ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงในการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 3)

12
มิถุนายน
2567

Focus

  • ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่อง ละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี
  • การฟ้องร้องคดีความฯ ของนายปรีดีถือเป็นการยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ให้ปรากฏโดยในเนื้อหาของคำฟ้องคดีความฯ ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าคดีความฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลยและนายปรีดีไม่ได้ฟ้องร้องคดีต่อนายประยูร ภมรมนตรี ด้วยปรารถนาจะประกาศสัจจะทางประวัติศาสตร์และเผยแพร่ข้อเท็จจริงของการก่อตั้งคณะราษฎรและประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกบิดเบือนไป
  • บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงในการอภิวัฒน์ 2475 ตอนที่ 3 ชี้ให้เห็นว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าโดยประยูร ภมรมนตรี มีข้อความที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงทั้งกรณีคณะราษฎร และนายตั้ว ลพานุกรม

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์ ข้อ 4.2

 

4.2

ต่อไปนี้เป็นคำชี้แจงของข้าพเจ้าเพิ่มเติมจากการวิเคราะห์วิจารณ์ของนักศึกษา

ประการที่ 6

นายสงวน ตุลารักษ์ เมื่อก่อน 24 มิถุนายน 2475 นั้นเป็นเนติบัณฑิต อาชีพทนายความ นายสงวนฯ มิใช่นักเลงการพนันไก่ชน บิดามารดานายสงวนฯ เป็นกสิกรผู้มีอันจะกินในจังหวัดฉะเชิงเทรา

นายสงวน ทองประเสริฐ นั้นเป็นเนติบัณฑิตทนายความ น้องชายนายแพทย์ประจักษ์ ทองประเสริฐ ซึ่งเป็นศัลยแพทย์เรืองนามสมัยนั้น มีสานุศิษย์นักเรียนแพทย์มากมาย บิดามารดาเป็นคหบดีนายทุนชั้นกลางที่จังหวัดสิงห์บุรี นายสงวน ทองประเสริฐมิใช่นักเลงการพนันไก่ชน

ท่านมีใจเป็นธรรมจึงเห็นได้ว่าคำอ้างของพล.ท.ประยูรฯ ที่ว่านายสงวนฯ ทั้งสองพูดว่า “จะฆ่าเจ้าทรัพย์ ยึดทรัพย์” นั้นไม่ใช่สัจจะทางสารคดี

ประการที่ 7

พ.ต.อ.พระยาธรณีฯ เป็นนายตำรวจผู้ใหญ่ จะสะกดรอยตามนายสงวนฯ 2 คนนั้นท่านมิใช่นายตำรวจชั้นผู้น้อยนั้นได้ …ในที่จะต้องสะกดรอยเอง โดยลงทุนปลอมตัวเป็นชาวนา นุ่งโสร่งคาดผ้าขาวม้าอุ้มไก่ชน เพราะเท่าที่ข้าพเจ้าทราบมานั้น พ.ต.อ.ธรณีฯเดิมเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่แล้วย้ายมาอยู่กรมตำรวจ ท่านไม่เคยเล่นไก่ชน ฉนั้นท่านไม่เคยอุ้มไก่ชน เพราะถ้าทีไม่ดีไก่อุจจาระหกเอาก็จะทำให้โสร่งของท่านเปื้อนได้ อย่างไรก็ตามนายสงวนฯ 2 คนนั้นก็ยังไม่โง่เลยที่จะพูดเลอะเทอะให้คนที่ไม่ชำนาญอุ้มไก่ชนที่เดินตามมาได้ยินคำพูด

ประการที่ 8

ดร.ตั้วฯ นั้นเป็น “พี่ชาย” ของคุณหญิงมานวราชเสวี (นามเดิม “ศรี” ต่อมาเป็นท่านผู้หญิง) มิใช่นายตั้วฯเป็น “น้อง” คุณหญิงมานวราชเวสีตามที่พล.ท.ประยูรฯเขียนซ้ำไว้ถึง 2 แห่ง

เนื่องจากพล.ท.ประยูรฯ สมมติให้ดร.ตั้วฯ เป็นน้องชายคุณหญิงมานวราชเสวี หรือพูดตามประสาชาวบ้านว่า เป็น "น้องเมีย" พระยามานวราชเสวี พล.ท.ประยูรฯจึงแต่งคำพูดของพระยามานวราชเสวีให้ว่าท่านเจ้าคุณเรียกดร.ตั้วฯอย่างที่เขยเรียกน้องเมียว่า

“เจ้าตั้วฯหนนี้ไม่เอาเรื่องการบ้านการเมืองหรอก พึ่งกลับจากเมืองนอกใหม่ๆ เห็นวุ่นวายเดี๋ยวหามรุ่งหามค่ำ”

ฉนั้นท่านที่มีใจเป็นธรรมก็ย่อมวินิจฉัยได้ว่าการที่พล.ท.ประยูรฯอ้างว่าพระยามานวราชเสวีเรียกพี่ชายภรรยาของท่านว่า “เจ้าตั้ว” นั้นไม่ใช่สัจจะทางทางสารคดี

ส่วนการที่พล.ท.ประยูรฯอ้างว่า พระยามานวราชเสวีกราบทูลเจ้าฟ้าเสนาบดีมหาดไทยว่า “เจ้าตั้ว.....เพิ่งกลับจากเมืองนอกใหม่ๆ” นั้นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะดร.ตั้วฯกลับจากเมืองนอกประมาณ 2-3 ปีก่อน 24 มิถุนายน 2475 มิใช่เพิ่งกลับจากเมืองนอกใหม่ๆ

ประการที่ 9

ข้อความที่พล.ท.ประยูรฯเขียนว่า “ครั้งรุ่งขึ้นคุณนายเนียน มารดาดร.ตั้ว ลพานุกรมก็ออกวุ่นวายตามหาลูกชายที่บ้านข้าพเจ้า โดยจะรีบส่งออกไปต่างประเทศ” นั้น ผู้อ่านอย่างผิวเผินก็อาจหลงเชื่อง่ายๆว่าดร. ตั้วฯ เป็นคนสำมะเลเทเมาถึงกับไม่มีที่นอนเป็นหลักแหล่ง และอีกอย่างหนึ่งก็หลงเชื่อง่ายๆ ว่าดร.ตั้วฯเป็นคนสนิทชิดชอบเป็นพิเศษกับร.ท.ประยูรฯ ถึงขนาดเที่ยวกินด้วยกันอาศัยบ้านร.ท.ประยูรฯนอน

ดร.ตั้วฯได้ถึงแก่กรรมไปแล้วเมื่อพ.ศ. 2484 จึงไม่มีโอกาสแก้ข้อกล่าวหาของพล.ท.ประยูรฯในเรื่องนั้นและในเรื่องอื่นๆอีกมากมายหลายแห่งที่พล.ท.ประยูรฯอ้าง ดร.ตั้วฯที่ถึงแก่กรรมไปหลายปีแล้วนั้นเป็นพยานว่าเห็นด้วยในการกระทำมิชอบหลายประการของร.ท.ประยูรฯ

แต่ญาติกับเพื่อนของดร.ตั้วฯ นั้นสามารถชี้แจงแก่ผู้ปรารถนาสัจจะได้ว่า ดร.ตั้วฯมิใช่คนสามเลเทเมาหรือเป็นคนไม่มีบ้านนอนเป็นหลักแหล่ง แต่ความจริงนั้นดร.ตั้วฯเป็นหลานท่านผู้หญิงเอี่ยม อภัยราชามหายุติธรรมธร ซึ่งมีคฤหาสน์ใหม่ที่ถนนอนุวงศ์ (บัดนี้เป็นที่ทำการของสาขาธนาคารแห่งอินโดจีน) เมื่อดร.ตั้วฯ กลับจากศึกษาต่างประเทศแล้วนั้นได้อยู่ที่ตึกหลังหนึ่งข้างซ้ายของคฤหาสน์ใหญ่นั้น จนกระทั่งภายหลัง 2475 แล้วประมาณ 2-3 ปี ดร.ตั้วฯ จึงย้ายไปอยู่คฤหาสน์ใหญ่ถนนสาธรใต้ ดร.ตั้วฯ จึงไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะไปอาศัยนอนที่บ้านร.ท.ประยูรฯ ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะมีอะไรดีๆที่ทำให้ ดร.ตั้วฯ พอใจถึงกับไปนอนที่บ้านร.ท.ประยูรฯ แต่ท่านผู้อื่นจะเชื่ออย่างไรนั้นก็สุดแท้เถิด

อนึ่ง คุณนายเนียน ลพานุกรม มารดาดร.ตั้วฯ นั้น ท่านก็ไม่มีลักษณะเป็นคนวุ่นวายที่จะอุตสาหะไปตามดร.ตั้วฯด้วยตนเองถึงบ้านร.ท.ประยูรฯ ถ้าหากจะสมมติว่าท่านไม่เห็นว่าดร.ตั้วฯ...ท่านก็เรียกเพื่อนของดร.ตั้วที่ท่านรู้จักหลายคนให้ช่วยไปตามดร.ตั้วฯ มาพบท่านก็ได้

ประการที่ 10

พล.ท.ประยูรฯ ได้เขียนข้อความขัดกับที่ท่านอ้างไว้ข้างบนนั้นไว้หลายแห่งในหนังสือเล่มเดียวกันนั้น ซึ่งผู้อื่นที่มีใจเป็นธรรมสามารถเห็นได้ว่า ข่าวการคิดเปลี่ยนแปลงระบบปกครองนั้นมิได้รั่วไหลทางข้าพเจ้า(ปรีดี) คือ

(1)

หนังสือพล.ท.ประยูรฯหน้า 125 กล่าวถึงการที่ท่านผู้นี้กลับมาจากฝรั่งเศสแล้วได้ไปคบหลวงสินธุสงครามชัย พล.ท.ประยูรฯพูดให้หลวงสินธุ์ฟังว่า

“อย่างไรก็ตามสำหรับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(นายปรีดี พนมยงค์)นอกจากที่ได้คุณหลวงศิริราชไมตรี ผู้ร่วมคิดเริ่มแรกจากปารีสแล้ว สองปีแล้วยังไม่ได้ใครอีกเลย รู้สึกเป็นห่วงมาก”

ถ้าความจริงเป็นดังที่พล.ท.ประยูรฯอ้างข้างบนนั้นแล้ว ก็พิสูจน์ได้ว่าตั้งแต่ข้าพเจ้า(ปรีดี)กลับสู่สยามแล้ว ก็ยังไม่ได้ผู้ใดในประเทศสมัครร่วมเปลี่ยนการปกครอง เพราะหลวงสิริราชไมตรีนั้นตั้งแต่ร่วมก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีสแล้วก็มิได้กลับสยามจนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงมืได้รั่วไหลทางข้าพเจ้า(ปรีดี)

(2)

หนังสือของพล.ท.ประยูรฯหน้า 121 อ้างว่าฤๅนายบรรจง ศรีจรูญ ไปพบข้าพเจ้า มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

“ในที่สุดก็พาไปหาคุณปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นลูกเขยพระยาชัยพิชิต(พิมพ์ตามหนังสือพล.ท.ประยูรฯ) ณ บ้านป้อมเพชร์ รู้สึกตื่นเต้นที่ข้าพเจ้าได้กลับมาถึงพระนครว่าตั้งใจรอคอยอยู่นาน แต่พูดจาเรื่องการบ้านการเมืองแต่ประการใดกันไม่ได้ เพราะภรรยามานั่งคอยกำกับอยู่ตลอดเวลา ก็เลยนัดพบกันที่สำนักงาน ณ กรมร่างกฎหมาย การไปพบที่สำนักงานรู้สึกมีพิธีรีตอง ต้องระมัดระวังตัวอยู่มาก เอาแบบฟอร์มมอบอำนาจการทำพินัยกรรม ตลอดจนกฎหมายมรดกมาวางไว้เป็นหลักฐานและให้เสมียนมาลงเป็นพยานอีกด้วย เมื่อไต่ถามถึงผลงานและสมัครพรรคพวกร่วมคิดว่าได้มาจำนวนเท่าใด คุณปรีดีก็บอกอย่างอึดอัดว่า เรื่องมันลำบากระบุหากันมาก”

