ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

นักรบสิ่งแวดล้อม และ “ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง” Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice : Solids by The Seashore

15
มิถุนายน
2567

Focus

  • ในวาระพิเศษ “Rainbow Warrior Ship Tour 2024” ทูตสันถวไมตรี “Rainbow Warrior” ที่ได้ปฏิบัติพันธกิจพิทักษ์ชีวิตและสิ่งแวดล้อมในนานาประเทศทั่วโลก ได้มาเยือนประเทศไทยเพื่อร่วมกิจกรรม “Ocean Justice: รณรงค์เพื่อสิทธิชุมชนชายฝั่ง” โดยแบ่งเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ ชุมพร และสงขลา
  • ภายใต้กิจกรรมหลักที่ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในพื้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีกิจกรรมย่อยที่น่าสนใจ ได้แก่ นิทรรศการภาพถ่ายใต้ทะเลและงานกิจกรรมรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม นิทรรศการจำลองผืนน้ำใต้มหาสมุทร กิจกรรมสร้างสรรค์งานศิลปะเก๋จากขยะทะเล เสวนาหัวข้อ Diversity is Nature : เพราะความหลากหลายคือธรรมชาติของโลก และกิจกรรมฉายภาพยนตร์ “ทะเลของฉันมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง” พร้อมสนทนากับนักแสดง และนักรณรงค์ปกป้องชายหาด
  • ใน “วันมหาสมุทรโลก” (8 มิถุนายน) ได้มีการทำงานร่วมกับชุมชนชายฝั่งเพื่อเรียกร้องให้เกิดการมีส่วนรวมในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง และการปกป้องคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล พร้อมงานรณรงค์ปกป้องสิทธิชุมชนชายฝั่งทะเลและมหาสมุทร โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับความรู้เชิงวิชาการ เพื่อปกป้องระบบนิเวศทางทะเล

 


Photo : Greenpeace Thailand : Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice

 

Greenpeace International องค์การที่ทำงานรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมโลก (NGO) ก่อตั้งในประเทศแคนาดาเมื่อ พ.ศ. 2514 (ค.ศ 1971) สำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์  มีสาชิก 41 ประเทศ ปัจจุบันอายุ 53 ปี เป็นผู้ใหญ่ที่เปี่ยมวุฒิภาวะ และศักยภาพในการสร้างงานต้านกระแส ที่เป็นเสมือนแรงโน้มถ่วงของโลกในทุก ๆ ทาง (กฎของธรรมชาติที่ไม่อาจต้านได้ โดยเฉพาะการทำลายล้างที่มีข้ออ้าง… “เพื่อการพัฒนา”) เพื่อสร้างและผดุงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดี ความมีเสรีภาพ และสันติภาพ อย่างทรนงและมั่นคงในอุดมการณ์ ผ่านโครงการต่าง ๆ โดยมีทูตสันถวไมตรีชื่อ “Rainbow Warrior” เป็นเรือธงที่องอาจ สามารถเดินทางไปปฏิบัติพันธกิจพิทักษ์ชีวิตและสิ่งแวดล้อมในนานาประเทศทั่วโลก

Greenpeace Southeast Asia ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มีนาคม 2543 และ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสำนักงานใหญ่ในประเทศไทยคือ Greenpeace Thailand ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ วันที่ 3 พฤษภาคม 2544 ร่วมรณรงค์ในประเทศไทยมา 23 ปีเต็ม ครั้งนี้วาระพิเศษเป็นครั้งที่ 6 “Rainbow Warrior Ship Tour 2024” ภายใต้ Campaign : Ocean Justice ซึ่งเป็นแคมเปญรณรงค์เพื่อสิทธิชุมชนชายฝั่ง จากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อุตสาหกรรมประมงแบบทำลายล้าง หรืออุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อทะเล และทำงานร่วมกับชุมชนชายฝั่ง ในการออกแบบนโยบาย และพัฒนาพื้นที่คุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับความรู้เชิงวิชาการ เพื่อปกป้องระบบนิเวศทางทะเล ความมั่นคงทางอาหาร และชีวิตของผู้คนหลายล้านที่พึ่งพิงทรัพยากรชายฝั่ง 

 


Photo : Greenpeace Thailand : Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice

 


Photo : Greenpeace Thailand : Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice

 

การเดินทางกลับมาเยี่ยมไทยในครั้งนี้ปฏิบัติการผ่านกิจกรรมทางสังคม แบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ คือ กรุงเทพฯ (Museum Siam) ระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน 2567 , ที่จังหวัดชุมพร ระหว่างวันที่ 8-13 มิถุนายน 2567 และ ที่จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 17-24 มิถุนายน 2567

 

ณ มิวเซียมสยาม Theme : Ocean Justice รณรงค์ปกป้องทะเลและมหาสมุทร

 

  • พิธีเปิด และการแสดงจากวงโยธวาทิต “OCEAN JUSTICE”  โดย นักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์ สมุทรปราการ
  • นิทรรศการภาพถ่ายใต้ทะเลและงานกิจกรรมรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม  พร้อมเรื่องราวประวัติความเป็นมาของ Greenpeace - Rainbow Warrior
  • นิทรรศการ Interactive Exhibition - Immersive Exhibition) จำลองผืนน้ำใต้มหาสมุทร ให้ทุกคนได้ร่วมจุดความฝัน สร้างสรรค์ และส่งเสียง
  • Workshop กับ Eco Artist : สร้างสรรค์งานศิลปะเก๋จากขยะทะเล
  • พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำงานกับกัปตันหญิงและลูกเรือ Rainbow Warrior
  • เสวนาหัวข้อ Diversity is Nature : เพราะความหลากหลายคือธรรมชาติของโลก
  • ฉายภาพยนตร์ “ทะเลของฉันมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง” พร้อมร่วมวงสนทนากับนักแสดง และ นักรณรงค์ปกป้องชายหาด จาก Beach For Life

 


Photo : Greenpeace Thailand : Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice

 


Photo : Greenpeace Thailand : Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice

 


Photo : Greenpeace Thailand : Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice

 

สนทนากับนักล่าฝัน Rainbow Warrior

 

หนึ่งในกิจกรรมที่ทำให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์มาพบกัน สานสัมพันธ์ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ คืองานพูดคุยกับสมาชิกลูกเรือ Rainbow Warrior ที่เริ่มจากการเป็นอาสาสมัครผู้รักจะเรียนรู้ และสู้จนตกผลึกกับการใช้ชีวิต เพื่ออุทิศให้กับงานการรณรงค์พิทักษ์สิ่งแวดล้อม นำทีมโดย เฮตตี กีแนน (Hettie Geenen) เธอเป็นกัปตันหญิงแกร่งคนเก่งหนึ่งในไม่กี่คนของโลก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกัปตันของเรือกรีนพีซเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ปี 2559 (ตรงกับวันสตรีสากล)

ก่อนหน้าที่เธอจะเป็นกัปตันเรือ เรนโบว์ วอร์ริเออร์ เฮตตีมีโอกาสมาร่วมงานรณรงค์กับเรือที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2542 ในตำแหน่ง ผู้ช่วยต้นเรือในโครงการ Toxic Free Asia Tour หรืองานรณรงค์ด้านผลกระทบจากสารพิษในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเดินทางในครั้งนั้นเปลี่ยนมุมมองของเฮตตีในเรื่องสิ่งแวดล้อม เธอได้เห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบด้านมลพิษมากกว่ากลุ่มประเทศบ้านเกิดของเธอมากมายหลายเท่า นั่นทำให้เธอมุ่งมั่นที่จะทำงานรณรงค์เพื่อผู้คนและชุมชนทั่วโลกมากกว่าเดิม เฮตตีจึงไม่เคยมองว่าการเป็นผู้หญิงคืออุปสรรคต่อการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมเลย เธอจึงมีใบหน้าเปื้อนยิ้มทักทายต้อนรับทุกคนอยู่เสมอ เธอกล่าวในงานเปิดโครงการ RAINBOW WARRIOR SHIP TOUR 2024 : Ocean Justice ณ มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ ว่า

“ฉันเชื่อว่าการต่อสู้กับการทำลายสิ่งแวดล้อม และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ จะต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการลดการกดขี่ และเรียกร้องให้ทุกคนได้เข้าถึงโลกที่ปลอดภัยอย่างเท่าเทียมกัน กว่า 25 ปีแล้วที่ฉันทำงานกับกรีนพีซ ฉันยังคงเชื่อว่างานที่ฉันทำอยู่นี้ดีที่สุดในโลก และยิ่งฉันได้เดินทางไปกับเรือรอบโลกมากเท่าไร ฉันก็ยิ่งได้เห็นว่าโลกของเราได้รับผลกระทบมากแค่ไหน และก็ยิ่งรู้สึกว่าจำเป็นจะต้องเดินหน้าทำงานกับกรีนพีซต่อไป เพื่อสิ่งแวดล้อมของเรา”

 


Photo : Greenpeace Thailand : Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice

 


Photo : Greenpeace Thailand : Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice

 


Photo : Greenpeace Thailand : Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice

 

เรื่องการทำงานบนเรือ Greenpeace เป็นประสบการณ์พิเศษ และเป็นงานที่หาทำได้ยาก ถ้าอยากจะมีโอกาสขึ้นไปทำงานบนเรือจะต้องหาช่องทางยังไง

