
ทหารกูรข่า (Gurkhas) ของกองพลอินเดียที่ 7 ขณะกำลังควบคุมทหารญี่ปุ่นไปยังพื้นที่ควบคุมหลังถูกปลดอาวุธ สันนิษฐานว่าถ่ายเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2488 ที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ที่มา: Imperial War Museum
ตามเขตสมรภูมิที่ฝ่ายสัมพันธมิตรตกลงแบ่งแยกมอบหมายอํานาจการบังคับบัญชาทางทหารเพื่อปฏิบัติการยุทธ ประเทศไทยจัดเข้าอยู่ในเขตบัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรสองเขตด้วยกัน คือ ทางเหนือของประเทศไทย ลงมาจนถึงเส้นละติจูดที่ ๑๖ อยู่ภายใต้การบัญชาการของจอมพล เจียงไคเช็ค ผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรด้านประเทศจีน ต่ํากว่าเส้นละติจูดที่ ๑๖ ลงไป อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเรือเอก ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตตัน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อญี่ปุ่นยอมจํานนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ ๑๕ สิงหาคม หากการปลดอาวุธของกองกำลังทหารญี่ปุ่นเป็นไปตามการแบ่งเขตรับผิดชอบระหว่างกองบัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรดังกล่าวแล้ว ประเทศไทยจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ณ เส้นละติจูดที่ ๑๖ โดยกำลังทหารญี่ปุ่นตอนเหนือของเส้นนั้นจะต้องยอมจํานนต่อกำลังทหารจีนของจอมพล เจียงไคเช็ค และกำลังทหารญี่ปุ่นใต้เส้นละติจูดที่ ๑๖ ต้องยอมจํานนต่อกำลังทหารอังกฤษของลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตตัน ซึ่งหมายความว่า ทั้งสองฝ่ายจะส่งกำลังทหารเข้ามาปลดอาวุธและรับการยอมจํานนของทหารญี่ปุ่น ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์จึงปรารภต่อผู้แทนของ โอ.เอส.เอส. ที่ประจําอยู่ ณ กองบัญชาการขบวนการต่อต้านที่กรุงเทพฯ ว่า ไม่พึงจะแบ่งแยกประเทศไทยออกเป็นสองส่วนเพื่อการนั้น หากทหารจีนเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย อาจจะเกิดความปั่นป่วนไม่สงบขึ้นได้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๔๘๘ ประธานาธิบดีทรูแมนออกคําสั่งทั่วไปที่ ๑ กำหนดให้กองกำลังทหารญี่ปุ่นตลอดทั่วประเทศไทย ทําการยอมจํานนต่อผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ผู้เดียว
เพื่อเตรียมการปฏิบัติการตามแผนใหม่นี้ ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตตัน ได้สั่งให้พลโท จี. เอเวิ้นส์ จากประเทศพม่า เดินทางมากรุงเทพฯ ในวันที่ ๓ กันยายน ในฐานะผู้บัญชาการทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในประเทศไทย พร้อมด้วยกำลังทหารรุ่นแรกมีจํานวนประมาณ ๑๔๐ คน ถัดจากนั้น มีกองกำลังส่งมาสมทบอีกหลายรุ่น ประกอบเป็นกองพลอินเดียที่ ๗ รวมกำลังพล ๑๗,๐๐๐ คน มีหน้าที่ในการรวบรวมและปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นทั่วราชอาณาจักรซึ่งมีประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ คน จัดให้เข้ากักกันในค่ายที่กรุงเทพฯ ลพบุรี และนครปฐม นอกจากทหารญี่ปุ่นแล้ว ยังต้องจัดการกับเชลยศึกและผู้ถูกกักกันพลเรือนฝ่ายสัมพันธมิตรที่อยู่ในความควบคุมของญี่ปุ่น และคนงานที่ญี่ปุ่นนําเข้ามาใช้งานโยธาในประเทศไทย จากมลายู และเนเธอร์แลนด์อีสต์อินดีส ประมาณ ๒๕,๐๐๐ คน
ในการปฏิบัติภาระหน้าที่ พลโท เอเวิ้นส์ได้รับคําสั่งให้หลีกเลี่ยงไม่กระทําการใดที่อาจจะแปลเป็นการรับรองรัฐบาลไทย โดยพลจัตวา เจ๊กส์ทําหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเมืองในระยะแรก ก่อนที่นายฮิวส์ เบิร์ดจะเข้ารับหน้าที่ต่อไปในภายหลัง กองบัญชาการทหารสูงสุดไทยส่งนายทหารไปประจําพลโท เอเวิ้นส์ เพื่อให้ความร่วมมือทุกอย่างตามที่ต้องการ ค่าใช้จ่ายของกองกำลังทหารบริติชในประเทศไทยเป็นภาระของฝ่ายไทยตามข้อตกลงทางทหารฉบับที่ ๑
วันที่ ๖ กันยายน พลจัตวา เจ๊กส์นําพลโท เอเวิ้นส์เข้าเยี่ยมคารวะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เป็นครั้งแรก ทําความเข้าอกเข้าใจกันเป็นอย่างดี หากมีปัญหาขัดข้องใด ๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ของกองกำลังทหารสัมพันธมิตร ตกลงกันให้ขอคําแนะนําจากผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ได้ พลโท เอเวิ้นส์เข้าพํานักที่บ้านพิษณุโลก
การรวบรวมควบคุมกองกำลังทหารญี่ปุ่นเป็นไปโดยเรียบร้อย จนกระทั่งวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๘๙ มีการประกอบพิธีการรับการยอมจํานนของญี่ปุ่นในบริเวณบ้านที่พํานักของพลโท นากามูระ ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ทางจอมพล เค้านต์เทราอุจิ ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นภาคใต้ที่ประจําอยู่ที่ไซ่ง่อน ส่งพลตรี ไรโซ โอฮารา เป็นผู้แทนมาร่วมในพิธีด้วย บรรดานายทหารชั้นนายพลญี่ปุ่นเหล่านี้ทําการมอบดาบประจําตัวให้แก่พลโท เอเวิ้นส์ เป็นสัญลักษณ์แห่งการยอมจํานน พลโท ฮามาด้า ฮิโตชิ รองเสนาธิการทหารแห่งกองทัพเขตที่ ๑๘ ของญี่ปุ่นที่ประจําอยู่ในประเทศไทย ทนอยู่ถึงวันอัปยศของทหารญี่ปุ่นไม่ไหว ได้กระทําอัตวินิบาตกรรมเสียก่อนตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๘๘ แล้ว

พิธีสวนสนามกองกำลังทหารบริติชในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๘๙
พิธีสําคัญอีกพิธีหนึ่งที่พลโท เอเวิ้นส์ต้องจัดในประเทศไทยก็คือ พิธีสวนสนามกองกำลังทหารบริติชในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๘๙ อันเป็นเวลาภายหลังการทําความตกลงสมบูรณ์แบบเลิกสถานะสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษ และทั้งสองประเทศกลับมีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๙ แล้ว ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตตัน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรเดินทางจากแคนดี มาร่วมโดยได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระราชดําเนินมาทรงเป็นประธานพิธีสวนสนาม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดําเนิน รับการถวายความเคารพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ตรงกลางของพระราชบัลลังก์ มีลอร์ดหลุยส์อยู่ด้านขวา สมุหราชองครักษ์อยู่ด้านซ้าย ถัดลงไปเบื้องหลังพระยุคลบาทด้านขวามีนายเบิร์ด อุปทูต อังกฤษ พลอากาศเอก เซอร์ฮิวส์ เซานเดอร์ส พลเรือตรี เจ. เอ.วี. มัวร์ พลโท เอเวิ้นส์ พลตรี บี. ซี. เอช. กิมมิ่งส์ รองเสนาธิการทหารประจํากองบัญชาการทหารสูงสุด ตามลําดับ ด้านซ้ายมีนายกรัฐมนตรี รัฐบุรุษอาวุโส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศตามลําดับ
เมื่อจัดส่งทหารญี่ปุ่นออกจากประเทศไทยเสร็จภารกิจไปแล้ว พลโท เอเวิ้นส์ และกองกำลังทหารบริติชเดินทางออกจากประเทศไทย กลับมลายูเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ฝ่ายไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายของกองกำลังทหารบริติชในประเทศไทยรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๙๑ ล้านบาท
ความจริง ปรากฏตามหลักฐานของฝ่ายอังกฤษ กำลังทหารในประเทศไทยควรจะถอนออกไปได้แล้วตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๘ แต่นายเดนิ่งเห็นว่าถ้าถอนออกไปหมดตอนนั้น อาจจะเป็นผลกระทบถึงการเจรจาเลิกสถานะสงครามที่กำลังกระทําอยู่ที่แคนดีให้เสร็จล่าช้าไปได้ เพราะขาดเหตุบังคับไปอย่างหนึ่ง ไทยย่อมอยากจะให้ทหารต่างชาติแม้จะไม่ใช่ญี่ปุ่นออกไปให้พ้นดินแดนไทยโดยเร็วที่สุด เพื่อการนี้ อาจจะจําต้องยินยอมทําความตกลงเลิกสถานะสงครามกับอังกฤษโดยเร็ว ฝ่ายอังกฤษจึงเหนี่ยวรั้งการเสร็จภาระหน้าที่ของกองกำลังทหารอังกฤษในประเทศไทยไว้จนกว่าการเจรจากับไทยจะถึงที่สุด
เป็นอันว่า กองกำลังทหารบริติชที่ยังคงเหลืออยู่รุ่นสุดท้ายเดินทางกลับอินเดียในเดือนพฤศจิกายนปีต่อมา โดยมีการทําความตกลงกับไทยอนุญาตให้ราชนาวีอังกฤษทําการสํารวจบริเวณชายฝั่งของประเทศไทยต่อไปจนสําเร็จเสร็จสิ้น ให้กำลังทหารอากาศของอังกฤษมีสิทธิป้องกันสนามบินดอนเมืองและบริหารการท่าอากาศยาน จนกว่าฝ่ายไทยจะเข้ารับงานได้เอง และอนุญาตให้มีการถ่ายภาพทางอากาศตลอดดินแดนไทยจนเสร็จสิ้นบริบูรณ์
หมายเหตุ :
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศแล้ว
- ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “กำลังทหารบริติชเข้าประเทศไทย”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 331-333.
บรรณานุกรม :
- ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “กำลังทหารบริติชเข้าประเทศไทย”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 331-333.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 1 : สงครามโลกครั้งแรก
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 2 : สงครามโลกครั้งที่ ๒
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 3 : วิเทโศบายของไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 4 : การเรียกร้องดินแดนคืน
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 5 : การรักษาความเป็นกลางของประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 6 : ประเทศไทยเข้าสงครามข้างญี่ปุ่น
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 7 : ผลกระเทือนของการร่วมมือกับญี่ปุ่น
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 8 : สองปีในญี่ปุ่น ภาค 1 การต่างประเทศไทย หลัง ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 8 : สองปีในประเทศญี่ปุ่น ภาค 2 ภารกิจหลังการตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเชียบูรพา
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 9 : ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 10 : เสรีไทยเข้าประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 11 : ท่าทีของอังกฤษต่อประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 12 : ความคลี่คลายของเหตุการณ์ภายในประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 13 : ความพยายามติดต่อทางการเมืองกับอังกฤษ
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 14 : นายสุนี เทพรักษา
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 15 : การกระชับงานต่อต้าน
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 16 : อวสานของสงครามภาคแปซิฟิก
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 17 : ไทยประกาศสันติภาพ
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 18 : การทำข้อตกลงทางทหารกับฝ่ายสหประชาชาติ
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 19 : ท่านทูตเสนีย์ ปราโมช เดินทางกลับประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 20 : การเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนคร