แถลงการณ์กรณีสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศยูเครน
สถาบันปรีดี พนมยงค์ ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ยึดมั่นอุดมการณ์สันติธรรม และหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ขอแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศยูเครน ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชน และเศรษฐกิจโลก โดยขอให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด และเคารพในเอกราชอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศ ด้วยความเสมอภาคเท่าเทียมกัน
การใช้กำลังรุกรานอธิปไตยของประเทศหนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ย่อมปราศจากความชอบธรรม
จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใฝ่สันติภาพในโลกทุกคนที่จะแสวงหาทางออกที่เป็นธรรม เพื่อว่าทุกประเทศที่มีระบบสังคมแตกต่างกัน จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าวิกฤตการณ์ดังกล่าว จะได้รับการคลี่คลายโดยเร็ว เพื่อประโยชน์สุขแห่งมวลมนุษยชาติ
Statement of Pridi Banomyong Institute
regarding the violent situation in Ukraine
The Pridi Banomyong Institute, a private organization adhering to the ideals of peace and the principles of peaceful coexistence, wishes to express its position regarding the violent situation in Ukraine which it believes may result in the violation of fundamental human rights as well as the damage of the world economy. In this connection, the Institute appeals to the parties involved to strictly attach to the principles of international law with regard to independence, sovereignty and territorial integrity, based on the equality of sovereign states.
The forceful attack on one state by another, performed by whatever reason, cannot in any way be justified and thus constitute a gross violation of international law that is unacceptable to all.
It is the duty of every peace-seeking person to find a just and lasting solution, so that states regardless of their social background will be able to live together in a peaceful world. It is therefore our fervent hope that the above-mentioned crisis be resolved as soon as possible - for the benefit of mankind.
รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ กับแนวคิดเรื่องสันติธรรม
รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ยึดมั่นในหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับทุกประเทศที่มีระบอบการปกครองทั้งทางการเมืองและสังคมที่แตกต่างกันและยึดมั่นในความคิดที่ชนทุกชาติอยู่ร่วมกันอย่างสันติในโลกได้ โดยไม่มีการถือผิวหรือเชื้อชาติ ดังที่ท่านได้แสดงถึงอุดมคติที่ยึดถือในเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ตลอดจนสันติภาพแห่งโลก ไว้ในหนังสือเกี่ยวกับประเทศสยามที่รักสงบและในบทภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติว่าสงครามมีแต่จะทำให้เกิดความสูญเสีย และเป็นเรื่องความขัดแย้งของชนชั้นปกครอง ไม่ควรให้ประชาชนต้องมาเดือดร้อนด้วย
ครั้นเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ญี่ปุ่นได้ขอเดินทัพผ่านไทยเพื่อไปโจมตีพม่าและมลายู ซึ่งท่านปรีดีเห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่ออุดมคติการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จึงได้พยายามผลักดันให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินนโยบายต่อต้านการรุกรานของกองทหารต่างชาติไม่ว่าชาติใด เพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติ ด้วยเหตุผลว่าการต่อต้านสงครามรุกราน เป็นการต่อสู้เพื่อเหตุผลอันชอบธรรม
ในขณะที่รัฐบาลยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย ท่านปรีดีกับคนไทยผู้รักชาติจำนวนหนึ่ง จึงได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น เพื่อต่อต้านการรุกรานของต่างชาติ และได้ดำเนินการให้ชาติไทยได้รับเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์กลับคืนมา โดยได้ออกประกาศสันติภาพ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 และให้ถือว่าวันนี้เป็น “วันสันติภาพ”
หากย้อนกลับไปดูคำนำของนวนิยายเรื่องพระเจ้าช้างเผือกที่ท่านปรีดีได้เขียนเอาไว้ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2482 ก่อนที่สงครามจะอุบัติขึ้น โดยกล่าวว่านวนิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่ “สันติภาพ” เพราะว่า “ชัยชนะแห่งสันติภาพนั้นมิได้มีชื่อเสียงบันลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด” ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงแก่นคิดเรื่องสันติธรรมของ "รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์" อย่างแจ่มชัด
28 กุมภาพันธ์ 2565