ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับการเมืองภาคประชาชน

15
ธันวาคม
2567

 

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง อยู่บนถนนภาคประชาชนมาด้วยกันหลาย 10 ปี ตั้งแต่ผมยังไม่เกิด อาจารย์เป็นถึงอาจารย์รัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง ตอนนี้เป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) มา 5 เดือน ก็แสดงความดีใจกับอาจารย์ด้วย

ขอเริ่มจากแบบเดียวกับคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มันอยู่กับเราไม่ได้เพราะอะไร แล้วก็อยากให้อาจารย์เล่าถึงบทบาทเมื่อเข้าไปเป็น สว. คือก่อนหน้านี้ เราแก้ไม่ได้ เพราะติด สว. มาตลอด แล้วพออาจารย์เป็น สว. เราติดอะไร

 

ประภาส ปิ่นตบแต่ง :

คำถามหลัง เดี๋ยวมีเวลาค่อยคุย ขอบคุณผู้จัด สถาบันปรีดี พนมยงค์ และขอกราบสวัสดีทุกท่าน ผู้มีเกียรติทุกท่านที่ได้มาร่วมรับฟัง อาจจะประเด็นเดียวกับคุณพริษฐ์ ทำไมถึงต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จากมุมมองจากคนที่อาจจะเรียกได้ว่า หากินกับคนจนมาตลอดชีวิต อยู่กับสมัชชาคนจน ความจริง 10 ธันวาคม 2538 ก็เป็นวันที่จัดตั้งสมัชชาคนจน ครบรอบ 39 ปี พอดี เกือบ 40 ปี และก็ที่จริงเมื่ออาทิตย์ที่แล้วแก่งเสือเต้นก็จัดงานครบรอบ 35 ปี เพราะว่าการเคลื่อนไหวแก่งเสือเต้นก็ปี 2532 ไปล้อม ครม. สัญจร ปีนี้ก็ไปอยู่ เพราะ ครม. สัญจร เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ก็มีพี่น้องที่จริงทั้งปัญหาหลาย ๆ ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับป่าไม้ที่ดิน พระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ ที่กระทบกับสิทธิชุมชนของพี่น้อง พี่น้องเครือข่ายชนเผ่าต่าง ๆ ก็ประมาณสัก 2-3 พันคน ผมคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญทีเดียว

ที่กล่าวถึงเรื่องพวกนี้ก็คือ ก็อยากจะโยงตั้งแต่ช่วงสมัชชาคนจน ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาเรื่องของโครงการขนาดใหญ่ เขื่อน โครงการพัฒนาของรัฐ การอพยพพี่น้องออกจาป่าเพื่อให้ได้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ต่าง ๆ พวกนี้ ซึ่งก็ยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ความจริงการเคลื่อนไหวเพื่อที่จะให้รัฐธรรมนูญ สมัชชาคนก็ใช้คำขวัญว่า “รัฐธรรมนูญที่กินได้ ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน”

ปัจจุบันก็มีเครือข่ายต่าง ๆ ที่ยังเคลื่อนไหวต่อ เช่น กระบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม สมัชชาก็ยังอยู่ และก็เกิดเครือข่ายต่าง ๆ ที่ผมกล่าวเรื่องพวกนี้ก็คือ อยากชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวตั้งแต่ยุคสมัชชาคนจนที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญที่สำคัญก็คือว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือสิทธิชุมชน รวมถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของพี่น้อง โดยเฉพาะอาจจะเรียก คนจนอำนาจ คนจนโอกาส จนที่ไม่มีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของรัฐ ก็พยายามที่จะผลักให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับการเมืองภาคประชาชน ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน อันนั้นก็คือรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 

ปี 2550 หลังการ ‘รัฐประหาร2549’ บทบัญญัติต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้ามองในเชิงภาพดีก็อาจจะไม่ได้ถูกทำลายไปมากนัก หรือว่าอาจจะมีหลายเรื่องชัดเจนมากขึ้น แต่ว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เป็นปัญหามากที่สุดก็คือ เรื่องขององค์รอิสระที่เกิดขึ้นมา แต่ว่าพอรัฐธรรมนูญปี 2560 พูดอย่างรวบรัฐที่สุด  ถ้ารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นยุคทองสิทธิเสรีภาพ ยุคทองสิทธิชุมชน ยุคทองของกระบวนการที่พยายามที่จะให้ชาวบ้านได้เข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจในการกำหนด หรือการจัดการชีวิตสาธารณะผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะต่าง ๆ  ผมคิดว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 หลัง ‘รัฐประหาร 2557’ เป็นต้นมา ก็ถือเป็นยุคตกต่ำถดถอยอย่างที่สุดของการเมืองภาคประชาชน ถ้าลงประเด็นในรูปธรรมที่ในส่วนของภาคประชาชนก็ได้พยายามสรุปบทเรียนกัน ความจริงผมก็อยู่ใน สว. ก็อยู่ในคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน และก็เป็นประธานอนุกรรมการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน จัดเวทีหลายครั้งเพื่อที่จะสรุปปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้

