ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

"ทางออก คือสันติวิธี" บทเรียนความมั่นคงจากวันเสียงปืนแตกถึงปัญหาไฟใต้

20
สิงหาคม
2567
 

Focus

  • พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอให้เห็นพัฒนาการของการประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในชายแดนใต้พร้อมกับนโยบายความมั่นคงที่รัฐใช้ในการแก้ไขปัญหาว่ามาจากกฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์ในช่วงวันเสียงปืนแตกเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2508 และการใช้หลักการทางกฎหมายดังกล่าวมาปรับใช้กับสถานการณ์ชายแดนใต้ทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงตราบจนปัจจุบัน
  • พล.ท. ภราดร เสนอว่าทางออกคือ ต้องแก้ไขด้วยสันติวิธีและต้องให้มีการพูดคุยสันติภาพ และสร้างชุดความคิดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้แบบรัฐบาลประชาธิปไตยคือ ทำให้เกิดชุดความคิด PHD คือ Peace Happinese และ Dialog สันติภาพ จึงจะนำไปสู่สันติวิธีได้

 

 

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย :

ขอไปต่อที่ท่านภราดร ตกลงเราจะใช้สันติภาพหรือเราจะสร้างสันติสุขดีค่ะ แล้วก็คำถามของท่าน ในช่วงแรกที่จะให้พูดถึงเรื่องของ 2 ทศวรรษกับบทบาทฝ่ายความมั่นคง เรียนเชิญเลยค่ะ

 

พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร :

ขอบพระคุณครับ ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณทางสถาบันปรีดีฯที่กรุณาให้เกียรติผมเข้ามาร่วมเวทีเสวนาครั้งนี้ แล้วก็ขอขอบพระคุณแล้วก็สวัสดีท่านผู้เข้าร่วมเสวนา ในเวทีครั้งนี้ ตอนนี้ที่น้องแยมก็ตั้งคำถามของพี่ว่าอะไรแค่นั้นนะครับ

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย :

บทบาทล่ะคะ ตกลงว่าจะสร้างสันติสุขหรือสร้างสันติภาพ

 

 

พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร :

จริง ๆ ต้องมาจากสันติภาพก่อน แล้วมันจะทำให้องค์รวมสันติสุข ความเข้าใจเนี่ยถ้าเป็นภาษาอังกฤษ สันติภาพเหมือน output และสันติสุขเหมือน outcome นั้นขณะเดียวกันพี่เองก็เป็นหัวหน้าพูดคุยสันติภาพ

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย :

ใช่ ก็ตอนนั้นคือชื่อทำไมถึงจะทำไมถึงใช้ชื่อสันติภาพ แล้วก็พอต่อมาเขาก็เปลี่ยนชื่อเป็นสันติสุข แล้วรู้สึกอย่างไรคะ

 

พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร :

ในปี 2556 พี่ถือเป็นหัวหน้าตัวแทนของรัฐบาลไทย ที่พูดคุยกับขบวนการที่เห็นต่างคือ BRN แล้วก็อันนี้ตัวจริงเสียงจริงมาก็มีความเข้าใจ แล้วตอนนี้ที่น้องแยมก็ถามว่าบทบาท 2 ทศวรรษของความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มันยังไง มีพัฒนาการไหม มันเวิร์คไหม มันเป็นรูปธรรมไหม อันนี้พี่ก็บอกว่าการที่เข้ามาตั้งว่า 2 ทศวรรษคือ 20 ปี แน่นอนก็ไปเอาตัวตั้งจากที่ 4 มกราคม ปี 2547 ที่มีการปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง ก็เป็นการเผชิญหน้าระหว่างกองกำลังของผู้เห็นต่างกับกองกำลังของรัฐบาลไทยคือ กองทัพ ซึ่งตัวนี้มันไม่ได้แตกต่าง

