ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ฎีกาชาวนา : ความทุกข์ยากบนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

3
มิถุนายน
2565

“การถวายฎีกา” เป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวที่สำคัญของราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตภาคกลางนับตั้งแต่สมัยราชอาณาจักรอยุธยาเป็นต้นมา กล่าวคือ เป็นรูปแบบที่ทั้งกษัตริย์ เจ้านาย ขุนนางและไพร่ ต่างยอมรับซึ่งกันและกันว่าการถวายฎีกา คือ ช่องทางการเคลื่อนไหวที่ชอบธรรมอย่างหนึ่ง

ไพร่เองหากมีความเดือดร้อน อย่างแสนสาหัสอันไม่อาจพึ่งมูลนายระดับล่างๆ ของตน ก็มี "สิทธิ" ถวายฎีกาต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็น “มูลนายใหญ่” ได้ และการถวายฎีกาเพื่อขอความยุติธรรมจากไพร่นี้เอง ก็ได้มีผลให้พระมหากษัตริย์ คือ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการตรวจสอบชำระกฎหมายกันใหม่ ซึ่งเรียกว่าการจัดทำประมวลกฎหมายตราสามดวง ถัดต่อมาคือในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงโปรดให้ราษฎรถวายฎีกามาก ทรงกล่าวว่าการที่พระองค์ทรงรับฎีกามีความหมายว่าพระองค์ทรง “เสด็จออกโปรยทาน”

ด้วยเหตุนี้ ราษฎรในสมัยนั้นสามารถถวายฎีกาได้ทุกเมื่อ และถ้าตรวจดูแล้วพบว่าฎีกามีมูลความจริง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราโชบายให้รางวัลเป็นเงินคนละหนึ่งถึงสองสลึง (ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 พ.ศ.2394 - 2404, 2511:47)

ในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 การถวายฎีกาได้ขยายเขตออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตภาคกลางและในเขตที่อำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้แผ่ไปถึง ปรากฏว่ามักมีการถวายฎีกาส่งเข้ามา ในขณะที่บริเวณห่างไกลและไม่ได้อยู่ใต้อำนาจการปกครองของกรุงเทพฯ มาก่อน มีการถวายฎีกาส่งเข้ามายังส่วนกลางในจำนวนที่ค่อนข้างน้อย (ดู หจช.,บัญชีสมุดฎีกา 3 เล่ม พ.ศ. 2430 - 2459)

ในทศวรรษที่ 2450 คือ สมัยปลายรัชกาลที่ 5 ต่อกับสมัยต้นรัชกาลที่ 6 ได้มีการถวายฎีกากันเป็นจำนวนมากโดยชาวนาจากทุ่งคลองรังสิต สาเหตุเกิดมาจากการทำนาที่ไม่ได้ผล ที่ดินที่เคยอุดมสมบูรณ์เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นที่ที่มีดินเค็ม ผู้ให้เช่าที่ดินเรียกเก็บค่าเช่าโดยไม่มีการผ่อนผัน ในขณะที่รัฐบาลเองได้เร่งรัดการจัดเก็บค่านา โดยเกณฑ์การประเมินแบบใหม่คือจัดนาออกเป็นชั้นเอก โท ตรี จัตวาและชั้นเบ็ญจะ (นิติ, 2525; Johnston, 1975:ch.7)[1]

ดังต่อไปนี้จะเป็นตัวอย่างฎีกาของราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเนื่องมาจากการเอารัดเอาเปรียบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบนานาภาษี การถูกยึดทรัพย์ที่ดินทำมาหากิน การเก็บเงินรัชชูปการ ผลกระทบเหล่านี้ในความเป็นจริงที่ส่งผลความยากลำบากให้กับชีวิตของราษฎรเป็นจำนวนมาก และนี่เป็นอีกสาเหตุที่เป็นแรกกระตุ้นสำคัญทำให้ฎีกาถูกถวายมากขึ้นนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2450 เป็นต้นมาจนถึงราวปี 2475 เป็นต้น

 

“การขายทอดตลาดทรัพย์สมบัติของราษฎรผู้ยากจนข้นแค้น ไม่มีเงินเสียให้แก่หลวงในบางตำบลได้กระทำอย่างน่าเอน็จอนาถที่สุด และนอกจากจะน่าสงสารราษฎรเจ้าทรัพย์ซึ่งมานั่งดูเขาขายทอดตลาดทรัพย์สมบัติของตน มีเรือกสวนไร่นาและโค ควายตาปะหลกๆ จะสะอื้นก็ไม่ใช่ จะร้องไห้ก็ไม่เชิงแล้ว ยังน่าชมเชยความสามารถในการกระทำของเจ้าน่าที่บางท่านในบางตำบล  คือท่านไม่ประกาศให้ใครรู้... ลัทธิบีบหัวใจราษฎรชนิดนี้ ยังมีที่แปลกๆ อีกมากมาย…”

(หลักเมือง : "ลัทธิบีบหัวใจราษฎรยังมีอยู่" 28 มิถุนายน 2472)

 

ฎีกาของ นายชื้น อัมโภช ลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ 2474 เรื่อง "ถวายความเห็น" ว่าการทำนาที่ไม่ได้ผลเป็นเพราะมีปัญหาเรื่องน้ำ รัฐบาลควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่บำรุงทางน้ำ ทำการเรี่ยไรเก็บเงินจากราษฎรในท้องถิ่นปีละครั้ง โดยจัดตั้งเป็นโครงการ “ราษฎร์สาธารณกุศล” และรัฐบาลควรเก็บเงินรัชชูปการจากพวกที่รับราชการทหารมาครบ 2 ปี ในจำนวนกึ่งอัตราเพื่อช่วยเหลือบ้านเมือง และเพื่อช่วยลดภาระการเสียเงินรัชชูปการของราษฎรทั่วไปลง

 

“...ตามเหตุผลที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลพระมหาแล้วแต่เบื้องต้นในข้อ1 -2 นั้น เปนเรื่องเกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง ข้าพระพุทธเจ้ามีฐานะเปนเพียงราษฎรสามัญได้อาจเอื้อมเก็บเอามาเปนหน้าที่นำขึ้นกราบบังคมทูลพระมหากรุณาเช่นนี้ อาจจะเป็นการขัดต่อทางการหรือเปนการใฝ่สูงมากอยู่ก็เปนได้ แต่อาศัยด้วยอุปทานของข้าพเจ้าสุจริตคิดเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าจะเปนประโยชน์ศุขสวัสดิภาพต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ บ้านเกิดเมืองนอน อันเปนที่รักยิ่งของข้าพระพุทธเจ้าคนหนึ่งต่อไปในอนาคดชั่วกาลนาน ฉนั้นเมื่อการใดหรือข้อคำใดพลั้งพลาดเปนการมิชอบขัดด้วยพระบรมราชประสงค์หรือรัฐศาสนโนบาย วิธีดำเนินการปกครองบ้านเมืองแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระมหากรุณา พระราชทานอภัยโทษ…”

(หฉช..ร.7 รล.20/152)

 

ฎีกาของ ถวัติ ฤทธิเดช ผู้ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่ถวายฎีกาเป็นจำนวนมาก ทั้งถวายในนามของตัวเองโดยใช้ชื่อนามสกุลจริง นามแฝง และเป็นอีกผู้หนึ่งที่เขียนฎีกาเป็นปากเป็นเสียงให้กับชาวบ้าน

ภายใต้ชื่อของเขา ถวัติได้นำเสนอโครงการหนึ่งที่ชื่อว่า “รัฐบาลเป็นทุนราษฎรเป็นแรง” อีกทั้งยังเสนอให้ตั้ง “สมาคมจัดหางาน” เปรียบเสมือนสำนักงานกลางของชาติเพื่อจะได้รู้ว่าสยามประเทศนั้นกำลังขาดแคลนกำลังด้านใด อีกทั้งยังได้เสนอโครงการ “ลัทธิช่วยตัวเอง” ในช่วงปีพ.ศ. 2475 (ปฏิทินใหม่) ซึ่งถวัติได้กระทบกระแทกทางฝั่งรัฐบาลด้วยภาษาที่รุนแรงมากขึ้น

 

“รัฐบาลได้ช่วยชาวนาด้วยวิธีอย่างไร ยังไม่มีใครทราบ... บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าว่า ประชาชนพลเมืองก็ควรจะหาทางช่วยตนเองด้วย โดยไม่คิดพึ่งรัฐบาลอีกต่อไป…”      

(หจช.ร.7 รล.20/123)

 

ฎีกาของ นายทองเจือ จารุสาธร ถวายเมื่อ 14 มีนาคม 2474 เรื่อง “งานของชาติ” สาเหตุที่ทำให้ทองเจือถวายฎีกาเรื่องนี้เพราะการทำงานของรัฐบาลขณะนั้นถูกวิจารณ์ในเรื่องของการทุจริตเป็นเสียส่วนใหญ่ และสยามประเทศยังขาดแคลนงานด้านสหกรณ์เร่งบำรุงกสิกรรมและพาณิชยกรรมให้จริงจังมากยิ่งขึ้น

 

“เวลานี้ไปที่ใด แม้แค่ชาวนาชนบทก็กล่าวถึงเศรษฐกิจการเมือง ได้ยินข้อครหาอย่างธรรมดาและเลือดร้อน บ้างว่ารัฐบาลปกครองราษฎรอย่างทาษ อย่างหลอกลวงอย่างสูบเลือดกันทุกหนทุกแห่ง การนินทาว่าร้ายนี้ไม่ถึงกับเป็นภัยในเร็ววันนั้นก็ตามแค่ก็เป็นชนวนให้บังเกิดความเสียหายในอนาคตกาลทีละเล็กละน้อย… โครงการนี้จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับ "พระญาญปรีชาราโชบายอันสุขุมของพระมหากษัตริย์ผู้เปรียบประดุจบิดาของราษฎรเป็นสำคัญ”

(หจช..ร.7 รล.20/194)

 

ฎีกาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2474 ของ นายนรินทร์ ภาษิต นักเคลื่อนไหวปัญญาชนคนสำคัญแห่งยุค เขาเป็นผู้นำทางความคิดที่จะปฏิรูปศาสนาโดยให้สตรีสามารถบวชเป็นพระได้ สังคายนาไล่อลัชชีซึ่งมีอยู่มากมาย และให้เลิกนิตยภัตต์ภิกษุสงฆ์ รวมทั้งให้เลิกเงินรัชชูปการ เป็นต้น ในกรณีของการยกเลิก เงินนิตยภัต[2] ภิกษุสงฆ์

 

“...ข้าพระพุทธเจ้าได้เสนอหนังสือถึงเสนาบดีคลังและอภิรัฐมนตรีแล้ว ว่าควรเลิกการจ่ายเงินนิตยภัตต์ รวมทั้งเลิกลัทธิต่างๆ เช่นการโล้ชิงช้านั้นเสียเพราะในอดีตการพระราชทานนิตยภัตต์ก็เพื่อประกาศเกียรติคุณ ปัจจุบันพระสงฆ์รวยยิ่งกว่าบรรพชิต แม้ในชั้นต่ำสุดก็ยังไม่ขาดแคลน เหตุผลไม่ใช่ในทางธรรมคือรักษาวินัยอย่างเดียว แต่มีประโยชน์ในทางโลก คือได้ช่วยแก้เศรษฐกิจการประหยัดเงินทองของรัฐบาล มิให้เปลืองไปโดยใช่เหตุ..."

(หจช..ร. 7 รล.20/172)

 

“.....การเก็บเงินรัชชูปการแก่คนจนนี้เป็นการเดือดร้อนอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าได้ขอร้องให้รัฐบาลเก็บแต่ผู้มีทรัพย์สมบัติยกเว้นให้แก่คนจน คือ ยกเลิกจับคนมาใช้งานโยธาแทนเงินรัชชูปการ รัฐบาลก็นิ่งเฉย.. ความเดือดร้อนอย่างวายร้ายของคนจนเนื่องจากมีผู้ปกครองใจเหี้ยมโหดร้ายกาจยิ่งไปกว่าพวกมหาโจร เพราะอ้ายพวกมหาโจรเมื่อมันเห็นคนจนไม่มีจะให้แล้วยัง ไหนๆ ที่ไม่มีเงิน มันก็ยกเว้นให้อภัยคือไม่ปล้นมันปล้นแต่คนมั่งมี นี่เป็นความจริงยิ่งกว่าความจริง เช่นรัฐบาลไม่ยกเว้นเก็บเงินรัชชูปการแก่คนจนจริงๆ คนไม่จะให้แล้วยังไม่มีใจเมตตากรุณาเที่ยวมาใช้งานโยธาแทนเงินได้ และที่ค้างมาเท่าไรก็จดจำไว้เช่นนี้ จะนับว่ามีใจเช่นไร อ้ายพวกมหาโจรมันจะมีใจดีเสียกว่ากระมัง..."

