ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
อาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ พูดรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 เราอยู่กับมันได้อย่างไร มีอะไรต้องปฏิรูปไปข้างหน้ากัน
พวงทอง ภวัครพันธุ์ :
กราบสวัสดีทุกท่าน ขอบพระคุณสถาบันปรีดี พนมยงค์ ที่เชิญดิฉันมาร่วมเสวนาฯ ในวันนี้ คือฟังท่านที่ติดตามเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เบื่อไหม รู้สึกเหนื่อยอ่อนมาก รู้สึกว่า เมื่อไหร่เราจะหลุดออกจากกับดัก บ่วงแร้ว ที่เต็มไปด้วยก้อนหินหลุมพราง นรกสักทีนึง พยายามแล้วพยายามเล่าก็รู้สึกว่าออกยากเหลือเกิน เพราะอะไร เพราะนี่คือการเมือง ระเบียบทางการเมืองที่เขาอยากให้เป็น และเขาก็วางแผนกันมาอย่างดี ดีไซน์ออกแบบรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูกต่าง ๆ ไว้อย่างดี ดิฉันคิดว่าการออกแบบแบบนี้ เป้าหมายหลักเลยคืออะไร คือคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ พูดไปบ้างแล้ว
ประเด็นที่จะพูดก็สอดคล้องคุณพริษฐ์ ดิฉันอยากจะชวนให้ทุกท่านมองยาว ๆ ก็คือ การดีไซน์กฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งรวมทั้งกฎหมายลูก ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันทางอำนาจด้วย เช่น เวลาที่เราพูดถึงกองทัพ เราก็ต้องพูดถึง พระราชบัญญัติ (พรบ.) สภากลาโหม พูดถึงกฎหมายเกณฑ์ทหาร พูดถึง พรบ.กฎหมายความมั่นคง ภายในที่เกี่ยวข้องกับ กอ.รมน. พูดถึงศาลรัฐธรรมนูญที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอื่น ๆ คือการทำให้เป้าหมายก็คือ การทำให้การเมืองที่เรามีระบบรัฐสภาการเลือกตั้งมันไม่ได้สะท้อนอำนาจของประชาชน อำนาจของประชาชนที่แสดงออกผ่านโดยการเลือกพรรคการเมือง พรรคการเมืองไปเป็นรัฐบาล ผลักดันนโยบายที่เราเห็นด้วยทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอไม่สามารถที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้อย่างแท้จริง จะต้องมีกลไกที่จะลงโทษในการที่จะปิดกั้น หรือกำจัด ทำลายพรรคการเมืองที่ไม่พึงประสงค์เหล่านั้น ทำให้ขนาดเดียวกัน ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สูญเสียความศรัทธาความเชื่อถือจากประชาชน นี่ก็คือ ความชอบธรรมที่ลดลงด้วย ความอ่อนแอที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ขณะเดียวกันก็ทำให้กลไกอำนาจของกลุ่มอำนาจเดิมนั้นเข้มแข็งขึ้นตลอด คือ ถ้าเรามองย้อนกลับไปรัฐธรรมนูญทุกครั้งที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นแล้วมีการรัฐธรรมนูญออกมา รัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหาร มันจะทำอยู่สามสี่อย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2521 ให้นึกถึงสิ่งที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
รัฐธรรมนูญ 2550 ที่มาจากการรัฐประหาร 2549 และรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ที่มาจากการรัฐประหาร 2557 คือ มุ่งทำให้อำนาจของประชาชน พรรคการเมือง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอลง ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กลไกของกองทัพมีอำนาจและภารกิจ กิจการภายในของประเทศมากยิ่งขึ้น ทำให้กองทัพเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้องค์กรอิสระไปอยู่ภายใต้กลไกอำนาจเขาแทน ไม่จำเป็นที่ต้องยึดโยงกับอำนาจของประชาชน และทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไร้อำนาจในการควบคุมกลไกรัฐต่าง ๆ ซึ่งหมายถึงระบบราชการและกองทัพด้วย ทำให้ไม่สามารถผลักดันนโยบายต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดิฉันคิดว่าเหล่านี้ คือ หัวใจสำคัญของทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร แล้วมีการผลักดันรัฐธรรมนูญเหล่านี้ออกมา
เวลาที่มีการรัฐประหารดิฉันอยากบอกว่า เขาไม่ได้มุ่งที่จะเปลี่ยนเพียงแค่ตัวรัฐบาล ผู้นำรัฐบาล แต่เขาต้องการที่จะเปลี่ยนเกมในสภาฯ สร้างระเบียบทางการเมืองใหม่รวมถึงทำให้ระบบราชการรับใช้เขามากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเขาต้องออกกฎหมายที่จะจำกัดสิทธิของประชาชนด้วย ในอดีตเรามี พรบ.ปราบปราบการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ อันนี้ดูเหมือนต่อต้านคอมมิวนิสต์ใช่ไหมค่ะ แต่จริง ๆ คุณไปดู พรบ. นี้ มันเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวพฤติกรรมต่าง ๆ ของประชาชน ประชาชนสามารถที่จะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ได้ง่าย ๆ ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพที่จะในการนำเสนอ ความคิดเศรษฐกิจ การเมือง แบบที่ตัวเองต้องการได้ หรือแม้การที่วิพากษ์วิจารณ์ จะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ มี พรบ.การพิมพ์ ในการที่จะควบคุมการพูดการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ
ปัจจุบันเรามี พรบ.ควบคุมการทำงานของ NGO เมื่อกี้ อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง พูดถึงการไปแก้เรื่องสิทธิชุมชนอันนี้ก็จะเห็นได้ชัดว่าทำให้พลังอำนาจการเคลื่อนไหวของประชาชนนั้นมีข้อจำกัดมากยิ่งขึ้น ยังมีในช่วงที่รัฐบาลคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพยายามในการที่จะผลักดัน พรบ.ข้อมูลข่าวสาร ด้วยเพื่อที่จะไปแก้ พรบ.ข้อมูลข่าวสาร ที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 แล้วก็บรรจุลงไปว่าการเปิดเผยข้อมูลอะไรที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ เกี่ยวข้องกับกองทัพ เข้าข่ายการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ เป็นต้น นี่คือกฎหมายที่ทำให้ประชาชนอ่อนแอ ควบคุมประชาชน ในขณะเดียวกันทำให้รัฐบาลกลไกทางการเมืองทั้งหลายอ่อนแอลงด้วย แต่ว่าจะทำให้ระบบราชการเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาลด้วย
ทีนี้อยากยกตัวอย่างอันหนึ่ง พรบ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ในนั้นเรารู้กันอยู่ว่ามีสิ่งที่เรียกว่าสภากลาโหม ปัจจุบันทั้งพรรคประชาชนแล้วก็พรรคเพื่อไทยเองก็อยากจะแก้ ส่วนนี้ ในส่วนของพรรคเพื่อไทยส่วนที่ให้ความสำคัญก็คือ ส่วนที่เรียกว่า Super Board ประกอบด้วย คน 6 คน ที่จะเป็นที่จะมีอำนาจในการที่จะตัดสินเรื่องการโยกย้ายนายทหารระดับนายพลเป็นต้นไป อันนี้สิ่งที่เขาถือว่าเป็น กลไกสำคัญเลยที่จะป้องกันการรัฐประหาร แต่ว่าสภากลาโหมตรงส่วนนี้ขึ้นมาปรากฏขึ้นมา Super Board ที่ปรากฏขึ้นมา มันมาพร้อมกับรัฐธรรมนูญ มาพร้อมกับการรัฐประหาร 2549 แล้วมีการแก้ พรบ.กลาโหม แล้วทำให้เกิด Super Board นี้ขึ้นมา เอาอำนาจจากการแต่งตั้งนายพลออกไปจากรัฐบาลพลเรือนจากรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ก่อนหน้านี้ไม่มี Super Board
ย้อนกลับไป สภากลาโหมเดิมทีเลยมาพร้อมกับรัฐธรรมนูญ การรัฐประหาร 2490 ตัวสภากลาโหมตอนที่มีกำเนิดขึ้นมาทำหน้าที่เป็นแค่ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเท่านั้นในการให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ของทหาร แต่พอเกิดรัฐประหาร 2520 ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นมา แล้วก็ในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ก็มีแก้ตัว พรบ.กลาโหม ตัวนี้ขึ้นมา อำนาจของสภากลาโหม มันถูกยกระดับขึ้นไป ไม่ใช่เป็นที่ปรึกษาอีกต่อไปแล้วแต่ทำหน้าที่ในการควบคุมนโยบายทั้งหลายแหล่ที่เกี่ยวข้องกับกิจการทหาร
นี่เป็นอีกขึ้นหนึ่งพอมีรัฐประหาร มีรัฐบาลที่มาจากทหารขึ้นมา เขาก็จะหาทางการที่จะขยายอำนาจกลไกราชการ โดยเฉพาะกองทัพให้เป็นอิสระจากรัฐบาลพลเรือน พูดได้เลยว่า กองทัพปัจจุบันไม่ได้แค่เป็นรัฐซ้อนรัฐแต่เป็นรัฐอิสระเลย ที่รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถที่จะเข้าไปควบคุมแทรกแซงอะไรได้เลย รวมถึงเรื่องของ เอาที่จริง แม้เรื่องของการที่เกณฑ์ทหาร ดิฉันเคยบอกเพื่อนบางคนว่าถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ คุณก็ไม่สามารถแก้ พรบ.เรื่องการเกณฑ์ทหาร นี้ได้เลย เดี๋ยวถ้ามีเวลาจะค่อยกลับมาพูดเรื่องนี้อีกทีหนึ่ง
รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และฉบับ 2560 ซึ่งเป็นเหมือนพี่น้องคลานตามกันมา แต่ฉบับ 2560 พลังมันเยอะกว่า เพราะมันเรียนรู้จากฉบับ 2550 ทำให้องค์กรอิสระเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองโดยสิ้นเชิงก็ว่าได้ ทำให้องค์กรอิสระแทนที่จะถูกสร้างขึ้นมา ตอนที่สร้างขึ้นมาจุดมุ่งหมายขององค์กรอิสระทำหน้าที่ในการที่จะตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐให้มีความยุติธรรมแล้วก็เคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากยิ่งขึ้น แต่ปัจจุบันนี่ไม่ใช่แล้วภายใต้ระบอบที่เป็นอยู่องค์กรอิสระเป็นเครื่องมือในการลงโทษ เครื่องมือในการที่จะจำกัดอำนาจรวมถึงทำลายกลุ่มการเมืองที่ไม่พึงประสงค์ องค์กรอิสระไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐอีกต่อไป ถ้าเขาจะอ้างว่า Protect ทำหน้าที่ในการปกป้องรัฐธรรมนูญก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่เขามุ่ง Protect ในรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน
แนวความคิดเรื่อง Civilian control ความคิดที่ว่ารัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งควรจะมีอำนาจในการที่จะควบคุมกลไกของระบบราชการ ทั้งข้าราชการพลเรือน องค์กรอิสระ และก็กองทัพนั้นไม่ได้อยู่ในสารบบของวิธีคิดของคนเหล่านี้ที่ยึดอำนาจจากประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่าไล่มาเลยตั้งแต่การยึดอำนาจ 2490 จนถึงปัจจุบัน ไม่เคยอยู่ในวิธีคิดไม่ได้อยู่ในคำศัพท์ พวกเขาเห็นความจำเป็นที่จะต้องทำให้มันเกิดขึ้น ตรงกันข้ามต้องทำให้สิ่งที่เรียกว่า Civilian control อำนาจของฝ่ายพลเรือนอ่อนแอลง
การปฏิเสธอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปัจจุบันขยายไปสู่หน่วยราชการสำคัญของประเทศด้วย นอกจากกรณี พรบ.กลาโหม ที่ว่าแล้ว คิดว่า ดิฉันอยากชี้ให้เห็นอีกอันหนึ่งก็คือ หน่วยราชการของไทยปัจจุบัน หลายท่านคงได้ยินเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่พูดว่า ระบบราชการในปัจจุบันต่างกับระบบราชการเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พลังเยอะมาก ๆ ประเด็นหนึ่งที่ดิฉันอยากชี้ให้เห็นถึงคือว่า แนวความคิด Civilian control เมื่อก่อนนี้บอกว่า พลเรือน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นักการเมือง พรรคเมือง ไม่ควรที่จะเข้ามาแทรกแซงหน่วยราชการมันจำกัดอยู่แค่กองทัพเป็นส่วนใหญ่ใช่ไหม แต่ปัจจุบันนี้ระบบราชการขยายเข้าสู่ระบบราชการพลเรือนด้วย
กรณีนี้ท่านคงยังจำได้ กรณีที่นำมาใช้เล่นงานคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ทำให้คุณยิ่งลักษณ์ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี คือ คุณยิ่งลักษณ์ก็ประกาศยุบสภาฯ แล้วก็ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีก็ยังอยู่เล่นงานในประเด็นเรื่องที่ไปสั่งโยกย้ายเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.คุณถวิล เปลี่ยนศรี อีก ก็ยุติอันนี้อีก ประเด็นนี้ผิดตรงไหนนายกรัฐมนตรีโยกย้ายเลขาธิการ สมช. เลขาธิการ สมช. สำคัญมาก ๆ มันเกี่ยวข้องกับการทำงานในเรื่องของความมั่นคงในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร เรื่อง Intelligent ข่าวกรองต่าง ๆ ที่จะต้องทำหน้าที่ในการจะแบบปกป้องรัฐบาล ด้วย จากภัยคุกคามที่มาจากการรัฐประหารอย่างนี้ เป็นต้น การย้ายเลขาธิการ สมช. ซึ่งย้ายกันมาตลอด ในอดีตเรื่องของนายกรัฐมนตรี เลขาธิการ สมช. ไม่เคยเป็นปัญหา แต่กรณีคุณยิ่งลักษณ์ถูกลงโทษในกรณีนี้ แนวความคิดนี้ก็ขยายไปสู่ส่วนอื่น ๆ ด้วย ในปัจจุบัน
ดิฉันอยากยกกรณีหนึ่ง ที่มีข่าวหนึ่ง ซึ่งดิฉันอ่านดิฉันก็ว่าแบบค่อนข้างจะรู้สึกกังวล คือ ตอนที่พรรคประชาชนเสนอร่างแก้ไจ พรบ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ทั่วไป อันนี้ก็เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. แล้วก็ถูกตีกลับมาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ปีนี้ ประเด็นสำคัญที่ถูกตีกลับ ถ้าอ่านจากข่าวแล้วคือ ความเห็นหน่วยราชการที่สำคัญ ๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พรบ. นี้ของพรรคประชาชน หน่วยราชการที่คัดค้าน คือ กองทัพ กับ กอ.รมน. นี้เข้าใจได้ว่าทำไมเขาคัดค้าน แต่ยังมีหน่วยงานอื่นด้วยที่ก็ไม่เอาด้วย เช่น สมช. สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ แม้กระทั่งกระทรวงการต่างประเทศก็เห็นด้วยในประเด็นเดียว เรื่องการส่งทหารไปร่วมในภารกิจปกป้องสันติภาพแต่ส่วนอื่น ก็แล้วแต่ทหารจะว่าอย่างไร
กรณีนี้ดิฉันคิดว่ามันกลายเป็นว่าช่วยกันปกป้องอำนาจหน่วยราชการด้วยกันเอง หน่วยราชการที่เป็นของพลเรือนเองก็กลับมาช่วยกันปกป้องอำนาจของหน่วยราชการที่เป็นทหารด้วยกันเอง ดิฉันคิดว่าเขาทำด้วยภายใต้ความคิดที่ว่า อันนี้เป็นเรื่องของหน่วยราชการ พรรคการเมืองไม่ควรที่จะเข้ามา พยายามที่จะจำกัดอำนาจ และความอิสระของหน่วยราชการ เพราะเราไม่ได้กำลังสู้แต่เพียงแค่ตัวกฎหมายอย่างเดียว แต่สู้กับสิ่งที่เป็น Public Opinion โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มันได้รับการยอมรับทั้งคนที่อยู่ในหน่วยราชการ และสื่อมวลชนด้วย
ดิฉันไม่เจอการตั้งคำถามประเภทนี้จากสื่อมวลชน จากคนทั่วไปว่า กรณีคุณยิ่งลักษณ์เอง ตอนนั้นกระแสต่อต้านคุณยิ่งลักษณ์นั้นมาแรงมากพร้อมกับ กปปส. แต่มันผิดตรงไหน หรือแม้กระทั่ง ความเห็นของเวลามีการโยกย้ายข้าราชการ กลายเป็นว่า คำพูดที่ว่านักการเมืองกลั่นแกล้งราชการ กลายเป็นกระแสหลักที่อยู่ส่งต่อกันไปในสื่อมวลชน แต่ว่าข้าราชการแต่งตั้งโยกย้ายกันเอง เราก็จะได้ยินว่า คนนี้เป็นคนของรุ่นนั้น คนนี้เป็นคนของ Faction นั้น ของกลุ่ม ๆ นี้ ปีกนี้ นี่ไม่ใช่เป็นการเล่นพรรคเล่นพวกหรือเปล่า ทำไมไม่เป็นปัญหา ทำไมไม่ตั้งคำถาม เรากลับรับข้อมูลเหล่านี้เข้ามาราวกลับเป็นเรื่องปกติ หมายความว่าอย่างไร Public Opinion ของคนไทยมันต่อต้านพรรคการเมือง นักการเมืองอยู่ตลอดเวลา
ก็คืออย่างที่ ถ้าเราไม่ทำ อย่างที่เราสรุปได้ว่า ถ้าเราไม่พยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับอำนาจกลไกอื่น ๆ ต่อไป เราก็จะทำอะไรไม่ได้ในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสิทธิชุมชน เรื่องของรัฐธรรมนูญ เรื่องของ สว. รวมถึงเรื่องของการที่จะพยายามที่จะจำกัดอำนาจของกองทัพ ทำให้กองทัพเป็นกองทัพมืออาชีพจริง ๆ เป็นขนาดเล็กมีประสิทธิภาพ ขนาดนี้กองทัพทำในหลาย ๆ เรื่องที่ออกไปมาก ใช้กำลังพลมากมายทำในกิจการหลาย ๆ เรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทหารโดยตรงมันทำให้โอกาสที่กองทัพจะพัฒนาตัวเองเป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพในการที่จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้านของมหาอำนาจ การจัดซื้อจัดจ้างอาวุธ ที่มีประสิทธิภาพป้องกันประเทศได้จริง ๆ
ดิฉันคิดว่าส่วนนี้มันอ่อนแอลง ถ้าเราไม่เริ่มจากมองเห็นปัญหาเหล่านี้ว่าอะไร คือ ระเบียบทางการเมืองอันใหญ่ที่มันต้องการสร้างขึ้นมา แล้วมันกระทบต่อทุกคน มันกระทบต่อพวกเราทุกคน คุณไม่ต้องหวังเรื่องของการปฏิรูปธุรกิจกองทัพด้วย เพราะธุรกิจกองทัพจำนวนมาก กระทำในนามของความมั่นคงภายในของชาติ ถ้าคุณไม่แก้นิยามนี้ ในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับภารกิจของกองทัพ คุณก็จะไม่สามารถที่จะแก้กฎหมายทั้งหลาย รวมถึงกิจกรรมจำนวนมากทั้งของกองทัพ และก็หน่วยงานความมั่นคงอื่น ๆ ขอบคุณ
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
ขอบคุณครับอาจารย์ ตอนท้ายอาจารย์มาตอบคำถามที่ผมอยากถามแล้ว แต่อยากให้อาจารย์ช่วยผมลากอีกนิดหนึ่ง เรื่องกองทัพอำนาจทหารที่ปฏิรูปอำนาจไม่ได้ เสนอ พรบ. เขาก็ไม่เอา จริง ๆ ผมยังงงอยู่ นายกรัฐมนตรี ครม. ไม่บรรจุ พอหน่วยราชการไม่เห็นด้วย หน่วยราชการมันเป็นคนพิจารณากฎหมายตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ถ้าเราได้รัฐธรรมนูญมา มีโอกาสในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เราจะสามารถลากไปสู่การจำกัดอำนาจของกองทัพ การปฏิรูปกองทัพ ได้ไหมอาจารย์
พวงทอง ภวัครพันธุ์ :
คือ ดิฉันคิดว่าอำนาจของกองทัพโยงกับรัฐธรรมนูญเสมอ เวลาดิฉันไปอ่านงานเขียนของกองทัพที่เขาอธิบายว่า ทำไมเขาจึงสามารถมีโครงการพัฒนาชนบท โครงการโคกหนองนา โครงการแก้มลิง โครงการทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งการกระจัดความยากจน มันเกี่ยวข้องกับความมั่นคงภายใน อันนี้เขาก็จะอ้างเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญว่า มันได้มอบหมายภารกิจเหล่านี้ให้กับกองทัพ ซึ่งภารกิจเหล่านี้เริ่มจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ดิฉันไม่ได้มองว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 เป็นรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยสักเท่าใดนัก โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของกองทัพ คือต้องเข้าใจว่าอำนาจรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 มันได้ขยายอำนาจหน้าที่ภารกิจของกองทัพออกไปกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2475
รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 ระบุไว้เพียงแค่ว่า อำนาจหน้าที่ของกองทัพ คือ ปกป้องดินแดน และอำนาจอธิปไตยของไทย คำพูดเป๊ะ ๆ จำไม่ได้ก็คือว่า ภารกิจคือว่าเป็นภารกิจของการปกป้องประเทศจากภัยคุกคาม ภายนอกแต่ว่าฉบับ 2517 ที่ขยายออกไปก็คือ
- กำลังทหารพึงใช้เพื่อการรบหรือว่ายามสงคราม ภารกิจทางด้านการทหารที่ทุกประเทศมี
- เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์
- เพื่อปราบปรามการกบฏและการจราจล นี่เรื่องภายใน อันที่ 2 ก็เรื่องภายใน
- เพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐซึ่งกว้างมหาศาล อาจจะเป็นมาจากภัยคุกคามความมั่นคงก็ได้ เช่น เกิดปรากฏการณ์เหลืองแดง เกิดปรากฏการณ์เยาวชนลุกฮือขึ้นมา ในการที่จะต่อต้านภาครัฐนี่ก็ถือว่าเป็นความมั่นคงของรัฐ
- เพื่อการพัฒนาประเทศ
นี่คือภารกิจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2517 เราไม่เคยถูกแก้ อาจจะแก้คำพูดนิดหน่อยแต่สาระสำคัญยังคงอยู่เสมอ แล้วกองทัพมักจะอ้างอยู่เสมอว่าตัวเองมีภารกิจในการกระทำสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอ
เพราะฉะนั้น อย่างธุรกิจกองทัพ อย่างเช่นการเข้าไปทำอุตสาหกรรมยา องค์การเภสัชกรรมทหาร ซึ่งก็เป็นยาสามัญประจำบ้าน เป็นยาแก้ท้องอืด ยาขมิ้นชัน อะไรประเภทนี้ เขาก็อ้างว่า เรื่องความมั่นคงทางยาที่ประเทศเราต้องมี เขาไปทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการสมมติเรื่องโควิด เรื่องอะไรพวกนี้ แม้กระทั่งเรื่อง EEC ที่กองทัพเรือเข้าไปตั้งงบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาพื้นที่ EEC พื้นที่อู่ตะเภา ก็อ้างเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศเขาต้องมีบทบาท เพราะฉะนั้น คุณต้องไปแก้ตัวรัฐธรรมนุญด้วย และตัวรัฐธรรมนูญยังเป็นฐานของการไปดีไซน์เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็จะบอกว่าการพัฒนาประเทศต้องพัฒนาเพื่อความมั่นคง พอมีคำนี้กองทัพไปดูว่าที่คุณไปบอกเขา เขาตั้งงบประมาณแล้วบอกว่า งบประมาณนี้ตอบสนองเรื่องยุทธศาสตร์ชาติข้อไหน ตอบสนองเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติข้อไหน มันจะถูกใช้ในการรองรับกิจการมากมาย ฉะนั้น อยู่มาวันนึงคุณบอกว่าคุณจะไปแก้ตัดเรื่องนั้นเรื่องนี้ออกจากกองทัพ เขาจะบอกไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญเขาต้องทำเรื่องพวกนี้ ดิฉันเชื่อว่าถึงวันนั้นต้องมีการไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่า สิ่งที่พรรคการเมืองนี้ต้องการที่จะตัดอำนาจหน้าที่ของกองทัพออกไปมันขัดกับรัฐธรรมนูญ
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ :
ข้อสี่ข้อห้า ขยายนิยามความมั่นคงพัฒนาประเทศทำให้ทหารแบกอำนาจและภารกิจเยอะเกินไป ที่ไม่ใช่เรื่องการลบอีกต่อไป ถ้าเรามาแก้เรื่องนี้ได้ อย่างน้อยเขาจะอ้างได้น้อยลง ขอบคุณอาจารย์พวงทองที่พูดถึงมุมนี้ ที่ผมไม่ได้เข้าใจมากนักแล้วผมจะไปอ่านต่อครับ
รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=4djNQykK3IM
ที่มา : PRIDI Talks #28 x PBIC ยุตินิติรัฐประหาร รื้อรัฐธรรมนูญเผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน วันอังคาร 10 ธันวาคม 2567 เวลา 13.30-16.30 น. ห้องประชุม PBIC 205 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์