พอดีพี่ค่อนข้างอาวุโสสามารถมีอายุที่ได้เจอ 2 เหตุการณ์ร่วมกันก็คือ ตั้งแต่ 2 เหตุการณ์ในภัยคอมมิวนิสต์ แล้วก็เรื่องของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาก็คือว่าชุดความคิดของกองทัพที่เอามาแก้ไขปัญหาความมั่นคงภายใน มันก็คือชุดความคิดเดียวกับที่แก้ปัญหาในเรื่องภัยคอมมิวนิสต์ซึ่งภัยคอมมิวนิสต์จริงแล้วเป็นเรื่องความเห็นต่างกัน แต่เป็นเชิงอุดมการณ์ระหว่างคอมมิวนิสต์กับประชาธิปไตย

ตอนนั้นมันก็เกิดขึ้นวันเสียงปืนแตก มันก็เกิดขึ้นวันเสียงปืนแตก 7 สิงหาคม 2508 แล้วตรงนั้นกองทัพก็เข้ามามีบทบาท ทำไมกองทัพต้องเข้ามามีบทบาทเพราะจริง ๆ แล้วรากเหง้าเข้าไปจริง ๆ เรื่องความคิดมันไม่เท่าไหร่ แต่รากของไอ้ความที่ว่าปัญหาความอยุติธรรมแล้วความอยุติธรรมที่เกิดในพื้นที่ มันกลายเป็นว่ามาจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองกับฝ่ายตำรวจ ทหารก็จึงต้องเข้ามาเป็นเจ้าภาพ

เมื่อทหารเข้ามาเป็นเจ้าภาพมันก็ต้องมีเครื่องมือที่จะขับเคลื่อน มันก็จึงเป็นที่มาของพระราชบัญญัติป้องกันการทำกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เพื่อให้ทหารมีอำนาจไปควบคุมบัญชาสั่งการฝ่ายพลเรือนฝ่ายตำรวจได้ ตัวแบบชุดความคิดอันนี้ติดอยู่ในกับทหารว่าเมื่อแก้ปัญหาก็จริงๆ แล้วเป็นเชิงรักษาความมั่นคงภายใน แต่สุดท้ายกฎหมายตัวนี้ มันให้อำนาจเราเพื่อจะไปใช้สั่งการแก้ไขปฏิบัติการทางทหาร แต่สุดท้ายปัญหาภัยคอมมิวนิสต์ มันไปจบลงแบบของประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ สำคัญที่สุดจะมีส่วนร่วม มันกลับไปจบที่นโยบาย 66/23 เรื่องป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วนโยบาย 65/25 คือเป็นนโยบายรุกทางการเมือง ซึ่งสุดท้ายเชื้อเชิญกลับมาร่วมพัฒนาชาติไทยเห็นไหมมันก็คือ มันกลับมาให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้วมาตกผลึกร่วมกัน แล้วก็แสวงหาทางออกได้ ฉะนั้นกฎหมายนั้นเป็นแค่เครื่องมือแต่ชุดความคิดมันลามไง

พอมาเกิดปล้นค่ายปิเหล็งขึ้นมา แต่กฎหมายคอมมิวนิสต์ มันไม่สามารถมาใช้ได้ เพราะมันเป็นชื่อคอมมิวนิสต์ พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในและก่อนที่จะแปลงกายหนักข้อเข้าไปอีก ตอนเราแก้คอมมิวนิสต์เราใช้พ.ร.บ.ตัวนี้เป็นหลัก แต่พอมาจังหวัดชายแดนภาคใต้มันก็มีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้ามาอีก ซึ่งก่อนมันจะแปลงกายเนี่ยมันก็มีกฎหมายมา มันเป็นทริกของรัฐบาลของรัฐบาลหมดว่า พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ หรือจะพระราชบัญญัติทั้งหลายอาจารย์วิษณุหันซ้ายขวา พอเกิดเหตุการณ์หยิบออกมาจากลิ้นชักเอามาเป็นพระราชกำหนดฯ สถานการณ์ฉุกเฉินเลย

