กรุงเก่าเกิดใหม่เพราะสะพานปรีดี-ธำรง
กล่าวคือ เดิมทีเกาะเมืองอยุธยาเป็นพื้นที่รกร้าง ด้วยเหตุผลเรื่องกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินในบริเวณนั้น คือ พื้นที่ทางประวัติศาสตร์และมีโบราณสถานกระจายอยู่เต็มบริเวณโดยรอบ (ดังที่เห็นในปัจจุบัน) จึงถือเป็นเขตพื้นที่สงวน ห้ามมิให้ผู้ใดเป็นเจ้าของ เมื่อผนวกกับค่านิยมของคนในสมัยนั้น ที่มักสัญจรทางน้ำเป็นหลัก จึงทำให้ผู้คนนิยมสร้างบ้านเรือนอาศัยกระจุกตัวอยู่ทางด้านทิศเหนือ และกินบริเวณเรื่อยไปจนถึงด้านทิศตะวันออก (ตามภาพที่ 2) เลียบไปตามแม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี และรายล้อมเขตสถานที่ราชการ
ดังนั้นภายหลังการอภิวัฒน์ 2475 ภายใต้หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่ต้องการให้อำนาจเป็นของประชาชนมากที่สุด เมื่อทางกฎหมายพร้อมจะให้อำนาจแก่ท้องถิ่น ดังนั้นจึงถึงพร้อมด้วยการกระจายความเป็นสมัยใหม่ไปสู่ท้องถิ่นด้วยความเจริญ
“ถนน” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้คน คณะราษฎรจึงริเริ่มสร้างถนนสายแรกเพื่อเชื่อมต่อจังหวัดในภาคกลาง คือ ถนนพหลโยธิน เมื่อถนนได้พัดพาความเจริญออกไปไกลกว่าเขตพระนครและรั้ววัง เมืองกรุงเก่าอย่างพระนครศรีอยุธยาจึงถึงเวลาแห่งการพัฒนาและปรับเปลี่ยน
การเกิดขึ้นของของถนน ทำให้ นายปรีดี พนมยงค์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ. 2481 - 2484) มองเห็นความสำคัญในการพัฒนาแห่งยุคสมัย ตามที่คณะราษฎรตั้งใจไว้ จึงให้สร้างสะพานปรีดี-ธำรง โดยนายปรีดีสนับสนุนให้ออกพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และวัดร้างภายในกำแพงเมืองอยุธยา มาเป็นของกระทรวงการคลังในปี พ.ศ. 2481 เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินและเขตโบราณสถาน แล้วอนุญาตให้ประชาชนสามารถเข้าซื้อจับจองพื้นที่ได้ ซึ่งต่อมาได้ตราพระราชบัญญัติเปลี่ยนที่ดินนี้ให้แก่กระทรวงการคลัง กลายเป็นที่ดินราชพัสดุในปี พ.ศ. 2482[2]
จากพื้นที่ร้างกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ความเปลี่ยนแปลงจากการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นด้วยฐานแนวคิดที่ส่งต่อจนเกิดการสร้างสะพานปรีดี-ธำรง ขึ้น ทำให้เกิดแนวคิดการวางผังเมือง (Planning) ในพื้นที่รอบเกาะอยุธยา คือ เขตย่านการค้าและที่อยู่อาศัย เขตที่อยู่อาศัย เขตสถานที่ราชการ เขตสวนสาธารณะ เขตโรงงานอุตสาหกรรม และเขตโบราณสถาน[3] ซึ่งเป็นกระบวนการในการทำให้เป็นเกิดเมือง (Urbanization)[4] และก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ (Modernization)
นอกจากนี้ การสร้างสะพานปรีดี-ธำรง ยังก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสัญจรทางเศรษฐกิจและสังคม ของประชาชนให้ทั้งสองฟากฝั่งของเกาะเมือง เพราะระยะทางและระยะเวลาที่หดสั้นลง ทำให้การไปมาหาสู่สะดวกมากยิ่งขึ้น ยิ่งในละแวกตลาดหัวรอ อาจจะเป็นคำตอบได้ว่า อยุธยาได้เข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่แล้ว อันสังเกตได้จากฟากตลาดบกที่ครึกครื้นและมีบทบาทมากกว่าฟากตลาดน้ำ[5]
อนุสรณ์แห่งพระนครศรีอยุธยา
สะพานปรีดี-ธำรง เริ่มสร้างในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2483 แล้วเสร็จภายใน 3 ปี และเปิดใช้วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 ซึ่งตรงกับวันเกิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งได้มอบหมายให้ นาวาเอก ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม (บรรดาศักดิ์และตำแหน่ง ณ ขณะนั้น) เป็นประธานในพิธีเปิด
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เลือกใช้ชื่อ “ปรีดี-ธำรง” เป็นชื่อสะพาน ด้วยเหตุผลว่าเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้แก่ชาวพระนครศรีอยุธยา ที่ได้มีบุคคลสำคัญระดับประเทศถึง 2 คน ในการบริหารบ้านเมือง ดังนั้น สะพานแห่งนี้จึงถือเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กแห่งแรกของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็น สะพานแห่งแรกที่ใช้ชื่อของ “สามัญชน” ตั้งเป็นชื่อสะพาน[6] อีกด้วย
การเกิดขึ้นของอนุสรณ์สำคัญแห่งนี้ คือ จุดเปลี่ยนที่เชื่อมต่อพื้นที่กรุงเก่าที่หลับไหล ได้ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสู่ความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งอยู่ในสายธารแห่งการพัฒนาภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ภายใต้แนวทางของคณะราษฎรตามปฏิญญาที่ได้ประกาศไว้ในหลัก 6 ประการ
[1] ศุภสุตา ปรีเปรมใจ, “การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของเกาะเมองพระนครศรีอยุธยา,” (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ 2557), หน้า 39.
[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 47.
[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 48.
[4] กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา, ““สะพานปรีดี-ธำรง” ภารกิจฟื้นลมหายใจให้เกาะเมืองอยุธยา,” สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565, จาก https://pridi.or.th/th/content/2021/07/15.
[5] ศุภสุตา ปรีเปรมใจ, “การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของเกาะเมองพระนครศรีอยุธยา,” (วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ 2557), หน้า 46.
[6] กำพล จำปาพันธ์, อยุธยา. จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก ประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม, (นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, 2560), หน้า 264.