Focus
- บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงในการอภิวัฒน์ 2475 ตอนที่ 2 ชี้ให้เห็นว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในหนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าโดยประยูร ภมรมนตรี มีข้อความที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงและมีการโจมตีนายปรีดี พนมยงค์ ทางอ้อมผ่านลูกศิษย์และคนสนิทของนายปรีดี เช่น กรณีที่นายประยูรเสนอว่า “นายสงวน ตุลารักษ์ กับนายสงวน ทองประเสริฐ มึนเมาและพูดจาสามหาว จะฆ่าเจ้าทรัพย์ ยึดทรัพย์ทำให้ทางตำรวจจึงได้ทราบความเรื่องการคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างชัดแจ้ง” จึงได้มีหมายจับผู้ก่อการอภิวัฒน์จำนวน 5 คน
- เอกสารชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า บันทึกชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าโดยนายประยูรมีข้อน่ากังขาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงหลายจุดและมีความเป็นการเมืองในลักษณะที่เสนอมุมมองต่อคณะราษฎรอย่างคลาดเคลื่อนไปจนถึงการลดความน่าเชื่อถือของสายการเมืองคณะราษฎรทางฝั่งนายปรีดีลง
- หากวิพากษ์หลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้จะพบว่านายปรีดีใช้กลวิธีการอ่านอย่างละเอียดคือ การคัดลอกข้อความต้นฉบับ การวิเคราะห์ผ่านคำถามของนักศึกษา และสุดท้ายคือ นายปรีดีนำเสนอข้อเท็จจริงเปรียบเทียบจากบันทึกและเอกสารอื่นๆ ประกอบกับประสบการณ์ของตนเองไว้อีกทางหนึ่ง
ข้อที่ 4.
คำอ้างของพล.ท.ประยูรฯ ว่าถ้าไม่มีดร.ตั้วฯ กับร.ท.ประยูรฯ แล้วผู้ก่อการจะติดตะรางไปตามๆ กัน
เพื่อประกอบคำอ้างของพล.ท.ประยูรฯ ในคำสรุปของข้อสรุปดังกล่าวถึงในข้อ 2. แล้วนั้น พล.ท.ประยูรฯ ได้พรรณาอย่าง “ละเอียดลออ” ไว้ในหน้า 197-199 ดังต่อไปนี้
หวิดติดตะราง
ครั้นแล้ววันหนึ่ง พ.ต.อ.พระยาธรณีฯ ผู้บัญชาการกองตำรวจกลาง ปลอมตัวเป็นชาวนานุ่งโสร่งคาดผ้าขาวม้าอุ้มไก่ชน สกดรอยนายสงวน ตุลารักษ์ กับนายสงวน ทองประเสริฐ ผู้ก่อการฯ สายคุณปรีดี ซึ่งมึนเมาพูดจาสามหาว จะฆ่าเจ้าทรัพย์ ยึดทรัพย์ ทางตำรวจจึงได้ทราบความเรื่องการคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างชัดแจ้ง ซึ่งในที่สุดในต้นเดือนมิถุนายน พล.ต.ท.พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจ กับ พ.ต.อ.พระยาธรณีฯ ผู้บังคับการตำรวจกองปราบได้ประมวลเรื่องของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า กำลังคิดการใหญ่และจะลงมือยึดอำนาจกันอย่างแน่นอน จึงได้ทำหมายจับผู้ก่อการ 5 คนมี
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม
น.ต.หลวงสินธุสงครามชัย ร.น.
ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี
ดร.ตั้ว ลพานุกรม
ไปกราบทูล จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้ลงพระนามในหมายเพื่อจะทำการจับกุมต่อไป ในขณะนั้นเป็นเวลาค่ำคืนที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์กำลังพระสำราญเสวยพระกระยาหารอยู่ เมื่อได้ทรงเห็นชื่อผู้ก่อการฯ ตามที่ระบุอยู่ในหมาย ก็ทรงทักขึ้นว่าบุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นเด็กๆ ไม่มีความหมาย โดยเฉพาะตายูรลูกตาแย้มก็เคยทำขวัญตั้งชื่อมาตั้งแต่เกิด และเมื่อเป็นนายทหารมหาดเล็กก็เคยรับใช้อยู่เสมอ และเป็นเพียงแค่ข้าราชการกรมไปรษณีย์ ส่วนนายตั้ว ลพานุกรม ก็เป็นน้องคุณหญิงพระยามานวราชเสวี อธิบดีกรมอัยการ จึงรับสั่งให้เรียกตัวพระยามานฯ มาเฝ้า พอท่านเจ้าคุณมานฯ เห็นชื่อ ดร.ตั้ว น้องเมียเข้าก็ทักขึ้นว่า เจ้าตัวคนนี้ไม่เอาเรื่องการบ้านการเมืองหรอก เพิ่งกลับจากเมืองนอกใหม่ๆ เห็นวุ่นวายหามรุ่งหามค่ำ. ส่วนคนอื่นๆ ก็ดูเป็นตำแหน่งที่ไม่มีความหมายประการใดได้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ก็ทรงเห็นด้วย และยับยั้งการออกหมายจับ มอบเรื่องให้พระยามานฯ กับพระยาอธิกรณ์ประกาศไปพิจารณากันต่อไป
ครั้นแล้ววันรุ่งขึ้นคุณนายเนียน มารดา ดร. ตั้ว ลพานุกรมก็ออกวุ่นวายตามหาลูกชายที่บ้านข้าพเจ้า โดยจะรีบส่งออกไปต่างประเทศ
เป็นอันว่าคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองได้รอดตาย ไม่ถูกหมายจับเป็นคดีขึ้นโรงศาลเข้าคุกเข้าตะรางกันก็ด้วยชื่อ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี กับ ดร.ตั้ว ลพานุกรม
ค่ำวันนั้นเองข้าพเจ้าได้เรียนให้ท่านเจ้าคุณทรงสุรเดชทราบเรื่องว่า พล.ต.ท.พระยาอธิกรณ์ออกหมายจับ แต่เคราะห์ดีที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ให้รอไว้ก่อน จำจะต้องรวบรัดลงมือกันทันที รั้งรอไม่ได้แล้ว เจ้าคุณจึงเรียกประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่มาปรึกษาวางแผนการ และกำหนดวันลงมือ
ที่ประชุมฝ่ายทหารได้มอบหมายอำนาจการบัญชาการให้กับ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม กับ น.ต.หลวงสินธุสงครามชัย ร.น.โดยเด็ดขาด ซึ่งท่านเจ้าคุณทรงฯ ก็ได้ดำเนินการประชุมแผนสั่งการ ทำการยึดอำนาจปกครองที่บ้านของท่านโดยเร่งด่วน
4.1.
คำวิจารณ์ของนักศึกษาหลายคนมีใจความดังต่อไปนี้
ประการที่ 1.
นักศึกษาฯ ได้ตรวจสอบวิธีพิจารณาความอาญาและระเบียบราชการสมัยสมบูรณาฯ แล้ว ทราบแน่ชัดว่าหมายจับบุคคลที่ต้องสงสัยหรือต้องหาว่าทำผิดอาญานั้นมิใช่เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ลงนาม หากเป็นเจ้าหน้าที่ของพนักงานตำรวจที่มีวิธีพิจารณากำหนดไว้ ฉะนั้นตามที่ พล.ท.ประยูรฯ อ้างว่าพระยาสิทธิกรณ์ฯ กับพระยาธรณีฯ “ไปกราบทูล จอมพลเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้ลงพระนามในหมายเพื่อจะทำการจับกุมต่อไป” นั้น คำอ้างของคุณประยูรฯ จึงฝ่าฝืนความจริงซึ่งไม่ควรที่คณะกรรมการหนังสือแห่งชาติฯ สนับสนุนให้ชนรุ่นใหม่เข้าใจผิดว่าเป็นสารคดี
(แม้ประมวลวิธีพิจารณาความอาญาฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้รัฐมนตรีมหาดไทยได้เป็นผู้ลงนามในหมายจับบุคคล)
ประการที่ 2.
นักศึกษาแจ้งว่าไม่ทราบประวัติของนายสงวน ตุลารักษ์ กับ นายสงวน ทองประเสริฐ และไม่ทราบว่าบุคคลทั้งสองนั้นมึนเมาพูดจาสามหาว จะฆ่าเจ้าทรัพย์ ยึดทรัพย์ ดังที่ พล.ท.ประยูรฯ อ้างไว้
แต่นักศึกษาสมมติว่าถ้าบุคคลทั้งสองได้พูดเช่นนั้น พระยาอธิกรณ์ฯ อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งไม่ใช่คน “ปัญญาอ่อน” ก็ย่อมเห็นว่าเป็นกรณีที่คนขี้เมาพูดจาสามหาวมิใช่เป็นเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ถ้าสมมติต่อไปว่าอธิบดีกรมตำรวจเป็นคนปัญญาอ่อนเกิดระแวงว่าบุคคลทั้งสองที่พูดขณะมึนเมานั้น คิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง อธิบดีกรมตำรวจก็จะต้องจับบุคคลทั้งสองนั้นไปคุมขังยังโรงพัก แล้วทำการสอบสวนให้ได้ความ
ประการที่ 3.
โดยที่พล.ท.ประยูรฯ กล่าวไว้ว่า อธิบดีกรมตำรวจเสนอหมายจับผู้ก่อการฯ เพียง 5 คนเท่านั้น คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม, น.ต.หลวงสินธุสงครามชัย ร.น., ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี, ดร.ตั้ว ลพานุกรม แต่ไม่เสนอให้จับนายสงวน ตุลารักษ์ กับ นายสงวน ทองประเสริฐ
ฉนั้นนักศึกษาฯ จึงเห็นว่าเรื่องที่พล.ท.ประยูรฯ แต่งขึ้นเกี่ยวกับนายสงวนทั้งสองคนว่าเป็นต้นเหตุนั้นจึงไม่สมเหตุสมผลที่จะเชื่อได้อย่างกรรมการฯ (ที่อ้างถึงแล้ว) นั้นว่าเป็น “สารคดี”
ประการที่ 4.
นักศึกษาฯ สมมติว่า สมเด็จเจ้าฟ้าเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยไม่เชื่อว่า ร.ท.ประยูรฯ และนายตั้วฯ คิดเปลี่ยนการปกครอง แต่การไม่เชื่อว่าร.ท.ประยูรฯ และนายตั้วฯ คิดว่าคิดเปลี่ยนการปกครองนั้นจะคุ้มครองมาถึงหลวงประดิษฐ์ฯ, หลวงพิบูลฯ, หลวงสินธุ์ฯ, ได้อย่างไร เพราะอธิบดีกรมตำรวจก็จะต้องกราบทูลว่าถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อว่านายประยูรฯ กับนายตั้วฯ คิดเปลี่ยนการปกครองแล้ว ก็ยังมีหลวงประดิษฐ์ฯ, หลวงพิบูลฯ, หลวงสินธุ์ฯ, อีก 3 คนที่จะต้องออกหมายจับ
ประการที่ 5.
นักศึกษาฯ สังเกตว่าพล.ท.ประยูรฯ อ้างในประโยคต้นว่า พ.ต.อ.พระยาธรณีฯ เป็น “ผู้บัญชาการกองตำรวจกลาง” ครั้นในประโยคต่อๆ มา พล.ท.ประยูรฯ ตั้งใจให้พระยาธรณีฯ เป็น “ผู้บังคับการตำรวจกองปราบ” ซึ่งเป็นฯ การลดตำแหน่งของพระยาธรณีฯ จึงเป็นข้อเขียนที่เลื่อนลอยของพล.ท.ประยูรฯ ซึ่งมิใช่สารคดี
โปรดติดตาม 'บันทึกประกอบคำประท้วง กรณีหนังสือชีวิต 5 แผ่นดิน เรื่องข้อเท็จจริงของการอภิวัฒน์ 2475' ต่อ ในตอนที่ 3
หมายเหตุ :
- คงอักขร การสะกดคำศัพท์ การเว้นวรรค และเลขไทยตามเอกสารต้นฉบับ
บรรณานุกรม
หลักฐานชั้นต้น :
- ปรีดี พนมยงค์, บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :