ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

6 ตุลา ชนวนสำคัญของการหยุดยั้งการเติบโตของขบวนการสิทธิแรงงาน

27
กันยายน
2564

 

ย้อนกลับไปช่วงสถานการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงก่อน 6 ตุลาคม 2519 นอกเหนือไปจากขบวนการนิสิต-นักศึกษาแล้ว กลุ่มบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือ “กลุ่มผู้ใช้แรงงาน” ในนามของ สภาแรงงานแห่งประเทศไทย โดยได้ร่วมกับ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ที่คัดค้านสถานะภิกษุของ ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’ และได้ขอให้รัฐบาลเนรเทศภิกษุถนอม กิตติขจรออกจากประเทศไทย[1] เมื่อในเวลาต่อมาสถานการณ์ทางการเมืองนำไปสู่การสังหารหมู่กลางกรุงเทพฯ

ความขัดแย้งทางการเมืองนั้น นำมาสู่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้นำไปสู่การฟื้นชีพใหม่ของกลุ่มเผด็จการขวาจัด โดยมี ‘นายธานินทร์ กรัยวิเชียร’ (องคมนตรี) ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้การโอบอุ้มของคณะทหารในนามคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน[2] โดยภายหลังประชาชนบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มผู้นำกรรมกรต่างถูกกวาดล้าง ซึ่งเป็นการบีบบังคับให้จำเป็นต้องหนีเข้าป่าเพื่อหลบซ่อนและเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

นับตั้งแต่เหตุการณ์ก่อน 14 ตุลาคม 2516 จนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานนั้นมีความสำคัญและมีอิทธิพลทางการเมืองสูง โดยเฉพาะเมื่อเกิดการรวมกลุ่ม 3 ประสาน ระหว่างนักศึกษาปัญญาชน ขบวนการกรรมกร และขบวนการชาวนา

ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2515 – 2517 นั้น ได้มีการนัดหยุดงานหลายครั้งเพื่อเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างและปรับปรุงสภาพการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในช่วงกลางปี 2517 เมื่อคนงานกว่า 6 พันคนของโรงงานทอผ้าที่กรุงเทพฯ นัดหยุดงานประท้วงที่นายจ้างเลิกจ้างคนงานเพราะขายของไม่ได้ ซึ่งนักศึกษาได้เข้าช่วยกลุ่มผู้ใช้แรงงานเหล่านี้โดยการตั้งองค์กรประสานขบวนการแรงงาน และผลักดันให้มีการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน ซึ่งรัฐบาลในเวลานั้นได้ตอบสนองโดยการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และเข้ามาไกล่เกลี่ยการนัดหยุดงาน และออกกฎหมายแรงงานใหม่ที่ยอมให้จัดตั้งสหภาพแรงงาน ให้มีกลไกเพื่อไกล่เกลี่ยกรณีพิพาท[3] การร่วมมือกันของขบวนการ 3 ประสานนี้เอง ทำให้รัฐบาลเผด็จการฝ่ายขวาเองตระหนักถึงความแข็งเกร่งของกลุ่มทางสังคมเหล่านี้ ซึ่งทำให้ในเวลาต่อมารัฐบาลพยายามลดทอนอำนาจของกลุ่มทางสังคมต่างๆ

กระบวนการของเผด็จการในหยุดยั้งการเติบโตของขบวนการสิทธิแรงงาน

ภายหลังจากการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น กลุ่มเผด็จการขวาจัดและคณะทหารได้ร่วมมือกันสกัดกั้นบทบาททางการเมืองของขบวนการแรงงาน โดยการลดทอนความแข็งแกร่งและทำลายคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อไม่ให้สามารถออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ โดยอาศัยวิธีการต่างๆ ดังนี้

ประการแรก:การรัฐประหารได้ทำลายขบวนการเคลื่อนไหว 3 ประสาน โดยในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้นเพื่อต่อต้านการบริหารประเทศโดยรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวร่วมกัน 3 ฝ่าย โดยเป็นความสัมพันธ์ของ ขบวนการนักศึกษาปัญญาชน ขบวนการกรรมกร และขบวนการชาวนา ซึ่งร่วมกันต่อสู้และขับเคลื่อนการใช้สิทธิเรียกร้องต่างๆ ร่วมกัน[4] 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้นขบวนการเคลื่อนไหว 3 ประสานนั้นได้เสื่อมลงจากความพยายามใช้อำนาจทางการเมืองบีบบังคับให้ขบวนการดังกล่าวเสื่อมลง ทำให้ขบวนการแรงงานนั้นต้องพึ่งพาตนเองอย่างโดดเดี่ยวทางสังคมในระดับสูง

