ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนที่ 1)

1
มิถุนายน
2567

Focus

  • ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 นายปรีดี พนมยงค์ ได้มอบอํานาจให้นางสาวนวลจันทร์ ณ ป้อมเพชร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจํากัดบรรณกิจเทรดดิ้งที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลแพ่ง เรื่อง ละเมิดหมิ่นประมาทไขข่าวแพร่หลายต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี
  • การฟ้องร้องคดีความฯ ของนายปรีดีถือเป็นการยืนยันสัจจะทางประวัติศาสตร์ให้ปรากฏโดยในเนื้อหาของคำฟ้องคดีความฯ ต่อหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้ามีข้อมูลใหม่ของประวัติศาสตร์ไทยที่สำคัญหลายประการรวมถึงข้อเท็จจริงก่อนและหลังการอภิวัฒน์ 2475 ซึ่งในบทความนี้ตอนที่ 1 มีสาระสำคัญคือ นายปรีดีเปรียบเทียบข้อมูลของนายประยูรที่มีความคลาดเคลื่อนจากทัศนะของนายปรีดีโดยมีประเด็นหลักคือ นายประยูรระบุว่าตนเองเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้เกิดการอภิวัฒน์ขณะที่นายปรีดีชี้แจงทัศนะที่แตกต่างว่า “ข้าพเจ้ามิได้ถือว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้นเพราะมีข้าพเจ้ากับร.ท.ประยูรฯ หากข้าพเจ้าถือตามความจริงดังต่อไปนี้ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้นเป็นการปฏิบัติร่วมกันของสมาชิกคณะราษฎรทุกคน ประกอบด้วยความสนับสนุนร่วมมือของประชาชนส่วนมากที่ต้องการหลุดพ้นจากระบบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์”
  • คดีความฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ตามหนังสือประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจําเลยและนายปรีดีไม่ได้ฟ้องร้องคดีต่อนายประยูร ภมรมนตรี ด้วยปรารถนาจะประกาศสัจจะทางประวัติศาสตร์และเผยแพร่ข้อเท็จจริงของการก่อตั้งคณะราษฎรและประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกบิดเบือนไปให้สังคมตระหนัก รับรู้ และแก้ไขข้อมูลประวัติศาสตร์ให้ถูกต้องเป็นหลัก

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์
เรื่องคดีฟ้องฯ หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดยประยูร ภมรมนตรี

 

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์ ข้อ 1.

 

ข้อ 1.

พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี ได้กล่าวไว้เองว่า “แม้พระมหากษัตริย์ก็ทรงขมขื่นที่หลงเชื่อข้าพเจ้า (ประยูรฯ )” และกล่าวว่าผู้ก่อการ และบุคคลอีกหลายฝ่ายรังเกียจพล.ท.ประยูรฯ อย่าง “ตัวสะกังก์”

โดยที่พล.ท.ประยูรฯ ได้เขียนข้อความสลับไปสลับมาและซ้ำๆ กันหลายตอน เมื่อท่านผู้นี้ได้พรรณาไว้ประมาณ 287 หน้ากระดาษแล้ว ท่านได้เขียนไว้ในหนังสือหน้า 288-289 มีความดังต่อไปนี้

ข้าพเจ้าตกที่นั่งลำบาก

ส่วนตัวข้าพเจ้าเองกลายเป็นตัวสะกังก์ เป็นนกมีหูหนูมีปีก จะเป็นทหารก็ไม่เชิง จะเป็นพลเรือนก็ไม่ใช่

ผู้ก่อการฝ่ายทหารหวาดระแวง ไม่สนใจ ไร้ความหมาย

ส่วนผู้ก่อการฯ ฝ่ายพลเรือนนั้น ชังน้ำหน้าเคียดแค้นยิ่งนัก

สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็เบือนหน้า สิ้นความศรัทธา

ทางด้านเจ้านายก็เหยียดหยาม เป็นไอ้พวกกบฏ

ในที่สุดแม้องค์พระมหากษัตริย์ก็ทรงขมขื่นที่หลงเชื่อข้าพเจ้า

แม้แต่คุณกรุณวดี พี่สาวของข้าพเจ้าก็สวดยับว่า วุ่นวายปวดเศียรเวียนกล้า

ไม่ว่าข้าพเจ้าจะเดินไปที่ไหน เมื่อพบใครเข้าก็เดินหนี เป็นเสมือนตัวสกังก์ดังกล่าว

หมายเหตุ

คำว่า “สะกังก์” เป็นศัพท์อังกฤษ “SKUNK” ซึ่งพจนานุกรมฉบับ “เวบสเตอร์” (WEBSTER) 1368 ให้ความหมายไว้ว่า

a bushy-tailed mammal about the size of a cat ; it has glossy black fur, usually with white stripes down its back and ejects an offensive-smelling, musky liquid when molested

แปลว่า “สัตว์ชนิดหนึ่งขนาดแมว เลี้ยงลูกด้วยนม หางเป็นขนปุยยาว; หลังสัตว์นี้มีขนเรียบ, ตามธรรมดาเป็นแถบสีขาวที่หลัง, และฉีดน้ำเหลวมีกลิ่นเหม็นมากออกจากตัวเมื่อถูกรบกวน”

นักศึกษาฯ หลายคนและผู้มีใจเป็นธรรมหลายท่านได้แจ้งมายังข้าพเจ้า (ปรีดี) ใจความว่าได้ใช้สามัญสำนึกอันเป็นตรรกวิทยาเบื้องต้นของมนุษยชนพิจารณาข้อเขียนพล.ท.ประยูร ภมรมนตรีดังกล่าวข้างบนนั้นแล้วมีความเห็นว่า แม้องค์พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงสถิตย์ ณ เบื้องสูงซึ่งพล.ท.ประยูรฯ (ขณะเป็น ร.ท. และ ร.อ.อ.) มีโอกาสเข้าเฝ้าเพียงบางคราวเท่านั้น พระองค์ก็ทรงประสบแล้วซึ่งคำกราบบังคมทูลของคุณประยูรฯ ที่ทำให้พระองค์ทรงหลงเชื่อว่าเป็นความจริง แต่ภายหลังพระองค์ต้องขมขื่น เพราะความแท้จริงมิได้เป็นไปตามคำกราบบังคมทูลของคุณประยูรฯ ฉนั้นเพื่อนร่วมงานจำนวนมากของคุณประยูรที่อยู่เบื้องล่างองค์พระมหากษัตริย์นั้นย่อมมีความใกล้ชิดกับคุณประยูรฯ ที่ฝ่าฝืนความจริงมากกว่าองค์พระมหากษัตริย์ บุคคลทั้งหลายดังกล่าวนั้นจึงมิเพียงขมขื่นเท่านั้นหากมีความรังเกียจคุณประยูรฯ ถึงขนาดที่ท่านผู้นี้ได้พรรณนาไว้ดังกล่าวข้างบนนั้น

ข้าพเจ้า(ปรีดี) เห็นว่าท่านทั้งหลาย…เป็นกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติฯ และท่านที่เป็นกรรมการตัดสินหนังสือแห่งชาติประเภทสารคดีนั้นเป็น “ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ” และบางท่านเช่น ประธานกรรมการตัดสินหนังสือประเภทสารคดีนั้นเป็นถึง “ราชบัณฑิต” ท่านทั้งหลายจึงมีคุณวุฒิสูงมากยิ่งกว่าสามัญชนดังกล่าวข้างบนนั้น ท่านทั้งหลายก็ย่อมมีสติปัญญาทราบได้ดังที่ข้าพเจ้าได้อ้างไว้ในวรรคข้างบนนั้น

ฉนั้นข้าพเจ้าจึงทำบันทึกประกอบคำประท้วงคณะกรรมการฯ นี้ส่งมายังท่าน โดยนำคำวิเคราะห์วิจารณ์ของนักศึกษาฯ หลายคนและคำชี้แจงเพิ่มเติมของข้าพเจ้าเพียงประการที่สำคัญๆ เท่านั้นจึ่งพอเพียงแล้วแก่การที่ท่านทั้งหลายจะพิจารณาได้ว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นของพล.ท.ประยูรฯ มีข้อความที่ฝ่าฝืนความจริงและไม่สมเหตุสมผลตามหลักเกณฑ์ของประธานคณะกรรมการพิจารณาหนังสือแห่งชาติ หนังสือเล่มนั้นจึงไม่ใช่ “สารคดี” ดังที่คณะกรรมการได้ตัดสินและส่งเสริมสนับสนุนเผยแพร่ว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นสารคดี

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์ ข้อ 2.

 

ข้อ 2.

วิเคราะห์วิจารณ์ “สรุปการปฏิวัติ” ของพล.ท.ประยูรฯ

คณะกรรมการพิจารณาหนังสือของชาติได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาหนังสือสารคดีไว้หลายประการดังที่ข้าพเจ้าได้อ้างไว้แล้วในจดหมายคำประท้วงต่อคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2518-2521 ในบรรดาหลักเกณฑ์นั้นมีอยู่หลักเกณฑ์หนึ่งที่กำหนดว่า “ท่วงทำนองการแต่ง” ซึ่งต้องหมายถึงการแต่งเรื่องที่เป็นไปตามระบบเรียบร้อยไม่สลับสับสนอันเป็นหลักเกณฑ์ที่ครูมาตรฐานได้สอนไว้ในวิชาแต่งเรื่องตั้งแต่ชั้นมัธยมเป็นต้นมา และกรรมการมาตรฐานในหลายมหาวิทยาลัยก็พิจารณาหลักเกณฑ์นั้นด้วยในการให้คะแนนผู้เสนอวิทยานิพนธ์ (THESIS) ซึ่งเป็นสารคดีสำหรับชั้นปริญญาโทและปริญญาเอก แต่หนังสือเล่มนั้นของพล.ท.ประยูรฯ มีข้อความกระโดดข้ามวกเวียนอยู่หลายแห่งซึ่งมิได้เป็นไปตามวิธีเรียบเรียงตามหลักเกณฑ์สารคดี

ดังนั้น นักศึกษาฯ หลายคนเห็นว่าถ้าจะวิเคราะห์วิจารณ์ตามลำดับหน้าของหนังสือเล่มนั้นก็จะทำให้ท่านผู้อ่านคำวิเคราะห์วิจารณ์นั้นสลับสับสนไปด้วย ฉนั้นนักศึกษาฯ ดังกล่าวจึงเสนอให้ตั้งหลักวิเคราะห์วิจารณ์จากข้อ “สรุปการปฏิวัติ” ของพล.ท.ประยูรฯ ที่กล่าวไว้ในหนังสือของท่านหน้า 182-184 เสร็จแล้วจึงวิเคราะห์เพิ่มเติมเรื่องที่สำคัญ ๆ บางประการ นักศึกษาได้ขอให้ข้าพเจ้า (ปรีดี) ช่วยชี้แจงเพิ่มเติมด้วย

สรุปการปฏิวัติของพล.ท.ประยูรฯ ดังกล่าวนั้นมีความต่อไปนี้

สรุปการปฏิวัติ

สรุปแล้ว การปฏิวัติยึดอำนาจการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น สำเร็จด้วยสมอง ใช้คนวางแผนรัดกุม ปกปิด ฉับพลันเด็ดขาด ไม่ลังเล มีความเชื่อมั่นในตนเองและไว้วางใจในแผนการ งดเว้นเรื่องหมอดูหมอเดาและฤกษ์ยามใดๆ ทั้งสิ้น ยึดหลักได้โอกาสอันเหมาะสมเมื่อใดพร้อมเมื่อใดก็ลงมือทันที

การปฏิวัติไม่ใช่การศึกษาในยุทธภูมิ ไม่มีการตั้งรบ ไม่มีการถอย มีประการเดียวคือ ความสำเร็จ กล้าเสี่ยง กล้าสู้กล้าตาย เพื่อสร้างสรรค์ความมั่นคง ความรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติ ไม่ใช่สร้างตนเอง

ในที่สุดข้าพเจ้าขอยืนยันอีกวาระหนึ่งว่า ขณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองนี้มีจุดหมายปลายทางในการยึดอำนาจเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศดังกล่าวเป็นที่สุดปลายทางในการยึดอำนาจเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศดังกล่าวเป็นที่สุด

คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง มิได้พิจารณากำหนดลัทธิเศรษฐกิจไว้ตั้งแต่เริ่มแรกแต่ประการใด

คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองมิได้ทราบเรื่องการจัดตั้งคณะราษฎรมาก่อนกับทั้งไม่ได้รู้เห็นในเรื่องการขนานนามเสนาบดีผู้บริหารประเทศเป็นกรรมการราษฎรแบบประเทศโซเวียตรัสเซีย

คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองมิได้แต่งตั้ง พ.อ.พระยาทรงสุรเดช หรือนายปรีดี พนมยงค์ หรือผู้ใดเป็นหัวหน้าส่วนเฉพาะ ในวันยึดอำนาจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้เสนอให้ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นเป็นผู้นำฯ ในฐานะเป็นผู้อาวุโสและจัดตั้งเป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารร่วมกับ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.อ.พระยาฤทธิอัครเนย์

อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าจำต้องสารภาพความผิดที่มิได้ติดตามทดสอบกับหลวงประดิษฐ์ฯ ในการร่างรัฐธรรมนูญ ตามแนวที่ พ.อ.พระยาทรงสุรเดชได้ซักซ้อมไว้แล้วว่า ให้ยกร่างตามแบบประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเฉพาะอย่างประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นการชัดแจ้งอยู่แล้ว

ในที่สุด ข้าพเจ้าอาจกล่าวได้ว่าถ้าไม่มีนายปรีดี พนมยงค์ กับร.ท.ประยูร ภมรมนตรีแล้ว การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จะไม่ได้เกิดขึ้น และถ้าไม่มีข้าพเจ้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยืดเยื้อมานานถึง 7 ปีคงจะล้มเลิกไปก่อน และในที่สุดถ้าไม่มีดร.ตั้ว ลพานุกรม กับข้าพเจ้าแล้วก็จะต้องถูกจับโดยคำสั่งจับของพล.ต.ท.พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจ ขึ้นศาลเข้าคุกเข้าตะรางไปตาม ๆ กัน

นักศึกษาฯ หลายคนได้พิจารณาข้อ “สรุปการปฏิวัติ” ของพล.ท.ประยูรฯ แล้ว จึงจำแนกประเด็นวิเคราะห์วิจารณ์ข้อสรุปการปฏิวัติของพล.ท.ประยูรฯ ไว้ใน ข้อ 3, ข้อ 4, ข้อ 5, ข้อ 6, ข้อ 7 ต่อไปนี้

 


บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์ ข้อ 3.

 

ข้อ 3.

คำอ้างของพล.ท.ประยูรฯ เพื่อแสดงว่าท่านเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในบรรดาผู้ก่อการฯ

ความสำคัญอันดับแรกแห่งข้อ “สรุปการปฏิวัติ” ของพล.ท.ประยูรฯ นั้นอยู่ที่ความตอนท้ายซึ่งพล.ท.ประยูรฯ กล่าวเป็น “คำสรุป” ของ “ข้อสรุป” ดังต่อไปนี้

“ในที่สุด ข้าพเจ้าอาจกล่าวได้ว่าถ้าไม่มีนายปรีดี พนมยงค์ กับ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี แล้วการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จะได้ไม่เกิดขึ้น และถ้าไม่มีข้าพเจ้า การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยืดเยื้อมานานถึง 7 ปี คงจะล้มเลิกไปก่อนแล้ว และในที่สุดถ้าไม่มี ดร.ตั้ว ลพานุกรมกับข้าพเจ้า ก็ต้องถูกจับโดยคำสั่งของ พล.ต.ท.พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจ ขึ้นศาลเข้าคุกเข้าตะรางไปตามๆ กัน”

3.1.

ท่านที่ปรารถนาสัจจะซึ่งได้อ่านข้อความที่พล.อ.ประยูรฯ เขียนไว้ดังข้างต้นนั้นก็ย่อมสังเกตได้ไม่ยากว่า พล.ท.ประยูรฯ ได้วางลำดับบุคคลที่ทำความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ นั้นดังต่อไปนี้

  1.  พื้นฐานเบื้องต้นนั้น พล.ท.ประยูรฯ เขียนว่า “ถ้าไม่มีนายปรีดี พนมยงค์ กับร.ท.ประยูร ภมรมนตรีแล้ว การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จะไม่ได้เกิดขึ้น
  2.  แม้ว่า พล.ท.ประยูรฯ ให้ปรีดีมีบทบาทร่วมกับคุณประยูรฯ เป็นพื้นฐานเบื้องต้นก็ตาม แต่ในระหว่างปรีดีกับคุณประยูรฯ นั้น พล.ท.ประยูรฯ มีความสำคัญยิ่งกว่า ดังที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ว่า “ถ้าไม่มีข้าพเจ้า (ประยูรฯ) การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยืดเยื้อนานถึง 7 ปีคงจะต้องล้มเลิกไปก่อน”
  3.  พล.ท.ประยูรฯ ได้เขียนไว้ต่อไปอีกว่า “และในที่สุดถ้าไม่มีดร.ตั้ว ลพานุกรมกับข้าพเจ้า(ประยูรฯ) แล้วก็ต้องถูกจับโดยคำสั่งของพล.ต.ท.พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจ ขึ้นศาลเข้าคุกเข้าตะรางไปตาม ๆ กัน”

ฉนั้นท่านผู้อ่านก็สังเกตได้ไม่ยากว่าข้อความของ พล.ท.ประยูรฯ ข้างบนนั้น พล.ท.ประยูรฯ แสดงว่าท่านเองเป็น “บุคคลสำคัญที่สุดในบรรดาผู้ก่อการฯ” ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น

เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเขียนของท่านดังกล่าวนั้น พล.ท.ประยูรฯ จึงได้เขียนข้อความที่คลาดเคลื่อนต่อความจริงไว้ในข้อสรุปของท่านเอง และในหลายตอนแห่งหนังสือของท่านซึ่งข้าพเจ้าจะได้เสนอท่านที่ปรารถนาสัจจะโปรดวิเคราะห์วิจารณ์ตอนที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ณ ที่นี้ข้าพเจ้าขอเสนอท่านที่ปรารถนาสัจจะโปรดสังเกตและวิเคราะห์วิจารณ์บางประการดังต่อไปนี้

3.2

ข้อเขียนของพล.ท.ประยูรฯ ที่ว่า “ถ้าไม่มีนายปรีดี พนมยงค์ กับ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรีแล้ว การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จะไม่ได้เกิดขึ้น” นั้น ข้าพเจ้าขอเสนอข้อสังเกตแก่ท่านที่ปรารถนาสัจจะดังต่อไปนี้

ข้าพเจ้ามิได้ถือว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้นเพราะมีข้าพเจ้ากับร.ท.ประยูรฯ หากข้าพเจ้าถือตามความจริงดังต่อไปนี้

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้นเป็นการปฏิบัติร่วมกันของสมาชิกคณะราษฎรทุกคน ประกอบด้วยความสนับสนุนร่วมมือของประชาชนส่วนมากที่ต้องการหลุดพ้นจากระบบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์

3.3.

ข้อความที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนว่า “ถ้าไม่มีข้าพเจ้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยืดเยื้อมานานถึง 7 ปีคงจะต้องเลิกล้มไปก่อนนั้น ข้าพเจ้าขอให้ท่านปรารถนาสัจจะโปรดวิเคราะห์วิจารณ์ว่า พล.ท.ประยูรฯ ดูหมิ่นเพื่อนก่อการฯ ทุกคน (ยกเว้นพล.ท.ประยูรฯ) ว่าเป็นคนโลเลไม่เอาจริงเอาจัง ซึ่งขัดต่อข้อความที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้เองในวรรคที่ 1 และวรรคที่ 2 แห่ง “สรุปการปฏิวัติ” ดังต่อไปนี้

“สรุปแล้ว การปฏิวัติยึดอำนาจการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น สำเร็จด้วยสมอง รู้จักใช้โอกาสอันเหมาะสม ใช้คนวางแผนรัดกุม ปกปิด ฉับพลันเด็ดขาด ไม่ลังเล มีความเชื่อมั่นในตนเองและไว้วางใจในแผนการ งดเว้นเรื่องหมอดูหมอเดาและฤกษ์ยามใด ๆ ทั้งสิ้น ยึดหลักได้โอกาสอันเหมาะสมเมื่อใดพร้อมเมื่อใดก็ลงมือทันที”

3.4.

ข้อความที่พล.ท.ประยูรฯ เขียนไว้ว่า

“และในที่สุดถ้าไม่มีดร.ตั้ว ลพานุกรม กับข้าพเจ้าแล้วก็จะต้องถูกจับโดยคำสั่งจับของพล.ต.ท.พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจ ขึ้นศาลเข้าคุกเข้าตะรางไปตาม ๆ กัน” นั้น พล.ท.ประยูรฯ ได้พรรณารายละเอียดไว้ในหนังสือของพล.ท.ประยูรฯ หน้า 147-149 อันเป็นเรื่องยืดยาว ซึ่งจะได้ยกไปวิเคราะห์วิจารณ์ในข้อ 4 ต่อไปนี้

 

โปรดติดตาม 'บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475' ต่อ ในตอนที่ 2 

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ
  • ภาพประกอบจากบันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์

 

บรรณานุกรม

หลักฐานชั้นต้น :

  • ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของนายปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)