เฮตตี กีแนน (Hettie Geenen) กัปตันเรือ - มีหลายช่องทางอย่างแรกเลยคือการไปศึกษาในโรงเรียน MARITIME SCHOOL สำหรับการเป็นลูกเรือ เพื่อจะเป็นนักเดินเรือ จะได้ทักษะต่าง ๆ ครบถ้วนมากกับการที่จะมาขึ้นเรือ แล้วมีโอกาสสมัครงานบนเรือได้มากที่สุด แต่ก็จะมีงานตำแหน่งอื่น ๆ อีกที่ต้องการ เพราะบนเรือไม่ใช่ต้องการคนที่เดินเรือเป็นทั้งหมด จะมีตำแหน่งต่าง ๆ ที่มาประกอบกันเพื่อทำงานบนเรือเช่น พ่อครัว เพราะอาหารบนเรือสำคัญมากกับความสุขของลูกเรือทุกคน

หรือแม้กระทั่งการเป็น Active Volunteer หรือเป็นอาสาสมัครที่ร่วมกิจกรรมกับ Greenpeace อยู่ตลอด ถ้ามาเป็นอาสาสมัครในช่วงที่ใช่ ลงล็อค มีจังหวะเรือมาพอดี เปิดรับพอดี ก็จะมีโอกาสได้ขึ้นไปทำงานบนเรือ หรือเป็นอาสาสมัครบนเรือเช่นกัน แต่ช่วงนี้มีตำแหน่งน้อยเพราะเรือ Greenpeace เดิมมีอยู่ 3 ลำ  Arctic Sunlight , Rainbow Warrior และ The Esperanza แต่ The Esperanza[1] เพิ่งปลดระวางไป ปัจจุบันเหลือเพียง 2 ลำที่ active และมี Witness[2] ซึ่งเป็นเรือลำเล็ก จึงไม่ต้องใช้ลูกเรือมากนัก แต่ไม่ต้องกังวลเราจะมีเรือลำใหม่มาอีก ช่วงนั้นอาจมีการเปิดรับสมัครลูกเรือเพิ่มขึ้น ติดตามข่าวจากเพจ Greenpeace กันได้ตลอด

เอาของสำคัญอะไรขึ้นไปบนเรือได้เพื่อต้องใช้ชีวิต 3 เดือนในทะเล

เฮตตี กีแนน - คำถามนี้ลูกเรือถูกถามอยู่ตลอด ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับอาหาร เพราะแต่ละคนก็มีอาการ home sick คิดถึงอาหารรสชาติบ้านเกิด แต่ว่าฉันมาจากเนเธอร์แลนด์อาหารก็ไม่ได้น่าคิดถึงขนาดนั้น ใกล้กันที่เบลเยี่ยมก็รู้สึกเฉย ๆ

ลูกเรือที่มาจากอาร์เจนตินา เม็กซิโกก็มีความคิดถึงอาหารบ้านเกิดอยู่ ส่วนลูกเรือสายเอเซีย อินโดนีเซียบอกไม่ค่อยคิดถึงเท่าไหร่เพราะมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอยู่เยอะ ขอแค่นี้ก็อยู่ได้

โซ - ปกติลูกเรือสามารถพกของขึ้นไปได้ 23 กิโลกรัม ฉันชอบชา Yerba Mate[3]  ที่กินกันเยอะมากที่อาร์เจนตินา ถ้าพกไปได้ 5 กิโลจะพกเพื่อสต๊อกอยู่ไปได้ยาว ๆ  อีกอย่างคือขนม Alfajor [4] ที่มีหลากหลายรสของอาร์เจนตินา พกเป็นกล่อง ๆ ขึ้นไปแชร์กับลูกเรือคนอื่น ๆ ด้วย สิ่งที่เอาขึ้นไปไม่ได้แต่อยากเอาขึ้นไปมากคือแมวค่ะ คิดถึงแมวมากอยากเอาขึ้นไปอยู่บนเรือด้วย

 


Photo : Greenpeace Thailand : Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice

 


Photo : Greenpeace Thailand : Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice
 

อะไรคือสิ่งที่ท้าทายมากเวลาอยู่บนเรือ

อาคุส - เป็นเรื่องของพื้นที่บนเรือมันแคบมาก ทำให้เวลาเราไปสร้างปัญหาอะไรต้องแก้มันทันที เพราะเราไม่สามารถวิ่งหนีปัญหาได้ ถ้าเป็นพื้นที่บนบ้านทำแก้วตกท่อแตกแล้วหนีไปเลยให้แม่เคลียร์กับพ่อแทนได้อะไรแบบนี้ แต่บนเรือมันมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่หนีไปหนีไม่ได้ เคืองกันแป๊บเดี๋ยวก็เจอหน้ากันอีกแล้วไม่มีที่จะหลบ   ทำให้เรากล้าที่จะต้องเผชิญกับปัญหาที่เราก่อไว้ แล้วแก้ไขทันที ช่วงแรกต้องปรับตัว แต่ปัจจุบันผมไม่มีปัญหานี้แล้วครับ

 

เคยมีลูกเรือได้พบประสบการณ์สุดพิเศษ หรือปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติไหม

เฮตตี กีแนน - ในเรือ Rainbow ลำเก่า ที่เคยเจอว่าประตูปิดเปิดเองทั้งที่ประตูบนเรือเวลาปิดเข้าล็อคแล้วจะเปิดยาก แต่มันเปิดปิดเอง หรือแม้กระทั่งเรือ Arctic Sunlight อีกรำของ Greenpeace ที่สามารถวิ่งผ่านธารน้ำแข็งได้ เคยมีประสบการณ์ที่อธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ไม่ได้เหมือนกัน

 

คุณมองหา-โหยหาอะไรเมื่อมาถึงเมืองไทย

มอง ลูกเรือชาวไทย ฝ่ายไอที - สำหรับผมถึงแม้ว่าจะเป็นคนไทยแต่ทุกครั้งที่กลับไทยจะรู้สึกโหยหาการออกไปข้างนอกมากกว่า เพราะรู้สึกว่าการได้ออกไปอยู่บนเรือ ได้ออกทะเล ตื่นเต้นมากกว่า เพราะเราได้เรียนรู้ พบเจอปัญหา ได้ทำอะไรจริง ๆ ที่มันจะสร้างผลกระทบ หรือว่าสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อสิ่งที่จะทำมากกว่ากัน เพราะว่าถ้ากลับบ้านก็คืออยู่ในบ้านไม่ได้ไปไหนเห็นอะไร การได้ขึ้นเรือน่าตื่นเต้นมากกว่าการกลับบ้าน

 

อะไรที่ทำให้ยังเป็นนักรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่

โซ ลูกเรือหญิง - เมื่อตอนเป็นเด็กโตมากับเมืองโมโนไซเปส จังหวัดเล็ก ๆ ในอาร์เจนตินา ก็มีถังขยะให้แยกขยะแต่ว่าตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าทำไมต้องมีหลายถัง เคยทิ้งรวมกันก็โดนเพื่อนว่าทำขยะปนกัน โตขึ้นมามีสอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CLIMATE CHANGE) ในห้องเรียน ถึงได้เข้าใจมากขึ้นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมกับสิ่งที่ทุกคนกำลังรณรงค์เรียกร้องอยู่มันคืออะไร ค่อย ๆ  Connect the dots จับมาเชื่อมโยงเรื่องราวกันจนเริ่มเข้าใจมากขึ้น พอโตขึ้นมาอีกหน่อยก็มีโอกาสเพราะในอาร์เจนตินามี NGO หรือภาคประชาสังคมต่าง ๆ เปิดรับอาสาสมัคร ฉันก็ไปสมัครเพราะตัวเองมีทักษะในเรื่องของการวาดรูประบายสี ถึงได้มีโอกาสมาเป็นลูกเรืออาสาสมัครช่วยงาน event ต่าง ๆ พอได้ขึ้นเรือแล้วมีประสบการณ์ประทับใจ เจอคนหลากหลาย ได้ไปหลายที่เรียนรู้วัฒนธรรมหลายแห่ง ตั้งแต่ 11 ปีที่แล้วก็ติดใจมาเรื่อย ๆ ทำให้อยู่มาจนถึงปัจจุบัน

 


Photo : Greenpeace Thailand : Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice

 


Photo : Greenpeace Thailand : Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice

 

อะไรคืออุปสรรค ความท้าทายของการใช้ชีวิตอยู่บนเรือ

มอง - ผมไม่ได้มาจากโรงเรียนสำหรับนักเดินเรือเหมือนกัน เป็นโปรแกรมเมอร์ธรรมดาสมัครเข้ามาเป็นลูกเรือ อย่างแรกที่เป็นปัญหาคือเรื่องของภาษา แม้ว่าบนเรือใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษานานาชาติในการสื่อสาร เพราะมีลูกเรือจากหลายประเทศ จุดที่เจอคือเรื่องของสำเนียง บางทีเราไม่คุ้นหูกับสำเนียงแต่ละชาติต้องปรับตัว ฝรั่งเจอสำเนียงต่างชาติก็ช็อคต้องใช้เวลาจูนหากันก่อน อีกส่วนคือการปรับตัวเรื่องของอาชีพ ผมเคยเป็นโปรแกรมเมอร์ไอทีที่ทำงานอยู่ในบริษัททั่วไปนี่เอง แต่พอได้ขึ้นไปทำงานบนเรือ อุปกรณ์บนเรือแม้ไอทีเหมือนกันแต่ว่าก็มีความแตกต่างกัน เพราะมันประดิษฐ์มาสำหรับบนเรือโดยเฉพาะ เป็นเทคโนโลยีที่เราไม่ได้ใช้กันทั่วไปในบริษัทต่าง ๆ ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม ทุกวันนี้ก็ยังต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเพราะเทคโนโลยีพัฒนาไปมีเครื่องมือใหม่ ๆ ขึ้นมาให้ใช้งานเรื่อย ๆ ครับ

คำถามจากผู้เข้าร่วมงาน - ระบบการใช้พลังงาน และการจัดการแบ่งปันทรัพยากรที่ใช้บนเรือ

เฮตตี กีแนน - มีเครื่อง generator ปั่นไฟ ยังใช้ดีเซลอยู่ แต่ก็พยายามจำกัดให้ใช้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ยังไม่มีเรือเดินสมุทรลำไหนที่เดินทางรอบโลกได้โดยที่พึ่งพาพลังงานอย่างอื่น 100 เปอร์เซ็นต์ ยังคงพึ่งพาพลังงาน fossil เพราะมีบางส่วนของโลกที่มันแทบจะไม่มีลมเลย หรือคลื่นลมไม่เอื้อต่อการให้ล่องเรือไปได้ แต่ว่ากัปตันเองจะพยายามล่องเรือโดยใช้ใบเรือกับสายลมไปให้ได้มากที่สุด จะใช้ generator ในกรณีที่มันฉุกเฉินเพราะตารางงานไม่ได้ จำเป็นจะต้องใช้จึงจะใช้

เรือเรามีระบบ E- drive[5] เป็นระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า เอาพลังงานกับ generator มาผลิตพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้บนเรือ เช่น ตู้แช่เย็น ตัวระบบแอร์ บางทีการปั่นไฟในระบบจะมีไฟฟ้าเหลือ จะใช้ไฟฟ้าที่เหลือเอามาขับเคลื่อนตัวยานยนต์ที่จำเป็นจะต้องใช้ คือพยายามใช้มันให้มีประสิทธิภาพที่สุด

บนเรือมีเครื่องกรองน้ำที่สามารถกรองน้ำทะเลมาเป็นน้ำจืดได้ แต่ก็ต้องออกเรือไปในจุดโซนที่เป็นน้ำสะอาดถึงจะเอามาใช้ได้ ใช้พลังงานบนเรือต้องใช้น้ำกันอย่างประหยัด จำกัดมาก ๆ เพื่อให้คุ้มค่าอย่างที่สุด

ส่วนการจัดการขยะบนเรือมีระบบคัดแยกขยะ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร กระดาษ กล่อง กระป๋อง ขยะเศษอาหารถ้าเดินเรือออกไปห่างจากฝั่งประมาณ 12 ไมล์ทะเล จะสามารถโยนเศษอาหารลงไปได้ เป็นไปตามข้อกำหนดทางทะเลว่าปริมาณเท่านี้ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมสามารถจัดการได้ แต่ขยะอื่น ๆ จะถูกคัดแยกอย่างเรียบร้อย มีพื้นที่จัดเก็บอย่างดี พอขึ้นฝั่งแล้วก็เอาไปกำจัดอย่างถูกต้องมากที่สุด

 


Photo : Greenpeace Thailand : Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice

 


Photo : Greenpeace Thailand : Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice

 


Photo : Greenpeace Thailand : Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice

 

ประสบการณ์อะไรที่ดีที่สุดจากการได้ทำงานกับเรือ Rainbow Warrior

นาโช่ - มันคือวันสุดท้ายของการจบแคมเปญในแต่ละแคมเปญ เพราะก่อนที่แคมเปญจะเสร็จเรียบร้อยทุกคนจะอยู่ในสภาวะกังวล มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเต็มไปหมด มีความไม่มั่นคง มีสิ่งที่พร้อมจะผิดไปจากแผนตลอดเวลา แต่ ณ วันสุดท้ายที่ทำแคมเปญเสร็จแล้วบางครั้งงานออกมาดีกว่าที่คาดคิดไว้ค่อนข้างมาก รู้สึกทุกอย่างมันดีไปหมด รวมถึงการได้เพื่อนใหม่ ได้พบเจอผู้คนใหม่ ๆ ที่ขึ้นมาทำแคมเปญบนเรือด้วยกัน จะเกิดการสานสัมพันธ์กัน เกิดมิตรภาพดี ๆ ให้เป็นที่จดจำต่อไป

 

ประสบการณ์พิเศษเมื่อได้การทำงานกับ Rainbow Warrior เปรียบเทียบกับเรืออื่นๆ

เฮตตี กีแนน - ฉันเคยขับเรือท่องเที่ยวมาก่อนซึ่งเป็นงานที่น่าเบื่อมาก ไม่มีอะไรเลยแค่เอาคนจากที่หนึ่งไปส่งอีกที่หนึ่ง ไม่จอย แต่พอได้มาร่วมงานกับ Rainbow Warrior ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ เพราะแต่ละแคมเปญแต่ละครั้งที่ได้ขับเรือมีความแตกต่างกันไป มีเรื่องใหม่ ๆ เข้ามา ได้เจอผู้คนที่หลากหลายได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และคิดว่าจะทำงานนี้ต่อไปยังไม่มีโอกาสที่จะเปลี่ยนใจ

โซ - ฉันไม่เคยไปทำงานที่เรืออื่น แมคเคยไปทำงานกับเรือ Rescue Ship เป็นเรือกู้ภัยช่วยฉุกเฉิน สตาฟหลายคนมีช่วงพาร์ทไทม์ระหว่างที่ไม่ประจำเรือเรนโบว์ ก็จะไปทำงาน NGOs อื่น ไปช่วยเหลือคนในเรืออพยพพิเศษ เช่น ตอนที่ฟิลิปปินส์มีทอร์นาโดถล่ม ก็จะมีทีมกู้ภัยทางเรือเข้าไปช่วยเหลือ สตาฟก็จะไปทำในส่วนนั้นด้วย

แมค - Rescue Ship ไม่ได้ไปกู้ภัยอย่างเดียว แต่ว่ามีเรื่องของการช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งด้วย คนต้องมีการลี้ภัยเพราะว่าปัญหาเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ทำให้คนหลีกหนีไปยังพื้นที่ที่ดีกว่า หรือว่าต้องลี้ภัยออกมาจากประเทศบ้านเกิด สิ่งนี้เกิดมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกับเรือกรีนพีซ หรือว่าไปช่วยในเรือกู้ภัย มีจุดบรรจบที่เหมือนกัน สุดท้ายไม่ว่าจะอยู่เรือไหนมันเรื่องเดียวกันคือ เราจะต้องพยายามใส่ใจดูแลโลกของเราให้ได้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบเหล่านี้ให้ได้มากที่สุดเหมือนกัน

เฮตตี กีแนน - ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ จะทำอะไรก็ได้ถ้ามันสามารถช่วยลดเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำไปเถอะช่วยกันทำหลายคนหลายมือ

โซ - ขอขอบคุณทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมกรีนพีชและให้ความสนใจงานของกรีนพีซในวันนี้ ซึ่งเป็นวันเสาร์วันหยุดของทุกคน แต่ก็ยังเสียสละเวลาที่จะมาร่วมงานกับพวกเรา ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ

มอง -  จากนักล่าฝันสู่นักล่าฝันท่านอื่น ๆ อยากให้ทุกคนที่มีความฝัน อย่าหยุดที่จะฝัน อย่าหยุดที่จะพัฒนาตัวเอง คอยฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ที่เราคิดว่าจำเป็นต่อความฝันของเรา วันหนึ่งมันจะมีโอกาสเข้ามาก็จะได้คว้าโอกาสนั้นไว้ให้ทักษะของเรามันพร้อมรอ โอกาสเข้ามาเราจะได้คว้ามันไว้ทันที ไม่ใช่โอกาสมาแล้วเรายังไม่พร้อม เราก็จะพลาดโอกาสนั้นไปได้ อย่างผมเป็น IT Guy ศึกษาด้วยตัวเองแล้วไปเป็นอาสาสมัครของกรีนพีซ จนกระทั่งจังหวะมีตำแหน่งว่างบนเรือ ก็เลยได้สมัครขึ้นไปมีโอกาสได้ทำตามความฝันของตัวเอง

 


Photo : Greenpeace Thailand : Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice

 

ผู้ร่วมกิจกรรมถาม - เรือของกรีนพีชได้ทำงานวิจัยบนเรือไหม หรือรับข้อมูลจากฝั่งมาเก็บในดาต้า ถ้ามีขอตัวอย่างด้วยว่าช่วงนี้วิจัยเรื่องอะไร

เฮตตี กีแนน - เราทำงานวิจัยหลากหลายมากเป็นหนึ่งใน vision สัมพันธ์ของ Rainbow Warrior เช่น ภาคใต้ของออสเตรเลียเราต้องการคัดค้านบริษัทน้ำมันจากนอร์เวย์ซึ่งเขาจะมาตั้งแท่นเจาะผลิตน้ำมันบริเวณนั้นซึ่งมันไม่เคยมีมาก่อน แล้วพื้นที่ตรงนั้นมีทรัพยากรที่ดีมาก ๆ ซึ่งชุมชนใช้ร่วมกันอยู่ มีการไปบันทึกสารคดีโชว์ความสวยงามของพื้นที่ซึ่งมีความสมบูรณ์ของทรัพยากร มีทั้งถ่ายจากตัวเรือและมีการส่งนักดำน้ำลงไปในทะเลด้วย สุดท้ายแคมเปญนี้ประสบความสำเร็จ ทำให้การขุดเจาะน้ำมันไม่เกิดขึ้น แน่นอนว่าไม่ใช่ความสำเร็จที่เกิดจากตัวเรือ Rainbow Warrior อย่างเดียว แต่ก็รวม ๆ กัน เป็นการทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ กับหลาย ๆ คน ทำให้แคมเปญสำเร็จได้

 


Photo : Greenpeace Thailand : Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice

 

8 มิถุนายน วันมหาสมุทรโลก

 

เรือ Rainbow Warrior มาไทยครั้งนี้มีงานวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Rainbow Warrior Ship Tour 2024: Ocean Justice เป็นการทำงานร่วมกับชุมชนชายฝั่ง เพื่อเรียกร้องให้เกิดการมีส่วนรวมในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง และการปกป้องคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล พร้อมงานรณรงค์ปกป้องสิทธิชุมชนชายฝั่งทะเลและมหาสมุทร (Justice for Ocean : JUSTICE FOR COASTAL) มีการนำเรือลงไปยังภาคใต้ที่ หาดสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ด้วย โดยเรือจะเปิดให้เข้าชมภายใน วันที่ 8-9 มิถุนายน 2567 (8 มิถุนายน วันมหาสมุทรโลก) [6]

ก่อนจะแล่นต่อไปที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และร่วมทำงานวิจัยเพื่อวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองกับชุมชนประมง อาสาสมัครนักดำน้ำ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อรวบรวมข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลในจังหวัดชุมพร ผ่านการสำรวจสัตว์ทะเลหน้าดิน แพลงก์ตอน และสัตว์น้ำวัยอ่อนซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ในท้องทะเล ส่วนหนึ่งของงานวิจัยได้ทำร่วมกันเมื่อวันที่ 11-13 มิถุนายน 2567 ผลการสำรวจข้อมูลจะถูกส่งต่อให้ชุมชน เพื่อนำไปใช้ในงานอนุรักษ์ทรัพยากร และออกแบบการปกป้องท้องทะเลในชุมชน เพื่อช่วยกันรณรงค์ปกป้องชายฝั่งทะเลไทยให้คงความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ไว้ต่อไป

 


photo : ทะเลของฉันฯ - Solids by the Seashore

 

“ทะเลของฉันมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง” (Solids by the Seashore)

 

Rainbow Warrior Ship Tour 2024 : Ocean Justice  ครั้งนี้จัดฉายภาพยนตร์กึ่งสารคดี (Semi - Documentary) เรื่อง “ทะเลของฉันมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง” (Solids by the Seashore) หนึ่งในเครื่องมือรณรงค์อันทรงพลังที่เป็นทั้งสีสันและสร้างความเข้าใจเรื่องทะเล ชายฝั่ง สิ่งแวดล้อม ความหลากหลาย และสิทธิมนุษยชน เป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของผู้กำกับรุ่นใหม่ อิฐ - ปฏิภาณ บุณฑริก (อำนวยการผลิตโดย Mit Out Sound Films และจัดจำหน่ายโดย diversion) ที่กำลังเดินสายฉายหลายประเทศ และกวาดรางวัลจากเวทีสำคัญมากมาย ด้วยเรื่องที่บอกเล่าความหมายในวัฏธรรมชาติ ที่วาดขนานไปกับความสัมพันธ์ของมนุษย์ และ อะไรคือที่สุดของการควบคุม เป็นคำถามปลายเปิด ที่ชวนเพลิดไปกับประสบการณ์และจินตนาการผ่านสัญญะ ศิลปะแห่งชีวิต

ฝน ศิลปินในพำนัก Artist in Residence ของ  “a.e.y. Space”[7] Gallery - Art Space ในจังหวดสงขลา เพื่อจัดแสดงงานศิลปะ โดยมีแนวคิดเรื่อง ‘เขื่อนกั้นคลื่นกลืนชายหาด’ (จากแรงผลักที่เธอกับ พี่ชาติ คนรัก เคยมาทำงานร่วมกันเมื่อหลายปีก่อน) มาครั้งนี้มี ชาตี เป็นผู้ดูแลเรื่องที่พักและแนะนำแหล่งข้อมูล ความสัมพันธ์ของทั้งสองอบอุ่นอ่อนหวาน และมีพัฒนาการที่อ่อนไหวจากส่วนลึกภายในจิตใจ ท่ามกลางโจทย์หนักอึ้งของทั้งคู่ ต้องสู้กับเรื่องราวที่แบกรับไม่ต่างกัน ฝนหมกมุ่นครุ่นคิดกับกระบวนการทำงานศิลปะ ที่ต้องกลั่นกรองเชิงลึกให้ตกผลึกก่อนสร้างงาน เป็นขณะเดียวกับที่ชาตีรู้สึกถูกกดดัน ต้องอดกลั้นกับแรงบีบคั้นของเงื่อนไขในครอบครัวและสังคมเก่า ที่เฝ้าแต่จะคลุมถุงชนตามประเพณีนิยมแบบดั้งเดิม โดยมีพระเอกเป็นชายหาดร่วมบรรเลงเพลงทะเลระทม เพราะปมเรื่องกำแพงกันคลื่น ที่ถูกกลืนชีวิตกินชีวาจากการแก้ปัญหาแบบผิด ๆ ด้วยอิทธิพลของนักการเมือง ที่คอรัปชันช่วงชิงผลประโยชน์จากการก่อสร้าง โดยไม่ใส่ใจผลกระทบร้ายแรงระยะยาว

 

 

Solids by the Seashore : รางวัลเกียรติยศ[1]

 

ได้รับ 2 รางวัลจาก Festival International des Cinemas d’Asie de Vesoul ประเทศฝรั่งเศส (30th VIFFAC - Vesoul Internationnal Film Festival of Asian Cinemas 2024)[8]

  1. Prix du Jury Award
  2. Coup de Coeur Inalco Award

ได้รับรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก Ho Chi Minh City Internaltional Film Festival  ณ เมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ได้แก่ แพร - รวิภา ศรีสงวน ในบท ‘ฝน’

ได้รับ 2 รางวัลจาก 28th Busan International Film Festival (BIFF)เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 28 ประเทศเกาหลี

  1. NETPAC Award ซึ่งเป็น ‘รางวัลอิสระ’ จาก สมาคมส่งเสริมภาพยนตร์เอเชีย  หรือ 28th Busan International Film Festival (BIFF) คณะกรรมการให้ความเห็นว่า “Solids by the Seashore” นำเสนอประเด็นที่เชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติได้อย่างอย่างละเมียดละไม ตลอดจนกระแสธารของกาลเวลา ประเพณี และการเปลี่ยนแปลง ทั้งจุดเล็ก ๆ และมุมมองกว้าง ๆ ผ่านภาพ ซึ่งทำให้จินตนาการถึงอนาคตอันไม่แน่นอน
  2. LG OLED New Currents Award ในสายการประกวด New Currents ที่มอบให้กับผู้กำกับหน้าใหม่ในเอเชีย  โดยได้รับการลงความเห็นว่า … มีความโดดเด่นในการ ‘นำเสนอวิธีการใหม่ของสุนทรียศาสตร์ทางสายตา’ และได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัท LG มูลค่า 30 ล้านวอน (เป็นเงินไทยประมาณ 800,000 บาท)

ได้รับ 2 รางวัล จาก facebook : page : “เชื่อGu ไปดูเลย” รางวัล “ภาพยนตร์ไทย เชื่อGu Awards” ครั้งที่ 5 ประจำปี 2023 / 2566

  1. บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม: “ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง” โดย ปฏิภาณ บุณฑริก และ คาลิล พิศสุวรรณ
  2. บันทึกและผสมเสียงยอดเยี่ยม[9] โดย เบิร์ด - เฉลิมรัฐ กวีวัฒนา Sound Editor และ Pre Mix และคุณ Han Myung-Hwan แห่ง Wave Lab ประเทศเกาหลีใต้ ผู้รับหน้าที่ Final Mix ด้วยเหตุผลว่า … เป็นงานเสียงของ “ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง” ที่เก็บทุกบรรยากาศของคลื่นทะเล พรายฟอง และสัมผัสของหินและทรายอย่างหมดจด สร้างบรรยากาศรายล้อมตัวละคร และดึงดูดคนดูเข้าสู่ห้วงคำนึงภายในอย่างหมดจดงดงาม

ได้รับรางวัล ลำดับภาพยอดเยี่ยม จาก facebook : page : “บ้านหนัง คลังละคร” โดย เบียร์ - นิศารัตน์ มีโชค

คณะกรรมการให้ความเห็นว่า…เต็มไปด้วยการซุกซ่อนนัยสำคัญ และเน้นไปที่การชวนให้ตีความเรื่องราวระหว่างทางในแทบทุกช่วงเวลาของเรื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการลำดับภาพที่แยบคาย ส่งผลให้ภาพรวมของหนังทั้งเปี่ยมความหมายและคุณค่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่คือผลงานที่คู่ควรที่สุดสำหรับรางวัลในสาขา ลำดับภาพยอดเยี่ยมประจำปีนี้ (2566)

 


photo : Sokyu Chea

 

ผู้กำกับ อิฐ - ปฏิภาณ บุณฑริก[10]

“ทะเลของฉัน มีคลื่นเล็กน้อย ถึงปานกลาง” เป็นหนังยาวเรื่องแรกของ ผู้กำกับรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า อิฐ - ปฏิภาณ บุณฑริก เล่าที่มาย้อนไปเมื่อ 11 ปีก่อน ครั้งยังทำสารคดีให้กับ ไทยพีบีเอส ใน “โครงการสื่อศิลป์ดินน้ำป่า” ครั้งที่ 1 ในปี 2555 เขาได้เดินทางไปทำหนังสารคดีที่จังหวัดสงขลาเรื่อง ‘เขื่อนหินกันคลื่น’ โครงการที่สร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องชายหาดจากการกัดเซาะของคลื่น ซึ่งกลายเป็นต้นร่างให้คิดสร้างหนังใหญ่ต่อยอด ถ่ายทอดจากเหตุสะเทือนใจในงานรณรงค์ปกป้องชายหาดจากเขื่อนหิน จนคนสำคัญต้องสิ้นชีวิตเพราะขัดผลประโยชน์

“ผมได้ลงไปคุยกับคนที่เกี่ยวข้องเรื่องเขื่อนหิน ชายหาดปกติเวลาคลื่นซัดหาดก็ธรรมดา แต่พอฤดูมรสุมจะพาเอาทรายออกไป (การกัดเซาะ) พอฤดูร้อนพาทรายกลับมา เป็นวัฏจักรของเขา แต่การสร้างกำแพงขึ้นกั้นจะทำให้เกิดการกัดเซาะสองข้างของกำแพงเพิ่มขึ้นอีก 10-20 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งรุกเข้าไปเกือบถึงถนน ทำให้ต้องสร้างเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ มันคือวงจรที่ไม่สิ้นสุดจนกว่าหาดทั้งหาดกลายเป็น “หาดหิน” เหมือนที่ปราณบุรีก็ไม่มีหาดทรายแล้ว หลักการเดียวกันคือใช้โครงสร้างแข็ง เป็นสิ่งที่เขาอ้างว่าเพื่อปกป้อง ความจริงคืองบประมาณตั้งเท่าไหร่ที่ใช้ไปเพื่อทำลาย ความจริงเป็นวัฏจักรของธรรมชาติอยู่แล้ว ถ้าหาดปกติไม่มีปัญหาอะไรตามวัฏจักรทรายก็จะกลับมาตามฤดู แต่เมื่อมีของแข็งขึ้นมากั้นจะเกิดการกัดเซาะ ความจริงมีวิธีอื่น เช่น โครงสร้างอ่อนปักไม้ไผ่ ฯลฯ ดูตามความเหมาะสมของแต่ละหาด

ส่วนใหญ่ถูกสร้างโดยที่คนทั่วไปไม่รับรู้หรือยอมรับ อาจมีการอ้างสำรวจความคิด แต่คนส่วนใหญ่ไม่รับรู้หรือมีส่วนเกี่ยวข้อง เแต่มารู้อีกทีก็หาดหน้าบ้านหายไปแล้ว พอไปทำเรื่องนี้แล้วกลับมาตัดต่อ ได้รู้ข่าวจากหนังสือพืมพ์หน้าหนึ่ง นายกเทศมนตรีนครสงขลา พีระ ตันติเศรณี ถูกยิงเสียชีวิต[11] คือคนที่เราสัมภาษณ์แล้วหนังเรายังไม่เสร็จ ท่านเป็นคนตรงไม่ยอมคอร์รัปชัน ต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ในเวลาเดียวกันก็มีเรื่องกระเช้าลอยฟ้า ความขัดแย้งรุนแรงมากท่านต่อสู้เรื่องนี้กับเรื่อง ถูกยิงตายในพื้นที่ที่เราเคยไปสัมภาษณ์คนเกี่ยวข้อง สะเทือนใจเรามากว่าการที่คนคนหนึ่งต่อสู้ ยืนหยัดบางอย่างเพื่อความถูกต้อง มันทำให้เขาต้องเสียชีวิตจากโลกนี้ไป มันเป็นเหตุการณ์รุนแรงสำหรับเราที่เพิ่งไปถ่ายท่านมา

 


photo : “ภาพยตร์ไทย เชื่อGu Awards” ครั้งที่ 5 ประจำปี 2023

 

จากเหตุการณ์ตรงนั้นทำให้เราลิงค์และโยงกันระหว่างสิ่งที่ท่านต่อสู้ สิ่งที่ทำมันไม่ต่างจากเขื่อนหินหรือเปล่า เราเริ่มเห็นโมเดลชัดขึ้น เขื่อนหินอาจไม่ใช่แค่โครงสร้าง เปรียบเทียบกับชีวิตมนุษย์ก็อาจจะได้ การที่เขาพยายามต่อสู้หรือขัดขืนสิ่งเหล่านี้ เหมือนที่สร้างเขื่อนหินแล้วมันยิ่งกัดเซาะตัวเองไปเรื่อย ๆ รึเปล่านะ หรือว่ามีหลายส่วนในชีวิตเราที่เหมือนโมเดลนี้ อาจเป็นความรักหรือชีวิต ฯลฯ บางทีเราสร้างอะไรที่คิดว่าจะปกป้อง แต่มันกลับกัดเซาะเรามากขึ้นหรือเปล่า เป็นจุดแรกเลยที่เรารู้สึกอยากทำอะไรกับเรื่องนี้ต่อ จากสารคดีสั้นจะทำอะไรต่อได้อีก

เรื่องความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่เราทำมาตลอด ไปขัดผลประโยชน์ใครต้องทำกันขนาดนี้เลยเหรอ มันไม่ถูกต้องทำไมเขาต้องโดนอย่างนี้ เห็นได้ในทุกอย่างโครงสร้างสังคมเรา เรื่องการเมืองเห็นอยู่ในโมเดลการเจรจาต่อรองของคนตัวเล็กกับโครงสร้างใหญ่ เป็นเรื่องเดียวกันหมดเลย  ทดไว้ในใจแล้วแต่ยังคิดอยู่ว่าจะนำเสนอเรื่องอะไรดี เราไม่อยากทำสารคดีอยากทำ fiction โมเดลไหนน่าจะเหมาะสม สำหรับถ่ายทอดประเด็นนี้ได้ แทรกความเท่าเทียมเรื่องอื่นไปด้วยได้ จุดสำคัญคือตอนที่เราส่งไปแล็บหนึ่งที่สิงคโปร์ เป็นแล็บแรกที่รับโปรเจ็คนี้ไป ก็พัฒนาเรื่องให้ชัดเจนขึ้นในประเด็นมุสลิม ต่อเนื่องมาตั้งแต่ตอนนั้นรวมเวลา 7 ปี หลังจากเสนอไปทุกช่องทาง ทั้งตลาดหนัง - pitching งานโควิดมาไปขายงานไม่ได้ก็ใช้ ZOOM  หลังจากแล็บแรกผ่านไปหนึ่งปี เจอเพื่อนจากโครงการแลกเปลี่ยนอีกโครงการหนึ่ง เป็นชาวมุสลิมชื่อ คาลิล พิศสุวรรณ ชวนมาร่วมงานเขียนบท จนเสร็จสมบูรณ์ครับ

 


photo : ทะเลของฉันฯ - Solids by the Seashore

 

สนทนากับนกนางนวล

กิจกรรมหลังฉายภาพยนตร์ “ทะเลของฉันมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง” (Solids by the Seashore) ณ ห้องนันทนาการ 1 มิวเซียมสยาม (MUSEUM SIAM) ร่วมวงสนทนากับนักแสดง แพร - รวิภา ศรีสงวน (นักแสดงนำรับบท ‘ฝน’) และ น้ำนิ่ง - อภิศักดิ์ ทัศนี จาก “Beach for Life”[12] นักทำงานขับเคลื่อนคัดค้านกำแพงกั้นคลื่นมากว่า 10 ปี มีผลงานวิจัยแนวสารคดีรณรงค์ ร่วมกับ สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง เรื่อง “กำแพงกันคลื่นกลืนชายหาด” ที่พูดถึง ‘ความตายของชายหาด และทวงคืนชายหาดของประชาชน’ ดำเนินรายการและแปลโดย โบนัส - อัลลิยา เหมือนอบ

โบนัส อัลลิยา - ใครต้องการแชร์ความคิดหลังหลังชมภาพยนตร์บ้างคะ เชิญค่ะ

ผู้ชม 1 - ชื่นชมมากค่ะถ่ายทอดออกมาได้ค่อนข้างดี เห็นสิ่งที่หลากหลายมิติที่ไม่ใช่เพื่อการเรียกร้องเรื่องสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว เป็นเรื่องของอิทธิพลด้านศาสนา ความเชื่อ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเป็นหนึ่งในโครงสร้างปัจจัยหลักที่ทำให้ตัวละครต้องเลือกเรื่องการใช้ชีวิต ชื่นชมผู้กำกับมาก ๆ ที่ทำให้เห็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่มันลิงค์กันหมดเลย ขอบคุณค่ะ

ผู้ชม 2 -  สะท้อนมุมมองให้เห็นโครงสร้างระหว่างธรรมชาติกับการที่มนุษย์พยายามควบคุมธรรมชาติ ผ่านมิติของสังคม การควบคุมธรรมชาติเปรียบเทียบกับหาดทราย, คลื่น, Body Control ของผู้หญิง ฯลฯ ซึ่งเป็นภาพที่คู่ขนานกัน ทำให้เห็นถึงการทำลายสิทธิเสรีภาพชัดเจนมาก ชื่นชมค่ะ

 


photo : ทะเลของฉันฯ - Solids by the Seashore

 

โบนัส อัลลิยา - ในเรื่องนี้มีการใช้เขื่อนกันคลื่นเป็นประเด็นหนึ่งในการเปรียบเทียบเปรียบเทียบ สำหรับคุณแพรเขื่อนกันคลื่นมันหมายถึงอะไร

แพร รวิภา - เขื่อนกันคลื่นในเรื่องนี้ พี่อิฐผู้กำกับใช้คำว่า Human Construction เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่เปรียบเทียบว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องอะไรบางอย่าง แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อปกป้อง มันมี effect หลังจากนั้น ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องธรรมชาติ ลงไปถึงเรื่องศาสนา ความรู้สึกของตัวเราเองที่สร้างบางอย่างขึ้นมาเพื่อป้องกันอะไรก็ไม่รู้ แต่ก็ไม่ได้บอกว่ามีแล้วดีหรือไม่ดี แค่โชว์ให้เห็นว่ามี effect เกิดขึ้น

น้ำนิ่ง อภิศักดิ์ - ต้องขอบคุณพี่อิฐที่เจอประเด็นนี้ก่อนที่ผมจะเริ่มทำงาน ผมมาเริ่มฝึกงานเรื่องนี้ตอนปี 2555 พี่อิฐก็มีความตั้งใจจะทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ตอนนั้นเลย แล้วมีเรื่องนักการเมืองที่สงขลาด้วย คุณพีระ ตันติเศรณี เป็นนายกเทศมนตรีที่เสียชีวิตเพราะการต่อสู้เรื่องโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง พี่ค่อย ๆ ทำการบ้านมาจนถึงวันนี้ 10 ปีกว่าแล้ว การหยิบเรื่องกำแพงกันคลื่นชายหาดทะเลกับความเป็นมนุษย์ที่มันมีบางอย่างที่เราสร้างขึ้นมาในใจ ความแยบยลของพี่อิฐทำให้มองเห็นเรื่องนี้ แล้วพัฒนางานของตัวเองมาจนเป็นงานที่ทำให้เราเห็น ที่บอกว่ารวมเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องศาสนา ความเชื่อ เรื่องสิทธิ์ของคนที่มองต่างกัน รู้สึกว่าหนังไปไกลสู่ความเป็นมนุษย์ของคน การพยายามทำความเข้าใจว่าธรรมชาติมันคืออะไรกันแน่ สำหรับผมถ้ามองในมุมที่ถึงไม่เป็นนักอนุรักษ์ก็จริงนะ เราก็คาดหวังว่าจะเล่าประเด็นสิ่งแวดล้อมทุกเรื่องในหนังเรื่องนี้ บางเรื่องมันไปไกลกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ในสายตานักอนุรักษ์ที่ทำงานมาเป็นสิบปี สำหรับผมหนังเรื่องนี้พยายามทำให้ทุกคนเข้าใจว่า ธรรมชาติเป็นยังไงแล้วชีวิตมนุษย์เป็นยังไง

 


photo : ทะเลของฉันฯ - Solids by the Seashore

 

โบนัส อัลลิยา - เรื่องนี้ไปฉายในหลากหลายประเทศทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น ถามคุณแพรว่าได้รับการตอบรับยังไงบ้าง

 แพร รวิภา - หนังไปฉายที่เทศกาลปูซานเกาหลีนะคะ เป็นครั้งแรกที่แพรได้ดูหนัง แล้วก็เป็นครั้งแรกที่ได้ไปเทศกาลหนังด้วย ตื่นเต้นที่มีคนมารอคุยกับผู้กำกับคุยกับเรา ขอลายเซ็น มันน่าตกใจมาก สิ่งที่น่าสนใจคือเขาอิน (เข้าถึง) กับหนังทั้ง ๆ ที่บริบทของหนังเรื่องนี้มันค่อนข้างจะ ‘ไทย’ มาก ๆ เลย เขารู้สึกว่าตัวละครตัวนี้มันแทนเขาเลย มันพูดถึงสิ่งที่อยู่ในใจเขาได้ ก็เลยรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันถูกพูดถึงหลากหลายประเด็น ก็เลยทำให้คน involve กับหนังเรื่องนี้ได้มากขึ้น เมืองที่แพรไปคือปูซานกับโอซากาซึ่งเป็นเมืองท่าเหมือนกัน เขาอาจไม่คุ้นเคยกับศาสนาอิสลามมากนัก แต่ว่าเขาอินกับเรื่องชายฝั่งมาก ๆ เลย ก็เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่ได้รับ feedback ส่วนมากคนจะรู้สึกเรื่อง Human Construction ที่จะแตะเขาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ว่าเขาเองก็มีอะไรบางอย่างที่เขาสร้างขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว ทำให้เขาไม่สามารถเป็นตัวเองได้ขนาดนั้น

 


photo : ทะเลของฉันฯ - Solids by the Seashore

 

โบนัส อัลลิยา -  เรื่องเขื่อนกันคลื่นในต่างประเทศเป็นยังไงบ้างคะคุณน้ำนิ่ง

น้ำนิ่ง อภิศักดิ์ - ตั้งแต่เราเริ่มปักหลักความรู้เรื่องนี้ กำแพงกันคลื่นเป็นอะไรที่เห็นมานานมาก เป็นสิ่งก่อสร้างที่ใช้มาเป็นร้อยปีแล้ว เพราะเป็นโครงสร้างทางวิศวกรรมที่ต่างประเทศเขาใช้กัน เพราะเขาก็มีปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง ยุคหนึ่งความรู้เรื่องวิศวกรรมคอนกรีต เชื่อว่ามนุษย์เอาชนะธรรมชาติได้ มันมาแรงกว่าความรู้ที่ธรรมชาติสามารถฟื้นฟูตัวเอง เราปล่อยให้ธรรมชาติดูแลตัวเองได้ ดังนั้นกำแพงกันคลื่น โครงสร้างท่าเรืออะไรพวกนี้ถูกใช้มานานมาก แต่ในต่างประเทศช่วง 50 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศเขาประกาศออกมาว่า การสร้างสิ่งนี้เอาชนะธรรมชาติไม่ได้ อย่างกรณีญี่ปุ่นมันชัดมากเลยว่า ต่อให้ทำกำแพงกันสึนามิสูงมาก ท้ายที่สุดมันก็เสียหายอยู่ดี อย่างในฮาวายหาดไวกีกิ (Waikiki อยู่บนชายฝั่งทางใต้ของเกาะโออาฮู รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา) มีโครงสร้างขึ้นมาชายฝั่ง แต่ท้ายที่สุดหาดมันหายหมดเลย ความรู้ทางตะวันตกก็เลยตกผลึกว่า ครั้งหนึ่งที่เราเคยเชื่อว่าจะชนะธรรมชาติได้ แต่ก็เอาชนะไม่ได้ ต้องหาวิธีที่จะเลียนแบบธรรมชาติ

ซึ่งต่างกับประเทศไทย 20 ปีที่ผ่านมา หลังผมเริ่มทำงานเรื่องนี้มา 10 ปี เรามีโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแบบนี้ไม่ต่ำกว่า 125 โครงการ ใช้เงินไป 8,400 ล้านบาท สำหรับการสร้างกำแพงกันคลื่นบนชายหาดในประเทศไทยที่ใชัเวลาเพียงแค่ 9 ปี โดยไม่ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเลย แล้วมันทำให้ชายหาดชะอำ ปราณบุรี หายไป ทำให้ฝรั่งลื่นตะไคร่น้ำที่กำแพงกันคลื่นหาดชะอำจนกระดูกคอแตก[13] จริงๆ แล้วความรู้เรื่องกำแพงกันคลื่นผมว่าสังคมเข้าใจมากขึ้น แต่ในเวลานี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการใช้งบประมาณของรัฐเลย [14]

 


photo : ทะเลของฉันฯ - Solids by the Seashore

 

ผู้ชม 3 - เป็นคนชอบไปทะเล พอไปชะอำเห็นซีเมนต์คอนกรีตน่าเกลียด ๆ ก็รู้สึกว่าไม่รู้เราจะแก้ไขเอาชนะธรรมชาติไปทำไม ประเด็นในหนังค่อนข้างใกล้ตัวเรา ในส่วนที่พยายามเอาชนะธรรมชาติทุกเรื่อง รู้สึกถึงหลายอย่าง เช่น เป็นหวัดอยากกินยาให้หาย แต่เป็นธรรมชาติที่ว่ามันจะหายไปเอง คนแก่ที่ทำศัลยกรรมอยากเอาชนะธรรมชาติ ให้ความรู้สึกหลากหลาย ในส่วนของทะเลผมรู้สึกกับเรื่องนี้มาก ๆ ไม่แน่ใจว่าความสวยงามที่หายไปเรื่อย ๆ จริง ๆ มันจะลดลงได้ไหมครับ

น้ำนิ่ง อภิศักดิ์ - อย่างแรกเราไปรบกวนธรรมชาติจนเกินศักยภาพที่จะเยียวยาได้เยอะมาก โดยเฉพาะชายหาด ภาพที่เห็นเป็นเขื่อนเว้า ๆ แหว่ง ๆ แล้วดูสวย ในหนังเรื่องนี้เป็นภาพจากระยอง มันเกิดจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเคสนี้ไม่สามารถที่จะคืนหาดเส้นตรงแบบธรรมชาติได้อีกต่อไปแล้ว ความหมายเหมือนเราขาหักแล้วจะให้กลับมาเดินเหมือนเดิมสำหรับผมคิดว่ามันยากมาก แล้วมันเป็นไปไม่ได้สำหรับธรรมชาติด้วย ต้องยอมรับสภาพเพราะเราไปรบกวนเขามากเกินไป

ประเด็นที่สอง ณ วันนี้ที่เราเผชิญกับ Climate Change ซึ่งหลายคนดูเป็นเรื่องไกลตัว มีข้อมูลว่าระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยเพิ่มขึ้นปีละ 2 เซนติเมตร ความหมายคือหาดเราจะหายไป 10 เซนติเมตร เท่ากับว่าในอนาคตพื้นที่ชะอำจะหายไปเรื่อย ๆ คำถามคือเมืองกำลังโตขึ้นเรื่อย ๆ กำลังรุกพื้นที่ชายฝั่งมากขึ้นเรื่อย ๆ เราจะอยู่กับ  Climate Change ได้หรือเปล่า ท้ายที่สุดแล้วมันต้องกลับมามองว่า บางครั้งเราอาจต้องยอมให้ธรรมชาติเป็นในแบบที่มันควรจะเป็นบ้าง แล้วเราก็ไปอยู่ในพื้นที่ที่มันปลอดภัย

มีหลายเมืองในโลกมีกฏหมายเรื่องถอยร่นห้ามคนรุกพื้นที่ชายฝั่ง มีระบุลักษณะพื้นที่คุ้มครองทางทะเลห้ามบุกรุก ซึ่งเป็นแนวคิดที่เรายอมรับว่าเรื่องพวกนี้มันมีจริง ๆ มนุษย์ต้องยอมให้มันเป็นแบบนั้นจริง ๆ เพื่อสงวนรักษาธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็ทำให้มนุษย์ปลอดภัย เพราะขณะนี้พื้นที่ชายฝั่งไม่ปลอดภัย

แพร รวิภา - ชอบที่พี่น้ำนิ่งบอกว่า มันพังไปแล้วบางอย่างก็แก้ไขไม่ได้ ตอนที่แพรถ่ายหนังเรื่องนี้บางครั้งถ่ายที่ระยอง บางครั้งถ่ายที่สงขลาจริง ๆ ซึ่งจะเห็นได้ชัดมีอยู่ฉากหนึ่งที่พื้นทรายแบ่งออกจากกัน ที่สงขลาแทบจะมีเขื่อนทุกรูปแบบที่รัฐบาลสร้าง แล้วไม่มีอันไหนเวิร์คเลยซักอย่าง ได้แต่ทิ้งร่องรอยของความพังทลายนั้นไว้ ก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าเรื่องเขื่อนกันคลื่น ยังไม่ mass (เป็นที่รับรู้และกังวลถึงผลกระทบ) เท่าเรื่องขยะ หรือว่าควรเร่งรณรงค์ผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเรื่องอื่น ๆ แต่ว่ามันน่าจะถึงเวลาแล้วล่ะที่เราต้องใส่ใจเรื่องนี้ เพราะมันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ไม่เหมือนเก็บขยะที่เราทำด้วยตัวเองได้ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารประเทศ แล้วเราจะทำยังไง? แต่ว่าการที่เรารู้แล้วตั้งคำถามกับมัน แล้วทำมันให้น้อยลง หรือว่าเฝ้าระวังไม่ให้มันเกิด Human Costruction ที่เป็นส่วนหนึ่งของ corruption อะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นก้าวสำคัญที่อยากให้คนไทยเริ่มใส่ใจเรื่องนี้ได้แล้วค่ะ

 


photo : ทะเลของฉันฯ - Solids by the Seashore

 

ผู้ชม 4 - ดูมาสองรอบแล้วครับ ตอนนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่าตอนจบต้องการสื่ออะไร (ฮาครืนกันทั้งห้อง) ก็เลยอยากถามจุดนี้ว่า ต้องการสื่ออะไร พี่อิฐอยากทิ้งอะไรให้เราเอากลับไปจากหนังเรื่องนี้

แพร รวิภา -  ขอตอบตามแบบที่พี่อิฐตอบเวลาไปฉายหนังเลยนะคะ (ได้ฮากันอีกรอบ) บางคนก็บอกว่าทุกคนมีรูปแบบของตอนจบอยู่ในใจ ชอบมากเวลารอหนังจบแล้วมีคนออกมาพูดคุยว่า…ฉันว่ามันจบแบบอยู่กับศิลปิน, อยู่กับผู้ชาย ฯลฯ แล้วแต่ละคนมั่นใจว่าเป็นแบบนี้ แต่พี่อิฐบอกว่าจริง ๆ แล้วหนังมันจบตั้งแต่ตอนที่อุกกาบาตตกลงมาแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้ให้คำตอบอยู่ดี (ได้ฮากันหนักกว่าเดิม) เราก็จะทิ้งท้ายไว้ว่าทุกคนตอบโจทย์ในแบบของตัวเอง ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน อย่างตัวแพรเองเล่นเป็น ฝน ก็คิดว่าให้จบแบบอยู่กับฝน เพราะรู้สึกว่าเราคงไม่แคร์คนรอบข้างเท่ากับตัวเอง ในขณะเดียวกันแพรยังไม่เคยถามพี่กอหญ้าซึ่งเล่นเป็น ชาตี ว่าพี่คิดยังไง เพราะเป็นมุสลิมเหมือนกัน เพราะมีสังคมที่ต้องแคร์ มันอาจจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา

(ฝนมีประโยค key ที่เป็นคำถามซึ่งทำให้ผู้ชมต้องขบคิด และค้นหาหาคำตอบ ว่า “แปลกดีนะ บางที...การเป็นโสดก็เป็นอะไรที่ยากกว่าการถูกจับคู่แต่งงาน”)

โบนัส อัลลิยา -  โดยสรุปก็คือไม่มีคำตอบให้ ซึ่งบางคนก็อาจจะมีตอนจบอีกรูปแบบหนึ่ง ชาตีอาจจะหอบผ้าผ่อนหนีไปต่างประเทศแล้วเริ่มต้นใหม่ก็เป็นได้ เป็นปลายเปิดเหมือนเราไม่ได้ lable ไว้ค่ะ

น้ำนิ่ง อภิศักดิ์ -  ผมว่าพี่อิฐเข้าใจทะเลได้ดีมาก มีคนบอกว่าทำแบบนี้สิใช้ได้กับทุกหาด เช่น สร้างกำแพงขึ้นแบบนี้สิอย่างนี้ได้ผลสามารถใช้ได้กับทุกหาด เหมือนเรามองคนคนหนึ่งแล้วบอกว่า คนนี้เป็นมุสลิมก็ต้องเป็นแบบนี้สิ แต่ว่าธรรมชาติจริง ๆ ของชายหาดมาตรการเยียวยาสูตรสำเร็จแบบ One Solution ไม่พอ มันไม่มี เพราะแต่ละหาดมีลักษณะที่ต่างกัน อยู่ที่เราอยากให้หาดเป็นแบบไหน อยากใช้มันอย่างไร กายภาพมันเป็นแบบไหนเราต้องเข้าใจมันพอสมควร เลือกมาตรการที่เหมาะกับหาดนั้น ๆ ได้ สำหรับผม…ขอโทษนะ รัฐคิดทำแบบเด็กมาก 10 ปีที่ทำงานผมทำความเข้าใจบางอย่างมันแยบคายมากในการนำสองเรื่องมาประกบกัน แล้วพยายามให้มองทั้งสองฝั่งได้ ตอนจบจะยังไงไม่รู้แต่ละคนก็ scenario ต่างกัน จินตนาการต่างกัน ผมถือว่ามันเป็นแบบ ‘ยา’ สำหรับผม (ต้องปกป้องดูแลตามลักษณะเฉพาะของแต่ละแห่งที่ต่างกัน)

 


photo : ทะเลของฉันฯ - Solids by the Seashore

 


photo : ทะเลของฉันฯ - Solids by the Seashore

 

“SOLIDS BY THE SEASHORE” เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ symbol และ motif  ที่ร้อยเรียงทั้งเรื่องให้กลมกลืนด้วยภาพ (footage) จากคลังที่สั่งสมจนกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวตามต้องการ ตั้งแต่เขื่อนหินที่ชายหาดเป็น ‘ตัวเอก’ ของเรื่อง ซึ่งส่งเสียงได้ก้องโลกด้วยความอัปลักษณ์ของผลกระทบ แต่ถูกกลบด้วยความงามของเทคนิคภาพเมื่อถ่ายจากมุมสูง เห็นเส้นโค้งครึ่งวงกลมของหาดกับเส้นตรงโครงแข็งของเขื่อน เหมือนบรรทัดฐานทางสังคมที่นิยมว่าดีงาม ถูกสร้างอ้างเจตจำนงเพื่อความมั่นคงและปลอดภัย ศิลปินทำหน้าที่สะท้อนปัญหาผ่าน ‘กระจก’ ที่ฝนยกเล่นกับแสง การจัดองค์ประกอบภาพ จากเงาสะท้อนในกรอบริมชายหาด โคลสอัพช่วงแรกเห็นเป็นภาพชายหาดที่ปราศจากเขื่อน ตรงข้ามกับภาพสุดท้ายที่ชายหาด(กำลังจะ)หายไปเกือบหมด ถูกทดแทนด้วยกำแพงกันเคลื่อนขนาดมหึมา ซึ่งกินพื้นที่จนเกินเต็มต้านกฎบัญญัติสัดส่วน ที่ต้องสมดุลและให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เน้นความหมายที่จงใจให้เห็น ทุกสิ่งล้วนเป็นได้ทั้งขาวและดำ เพราะทุกอย่างในโลกนี้มีสองด้าน โดยเฉพาะสิ่งที่มนุษย์สรรสร้าง ทั้งทำลายล้างและสร้างสรรค์ได้ในเวลาเดียวกัน

การต่อสู้ของ ‘สามสถานะ’  มีศิลปะการจัดวางเหมือนงานสร้าง Installation สามระดับชั้นของการต่อสู้

ฝน กับการต่อสู้กับตัวเอง ที่ต้องการตกผลึกด้วยสำนึกจากปัญญาญาณ  ไม่ต้องการความคิดที่ได้รับอิทธิพลจากใคร แม้จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การเผาสมุดโน้ตที่เคยจดเตือนความจำ เมื่อมาทำข้อมูลครั้งแรกหลายปีก่อน บอกความต้องการที่จะ ‘หนี’ เพื่อมี ‘ลายเซ็น’ เป็นของตัวเอง แต่ก็ยังรู้สึกไปไม่รอดอยู่ดี แม้มีคำปลอบใจจาก พี่ชาติ ว่า “พี่ชอบภาพนี้นะ” เขาหมายถึงผลงานศิลปะชิ้นที่(เหมือนจงใจให้ว่างเปล่า)…ขาวทั้งเฟรม ยืนยันการสร้างสรรค์ที่ให้สิทธิ์แก่ผู้เสพงานศิลป์จะตีความตามประสบการณ์ แต่เบื้องหลังคือการสร้างงานที่มีสารสำคัญซุ่มซ่อน  ซ้อนอยู่ในกระบวนการสร้างอย่างแยบยล

ฝน แสดงงานนิทรรศการศิลปะ “end effect” ณ “a.e.y. space” ที่จังหวัดสงขลา งานชิ้นพิเศษของสองคนนี้มีชื่อ “Shape of the re-echo”  (โดยศิลปินเจ้าของผลงาน ปรัชญา พิณทอง) ในความขาวโพลนโล้นโล่ง เบื้องหลังคือการนำเอากระจกเงาบานเก่ามาพ่นทราย ทับลงไปจนทึบ มองไม่เห็นภาพสะท้อนตาม ‘หน้าที่ของกระจก’ ที่หมกแนวคิดไว้ให้ขบว่า กระจกเกิดจากทราย ถ้าต้องทำลายเพื่อหยุดยั้ง ต้องถั่งโถมทรายลงไป พ่นสลายให้สิ้นซากจากคุณสมบัติ เพื่อขจัดตัวเองให้พ้นจากตัวตนที่เป็นอยู่…ฝนต้องต่อสู้กับตัวเองและแรงผลักจากภายใน เป็นแรงบันดาลใจต่อการสร้างงาน งาม เหงา เศร้าลึก เธอร้องไห้ระบายความรู้สึกกับชาตี มีศิลปะเป็นสะพานเชื่อมผสานให้เข้าใจ เห็นใจกันมากขึ้น อีกขั้นของความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง

(หมายเหตุ :  นิทรรศการศิลปะ “end effect” ณ “a.e.y. space” สนับสนุนโดย ปกรณ์ รุจิระวิไล เจ้าของผู้ก่อตั้ง gallery/ศิลปินเจ้าของผลงานประกอบด้วย  อธิษว์ ศรสงคราม , แพร พู่พิทยาสถาพร , ปฐมพล เทศประทีป , สถิตย์ ศัสตรศาสตร์ , ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์ , ปรัชญา พิณทอง และ ภัณฑารักษ์ แมรี่ ปานสง่า)

การต่อสู้กับเงื่อนไขชีวิตที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นในนาม วัฒนธรรม ประเพณี ที่ดีงามของชาติ หนังตัดสลับภาพความคิดในอนาคตกับความจริงของจิตใจในปัจจุบัน โดยไม่ปิดกั้นจินตนาการ ปล่อยให้พลังอ่อนหวานของความรักเป็นเสมือนสายลมที่ช่วยเล้าโลมเรื่องรุนแรงจากสิ่งแวดล้อมให้เบาลง จงใจไม่ล้วงลึกจับราก เพียงถาก ๆ ปมปัญหา เพื่อพิจารณาทางออกร่วมกัน ให้อิสระสร้างสรรค์กับทุกฝ่าย ตั้งแต่ทีมโปรดักชั่นจนถึงผู้ชม ร่วมผสมส่งไปให้สุดทาง หนังจึงทั้งรื่นรมย์และขมขื่นในขณะเดียวกัน เพราะทุกสถานะไม่มีทางที่จะสู้กับอีกระดับซึ่งเหนือกว่าใด ๆ ได้เลย โดยเฉพาะภาครัฐ ต้องต่อสู้กับบัญญัติที่ถูกวางไว้ในนาม ‘อายุขัย’ คือความเสื่อมไปของทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต โลก มนุษยชาติ ฯลฯ ไม่ใช่แค่ชายหาดที่ต้องสิ้นชีวิตตามลิขิตของ ‘วัฏสงสาร’ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างต่างอยู่ใต้ ‘กฎจักรวาล’

ถ้า “ทะเลของฉันฯ” เป็นผลงานงานจิตรกรรม ก็จะเป็นภาพวาดสีน้ำที่ใช้โทนสีนุ่มนวลละมุนละไม ในขณะที่ content สื่อถึงสิ่งหนักอึ้งจากภายใน แต่ฉาบไว้ด้วยเทคนิคการวาดแนว Impressionist โดยใช้สุนทรีย์ศิลป์เป็นเครื่องมือถ่ายทอดสิ่งที่แตะต้องไม่ได้อย่างผ่อนคลาย ให้ความหมายเพียงแค่นำเสนอและตั้งคำถาม มีความอ่อนโยนในภาษาภาพยนตร์บอกตัวตนคนทำงาน ที่ไม่ต้องการตัดสิน ชี้นำ แม้รู้ทางออกแต่ไม่บอกให้แก้ไข เพราะจงใจหลีกเลี่ยงการตีกรอบครอบความคิดใครให้คล้อยตาม ความงามจึงอยู่ที่การให้เสรีกับทุกวิธีคิด ไม่ติดกับบรรทัดฐานของทุกสิ่ง หนังถูกกำกับให้ ‘นิ่ง’ ทั้งแนวทางการขับเคลื่อน และบุคลิกตัวละคร ที่มีความเป็น ‘คน’ แม้ท้นไปด้วยแรงกดดันจากภายใน เหมือนปล่อยให้เป็นไปตามโชคชะตา

 


photo : ทะเลของฉันฯ - Solids by the Seashore

 

เพลงประกอบภาพยนตร์ “ทะเลของฉันฯ”
“ทะเลของฝน” (A DROP OF THE SEA)

ดวงจันทร์หรือตะวัน
คืนวันร้อนเหน็บหนาว
โศกเศร้าหรือเป็นสุข
แตกต่างอยู่ด้วยกัน
ทะเล ของคลื่นลม
ลมฝนของภูเขา
ความต่างของสองเรา
แตกต่างอยู่เพื่อกัน

* เหมือนอวัยวะบนร่างกายของเรานั้น
ดูแตกต่างกันอยู่เพื่อกลายเป็นเรา
ในจักรวาลหลากหลายความต่างนี้
บางทีความสมบูรณ์แบบ
อาจเกิดจากสิ่งที่มันแตกต่างกัน

ความรักหรือการจาก
พลัดพรากหรือพบพาน
ห่างไกลเพื่อบรรจบ
หรือห่างกันเพื่อหลบหนี
ความต่างที่แสนห่าง
ผลักเราไกลแค่ไหน
กฎเกณฑ์ที่ล้อมไว้
ไม่อาจขังหัวใจ

** เหมือนอวัยวะบนร่างกายของเรานั้น
ดูแตกต่างกันอยู่เพื่อกลายเป็นเรา
ในจักรวาลหลากหลายความต่างนี้
บางทีความสมบูรณ์แบบ
อาจเกิดจากสิ่งที่มันแตกต่างกัน

*** เหมือนอวัยวะบนร่างกายของเรานั้น
ดูแตกต่างกันอยู่เพื่อกลายเป็นเรา
ในจักรวาลหลากหลายความต่างนี้
บางทีความสมบูรณ์แบบ
อาจเกิดจากสิ่งที่มันแตกต่างกัน

 


photo : Beach For Life[15]

 


[1]  The Esperanza,  www.greenpeace.org, สืบค้น 5 มิถุนายน 2567 https://www.greenpeace.org/thailand/about/ships/esperanza/

[2]  Witness, www.greenpeace.org, สืบค้น 5 มิถุนายน 2567 https://www.greenpeace.org/thailand/about/ships/witness/

[3] Yerba Mate,  www.chamate.in.th, สืบค้น 5 มิถุนายน 2567 https://www.chamate.in.th/yerba-mate/

[4] Alfajor ของหวานตามแบบฉบับอาร์เจนตินา, Embajada Argentina en Tailandia - สถานทูตอาร์เจนตินาประจำประเทศไทย,  สืบค้น 5 มิถุนายน 2567 https://www.facebook.com/story.php/?story_fbid=833974308766081&id=100064605585336

[5] E-Drive เทคโนโลยี,  www.carrier.com, สืบค้น 5 มิถุนายน 2567  https://www.carrier.com/truck-trailer/en/uk/products/eu-truck-trailer/E-Drive/

[6] กรีนพีซร่วมกับชุมชนชายฝั่งชุมพรเรียกร้องพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ชุมชนมีส่วนร่วม ในวันมหาสมุทรโลก, www.greenpeace.org/thailand,  สืบค้น 8 มิถุนายน 2567  https://www.greenpeace.org/thailand/press/53079/greenpeace-and-chumphons-fishing-communities-demand-community-led-marine-reserves/

[7] a.e.y.space บ้านในเมืองเก่า, www.baanlaesuan.com, สืบค้น 8 มิถุนายน 2567 https://www.baanlaesuan.com/78784/houses/like-a-self-portrait

[8] Awards of 30th VIFFAC, www.cinemas-asie.com, สืบค้น 8 มิถุนายน 2567 https://www.cinemas-asie.com/en/66-en/news/788-winners-2024.html

[9]  บันทึกและผสมเสียงยอดเยี่ยม, เชื่อGu ไปดูเลย, สืบค้น 2 มิถุนายน 2567 https://www.facebook.com/photo/?fbid=1019829833481668&set=a.1019743493490302

[10]  Solids by the Seashore ชีวิต วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ที่สั่นไหวเหมือนคลื่นทะเล | Cinefile EP26, Salmon Podcast,  สืบค้น 25 พฤษภาคม 2567 , https://www.youtube.com/watch?v=G9_-3nPSJeM

[11] ประหารชีวิต "อุทิศ ชูช่วย" คดีสังหาร "พีระ ตันติเศรณี" นายกเทศมนตรีสงขลา, www.thaipbs.or.th, สืบค้น 25 พฤษภาคม 2567  https://www.thaipbs.or.th/news/content/255544

[12]  10 ปีการต่อสู้เพื่อทวงคืนชายหาดของ อภิศักดิ์ ทัศนี ในวันที่กำแพงกันคลื่นกลืนชีวิตคน?, thepeople.co, สืบค้น 5 มิถุนายน 2567 https://www.thepeople.co/interview/social/50884

[13] นักท่องเที่ยวลื่นตะไคร่ล้มบาดเจ็บสาหัส, Beach for Life, สืบค้น 5 มิถุนายน 2567 https://www.facebook.com/Beachforlife.BFL/photos/a.435350093266385/2828420960625941/

[14]  สรุปงบโครงการป้องกันชายฝั่ง ปี 2567 ฉบับ พรบ., beachforlife.org, สืบค้น 8 มิถุนายน 2567 https://beachforlife.org/blog/14

[15]  กำแพงกันคลื่นกลืนชายหาด,  beachforlife.org, สืบค้น 8 มิถุนายน 2567  https://beachforlife.org/ebook