้องกำหนดวันสตรีสากล ๘ มีนาคมของทุกปีเป็นวันหยุดตามประเพณี

เมื่อพิจารณาจากข้อเรียกร้องในวันสตรีสากลดังได้กล่าวมาแล้วนั้น  จะเห็นได้ว่าขบวนสตรีในประเทศไทย  ไม่ได้มองปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงไทยแบบแยกส่วน โดดเดี่ยวจากปัญหาสังคมอื่น ๆ  ในทางตรงกันข้าม ขบวนสตรีในประเทศไทย โดยเฉพาะจากภาคประชาชนก้าวหน้าจนตระหนักได้ว่าปัญหาของผู้หญิง และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งกับผู้หญิงและผู้ชายล้วนมีรากฐานมาจากโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรมเช่นเดียวกัน  จากข้อเรียกร้องของเครือข่ายด้านแรงงานและด้านสตรี  จึงพอจะประมวลได้ว่า ปัญหาของผู้หญิงไทยในภาพกว้างสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วน  ส่วนแรกเกิดจากความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผู้หญิงต้องเผชิญร่วมกับผู้ชายเช่น ปัญหาความยากจน การไม่มีที่ดินทำกิน การถูกแย่งชิงฐานทรัพยากรจากนโยบายรัฐ การถูกลิดรอนสิทธิชุมชน การไม่มีส่วนร่วมในการจัดการและตัดสิน การเข้าไม่ถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และความไม่ปลอดภัยจากความรุนแรงในสถานการณ์สามจังหวัดภาคใต้  ในขณะที่ส่วนหลังเป็นปัญหาเพศธรรม ทำให้ผู้หญิงทุกภาคส่วนและทุกชนชั้นต้องเผชิญเป็นการเฉพาะ  เช่น ความรุนแรงในครอบครัว  ความรุนแรงทางเพศ และการปิดกั้นโอกาสอันเท่าเทียมกันบนหลักการของความเสมอภาคระหว่างเพศ  นอกจากนี้ ปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น  ปัญหาของผู้หญิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน  ผู้หญิงพิการ  ผู้หญิงชนเผ่า เยาวชนหญิง  เด็กหญิงและเด็กชาย  รวมถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก็ยังได้รับความสนใจจากขบวนสตรีภาคประชาชนเช่นกัน เพิ่มเติมจากองค์กรและกลุ่มที่เป็นเครือข่ายด้านแรงงานและด้านสตรีในขบวนสตรีภาคประชาชนแล้ว  องค์กรอื่น ๆ เช่นมูลนิธิอารมณ์พงศ์พงันมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิผู้หญิง  มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม  ฯลฯ ก็ได้เข้าร่วมในขบวนสตรีทั้งในเวลาปกติและในเวลาที่มีการจัดกิจกรรมพิเศษในวันสตรีสากลอย่างแข็งขันด้วย

ปัจจุบันนี้ เมื่อถึงวันสตรีสากล  ๘ มีนาคม ของทุกปี จะมีการเฉลิมฉลองจัดกิจกรรมเพื่อสิทธิสตรีแทบจะทั่วโลก กระนั้นก็ตามการให้ความหมายของวันสตรีสากลของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไป  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าวัฒนธรรมแบบพ่อเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตยฝังรากอยู่ในสังคมแต่ละแห่งมากน้อยเพียงไหน ดังจะเห็นได้ว่า ในบางประเทศนั้นวันสตรีสากลได้รับการรับรองจากรัฐให้เป็นวันหยุดแห่งชาติ  ในขณะที่บางประเทศวันนี้จะเป็นเพียงวันที่ผู้หญิงมารวมกัน เพื่อต่อต้านความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ยังดำรงอยู่ในสังคม  นอกจากนี้ บางประเทศก็ใช้วันนี้เป็นวันสรรเสริญภาวะของความเป็นผู้หญิง  แต่อาจจะมีบางประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญกับวันนี้เลย

ไม่ว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศจะให้คุณค่ากับวันสตรีสากลต่างกันอย่างไร ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ วันนี้เป็นวันสำคัญที่ทำให้เราระลึกถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้หญิง แม้ในเบื้องต้นจะเริ่มจากการเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพการจ้างงานของกรรมกรหญิง ทว่าในเวลาต่อมาก็ได้พัฒนาเป็นขบวนสตรีที่เข้มแข็ง ให้กำเนิดนักคิดและนักเคลื่อนไหวหญิง นำไปสู่การเรียกร้องสิทธิสตรีทั่วโลกทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง ดังปรากฏว่า ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙  ได้มีการรับรองสิทธิในการเลือกตั้งของผู้หญิง ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ในฐานะพลเมือง ก่อนจะนำไปสู่สิทธิอื่น ๆ เช่น สิทธิทางการศึกษา สิทธิทางอาชีพ สิทธิทางกฎหมาย สิทธิทางร่างกาย ฯลฯ โดยใน ค.ศ. ๑๘๙๓ (พ.ศ.๒๔๓๖) นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกที่ให้สิทธิดังกล่าว ตามด้วยออสเตรเลียใน ค.ศ. ๑๙๐๒

(พ.ศ. ๒๔๔๕) จากนั้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ สิทธินี้ก็แผ่ขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา ละตินอเมริกา เอเชีย และ แอฟริกา  เช่น ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ เนเธอร์แลนด์  ออสเตรีย แคนาดา โปแลนด์ สวีเดน เยอรมัน ลักเซมเบิร์ก สหรัฐอเมริกา สเปน ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม อิตาลี โรมาเนีย ยูโกสลาเวีย เอกวาดอร์ บราซิล สาธารณรัฐโดมินิกัน กัวเตมาลา อาเจนตินา อินเดีย ญี่ปุ่น จีน ไทย อินโดนีเซีย ไลบีเรีย ยูกันดา ไนจีเรีย ฯลฯ รวมถึงบางประเทศในตะวันออกกลาง

สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ส่งผลให้สิทธิผู้หญิงในด้านอื่น ๆ พัฒนาขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการศึกษา การได้รับโอกาสด้านการศึกษาทำให้ผู้หญิงมีบทบาทในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมามีรายงานว่า จำนวนของนักการเมืองสตรีทั่วโลกเพิ่มขึ้น จาก ๑๑.๘ เปอร์เซ็นต์ ใน ค.ศ. ๑๙๙๘ (พ.ศ. ๒๕๔๑) เป็น ๒๓.๕ เปอร์เซ็นต์ ใน ค.ศ. ๒๐๑๘ (พ.ศ. ๒๕๖๑)  ในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา บทบาทของผู้หญิงในเวทีการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด  ในขณะที่ประเทศในแถบเอเชีย เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ไทย ฯลฯ รวมถึงรัฐอิสลามต่าง ๆ  บทบาทของผู้หญิงยังจำกัด

ในประเทศไทยพบว่า  พ.ศ. ๒๕๕๗ มีนักการเมืองหญิงเพียง ๕.๔  เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น  สำหรับบทบาทของผู้หญิงในการงานอาชีพทั่วโลก  แม้ภาพรวมในปัจจุบันพบว่า สิทธิด้านการงานของผู้หญิงมีมากขึ้นกว่าอดีต แต่มีรายงานว่า มีเพียง ๖  ประเทศในโลกเท่านั้นที่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิด้านการทำงานของผู้ชายและผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกัน  ในประเทศไทยแม้ผู้หญิงได้รับความเท่าเทียมด้านการงานอาชีพประมาณ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ โดยผู้หญิงจำนวนหนึ่ง (แม้จะเป็นส่วนน้อย) สามารถทำงานในอาชีพที่เดิมสงวนไว้สำหรับผู้ชาย เช่น ทหาร ตำรวจ รวมถึงเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรต่าง ๆ ได้ แต่การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในภาพรวมด้วยการให้ค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแรงงานที่มีการศึกษามิใช่แรงงานไร้ฝีมือ กลับยังปรากฏให้เห็นอยู่ไม่น้อยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ดังพบว่า ผู้ประกอบการจำนวนมากยังมองว่าการตั้งครรภ์เป็นการเพิ่มต้นทุน เพราะผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าแรงให้ผู้หญิงในช่วงลาคลอด ๓ เดือนตามกฎหมายแรงงาน ส่วนสถานการณ์การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือนั้น พบว่าดีขึ้นกว่าเดิม

วันที่ ๘ มีนา วันสตรีสากลของ พ.ศ. ๒๕๖๘ เวียนมาถึงอีกครั้ง จึงถือเป็นโอกาสอันดียิ่ง ที่ขบวนสตรีนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะได้ทบทวนการต่อสู้ที่ผ่านมา ว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้แสวงหาแนวทางใหม่ ๆ ในการขจัดความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง ฯลฯ  ปัญหาสิทธิทางการเมืองและเศรษฐกิจ ดูเหมือนจะได้รับการแก้ไขบางส่วนแล้ว อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางสังคมวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในร่างกายผู้หญิง ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง และปัญหาเฉพาะของกลุ่มเพศทางเลือกต่าง ๆ ดูเหมือนจะยังคงเป็นปัญหารุนแรงที่ท้าทายขบวนสตรีในปัจจุบัน

ในฐานะมนุษย์ผู้หญิง, ผู้มีเกียรติยศและศักดิ์ศรีเท่ามนุษย์ผู้ชาย  อย่ายอมให้วันนี้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี  แต่เรา, ผู้หญิงทุก ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงโดยเพศสภาพหรือเพศวิถี มีหน้าที่ที่จะต้องทำให้ทุก ๆ วันในโลกของเราเป็นวันสตรีสากล”

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขระ การสะกดคำ เลขไทย และรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ

เอกสารอ้างอิง:

  • International Women’s Day, ม.ป.ป. Wikipedia, จาก https://en.wikipedia.org/wiki/International_Women%27s_Day.
  • “การต่อสู้ของกรรมกร”, ม.ป.ป. บันทึก ๖ ตุลา, จาก https://doct6.com/learn-about/how/chapter-2/2-2/2-2-1 .
  • “เครือข่ายสตรี” บุกทำเนียบ ยื่น “บิ๊กตู่” ขอข้อเรียกร้อง ๑๑ ข้อ วันสตรีสากล, ๒๕๖๒, MATICHON ONLINE, จาก https://www.matichon.co.th/politics/news_1396248 .
  • ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล, พลังผู้หญิงเปลี่ยนโลก, ๒๕๖๒, กรุงเทพธุรกิจ, จาก http://www.bangkokbiznews.com .
  • “บทบาทผู้หญิงกับการเป็นผู้นำปี ๒๕๖๒ ไทยสัญญาณดี แต่ยังห่างเท่าเทียม”, ๒๕๖๒, MATICHON ONLINE, จาก https://www.matichon.co.th/lifestyle/news_1403303
  • ราชกิจจานุเบกษา, บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เกี่ยวกับสิทธิสตรี, จาก http://www.parliament.go.th.
  • ราชกิจจานุเบกษา, “มาตรา ๓๐ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐”, จาก http://library2.parliament.go.th
  • “วันสตรีสากล (International Women’s Day)” , ๒๕๖๒, SANOOK, จาก https://www.sanook.com/women/20056/.
  • วันสตรีสากล : มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอชื่นชมบทบาทอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนหญิง, ม.ป.ป., มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, จาก  http://voicefromthais.worldpress.com
  • สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์, ม.ป.ป., จาก  http://m.facebook.com.thaiwomen.or.th.
  • “วันสตรีสากล. สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ “สู่ความเสมอภาคหญิงชาย” ในงานวันสตรีสากล”, ๒๕๔๙, มูลนิธิผู้หญิง. จาก www.womenthai.org .
  • “Women in politics”, ม.ป.ป., Wikipedia,  http://en.m.wikipedia.org.
  • “สัมภาษณ์ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ : ความก้าวหน้า-ล้าหลังของ“สตรีนิยม” ไทย”, ๒๕๕๘, ประชาไท, จาก https://prachatai.com/journal/2015/03/58258
  • “๓ ทศวรรษตลาดแรงงานไทย ความเหลื่อมล้ำ ‘ชาย-หญิง’” ๒๕๖๑, MATICHON ONLINE. จาก https://www.matichon.co.th/local/news_918976
  • “๖ ประเทศในโลกให้สิทธิชาย-หญิง เท่ากัน” ๒๕๖๒, BBC, จาก https://www.bbc.com/thai/international-47444993.
  • “๘ มีนา วันสตรีสากล”, ๒๕๖๒, มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, จาก https://aromfoundation.org/tag/8-%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A5/ .