ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

Hometown Cha-Cha-Cha: ค่าจ้างขั้นต่ำกับคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น

25
ตุลาคม
2564
ภาพ: โปสเตอร์ซีรีส์ Hometown Cha-Cha-Cha
ภาพ: โปสเตอร์ซีรีส์ Hometown Cha-Cha-Cha

 

หลังจาก Squid Game ลาจอไปได้ไม่นาน ประเทศเกาหลีก็ประสบความสำเร็จในการสร้างกระแสการพูดถึงซีรีส์ในประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่องด้วยเรื่อง Hometown Cha-Cha-Cha นอกจากเนื้อเรื่องที่มีการพูดถึงความรัก บรรยากาศอบอุ่นใจของความสัมพันธ์ต่างๆ ของตัวละครในเรื่อง และปมปัญหาชีวิตที่หลากหลายของตัวละครแต่ละตัวแล้ว โดยเรื่องราวที่ว่ามาทั้งหมดนั้น เกิดขึ้นที่ชุมชนชาวประมงเล็กๆ ชื่อว่า “กงจิน” 

 

Hometown Cha-Cha-Cha

 

สิ่งหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยในเรื่องและคิดว่าเป็นสิ่งที่เนื้อเรื่องพยายามจะสื่อสารกับคนดูทุกคนก็คือ “เราสามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพอยู่ในท้องถิ่นได้” ผ่านบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการมีค่าจ้างขั้นต่ำที่มีคุณภาพเพียงพอกับการครองชีพ

 

หัวหน้าฮงและชาวบ้านกงจินดำรงชีวิตอยู่ด้วยค่าจ้างขั้นต่ำได้อย่างไร

 

Hometown Cha-Cha-Cha

 

อาจจะไม่เป็นการสปอยเนื้อเรื่องจนเกินไป เพราะสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ซีรีส์พยายามถ่ายทอดให้กับคนดูทุกคนรู้ตั้งแต่ Ep แรกๆ ของซีรีส์แล้วว่า ตัวละครหลายตัวในเรื่องนั้นสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมง เช่น ตัวละครเอกฝ่ายชายของเรื่องอย่างหัวหน้าฮง ซึ่งจะทำงานจิปาถะต่างๆ (หัวหน้าฮงทำได้ทุกอย่างจริงๆ มีใบอนุญาตทำงานทุกๆ อย่างเท่าที่จะมีได้ และมีทักษะหลากหลายตั้งแต่พูดภาษารัสเซียและใช้ภาษามือ ไปจนถึงการเป็นบาริสต้า ช่างทาสี ช่างไฟฟ้า และช่างซ่อมเรือ)

 

Hometown Cha-Cha-Cha

 

อัตราการว่าจ้างในชุมชนหมู่บ้านชาวประมงแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานอะไร จะคิดราคาจากอัตราค่าแรงขั้นต่ำ คือ 8,720 วอน ต่อชั่วโมง คูณด้วยชั่วโมงการทำงานในแต่ละงาน เช่น ตอนที่ตัวเอกหญิงของเรื่องได้ให้หัวหน้าฮงดำเนินการจัดทำเรื่องสัญญาเกี่ยวกับการเช่าบ้าน และสถานที่สำหรับทำร้านหมอฟัน เป็นต้น และ โดยการทำงานของหัวหน้าฮงจะเป็นรูปแบบของฟรีแลนซ์ มีเวลาทำงานโดยเป็นคนกำหนดเอง และจะไม่ทำงานในวันหยุดเสาร์ -อาทิตย์

ประเด็นสำคัญ คือ ค่าจ้างขั้นต่ำที่หัวหน้าฮงเรียกเป็นค่าบริการนี้ เป็นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2021 ซึ่งรัฐบาลเกาหลีกำหนดให้คนเกาหลีที่ทำงานรับจ้างได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 8,720 วอน หรือ 240 บาทต่อชั่วโมง ซึ่งมากกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันของประเทศไทย และมากกว่าอาชีพพนักงานร้านสะดวกซื้อบางยี่ห้อที่ให้ค่าตอบแทนพนักงานประมาณชั่วโมงละ 40 บาท (โดยมีขอบเขตการทำงานกว้างขวางเหมือนมหาสมุทร) นอกจากค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงแล้ว รัฐบาลเกาหลียังได้มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำต่อเดือนด้วย (เงินเดือนรวมๆ) จะต้องไม่ต่ำกว่า 1,822,480 วอน หรือประมาณ 51,000 บาท (มากกว่าค่าตอบแทนปริญญาตรีของไทย)

 

Hometown Cha-Cha-Cha

 

ไม่ใช่แค่ตัวละครเอกฝ่ายชายเท่านั้นที่ทำงานเรียกรับค่าจ้างขั้นต่ำนี้ จะเห็นได้ว่าตัวละครหลายตัวในเรื่อง ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ เช่น คุณยายกัมรี หัวหน้าแก๊งสามยาย ที่มีอาชีพควักเครื่องในหมึกก็ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในการดำรงชีวิต ซึ่งถ้าเทียบกับค่าครองชีพแล้วจะเห็นฉากหนึ่งที่แก๊งสามยายไปซื้อสบู่ที่บ้านของหัวหน้าฮง โดยจะมีการพูดถึงราคาสบู่ก้อนละ 500 วอน ซึ่งคุณยายทั้งสามจะบอกว่ามันถูกมากเมื่อเทียบกับคุณภาพ สิ่งนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่ซีรีส์แสดงให้เห็นถึงความสมเหตุสมผลของค่าจ้างและค่าครองชีพในชุมชนที่ค่อนข้างมีความสมดุลกัน

ดังจะเห็นได้ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศเกาหลีนั้น เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตอย่างหนึ่ง และแม้จะอยู่ในท้องถิ่นชนบท ค่าจ้างขั้นต่ำในจำนวนดังกล่าวไม่ใช่เงินที่มากจนนายจ้างไม่สามารถจ่ายได้ และไม่ได้น้อยไปจนไม่สามารถใช้ในการครองชีพได้เลย เพราะจะเห็นได้ว่าทุกๆ ครั้งที่มีการจ้างงานจิปาถะกับหัวหน้าฮง แทบจะไม่มีใครปฏิเสธที่จะจ่ายค่าตอบแทนจำนวนดังกล่าวเลย

 

Hometown Cha-Cha-Cha

 

นอกจากนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำของเกาหลียังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างคือ มีการทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสม่ำเสมอ แม้ว่าซีรีส์จะพึ่งจบไปไม่นาน แต่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนไปแล้ว โดยคณะกรรมการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (The Minimum Wage Commission) ของประเทศเกาหลี ได้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาและได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2022 เป็น 9,160 วอน หรือประมาณ 256 บาท ต่อชั่วโมง ซึ่งเพิ่มขึ้นมาร้อยละ 5.1 ของค่าจ้างขั้นต่ำในปีก่อน และกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนไว้ที่ 1,914,440 วอน หรือประมาณ 53,700 บาท ต่อเดือน ซึ่งการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้ดำเนินการมาต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 24 ปี ตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา และการประกันค่าจ้างขั้นต่ำต่อเดือนเริ่มต้นมีในปี 2016 

 

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่มีการปรับเปลี่ยนโดยคณะกรรมการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

