ภาพของเศรษฐกิจสยามกับสนธิสัญญาเบาว์ริง
“สนธิสัญญาเบาว์ริง” มีผลสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเปลี่ยนจาก “ระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพ” ให้เข้าสู่ “ระบบเศรษฐกิจแบบเปิด” ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่เป็นกิจจะลักษณะและมีการใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ในขณะที่นโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของสยามประเทศก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงจาก “การค้าแบบผูกขาด” โดยพระคลังสินค้าโดยเปลี่ยนไปเป็น “การค้าแบบเสรี”
โดย “สนธิสัญญาเบาว์ริง” นั้น เป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจสยามเข้ากับโลกเศรษฐกิจของยุโรป สภาพภูมิศาสตร์ของสยามมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการเพาะปลูกข้าวเพื่อตอบสนองอุปสงค์ข้าวจากตลาดโลกที่เพิ่มมากขึ้น[1] โดยเฉพาะในฝั่งของราษฎรนั้น ผลของสนธิสัญญาเบาว์ริงมีนัยยะสำคัญต่อการกระตุ้นให้ราษฎรไทยทำการผลิตสินค้าโดยเฉพาะข้าวเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของตลาดโลกและทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่[2] อันดับต้นๆ ของโลก
อย่างไรก็ตาม ลักษณะการผลิตสินค้าของสยามนั้นเน้นไปที่สินค้าปฐมภูมิโดยเฉพาะ “ข้าว” ซึ่งจะกลายเป็นสินค้าส่งออกหลักของสยามไปจนกระทั่งทศวรรษที่ 1960 (นับแบบคริสตศักราช) ส่วนการผลิตน้ำตาลของสยามในเวลานั้น ยังอาศัยกระบวนการผลิตแบบกึ่งอุตสาหกรรม ทำให้ไม่อาจแข่งขันกับการผลิตน้ำตาลในฟิลิปปินส์หรือชวาได้ ทำให้ธุรกิจการขายน้ำตาลของสยามซบเซาลง[3]
ด้วยลักษณะของสินค้าปฐมภูมิที่ไม่ได้ผ่านกระบวนผลิตแบบอุตสาหกรรมทำให้สินค้าไม่ได้มีราคาสูงมากนักเมื่อเทียบกับแรงงาน และทรัพยากรที่ใช้ไปกับการผลิตข้าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินที่มีการบุกร้างถางพงในพื้นที่ ซึ่งเป็นคลองรังสิตในปัจจุบัน และพื้นที่ภาคกลางของประเทศจึงถูกใช้เพื่อการเพาะปลูกข้าว พื้นที่ที่ราบภาคกลางจึงถูกดึงเข้าสู่โลกเศรษฐกิจของยุโรปอย่างเต็มรูปแบบ ในขณะที่เศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเจริญเติบโตจากการค้าของป่ากับโลกเศรษฐกิจของจีนก็เสื่อมถอยลงเพราะไม่อาจตอบสนองความต้องการของโลกเศรษฐกิจของยุโรป[4]
ภาพดังกล่าวจะกลายเป็นรากฐานของโครงสร้างเศรษฐกิจของสยาม ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไปในช่วงปี พ.ศ. 2473 และนำมาสู่การอภิวัฒน์สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของสยาม
ผลกระทบของสนธิสัญญาเบาว์ริงต่อตลาดแรงงานของรัฐสยาม
การเข้าสู่เศรษฐกิจทุนนิยมได้ทวีความสำคัญของเงินตรา การเก็บภาษีอากร และการค้า ในขณะที่เกษตรกรรมและการควบคุมกำลังคนในฐานะแหล่งที่มาของทรัพย์สินและอำนาจกลับลดความสำคัญลง[5]
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริง” มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตในสังคมสยามทำให้แรงงานมีความจำเป็นและสำคัญ ทว่า ในเวลานั้นแรงงานถูกยึดโยงอยู่กับระบบไพร่-ทาส ซึ่งสังกัดอยู่กับมูลนายตามระบบศักดินา
ดังนั้น “การยกเลิกระบบไพร่-ทาส” จะทำให้เกิดตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพและมีศักยภาพในการผลิตขึ้น[6] ทำให้ในเวลาต่อมาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีนโยบายในการเลิกระบบไพร่-ทาส ซึ่งเป็นการปลดปล่อยแรงงานให้เป็นอิสระสามารถเข้าทำงานในระบบการผลิตใหม่ได้ ในขณะที่รัฐบาลมุ่งแสวงหาประโยชน์จากภาษีมากกว่า ซึ่งนำมาสู่แผนการปฏิรูปการคลังในการจัดเก็บภาษีในเวลาต่อมา ซึ่งจะได้ช่วยแก้ไขปัญหาทางการคลังของประเทศที่มีมาจากระบบศักดินาดังจะได้อธิบายต่อในหัวข้อถัดไป
