ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

8 ปี รัฐประหาร 2557 กับสิ่งตกค้างส่งทอดถึง ‘เยาวรุ่น’

22
พฤษภาคม
2565

‘อนันต์ โลเกตุ’ เด็กหนุ่มวัย 18 ปี จากอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ลาอุปสมบทจากการบวชสามเณรวัดใกล้บ้าน เพื่อเข้าสมัครเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อเปิดเทอมไม่นาน เขาก็ได้ประจักษ์การรัฐประหารด้วยตาของตัวเอง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คือ การเป็นพยานรู้เห็นโดยตรงต่อการใช้กำลังอาวุธเปลี่ยนแปลงรัฐบาลสำเร็จ ครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่

เนื่องจากตลอด 1 สัปดาห์แรก ของการรัฐประหาร อนันต์และเพื่อนถูกเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยร่วมกับเจ้าหน้าที่คณะรัฐประหารควบคุมตัว ก่อนจะนำตัวขึ้นรถกระบะหายไปเป็นเวลากว่า 3 วัน ขณะที่ญาติพี่น้องของอนันต์ไม่ได้ข่าวคราว ต่อมาทราบว่ามีมิตรสหายที่หายไปร่วมกันทั้งหมด 4 ราย 

นักศึกษาทั้งหมดถูกปฏิบัติด้วยวิธีการคล้ายคลึงกัน คือ ปิดตา ข่มขู่ ถูกสบถด่า บางรายถูกพานท้ายปืนกระแทกหลัง เวลาล่วงผ่านไป 2 วัน มีเพียงภาพที่ถูกส่งออกมาตามโลกออนไลน์พบพวกเขาถูกจับกุมไว้ที่ สน.หัวหมาก โดยเจ้าหน้าที่พบของกลางชิ้นสำคัญว่า พวกเขาต้องการล้มล้างอำนาจคณะรัฐประหารคือแผ่นสติ๊กเกอร์ที่มีข้อความ “ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอารัฐประหาร”

ให้หลังเหตุการณ์วันนั้น 8 ปี อนันต์เลือกจบชีวิตตัวเอง ด้วยการแขวนคอตัวเองกับขื่อของศาลาริมทาง ณ ที่ว่าการอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ในคืนวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา[1]

สาธารณชนไม่อาจล่วงรู้ได้ว่า เหตุจูงใจเลือกจบชีวิตของอนันต์ในคืนนั้นคืออะไร แต่สภาพแวดล้อมทางการเมืองตลอด 8 ปีที่ผ่านมา อาจจะพอบอกได้ว่า แทนที่ชีวิตวัยหนุ่มของเขาจะได้ใช้สอยไปกับการทำตามความฝันพร้อมๆ ไปกับการเลี้ยงดูครอบครัว กลับต้องเผชิญประดาคดีความจากการแสดงออกทางการเมืองแทบทุกปี

พ้องไปกับกระบวนการถ่ายโอนอำนาจจากคณะรัฐประหารสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อนันต์ต้องถูกดำเนินคดีนับตั้งแต่ต้านรัฐประหาร รณรงค์ประชามติ จวบจนกระทั่งการชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎรระหว่างปี 2563-2565  เฉกเช่นเดียวกับประชาชนอีกหลายร้อยคนที่เผชิญชะตาชีวิตเดียวกัน

รายงานทางวิชาการหลายชิ้น ชี้ให้เห็นตรงกันว่า เป้าหมายในการควบคุมและปราบปรามของคณะรัฐประหารในปี 2557 มีความแตกต่างไปจากการยึดอำนาจในการรัฐประหารครั้งอื่นๆ ตรงที่มีการกวาดกล้างประชาชนอย่างกว้างขวาง[2] เช่น รัฐประหาร 2549  เพราะการยึดอำนาจโดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ในปี 2549 ซึ่งนำโดยพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ นั้นมุ่งทำลายเพียงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และเครือข่ายนักการเมือง

ขณะที่การรัฐประหารเที่ยวล่าสุด โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขยายพรมแดนการปราบปรามไปสู่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยทั้งหมด มิใช่เพียงมุ่งเป้าไปที่นักการเมืองในเครือข่ายของทักษิณเท่านั้น ดังเราจะเห็นได้จากชีวิตของอนันต์ โลเกตุ และเพื่อน

