ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

นายปรีดี พนมยงค์กับบทบาทนายกรัฐมนตรี ในช่วงกรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8 (ตอนที่ 1)

7
มิถุนายน
2567

Focus

  • นายปรีดี พนมยงค์กับบทบาทนายกรัฐมนตรี ในช่วงกรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8 เป็นช่วงเวลาสำคัญในชีวิตของนายปรีดี และมีผู้รับรู้บทบาทและผลงานทางนโยบายของรัฐบาลค่อนข้างน้อย ในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ประธานพฤฒสภา นายวิลาศ โอสถานนท์ และประธานสภาผู้แทนราษฎร นายเกษม บุญศรี ได้นัดประชุมสมาชิกสภาทั้งสองหารือร่วมกันเป็นการภายใน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อหยั่งเสียงว่าที่ประชุมจะเห็นสมควรให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์เห็นควรให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยประธานพฤฒสภาจึงได้นำความขี้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ตามความเห็นของที่ประชุม และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2489
  • บทความนี้จะเสนอหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ ได้แก่ รายงานการประชุมรัฐสภา ประกาศของรัฐบาล และแถลงการณ์ของรัฐบาลในช่วงกรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8 ซึ่งสะท้อนบริบททางประวัติศาสตร์การเมืองไทยและเป็นเอกสารสำคัญที่ทรงคุณค่า

 

 

นายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม แกนนำพลเรือนของคณะราษฎร
นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2489 

 

ในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ประธานพฤฒสภา นายวิลาศ โอสถานนท์ และสภาผู้แทน นายเกษม บุญศรี ได้นัดประชุมสมาชิกสภาทั้งสองหารือร่วมกันเป็นการภายใน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อหยั่งเสียงว่าที่ประชุมจะเห็นสมควรให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์เห็นควรให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

ประธานพฤฒสภาจึงได้นำความขี้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ตามความเห็นของที่ประชุม และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2489 โดยมีประธานสภาทั้งสองเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ยังมิทันจะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามครรลองประชาธิปไตยเลย เหตุการณ์อันไม่เคยฝัน เหตุการณ์อันนำความเศร้าสลดอย่างแสนสาหัสมาสู่ปวงประชาชาวไทยทั้งมวลอุบัติขึ้น นั่นคือ...ในวันรุ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสู่สวรรคต เหตุการณ์อันนี้แหละที่ผลักดันวิถีชีวิตของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโสของชาติไทย ให้กลายเป็นเครื่องมือถูกย่ำยีทางการเมือง จนไร้แผ่นดินไทยจะอาศัย

แม้ในหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ จะได้ปฏิบัติการตามหน้าที่อย่างดีที่สุด ดั่งที่ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิ์วัฒน์ ได้ทรงกล่าวไว้แล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้พยายามประกอบคุณงามความดีและเอาชนะต่อศัตรูทางการเมือง ซึ่งเคยสืบเนื่องมาจากครั้งกระโน้นแล้วจะได้ร่วมมือกันทำงานสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติ แต่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ยิ่งผิดหวัง

