“เราย้ายประเทศกันดีไหม” คือคำถามที่คล้ายจะเสียดสีผสมล้อเล่นแต่เป็นจริงในยุคนี้ ซึ่งไม่ได้มีที่มาเพียงเพราะวิกฤตสถานการณ์ โควิด-19 เพราะมันเกิดขึ้นจากความอัดอั้นตันใจของจิตวิญญาณคนรุ่นใหม่ที่ต้องการหลบหนีไปจากปัญหาที่ยากจะแก้ไข ทั้งภายในและภายนอก กดดันให้ต้องหาทางออกโดยไม่มีใครบอกได้ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน กว่าจะพ้นภัยปัญหาที่หมักหมมขมขื่น เพราะรอการตื่นรู้มาสู้ความจริงของคนทั้งประเทศ แต่กับอีกประเภทคือคนกลุ่มใหญ่ที่ไม่มีสิทธิ์เลือก และไม่มีที่ไป ประเทศไทยคือบ้านหลังแรกและหลังสุดท้าย เปล่าดายที่จะคิด ต้องปล่อยให้ชีวิตเผชิญกับพิษภัยของอำนาจอย่างไม่อาจต่อรอง
ศิลปินต้องหาทางออกให้กับคำถามทำนองนี้ด้วยละครเวทีหลายต่อหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ “สมปรารถนา” ที่มาพร้อมคำถามประณามระบบ ตบสลบโชคชะตา ไม่ได้ปลอบผู้ชมว่าเจ้าจะสมหวังดังต้องการเพียงอธิษฐานเท่านั้นแต่ให้สิทธิ์เลือกใช้ชีวิตพิชิตฝัน ยิ่งกว่านั้นยังสามารถกำหนดตอนจบได้ตามระบอบประชาธิปไตยใน “เกมชีวิตพิชิตรางวัล” ที่สรรหามาสื่อ ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าตัวเองคือหนึ่งในตัวละครหลักสี่คนที่ต่างมัวดิ้นรนจนลืมไปว่า มีระบบเหนือกำหนดกดทับศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีผลทำให้ฟันเฟืองต้องฝืดเคืองแร้นแค้นนั้นเป็นเพราะระบบที่ไม่เข้าท่า หรือโชคชะตา รางวัลใหญ่ที่เสนอมาจึงล่อตาลวงใจให้หาทางออก แม้อาจถูกหลอกให้เล่นเกม
การแสดงถูกจัดขึ้นในบ้านใหญ่ทรงไทยภาคเหนือที่ถูกรื้อมาลงทั้งหลัง อลังเหมือนคลังไม้แปรรูปงาม มีความเป็นหัตถศิลป์อยู่ในข้าวของทุกชิ้นที่สะสมเรียงราย ชั้นบนถูกปรับให้กลายเป็นโรงละครขนาดเล็กชื่อ “ล้านนาอารีย์” ในซอยอารีย์ 2 เป็นที่ทำงานของกลุ่มละครเพื่อการศึกษา (หรือละครชุมชน)
โปรแกรมพิเศษครั้งนี้มีกลุ่ม Scarlette Theatre ที่ห่างหายไปนานได้เลือกโรงละครแห่งนี้เพื่อนำเสนอเรื่อง “สมปรารถนา” Whatever you’d like. เขียนบทและกำกับการแสดงโดย ศิริมาศ ยอดสุวรรณ โดยมี มาเรียน พุ่มอ่อน หนึ่งในสองกำลังหลักของ Scarlette Theatre และเป็นหนึ่งในห้าของนักแสดง ร่วมเขียนบท ให้เป็นละครเวทีที่ฉีกแนวถนัดเดิม (realism) และเพิ่มลูกเล่นเหนือจริงอยู่ในตัวละคร ให้หลอนตั้งแต่ฉากลากไปจนถึงรายละเอียดของบทที่ส่งสารรันทดหดหู่ให้ฮาได้ และไม่ใช่แค่ความเป็นการ์ตูนสไตล์ในแนว satirical comedy ที่ดูสนุกแม้เนื้อหาหนักหน่วงเท่านั้น เพราะถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยวิสัยทัศน์ที่ถนัดสุนทรียะ ต้องการจะเชื่อมต่อล้อเล่นกับผู้ชมทุกกลุ่ม จึงจับธรรมชาติวิสัยของคนไทยซึ่งสดใสมีอารมณ์ขัน พร้อมสุขสันต์ไปกับมหรสพที่เพลินใจ มีคำแนะนำให้ผู้ชมระเบิดขำกลิ้งกันได้ตามอัธยาศัยแบบไม่ต้องเกรงใจกัน นั่นคือการก้าวออกจาก comfort zone ของผู้สร้าง เพื่อเปิดทางเพื่อผู้ชมร่วมค้นหาปริศนาแห่งรัฐที่จัดให้
เครื่องมือที่ทำให้เกิดความรู้สึกขำ คือ การวางบุคลิกตัวละครให้ซ้อนไปกับบทและฉากจากไอเดีย The World of The Play ซึ่งถูกออกแบบให้รู้สึกเชื่อมโยงตั้งแต่ก้าวที่เดินขึ้นบันไดไปถึงพื้นที่โรงละคร ถ้ามองเพียงผิวผ่านจะไม่เห็นงานการตกแต่งเพราะถูกบ้านแย่งซีน ซ่อนความหมายกลืนกลายกันไปมองเหมือนไม่ใช่ฉากที่ถูกจัด แต่หน้าต่างเหล็กดัดโดดออกมาจากผนังและพื้นไม้ขัดมันสีสันสวยตามธรรมชาติ
“บ้าน” คือ ภาพวาดของสังคมไทยในแนวประเพณีดั้งเดิม (original tradition) ที่ชวนให้ย้อนทวนอดีต เพิ่มจารีตด้วยเครื่องเบญจรงค์ที่เรียงรายไว้ในตู้โชว์ ดูโก้เหมือนของแต่งที่ติดมากับบ้าน แต่มันคืองานสรรหามาจากหลายแหล่งเพื่อแสดงความเป็นไทยให้ฉายอยู่ด้านซ้ายของผู้ชม
พื้นที่ของโรงเป็นโถงขนาดกลางวางเถาวัลย์ระย้าย้อยห้อยเต็มเพดาน เมื่อตัวละครพล่านออกมาเล่นซนถึงทำให้คนดูรู้สึกคล้าย “กรง” รวมไปกับการแสดงของตัวละครซึ่งซ่อนสัญชาตญาณนานาสารพัดสัตว์ที่คัดคุณสมบัติมาให้ตรงกับคน ในความลุกลี้ลุกลนน่ารัก เบื้องลึกคือการตกผลึกของวิธีคิด ที่เคี่ยวตัวละครทั้ง 5 เวิร์กออกมาให้กริยากึ่งสัตว์ ต้องสังเกตให้ชัดจึงจะเห็นทุกคนเคลื่อนไหวดูแปลกไป ไม่ใช่อย่างคนธรรมดา
โฆษกของงานการแข่งขันในบทบาทของผู้มีอำนาจควบคุม (โอ๊ค — รุจน์ สุวรรณ) พัฒนามาจากเพียงพอน สัตว์ตัวเล็กน่ารักปราดเปรียว เป็นนักล่า ล่าลืมตายทุกครั้งที่มีช่อง จ้องจะข่มทั้งสัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่กว่าก็ไม่เว้น
สมชาย (วิน - กวิน พิชิตกุล) คล้ายแมวป่าคาราคอล (caracal) ที่ฉลาดแบบซุ่มฟัด ไม่ชัดว่าเป็นคนดีในแบบที่ช่วยเหลือคนอื่น บอกสัญชาตญาณการเอาตัวรอดที่สุดยอดอยู่คนเดียว
สมปอง (วิว - ปัณณพร บุญสกุลศักดิ์) เป็นกระทิงที่พุ่งตรง พุ่งชน ด้วยสัญชาตญาณสัตว์ป่า ถ้ามีคนมารบกวนก็จะสวนทันที
สมฤทัย (บัว - ปารมี นุชม่วง) เป็นกระต่ายป่า ที่ไม่ปะทะเหมือนกระทิง แต่จะมีทางหนีทีไล่ของตัวเอง ตรงข้ามกับกระต่ายบ้าน จะดูสวยสดใสน่าทนุถนอมที่สุดใน 4 คน
สมสมร (มาเรียน - มาเรียน พุ่มอ่อน) เป็นชิวาวา สัตว์ตัวเล็กที่คิดว่าตัวเองตัวใหญ่ กล้าแว็ดๆ ใส่คนอื่นแข่งกับกระทิง ทั้งหมดอิงไปกับเรื่องราวของผู้เข้าแข่งขัน 4 คน ซึ่งทนอยู่กับวิถีที่กดทับ จนเมื่อพบกับฟางเส้นสุดท้ายของชีวิต จึงคิดเข้าแข่งขันเกมชิงรางวัลประจำปีที่ส่วนกลางจัดไว้ให้ประชาชน ทุกคนทำทุกวิธีที่จะเป็นผู้ชนะในเกมท้าทาย ต่างเตรียมตัวสู้ตายกันอย่างสุดโต่ง แต่สุดท้ายก็มีเหตุพลิกแผน เพราะเหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปตามกติกาและกฎเกณฑ์ที่วางไว้แต่แรก
เกมมีกฏว่าผู้ชนะจะสามารถเลือกรางวัลได้เพียงหนึ่งอย่าง ระหว่าง
- ห้ามออกนอกประเทศ แต่ได้ “เงิน 100 ล้าน” (ถ้ามีความสุขและสะใจกับการใช้เงินบันดาลทุกสิ่งหวัง)
- ตั๋วเที่ยวเดียวฟรีสัญชาติ ไปยังประเทศที่อยากไปใช้ชีวิต และห้ามกลับมาที่นี่อีก (แล้วที่นี่คือ ที่ไหน คำตอบมีในใจ ในความจริงของแต่ละคนที่ดิ้นรนเข้าแข่งขัน)
แต่เกมนี้ประกาศรับสมัครเป็นทีมๆ ละ 4 คน ทั้งคู่จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมทีมกับสมชายและสมปองสองพี่น้องผู้มีชื่อเสียงเยี่ยงกูรูด้านการแข่งเกมนี้โดยเฉพาะ สองสาวหวังจะเกาะคนเก่งเพื่อเป็นผู้ชนะ แต่คณะกรรมการกลับปรับเปลี่ยนกติกาของเกมอย่างไม่หยุดหย่อนในระหว่างการแข่งขัน 3 เกม
เกมที่หนึ่ง วัดทักษะการใช้ภาษา ก่อนแข่งมีการประกาศกติกาเข้มว่า ผู้เข้าแข่งขันสามารถสมัครเล่นเกมนี้ได้แค่คนละ 1 ครั้งเท่านั้นตลอดชีวิต ถ้าใครแพ้ในครั้งนี้ จะไม่สามารถกลับมาชิงรางวัลในปีต่อไปได้อีกเลย
เกมที่สอง เป็นการออกกำลังกาย ก่อนแข่งมีประกาศกติกาใหม่ ให้แบ่งทีม จาก 4 คน เป็น 2 คน ทำให้ทั้งสี่วงแตกต้องแยกทีมกัน จัดทีมใหม่เป็นสมสมรคู่กับสมฤทัยและ สมชายคู่กับสมปอง
เกมที่สาม เป็นการแสดงโชว์ทักษะความสามารถด้านศิลปะวัฒนธรรม ก่อนการแข่งขันมีประกาศกติกาให้แสดงเดี่ยว แต่ที่ทั้ง 4 ซุ่มซ้อมกันมาเป็นการแสดงกลุ่ม ทำให้สมสมรต้องด้นสดไม่ลดสปิริต ส่วนสมปองกับสมชายหายห่วงล้วนลุล่วงแบบมือโปร เพราะแอบเตรียมโชว์เดี่ยวเอาไว้โดยไม่บอกใครเลย แต่เรื่องมีเฉลยตอนท้ายสุด