รายงานนี้จะพาไปสำรวจแบบแผนต่อเนื่องและสิ่งตกค้างอย่างน้อย 2 ประการ ที่เกิดขึ้นตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ด้านหนึ่งถือเป็นสิ่งใหม่ในการเมืองไทย เมื่อสิ่งเหล่านี้มิได้สิ้นสุดไปตามสถานะทางองค์กรของคณะรัฐประหาร หมายความว่าเมื่อรัฐไทยเปลี่ยนอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาสู่การเลือกตั้งในปี 2562 สิ่งตกค้างหลายชิ้นกลับยังดำรงอยู่อย่างแข็งกร้าวในสังคมไทย

การขังคุกระหว่างพิจารณาคดี

โดยทั่วไปผู้คนคงทราบกันว่า มีสิ่งตกค้างจำนวนมากที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2557 อาทิ รัฐธรรมนูญ คำสั่งคณะรัฐประหาร วุฒิสภา คณะกรรมการยุทธศาสตร์ ฯลฯ แต่เรายังสามารถพบเห็นสิ่งตกค้างของความรุนแรงในรูปแบบอื่น ที่ส่งต่อมาจนถึงเยาวชนยุคสมัยปัจจุบัน ในวันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญ และใช้คำสั่งคณะรัฐประหารปกครองประเทศ

การขังระหว่างพิจารณาคดี คือ หนึ่งในวิธีการครองอำนาจนี้ มันเกิดขึ้นครั้งแรกๆ หลังรัฐประหาร เมื่อผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหาร ไปจนถึงความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 รวมถึง กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้านหนึ่งข้อหาเหล่านี้มีโทษสูง จำเลยจำนวนไม่น้อยต้องถูกคุมขังระหว่างที่พวกเขาต้องต่อสู้คดีความ

ขณะเดียวกันกระบวนการต่อสู้คดีของผู้ถูกฟ้องก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งในแง่การเข้าถึงทนายความ สิทธิพื้นฐานของผู้ต้องขัง เป็นต้น แต่อีกด้าน คือการเสี่ยงต่อการถูกสั่งขังระหว่างพิจารณาคดี

‘ทานตะวัน ตัวตุลานนท์’ หนึ่งในจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในวันนี้ เธอถูกปฏิเสธการปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง และถูกขังที่ฑัณสถานหญิงกลางล่วงผ่านแรมเดือน

หากเรานับการรัฐประหาร 2557 เป็นจุดตั้งต้นความรุนแรงนี้ ในวันที่ คสช.ยึดอำนาจ ทานตะวันมีอายุเพียง 12 ปี ใครเล่าจะคิดว่า เด็กที่เพิ่งผ่านชั้นประถมวัย ก่อนจะสามารถสอบชิงทุนเรียนมหาวิทยาลัยในต่างประเทศต้องมาเผชิญข้อกล่าวหานี้ในเวลาต่อมา[3]

กระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร เมื่อจำเลยที่เป็นประชาชนจำนวนหลายร้อยคน ต้องต่อสู้คดีในศาลทหาร ที่โจทก์เป็นทั้งผู้ร้องและผู้ตัดสินคือกลุ่มคนเดียวกันในเวลาเดียวกัน ล่วงผ่านจนถึงยุคเปลี่ยนถ่ายอำนาจมาสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยต้องถูกขังระหว่างพิจารณาคดี ตั้งแต่การจำคุกผู้ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งในปี 2560-2561 รวมถึงกรณีต่อเนื่องที่เกิดขึ้นกับเยาวชนคนหนุ่มสาวในนามคณะราษฎร (ปี 2563-ปัจจุบัน)

การคุกคามถึงที่พำนัก

การคุกคามถึงที่พำนัก ไม่ว่าจะถูกฉาบด้วยคำอื่น เช่น “เยี่ยมบ้าน” “ไปขอความร่วมมือ” “พบปะผู้ปกครอง” ฯลฯ คืออีกหนึ่งสิ่งตกค้างในปัจจุบัน กระบวนการละเมิดสิทธิเหล่านี้ล้วนเป็นแบบแผนที่เกิดขึ้นใหม่ กรณีนี้นี้โดยทั่วไปมักจะเกิดขึ้นกับนักการเมืองในช่วงหลังรัฐประหาร แต่จากรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่ามีการไปคุกคามประชาชน 3 ช่วง สำคัญ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา คือ หลังการรัฐประหาร 2557 การทำประชามติในปี 2559-2560 และการเลือกตั้งในปี 2562

อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ยังกระทำกับคนหนุ่มสาวที่ออกมาเคลื่อนไหวระหว่างปี 2562 จนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ มีการส่งเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบไปที่บ้านพักของเป้าหมาย บางกรณีมีการข่มขู่ด้วยวาจา บางกรณีเป็นการข่มขู่กับผู้ปกครอง ซึ่งมีทั้งแบบเปิดเผยตัวและอำพราง จนผู้ถูกคุกคามไม่สามารถไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐได้

การคุกคามในรูปแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเยาวชนนักเคลื่อนไหวเท่านั้น หากยังแพร่ลามต่อเนื่องไปสู่ การคุกคามนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ รวมถึงสื่อมวลชนที่คอยทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอีกด้วย

แบบแผนเช่นนี้ มิใช่เรื่องใหม่ในประเทศที่ผ่านระบอบเผด็จการมาได้แล้ว ดังในกรณีของเกาหลีใต้ เมื่อทศวรรษ 1980 หลังจากนายพลชุน ดู ฮวาน ทำการรัฐประหารครองอำนาจทางการเมือง มีผู้คนถูกทำร้ายและคุกคามในหลากหลายรูปแบบ เช่น การจับกุมนักเขียน นักกิจกรรม การกวาดล้างผู้นำฝ่ายซ้าย การสลายการชุมนุมคนงาน นักศึกษาประชาชนอีกหลายระลอก ประชาชนนับแสนคนถูกป้ายสีว่าบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ มากว่านั้นยังมีการซ้อมทรมาน ผู้คนจำนวนไม่น้อยสูญหายและหากยังมีชีวิตอยู่ก็ได้รับความกระทบกระเทือนทั้งร่างกายและจิตใจ และหนึ่งในนั้นคือการเผ้าติดตามที่บ้านพัก ซึ่งว่ากันว่าคือปฏิบัติการแรกที่เปิดทางไปสู่การทำร้ายประชาชนในรูปแบบอื่น[4]

ไปให้พ้นจากสิ่งตกค้าง

ในวันครบรอบ 8 ปีรัฐประหาร เรายังได้เห็นแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นการขังระหว่างพิจารณาคดี หรือการคุกคามถึงที่พำนัก เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ณ วันที่ 3 พ.ค. 2565  มีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัว จำนวนอย่างน้อย 11 คน โดยการคุมขังบุคคลเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อตั้งแต่ต้นกลางเดือน มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา

แน่นอนว่า อาจจะมีเยาวชนบางส่วนได้รับสิทธิประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีตามหลักสากล แต่พวกเธอและเขา กลับต้องถูกพันธนาการด้วยกำไลติดข้อเท้า เพื่อใช้แทนหลักประกันว่าจะไม่หลบหนีออกนอกประเทศ ปฏิบัติการเหล่านี้สัมพันธ์ไปกับความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้คดีการเมืองในประเทศหรือหากสามารถหลบหนีไปได้ มีจนวนไม่น้อยต้องเผชิญความเสี่ยงจากการถูกอุ้มหายในประเทศเพื่อนบ้าน เช่นที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยทางการเมืองอย่างน้อย 3 ราย ระหว่างปี 2559-2562

คำถามคือ เราจะขจัดสิ่งตกค้างเหล่านี้ได้อย่างไร ในเมื่อผู้กุมอำนาจในปัจจุบันคือ คู่กรณีโดยตรงกับประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ มันแสดงให้เห็นว่ากระบวนการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากคณะรัฐประหารสู่รัฐบาลปัจจุบัน ยังไม่สำเร็จเรียบร้อยดีใช่หรือไม่

หรือหากว่ามันสำเร็จแล้ว เหตุใดแบบแผนการกดปราบประชาชนเช่นนี้จึงยำดำรงอยู่ หากทดลองตอบในเวลาอันรวดเร็ว เราอาจจะระบุได้หรือไม่ว่า แบบแผนนี้ยืนยันให้เห็นว่าบ้านเมืองเรายังไม่เป็นปกติ

วิญญูชนคงได้ร่วมกันตอบในวาระ 8 ปีรัฐประหารนี้ว่า “เราจะไปให้พ้นสิ่งตกค้างเหล่านี้กันอย่างไร”

 

[2] โปรดดูการรวบรวมผลพวงของการรัฐประหารในมิติกฎหมายและการเมืองได้ที่ นพพล อาชามาสและคณะ. ข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหาร : ทางกฎหมาย นโยบาย และกระบวนการยุติธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน. (กรุงเทพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, 2562)

[4] Kuk Cho. 2007. “Transitional Justice in Korea: Legally Coping with Past Wrongs after Democratization.” Pacific Rim Law & Policy Journal 16 (3): 579-611