Focus
- ความต้องการรัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ในปัจจุบันมาจากปัญหาสำคัญที่ว่า (1) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นผลผลิตต่อเนื่องจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 (2) เนื้อหาหลายมาตราขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย และ (3) รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถปราบโกงได้ ดังที่อ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง
- การร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชนเป็นสิ่งจำเป็น โดยต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชน การล้มล้างผลพวงจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 และเอกภาพของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยและขบวนการประชาธิปไตย
- ประชาธิปไตยต้องการระบอบการปกครองโดยกฎหมาย การปฏิรูประบบยุติธรรมให้เป็นมาตรฐานเดียว การตื่นรู้ของประชาชนผ่านระบบการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง การรณรงค์ให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความเป็นสถาบันของรัฐธรรมนูญ และสถาบันยุติธรรม และการบรรลุสามคุณค่าสำคัญ คือ หลักความเสมอภาค หลักสิทธิเสรีภาพ และหลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
- การสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนที่ผ่านการทำงานของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์การเมืองในอนาคต แต่ก็มีอุปสรรคหากไม่ได้รับความร่วมมือจ่ากวุฒิสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 (84 คน) และ ฝ่ายค้านร้อยละ 20 รวมทั้งการผ่านประชามติที่ให้ประชาชนยินยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ท่านผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย และเชื่อมั่นในระบอบการปกครองโดยกฎหมาย
ทำไมต้องมีรัฐธรรมนูญของประชาชน? คำถามนี้เป็นคำถามสำคัญที่สุดในวันนี้และในอีกสองสามปีข้างหน้า
ประการแรก รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี พ.ศ. 2560 เป็นผลผลิตต่อเนื่องจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 แม้ผ่านการลงประชามติมาแล้ว แต่การลงประชามติที่ประชาชนไม่สามารถมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ อยู่ภายใต้บรรยากาศของความหวาดกลัว ใครรณรงค์ไม่เห็นด้วยก็ถูกยัดคดีจับติดคุก บรรยากาศเช่นนั้นย่อมไม่อาจพูดได้เต็มปากว่า รัฐธรรมนูญได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนอย่างแท้จริง
ประการที่สอง ไม่ว่า คสช.และรัฐบาลสืบทอดอำนาจจาก คสช.จะโฆษณาชวนเชื่อถึงข้อดีของรัฐธรรมนูญปี 2560 อย่างไรก็ตามแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาหลายมาตราขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยทางรัฐสภา
ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย หรือพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ถือเป็นชัยชนะที่ปาฏิหาริย์ ได้คะแนนมากกว่า 70% ของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะนอกจากต้องได้ชัยในการแข่งขันในสนามเลือกตั้งแล้ว ยังต้องชนะกติกากฎหมายซึ่งบิดเบี้ยว ต้องเป็นเสียงประชาชนข้างมากเด็ดขาดเพื่อเอาชนะเสียงของ ส.ว.จากการแต่งตั้ง 250 เสียง
การที่รัฐธรรมนูญปี 60 มุ่งลดทอนหรือบิดเบือนเสียงประชาชนอย่างไม่ตรงไปตรงมาอีกด้วย มีการใช้อำนาจแฝงในองค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรมสกัดกั้น คุกคามผู้เห็นต่างหรือคู่แข่งขันทางอำนาจและผลประโยชน์
รัฐธรรมนูญปี 60 มีส่วนทำให้การจัดตั้งรัฐบาลมีความซับซ้อนและล่าช้า ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสและทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง ระบบการเลือกนายกรัฐมนตรีที่วุฒิสภาร่วมลงคะแนนด้วย เกิดจากคำถามล่อลวงของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งคำถามประชามติแบบกำกวม จนทำให้นายกรัฐมนตรีต้องได้เสียงสนับสนุน 376 เสียง ไม่ใช่ 251 เสียงจากสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ประการที่สาม รัฐธรรมนูญปี 2560 อ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง แต่ใช้มา 6 ปีแล้ว การทุจริตคอร์รัปชันในไทยไม่ได้ลดลงเลย ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ พบว่า ประเทศไทยตกจาก 37 คะแนน (อันดับ 96) ในปี 2560 มาเป็น 36 คะแนน (อันดับ 101) ในปี 2565