ในระหว่างมหาสงครามโลกเมื่อเสรีไทยก่อหวอดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เจ้าและขุนนางในเมืองไทยที่อยู่เงียบอยู่นานได้เริ่มฟักตัวขึ้น และมีการเคลื่อนไหว พวกนี้บางทีเรียกกันว่า “พวกตีนเล็ก” ทั้งนี้เพื่อทำการเรียกร้องและดึงเอาสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่อยู่ในมือของราษฎรและเป็นของราษฎรคืนมาอย่างที่เป็นอยู่ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และอันนี้หมายความว่าบรรดาคณะ 24 มิถุนายน ก็คือ ศัตรูทางการเมืองของคณะนี้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ทราบความเคลื่อนไหวของคณะนี้ดี แต่ก็ยังหวังอยู่ว่า โดยที่ตนได้ประกอบคุณงามความดีถวายชีวิตต่อราชบัลลังก์ตลอดมา คงจะสมัครสมานสามัคคีกันได้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติ เมื่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี “คลื่นใต้น้ำ” นี้ยังไม่รุนแรง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งพระบรมพิมาน เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น.ของวันที่ 9 มิถุนายน 2489 นั้น นายกรัฐมนตรี อยู่ที่ทำเนียบท่าช้างตามปกติ เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ม.ร.ว.เทวาธิราช มาแจ้งให้ทราบ ก็รีบแต่งตัวเข้าวังไปยังพระที่นั่งพระบรมพิมาน อันเป็นที่เกิดเหตุโดยทันที แต่เมื่อไปถึงก็ถูกขอให้อยู่ชั้นล่าง จนถึงเวลาประมาณ 12.00 น. จึงได้รับคำบอกกล่าวให้เข้าถวายบังคมพระบรมศพ ซึ่งได้รับการเคลื่อนย้ายที่และตบแต่งบาดแผลเรียบร้อยโดยมิได้มีการชันสูตรพระบรมศพตามกฎหมายแต่ประการใดเลย

เมื่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไปถึงพระที่นั่งพระบรมพิมานนั้น ได้มีพระบรมวงศานุวงศ์ประทับอยู่ก่อนแล้ว คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ซึ่งได้รับอภัยโทษในสมัยที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และได้บรรดาศักดิ์คืน นอกจากนี้แล้วมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร, พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอลงกฏ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ กับรัฐมนตรีอื่น ๆ บางนาย อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น พลตำรวจโทพระรามอินทรา และหลวงนิตยเวชวิศิษฏ์

ทั้งหมดนี้ได้ปรึกษาหารือกันว่า เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้จะควรแถลงให้ประชาชนทราบด้วยเหตุผลอย่างไร ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีผู้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ต่อราชบัลลังก์และต่อพระราชวงศ์จักรีอย่างท่วมท้น ได้เดินเข้าสู่ความพ่ายแพ้อย่างง่ายดาย นายกรัฐมนตรี ปรีดี พนมยงค์ได้สนองคำร้องขอของเจ้านายบางพระองค์แถลงเหตุแห่งการสวรรคตออกมาตามที่เจ้านายเหล่านั้นมีพระประสงค์ และด้วยความปราถนาอันสำคัญยิ่งของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในอันที่จักได้เห็นพระอนุชาเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชเสวยราชสืบต่อจากพระเชษฐา เพราะพระองค์เป็นผู้รักและนิยมระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง หากพระอนุชาเจ้าพี่ภูมิพลอดุลยเดช ไม่ยอมรับสืบราชสมบัติแล้ว ผู้ที่จะรับได้ต่อไปก็คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร และถัดไปก็คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล

ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี จึงได้ขอให้รัฐสภามีการประชุมโดยด่วนและได้แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาฯ ในวันที่ 9 มิถุนายน เวลา 21.00 น. ว่า

“ข้าพเจ้ามีข่าวอันแสนเศร้าสลดใจอย่างสุดซึ้งที่จะแจ้งต่อรัฐสภาให้ทราบว่า ด้วยนับตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน ศกนี้เป็นต้นมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เริ่มทรงพระประชวรเกี่ยวกับพระนาภีไม่เป็นปกติและเหน็ดเหนื่อย ไม่มีพระกำลัง แม้กระนั้นก็ดี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จประพาสเยี่ยมราษฎรเป็นพระราชกรณีกิจของพระองค์ ครั้งต่อมาพระอาการเกี่ยวกับพระนาภีก็ยังมิได้ทุเลาลงจึงต้องเสด็จประทับอยู่แต่บนพระที่นั่ง มิได้เสด็จออกงานตามหมายกำหนดการ ครั้นวันที่ 9 มิถุนายน ศกนี้ เมื่อตื่นพระบรรทมตอนเช้าเวลา 6.00 นาฬิกา ได้เสวยพระโอสถน้ำมันละหุ่งแล้วเข้าห้องสรงซึ่งเป็นพระราชกิจประจำวันแล้วก็เสด็จเข้าพระที่

ครั้นประมาณเวลา 9.00 นาฬิกา มหาดเล็กห้องพระบรรทมได้ยินเสียงปืนดังขึ้นในพระที่นั่งจึงวิ่งเข้าไปดูเห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมอยู่บนพระที่มีพระโลหิตไหลเปื้อน พระองค์สวรรคตเสียแล้วห้องพระบรรทมจึงได้ไปกราบทูลสมเด็จพระราชชนนีให้ทรงทราบมหาดเล็ก แล้วเสด็จไปถวายบังคมพระบรมศพ ต่อนั้นมามีพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ได้เข้าไปกราบถวายบังคมและอธิบดีกรมตำรวจกับอธิบดีกรมการแพทย์ได้ไปถวายตรวจพระบรมศพและสอบสวนได้ความสันนิษฐานได้ว่า คงจะทรงจับคลำพระแสงปืนตามพระราชอัธยาศัยที่ทรงชอบ แล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้น”

 

ที่ประชุมได้รับทราบด้วยความเศร้าสลดและโทรมมนัสเป็นอย่างยิ่ง และได้ยืนขึ้นไว้อาลัยเป็นเวลานานพอสมควร

เนื่องจากกรณีสวรรคตนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทยเรื่องหนึ่ง ข้าพเจ้าจึงขอนำหลักฐานที่ปรากฏมาแสดงไว้ในที่นี้ เพื่อท่านผู้อ่านจะได้พิจารณาใช้ดุลยพินิจอันสุจริตเอาเอง

หลักฐานอันแรกก็คือรายงานการประชุมของรัฐสภาซึ่งนอกจากได้นำมากล่าวข้างต้นแล้ว ในการประชุมครั้งนั้น สมาชิกรัฐสภาได้ซักถามนายกรัฐมนตรีปรีดี พนมยงค์ อย่างหนัก แม้จะไม่เป็นไปตามระเบียบวาระการประชุมก็ตาม ดร.ปรีดี พนมยงค์แจ้งต่อสภาฯว่า “รัฐบาลไม่ขัดข้องให้ถามได้” ต่อจากนั้นเป็นเวลา 21.12 น.

นายดุสิต บุญธรรม สมาชิกสภาผู้แทน (ปราจีนบุรี) : ถ้าเผื่ออนุญาตให้ถามข้าพเจ้าสังเกตว่าในขณะนี้ได้มีท่านอธิบดีกรมตำรวจได้มาอยู่ในที่นี้ด้วยแล้ว ข้าพเจ้าจึงใคร่จะเรียนถามรัฐบาลว่า เนื่องในการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น นอกจากรัฐบาลได้แถลงมาแล้ว ทางอธิบดีกรมตำรวจก็ดีได้สังเกตเหตุการณ์โดยใกล้ชิดข้าพเจ้าใคร่จะเรียนถามรัฐบาลว่าโดยการสังเกตของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายก็ดี จะเป็นเจ้าหน้าที่ทางกรมการแพทย์หรือกรมตำรวจก็ดี มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดบ้างหรือไม่ที่จะเป็นการทำให้เห็นถนัดชัดเจนว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้สวรรคตโดยพระองค์เอง

พล ต.ท. พระรามอินทรา อธิบดีกรมตำรวจ : เหตุที่เท่าที่สืบสวนและฟังเหตุการณ์ตลอดถึงผลที่บาดแผลก็ยังไม่มีเหตุอื่นใดที่ชวนสงสัยว่าจะถูกกระสุนปืนอย่างอื่น นอกจากที่รัฐบาลได้แถลงแล้ว

นายประสิทธิ์ ชูพินิจ สมาชิกสภาผู้แทน (กำแพงเพชร) : ข้อที่ยังสงสัยในคำแถลงการณ์มีอยู่บ้างเล็กน้อย ที่รัฐบาลแถลงยังคลุมเครือบ้าง ถ้าหากว่าท่านอธิบดีกรมตำรวจจะกรุณารายงาน บาดแผลการชันสูตรพลิกพระศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทราบบ้างแล้ว จะเป็นทางแก้ความสงสัยไปบ้างก็ได้ ขอได้โปรดบรรยายในเรื่องลักษณะของบาดแผลด้วย

พล ต.ท. พระรามอินทรา อธิบดีกรมตำรวจ : บาดแผลที่แพทย์ได้ตรวจและที่ข้าพเจ้าได้ตรวจนั้น คือบาดแผลรอยถูกกระสุนปืนที่พระนลาฏเหนือคิ้วซ้ายนิดหน่อยและเฉลียงมาทางซ้าย บาดแผลรอยกระสุนปืนจึงตรงเข้าไป และมีพระอัฐิทะลุลงมา แล้วหนังฉีกไปเป็น 4 แฉก แต่เวลาที่ข้าพเจ้าไป เขาทำเรียบร้อยแล้ว บาดแผลเป็นเช่นนี้ อาศัยโดยเหตุที่ได้สอบสวนทางมหาดเล็กรับใช้และห้องบรรทมและพระพี่เลี้ยง เหตุที่เกิดขึ้นผู้ที่ได้แลเห็นทีแรกได้ไปบอกกล่าวและเข้าไปดูพฤติการณ์ต่างๆ ในการที่เมื่อเสด็จตื่นบรรทมแล้วไปห้องสรงแล้วกลับไปอยู่ในห้องบรรทมตามเดิม ได้ความว่าไม่มีเหตุอื่นใดพึงจะสันนิษฐานว่าจะมีผู้กระทำร้ายในเวลาเกิดเหตุและประกอบด้วยได้ความว่าทรงโปรดในเรื่องปืน และในห้องบรรทมก็มีปืนถึง 3 กระบอก และบรรจุไว้แล้วทั้งนั้น และได้ความว่าในเวลาเช้าก็ดี เวลาเย็นก็ดี ก็ได้เคยเอามาลูบคลำอยู่บ่อย ๆ เพราะฉะนั้นเมื่อสวรรคตคนที่เข้าไปก็เห็นอยู่ที่บรรทม ไม่มีเหตุอื่นนอกจากสันนิษฐานว่าเท่าที่พฤติการณ์ได้สอบสวนมาแล้ว คงจะลูบคลำปืนตามพระอัธยาศัยที่ทรงชอบแล้วกระสุนจึงได้ลั่นไปถูกเข้า เพราะถ้าจะทรงยิงเองปืนยาวอยู่มากจึงเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าถ้าลั่นไปเองแล้วอาจจะเป็นไปได้ เพราะเหตุผลที่เป็นอยู่และเท่าที่ทำในเวลานี้ก็มีเท่าที่เรียนมานี้

ประธานรัฐสภา : เท่าที่ท่านอธิบดีกรมตำรวจได้ชี้แจงมานี้เป็นที่พอใจแล้วหรือยัง

นายปริญญา จุฑามาตย์ สมาชิกสภาผู้แทน (กระบี่) : ไหนๆ ก็เปิดโอกาสให้ซักถามแล้ว เพราะฉะนั้นในฐานะที่ข้าพเจ้าก็เป็นสมาชิกผู้หนึ่ง เท่าที่ได้ฟังมาแล้วก็ยังรู้สึกว่าไม่เข้าใจ ทั้งนี้ก็เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนควรจะเข้าใจกันอย่างแจ่มแจ้ง โดยที่ว่าท่าน ผู้แทนที่นั่งที่นี่ก็เป็นผู้แทนของปวงชน ข่าวในหลวงสวรรคตประชาชนจะต้องเศร้าสลดเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นถ้ามวลสมาชิกจะเดินทางกลับไปภูมิลำเนาแล้วก็อย่าพึงหวังว่าจะละเว้นคำที่ จะต้องโต้ตอบกับราษฎรว่า พระองค์ท่านสวรรคตโดยกรณีใด โดยเหตุใด โดยอาการอย่างใด