สุดท้าย กรรมการประกาศเปลี่ยนแปลงวิธีการให้คะแนน เป็นการโหวตนับคะแนนจากผู้ชมการแข่งขันเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด เหมือนโดนฟ้าฟาดไม่อาจควบคุม ทุกสิ่งที่ทั้งสี่คนวางแผนไว้จึงพังลงไปอย่างไม่เป็นท่า ขึ้นกับสถานการณ์ตรงหน้าเท่านั้น มันคือเกมชีวิตที่ลิขิตเองไม่ได้
เกณฑ์การตัดสินผู้ชนะจะขึ้นอยู่กับผู้ชมในรอบนั้นๆ ว่าโหวตให้ใครมากที่สุด “สมปรารถนา” จึงมีตอนจบทั้งหมด 4 แบบ แต่ละรอบนับคะแนนจากผู้ชมที่โหวตให้ผู้แสดงทั้ง 4 คน
ผลสรุปตลอดโปรแกรม 8 รอบ ผู้ที่ชนะที่กอบคะแนนสูงสุด 3 ครั้งคือ สมฤทัย ผู้มีการแสดงแบบไทยๆ เป็นเอกลักษณ์ (เซิ้งอีสาน) / สมสมรชนะ 2 ครั้ง / สมปองชนะ 2 ครั้ง / สมชาย 1 ครั้ง บทมีเสียดสีผ่านโฆษกที่ประกาศว่า “เลือกคนที่ทุกท่านจ่ายเงินเข้ามาชมการแข่งขัน” นั่นเท่ากับว่า คนที่จะมีสิทธิ์เลือกส่วนใหญ่มักคือคนมีเงิน จึงจะสามารถเลือกอะไรตามใจตัวเองได้ เป็นความหมายชัดเจนที่เน้นความเหลื่อมล้ำของสังคม คนจนต่อให้เลือกได้แต่ก็จะมีข้อจำกัดที่จัดเป็นจุดเสียเปรียบมากมายในหลายส่วนของสังคม หากไม่มีเงินถมเป็นต้นทุนที่เพียงพอเพื่อต่อยอดการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ
EXCLUSIVE INTERVIEW
ศิริมาศ ยอดสุวรรณ : เขียนบท และกำกับการแสดง
ศิริมาศ ยอดสุวรรณ ศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบการศึกษาปี 2556 ร่วมแชร์เบื้องหลังงานกลั่นกรองประสบการณ์กว่าจะเป็น “สมปรารถนา” เพื่อพุ่งเข้าหาเป้าหมาย
“Scarlette Theatre ไม่ได้ต้องการสั่งสอนคนดู แค่ละครหนึ่งเรื่องนั้นเปลี่ยนแปลงอะไรได้ยาก พูดตรงๆ ว่าไม่ได้มองโลกในแง่ร้าย เพราะครูที่คณะสอนมาว่า เวลาคิดถึงผลที่คาดว่าจะได้รับ เราจะหวังเปลี่ยนความคิดคนไม่ได้ เราก็ยึดสิ่งเหล่านี้มาเสมอเพราะเห็นด้วย แต่ตามสไตล์ของสการ์เลตแล้วเราก็อยากเชื่อมโยงอะไรกับคนดูบ้าง จะด้วยความรู้สึก ความคิด หรือสาร ฯลฯ
สไตล์การแสดงของเรื่องนี้ค่อนข้างเฉพาะตัว คิดเผื่อคนดูที่ไม่ใช่สายละครจะเชื่อมต่อกับอะไรได้บ้าง การเขียนบทในกลุ่มจะเป็น original play มาตลอด ระหว่างพักหางบมาทำงาน ถ้านึกอะไรขึ้นมาได้ก็พยายาม free writing ไปก่อน จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ตัวบทมาก่อนประเด็นด้วยซ้ำแค่ครึ่งหน้า หนูแค่เห็นภาพผู้หญิงโง่ๆ สองคนยืนคุยกัน