ถ้าความเป็นจริงดังที่พล.ท.ประยูรฯอ้างข้างบนนั้นก็พิสูจน์ได้ว่าข้าพเจ้าใช้ความระมัดระวังมากในการพูดจาเรื่องการงาน แม้การพูดกับร.ท.ประยูรฯก็ระมัดระวังเลยไม่ยอมบอกว่าได้สมัครพรรคพวกเท่าใด ฉนั้นข่าวการคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงมิได้รั่วไหลทางข้าพเจ้า(ปรีดี)

(3)

ต่อจากข้อความที่พล.ท.ประยูรฯเขียนไว้ในหน้า 121 แล้ว พล.ท.ประยูรฯเขียนต่อไปในหน้า 122 อ้างว่าข้าพเจ้าพูดกับพล.ท.ประยูรฯต่อไปว่า

“ติดต่อกันได้คนเดียวคือ ขุนสมาหารหิตะคดี นอกจากนี้ได้เกริ่นกับหลวงบรรหารฯ ผู้บัญชาการเรือนจำลหุโทษที่ชอบพอสนิทสนมกันมาก ด้วยมุ่งหวังจะใช้นักโทษเป็นกำลังในการยึดอำนาจ...”

ท่านผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรมนั้นสามารถวินิจฉัยได้ว่า เมื่อข้าพเจ้าไม่ยอมบอกร.ท.ประยูรฯว่าได้ใครเป็นสมัครพรรคพวกดังที่พล.ท.ประยูรฯอ้างไว้ในหนังสือของท่านหน้า 121 แล้ว ข้าพเจ้าก็ต้องไม่พูดถึงขุนสมาหารฯและหลวงบรรหารฯดังที่พล.ท.ประยูรฯอ้างเองตามชอบใจ

นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว ข้าพเจ้าขอให้ข้อสังเกตแก่ท่านผู้อ่านที่มีใจเป็นธรรมดังต่อไปนี้ คือ

(ก) ขุนสมาหารคดีนั้นได้ถึงแก่กรรมไปเป็นเวลา 34 ปีมาแล้ว จึงไม่มีโอกาสชี้แจงว่าข้าพเจ้าได้ชักชวนท่านขุนฯร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ใดติดใจสงสัยก็อาจดูรายชื่อผู้ก่อการฯสายพลเรือนซึ่งเก็บไว้ ณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรนั้น ท่านก็จะไม่เห็นว่าขุนสมาหารมีรายชื่อเป็นผู้ก่อการฯ หากท่านขุนสมาหารฯเป็นผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ซึ่งราษฎรกรุงเทพฯได้เลือกตั้งให้เป็นผู้แทน

(ข) ไม่มีบุคคลชื่อ “หลวงบรรหารฯ” เป็นผู้บัญชาการเรือนจำลหุโทษ และข้าพเจ้ามิได้มุ่งหวังใช้นักโทษเป็นกำลังในการยึดอำนาจตามที่พล.ท.ประยูรฯใส่ความข้าพเจ้าโดยฝ่าฝืนความจริง

ประการที่ 11

พล.ท.ประยูรฯได้กล่าวถึงวิธีของท่านที่แปลกประหลาดว่าผู้ก่อการฯคนอื่นๆ ในการป้องกันความคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อมิให้รั่วไหลไปถึงกรมตำรวจ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในหนังสือของท่านหน้า 127 มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