ในที่นี้ข้าพเจ้าอยากจะขอกราบเรียนถามเจ้าหน้าที่และรัฐบาลนี้ โดยเหตุผลและวิธีการสอบสวนและสืบสวนเกี่ยวกับคดีเรื่องนี้ที่เกิดขึ้น

ประการข้อแรก ก็อยากจะกราบเรียนถามรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ทางรัฐบาลว่าคดีเรื่องนี้มูลเหตุที่เกิดขึ้นนี้ ท่านได้สอบสวนอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วหรือยัง คือได้ใช้การสอบสวนและสืบสวนพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เริ่มต้นมูลเหตุและมูลฐานทั้งมวลคือคล้าย ๆ กับที่ฝรั่งเรียกว่า อีมอชั่น (emotion) คือมูลเหตุ หรือพฤติการณ์แวดล้อมที่เกิดขึ้นเช่นนี้เบ็นมาอย่างไร หมายถึงมูลเหตุจูงใจพฤติการณ์นั้น

ข้าพเจ้าอยากจะขอให้ท่านแถลงหลักฐานประกอบคือว่าความเป็นอยู่ของพระองค์ท่าน ก่อนที่จะทำอัตวินิบาตกรรมพระองค์เอง หรือตามที่ท่านสันนิษฐานไว้นั้นอย่างละเอียด ก็เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วนั้น บุคคลผู้ซึ่งใกล้ชิดคือ ประจักษ์พยานในขณะนั้น ที่ได้รู้เห็นเหตุการณ์โดยใกล้ชิดได้สอบสวนไว้อย่างชัดเจนแล้วหรือยัง ถ้าได้สอบสวนไว้แล้วถ้าถือว่าไม่ใช่เป็นความลับ ก็ขอได้โปรดชี้แจงว่าพยานนั้น ๆ ให้การว่าอย่างไร ส่วนพยานเหตุผลก็อย่างที่ข้าพเจ้ากราบเรียนมาแล้วว่าอยากจะรู้ถึงมูลเหตุอันแท้จริงว่าเป็นอย่างไร คนเราอยู่ดี ๆ ก็เป็นของของแปลกเหมือนกันที่จะทำอัตวินิบาตกรรม ตามทางสันนิษฐานในฐานะที่ข้าพเจ้าเคยเป็นอัยการก็เคยผ่านสำนวนอย่างนี้มามาก จึงอยากจะทราบมูลเหตุแวดล้อม ซึ่งทำให้เป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างโน้นที่จะให้เป็นผลเป็นอย่างนั้น ถ้าจะกรุณาอธิบายให้ประชาชนเข้าใจเพื่อข้าพเจ้าจะได้นำหลักฐานและคำตอบของท่านปัจจุบันนี้แหละไปยืนยันกับราษฎร เพื่อเป็นข่าวเล่าสู่กันฟังว่ามูลเหตุอย่างนั้น ๆ ข้าพเจ้าได้รับคำตอบมาอย่างนั้น หวังว่ารัฐบาลและเจ้าหน้าที่คงจะให้ความกรุณาอธิบายเหตุผลให้มวลสมาชิกซึ่งรอพึ่งอยู่อย่างแจ่มแจ้ง

