ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

“สองนคราธิปไตยนอนไม่หลับ” : จากเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ถึงการจัดตั้งรัฐบาล

7
กันยายน
2566

Focus

  • ผลของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 ที่สองพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยคือพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ได้ชัยชนะ นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่าทฤษฎีภาวะทันสมัยที่ใช้อธิบายการเมืองไทยด้วยแนวคิดที่ว่าด้วย “สองนคราประชาธิปไตย” อันสื่อถึงข้อสรุปที่ว่า “คนชนบทตั้งรัฐบาล ส่วนคนเมืองล้มรัฐบาล” นั้น อาจไม่เป็นจริงอีกแล้ว – แน่ล่ะหรือ?
  • ข้อสังเกตสำคัญสามประการหลังการเลือกตั้งที่ยังทำให้แนวคิด “สองนคราประชาธิปไตย” ยังไม่หลับใหลหรือเข้านอนไปแล้ว ได้แก่ ประการแรก สังคมไทยเปลี่ยน แต่โครงสร้างสถาบันการเมืองล้าหลัง ประการที่สอง มายาคติของ “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” และ ประการสุดท้าย การลงหลักปักฐานของการเมืองบ้านใหญ่
  • การข้ามพ้นบริบทเขตเมือง-ชนบทของการตั้งและล้มรัฐบาลได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ดูเหมือนว่าตรรกะของ “สองนคราประชาธิปไตย” ปรับไปเป็นการเมืองแบบสองขั้วอำนาจ โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมคือ (ภายใต้โครงสร้างสถาบันการเมืองแบบอนุรักษ์) การเลือกตั้งมิได้เป็นเครื่องมือในการจัดตั้งรัฐบาล ดังที่ปรากฏว่าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง อาจจะไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากชนชั้นนำคือผู้ชี้ขาดตัวจริง

 

หนึ่งสัปดาห์หลังการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 นักสังเกตการณ์ต่างเชื่อกันว่า ผลการเลือกตั้งสะท้อนถึงการตื่นตัวของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย ดังที่มีประชาชนออกมาใช้สิทธิมากเป็นประวัติการณ์ถึง 39 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 75.71 มากที่สุดจากการเลือกตั้งที่เคยเกิดขึ้นในไทยทั้งหมด 28 ครั้ง นับตั้งแต่เลือกตั้งครั้งแรกในปี 2476 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ผลการเลือกตั้งยังยืนยันให้เห็นถึงการปฏิเสธพรรคร่วมรัฐบาลเดิม โดยพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งสูงสุดสองอันดับแรกคือ พรรคก้าวไกล มี สส. ได้รับเลือกตั้งทั้งหมด 151 คน และพรรคเพื่อไทย ได้ สส. 141 คน นักเศรษฐศาสตร์การเมืองคนสำคัญของไทย คือ อภิชาต สถิตนิรามัย ถึงกับเสนอว่าการเลือกตั้งรอบนี้เป็นการ “ตอกตะปูปิดฝาโลงทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย[1]

ทฤษฎีภาวะทันสมัยที่เรียกกันในพากย์ไทยว่า “สองนคราประชาธิปไตย” ซึ่งเคยครอบงำคำอธิบายการเมืองไทยมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ โดยมีสาระสำคัญคือ การเมืองไทยอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์โดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชนบท เข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็ถูกโค่นล้มโดยชนชั้นกลางในเมืองที่มักสรุปกันต่อมาราวกับเป็นสัจพจน์ว่า “คนชนบทตั้งรัฐบาล ส่วนคนเมืองล้มรัฐบาล”[2]

จนมีคำถามตามมาว่าภูมิทัศน์การเมืองไทยเคลื่อนไหวยุคสมัยของ “สองนครา” ไปไกลเพียงใด การพิจารณาผลเลือกตั้งอาจจะช่วยให้แง่มุมบางประการในการค้นคว้าต่อไป

 

สองนคราธิปไตยนอนไม่หลับ

แน่นอนว่า การเลือกตั้งครั้งที่ 29 ของไทย มิใช่เพียงกิจกรรมทางการเมืองปรกติในทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ทว่า มีแง่มุมสำคัญในทางการเมืองที่ควรค่าแก่การจดจำในหลากหลายประเด็นที่มากกว่าการเปลี่ยนรัฐบาล

รายงานชิ้นนี้จะชี้ให้เห็นถึง ข้อค้นพบบางประการว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่างทั้งสะท้อนถึงการเปลี่ยนและไม่เปลี่ยนของภูมิทัศน์การเมืองไทยในเวลาเดียวกัน โดยอาศัยการอ่านจากผลการเลือกตั้ง บรรยากาศการเลือกตั้ง และกระบวนการทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ 14 พ.ค. 2566 จนถึงการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าไปถึง 3 เดือน เป็นต้นทุนในการอธิบาย

โดยทดลองเสนอแง่มุมที่สำคัญสามประการ ดังนี้ ประการแรก สังคมเปลี่ยนแต่โครงสร้างสถาบันการเมืองล้าหลัง ประการที่สอง มายาคติของ “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” และประการสุดท้าย การลงหลักปักฐานของการเมืองบ้านใหญ่

แม้ว่าตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ อาทิ จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง, สส. หน้าใหม่ และการเมืองแนวอุดมการณ์ได้รับชัยชนะ แต่การพิจารณาการเลือกตั้งจากแง่คิดบางประการอาจช่วยชี้ให้เห็นว่าการเมืองแบบแบ่งขั้วร้าวลึกยังอยู่ จนเราไม่อาจฟันธงได้ว่า “สองนคราประชาธิปไตย” เข้านอนไปแล้ว

 

สังคมเปลี่ยนแต่โครงสร้างสถาบันการเมืองล้าหลัง

ล่วงเวลาหนึ่งทศวรรษก่อนหน้านี้ ท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงของการเมืองสีเสื้อ (เสื้อเหลือง-เสื้อแดง) นักวิชาการในกลุ่มโครงการทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย เสนอว่า สังคมไทยเปลี่ยนไปจากภาพเดิมมหาศาล กล่าวคือ ในทางสังคมไทยเปลี่ยนจากระบบอุปถัมภ์มาสู่การต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนผ่านนโยบายรัฐบาล นโยบายทางการเมือง กลายมาเป็นช่องทางการต่อรองทางอำนาจที่สำคัญ ในทางเศรษฐกิจระบบเศรษฐกิจแบบตลาดแพร่กระจายไปทุกอณูของสังคม การแบ่งแยกเมือง-ชนบท ไม่ช่วยให้เข้าใจภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยได้อีกแล้ว

ที่สำคัญคือ เกิดชนชั้นใหม่ ที่เรียกกันต่อมาว่า “ชนชั้นกลางระดับล่าง”[3] ซึ่งกลายมาเป็นกองหน้าของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในทศวรรษ 2550 แตกต่างไปจากก่อนหน้านี้ที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ถูกผูกขาดโดยชนชั้นกลางที่มีการศึกษา ซึ่งในเวลาต่อมาเผยให้เห็นว่าพวกเขาหันมาเป็นฝ่ายปฏิกิริยาต่อการเลือกตั้งแทน

ความเป็นจริงนั้น ยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน เพียงแต่ว่าด้วยโครงสร้างสถาบันทางการเมืองเปลี่ยนไปจากเดิม พรรคการเมืองที่เคยโอบรับชนชั้นกลางระดับล่าง มีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ซึ่งกลายมาเป็นพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่งภายในเวลาที่รวดเร็ว และทำให้พรรคการเมืองที่สนับสนุนทักษิณซึ่งชนะเลือกตั้งมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2554 พ่ายแพ้เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ข้อเสนอที่น่าจะเข้าท่ากว่าคือ สังคมเปลี่ยนแต่โครงสถาบันการเมืองที่ชนชั้นนำออกแบบก็ปรับตัวเช่นกัน แต่เป็นการปรับตัวที่ล้าหลังไปจากเดิม

ดังจะเห็นได้ในรายงานผลสังเกตการณ์เลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566[4] ซึ่งจัดทำโดยองค์กร We Watch อันเป็นองค์กรภาคประชาสังคมไทยที่เฝ้าติดตามการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างใกล้ชิด นำเสนอข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการชี้ให้เห็นว่า ผลการเลือกตั้งแสดงลักษณะสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง การปฏิเสธขั้วการเมืองจากฝ่ายรัฐบาลเดิม ประการที่สอง ความสำคัญของนโยบายและอุดมการณ์พรรคการเมืองที่ส่งผลต่อคะแนนเสียง โดยเป็นที่น่าสนใจว่า พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นฝ่ายค้านเดิม ได้รับเลือกตั้งมาก

เป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ (ผิดแผกจากธรรมเนียมการแข่งขันทั่วไปที่พรรคการเมืองอันดับ 1 และ 2 อยู่คนละขั้ว)

และเมื่อรวมกับจำนวน สส. จากพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมมีจำนวน สส. ถึง 312 คน สัดส่วนที่นั่ง สส. คิดเป็นร้อยละ 62.4 (จากจำนวน 8 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทยรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่) หรือหากนับคะแนนบัญชีรายชื่อรวมกันจะได้ประมาณ 27 ล้านเสียง จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 39.5 ล้านคน ซึ่งสามารถนับเป็นคะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรที่มีเสถียรภาพ

แต่ที่สุด กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลตามวิถีประชาธิปไตย กลับถูกขัดขวางจากโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ 2560 และองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ตกค้างมาจากคณะรัฐประหาร 2557 เช่น วุฒิสภา องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น นอกจากนั้นยังรวมไปถึงระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายจำนวนมากที่เหนี่ยวรั้งกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล

 

มายาคติของ “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง”

ในรายงานฉบับเดียวกันยังพบว่า แม้ผลการเลือกตั้งจะแสดงให้เห็นถึงปัจจัยที่สนับสนุนประเด็นที่ว่า นี่คือการเลือกตั้งที่สะท้อน “สายลมของการเปลี่ยนแปลง” แต่เราควรพิจารณาประเด็นนี้อย่างระมัดระวัง กล่าวคือ มีความเปลี่ยนแปลงในแง่สส. ที่ชนะเลือกตั้งในลักษณะข้ามเขตเมืองและชนบทจริง เช่น พรรคก้าวไกล ซึ่งได้รับชัยชนะทั้งในเขตเมืองอุตสาหกรรมแบบถล่มทลาย เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือการชนะยกจังหวัดในกลุ่มจังหวัดที่มีธุรกิจท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็ยังสามารถเอาชนะในพื้นที่จังหวัดที่เป็นเขตชนบท อาทิ ตาก ลำพูน และหลายจังหวัดในภาคกลาง แต่หลายจังหวัดในภาคอีสานซึ่งพรรคเพื่อไทยยังคงอิทธิพลอยู่ ก้าวไกลกลับสามารถมี สส. เขตที่ชนะได้เพียงในเขตเมือง อาทิ ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา เป็นต้น

ในส่วนของคะแนนเสียงในระบบบัญชีรายชื่อที่พรรคก้าวไกล สามารถเอาชนะได้แม้กระทั่งในเขตที่เชื่อกันว่าเป็นเขตอิทธิพลของ “การเมืองบ้านใหญ่” อาทิ สุพรรณบุรี อุทัยธานี บุรีรัมย์ กำแพงเพชร ชลบุรี สมุทรปราการ นครปฐม เป็นต้น ซึ่งเชื่อกันว่านี่คือการ “ล้มบ้านใหญ่” ก็อาจจะเป็นการประเมินที่สูงเกินไป