“ในการเชิญชวน พ.อ.พระยาพหลหยุหเสนา มาร่วมคณะนั้น ได้ขอร้องให้พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นที่รักกันมากไปพูดเกริ่นไว้บ้างแล้ว ท่านมีความข้องใจในตัวข้าพเจ้า(ประยูรฯ)มาก เห็นแต่วิ่งรถตระเวณกรุงบางครั้งก็มีผู้หญิงนั่งไปเต็มรถ คงจะไม่เอาจริงเอาจังกระมัง พระยาทรงฯจึงชี้แจงไปให้ทราบว่า ที่นั่งตระเวณกรุงก็วิ่งติดต่อพรรคพวก ส่วนที่มีผู้หญิงนั่งกันไปเห็นเต็มคันรถนั้นก็เป็นเรื่องกลบรอยตำรวจ และใช้เป็นสายสืบเอาความในรั้ววัง

ข้าพเจ้า(ปรีดี)ขอให้ข้อสังเกตไว้บางประการเพื่อประกอบการพิจารณาของท่านผู้ปรารถนาสัจจะดังต่อไปนี้

(1)

การที่ร.ท.ประยูรฯนั่งรถตระเวณกรุงเพื่อวิ่งไปติดต่อพรรคพวกนั้นจะทำให้ตำรวจสงสัยได้หรือไม่ว่า ร.ท.ประยูรฯกับพรรคพวกคือ หลวงพิบูลฯ, หลวงสินธุ์ฯ, นายตั้วฯ, ข้าพเจ้า, ที่คุณประยูรฯอ้างว่ามีชื่อในหมายจับนั้นคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะตามหลักฐานที่จะกล่าวต่อไปในประการที่ 12 นั้นก็แสดงว่าร.ท.ประยูรฯ ทราบอยู่แล้วว่าท่านกับข้าพเจ้า(ปรีดี) นั้นได้ถูกสถานทูตจ้างตำรวจลับติดตามสะกดรอยตั้งแต่อยู่ในฝรั่งเศส และท่านอัครราชทูตได้รายงานลับมายังรัฐบาลไทยว่าข้าพเจ้าเป็นภยันตรายต่อการปกครองแผ่นดิน ตำรวจในสยามจึงติดตามความเคลื่อนไหวของข้าพเจ้าตลอดมา ข้าพเจ้าจึงใช้ความระมัดระวังในการติดต่อกับพรรคพวกโดยไม่นั่งรถวิ่งพล่านไปอย่างคุณประยูรฯ แต่ว่าคุณประยูรฯใช้วิธีนั่งรถตระเวณตรงติดต่อกับพรรคพวกต่างๆ ?

(2)

การที่ร.ท.ประยูรฯ มีผู้หญิงนั่งเต็มคันรถเพื่อหวังกลบรอยตำรวจนั้น เป็นความคิดทางด้านคุณประยูรฯด้านเดียว แต่ต้องคิดทางด้านพระยาอธิกรณ์ฯกับนายตำรวจที่มีความชำนาญในการสืบสวนสอบสวนนั้นบ้างว่าจะสงสัย ร.ท.ประยูรฯกับเพื่อนที่มีชื่อในหมายจับตามที่พล.ท.ประยูรฯอ้างนั้นเตรียมคิดเปลี่ยการปกครอง ?

(3)

การที่ร.ท.ประยูรฯใช้ผู้หญิงที่นั่งเต็มคันรถนั้นเป็นสายสืบเอาความในรั้วในวังนั้นก็เป็นความคิดทางด้านคุณประยูรฯด้านเดียว แต่ต้องคิดทางด้านนิสัยของผู้หญิงเหล่านั้นบ้างว่าจะพลั้งพูดต่อๆไปว่าร.ท.ประยูรฯถามออกแทนเรื่องในรั้วในวัง และการพูดของผู้หญิงเหล่านั้นไปเข้าหูตำรวจก็จะทำให้ตำรวจสงสัยร.ท.ประยูรฯกับเพื่อนที่ร.ท.ประยูรฯนั่งรถตระเวณไปติดต่อนั้นว่าคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ?

(4)

ฝีมือนายตำรวจผู้ใหญ่สมัยสมบูรณาฯนั้นมิใช่เล่น เพราะใช้ผู้หญิงเป็นสายลับด้วย ถ้านายตำรวจผู้ใหญ่ทราบว่าร.ท.ประยูรฯชอบผู้หญิงมาก ตำรวจก็อาจใช้วิธี “กลซ้อนกล” โดยส่งสาวชาวรั้วชาววังคนใดหรือหลายคนให้ทำสนิทสนมกับร.ท.ประยูรฯ นั่งรถไปกับร.ท.ประยูรฯเพื่อรู้ว่าร.ท.ประยูรฯติดต่อกับพรรคพวกคนใดบ้าง แล้วหญิงนั้นแจ้งให้ตำรวจทราบก็เป็นประโยชน์แก่ตำรวจแล้วจะสืบสวนต่อไป

ประการที่ 12

พล.ท.ประยูรฯได้เขียนขัดกันไว้หลายแหล่งในหนังสือเล่มเดียวกันนั้นเกี่ยวกับการที่ข้าพเจ้าถูกรัฐบาลไทยสงสัยว่าคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวในประการที่ 10 แล้ว

“เกิดเรื่องกับท่านทูต

ในขณะนั้นเกิดมีคดีเรื่องวุ่นวายระหว่างนักเรียนไทยกับพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ อัครราชทูตไทยที่กรุงปารีส ในเรื่องที่ท่านทูตเปรียบกดอัตราแลกเปลี่ยนให้อัตราที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก เลยเกิดเป็นเรื่องวิวาทต่อว่าต่อขานกัน และในการประชุมประจำปีนักเรียนไทยที่เมือง “ซาดะเล็ด” คณะนักเรียนไม่สนใจทูต มีแต่คณะกรรมการออกไปต้อนรับตามระเบียบ ท่านทูตทรงกริ้วโกรธยิ่งนัก โทรเลขมารายงานไปกระทรวงต่างประเทศว่า นักเรียนไทยในกรุงปารีสก่อการจราจลและขอให้ส่งตัวนายปรีดี พนมยงค์ ที่ได้กล่าวหาไว้ว่าเป็นคอมมิวนิสต์กลับพระนครโดยด่วน นอกจากนี้ท่านทูตได้จ้างเซอร์ เบซิล ทอมสัน อดีตหัวหน้าสก๊อตแลนด์ยาร์ด มาสืบสวนร่วมกับนายตำรวจไทยที่ศึกษาจากประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ทางสถานทูตไทยทั้งในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสได้มีคำสั่งห้ามมิให้นักเรียนไทยติดต่อคบหากับนายปรีดี พนมยงค์ กับข้าพเจ้า(ประยูรฯ)อีกด้วย

ข้าพเจ้า(ปรีดี)ขอชี้แจงแก่ท่านที่มีใจเป็นธรรมโปรดพิจารณาดังต่อไปนี้

(1)

พล.ท.ประยูรฯได้เขียนไว้ประดุจคำพังเพยไทยโบราณว่า “ทะลุกลางปล้อง” โดยอ้างข้าพเจ้าโผล่ขึ้นมาท่ามกลางนักเรียนขัดแย้งกับอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีสว่า

“ท่านทูตทรงกริ้วโกรธยิ่งนัก โทรเลขมารายงานกระทรวงต่างประเทศว่านักเรียนไทยในกรุงปารีสก่อการจราจล และขอให้ส่งตัวนายปรีดี พนมยงค์ที่ได้กล่าวหาไว้ว่าเป็นคอมมิวนิสต์แล้วกลับพระนครโดยด่วน นอกจากนี้ท่านทูตยังได้จ้างเซอร์ เบซิล ทอมสัน อดีตหัวหน้าสก๊อตแลนด์ยาร์ดมาสืบสวนร่วมกับตำรวจไทยที่ศึกษาจากประเทศไทย...”