พล ต.ท. พระรามอินทรา อธิบดีกรมตำรวจ : เท่าที่ข้าพเจ้ามีเวลาทำการสืบและสอบสวนในเวลาไม่กี่ชั่วโมงนั้น ขอยืนยันว่าในทางอัตวินิบาตกรรมไม่มี แต่ด้วยเหตุผลอื่นใดนั้นก็ยังกำลังสืบสวนคืบหน้าต่อไป พยานหลักฐานที่ใกล้ชิดในเวลาที่เกิดเหตุขึ้นไม่มีใครอยู่ที่ในห้องนั้น ไม่มีผู้ใดแลเห็น ประจักษ์พยานในที่นั้นไม่มี แต่สำหรับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดห้องบรรทม เท่าที่ได้ฟังก็สรุปอย่างที่ได้กราบเรียนมาแล้ว

นายสอ เศรษฐบุตร สมาชิกสภาผู้แทน (ธนบุรี) : ข้าพเจ้าอยากจะขอเรียนถามท่านอธิบดีกรมตำรวจในข้อที่สำคัญคือว่านอกจากพระญาติวงศ์ซึ่งเข้าออกห้องพระบรรทมแล้วมีใครบ้างที่เข้าออกได้บ้าง และในการที่เข้าออกก็ดี ในการที่ทรงบรรทมก็ดีมีใครเข้าไปได้บ้างหรือไม่ เข้าไปได้ในกรณีใดบ้าง ข้าพเจ้าอยากจะเรียนถามว่า นอกจากพระญาติวงศ์แล้วมีใครอีกบ้าง ถ้าหากว่ามหาดเล็กแล้วก็มีกี่คนและมีใครบ้าง

พล ต.ท. พระรามอินทรา อธิบดีกรมตำรวจ : เท่าที่ได้ฟังมาแล้วมีพระราชชนนี พระอนุชา และพวกมหาดเล็กห้องบรรทมพระพี่เลี้ยง ส่วนคนอื่นใดนั้นข้าพเจ้ายังไม่ทราบ ส่วนที่จะเข้าได้และไม่ได้ด้วยเหตุผลอย่างใดนั้นก็ยังสอบสวนไม่ได้ความเท่าที่ได้กล่าวมาก็ชัดเจนอยู่แล้ว

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช สมาชิกสภาผู้แทน (พระนคร) : เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย และข้าพเจ้าเข้าใจว่ารัฐบาลคงจะต้องทำคำแถลงการณ์ โดยละเอียดเมื่อทำการสืบสวนโดยละเอียดภายหลัง เพราะฉะนั้นขอความกรุณาท่านสมาชิกทั้งหลายข้าพเจ้าไม่ใช่เจ้าถ้อยหมอความ ขออย่าให้มีการพิสูจน์หรือพลิกพระศพกันที่นี่ ขอความกรุณาอย่าซักถามเรื่องนี้ และพูดเรื่องอื่นกันต่อไป

ประธานรัฐสภา : ท่านสมาชิกก็ได้ซักถาม พอสมควรแล้ว และข้าพเจ้าได้พยายามไม่ให้ซักซ้ำเท่าที่ได้ซักถาม ก็ดูละเอียดลอออยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอให้ดำเนินการตามระเบียบวาระต่อไป”

แล้วรัฐสภาจึงได้พิจารณาเรื่องในวาระที่ 3 โดยรัฐบาลแถลงเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ โดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช 2467 และขอความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา 9 แห่งรัฐธรรมนูญ

นายทวี บุณยเกตุ ผู้สั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรี : ตามที่รับทราบมาแล้วว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตแล้วตามกฎหมาย และตามรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยการสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ได้บ่งไว้ชัดในหมวด 4 มาตรา 9 ข้อ 8 ซึ่งข้าพเจ้าจะอ่านให้ฟัง “ข้อ 8 ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา ท่านก็ให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระราชชนนี พระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมาจากพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์” เมื่อมีความชัดเช่นนี้ รัฐบาลจึงเห็นว่าผู้ที่สมควรจะสืบราชสันตติวงศ์ควร ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญต่อไป

