ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แถลงการณ์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ต่อกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง

8
สิงหาคม
2567

สถาบันปรีดี พนมยงค์ มีความเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งยุบพรรคก้าวไกล โดยให้เหตุผลว่า การเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความพยายามล้มล้างการปกครอง ฯ นั้น มีข้อที่น่ากังวลว่าเป็นการตีความใช้อำนาจและดุลพินิจ จนอาจเป็นการแทรกแซงการทำหน้าที่ของรัฐสภา ล้ำเกินขอบเขตแห่งหลักการแบ่งแยกอำนาจ และขัดต่อหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ยึดถือมติทางการเมืองของประชาชนเป็นสำคัญ

อนึ่ง การเสนอแก้ไขกฎหมายตามกระบวนการขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้แทนราษฎร และไม่ควรนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว อาจทำให้สาธารณชนตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการดำรงอยู่ขององค์กรที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนผ่านผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญฉบับคณะรัฐประหาร ปี 2560 กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง นอกจากนี้ กระบวนการทางตุลาการของไทย ก็สุ่มเสี่ยงต่อการถูกเพ่งเล็งจากสาธารณชนด้วยเช่นกันว่า ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการคุกคามผู้มีความเห็นแตกต่างทางการเมือง ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายหลักนิติธรรมและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนหรือไม่

สถาบันปรีดี พนมยงค์ ยังคงยึดมั่นและยืนยันในหลักการประชาธิปไตยที่ว่า “อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย” องค์กรของรัฐทุกองค์กร รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจักต้องมาจากการเลือกตั้ง หรืออย่างน้อยที่สุด จักต้องมีความยึดโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยมีพรรคการเมืองทำหน้าที่เป็นตัวแทนเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน รัฐที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องเคารพหลักการแบ่งแยกอำนาจ และเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้แข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรม

การยุบพรรคการเมืองโดยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก ที่ได้แสดงเจตจำนงในการเลือกพรรคการเมืองเข้ามาทำหน้าที่แทนตนในสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งยังเป็นการลดทอนคุณค่าและหลักการประชาธิปไตย อันขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ซึ่งรัฐไทยมีหน้าที่ต้องเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิเหล่านี้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ตามหลักการประชาธิปไตย อำนาจในการยุบพรรคการเมืองควรใช้เพื่อพิทักษ์บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยจากการถูกคุกคาม หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มิใช่เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือขัดขวางกระบวนการทางประชาธิปไตยของประชาชน

สถาบันปรีดี พนมยงค์ จึงขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง เคารพหลักการประชาธิปไตย ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ ยุติการแทรกแซงสถาบันทางการเมือง และเปิดพื้นที่ให้อย่างเสรี สร้างสรรค์และสันติ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน

สถาบันปรีดี พนมยงค์
7 สิงหาคม 2567