แล้วตรงนี้มันเป็นเครื่องมือที่พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ก็จะหลีกเลี่ยงการใช้ เพราะว่าพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ กับกฎอัยการศึกมันคุ้มครองเจ้าหน้าที่ ตรงนี้มันก็เป็นการไปจำกัดสิทธิเสรีภาพ แล้วก็เจ้าหน้าที่ก็ปลอดภัยด้วย โดยเฉพาะกฎอัยการศึก แล้วคนออกแบบกฎหมายก็ช่างออกแบบเขาบอกว่าถ้ามีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ งดใช้ พอบางเรื่องจะไปจัดการกับประชาชนโดยควรจะใช้กฎหมายซอฟต์เป็นพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พอประกาศพ.ร.ก. ฉุกเฉินน ก็ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และยิ่งหนักข้อเข้าไป เพราะชุดความคิดทหารเป็นเจ้าภาพ ทหารก็กฎอัยการศึก อันนี้หนักข้อเข้าไปใหญ่ไม่ต้องมีหมาย 7 วันเชิญมาเลย

 

 

อันนี้เลยชี้เห็นที่มาที่ไปว่าชุดความคิดอันนี้มันลากมา 20 ปีแล้วมันไม่มีพัฒนาการ พอกฎหมายความมั่นคงมันประกาศไปทุก 3 ฉบับ แน่นอนครับมันก็เป็นเงื่อนไขไง การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดของความเห็นต่างก็คือการพูดคุยสันติภาพ แต่การพูดคุยสันติภาพมันจะมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลก็คือจะต้องมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย แล้วสภาวะแวดล้อมจะเอื้อต่อการพูดคุยยังไง มันต้องใช้กฎหมายพิเศษให้น้อยที่สุด มันถึงจะเกิดเวทีที่มาพูดคุยกันได้ให้เกิดความสัมฤทธิ์ แต่นี่เล่น 3 ฉบับเลย ฉะนั้นความมุ่งหวังนั้นจะให้ไปเกิดโดยการแก้ไขด้วยการพูดคุยมันจะสัมฤทธิ์ผลนั้นลำบาก แต่ขณะเดียวกันการที่ทหารเกิดขึ้นมาเป็นเจ้าภาพ ไม่เป็นไร

แต่สิ่งที่น่าพึงอันตรายและเป็นปัญหา เพราะชุดความคิดกับการที่ทหารเขาได้การรับฝึกอบรมมาเพื่อไปสู้กับข้าศึกที่เป็นล่าศัตรูนอกประเทศมันไม่ใช่คนไทยด้วยกัน แต่ให้ทหารเป็นเจ้าภาพ ถามว่าทหารควรเป็นเจ้าภาพไหมในภัยคอมมิวนิสต์ ควรเป็นระยะหนึ่งแต่จากนั้นไปก็จะมาส่งไม้ให้ฝ่ายพลเรือนและตำรวจ เช่นเดียวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทหารเป็นเจ้าภาพก่อนเป็นพี่เลี้ยง แล้วค่อยส่งไม้ให้ตำรวจ แล้วก็ฝ่ายปกครองแต่ปรากฏว่าปัญหาคือมันไม่ยอมส่งไม้ คือจะเป็นพี่เลี้ยง

ถามว่าทำไมเกิดปัญหานี้ขึ้น อ้างว่าต้องการเอกภาพต้องการบูรณาการ แต่สุดท้ายสภาพปัญหาลึก ๆ จริงๆ เนี่ยมันกลายมาเป็นเรื่องผลประโยชน์งบประมาณ มันก็ลากกันยาวแล้วถ้าเป็นพี่เลี้ยงแล้วเราส่งต่อ พี่ยืนยันเลยมันแค่ตอนเกิดปิเหล็งแค่ 5 ปีมา มันจะส่งไม้ต่อได้ทำให้พลเรือนกับตำรวจเข้ามาแทนแล้วตอนนี้ก็บอกว่าปี 2570 จะส่งไม้ให้ มันก็จะเกิดเหตุว่าส่งไม้ไม่ได้ อ้างว่าตำรวจและฝ่ายปกครองก็ไม่พร้อมจะรับมือ แล้วมันก็อาจจะเกิดเหตุการณ์

 

 