(หจช.สร.0201.15/5  สำเนาเอกสารเรื่องไทยไม่ใช่ทาษ มกราคม 2475)

 

ฎีกา เรื่อง ราษฎรจังหวัดขอนแก่นกล่าวโทษขุนพิศาลคีรีว่าประพฤติตนไม่สมควรแก่หน้าที่ราชการ และขอคืนเงินที่เรี่ยรายจากราษฎร (พ.ศ. 2475) จาก นายเป พรมนิน นายคา คำว่า นายสอน มีโพนทอง นายสม บุปฝาและชาวบ้านจำนวนหนึ่งจากอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ระหว่าง พ.ศ. 2474 - 2475 ว่า ขุนพิศาลคีรี นายอำเภอภูเวียงได้เรียกเก็บเงินพวกเขา บังคับขู่เข็ญเรียกเก็บเงินพวกเขาโดยไม่มีใบเสร็จ จนพวกเขาและชาวบ้านคนอื่นๆ ต้องไปกู้หนี้ยืมสินได้รับความเดือดร้อนมาก

 

“…ได้รับความเดือดร้อนยิ่งนัก…การหาเลี้ยงชีพอัตคัดขัดสน เปนท้องที่กันดาร…กว่าจะได้เฟื้องสลึงต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ การที่ได้ร้องเรียนมานี้นับว่าเปนการเหลือที่พวกข้าพเจ้าอดทน ต่อไป…”

เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี, สร.0201.40/ 678 กล่อง 21, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.

 

ในงานศึกษาของ ‘ประวิทย์ สายสงวนวงศ์’ ได้นำตัวอย่างข้อเขียนของปัญญาชนสายอีสาน นักหนังสือพิมพ์ที่มีบทบาทในช่วงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมถึงข้อร้องเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งปัญญาหาต่างๆ ยังคงดำเนินรอยซ้ำเดิม ในเขตพื้นที่อีสานที่ยังคงต้องเจอกับการเอารัดเอาเปรียบของศักดินาและข้าราชการต่างๆ ที่บังคับเก็บส่วย

“ณ โคราช” เขียนลงใน หนังสือพิมพ์หลักเมือง ฉบับวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2471 และ ฉบับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471[3] และมีผู้ใช้นามปากกาว่า “ชาวบ้านดง” จังหวัดขอนแก่น ได้ส่งจดหมายเขียนลงใน หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2471 เรื่อง การเกณฑ์แรงงานราษฎรในจังหวัดขอนแก่น มิได้เป็นไปตาม พ.ร.บ. เกณฑ์จ้าง เนื่องมาจากข้าราชการได้เกณฑ์แรงงานชาวบ้านไปทำงาน แต่มิได้ให้ค่าจ้าง อีกทั้งชาวบ้านยังต้องเตรียมเสบียงอาหารไปกันเอง ในเดือนหนึ่งๆ จะต้องถูกเกณฑ์ไปอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง หากมีการขัดขืนจะต้องถูกรับคนละ 1 บาท หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกจับกุมคุมขัง จึงเป็นที่มาของความเดือดร้อนอันแสนสาหัส “ชาวบ้านดง” ผู้เป็นกระบอกเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาแก้ไข

 

ข้าพเจ้าเปนพลเมืองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาบัดนี้ได้บังเกิดความเดือดร้อนขึ้นกับพวกข้าพเจ้า แต่ความเดือดร้อนของข้าพเจ้านี้ไม่ทราบว่าจะร้องเรียนขึ้นไปสถานใด… ข้าพเจ้าจึงขอพึ่งหน้ากระดาษของท่าน (หนังสือพิมพ์ศรีกรุง) เพื่อเปนทางสื่อสารให้ทรงทราบถึงทูลกระหม่อมฯ เสนาบดีพระองค์นั้น (สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ณ ขณะนั้น ) เพื่อพระองค์จักได้บำบัดทุกข์บำรุงสุขของพวกข้าพเจ้าให้บรรเทาลง

(เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงมหาดไทยข่าวในหนังสือพิมพ์, ร.7 ม.26. 5ก/30, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.)

 

ผู้ใช้นามแฝง ว่า “ผู้เสียศึกษาพลี” เขียนจดหมายไปลงใน หนังสือพิมพ์ไทยหนุ่ม ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 เรื่องเงินศึกษาพลี[4] จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งคำถามต่อความไม่โปร่งใสของจังหวัดที่นำเงินศึกษาพลีไปให้พ่อค้าในตลาดกู้เงินเพื่อกินดอกเบี้ย อีกทั้งทางจังหวัดยังมิยอมเปิดเผยรายละเอียดให้กับราษฎรทราบถึงการใช้จ่าย

“ผู้เสียศึกษาพลี” ได้แสดงความคิดเห็นวิจารณ์พฤติกรรมเช่นนี้ ว่า “…นี่เงินศึกษาพลีมิใช่เงินของเอกชน เปนเงินรวมกันพลมาบำรุงการศึกษาเปนกุศล เอาไปให้เขากู้ดังเงินของตน  เปนการควรหรือ ข้าพเจ้าราษฎรผู้เสียสละศึกษาพลีมิเห็นพ้องด้วย…”

ความเดือดร้อนของอาณาราษฎรในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นไปทุกหย่อมหญ้าด้วยการเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าขุนมูลนายที่มิได้เห็นถึงความเป็นคนนั้นเท่ากับความเป็นคน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน โดยไม่สนใจถึงความแสนสาหัสจึงเป็นที่มาของการ “ถวายฎีกา” ในเวลานั้น “หนังสือพิมพ์” ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เป็นกระบอกเสียงส่งต่อความอัตคัดของชาวนาและชาวบ้านให้ไปถึงยังผู้มีอำนาจอย่างพระมหากษัตริย์ได้เช่นกัน

 

ประกาศเรื่องความอัตคัดฝืดเคือง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศแก่ประชาชนทั้งปวงให้ทราบทั่วกัน ด้วยได้ทรงรับฎีการาษฎรทูลเกล้าฯ ถวายมาแต่ที่ต่างๆ หลายฉะบับกรามบังคมทูลฯ ร้องทุกข์ถึงความอัตคัดฝืดเคืองซึ่งเกิดขึ้นแต่ปีหลังมาจนปีนี้ เป็นเหตุให้ขัดสนจนทรัพย์ ทำมาหาได้ไม่พอจะเลี้ยงชีพและเสียภาษีอากรได้สะดวกเหมือนแต่ก่อน พากันขอให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ เช่น ขอให้งดเก็บภาษีอากร เป็นต้น

กล่าวตามความคิดเห็นของเหล่าผู้ถวายฎีกาเป็นอเนกนัย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบความตามฎีกาก็สงสาร ด้วยทรงทราบตระหนักอยู่แล้ว ว่าความลำบากของประชาชนมีอยู่แพร่หลาย จึงมีพระราชประสงค์ใคร่จะให้ทราบความตามจริงทั่วกัน ว่าบุคคลที่ได้รับความลำบากในเวลานี้ไม่ฉะเพาะแต่พวกราษฎรที่ถวายฎีกาเท่านั้น ถึงที่เป็นคฤหบดีและพ่อค้าตลอดจนข้าราชการและเจ้านาย ก็ได้รับความลำบากด้วยกันทั้งนั้น เพราะมูลเหตุแห่งความอัตคัดฝืดเคืองครั้งนี้ มิได้เกิดขึ้นในพระราชอาณาเขตต์ อันจะพึงป้องกันได้ด้วยพระบรมเดชานุภาพ หรือรัฏฐาภิปาลโนบายของรัฐบาล

เหตุเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ก่อนแล้วลามมาโดยลำดับจนถึงประเทศนี้ ความเดือดร้อนมีแก่ชาวประเทศอื่นๆ ก็อย่างเดียวกัน แต่ประเทศของเรานี้ยังเบากว่าประเทศอื่นอยู่โดยมาก ด้วยเป็นแต่อัตคัดขัดสน ไม่ถึงต้องอดอยากมากเหมือนกับเขา ถึงกระนั้นความลำบากก็กระเทือนถึงบ้านเมืองด้วยกันทุกประเทศ เพราะเมื่อประชาชนยากจนลง เงินภาษีอากรที่รัฐบาลเคยเก็บเฉลี่ยจากคนทั้งปวงเอามาใช้ในการปกครองบ้านเมือง ก็ได้น้อยลงไม่พอแก่การดั่งแต่ก่อน ว่าฉะเพาะประเทศของเรานี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ เงินภาษีอากรและผลประโยชน์แผ่นดินเก็บได้กว่าเก้าสิบหกล้านบาท

ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ จำนวนเงินเก็บได้ตกต่ำลงกว่าสิบเก้าล้านบาท มาถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ ประมาณจำนวนเงินจะตกลงไปอีกสักยี่สิบล้านบาท รวมเงินแผ่นดินตกต่ำลงใน ๒ ปีนี้ถึงสามสิบเก้าล้านบาท ก็เป็นเหตุให้เกิดความยากลำบากแก่รัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง ถ้าจะสงเคราะห์ราษฎรด้วยเลิกภาษีอากร เงินแผ่นดินก็จะยิ่งขาดมากไป เหมือนตัดกำลังที่จะปกครองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขให้อ่อนหนักลงไป อาจจะเกิดเหตุร้ายและความเดือดร้อนแก่ราษฎรเสียยิ่งกว่าที่ต้องเสียภาษีอากรเสียอีก

ฐานะการเงินแผ่นดินที่เป็นอยู่ในบัดนี้ถึงจะไม่ลดภาษีอากรลงเลย รัฐบาลก็ยังจะต้องขวนขวายหาเงินจากทางอื่นมาชดใช้ให้พอจำนวนเงินที่ขาด มิฉะนั้นก็จะเกิดภัยพิบัติถึงบ้านเมือง ด้วยเมื่อความจำเป็นมีอยู่อย่างนี้ จึ่งต้องโปรดฯ ให้ตัดเงินรายจ่ายราชการลงด้วยเลิกทะบวงการและลดจำนวนข้าราชการ ตัดรายจ่ายทางเงินเดือนและค่าใช้สอยให้น้อยลง เพียงเท่านั้นก็ยังไม่พอชดใช้เงินที่ขาด ถึงต้องตั้งภาษีอากรขึ้นใหม่อีกหลายอย่าง แต่ภาษีอากรต่างๆ ที่ตั้งขึ้นใหม่คราวนี้คิดเก็บเฉลี่ยในบุคคลจำพวกอื่นอันเป็นชั้นผู้มีทรัพย์พอจะเสียได้เป็นพื้น

แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็สู้ทรงสละเงินขึ้นซึ่งเคยได้สำหรับใช้สอยส่วนพระองค์ ออกช่วยราชการแผ่นดินเป็นส่วนใหญ่ และยอมให้เก็บภาษีทรัพย์ส่วนพระองค์อันต้องพิกัดเหมือนประชาชนทั้งปวง แต่ราษฎรทั้งหลายนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดฯ ให้ผ่อนผันมิให้ต้องลำบากมากขึ้นด้วยภาษีอากรที่ตั้งขึ้นใหม่ดั่งกล่าวมา ว่าโดยย่อครั้งนี้เป็นเวลาที่ชาวสยามทุกจำพวกนับแต่พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงไปจนถึงราษฎรพลเมือง จะต้องช่วยกันรักษาบ้านเมืองให้พ้นอันตรายด้วยโภคกิจเกิดวิปริตทั่วทั้งโลก จำต้องยอมทนความลำบากด้วยกันไปชั่วคราว และหวังใจด้วยกันว่าจะพ้นความอัตคัดขัดสนได้ในไม่ช้านาน

ด้วยชาวประเทศอื่นๆ ก็เดือดร้อนในเรื่องนี้เหมือนกับเรา รัฐบาลทุกๆ ประเทศก็พากันร้อนใจ และคิดแก้ไขอยู่ด้วยกันทั้งนั้น หากเป็นการใหญ่หลวงด้วยความอัตคัดเกี่ยวเนื่องถึงกันไปหมด ประเทศหนึ่งประเทศใดจะแก้ไขแต่โดยลำพังไม่ไหว จึ่งยังปรึกษาหารือกันช้าอยู่ ส่วนประเทศของเราก็ต้องอนุโลมตาม ถึงกระนั้นการอย่างใดซึ่งทรงสามารถจะบรรเทาความเดือดร้อนได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดฯ ให้จัดการนั้นๆ ดั่งเช่นให้ลดค่านาเรียกน้อยลงกว่าแต่ก่อน และลดราคาเงินบาทให้ราษฎรซื้อขายได้ผลประโยชน์มากขึ้น เป็นต้น

การอย่างใดที่รัฐบาลจะพึงกระทำเพื่อบรรเทาความลำบากได้ก็ยังจะทำต่อไป ในส่วนประชาชนก็อาจจะช่วยรัฐบาลได้ด้วยอุตส่าห์ประกอบกิจการให้เกิดโภคทรัพย์ยิ่งขึ้น และพยายามสงวนทรัพย์สินซึ่งมีอยู่ อย่าใช้จ่ายให้เปลืองไปเสียในการที่ไม่เป็นประโยชน์ก็จะบรรเทาความลำบากลงได้ ส่วนการเสียภาษีอากรนั้นก็ควรพยายามตั้งใจช่วยรัฐบาลโดยเต็มใจตามความสามารถเพื่อจะได้เป็นกำลังสำหรับรัฐบาลปกครองบ้านเมือง และคิดการแก้ไขเหตุร้ายต่างๆ ให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ถ้าหากรัฐบาลไร้ทุนทรัพย์และรายได้แล้ว ก็ย่อมไม่สามารถที่จะดำเนินการใดๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนได้ ขอให้ประชาชนทั้งหลายเห็นแก่บ้านเมืองเป็นสำคัญจงทั่วกัน

ประกาศมาณวันที่ ๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นปีที่ ๘ ในรัชชกาลปัจจุบัน

 

 

เอกสารอ้างอิง :

  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. (2535). การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
  • ประวิทย์ สายสงวนวงศ์. (2562). พัฒนาการของการตื่นตัวทางการเมืองของชาวอีสาน พ.ศ. 2433-2489. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยศิลปากร, คณะอักษรศาสตร์, ภาควิชาประวัติศาสตร์.

หมายเหตุ :

  • อักขรวิธีสะกด ตามเอกสารชั้นต้น

 


[1] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. (2535). การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษศาสตร์.

[2] นิตยภัต คือ ค่าภัตตาหารที่พระมหากษัตริย์ถวายแก่พระภิกษุสามเณร เนื่องจากนิตยภัตถวายให้พระสงฆ์เป็นประจำทุกเดือน เช่นเดียวกับเงินเดือนฆราวาส คนจำนวนมาก จึงเรียกนิตยภัตว่า เงินเดือนสงฆ์

[3] ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, การเมืองสองฝั่งโขง, 81.

[4] เงินศึกษาพลี เป็นเงินที่ราษฎรมีภาระที่ต้องจ่ายต่อรัฐบาลเพื่อไปบำรุงการศึกษา ตามพ.ร.บ.ประถมศึกษา 2464 เนื่องจากงบประมาณของกระทรวงธรรมการ หรือศึกษาธิการในปัจจุบันมีน้อยมาก เมื่อเทียบสัดส่วนกับงบประมาณอื่น เช่น ระหว่างปี 2454-2464 กระทรวงธรรมการได้เพียง 20.2 ล้าน ขณะที่กระทรวงกลาโหมได้ 147.6 ล้าน กระทรวงทหารเรือได้ 47.3 ล้าน กระทรวงพระคลัง 60.5 ล้าน กระทรวงมหาดไทย 81.8 ล้าน กระทรวงนครบาล 92.4 ล้าน นอกจากนั้นเมื่อไม่พอก็ต้องทำการเงินเรี่ยไรจากราษฎรเพื่อสนับสนุนการศึกษาโดยพระสงฆ์ กำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่ก็ได้จำนวนไม่แน่นอน และไม่เพียงพอ เป็นส่วนหนึ่งให้โรงเรียนหลายแห่งล้มเลิกไป