Year Houly Minimum wage rate Daily minimum wage rate (based on 8 hours) Monthly minimum wage rate (based on 209 hours, based on Public notice) Increase (an increase in the amount)
'22.1.1 ~'22.12.31 9,160 73,280 1,914,440 5.05(440)
'21.1.1 ~'21.12.31 8,720 69,760 1,822,480 1.5(130)
'20.1.1 ~'20.12.31 8,590 68,720 1,795,310 2.87(240)
'19.1.1 ~'19.12.31 8,350 66,800 1,745,150 10.9(820)
'18.1.1 ~'18.12.31 7,530 60,240 1,573,770 16.4(1,060)
'17.1.1 ~'17.12.31 6,470 51,760 1,352,230 7.3(440)
'16.1.1 ~'16.12.31 6,030 48,240 1,260,270 8.1(450)
'15.1.1 ~'15.12.31 5,580 44,640   7.1(370)
14.1.1~’14.12.31 5,210 41,680   7.2(350)
'13.1.1 ~'13.12.31 4,860 38,880   6.1(280)
'12.1.1 ~'12.12.31 4,580 36,640   6.0(260)
'11.1.1~'11.12.31 4,320 34,560   5.1(210)
'10.1.1~'10.12.31 4,110 32,880   2.75(110)
'09.1.1~'09.12.31 4,000 32,000   6.1(230)
'08.1.1~'08.12.31 3,770 30,160   8.3(290)
'07.1.1~'07.12.31 3,480 27,840   12.3(380)
'05.9~'06.12 3,100 24,800   9.2(260)
'04.9~'05.8 2,840 22,720   13.1(330)
'03.9~'04.8 2,510 20,080   10.3(235)
'02.9~'03.8 2,275 18,200   8.3(175)
'01.9~'02.8 2,100 16,800   12.6(235)
'00.9~'01.8 1,865 14,920   16.6(265)
'99.9~'00.8 1,600 12,800   4.9(75)
'98.9~'99.8 1,525 12,200   2.7(40)
'97.9~'98.8 1,485 11,880   6.1(85)
'96.9~'97.8 1,400 11,200   9.8(125)
'95.9~'96.8 1,275 10,200   8.97(105)
'94.9~'95.8 1,170 9,360   7.8(85)
'94.(1~8) 1,085 8,680   7.96(80)
'93 1,005 8,040   8.6(80)
'92 925 7,400   12.8(105)
'91 820 6,560   18.8(130)
'90 690 5,520   15.0(90)
'89 600 4,800   1Group29.7(137.5)
2Group23.7(112.5) 
'88 1Group 462.50
2Group 487.50 
3,700
3,900 
  -

ที่มา: Minimum Wage Commission, Republic of Korea

 

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าเกาหลีก็มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นจากการผูกขาดของการพัฒนา และจะมีด้านมืดของสังคมที่มีความกดดันต่างๆ ที่ทำให้เกิดการเรียกสังคมเกาหลีว่า “นรกโชซอน” (Hell Joseon) และอัตราค่าครองชีพอาจจะสูงมากเมื่ออยู่ในเมืองทำให้คุณภาพชีวิตอาจจะลดลงบ้าง แต่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวก็เพียงพอในการดำรงชีวิตได้

 

ถ้าหัวหน้าฮงเกิดเป็นคนไทยจะมีค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไร

 

Hometown Cha-Cha-Cha

เมื่อพิจารณาบริบทของประเทศเกาหลีในซีรีส์แล้ว ลองย้อนกลับมาดูประเทศไทย สิ่งที่ควรตั้งคำถามคือ ค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง และเหมาะสมกับค่าครองชีพจริงๆ หรือไม่ โดยมาลองสมมติกันว่า ถ้าหากหัวหน้าฮงเกิดเป็นคนไทย มีความสามารถมากมายหลายอย่างเขาจะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไรในประเทศไทย

คำตอบก็คือ ขึ้นกับว่าหัวหน้าฮงทำงานที่ไหน หรือ ที่จังหวัดไหนของประเทศไทย เพราะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยมีความแตกต่างกัน (สัมพัทธ์) ตามพื้นที่การแบ่งเขตค่าจ้างขั้นต่ำ โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา คณะกรรมการค่าจ้างได้มีประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ซึ่งได้ประกาศให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยแบ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้แตกต่างกันตามเขตพื้นที่ (ซึ่งไม่ได้สัมพันธ์กับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์แต่อย่างใด) ดังนี้

 

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยในแต่ละพื้นที่

พื้นที่ ค่าจ้างขั้นต่ำ จำนวนจังหวัด
จังหวัดชลบุรีและภูเก็ต 336 2
จังหวัดระยอง 335 1
กรุงเทพมหานคร และจังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ 331 6
จังหวัดฉะเชิงเทรา 330 1
จังหวัดกระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย อุบลราชธานี 325 14
จังหวัดปราจีนบุรี 324 1
จังหวัดกาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม 323 6
จังหวัดกาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ พะเยา ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์ 320 21
จังหวัดกำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระยอง ราชบุรี ลำปาง ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อุทัยธานี และอำนาจเจริญ 315 22
จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี 313 3

ที่มา: ปรับปรุงจากประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) และคำชี้แจง พร้อมตารางแสดงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

 

ดังนั้น ถ้าหัวหน้าฮงทำงานในกรุงเทพมหานครก็จะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน วันละ 331 บาท หรือ คิดเป็นรายชั่วโมงตกชั่วโมงละ 41 บาท (จำนวนนี้คิดจากการหาร 8 ชั่วโมงตามเวลาทำงานปกติสูงสุดตามกฎหมายแรงงานกำหนดไว้) และ เมื่อคิดเป็นค่าจ้างต่อเดือนจะเป็นเงินจำนวน 9,930 บาท (คิดจากการคูณ 30 วัน อาจจะรวมเสาร์ - อาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดงานในบางอาชีพและสถานประกอบการ) เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าครองชีพแล้ว ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่หัวหน้าฮงจะต้องจ่าย เช่น ค่าเดินทาง ค่าเช่าที่พักอาศัย เป็นต้น

เมื่อรวมๆ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวแล้วก็ไม่ต้องพูดถึงการมีเงินเก็บแม้แต่น้อย (แม้ว่าอาจจะมีพูดให้ความเห็นว่า ถ้ารู้จักใช้ชีวิตอย่างประหยัด พอเพียง และรู้จักใช้ก็จะอยู่ได้ จึงอยากให้ย้อนตรองดูว่ามันเพียงพอจริงๆ หรือไม่ และจะเลือกรับเงินจำนวนดังกล่าวจริงๆ หรือไม่ ถ้าหากสามารถเลือกได้)

สำหรับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย ในแต่ละพื้นที่เกิดจากการกำหนดของคณะกรรมการค่าจ้างซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คนเท่าๆ กัน โดยศึกษาและพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่ อัตราค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเทียบเคียงและอาศัยสูตรคำนวณตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ซึ่งเกณฑ์นี้ใช้กับลูกจ้างแรกเข้าในปีนั้นๆ โดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะได้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเอาไว้ให้กับลูกจ้างแรกเข้าในปีนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ลูกจ้างทุกคนจะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำจริงๆ เช่น ในปี 2558 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการสำรวจการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำแรงงานทั่วประเทศ พบว่ายังมีแรงงานทั่วประเทศไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 2.11 ล้านคน หรือร้อยละ 14.8 โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานในสถานประกอบการที่มีคนทำงานไม่เกิน 50 คน ((1-9 คน ร้อยละ 33.6) 10-49 คน (ร้อยละ 12)) เป็นต้น

 

ร้อยละของแรงงานไม่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ

ขนาดสถานประกอบการ (คน) % แรงงานไม่ได้รับต่ำกว่า 300 บาท (ล้านราย)
1-9 33.6 (1.55)
10-49 12.0 (0.38)
50-199 3.7 (0.08)
200+ขึ้นไป 1.9 (0.07)
อื่นๆ 11.7 (0.01)
รวมเฉลี่ย 14.8 (2.11)

หมายเหตุ: คำนวณจากการสำรวจการมีงานทำไตรมาส 3, 2558
ที่มา: ยงยุทธ  แฉล้มวงษ์, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.

 

นอกจากนี้ การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยเกิดความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ก็อาจจะมีปัญหาได้เช่นกัน โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในพื้นที่ที่มีความเจริญอยู่แล้ว หรือมีเป็นเมืองเศรษฐกิจ (การท่องเที่ยว และโรงงานอุตสาหกรรม) กลับมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูง ในขณะที่เมืองที่ยังไม่ได้รับการพัฒนากลับมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ต่ำ เมื่อคิดถึงสภาพการลงทุนแล้ว เอกชนอาจจะอยากลงทุนในพื้นที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ต่ำเพิ่มขึ้น แต่แรงงานก็ไม่อยากทำงานในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมกับพยายามโยกย้ายเข้าไปหางานทำในพื้นที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่สูง สภาพการพัฒนายิ่งไม่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ เพราะแม้มีการลงทุนแต่ก็อาจไม่มีแรงงาน