ผลกระทบของสนธิสัญญาเบาว์ริงต่อการคลังของรัฐสยาม
ผลของ “สนธิสัญญาเบาว์ริง” ที่มีการกำหนดให้รัฐบาลสยามจะต้องไม่เก็บภาษีเกินร้อยละ 3 ทำให้รัฐบาลสยามไม่สามารถใช้นโยบายภาษีในการแสวงหารายได้ในการพัฒนาอุตสาหกรรม หรือ การพัฒนาเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ เพราะภาษีค่อนข้างจำกัด[7] ประกอบกับลักษณะโครงสร้างการจัดเก็บภาษีในช่วงปี พ.ศ. 2398 จนถึง พ.ศ. 2468 นั้น มีลักษณะยึดโยงอยู่กับระบบศักดินาเดิมที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
พระมหากษัตริย์ทรงแบ่งอำนาจในการจัดเก็บภาษีกระจายไปอยู่กับขุนนางและเชื้อพระวงศ์ระดับสูงบางตระกูล/องค์ ทำให้การจัดเก็บภาษีเข้าท้องพระคลังทำได้น้อย เพราะขุนนางและเชื้อพระวงศ์ระดับสูงเหล่านั้นก็จะกันเงินบางส่วนที่เก็บได้จากการปฏิบัติหน้าที่มาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานของตนและนำส่งเข้าพระคลังเพียงแต่น้อย ผลที่เกิดขึ้นจึงทำให้พระคลังไม่ได้มีทรัพย์สินมากมาย ในขณะที่บทบาทของพระคลังสินค้าลดลงจากสนธิสัญญาเบาว์ริงทำให้การจัดเก็บภาษีถูกกระจายไปอยู่กับขุนนางหลายกลุ่ม ดังแสดงตามตารางข้างท้ายนี้
กลุ่มขุนนางและเชื้อพระวงศ์ระดับสูง | ภาษีอากร |
---|---|
เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหม เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เสนาบดีกรมท่า |
ภาษีฝิ่น อากรสุรา และอากรขาเข้าและขาออก |
กรมหลวงวงศาธิราชสนิท | ภาษีอากรจากพระคลังสินค้า |
พระยาพลเทพ เสนาบดีกรมนา | อากรค่านา |
โครงสร้างการจัดเก็บภาษีภายใต้ระบบศักดินาจึงเสมือนการแบ่งเค้กระหว่างชนชั้นนำของสยามมากกว่า ในขณะที่ราชสำนักและพระมหากษัตริย์จะได้รับเพียงเงินส่วนน้อยเท่านั้น ขุนนางผู้ใหญ่ถือว่าภาษีอากรอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของตนเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัว และใช้ทุกโอกาสที่จะไม่ต้องจ่ายเงินเข้าท้องพระคลัง โดยมองว่าการนำรายได้เข้าพระคลังเป็นจำนวนแน่นอนนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ[8]
ดังนั้น แม้เศรษฐกิจของสยามกำลังขยายตัวแต่พระคลังซึ่งเป็นแหล่งเก็บเงินแผ่นดินกลับได้ประโยชน์ในเรื่องนี้น้อยมาก ทำให้ในเวลาต่อจำเป็นต้องมีการปฏิรูปทางการคลังใหม่โดยการรวมอำนาจการจัดเก็บภาษีไว้ที่หอรัษฎากรพิพัฒน์และกระทรวงพระคลังมหาสมบัติแทน โดยเป็นเหตุผลในเชิงงบประมาณที่มารองรับการขยายตัวของระบบราชการใหม่ และสร้างประเภทภาษีรูปแบบใหม่เพื่อแสวงหารายได้เข้าสู่รัฐบาล
ผลกระทบในแง่ของการผลิตข้าวสินค้าสำคัญของรัฐสยาม
ดังได้กล่าวมาแล้วว่าข้าวกลายเป็นสินค้าส่งออกหลักของสยามภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง แรงงานและที่ดินทั้งหมดของสยามถูกจัดสรรไปเพื่อใช้ในการผลิตข้าวเพื่อการค้ามากขึ้นตามลำดับ กระบวนการผลิตแบบนี้ได้เข้ามาทดแทนวิถีชีวิตในการผลิตแบบเดิมที่เน้นให้ครัวเรือนเป็นหน่วยการผลิตเพื่อยังชีพและบริโภคภายในครัวเรือน เช่น การทำสินค้าหัตถกรรมแบบสิ่งทอ เป็นต้น
เมื่อสยามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกผ่านการค้าขายกับอังกฤษ การผลิตภายในครัวเรือนโดยเฉพาะสิ่งทอก็ถูกทำลายลงจากการตีตลาดโดยสินค้าต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าเนื่องจากวิธีการผลิตแบบอุตสาหกรรม แรงงานส่วนใหญ่ที่เคยทำการผลิตสินค้าอื่นก็ถูกนำมาใช้กับการผลิตข้าว และด้วยความนิยมในการผลิตข้าวนั้นมีนัยสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายแรงงาน เพราะเมื่อสยามได้ทำสนธิสัญญาเบาว์ริงและเปิดการค้าเสรีกับอังกฤษและยุโรป ผลที่ตามมาก็คือ การผลิตข้าวต้องใช้แรงงานจำนวนมากจึงเกิดการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานจากภูมิภาค อื่นๆ ของสยาม โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งแต่เดิมได้ประโยชน์จากการค้าของป่ากับจีน