เขียนไว้ประมาณครึ่งหน้าแล้วทิ้งไปประมาณ 2-3 ปีได้ พอกลับมาเปิดอ่านก็รู้สึกมันโง่ดีนะ ทั้งคู่ดูไม่รู้เรื่องรู้ราวดีจัง ในบทคือ สมสมร กับ สมฤทัย ประเด็นมันดูน่าสนใจเลยคิดพัฒนาบทต่อ อะไรที่ทำให้คนไม่รู้เรื่องรู้ราวจนมืดบอด จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เห็นสังคมประเทศชาตินี้ บางครั้งเราไม่มีกระจิตกระใจจะหันมองทางไหนมากนัก เพราะว่าเรามัวทำงานหาเงิน เลยคิดพัฒนาต่อยอดมาจากจุดนี้”
“ประกอบกับหนูได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำ เกี่ยวกับการเมืองในช่วงปีหลังๆ ทำให้เห็นว่าตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองปี 2475 เป็นต้นมา ชนชั้นปกครองแต่ละฝ่ายที่ย้ายข้างกันไปมา ไม่ว่าจะอ่านเล่มไหนก็รู้สึกว่า ประชาชน คือ “หมาก” หนึ่งตัวในกระดานที่เขาสู้กัน แล้วดันสำคัญเพราะมันเยอะ
ถ้าใครกวาดหมากประชาชนไปได้ก็สบาย ซึ่งหลายสิบปีที่ผ่านมาชนชั้นปกครองเขาทราบดีว่าเขาจะมีวิธีอย่างไรในการกวาดหมากเยอะๆ เหล่านี้ ให้เดินไปข้างหน้าในทางที่เขาอยากให้ไป (มีอำนาจกำหนด) แต่ชีวิตเราไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำงานหาเงิน ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้”
การคัดเลือกประเด็นสำคัญของสารที่ต้องการสื่อ
“ตอนซ้อมเราคุยกันเยอะมากว่า น้ำหนักของการอยากย้ายประเทศเกิดจากอะไรบ้างนะ ในคนรุ่นเรามันเป็นไวรัสที่เราจะสื่อถึงเรื่องนี้ หลายเหตุผลมันน่าสนใจเราก็เอามาพัฒนาบทต่อ เพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจ เป็นแรงจูงใจ เราเองก็พยายามทำหลายสิ่งเพื่อสื่อสาร จุดบอดของสังคมเรา บางวันเราเองก็มีความเชื่อว่ามันจะไม่ดีขึ้นอีกแล้ว มีแต่จะแย่ลงเรื่อยๆ ไปดีกว่า
บางครั้งก็เกิดจากที่เราอ่านข่าวแล้วมันมีข่าวที่แย่มาก ชนชั้นปกครองทำไมถึงทำอย่างนี้วะ มันโจ่งแจ้งไปไหม คิดว่าเป็นข่าวที่แย่สำหรับเราที่เป็นคนไทย กลัวว่าพรุ่งนี้จะแย่กว่าเดิม ไม่รู้ว่าจุดที่เรามีประสบการณ์ร่วมจะจบลงตรงจุดไหน เพราะบางวันรู้สึกว่าเราเทคมันไม่ไหวแล้ว กับอีกเหตุคือเรามีเพื่อนบางคนที่ได้ไปทำงานเมืองนอกแล้วชีวิตดี แต่ไม่ใช่ทุกคน บางคนเจอ Asian hate แต่ที่ไปแล้วดีก็เยอะ หรือไปแล้วกลับมาเป็นอีกเกรดหนึ่งของชาติก็เยอะ เราก็อยากไปเผื่อมีโอกาส