แม้ว่าพล.ท.ประยูรฯตั้งใจไม่เขียนให้ถูกต้องว่าข้าพเจ้าต้องรับผิดชอบต่อการปฏิบัติของสมาคมนักเรียนในฐานะใดนั้นก็ตาม แต่ก็มีความที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ว่า ตั้งแต่ข้าพเจ้าศึกษาอยู่ในฝรั่งเศสนั้น สถานทูตสยามประจำกรุงปารีสได้จ้างสก๊อตแลนด์ยาร์ดร่วมมือกับนายตำรวจไทยสะกดรอบตามความเคลื่อนไหวของข้าพเจ้ามาก่อนที่กลับสู่สยาม (ในเดือนเมษายน 2470) แล้ว

(2)

ก่อนที่ข้าพเจ้าเดินทางจากฝรั่งเศสกลับสู่สยามนั้น ท่านอัครราชทูตได้รายงานลับไปยังรัฐบาลใจความว่า “นายปรีดีจะเป็นภยันตรายต่อการปกครองแผ่นดิน” เมื่อข้าพเจ้ากลับสู่สยามแล้วข้าพเจ้าก็ระมัดระวังตัวโดยมิให้ความคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองรั่วไหลไปถึงตำรวจ แม้ความเคลื่อนไหวของข้าพเจ้าที่โรงเรียนกฎหมายและที่ข้าพเจ้าเปิดสอนกฎหมายที่บ้านนั้น ตำรวจก็รายงานองค์เสนาบดีหระทรวงมหาดไทยเป็นระยะไป แต่ตำรวจไทยมิได้หลักฐานเป็นล่ำเป็นสันที่ข้าพเจ้าไปฟ้องร้องโรงศาลได้ ดังนั้นองค์เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงมิได้สั่งให้ตำรวจจับข้าพเจ้า

(3)

พล.ท.ประยูรฯแต่งเรื่องขึ้นฝ่าฝืนความจริงที่ท่านรู้อยู่แล้วว่าท่านอัครราชทูตอ้างเหตุผลขอให้รัฐบาลเรียกตัวข้าพเจ้ากลับสยามนั้นเพราะข้าพเจ้าเป็นสภานายก “สามัคยานุเคราะห์สมาคม” (สมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ และนักเรียนไทยอีกจำนวนหนึ่งซึ่งสถานทูตสยามกรุงปารีสส่งไปเรียนในประเทศอังกฤษ) ซึ่งดำเนินการแผลงสมาคมให้เป็นสหภาพแรงงาน(Syndicate) มิใช่ท่านอัครราชทูตสยามใส่ความว่าข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์

การใส่ความว่าข้าพเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์นั้นเป็นเรื่องที่พล.ท.ประยูรฯ แต่งขึ้นเองตามทรรศนะของท่านที่แม้ท่านจะได้อ้างคุณสมบัติของท่านไว้หลายแห่งว่าท่านศึกษา ณ โรงเรียนรัฐศาสตร์กรุงปารีสที่มีวิชามากมายหลายอย่างก็ตาม แต่ท่านไม่ได้แจ้งว่าท่านได้สำเร็จได้ประกาศนียบัตร์อย่างใดหรือไม่

ส่วนกรมหมื่นนราธิปฯ (หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร)นั้น ท่านได้สอบไล่ได้เกียรตินิยมของโรงเรียนรัฐศาสตร์กรุงปารีส ท่านจึงทราบดีว่าการใดเป็นคอมมิวนิสต์หรือมิใช่ ดังนั้นเมื่อ พ.ศ.2476 สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งให้พระองค์ท่านเป็นกรรมการวิสามัญผู้หนึ่งทำการสอบสวนว่าข้าพเจ้า(ปรีดี)เป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่นั้น พระองค์จึงได้ทรงวินิจฉัยว่าข้าพเจ้า(ปรีดี)ไม่เป็นคอมมิวนิสต์

(4)