รัฐธรรมนูญได้รับฉายาว่าเป็นฉบับ “ปราบโกง” เกิดขึ้นจากเจตนาของผู้ร่างในการทำการตลาด มากกว่าเกิดจากเนื้อหาสาระที่ถูกเพิ่มเข้าไป เมื่อคณะรัฐประหารใช้ข้ออ้างเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหาร จะพยายามใช้เรื่องการแก้ปัญหาการทุจริตเป็น “ธง” ในการนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้การรับรองจากฝ่ายผู้สนับสนุน แต่การตั้งใจที่จะแก้การโกงหรือแก้การทุจริตคอร์รัปชันนั้นมันสวนทางกับความเป็นจริงในรัฐธรรมนูญปี 60 ที่มีการเพิ่มอำนาจดุลยพินิจ ลดการมีส่วนร่วมของประชาชน เพิ่มโทษอย่างคลุมเครือ เป็นช่องให้เกิดการกลั่นแกล้งกันทางการเมืองได้ เขียนกติกาแบบมีผลประโยชน์ทับซ้อนสร้างความได้เปรียบให้พรรคการเมืองสืบทอดอำนาจจาก คสช.ในการเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญปี 60 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีส่วนร่วมประชาชนอย่างจำกัด เราต้องสร้าง รัฐธรรมนูญใหม่ โดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
รัฐธรรมนูญปี 60 เป็นรัฐธรรมนูญไม่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน รัฐธรรมนูญเพิ่มเงื่อนไขการจำกัดเสรีภาพไว้อีกสองข้อ คือ อ้างเรื่องการกระทบต่อความมั่นคง และ อ้างเรื่องความสงบเรียบร้อย สองข้อนี้สามารถตีความได้อย่างไร้ขอบเขตเพื่อกดทับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เราประชาชนชาวไทย จึงต้องสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน
รัฐธรรมนูญปี 60 เกิดจากความคิดที่ไม่เชื่อมั่นในประชาชน ไม่ไว้วางใจประชาชน เราประชาชนชาวไทย จึงต้องร่วมกันสร้าง รัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน ที่เชื่อมั่นในพลังของประชาชน ศรัทธาในความรักชาติรักประชาธิปไตยของชาวบ้าน
อย่างไรก็ตาม การมีรัฐธรรมนูญของประชาชน เป็นเพียงพื้นฐานเบื้องต้นเท่านั้น เป็นหลักประกันเบื้องต้นในการทำให้ สังคมไทยมีสันติ มีเสถียรภาพ มีความมั่นคง มีความก้าวหน้า ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
การผลักดันให้เกิด “รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” พร้อมกับการล้มล้างผลพวงจากการรัฐประหารเมื่อ 9 ปีที่แล้ว และการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 อันเป็นผลผลิตของคณะรัฐประหาร เป็นภารกิจสำคัญของขบวนการประชาธิปไตย และประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตย ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และขบวนการประชาธิปไตย ต้องมีเอกภาพ รัฐธรรมนูญของประชาชนจึงเกิดขึ้นได้ ลำพังเพียงพรรคเพื่อไทย หรือ พรรคก้าวไกล หรือ พรรคพันธมิตรประชาธิปไตยอื่นๆ ย่อมไม่สามารถแก้ไขค่ายกลกับดัก เพื่อเปิดประตูสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้
การละวางผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้าของพรรคการเมือง การละวางการแข่งขันเพื่อแย่งชิงอำนาจไว้ข้างหลัง และ มุ่งสู่เบื้องหน้าในการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน จะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับสังคมโดยรวมและประเทศของเรา
ภารกิจนี้มีความสำคัญมาก รัฐธรรมนูญของประชาชนจะช่วยสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง ป้องกันการรัฐประหารในอนาคตได้ พวกเราเห็นตัวอย่างจากประเทศเมียนมาแล้วว่า การล้มรัฐบาลประชาธิปไตย การล้มล้างผลการเลือกตั้ง ด้วยการรัฐประหารของ มิน อ่อง หล่ายและคณะ ไม่ได้ทำลายระบอบประชาธิปไตยในเมียนมาเท่านั้น แต่ได้ทำลายชีวิตและโอกาสของคนจำนวนหลายล้านคน รวมทั้ง การแตกสลายลงของรัฐชาติออกเป็นเสี่ยงๆ เต็มไปด้วยภาวะไร้เสถียรภาพ ความรุนแรงนองเลือดและสงครามกลางเมือง
หากเราไม่ต้องการเดินทางบนเส้นทางอันเลวร้ายเช่นเดียวกับเมียนมา เราต้องช่วยกันสถาปนาระบอบการปกครองโดยกฎหมาย ไม่ใช่อำเภอใจของคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและมีรัฐธรรมนูญของประชาชน
แม้น รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ก็ไม่อาจทำให้ประเทศพัฒนาก้าวหน้าขึ้นได้ หากไม่มีการปฏิรูประบบยุติธรรมหลายมาตรฐานให้เป็นมาตรฐานเดียว เป็นสังคมที่มี ระบบกฎหมาย เป็นบรรทัดฐาน เป็นประเทศที่ปกครองโดยกฎหมาย ไม่ใช่ปกครองตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ เราต้องการประชาชนผู้ตื่นรู้ หรือ Active Citizen ผ่านการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ จากระบบการศึกษา Civic Education หรือ ระบบการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง และระบบการศึกษาที่ดีที่สุดตอนนี้คือการรณรงค์ให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะนี่คือโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุด ทั้งท่านนิกรและหลายท่านที่อยู่ในคณะกรรมการนำโดยท่านภูมิธรรม ก็ควรใช้โอกาสตรงนี้ในการทำให้ประชาธิปไตยหยั่งรากลึกในสังคมไทย
ความเข้มแข็งของระบอบรัฐธรรมนูญต้องอยู่บนรากฐานของความเป็นสถาบันของระบบยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรม ความเป็นสถาบันของรัฐธรรมนูญ สถาบันยุติธรรม มีความสำคัญต่อความมั่นคงแห่งรัฐ และ สันติธรรมของสังคม สันติสุขของประชาชน
รัฐธรรมนูญในอุดมคติ ของผู้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยทั้งหลาย รวมทั้งท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ จะต้องบรรลุคุณค่าสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
หลักความเสมอภาค รัฐธรรมนูญต้องรับรองสิทธิในความเสมอภาคของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสมอภาคในการเข้าถึงความยุติธรรม ความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียม เข้าถึงปัจจัยการผลิต โอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสทางการศึกษา และทุกคนต้องมีหน้าที่ต่อรัฐอย่างเสมอภาคกัน
หลักสิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญต้องประกันและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยการใช้สิทธิเสรีภาพนั้นต้องไม่ละเมิดผู้อื่นและก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อสังคม
หลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน องค์กรต่างๆ ที่ใช้อำนาจทางการเมือง อำนาจการบริหาร อำนาจการบัญญัติกฎหมาย อำนาจในการตัดสินคดีและบังคับใช้กฎหมาย ต้องยึดโยงกับประชาชนทั้งหมด
การฉีกรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง อาจทำให้เกิดความเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญมิใช่กฎหมายสูงสุดและประเทศนี้ไม่ได้ปกครองโดยกฎหมาย แต่ “รัฐธรรมนูญ” กลายเป็นเพียงเครื่องมือของชนชั้นนำในการแย่งชิง สถาปนา และสืบทอดอำนาจของกลุ่มตนโดยปราศจากหลักเกณฑ์พื้นฐานที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน แม้นมีความพยายามในการป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญด้วยการห้ามมิให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่กระทำรัฐประหาร แต่ท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกไปด้วยการรัฐประหารและมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมแก่คณะรัฐประหารมาโดยตลอด
การสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน ผ่าน สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นและสำคัญต่อการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์การเมืองในอนาคตได้ ป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงอันนำมาสู่การสูญเสียโอกาสของประเทศ และส่งผลเดือดร้อนต่อประชาชนในวงกว้าง
พึงตระหนักว่า การมีรัฐธรรมนูญกับระบอบรัฐธรรมนูญมิใช่เป็นสิ่งเดียวกันในสังคมการเมืองไทยโดยเฉพาะในยุคเผด็จการอำนาจนิยม
ระบอบรัฐธรรมนูญมุ่งสถาปนาระบบการปกครองโดยกฎหมายบนหลักนิติธรรม แต่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ในยุครัฐประหารมักขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างรุนแรง
ดังเช่นการรับรองการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ การมีมาตรา 17 สมัยเผด็จการสฤษดิ์ การมีมาตรา 44 สมัยคณะรัฐประหาร คสช. การใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าวไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการควบคุมถ่วงดุลจากองค์กรอื่น และได้ก่อปัญหาความไม่เป็นธรรมและปัญหาต่างๆ ติดตามมาในภายหลังจำนวนมาก
พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และ ขบวนการประชาธิปไตย ต้องมีเอกภาพ รัฐธรรมนูญของประชาชนจึงเกิดขึ้นได้ รัฐธรรมนูญนี้แก้ไขยากมาก ผู้ร่างได้กำหนดว่าต้องผ่านประชามติ ในวาระ 1 และ วาระ 3 ต้องใช้เสียง สว. อย่างน้อย 84 เสียง ไม่ผนึกกำลังกัน ไม่มีทางสำเร็จ (รัฐธรรมนูญปี 2560 มีวิธีการแก้ไขที่ยุ่งยากเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ต้องมีเสียงวุฒิสภา (ส.ว.) 1 ใน 3 หรือ 84 คน และ ฝ่ายค้านร้อยละ 20 ในจำนวนเสียงครึ่งหนึ่งของสองสภาที่ใช้ลงมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังบังคับให้ทำประชามติถ้าจะแก้ไขในประเด็น บททั่วไป กษัตริย์ วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ คุณสมบัตินักการเมือง อำนาจศาลและองค์กรอิสระ อีกทั้ง ยังให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาวินิจฉัยชี้ขาดว่าแก้ได้หรือไม่อีกด้วย)
บทบัญญัติบางมาตราในรัฐธรรมนูญใหม่จะมีผลในทางปฏิบัติก็ต่อเมื่อมีระบบกลไก และการดำเนินการให้เกิดการคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้องค์กรภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง ประชาชนเป็นพลเมืองผู้ตื่นรู้และมีความกระตือรือร้นทางการเมือง เช่น สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญโดยสันติ และต่อต้านการรัฐประหาร
ตามหลักการประชาธิปไตย อำนาจที่มาจากประชาชน เป็นอำนาจที่เหนืออำนาจอื่นใดทั้งหมด (Supreme Power) และเป็นสิ่งที่ละเมิดไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ถ้าประชาชนไม่ยินยอม องค์กรบริหาร (The Executive) หรือ รัฐบาล อยู่ในฐานะเป็นองค์กรที่นำเอาเจตจำนงของประชาชนผ่านรัฐสภามาปฏิบัติ
ปัญญาชนประชาธิปไตยหลายท่านโดยเฉพาะ จอห์น ล็อค ทำให้สามัญชนทั้งหลายตาสว่างว่า รัฐบาลเกิดขึ้นจากความเห็นชอบและการจัดตั้งของประชาชน รัฐบาลมิใช่คู่สัญญาของประชาชนในการจัดตั้งสังคมการเมือง รัฐบาลเป็นเพียงผู้แทนที่ประชาชนมอบหมายให้ทำหน้าที่ในการปกครอง รัฐบาลจึงมีเพียงหน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและรัฐบาลไม่มีสิทธิที่จะละเมิดความต้องการหรือผลประโยชน์ของประชาชน ถ้าปรากฏว่าเมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลละเมิดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตน ประชาชนย่อมมีสิทธิในการถอดถอนรัฐบาล ประชาชนก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ได้เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และ สิ่งนี้รัฐธรรมนูญใหม่ต้องให้ความคุ้มครองประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล การเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ (Peaceful Transition) จึงเกิดขึ้นได้ และรัฐบาลที่โกงกินหรือไร้ความสามารถก็จะออกจากอำนาจไปด้วยกระบวนการประชาธิปไตยโดยไม่ต้องใช้การรัฐประหาร
เดี๋ยวท่านทั้งหลาย คงได้ฟังเสวนาโดยวิทยากรทั้งหลายผู้ทรงคุณวุฒิ ในปีนี้บรรยากาศก็เป็นประชาธิปไตย ฉะนั้นการจัดงานรัฐธรรมนูญก็คึกคักเป็นพิเศษ ถึงความจำเป็นในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ, ชี้ให้เห็นบทบาทขององค์กรอิสระโดยเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญต่างประเทศ, ที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.), แนวทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และอัปเดตขั้นตอนการทำประชามติว่าถึงขั้นตอนไหน และมีแนวทางจะไปต่ออย่างไร และจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร ผมขอจบการตั้งคำถามว่าทำไม เราถึงต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน
รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=u2guU1PRpZo
ที่มา : PRIDI Talks #23 x PBIC : รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์.