อีกพวกคือผีน้อยทั้งหลาย การไปที่โน่นยังมีรายได้ที่มากกว่า ส่งกลับมาให้คนที่นี่ได้ เพราะฉะนั้น ฉันจะไปซาอุฯ เป็นแรงงานก็ได้ อย่างน้อยค่าเงินที่ส่งกลับมาก็มากกว่า ในบทเราสร้างผลลัพธ์ก่อนแล้วเราก็หาเหตุผล แต่ถ้าหาเหตุผลที่สมเหตุสมผลไม่ได้ เราจะเปลี่ยน แต่บังเอิญลงล็อกแล้วกระตุ้นการสร้างตัวละครได้ดี นักแสดงก็ใช้งานได้ เลยพัฒนามาจนถึงบทสุดท้าย”
เกมการแข่งขันในเรื่องล้วนมากความหมาย หลายสัญลักษณ์ มักมีที่มาจากประสบการณ์
“รอบแรกแข่งเรื่องการใช้ภาษา เหมือนว่าเราเรียนวิชาอะไรไม่รู้ในมหาวิทยาลัย ที่เราไม่รู้จะเรียนไปทำไมบางวิชาเราต้องทุ่มเทเวลาไปให้อย่างมากด้วยซ้ำ อย่างหนูเองมีวิชาคอมพิวเตอร์ตอนปีหนึ่ง เช่น PU153 ฝังใจจำรหัสได้แม่น เวลาสอบถ้าตอบผิดเขาลบคะแนน แล้วไม่ใช่คอมพิวเตอร์แบบที่เราใช้ทำประโยชน์ในเวลาทำงาน แต่เป็นทางเทคนิค แล้วเราต้องใช้เวลาเยอะมากกับวิชานี้ เพราะกลัวติดลบ คะแนนเยอะด้วยเพราะเป็นวิชาบังคับ น้ำหนักของคะแนนจะไปลงตรงนั้น ทำให้เครียดหนัก ตั้งแต่เรียนจบเทอมนั้นมาก็ไม่ได้ใช้อีกเลย
รอบสองกติกามีการเก็บเงิน ไม่มีตังร์ก็ต้องวิ่งหา นึกถึงการโปรยทานในงานเผาศพ เด็กๆ ในชุมชนใกล้วัดก็จะวิ่งเข้ามาแย่งกัน หรือแม้แต่วันลอยกระทงที่เราไปลอยริมแม่น้ำ บางคนที่มีความเชื่อก็ใส่เศษเงินเข้าไป พอลอยลงน้ำเด็กก็วิ่งแย่งกันหยิบเงินก่อนที่กระทงจะลอยออกไป มันก็เกิดจากการเหลื่อมล้ำ ถ้าพอมีจะไปแข่งแย่งกันทำไม”
“ด่านสุดท้ายคือศิลปวัฒนธรรมไทยที่ประเทศเราเชิดชู ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องเกี่ยวข้องเสมอ ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมในแบบที่คนส่วนใหญ่ชอบ คือสิ่งนี้ถูกผูกเข้าไว้กับชีวิตเรามาตั้งแต่เด็ก แต่ก็จะเกิดจุดพลิกผันอีกนิดหนึ่งว่า พอการแสดงเป็น rap ซึ่งไม่ใช่ศิลปะไทย แต่เป็น rap เนื้อหาชมกรรมการ ทำไมมันถึงอยู่ในการแข่งขันได้ล่ะ ที่สำคัญ สุดท้ายแล้วอะไรคือศิลปวัฒนธรรม หรือ ประเทศนี้ขับเคลื่อนด้วยการอวยกัน”
คำถามที่ท่านผู้ชมได้กลับไปคิดเป็นการบ้าน ผู้กำกับเองก็เลือกยาก แต่สุดท้ายก็ได้คำตอบที่ชัดเจนมั่นใจ
“ถ้าเป็นชีวิตปัจจุบันนี้หนูเลือกร้อยล้านเพราะอยากสบาย ขับรถไปห้างแล้วมีที่จอดอยู่แล้วไม่ต้องวนหา บินไปต่างจังหวัดก็มีเลาจ์รอเรามีแบล็กการ์ด อยากมีสิทธิพิเศษเป็นอภิสิทธิ์ชน อยากลองรถไม่ติดเวลากลับบ้าน จ้างตำรวจนำขบวนได้ เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตอยากได้อยากลองเป็นแบบนั้นบ้าง ไม่ได้ประชด
พูดจริงๆ หนูรู้สึกดี น่าอิจฉามาก เพราะความเหลื่อมล้ำเป็นมลพิษทำให้สังคมเสื่อม ในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหาร ทำอะไรสักอย่างเพื่อลดช่องว่างตรงนี้หน่อยได้ไหม ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การทำงาน วัฒนธรรมในที่ทำงานเพราะทัศนคติ เจตคติของคนที่เฉยชาและชาชินกับการมีอภิสิทธิ์บางอย่าง ก็นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำเหมือนกัน แต่ถ้าถามว่าอะไรต้องแก้ไขด่วนสุดหนูให้เรื่องการศึกษานะ เพราะคือรากฐานสำคัญที่จะสร้างจิตสำนึกหรือการตระหนักรู้ได้เร็วกว่าอย่างอื่น”
“At The End of The Day เราก็เป็นแค่เบี้ย แค่หมาก สำหรับหนูหลายครั้ง sense ของหมากที่เราเป็น มันเหมือนสิงสาราสัตว์ที่เดินอยู่ในเมือง คือทุกวันต้องตื่นใช้ชีวิตไปตามสัญชาติญาณการเอาตัวรอด ยิ่งถ้าจนต้องเอาตัวรอดสุดๆ ก็ยิ่งรู้สึกว่าเราถูกกดดันให้ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ในป่าใหญ่”
กวิน พิชิตกุล นักแสดง ผู้รับบท สมชาย แมวป่าผู้ปราดเปรียว เป็นอีกหนึ่งในผู้กำกับหัวก้าวหน้าอนาคตไกลของละครเวทีไทย เขาเปิดใจอย่างมีความหวัง
“ผมอยู่ในแวดวงศิลปะการแสดงซึ่งเป็นวงการที่ไม่ง่ายกับการใช้ชีวิต เรามองว่าไม่จำเป็นต้องยากขนาดนี้ ถ้างบประมาณการดูแลจากส่วนกลางถูกแบ่งสรรปันส่วนให้ดีกว่านี้ ระหว่างงานสายศิลปะร่วมสมัย (contemporary art) กับแบบประเพณีดั้งเดิม (original tradition) เปอร์เซ็นต์ที่ถูกแบ่งไปให้กับประเพณีดั้งเดิมมากเกินไป ทำให้ทาง contemporary art กระเบียดกระเสียร มีเพื่อนกับรุ่นน้องหลายคนเหลือเกินที่จำเป็นต้องออกจากวงการนี้หนีไปจากสิ่งที่เขารัก
เราต้องแยกทางกันแล้วผมได้เรียนต่อ เพราะต้นทุนชีวิตบางอย่าง โอกาสบางอย่าง ดวงบางอย่าง ที่ทำให้บางคนต้องจากไป บางคนไม่ได้ไปต่อในสิ่งที่ตัวเองรัก ผมคิดว่าคนเราควรได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักถ้าเราต้องการจะทำ แต่งานนี้แค่ต้องการไม่พอ มันไม่ควรจะยากขนาดนี้
ผมต่อสู้มา 8 ปีแล้ว หลังจากที่จบมาผมก็ทำทุกวิถีทาง อย่างน้อยถ้าล้มผมก็ยังมีฟูกจากครอบครัว แต่หลายคนที่ไม่มี เขาล้มไม่ได้ เราก็ต้องแยกจากการทำงานร่วมกัน รุ่นผมเด็กละคร 27 คน ได้ทำละครแค่ 2 คน นี่เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ”
แต่ความรักในงานการแสดง เขามองว่ายังมีความหวัง ถ้ายังไม่ถอดใจและพร้อมจะไปต่อ
“ผมว่ามีคนในวงการละครเชื่อมต่อกับทางต่างประเทศเยอะขึ้น มี Bangkok International Performing Arts Meeting (BIPAM) ที่จะเป็นองค์การละครเวทีที่เชื่อมต่อกับประเทศต่างๆ เราก็ยังเห็นทางอยู่ แต่ต้องยอมรับว่าถ้าเติบโตด้วยประเทศของเราเองล้วนๆ ผมว่ามีแต่จะลดยิ่งถ้าระบบรัฐบาลยังเป็นแบบนี้
เราต้องอาศัยคอนเน็กชันจากต่างประเทศมากๆ ในการช่วงชิงวงการศิลปะการแสดงของไทยให้มันดีกว่านี้ ยอมรับว่าช่วงโควิดแสงมันหรี่ลงเยอะ เราตั้งข้อสังเกตกันว่านี่เป็นขาลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่มันมีแสง ผมเห็นแสง แสงคือคอนเนกชันจากต่างประเทศที่เป็นองค์ประกอบ เช่น BIPAM, มูลนิธิละครไทย ฯลฯ เพราะสามารถช่วยได้อย่างเป็นรูปธรรม เราคอยช่วยกันตลอด
ผมไปร่วมเป็นศิลปิน มีเวิร์คช็อปเขียนขอทุนด้วยครับ ขอเพียงอย่าจำกัด contemporary art ให้อยู่ในกรอบ ให้อยู่ในความถูกผิดเพียงเพราะทัศนคติของตัวเอง อยากให้มองว่าศิลปินมีอะไรที่ต้องการจะสื่อ แล้วเขาพูดสิ่งนี้ออกมาเพราะอะไร ทำไมต้องตรวจสอบ ไม่อยากให้ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวที่ยึดว่า “ความรู้ดั้งเดิมเป็นบทเรียนที่ศักดิ์สิทธิ์” แต่เราควรต้องเชื่อสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่จริงแท้ ผมว่ายุคนี้ต้องก้าวต่อไปแล้ว”
เราทุกคนต่างมีสัญชาตญาณของสัตว์ป่านักล่าอยู่ภายใน และมักไม่กลัวที่จะเผยตัวเมื่อจนตรอก แต่สิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์ไม่ว่าจะทรงพลานุภาพขนาดไหนก็ไม่สามารถเติบโตมีชีวิตที่ดีได้ หากอยู่ในเขตระบบนิเวศน์ที่เป็นพิษถูกลิดรอนพลังด้วยอำนาจของปีศาจแห่งพงไพรในขุมนรกซึ่งไม่ต่างจากความเหลื่อมล้ำที่เป็นเหมือนมนตร์ดำครอบคลุม
นี่คือหลุมที่กลบฝังจิตวิญาณอันทรงพลังให้ตายตกก่อนเติบโต หากว่าเจ้าป่าผู้ทรงอำนาจขลาดเขลาเบาปัญญาเกินกว่าจะมองเห็นศักยภาพสูงสุด แล้วฉุดให้ไปถึงจุดที่มนุษย์ควรจะเป็น (ได้ดีกว่าสัตว์ป่าในร่างคน) และไม่ต้องดั้นด้นหนีไปจาก “ที่นี่” หรือที่ไหน แต่สามารถสร้างโลกใหม่ในใบเก่าให้ดีกว่าเดิมได้
หมายเหตุ :
- ภาพประกอบจาก Facebook : jirajoketheatrephotographe ได้รับอนุญาตจาก คุณจิร อังศุธรรมทัต แล้ว