ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แถลงการณ์สถาบันปรีดี พนมยงค์: กรณีข้อกล่าวหาของพลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ ต่อพฤฒสภาตามแนวคิดของนายปรีดี พนมยงค์

13
พฤษภาคม
2568

ตามที่ พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ ได้เผยแพร่ข้อความผ่านสื่อสาธารณะ รวมถึงปรากฏในบทความชื่อ “สว. สีน้ำเงิน กับ การพลิกล็อค” ลงในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ออนไลน์ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 https://www.thaipost.net/x-cite-news/787569 ซึ่งมีการกล่าวพาดพิงถึงนายปรีดี พนมยงค์ โดยระบุว่าเป็นผู้คิดค้นระบบเลือกตั้งพฤฒสภา (วุฒิสภา) ในทางอ้อม เพื่อรวบรวมเสียง ส.ส. สนับสนุนกันเอง และนำมาเปรียบเทียบกับกระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น

สถาบันปรีดี พนมยงค์ ขอเรียนชี้แจงและยืนยันข้อเท็จจริง ดังนี้

  1. พฤฒสภาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 มิได้เกิดจากแนวคิดส่วนบุคคลของนายปรีดี พนมยงค์ หากแต่เป็นผลจากฉันทามติของรัฐสภาในยุคสมัยนั้น โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะปรับเปลี่ยนจากระบบสมาชิกแต่งตั้งมาสู่รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎรโดยสมบูรณ์  โดยนายปรีดี ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น แม้จะไม่เห็นด้วยกับการมีสองสภาโดยหลักการ แต่ก็เคารพฉันทามติของสภา และมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำกฎหมายภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ
  2. สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งทางอ้อม โดยองค์กรเลือกตั้งที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง มิใช่มาจากการแต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจทางบริหาร หรือกลุ่มอำนาจพิเศษใดๆ อีกทั้งเป็นระบบที่ออกแบบให้ราษฎรมีส่วนร่วมผ่านตัวแทนที่พวกเขาเลือก ไม่ใช่ระบบปิดหรือลับเฉพาะกลุ่ม
  3. ข้อกล่าวหาว่ามีการ “ฮั้ว” หรือ “จัดทำโผลับ” ในการเลือกตั้งพฤฒสภานั้น แม้การเมืองในยุคนั้นมีการแข่งขันเชิงกลุ่มเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ใดที่สามารถยืนยันว่าการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นการทุจริต หรือเทียบเท่ากับกระบวนการที่ใช้ในการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ทั้งนี้ วุฒิสภาชุดปัจจุบัน มาจากกระบวนการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ซึ่งตราขึ้นโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดให้ผู้สมัครแบ่งกลุ่มกันเอง แล้วเลือกกันเองผ่านกระบวนการหลายชั้น โดยประชาชนไม่มีสิทธิร่วมตัดสินใจ ตรวจสอบ หรือถ่วงดุล นี่คือความแตกต่างเชิงโครงสร้างอย่างมีนัยสำคัญ
  4. นายปรีดี พนมยงค์ ได้แสดงทัศนะมาตลอดว่า ระบบรัฐสภาแบบ “สภาเดียวที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งของราษฎร” คือระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และท่านไม่เห็นด้วยกับการมีวุฒิสภาที่แต่งตั้งโดยกลุ่มอำนาจ เพราะถือว่าเป็นการแทรกแซงเจตจำนงของประชาชน
  5. การนำแนวคิดประชาธิปไตยของนายปรีดี ไปเปรียบเทียบกับวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของกลุ่มอำนาจภายหลังการรัฐประหาร หรือระบบการเลือกกันเองของวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ที่กำลังเผชิญข้อกล่าวหาทุจริตอย่างร้ายแรง ถือเป็นการเบี่ยงเบนข้อเท็จจริง และลบล้างความแตกต่างเชิงหลักการที่มีอยู่โดยสิ้นเชิง
  6. รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ถือเป็นก้าวสำคัญของประชาธิปไตยไทย โดยได้สถาปนาขึ้นอย่างถูกต้องทั้งทางนิตินัย และ พฤตินัย ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 เป็นรัฐธรรมนูญที่ยืนยันว่า สมาชิกของทั้งสองสภาต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง แยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

สถาบันปรีดี พนมยงค์ ยืนยันเจตจำนงของปรีดี พนมยงค์ ที่ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร” และผู้แทนใช้อำนาจนิติบัญญัติต้องมาจากเสียงของประชาชนเท่านั้น และขอเรียกร้องให้ผู้ที่มีบทบาทในสังคม ยึดถือข้อเท็จจริงและหลักวิชาการในการแสดงความเห็นต่อบุคคลและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวพันกับบุคคลสำคัญผู้เป็นรากฐานของประชาธิปไตยไทย เพื่อให้การถกเถียงในสาธารณะเป็นไปด้วยความรับผิดชอบและสร้างสรรค์

ด้วยความเคารพต่อสังคมประชาธิปไตยและประวัติศาสตร์ชาติไทย

สถาบันปรีดี พนมยงค์
13 พฤษภาคม 2568

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม :