ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

กองทัพของราษฎร

4
ตุลาคม
2564

 

จริงอยู่ที่มีปรากฏการณ์ว่า นายทหารส่วนหนึ่งในคณะราษฎรได้ใช้อำนาจทหารเป็นกำลังให้นายทหารนั้นๆ เป็นใหญ่ในรัฐบาลแล้วปกครองราษฎรตามระบอบเผด็จการทหาร แต่ความจริงนั้น สมาชิกคณะราษฎรที่เป็นทหารยังมีอีกหลายคนที่ซื่อสัตย์ต่ออุดมคติประชาธิปไตยของราษฎร อาทิ พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ในระหว่างเป็นผู้บัญชาการทหารบกก็ดี เป็นนายกรัฐมนตรีก็ดี ไม่เคยกระทำการใดขัดต่อระบอบประชาธิปไตย และไม่เกาะแน่นในการครองตำแหน่งนั้นๆ คือ เมื่อถึงกำหนดออกตามวาระในรัฐธรรมนูญก็ลาออกโดยดุษณียภาพ นายทหารบก เรือ คณะราษฎรอีกหลายคนก็ซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย คงมีเฉพาะนายทหารส่วนน้อยเท่านั้น ที่เมื่อได้อำนาจแล้วก็ผนึกกำลังกันแผลงการปกครองประชาธิปไตยให้เป็นระบอบเผด็จการ สมาชิกคณะราษฎรที่เป็นพลเรือนหลายคนที่มีทรรศนะเห็นแก่ตัว หวังในลาภยศจากอำนาจเผด็จการได้หันไปเกื้อกูลสนับสนุนอำนาจนั้น

ฉะนั้น ปัญหามิได้อยู่ที่ว่าถ้าผู้ใดเป็นทหารแล้วย่อมนิยมลัทธิเผด็จการ หรือผู้ใดเป็นพลเรือนแล้วย่อมสนับสนุนประชาธิปไตย ปัญหาอยู่ที่ซากทรรศนะที่ตกค้างมาจากระบบทาสยังคงฝังอยู่ที่บุคคลใด ไม่ว่าคนนั้นเป็นทหารหรือพลเรือนก็ทำให้บุคคลนั้นๆ ถือเป็นหลักนำ ดำเนินการปฏิบัติไปในแนวทางที่ต้องการ หรือสนับสนุนให้มีระบอบเผด็จการที่ปกครองราษฎรอย่างระบบทาส

อันที่จริงนั้น หลักการตามพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารตั้งแต่ พ.ศ. 2460 เป็นต้นมา ได้กำหนดไว้ชัดแจ้งว่า ชายไทยทุกคนต้องเป็นทหารซึ่งเมื่อคนที่มีอายุย่างเข้า 18 ปี ต้องขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกินอัตราที่ถูกระดมเป็นทหารประจำการได้ พระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 นั้นคือ ต้องการให้ชายไทยเป็นทหารของราษฎรไทย หากการอบรมฝึกฝนทหารในสมัยหลังภายใต้อำนาจเผด็จการ ได้ทำให้ทหารประจำการเป็นเครื่องมือของอำนาจเผด็จการเจตนารมณ์ของนายทหารผู้ใหญ่ในคณะราษฎรนั้น ต้องการให้กองทัพไทยดำเนินเยี่ยงกองทัพสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพลเมืองชายเป็นทหารรักษาท้องถิ่นคือเป็นกองทัพของราษฎร 

ในการนั้นได้เริ่มทำไปเป็นเบื้องแรกแล้วโดยกองทัพไทยในยามปกตินั้น นายทหารมียศสูงสุดเพียงนายพันเอก คงมีนายพลเพียงคนเดียวซึ่งเป็นสมุหราชองครักษ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และได้จัดระเบียบกองทัพตามเขตมณฑลและจังหวัด มิใช่ในรูปกองพล กองทัพน้อย กองทัพเหมือนสมัยระบอบสมบูรณาฯ กองทัพไทยสมัยแรกของคณะราษฎรมีผู้ให้ฉายา “ทหารจังหวัด” ถ้าหากนายทหารส่วนที่นิยมอำนาจเผด็จการไม่ขัดขวางแล้ว แผนการจัดตั้งชายไทยให้เป็นทหารของราษฎร ก็ดำเนินต่อไปได้สำเร็จ และจะเป็นพลังของฝ่ายราษฎรในการรักษาและพัฒนาระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ของราษฎรได้

ขบวนอภิวัฒน์ฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ไม่อาจใช้ทหารแห่งระบอบราชาธิปไตยเก่าได้ นอกจากบางคนที่เข้าข้างฝ่ายราษฎร ดังนั้นจึงได้อาศัยราษฎรฝรั่งเศสนั่นเองติดอาวุธขึ้นต่อสู้ศัตรูภายในของราษฎรและต่อสู้นานาประเทศที่ยกกำลังปฏิกิริยามาประชิดประเทศฝรั่งเศสเพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตย

ขบวนอภิวัฒน์ของหลายประเทศในสมัยต่อมา ที่สามารถรักษาและพัฒนาชัยชนะได้นั้น ก็อาศัยการจัดตั้งราษฎรให้เป็นทหารของฝ่ายราษฎรเป็นหลักสำคัญ และต้อนรับทหารแห่งระบอบเก่าที่ถือประโยชน์ของราษฎรเหนือส่วนตัว จึงได้อาสามาอยู่ในกองทัพของราษฎร 

ในประเทศไทย ก็ปรากฏว่าหลายขบวนการที่ต่อสู้อำนาจเผด็จการนั้น ได้มีนายทหารสัญญาบัตร นายทหารประทวน พลทหารที่นิยมประชาธิปไตยได้ร่วมต่อสู้ในฝ่ายราษฎร

ดังนั้น ปัญหามิใช่อยู่ที่ว่าขบวนอภิวัฒน์ปฏิเสธความสำคัญของทหาร แต่ทหารที่ว่านี้คือทหารของฝ่ายราษฎร ที่มาจากราษฎร โดยราษฎร ได้รับการฝึกฝนอบรมให้ปฏิบัติการเพื่อราษฎร ไม่ยอมเป็นเครื่องมือของอำนาจเผด็จการที่ปกครองทหารอย่างทาส

ประวัติศาสตร์ของบางประเทศปรากฏว่า เมื่อทหารที่ถูกเกณฑ์มีทางรู้ได้ว่าขบวนการของราษฎรทำเพื่อพ่อแม่ของทหารนั้นเองซึ่งได้รับความเดือดร้อน เช่น ทหารลูกชาวนารู้ว่าขบวนการนั้นนำผลไปสู่พ่อแม่ชาวนาด้วย ทหารลูกคนจน และลูกกรรมกรรู้ว่าขบวนการนั้นนำผลไปสู่พ่อแม่ที่มีฐานะนั้นด้วย ทหารลูกผู้มีทุนน้อยและลูกข้าราชการผู้น้อยรู้ว่าขบวนการนั้นนำผลไปสู่พ่อแม่ที่มีฐานะนั้นด้วย ทหารลูกนายทุนรักชาติที่ถูกอภิสิทธิ์ชนข่มเหงรู้ว่าขบวนการนั้นนำผลไปสู่พ่อแม่ที่มีฐานะนั้นด้วย ทหารเหล่านี้ก็ไม่ยอมเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่มีอภิสิทธิ์เบียดเบียนข่มเหงพ่อแม่ ทหารเหล่านี้ก็จะหันมาประกอบเป็นพลังส่วนหนึ่งของขบวนการราษฎรที่แท้จริงแห่งชาตินั้นๆ (ไม่ใช่ขบวนการที่ทำเพื่อการรักษาอำนาจ การแผ่อำนาจ การแผ่อิทธิพลของชาติอื่น)

 

ที่มา:  ตัดตอนมาจาก ปรีดี พนมยงค์. จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม, ใน, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ โครงการ ๖๐ ปี ประชาธิปไตย, 2535). หน้า 177 - 178