ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

"สะพานปรีดี-ธำรง" ภารกิจฟื้นลมหายใจให้เกาะเมืองอยุธยา

14
กรกฎาคม
2564

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หนึ่งในนโยบายหลักที่สำคัญของคณะราษฎรคือการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น ผ่านการวางแนวคิดที่เป็นโครงสร้างหลักของรัฐไทยสมัยใหม่ โดยในทางกฎหมายได้มีการจัดระเบียบบริหารราชการของไทยใหม่ ด้วยการตรากฎหมายฉบับสําคัญ เช่น “พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476” จัดแบ่งกลไกของรัฐออกเป็นส่วนกลาง-ส่วนภูมิภาค-ส่วนท้องถิ่น มีการจัดระเบียบการปกครองเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง นครบาล และสหบาล ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงในเชิงของกฎหมายแล้ว การพัฒนาท้องถิ่นในทางกายภาพก็เป็นสิ่งที่คณะราษฎรดำเนินนโยบายพัฒนาควบคู่กันไป

โครงการฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นที่สำคัญคือโครงการการก่อสร้างสะพานปรีดี-ธำรงเข้าสู่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของนายปรีดี พนมยงค์ในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ระหว่าง พ.ศ. 2481-2484) ในการพัฒนาพื้นที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง จึงดำเนินโครงการก่อสร้างสถานที่ราชการ สาธารณูปโภคพื้นฐาน และการตัดถนนเข้าสู่เกาะเมืองอยุธยา อันนำมาซึ่งโครงการก่อสร้างสะพานปรีดี-ธำรง 

 

สะพานปรีดี-ธำรง เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กโค้งคันธนู มีระบบเคเบิ้ลแบบเครือข่ายขึงตัวสะพาน (Network Tied Arch Bridge)
สะพานปรีดี-ธำรง เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กโค้งคันธนู มีระบบเคเบิ้ลแบบเครือข่ายขึงตัวสะพาน (Network Tied Arch Bridge)

 

การแก้ไขปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินในเกาะเมืองอยุธยา 

เมื่อพูดถึงบริบทของการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่กรุงศรีอยุธยาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พื้นที่เกาะเมืองรวมถึงปริมณฑลของกรุงเก่ามีการอยู่อาศัยที่เบาบาง การคมนาคมส่วนใหญ่โดยสารทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การแลกเปลี่ยนสินค้า การค้าขายต่างๆ และพื้นที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความรกร้าง มีอาชญากรรม และโจรผู้ร้ายซ่องสุมอยู่เนืองๆ ส.พลายน้อย นักเขียนผู้มีพื้นเพเป็นชาวอยุธยาได้พรรณนาถึงสภาพแวดล้อมอยุธยาในช่วงเวลาดังกล่าว ผ่านประสบการณ์ในวัยเยาว์ของตนกับแม่ ดังนี้ 

“คนที่ปลูกเรือนอยู่ริมคลองนั้น บางทีก็ไม่มีเรือใช้ เวลาข้ามฟาก ไปอีกฝั่งหนึ่ง จึงต้องอาศัยเรือจ้าง เรือรับคนข้ามฟากมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว โดยจะมีเรือรับจ้างส่งคนตามที่ต่างๆ มีด้วยกันหลายแห่ง เช่น ท่าสิบเบี้ย ที่ได้ชื่อเช่นนั้นก็เพราะต้องเสียค่าโดยสาร คนละ 10 เบี้ย การใช้เรือจ้างมีอยู่ทั่วไป ถ้าอยู่ริมน้ำแล้วก็ต้องมีเรือจ้างหรือเรือรับจ้างส่งคนข้ามฟาก มีทั้งเรือพายและเรือแจวในสมัยโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยา จะใช้เรืออะไรไม่พบหลักฐาน แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ เรือจ้างส่วนมากเป็นเรือสำปั้น และเป็นเรือแจว”[1]

ซึ่งสาเหตุสำคัญของการร้างโรยราในพื้นที่กรุงเก่าเกิดขึ้นจากปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน เนื่องจากในเวลานั้นกรรมสิทธิ์ที่ดินของพื้นที่เกาะเมืองอยุธยาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน นายปรีดี พนมยงค์ ในเวลานั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงเสนอต่อรัฐบาลออกนโยบายย้ายคนจากลำน้ำเข้าสู่พื้นที่เกาะเมืองโดยการออกกฎหมายเปลี่ยนการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินมาอยู่ที่กระทรวงการคลัง และขายที่ดินให้แก่ราษฎรที่ต้องการที่ดินทำกิน เพื่อจูงใจให้คนกลับเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่มากขึ้น

 

สะพานปรีดี-ธำรง ภาพถ่ายทางอากาศโดยิปึเตอร์ วิลเลี่ยมส์ ฮันท์ เมื่อ พ.ศ.2489
สะพานปรีดี-ธำรง ภาพถ่ายทางอากาศโดยปึเตอร์ วิลเลี่ยมส์ ฮันท์ เมื่อ พ.ศ.2489

 

นามแรกก่อนชื่อสะพานปรีดี-ธำรง

จากการศึกษาเอกสารราชการพบว่าชื่อสะพานปรีดี-ธำรง แต่เดิมชื่อ “สะพานข้ามแม่น้ำแควป่าสัก” ซึ่งปรากฏในเอกสาร “พระราชบัญญัติ เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำป่าสักในทางหลวงสายวังน้อย-อยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พุทธศักราช 2483” (วันที่ 15 ตุลาคม 2483) ใจความสำคัญของเอกสารฉบับนี้ระบุถึงมติของสภาผู้แทนราษฎร กำหนดให้มีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควป่าสัก ในทางหลวงสายวังน้อย-อยุธยา (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 309 สายวังน้อย–สิงห์บุรี) ในท้องที่ตำบลบ้านกระมังและตำบลหอรัตนไชย อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระบุให้อธิบดีกรมโยธาเทศบาล เป็นเจ้าหน้าผู้รับผิดชอบดำเนินการเวนคืน และกำหนดแนวเขตการก่อสร้างสะพานฝั่งตำบลบ้านกระมังกว้าง 100 เมตร ยาวตามแนวทางถนน 140 เมตร ฝั่งตำบลหอรัตนไชย กว้าง 150 เมตร ยาวตามแนวทางถนน 250 เมตร โดยในห้วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่เพลิงสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังจะแผ่มาปกคลุมประเทศไทย แผนการก่อสร้างสะพานสำคัญนอกกรุงเทพฯ จึงเป็นโครงการพัฒนาการคมนาคมที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในเวลานั้น เพราะเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง ให้มีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์คับขัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่เมื่อหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เดินทางไปเป็นประธานเปิดสะพาน สะพานดังกล่าวได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สะพานปรีดี-ธำรง” โดยตั้งชื่อตามชาวอยุธยาในคณะรัฐมนตรี 2 ท่าน คือ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและหลวงธํารงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในเวลานั้น เพราะผู้ทรงเกียรติทั้งสองมีพื้นเพเป็นชาวอยุธยาด้วยกันทั้งคู่

 

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 57 หน้า 531 วันที่ 15 ตุลาคม 2483 ว่าด้วยการเวรคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อก่อสร้างสะพานปรีดี-ธำรง

เมื่อถนนคือยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนา

การตัด “ถนนพหลโยธิน” ที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งแต่เดิมชื่อ “ถนนประชาธิปปัตย์” เริ่มสร้างในพ.ศ. 2479 และต่อขยายมาถึงเมืองลพบุรีในพ.ศ. 2483 เป็นผลงานการสร้างโครงข่ายการคมนาคมชิ้นสำคัญของคณะราษฎร เนื่องจากถนนดังกล่าวเป็นถนนยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อเมืองหลวงของประเทศไทยเข้ากับเมืองที่มีความสำคัญทางทหาร คือเมืองลพบุรี การตัดถนนเส้นนี้จึงมีนัยยะสำคัญในการส่งกำลังบำรุง การสนับสนุนทางการทหาร และเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนภูมิทัศน์การคมนาคมในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย  จากเดิมที่ใช้การคมนาคมทางน้ำสัญจรด้วยเรือ และพัฒนามาเป็นการขนส่งทางรางด้วยรถไฟ ก่อนจะสร้างให้ถนนกลายมาเป็นหัวใจสำคัญของการคมนาคมผ่านการตัดถนนสายหลัก และสายย่อยเชื่อมต่อระหว่างเมือง 

ผลพลอยได้นอกเหนือจากการขนส่งทางทหาร คือการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังการตัดถนนแล้วเสร็จ ทางหลวงสายวังน้อย-อยุธยา (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 309) จึงเป็นถนนสายสำคัญที่เชื่อมอยุธยาเข้ากับถนนพหลโยธิน[2] และเมื่อถนนถูกตัดเข้าสู่พื้นที่ ‘กรุงเก่า’ ทางด้านทิศตะวันออก จึงจำเป็นต้องมีการก่อสร้างสะพานปรีดี-ธำรงขึ้นในพื้นที่ด้านทิศตะวันออกของเกาะเมือง (ซึ่งเป็นตำแหน่งใกล้เคียงกับสถานีรถไฟอยุธยา) 

 

แผนผังการเชื่อมต่อของถนนพหลโยธิน ถนนยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อเมืองสำคัญ กรุงเทพฯ - อยุธยา - สระบุรี - ลพบุรี และเพชรบูรณ์
แผนผังการเชื่อมต่อของถนนพหลโยธิน ถนนยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อเมืองสำคัญ กรุงเทพฯ - อยุธยา - สระบุรี - ลพบุรี และเพชรบูรณ์

 

ชุมชนฟื้นตัวหลังสะพานทอดข้ามลำน้ำป่าสัก

ภายหลังจากสะพานปรีดี-ธำรงถูกสร้างขึ้น ส่งผลให้ชุมชนในเกาะเมืองและพื้นที่รอบนอกเกิดการขยายตัว เช่น กรณีของชุมชนตลาดหัวรอ บริเวณพระราชวังจันทน์ ซึ่งเป็นชุมชนค้าขายที่เก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ซบเซาลงไปหลังการเสียกรุง กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง เป็นผลจากการก่อสร้างสะพานปรีดี-ธำรงที่เชื่อมกับถนนอู่ทองซึ่งเป็นถนนรอบเกาะเมือง ประกอบกับการเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองกับชุมชนเรือนแพ ทำให้ชุมชนที่เคยอยู่ริมน้ำเริ่มตั้งถิ่นฐานริมถนนมากขึ้น และก่อสร้างตึกแถวด้วยอิฐถือปูน หรือคอนกรีตซึ่งเป็นวัสดุสมัยใหม่ ทนทานต่ออัคคีภัย แทนการก่อสร้างด้วยไม้ นอกจากนี้  การคมนาคมทางถนนยังเปิดศักราชใหม่ให้กับโอกาสทางเศรษฐกิจแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น สินค้า อุปโภค บริโภค เครื่องใช้ในครัวเรือน และการเกิดขึ้นของโรงแรม อาคารพาณิชยกรรม ร้านขายยา ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านทำทอง ร้านทำฟัน ฯลฯ เกิดอาชีพใหม่ นอกเหนือจากอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า การคมนาคมแบบใหม่ ด้วยถนนและสะพาน นำมาซึ่งการเกิดกระบวนการสร้าง “ความเป็นเมือง” (Urbanization) ที่สร้างความคึกคักทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม ให้กับ ‘กรุงเก่า’ อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของนโยบายพัฒนาท้องถิ่นของคณะราษฎร

รูปแบบสถาปัตยกรรม

สะพานปรีดี-ธำรง เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กโค้งคันธนู มีระบบเคเบิ้ลแบบเครือข่ายขึงตัวสะพาน (Network Tied Arch Bridge) เริ่มก่อสร้าง พ.ศ. 2483 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดใช้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2486 มีความยาว 168.60 เมตร ขนาด 2 ช่องทางจราจร ปัจจุบันมีอายุ 78 ปี และเนื่องจากเป็นเส้นทางสัญจรหลักเส้นทางหนึ่งของเกาะเมืองอยุธยา จึงมีการสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก คือสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสะพานสมเด็จพระเอกาทศรถมาขนาบข้างเพื่อลดปริมาณการใช้งานสะพานปรีดี-ธำรงลง

 

เอกสารอ้างอิง

  • ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 57 หน้า 531 วันที่ 15 ตุลาคม 2483.
  • ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 58 หน้า 1934 วันที่ 30 ธันวาคม 2484.
  • ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 59 ตอนที่ 81 วันที่ 29 ธันวาคม 2485.
  • ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 59 ตอนที่ 81 วันที่ 29 ธันวาคม 2485.
  • กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา, สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและภูมิทัศน์วัฒนธรรมย่านประวัติศาสตร์เมืองเก่าลพบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร (2559).
  • ศุภสุตา ปรีเปรมใจ, การขยายตัวทางการค้าจากตลาดบกหัวรอไปสู่ตลาดหอรัตนไชยภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาระหว่างพ.ศ. 2486 - 2520 (2558) ใน Veridian E-Journal, Slipakorn University ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2558. 1953-1963.
  • สะพานปรีดี-ธำรง แผนกู้กรุงศรีอยุธยาของปรีดี พนมยงค์ www.silpa-mag.com/history/article_44279. (เข้าถึงเมื่อ 14 ก.ค. 2564)
  • ส. พลายน้อย, เกิดในเรือ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2540).
  • อนุวิทย์ เจริญศุภกุล, สันโค้งกลมในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย ใน NAJUA: Architecture, Design and Built Environment, 3. 287.
  • ภาณุพงศ์ ชลสวัสดิ์, บทบาทของกิจการรถไฟในอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทศวรรษ 2440-2490 ใน วารสารวิชาการอยุธยาศึกษา ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน 2564. 38-56
  • ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม (กรุงเทพฯ: มติชน, 2550).
  • ชาตรี ประกิตนนทการ, ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร :สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2552).

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง


[1] ส. พลายน้อย, เกิดในเรือ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2540). 25

[2] ปัจจุบันถนนส่วนนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนโรจนะตามโครงการสร้างทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่ทั่วราชอาณาจักรเมื่อ พ.ศ. 2493 เพื่อเป็นเกียรติแก่นาย วิธี โรจนะ นายช่างกำกับแขวงการทางหินกอง