ประธานรัฐสภา : ข้าพเจ้าขอความเห็นของรัฐสภา ถ้าท่านผู้ใดเห็นชอบด้วยขอได้โปรดยืนขึ้น

สมาชิกยืนขึ้นพร้อมเพรียงกัน

ประธานรัฐสภา : มีผู้เห็นชอบเป็นเอกฉันท์

นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี : สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้สวรรคตแล้ว และบัดนี้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้สืบราชสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าฟ้าอยู่หัวของประชาชนชาวไทยแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้สภาถวายพระพรชัยขอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญ

ที่ประชุมได้ยืนขึ้นและเปล่งเสียงไชโย ๓ ครั้ง

 

ตั้งผู้สืบราชสันตติวงศ์

ต่อจากนั้นประธานพฤฒสภา ประธานสภาผู้แทน และรองประธานสภาผู้แทนได้ไปถวายพระพรและกราบบังคมทูลอัญเชิญเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเสด็จมายังรัฐสภาให้ครองราชย์ตามมติของสภา

มีประกาศอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชขึ้นทรงราชย์ ดังนี้ :-

 

ประกาศ

โดยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เสด็จสวรรคตเมื่อ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙

โดยที่ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา ๙ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปตามนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา

โดยที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ที่ร่วมพระราชชนนี ตามความในมาตรา (๘) แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์พุทธศักราช ๒๔๖๗

โดยที่รัฐสภาได้ลงมติ ณ วันที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ แสดงความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ในการที่จะอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชขึ้นทรงราชย์ สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา ๘

จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชได้ขึ้นครองราชย์สืบราชย์สันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙

ปรีดี พนมยงค์
นายกรัฐมนตรี

 

ในวันเสด็จสวรรคตนั้น รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ ฉะบับหนึ่งว่า

 

แถลงการณ์รัฐบาล

เนื่องในการที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตเสียแล้ว เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ศกนี้ รัฐบาลได้รับทราบด้วยความโทรมนัสเป็นอย่างยิ่ง และได้พิจารณาเห็นว่าในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ทั้งได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจให้เป็นที่ร่มเย็นแก่ประชากรของพระองค์ตลอดมา สมควรที่ข้าราชการ ประชาชน จะได้มีการไว้ทุกข์ถวายความจงรักภักดีทั่วกัน ฉะนั้นจึงให้ไว้ทุกข์มีกำหนด ๑ ปี และให้ลดธงครึ่งเสาตามระเบียบนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สำนักนายกรัฐมนตรี
๙ มิถุนายน ๒๔๘๙

 

ดร.ปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 และผู้กอบกู้ชาติไทย ให้พ้นความหายนะมาหยก ๆ กลายเป็นเหยื่อของศัตรูทางการเมืองไปเสียแล้ว ศัตรูทางการเมืองของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ลงมือตามแผนขยี้ให้ยับดับสูญโดยทันที โฆษณาทับถมใส่ร้ายแทบทุกหนทุกแห่ง ตามร้านน้ำชากาแฟเพื่อแพร่ข่าวอกุศลออกไปให้แพร่หลาย ทาษน้ำเงินได้แสดงออกทางหน้าหนังสือพิมพ์ก็มีตะโกนในโรงภาพยนต์ “ปรีดีฆ่าในหลวง” ก็มี ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับเมื่อ 13-14 ปีก่อน เมื่อผีพรายกระซิบว่า “ปรีดีเป็นคอมมูนิสต์” แต่ครั้งนี้มันหนักยิ่งกว่าคราวนั้น ฝ่ายตรงข้ามของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ทำงานได้ผล…ได้ผล และในวันที่ออกแถลงการณ์เหตุแห่งการสวรรคตนั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเหตุผลว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้เสด็จสวรรคตเสียแล้ว

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ และการเว้นวรรคตามเอกสารต้นฉบับ

 

บรรณานุกรม :

  • ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร. ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526)