“การเมืองบ้านใหญ่” ซึ่งเป็นคำอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ผู้มีอำนาจในแต่ละพื้นที่ขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง และสืบทอดอำนาจ เครือข่าย ผลประโยชน์ และอิทธิพลผ่านทางสายเลือดตระกูลหรือว่านเครือผลประโยชน์ในระดับจังหวัด กลับยังรักษาฐานที่มั่นในระบบเขตของตัวเองไว้ได้

ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ข้อค้นพบที่ยังไม่เปลี่ยนแบบพลิกหน้ามือ คือ หลายเขตเลือกตั้ง กลุ่มตระกูลการเมืองแม้จะพ่ายแพ้คะแนนแบบบัญชีรายชื่อระดับจังหวัด แต่ยังรักษาที่มั่นในระดับเขตได้ เช่น ตระกูลเทียนทองจังหวัดสระแก้ว ตระกูลชิดชอบจังหวัดบุรีรัมย์ ตระกูลพร้อมพัฒน์จังหวัดเพชรบูรณ์ ตระกูลพรหมเผ่าจังหวัดพะเยา ตระกูลศิลปอาชาจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น ที่สำคัญนักการเมืองเหล่านี้กลายมาเป็น Kingmaker ในการจัดตั้งรัฐบาลพลิกขั้วในเวลาต่อมา และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงที่ครอบงำอำนาจและงบประมาณจำนวนมหาศาลยิ่งกว่าสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น

 

การลงหลักปักฐานของการเมืองบ้านใหญ่

ข้อค้นพบในรายงานของ We Watch ดูจะสอดคล้องกับบทความทางวิชาการที่ตีพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้เรื่อง “The persevering power of provincial dynasties in Thai electoral politics”[5] ซึ่งศึกษาการเมืองบ้านใหญ่หลังการเลือกตั้งในปี 2562 โดยเสนอสาระสำคัญของแบบแผนทางการเมืองนี้ไว้ว่า ขณะที่นักการเมืองเหล่านี้ในบางพื้นที่อาจจะไม่สามารถเอาชนะทั้งจังหวัดได้ ซึ่งปัจจัยความสำเร็จหรือล้มเหลวของตระกูลการเมืองจะขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล ซึ่งเป็นความสามารถในการเข้าถึงงบประมาณเพื่อนำมาพัฒนาระดับจังหวัด และสร้างกลไกทางการเมืองในพื้นที่ และหลีกเลี่ยงความบาดหมางกับชนชั้นนำระดับชาติ

เราจึงได้เห็นนักการเมืองเหล่านี้โลดแล่น แม้ว่าจะมีจำนวน สส. ที่น้อยลงอย่างเด่นชัด แต่กลับมีอิทธิพลในขั้นตอนของการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวุฒิสภาปฏิเสธการรับรองนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งนำมาสู่การ “ตระบัดสัตย์” ยกเลิกบันทึกความเข้าใจร่วมกันของกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 8 พรรคเดิม โดยพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลด้วยการหันไปหาแรงสนับสนุนจาก สส. พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ได้แก่ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ (ยกเว้นเพียงพรรคประชาธิปัตย์) โดยไม่มีพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมอย่างพรรคก้าวไกลและไทยสร้างไทย

หากเรามองประวัติศาสตร์ไทยช่วงยาวราว 40 ปีที่ผ่านมา ตระกูลการเมืองหรือนักการเมืองที่ขึ้นสู้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง และใช้อำนาจทางการเมืองผ่านตำแหน่งระดับสูงของรัฐบาล ถือว่าเป็นเรื่องปรกติ แม้กระทั่งในยุคสมัยของพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งในปี 2544 และ 2548 แต่นักการเมืองเหล่านี้ยังคงเข้าถึงตำแหน่งทางการเมืองได้อย่างต่อเนื่อง

ในแง่นี้แล้ว แม้ว่าผลการเลือกตั้งตามรายงานของ We Watch จะแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายประการ อาทิ มีนักการเมืองหน้าใหม่ชนะเลือกตั้งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งสามารถชนะในรูปแบบข้ามภูมิภาค หรือข้ามเขตเมือง-ชนบท แต่ดูเหมือนว่าตรรกะของ “สองนคราประชาธิปไตย” ยังคงอยู่นั่นคือ การเมืองแบบสองขั้วอำนาจ

สิ่งที่เพิ่มเติมคือ การเลือกตั้งมิได้เป็นเครื่องมือในการจัดตั้งรัฐบาล เฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษ 2530 หากแต่หน้าตาของรัฐบาลขึ้นกับผู้มีอำนาจ ซึ่งถอยไปไกลให้เราเห็นได้ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ นั่นคือพรรคการเมืองชนะการเลือกตั้งอาจจะไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พูดให้ชัดคือ จะตั้งหรือจะล้มรัฐบาล มีชนชั้นนำเป็นกรรมการชี้ขาดตัวจริง

 

หมายเหตุ : สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. “บทบาทชนชั้นนำและการเมืองภาคประชาชน,” ประชาไทออนไลน์, (1 สิงหาคม 2554), สืบค้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2554.
  • เอนก เหล่าธรรมทัศน์. สองนคราประชาธิปไตย. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2538).
  • อภิชาต สถิตนิรามัย. “ส่งสองนคราประชาธิปไตยเข้านอน,” มติชนสุดสัปดาห์, ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2566.
  • อภิชาต สถิตนิรามัย และคณะ. “รายงานเบื้องต้นโครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมของชนชั้นใหม่,” (กรุงเทพฯ: สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ, 2555). 35-45.
  • Chambers, P., Jitpiromsri, S., & Takahashi, K. (2022). The persevering power of provincial dynasties in Thai electoral politics. Asian Journal of Comparative Politics, 0(0). pp. 1-27.

[1] อภิชาต สถิตนิรามัย, ส่งสองนคราประชาธิปไตยเข้านอน, มติชนสุดสัปดาห์, ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2566.

[2] งานชิ้นสำคัญที่เสนอไอเดียนี้ โปรดดูใน เอนก เหล่าธรรมทัศน์, สองนคราประชาธิปไตย, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2538).

[3] อภิชาต สถิตนิรามัย และคณะ เสนอว่า คนเสื้อแดงเป็น “ชนชั้นกลางระดับล่าง” โดยคนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเหล่านี้ เป็นคนทำงานภาคเกษตร และแรงงานรับจ้างในสัดส่วนที่สูงกว่าเสื้อเหลือง มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าคืออยู่ที่ประมาณ 17,034 บาท ขณะที่เสื้อเหลืองอยู่ที่ 31,427 บาท งานวิจัยชิ้นนี้เสนอว่าคนเสื้อแดงไม่ใช่คนยากจนแต่เป็น "ชนชั้นกลางระดับล่าง" เช่นเดียวกับ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เห็นว่าในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านข้อมูลข่าวสาร การกลายเป็นเมืองของชนบท และการศึกษาครอบคลุมกว้างขวางไปทั่วประเทศ คนชนบทเข้าสู่เมืองและมีความสัมพันธ์กับเมืองอย่างแนบแน่น สำหรับผู้สนใจเชิญอ่านเรื่องนี้ได้ใน อภิชาต สถิตนิรามัย และคณะ, รายงานเบื้องต้นโครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมของชนชั้นใหม่, (กรุงเทพฯ: สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ, 2555), 35-45; นิธิ เอียวศรีวงศ์, “บทบาทชนชั้นนำและการเมืองภาคประชาชน", ประชาไทออนไลน์, 1 สิงหาคม 2554, สืบค้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2554.

[4] กองบรรณาธิการ We Watch, รายงานผลการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2566. (มปท., 2566) สำหรับผู้สนใจสามารถดาวโหลดได้ที่ รายงานผลการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2566.

[5] Chambers, P., Jitpiromsri, S., & Takahashi, K. (2022). The persevering power of provincial dynasties in Thai electoral politics. Asian Journal of Comparative Politics, 0(0), pp. 1-27.