ประการที่สอง ค่าจ้างขั้นต่ำต้องถูกแช่แข็งนานมาก โดยค่าจ้างขั้นต่ำอัตราแรกนั้นจำนวน 12 บาทต่อวัน ที่บังคับใช้กับลูกจ้างกรรมกรตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2516 แต่ภายหลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กระแสการเคลื่อนไหวของขบวนการ 3 ประสานนั้นได้ส่งผลต่ออัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เพิ่มขึ้นสูงมากโดยปรับจาก 12 บาท มาเป็น 16 บาท ในวันที่ 1 มกราคม 2517 และในวันที่ 14 มิถุนายน 2517 ก็ปรับเป็น 25 บาท[5] ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วมาก 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการขวาจัดที่มีทหารหนุนหลังได้คุกคามและทำลายอำนาจต่อรองของขบวนการแรงงานในการเรียกร้องให้เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และแม้ในภายหลังจะสามารถเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ในเวลา 2 ปีต่อมา แต่ก็เพิ่มด้วยอัตราที่ต่ำมาก โดยในวันที่ 1 ตุลาคม 2520 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 28 บาท เพิ่มขึ้น 3 บาท[6] จากในปี 2517

ประการที่สาม การยกเลิกองค์กรจัดตั้งและสหภาพแรงงาน ภายหลังจากการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 รัฐบาลเผด็จการได้ออกคำสั่งปฏิวัติยกเลิกกฎหมายแรงงานและสหภาพแรงงานเหมือนกับการรัฐประหารยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2501[7] โดยสหภาพแรงงานจึงมีสถานะกลายเป็นองค์กรเถื่อนที่ไม่มีกฎหมายรับรอง ทำให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะรัฐบาลใช้อำนาจรัฐเข้ามาควบคุม เช่น เมื่อมีการจัดประชุมจะต้องมีการขออนุญาตเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ รวมถึงรัฐบาลได้ยกเลิกศูนย์ประสานงานกรรมกรแห่งชาติ และสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งทำให้สหภาพแรงงานไทยอ่อนแอลง 

นอกจากนี้ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้มีคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 22 ห้ามมิให้ร่วมกันหยุดงานหรือปิดงานงดจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีสถานะเป็นบุคคลซึ่งเป็นภัยต่อสังคมและจะถูกควบคุมตัว[8]

ประการที่สี่ ออกกฎกระทรวงจำกัดสิทธินัดหยุดงานของลูกจ้างในกิจการบางประเภท[9] โดยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 ได้กำหนดห้ามกิจการ คือ การรถไฟ การท่าเรือ การโทรศัพท์ หรือ การโทรคมนาคม การผลิตหรือจำหน่ายพลังงาน หรือ กระแสไฟฟ้าแก่ประชาชน การประปา การผลิต หรือการกลั่นน้ำมันเชื้องเพลิง กิจการโรงพยาบาล หรือ สถานพยาบาล และกิจกรรมอื่นที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดเป็นกฎกระทรวง ซึ่งในเวลานั้นรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้อาศัยอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ในบางกิจการไม่มีสิทธินัดหยุดงาน ได้แก่ กิจการทุกประเภทของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กิจการของวิทยาลัยเอกชนและของโรงเรียนราษฎร์ กิจการสหกรณ์ กิจการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และกิจการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง

ประการที่ห้า การควบคุมการจัดตั้งสภาแรงงาน โดยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 กำหนดให้การจัดตั้งสภาองค์การลูกจ้างต้องมีสหภาพแรงงาน หรือสหพันธ์แรงงานไม่น้อยกว่า 15 แห่ง และต้องมีข้อบังคับและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและกำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะ ซึ่งทำให้เกิดความยากในการจัดตั้งสภาแรงงาน[10]

ประการที่หก แยกรัฐวิสาหกิจออกจากแรงงานทั่วไป โดยการตรากฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่เฉพาะสำหรับรัฐวิสาหกิจเท่านั้น[11]

สภาพดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยยับยั้งการเติบโตของสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิแรงงานที่ถูกกระทบอย่างชัดเจนจากการขยายอำนาจทางการเมืองของระบอบเผด็จการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือผลกระทบต่อขบวนการแรงงานไทยภายหลังจากการรัฐประหารและความรุนแรงภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

 


[1] สมยศ เชื้อไทย, คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 : ใครคือฆาตกร (พี. เค. พริ้นติ้งเฮ้าส์, 2531) น. 14-15.

[2] บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ, ‘อาชญากรรมคดี 6 ตุลา กับผลกระทบต่อขบวนการแรงงาน’ (2545) 33 วารสารสังคมศาสตร์, 81.

[3] คริส เบเคอร์และผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย (สำนักพิมพ์มติชน 2557) น. 284

[4] บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ, (เชิงอรรถที่ 2) 82

[5] เพิ่งอ้าง, 82

[6] เพิ่งอ้าง, 83

[7] เพิ่งอ้าง, 84

[8] คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 22 ข้อ 1 และข้อ 2

[9] บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ, (เชิงอรรถที่ 2) 87

[10] บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ, (เชิงอรรถที่ 2) 88 - 89

[11] บัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ, (เชิงอรรถที่ 2) 89