การผลิตข้าวเพื่อการส่งออกนั้นนำมาซึ่งนโยบายของรัฐสยาม 4 ประการที่มีผลต่อการขยายตัวและการเจริญเติบโตของการส่งออกข้าว[9]
ประการแรก การพัฒนาระบบการขนส่งระหว่างประเทศ กล่าวคือ ภายหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เรี่ยกับการขุดคลองสุเอช (14 ปี หลังทำสนธิสัญญา) ทำให้เกิดการย่นระยะทางและค่าขนส่งสินค้าระหว่างยุโรปกับเอเชียตะวันออก ทำให้เกิดความต้องการข้าวจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้นทุนที่ลดลงจากการส่งสินค้าทำให้มีการนำมาใช้ลงทุนกับการนำเรือกลไฟมาใช้ในการขนส่งข้าวซึ่งทำให้ประสบความสำเร็จในการส่งออกข้าวเป็นจำนวนมาก สิ่งนี้สร้างแรงจูงใจให้กับแรงงานชาวนาให้หันมาปลูกข้าวแบบรับจ้างแทนที่จะปลูกข้าวเพื่อบริโภคยังชีพ
ประการที่สอง การพัฒนาระบบขนส่งภายในประเทศ รัฐบาลได้ขุดคลองเพื่อสนับสนุนการผลิตข้าวเพื่อส่งออก โดยมีการขุดคลองมากกว่า 15 สาย เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ และที่ราบภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี พ.ศ. 2403 – 2453 การขุดคลองเป็นจำนวนมากเพื่อให้ชาวนาผลิตข้าวเพื่อส่งออก โดยรัฐบาลได้ให้สัมปทานในการขุดคลองเป็นจำนวนมาก นอกเหนือจากคลองแล้วรัฐบาลยังได้ลงทุนในการสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร และภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อการเพาะปลูกแม้จะไม่เท่ากับเส้นทางคลอง
ประการที่สาม การเพิ่มขึ้นของประชากร โดยนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 นั้นความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์มีผลทำให้อัตราการตายลดลงอย่างรวดเร็ว จำนวนประชากรของประเทศในเอเชียและยุโรปได้เพิ่มสูงขึ้น แต่สิ่งนี้ก็ทำให้ตลาดการบริโภคข้าวภายในประเทศเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ประการที่สี่ นโยบายการเลิกไพร่-ทาส และนโยบายภาษีดังได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น
ดังจะเห็นได้ว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริง” นั้น มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมากในหลายมิติ และยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและบริบททางการเมืองของสยาม
นโยบายหลายประการที่ดำเนินในช่วงเวลานั้น เชื่อมโยงกันทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง และสิ่งนี้ได้กลายมาเป็นรากฐานของโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศไทย จนกระทั่งในปัจจุบันภายหลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม
[1] กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์: วิวัฒนาการรัฐไทย (อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล, ฟ้าเดียวกัน 2562) 63.
[2] พอพันธุ์ อุยยานนท์, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย (สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2564) 15.
[3] กุลลาดา เกษบุญชู มี้ด, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 1, 63.
[4] เพิ่งอ้าง.
[5] เพิ่งอ้าง, 79.
[6] เพิ่งอ้าง, 90.
[7] พอพันธุ์ อุยยานนท์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, 14.
[8] กุลลาดา เกษบุญชู มี้ด, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 1, 66.
[9] พอพันธุ์ อุยยานนท์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 2, 16 - 21.