 

 

ในเวลาไม่มากอยากจะสรุปภาพใหญ่ ๆ ว่า ในส่วนที่เป็นปัญหามากที่สุดก็คือ หมวดที่อาจจะเรียกว่า สิทธิเสรีภาพ สิทธิชุมชน กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจโครงการพัฒนาของรัฐ  หรือการกำหนดนโยบายของรัฐ เคยได้ยินท่านผู้รู้ ท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ พยายามบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นนวัตกรรมที่ไม่มีที่ไหนเขียนก็คือ เขียนสิทธิเอาไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐ เช่น เรื่องของสิทธิชุมชน หรือองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมบอกว่า ใช้ได้เลย แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร พอไปกำหนดไว้เป็นหน้าที่ของรัฐ มันไม่มีกลไกในการบังคับใช้ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญพยายามบอกว่า ก็มีสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือศาลรัฐธรรมนูญ 7 ปี ที่ผ่านมาบทเรียนที่เราสรุปกัน เมื่อไม่กี่วันก็ได้คุยกัน ไม่มีสักคดีหนึ่งที่ชาวบ้านสามารถที่จะฟ้องร้องได้

ประเด็นคือมันไม่มีกลไก ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่สามารถทำหน้าที่นี้ กรรมการสิทธิก็ไม่สามารถฟ้องร้องแทนชาวบ้านได้ ศาลปกครองก็ทำไม่ได้ มีกระบวนการยืดยาวมากทำไม่ได้สักกรณีหนึ่ง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันสะท้อนว่า สิ่งที่รัฐธรรมนูญ 2560 คุยนักคุยหนา หรือพยายามที่จะสร้างว่า สิทธิชุมชนไปอยู่ในหมวดของหน้าที่ของรัฐมันก็เกิดไม่ได้ หรือองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ตอนหลังก็ขยายมาเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เราก็จะเห็นได้ชัดว่า เดิมตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540, 2550 เราพยายามผลักดันเพื่อให้เกิดองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และก็ให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญรองรับ เพื่อเป็นกลไกให้มีกลไกจากภาคส่วนของสังคม ก็มีกลไกที่จะทำให้ประชาชนใช้สิทธิได้ผ่านกลไกตรงนี้ พอนำไปไว้ในส่วนของหน้าที่ของรัฐ แล้วก็ให้ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็เกิดปัญหาเดียวกัน

อีกประเด็นหนึ่งเรื่องคล้าย ๆ กัน ก็คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน เดิมรัฐธรรมนูญปี 2550 เคยมีมาตรา 76 พูดถึงว่า โครงการนโยบายสาธารณะของรัฐประชาชนต้องมีส่วนร่วม และก็มีความพยายามผลักดันให้มี พระราชบัญญัติ (พรบ.) การมีส่วนร่วม หรือองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม พรบ.สิทธิชุมชน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่เกิดขึ้นเลย และก็ไปหวังไว้ว่า อยู่ในหมวดของหน้าที่ของรัฐ อันนี้ก็จะเป็นปัญหาสำหรับประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในรัฐธรรมนูญปี 2560

เราจะเห็นได้ว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่อย่างที่ผมได้สะท้อน คนที่อยู่ในเขตป่าโดน พรบ.อุทยานแห่งชาติ มีอยู่ประมาณสัก 1.2 ล้านครัวเรือน 4,137 ชุมชน อะไรต่าง ๆ พวกนี้ ก็ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ ที่ยังเป็นปัญหาอีก 2 มาตรา ก็คือ มาตรา 25 มาตรา 26 อันนี้อาจจะลงรายละเอียดนิดหน่อย คือ ไปบัญญัติไว้ว่า สิทธิต่าง ๆ ถูกยกเว้นได้ พูดง่าย ๆ ก็คือว่า ถ้ากระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยอันดี หรือเกี่ยวกับการอนุรักษ์ สิ่งที่ตามมาก็คือ พรบ.อุทยานแห่งชาติปี 2562 หรือ พรบ.คุ้มครองรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มาตรา 64 มาตรา 66 และก็ออกกฎหมายพระราชกิจฎีกา 2 ฉบับ ที่พี่น้องชนเผ่าต่าง ๆ ไปล้อม ครม.สัญจร เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพราะว่ามาตราแบบนี้ มันทำให้ เดี๋ยวอาจารย์พวงทองคงขยายต่อได้ เพราะว่ารู้เรื่อง กอ.รมน. กอ.รมน. ก็ขยายความมั่นคงใหม่ ความมั่นคงใหม่ก็ขยายไปทุกอย่าง เพราะฉะนั้นสิทธิชุมชนที่เขียนไว้มันจึงถูกยกเว้นด้วยมตรา 25 มาตรา 26 อันนี้คือรูปธรรมที่จะต้องเร่งแก้ไข ไม่งั้นพี่น้องเดือดร้อนมาก พี่น้องที่อยู่ในเขตป่า พี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ Land Bridge ภาคใต้ อะไรต่าง ๆ พวกนี้ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่า เป็นรูปธรรมที่เห็นชัดเจนว่าปัญหาของการสร้างรัฐธรรมนูญที่ชาวบ้านก็บอกว่า “กินได้และใช้ได้ด้วย” ที่มันคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่ให้พื้นที่การมีส่วนร่วมของเขาจำเป็นที่จะต้องทบทวน

ข้อเสนอสั้นที่สุดก็คือ ต้องกลับไปใช้บทเรียนของรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 ถอดจากบทหน้าที่ของรัฐกลับไปเป็นสิทธิชุมชนในหมวดสิทธิเสรีภาพ และก็คิดถึงกระบวนการตรงกลางไม่ใช่แค่เรื่องการเข้าสู่อำนาจรัฐ ตำรวจสอบอำนาจรัฐ แต่ว่ากระบวนการใช้อำนาจรัฐผ่านในเรื่องของกลไกกฎหมายต่าง ๆ ที่ได้พูดเป็นตัวอย่างไว้แล้ว เรื่อง พรบ การมีส่วนร่วม พรบ.สิทธิชุมชน พรบ.องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ขอบคุณครับท่านวุฒิสภา ที่พูดแต่เรื่องของประชาชนอยู่ได้ และก็พูดเหมือนยังอยู่สมัชชาคนจน อาจารย์ประภาส ผมรบกวนอาจารย์อีกสัก 2 นาที อาจารย์ประภาส พูดเรื่อง สว. อีกสักหน่อย คือ ตลอดเวลา 5-6 ปี ที่ผ่านมา เราไปไหนไม่ได้ เพราะ 1.เรากลัวไปเองว่า สว. จะไม่โหวตให้ 2.เขาก็ไม่โหวตให้จริง ๆ ด้วยหลายครั้ง ตอนนี้ยังต้องกลัวอยู่ไหมอาจารย์ แล้วกระบวนการที่ผ่านมา สว. พรบ.ประชามติ อาจารย์เห็นอะไรบ้างใน สว.

 

ประภาส ปิ่นตบแต่ง :

ที่จริง พรบ. ประชามติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ท่านนิกร จำนง ผมก็อยู่ผมก็ได้รับตั้งเป็นที่ปรึกษา ถ้าเล่าแบบสั้น ๆ พอเข้ามาพิจารณารายมาตราก็ไม่มีใครคัดค้าน พูดง่าย ๆ คือเห็นด้วยเป็นเอกฉันท์ และก็มีคนแปลญัตติมา 1 คน พอดีวันนั้นผมไม่ได้อยู่ท่านนิกรอยู่ ก็มีการถกเถียงกัน แล้วก็ลงมติก็ผ่าน ก็คือรับ Simple majority หรือเสียงข้างมากแบบธรรมดา 20 ต่อ 3 ใช่ไหม

แต่ว่าคล้าย ๆ กับเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่คณะกรรมธิการร่วมสรุป พรบ.ประชามติ แปลญัตติ ปรากฏว่า มีการเสนอโดยท่านประธานว่า ได้เหตุผลใหม่ ซึ่งไม่รู้มาจากไหน สอดคล้องกับมีพรรคหนึ่งไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญพอดี ก็เลยมีการทบทวนซึ่งก็ประหลาดมาก อันนั้นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นใน สว. เพราะงั้นก็เลยนำมาสู่กรรมธิการร่วม 2 สภา ผมเองคิดว่า เดี๋ยวก็คงต้องกลับไป เพราะว่าตอนนี้สรุปเรียบร้อยแล้ว ผมไม่ได้คิดว่าจะมีการกลับมติอะไรอีก ก็คง 180 วัน วุฒิสภาก็คงยืนยันเหมือนเดิม

ทีนี้ยกตัวอย่างอื่น ๆ อีกนิดหน่อย องค์กรอิสระที่เลือกตั้งกันที่ผ่านมาก็จะมีคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อตรวจสอบประวัติ ทุกครั้งที่ผ่านแล้วกันที่ผ่านมาก็คือ มีคนยกมือ 1 คน แล้วก็เสนอ 14 คน และก็โหวต 14 คน   ทุกครั้งก็จะเป็นแบบนี้

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

คือเสนอชื่อ 14 คนเป็น Pack แล้วทั้ง 14 คนก็ได้หมดเลย ถ้าไปเสนอคนอื่นแข่งก็ผลคือ ได้ 19 เสียง

 

ประภาส ปิ่นตบแต่ง :

ได้ประมาณกลุ่ม เรียกกลุ่มพวกผมก็ดูกระไรอยู่ ประมาณ 7, 8, 9 เสียง

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ยังไม่ถึง 10 เสียง

 

 

ประภาส ปิ่นตบแต่ง :

ประมาณนี้ก็จะเป็นแบบนี้ เราพูดแบบก็เห็นกันอยู่ ไม่ต้องอธิบายเหตุผลอะไรมากกว่านี้ อันนี้ก็คือ สิ่งซึ่งหวังได้จาก สว. ก็หวังได้เท่านี้

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

นิดเดียวอาจารย์ อาจารย์ประเมินว่า ถ้าเป็นไปตามที่คุณนิกรว่า สมมติ Road map คุณนิกรเลย ทำประชามติ 3  ทำประชามติก่อน แล้วก็เสนอตั้ง สสร. สว. โหวตให้ไหม สว. คนอื่นที่ไม่ใช่อาจารย์

 

ประภาส ปิ่นตบแต่ง :

ผมคงตัดสินแทนไม่ได้ แต่ผมคิดว่า ประเด็นของคุณนิกร ผมพยายามเข้าใจคุณนิกรว่า ทำไมจะต้องให้ผ่านประชามติก่อน เพราะว่าจะได้อาศัยเสียงของประชาชนไปบังคับ สว. ขอใช้คำนี้แล้วกัน ก็คือว่า ถ้าไม่ผ่านเขาก็คงจะ อันนี้เหตุผลของคุณนิกร ผมพยายามเข้าใจ ก็คือว่า เขาก็คงเกรงในเรื่องว่า ในการแก้รัฐธรรมนูญมันไม่ผูกพันกับประชาชน ผมคิดว่าน่าจะเป็นแบบนั้น ผมพยายามเข้าใจคุณนิกร

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ผมทวนให้พี่น้องก่อนก็คือว่า เรื่อง Double majority Simple majority ที่เถียงกันทำให้ไม่ได้ไปถึงไหนเลยถึงวันนี้ ตอน สส. เคาะไปแล้ว Simple majority สว. ตอนแรกเคาะไปแล้ว Simple majority จนวันสุดท้ายแล้วท่านประธานในที่ประชุมที่เป็น สว.

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

บอกว่า ขอกลับ ขอเป็น Double majority เพราะมีเหตุผลใหม่ แต่ไม่ได้อธิบายว่าเป็นเหตุผลอะไร แล้วก็กลับเลย พอดีคุณนิกร พูดถึงว่า ถ้าแตกหักกับ สว. แล้ว สว. จะไม่โหวตให้ แล้วอาจารย์รับมืออย่างไร ขอเชิญอาจารย์ประภาสครับ

 

ประภาส ปิ่นตบแต่ง :

ไม่อยากตอบคำถามนี้ อยากชม 2 ท่าน

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

อยากชมทั้งคุณพริษฐ์และทั้งคุณนิกร

 

 

ประภาส ปิ่นตบแต่ง :

อยากพูดเรื่องเล็ก ๆ อย่างเรื่องประชามติ เพราะว่ามีความเข้าใจกันน้อยมากในสังคม ในเรื่องปัญหาเสียงส่วนใหญ่ 2 ชั้น นิด้าโพลก็ออกมาอีกว่า คนเรา 70 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยอย่างยิ่งกับค่อนข้างเห็นด้วยรวมกันว่าจะต้องเป็น 2 ชั้น หรือพูดง่าย ๆ คือ ต้องมีคนออกมาอย่างน้อยร้อยละห้าสิบ ผมคิดว่า ปัญหาใหญ่อยู่ที่รัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลที่อธิบายเรื่องนี้น้อยมาก ให้ความสำคัญน้อยมาก ผมไม่ได้โทษนิด้าโพลว่า ทำผิดไม่ผิด แต่ว่าความเข้าใจในเรื่องนี้