ปัญหาเรื่องอัตราค่าครองชีพในประเทศไทยเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมากโดยเฉพาะในช่วงหาเสียงที่รัฐบาลหลายพรรคการเมืองมักจะชูนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ (เช่นเดียวกันกับรัฐบาลนี้ที่เคยหาเสียงด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ไม่ได้ทำตามสัญญาหลังจากขอเวลามานาน) ประเด็นใจความสำคัญของการถกเถียงมักจะอยู่ที่ว่าการแทรกแซงราคาค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลให้เกิดอัตราการว่างงานเนื่องจากมีการปลดคนงานออก 

อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงดังกล่าวอาจจะไม่ถูกต้องเมื่อรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ล่าสุดนั้นได้สรุปผลการวิจัยว่า จาก “การทดลองตามธรรมชาติ” (Natural Experiments) โดยการศึกษาสถานการณ์ตามความเป็นจริงเพื่อตอบคำถามทางสังคมในเรื่องที่ว่าค่าแรงขั้นต่ำกับการอพยพส่งผลต่อตลาดแรงงานอย่างไรบ้าง ซึ่งผลสรุปนั้นพบว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ส่งผลต่อการจ้างงานลดลง และผู้อพยพไม่ได้ทำให้พวกคนงานซึ่งเกิดในพื้นถิ่นได้รับค่าจ้างต่ำลง ผลการทดลองในครั้งนี้เป็นการพลิกแนวความคิดเดิมที่เคยยึดถือจากการทดลองโดยใช้แบบจำลองมาคิด

 

Hometown Cha-Cha-Cha

 

เมื่อกลับมาที่หัวหน้าฮง สถานการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอนหากหัวหน้าฮงย้ายจากประเทศเกาหลีมาทำงานที่ประเทศไทย ไม่ว่าเขาจะทำงานในกรุงเทพฯ หรือ ในต่างจังหวัด อัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวอาจจะไม่สามารถทำให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสะดวก และเลือกทำงานในวันที่อยากทำเหมือนในเรื่อง Hometown Cha-Cha-Cha แต่ทางเลือกของหัวหน้าฮงอาจจะลดลงและทำงานอย่างยากลำบากในทุกๆ วันเพื่อจะมีชีวิตรอดไปในแต่ละวัน จนไม่สามารถใส่ใจคนในชุมชนรอบตัวเขาได้อย่างเต็มที่แบบที่เป็นในซีรีส์ และคงไม่เกิดเรื่องราวอบอุ่นหัวใจเป็นที่แน่นอน

 

Hometown Cha-Cha-Cha

 

Hometown Cha-Cha-Cha

 

Hometown Cha-Cha-Cha (2021) 

  • ประเภทซีรีส์ : โรแมนติก, คอมเมดี้
  • ผู้กำกับ : ยูเจวอน
  • นักแสดงนำ : ชินมินอา, คิมซอนโฮ, อีซังอี
  • จำนวนตอน : 16 ตอน
  • ออกอากาศครั้งแรกทางช่อง tvN วันที่ 28 สิงหาคม 2564 เวลา 21.00 น. (เกาหลี)
  • ประเทศไทยสามารถรับชมได้ที่ NETFLIX

 

อ้างอิง: 

  • กองบรรณาธิการ TCIJ, ‘จับตา: สรุปรางวัลโนเบลทุกสาขาประจำปี 2021’ (TCIJ, 14 ตุลาคม 2564) https://www.tcijthai.com/news/2021/10/watch/11993 สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2564.
  • ยงยุทธ แฉล้มวงษ์, ‘ถึงเวลาปรับค่าจ้างขั้นต่ำได้หรือยัง’ (TDRI, 7 กันยายน 2558) https://tdri.or.th/2016/09/minimum-wages/ สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2564.
  • ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) และคำชี้แจง พร้อมตารางแสดงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
  • Minimum Wage Commission, ‘Minimum Wage System’ (Minimum Wage Commission Republic of Korea) http://minimumwage.go.kr/eng/sub04.html สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2564.
  • กรกิจ ดิษฐาน, ‘Hell Joseon เมื่อคนหนุ่มสาวเกาหลีไม่อยากอยู่ประเทศตัวเอง’ (Post Today, 4 พฤษภาคม 2564) https://www.posttoday.com/world/652005 สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2564.

 

Hometown Cha-Cha-Cha