หลายท่านรวมทั้งพล.ท.ประยูรฯ กับสำนักพิมพ์บรรณกิจและกรรมการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มนั้นของพล.ท.ประยูรฯ และคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติย่อมได้อ่านสำเนาเอกสารที่ข้าพเจ้าได้นำลง...ในหนังสือของข้าพเจ้าชื่อ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร และระบบประชาธิปไตย” พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2515 นั้นแล้ว จึงต้องทราบความจริงตามโทรเลขระหัสภาษาอังกฤษของกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย(พระองค์เจ้าไตรทศ) เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศแจ้งพระบรมราชวินิจฉัยมายังพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ฯ อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469) และเอกสารหลักฐานอื่นๆ ที่เปิดเผยแล้วซึ่งข้าพเจ้าได้ลงพิมพ์ไว้อีกในข้อ 16 แห่งบันทึกนี้

ฉนั้นท่านที่เกี่ยวข้องในการเผยแพร่หนังสือของพล.ท.ประยูรฯย่อมทราบแล้วหรือควรทราบว่าพระบรมราชวินิจฉัยให้ส่งตัวข้าพเจ้ากลับสยามครั้งนั้นได้ระบุชัดแจ้งว่า ข้าพเจ้ามีความผิดฐานะเป็น “สภานายก” ของสามัคยานุเคราะห์สมาคม(อักษรย่อ S.I.A.M.) ซึ่งเป็นสมาคมนักเรียนดังกล่าว ในการที่ข้าพเจ้าเบี่ยงวัตถุประสงค์ของสมาคมเป็น “สหภาพแรงงาน” มิใช่ข้าพเจ้ามีความผิดฐานเป็นคอมมิวนิสต์ดังที่พล.ท. ประยูรฯใส่ความข้าพเจ้าไว้

การที่พล.ท.ประยูรฯไม่ยอมกล่าวถึงสภานายกสมาคมที่ต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น ท่านผู้มีใจเป็นธรรมที่ได้อ่านหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ โดยตลอดแล้วก็สามารถสังเกตได้โดยไม่ยากเลยว่าพล.ท. ประยูรฯได้ปฏิเสธระบบที่มีหัวหน้าคณะดังที่ท่านกล่าวตอนหนึ่งในข้อสรุปของท่านว่า

“คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองยังมิได้แต่งตั้ง พ.อ.พระยาทรงสุรเดช หรือ นายปรีดี พนมยงค์ หรือผู้ใดเป็นหัวหน้าส่วนเฉพาะ ในวันยึดอำนาจเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ได้เสนอให้ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นเป็นผู้นำฯ ในฐานะอาวุโสและจัดตั้งเป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารร่วมกับพ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.อ.พระยาฤทธิ์อัคเนย์”

ข้าพเจ้าจะได้เสนอให้ท่านที่ปรารถนาสัจจะพิจารณาในข้อ 5 ต่อไป

อนึ่งในหนังสือของพล.ท. ประยูรฯ ก็ได้มีข้อความกล่าวถึงการที่ท่านเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่าผู้อื่นในการก่อตั้งคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองที่กรุงปารีสโดยท่านไม่ยอมรับรองว่าใครเป็นหัวหน้า อีกทั้งสำนักพิมพ์บรรณกิจก็ได้เขียนไว้ภายใต้หัวเรื่อง “จากสำนักพิมพ์” มีความตอนหนึ่งดังต่อไปนี้

“พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งท่านมีบทบาทสำคัญมากในการดำเนินการปกครองจากระบอบราชาธิปไตยมาเป็นระบบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยเป็นผู้ที่ริเริ่มคิดเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองครั้งนี้ขึ้นเมื่อสมัยอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยพยายามชักจูงเพื่อนร่วมคิดมิตรร่วมใจทีละคนทีละเหล่าตามลำดับ จนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ประสบความสำเร็จ”

ข้าพเจ้าจะได้เสนอท่านที่ปรารถนาสัจจะวิเคราะห์วิจารณ์ .... เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ

 

โปรดติดตาม 'บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475' ต่อ ในตอนที่ 4

 

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :