ภาพ: ปกด้านหน้าของ สนธิสัญญาเบาว์ริง
พร้อมตราพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4
ที่มา: The Nation Archives, UK
สนธิสัญญาเบาว์ริงคืออะไร
“สนธิสัญญาเบาว์ริง” หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ “หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษแลประเทศสยาม” ซึ่งจัดทำขึ้นระหว่างสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ ซึ่งคนไทยมักจะเรียกว่าอังกฤษกับประเทศไทยหรือสยามในเวลานั้น[1]
ส่วนชื่อ สนธิสัญญาเบาว์ริง นั้น มาจากข้อความบนปกสมุดไทย (สมุดข่อย) ซึ่งใช้ชื่อว่า “หนังสือสัญญาเซอร์ยอนโบวริง”[2] โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการค้าและพาณิชย์เพื่อเปิดการค้าเสรีระหว่างสยามกับสหราชอาณาจักร
สนธิสัญญาฉบับนี้ไม่ใช่สนธิสัญญาการค้าและพาณิชย์ระหว่างสยามกับสหราชอาณาจักรเป็นฉบับแรก โดยก่อนหน้านั้น สยามได้เคยทำสนธิสัญญากับสหราชอาณาจักรขึ้นแล้วในช่วงปี พ.ศ. 2369 คือ “สนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรสยามกับสหราชอาณาจักร” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สนธิสัญญาเบอร์นีย์” ซึ่งตั้งตามชื่อของ ‘เฮนรี เบอร์นีย์’ พ่อค้า-นักเดินทาง-นักการทูตของบริษัท บริติช อีสอินเดีย ซึ่งทำขึ้นในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภาพ: สำเนาสนธิสัญญาเบอร์นีย์
ที่มา: วิกิพีเดีย
ความแตกต่างระหว่างสนธิสัญญาเบาว์ริงกับสนธิสัญญาฉบับอื่น
ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับประเทศยุโรปตะวันตก จะเห็นได้ว่าสยามและประเทศทางแถบยุโรปตะวันตกมีความสัมพันธ์กันมาเป็นเวลานาน จากเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์จำนวนมาก เช่น ในสมัยอยุธยาได้มีการทำการค้ากับโปรตุเกส ฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์) หรือเคยรับคณะทูตจากราชอาณาจักรสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นต้น ซึ่งในสนธิสัญญาเบาว์ริงนั้นก็มีเนื้อหาที่แตกต่างกับสนธิสัญญาเบอร์นีย์ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของแต่ละประเทศที่ผ่านมานั้น มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น กรณีของโปรตุเกสกับฮอลันดา มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อทำการค้ากับสยามเท่านั้น หรือ กรณีของฝรั่งเศส ที่มุ่งจะเผยแพร่ศาสนาตามพันธกิจและคตินิยมของกษัตริย์ผู้อุปถัมภ์คริสตศานาในเวลานั้น เป็นต้น
เป้าหมายของการทำสนธิสัญญาในช่วงรัตนโกสินทร์นั้นเปลี่ยนแปลงไป การค้าขายกับพระคลังสินค้าสร้างความยากลำบากให้กับประเทศยุโรปตะวันตก เนื่องจากพระคลังสินค้าคอยเอาเปรียบและโก่งราคาสินค้า อีกทั้งยังเก็บภาษีซ้ำซ้อน ทำให้ราคาสินค้าที่ต้องซื้อจากสยามมีราคาแพง
ในขณะเดียวกัน บริบทของการค้าในเวลานั้น ต่างถูกควบคุมด้วย “พระคลังสินค้า” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคา เนื่องจากในเวลานั้นพระคลังสินค้าได้ทำการผูกขาดการค้าระหว่างประเทศเอาไว้กับพระคลังสินค้า[3] และพ่อค้ายุโรปตะวันตกไม่สามารถเลือกที่จะทำการค้าโดยไม่ผ่านพระคลังสินค้าได้
แม้ความตั้งใจแรกของสหราชอาณาจักรเมื่อเข้ามาตกลงทำสนธิสัญญาเบอร์นีย์กับสยามจะมีความตั้งใจที่จะให้สยามเปิดเสรีการค้า โดยยกเลิกบทบาทการผูกขาดทางการค้าโดยพระคลังสินค้า และแก้ไขปัญหาภาษีดังได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น ทว่า ในท้ายที่สุดความตั้งใจในเวลานั้นก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม ผลของการเจรจาในครั้งนั้นก็คือ หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษแลประเทศสยามฉบับแรก ซึ่งประกอบด้วยความตกลงร่วมกันทั้งหมด 14 ข้อ โดยเนื้อหาในข้อ 1 – 4 จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสยามและสหราชอาณาจักรในเรื่องเขตแดนและคนในบังคับของสหราชอาณาจักร และในข้อ 5 – 14 จะเป็นเรื่องในทางการค้า ด้วยเหตุที่เจรจาในครั้งนั้นยังไม่สำเร็จสมความตั้งใจรัฐบาลสหราชอาณาจักรในเวลาต่อมาจึงได้ติดต่อเข้ามาเพื่อทำหนังสือสัญญาฉบับใหม่
การทำสนธิสัญญาเบาว์ริง
การทำ สนธิสัญญาเบาว์ริง นั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากความตั้งใจที่ยังไม่บรรลุสมใจหมายของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ฉะนั้น เมื่อสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จสวรรคตแล้ว และรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้รับสัญญาณจากสยามว่าอยากให้มีการเจรจาทำหนังสือสัญญาฉบับใหม่ รัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงได้แต่งตั้งให้ ‘เซอร์จอห์น เบาว์ริง’ ณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งข้าหลวงเกาะฮ่องกงเดินทางมายังราชอาณาจักรสยามเพื่อทำหนังสือสัญญาฉบับใหม่
ภาพ: เซอร์จอห์น เบาว์ริง
การทำหนังสือสัญญาฉบับใหม่นั้นมีการลงนามกันใน วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2399 ณ ราชอาณาจักรสยาม เนื้อหาของสนธิสัญญาฉบับนี้คือ การผนวกรวมเอาเนื้อหาของสนธิสัญญาฉบับก่อน (เบอร์นีย์) ประกอบเข้ากับเนื้อหาของสนธิสัญญาฉบับใหม่ โดยมีจุดเน้นย้ำสำคัญที่แตกต่างจากสนธิสัญญาฉบับก่อนคือ การกำหนดให้สยามต้องเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งทำให้บทบาทของพระคลังสินค้าหมดลง และกำหนดสินค้าควบคุมไว้เฉพาะฝิ่นเท่านั้นที่จะต้องขายให้กับรัฐบาล และมีการเจรจาตกลงกันในเรื่องภาษีโดยกำหนดห้ามมิให้สยามเก็บภาษีซ้ำซ้อนและเก็บภาษีไม่เกินร้อยละ 3
ภาพ: เนื้อหาบางส่วนในสนธิสัญญาเบาว์ริง
อย่างไรก็ตาม ผลสำคัญที่เป็นผลพลอยเกิดขึ้นไปด้วยก็คือ ภายใต้สนธิสัญญาฉบับนี้รัฐบาลสยามต้องยอมรับเขตอำนาจศาลของอังกฤษเหนือเขตอำนาจศาลไทยในบุคคลภายใต้บังคับของสหราชอาณาจักร ซึ่งคนทั่วไปอาจเรียกกันว่าเป็น การเสียเอกราชทางการศาล หรือ เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต
ด้วยเหตุว่าในเวลานั้นกฎหมายที่สยามใช้ มีลักษณะเป็นจารีตนครบาลซึ่งในมุมของประเทศยุโรปตะวันตกมองว่า วิธีการดังกล่าวนั้นล้าสมัยและไม่ส่งเสริมการขยายตัวทางการค้า การขอยกเว้นเขตอำนาจศาลไทยเหนือคนในบังคับของสหราชอาณาจักรจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการค้า ซึ่งผลประการหนึ่งจากการยกเว้นเขตอำนาจศาลไทยเหนือคนในบังคับของสหราชอาณาจักรถูกถ่ายทอดมาสู่ประเทศไทยและกลายเป็นรากฐานธรรมเนียมทางการค้าของไทยในเวลาต่อมา
ผลของสนธิสัญญาเบาว์ริง
ผลของสนธิสัญญาเบาว์ริงนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายลักษณะ ทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจและทางการเมือง (อ่าน: ผลกระทบของสนธิสัญญาเบาว์ริงในทางเศรษฐกิจของสยาม)
อย่างไรก็ตาม ในแง่สำคัญที่สุดก็คือ สนธิสัญญาเบาว์ริงกลายเป็นต้นแบบของการทำสนธิสัญญาอีกหลายฉบับที่ประเทศยุโรปตะวันตก สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นได้เจรจาขอเข้ามาทำกับประเทศไทยในลักษณะเดียวกัน ซึ่งนักวิชาการบางคนเรียกสนธิสัญญาในลักษณะดังกล่าวว่าเป็น สนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค โดยรวมแล้วรัฐบาลสยามได้ทำสนธิสัญญาไว้ทั้งสิ้น 12 ฉบับ ดังนี้[4]
ประเทศ | วันที่ (นับแบบเก่า) | การทำหนังสือสัญญา |
---|---|---|
สหรัฐอเมริกา | 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2399 | ส่งทูตมายังกรุงเทพมหานคร |
ฝรั่งเศส | 15 สิงหาคม พ.ศ. 2399 | ส่งทูตมายังกรุงเทพมหานคร |
เดนมาร์ก | 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2401 | ส่งทูตมายังกรุงเทพมหานคร |
โปรตุเกส | 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2401 | ส่งทูตมายังกรุงเทพมหานคร |
สันนิบาตฮันเซอ (รัฐอิสระในเยอรมนี) | 25 ตุลาคม พ.ศ. 2403 | ส่งทูตมายังกรุงเทพมหานคร |
เนเธอร์แลนด์ | 29 ธันวาคม พ.ศ. 2403 | ส่งทูตมายังกรุงเทพมหานคร |
ปรัสเซีย | 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 | ส่งทูตมายังกรุงเทพมหานคร |
นอร์เวย์ | 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2401 | ทำสัญญาโดยผ่านทางพระยามานุกูลกิจสยามมิตรมหายศ (เอกอัครราชทูตไทยประจำยุโรป) |
เบลเยียม | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2401 | ทำสัญญาโดยผ่านทางพระยามานุกูลกิจสยามมิตรมหายศ(เอกอัครราชทูตไทยประจำยุโรป) |
อิตาลี | 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2401 | ทำสัญญาโดยผ่านทางพระยามานุกูลกิจสยามมิตรมหายศ (เอกอัครราชทูตไทยประจำยุโรป) |
โปรตุเกส | 3 ตุลาคม พ.ศ. 2401 | ทำสัญญาโดยผ่านทางพระยามานุกูลกิจสยามมิตรมหายศ (เอกอัครราชทูตไทยประจำยุโรป) |
จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี | 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2402 | ทำสัญญาโดยผ่านทางพระยามานุกูลกิจสยามมิตรมหายศ (เอกอัครราชทูตไทยประจำยุโรป) |
ดังนั้น หากเราพิจารณาต่อสนธิสัญญาเบาว์ริงในมิติของความมั่นคงแต่เพียงถ่ายเดียว การเกิดขึ้นของสนธิสัญญาที่ราชสำนักสยามจำยอมต้องลงนามตามข้อตกลง เพราะครั่นคร้ามต่ออิทธิพลของชาติมหาอำนาจใหม่จากดินแดนตะวันตก ที่กำลังแผ่ขยายอำนาจเหนือรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการคุกคาม ให้สยามต้องสูญเสียการควบคุมสิทธิการค้าที่แต่เดิมถูกผูกขาดไว้เฉพาะเพียงชนชั้นนำ ผ่านกลไกการควบคุมของ "พระคลังสินค้า" เปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบการค้าเสรี ที่บริษัทตัวแทนของชาติมหาอำนาจสามารถเข้าถึงสินค้าและเปิดโอกาสของสินค้าเข้าสู่สยามได้อย่างเสรี และนำมาสู่การเปิดทางให้สยามจำต้องลงนามในสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคต่อประเทศอื่นๆ อีก 12 ฉบับในเวลาต่อมา นั้นว่าเป็นผลเสียต่อผู้ปกครองสยาม แต่หากเราพิจารณาถึงคุณูปการของสนธิสัญญาเบาร์ริง ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สยามได้รับความเปลี่ยนแปลงจากการเปิดประตูเข้าสู่ตลาดเสรีที่ส่งผลต่อภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของสยามอย่างไม่อาจเปลี่ยนแปลงย้อนกลับไปครั้งก่อนการลงนามได้อีกต่อไป
อ่าน: “สนธิสัญญาเบาว์ริง” ต้นฉบับจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ประเทศอังกฤษ (The National Archives, United Kingdom) จัดทำเอกสารและถ่ายภาพโดย อาจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์
อ่าน: ทวิภพ The Siam Renaissance 2547: ภาพสะท้อนของประวัติศาสตร์และจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ตีตราสนธิสัญญาเบาว์ริง โดย เขมภัทร ทฤษฎิคุณ
หมายเหตุ: จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ
[1] สนธิสัญญาฉบับนี้ทำขึ้นในวันที่ 6 เมษายน 2399 ในรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่กับ (สยาม) และสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย (สหราชอาณาจักร).
[2] ปรามินทร์ เครือทอง, พระจอมเกล้า “King Mongkut” พระเจ้ากรุงสยาม (มติชน 2547) 169.
[3] เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, ‘ผลกระทบของสนธิสัญญาเบาว์ริงในทางเศรษฐกิจของสยาม’ <https://pridi.or.th/th/content/2021/07/774> สืบค้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564
[4] ชัย เรื่องศิลป์, ประวัติศาสตร์ไทย สมัย พ.ศ. 2352 – 2453 ด้านเศรษฐกิจ (โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ 2527) 181