ถ้าขยายความอีกนิดหน่อย หรือคุณยิ่งชีพอาจจะช่วยขยายด้วย คือ เวลาเรากำหนดไว้ร้อยละห้าสิบ ปัญหาคือว่า ถ้าดูคราวที่แล้วคนออกประมาณ 29 ล้าน หรือประมาณเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ ถ้ากำหนดไว้ 50 เปอร์เซ็นต์ ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงให้คนนอนอยู่บ้านประมาณแค่ 11 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ก็ล่มแล้ว ที่ออกมา 49 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศมากก็คือว่า คนมา 49 เปอร์เซ็นต์ แล้วลงเห็นด้วย 99 เปอร์เซ็นต์ แต่คว่ำไป เพราะว่าไปกำหนดเพดานข้างบนไว้

อันนี้เป็นปัญหาที่ผมคิดว่า ทั้งรัฐบาลก็อธิบายน้อยมาก หรือ สว. ก็เถียงอะไรก็ไม่รู้ คิดว่า กำหนดไว้ 50 เปอร์เซ็นต์ จะได้ประชาธิปไตยมาก แต่ว่าลืมดูปีศาจในรายละเอียด หรือว่า ผลของมันก็ไปทำลายหลักการประชาธิปไตยทำให้เสียงส่วนน้อยแค่ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ เมื่อกี้ผมยกตัวอย่าง 11 เปอร์เซ็นต์ กับ 49 เปอร์เซ็นต์ 11 เปอร์เซ็นต์ ชนะ 49 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ผมคิดว่า เป็นปัญหาอย่างมากในแง่ของการอธิบาย และการเข้าใจเรื่องของเสียงข้างมากสองขั้น ไม่ว่าสองขั้น หรือขั้นครึ่งก็สองขั้น ผมคิดว่า มีปัญหาเหมือนกัน แต่ว่าเรื่องนี้ผมว่า คนคุยกันน้อยเกินไป

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :

ผมขออนุญาตขยายความจากอาจารย์ประภาส สักเล็กน้อย เสียเวลาไปเยอะกับการเถียงกันว่าจะเอา Double majority ไหม ที่จริงในตอนแรก Double majority ก็ได้ แต่ว่า พอมาถึงวันนี้เราดูแล้วว่าในรัฐบาลมีคนที่ไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญเยอะ และมีอิทธิพลเกินไป ขณะที่พรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งไม่รู้เป็นแกนนำจริงหรือเปล่า แต่โดยชื่อเป็นแกนนำรัฐบาลก็ไม่ทำอะไรก็ไม่ได้พยายามสู้ว่าจะต้องเอาให้ได้ ตามที่ตัวเองเคยประกาศไว้ ถ้าเป็นเช่นนี้มีโอกาสมากว่าจะทำประชามติไม่ว่าจะ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง ไม่ว่าจะเกิดตามกำหนดการที่คุณนิกรว่าไหม

สิ่งที่รัฐบาลจะทำได้ง่ายสุดในชีวิตของเขาเลยก็คือ ไม่ทำอะไรเลย อะไรที่กลัวมาก กลัวมากเลยคือ อาจจะมีประชามติก็ได้แต่เขาไม่ทำอะไรเลย คือ ท่านนายก คุณเห็นท่านนายกพูดเรื่องประชามติรัฐธรรมนูญสักครั้งหรือยัง ทั้งสองท่านเลยทั้งท่านเศรษฐา ทวีสิน และทั้งท่านแพทองธาร ชินวัตร ท่านไม่พูดอะไรเลย แล้วถ้าเกิดมีการทำประชามติภายใต้เงื่อนไข Double majority ซึ่งแปลว่าจะต้องมีผู้ไปใช้สิทธิเกินครึ่ง คือประมาณสัก 26 ล้านคน แล้วท่านนายกไม่พูดอะไรเลย ท่านก็ทำอย่างอื่นไป แล้วรัฐบาลไม่พูดอะไรเลย กกต. ก็ไม่ทำอะไรเลย ซึ่งเราก็รู้จักอยู่แล้วว่า กกต. ของเราปกติก็ไม่ทำอะไรเลย มีอยู่ไม่กี่คนพูดอยู่ทุกวัน โอกาสจะเป็นไปได้ว่า คนไปใช้สิทธิไม่ถึง 26 ล้านหรอก

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=4djNQykK3IM

 

ที่มา : PRIDI Talks #28 x PBIC ยุตินิติรัฐประหาร รื้อรัฐธรรมนูญเผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน วันอังคาร 10 ธันวาคม 2567 เวลา 13.30-16.30 น. ห้องประชุม PBIC 205 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์