การเกิดเหตุการณ์ก็ถูกตั้งสมมติฐานอีกว่ามันเกิดเหตุการณ์ตามธรรมชาติหรือมันเกิดเหตุการณ์เพราะมีคนสร้างสถานการณ์อีก กฎหมายนี้ก็ไม่จบสิ้นสักที ตอนนี้ชี้ให้เห็นว่าบทบาทที่ผ่านมาสภาพปัญหามันก็คือว่าชุดความคิดไม่ได้เปลี่ยนไปใช้ตัวแบบเดิม เพียงแต่เปลี่ยนกฎหมาย แล้วแถมเอากฎหมายมากขึ้นด้วยมาจำกัดสิทธิเสรีภาพ ฉะนั้นตรงนี้ไงที่มันเป็นปัญหาว่า พอเกิดการพูดคุยสันติภาพอะไรขึ้นมามันช้าก็เพราะว่าสภาวะแวดล้อมมันไม่เอื้อ

การที่มีเปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลรัฐประหารถามว่ามันจะต้องมีการพูดคุยต่อไหมถามว่ารัฐบาลชุดรัฐประหารบอกให้มีการพูดคุย แต่มีการพูดคุยเพื่อสร้างภาพไว้ว่าประเทศนี้มีทางออกด้วยการพูดคุยกันด้วยสันติภาพ แต่เหมือนถ้าเป็นทหาร หน้าเดินแต่ว่าไม่เดิน ซอยเท้าไว้

ส่วนฝ่ายผู้เห็นต่างก็จำเป็นต้องมาร่วม เพราะถ้าไม่ร่วมเดี๋ยวก็ตกเวทีเพียงแต่รอว่าเมื่อไหร่จะมีรัฐบาลประชาธิปไตย แล้วจะได้สานต่อ แต่ปรากฏว่าโชคร้ายก็มาเจอรัฐบาลข้ามขั้ว เดิมทีมันเหมือนเกือบจะไปได้ เพราะว่าพี่ก็อยู่ในเหตุการณ์ที่เข้าไปร่วมทำนโยบาย ได้มีการเปลี่ยนแปลงแน่เพราะได้กลับมาดูแล ที่ไหนได้พอเกิดรัฐบาลข้ามขั้ว ตอนนี้ก็เลยลูกผีลูกคน อันนี้คือสภาพข้อเท็จจริงมันก็เลยได้

บทสรุปว่า บทบาทสองทศวรรษที่ผ่านมา สุดท้ายชุดความคิดมันไม่ใช่ มันไม่เกิดการพัฒนาการเพราะยังใช้ทหารเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับคุณลักษณะของเขา เขาสามารถรับมือเบื้องต้นได้แต่จากนั้นแล้วมันเป็นสากล ทุกประเทศในโลก ถ้าเป็นพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พลเรือนหรือตำรวจเป็นเจ้าภาพ ถ้ากฎอัยการศึกทหารเป็นเจ้าภาพ ถ้าเรานำไปสู่ในมิติแบบที่พี่พูดไม่ได้ การคลี่คลายสถานการณ์จะเกิดขึ้นได้

 

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย :

ขอบคุณครับค่ะขอบคุณพี่แมว ก็ฉายภาพให้เห็นชัดเจนนะคะ 2 ทศวรรษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภัยความมั่นคงยังคงอยู่ในกำมือของทหาร ฉะนั้นแนวทางการจัดการแก้ไขปัญหาจึงไม่สามารถข้ามพ้นไปสู่ทางแห่งสันติภาพที่เป็นสากลหรือสันติภาพที่ยั่งยืนในความหมายของสิ่งที่เรากำลังแสวงหากันอยู่

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย :

ดิฉันคิดว่าปัญหาสำคัญคิดว่าฝ่ายความมั่นคง คือตอนนี้มีรัฐบาลประชาธิปไตยแล้วแต่ยังไม่สามารถแย่งอำนาจมาจากฝ่ายความมั่นคงเพื่อมาจัดการปัญหานี้ได้ ต้องทำอย่างไรคะ

 

พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร :

มันก็เลยเกิดข้อสงสัยกันทั่วประเทศอยู่ว่า มันเป็นประชาธิปไตยจำแลงหรือเปล่า แต่ใจกลางของปัญหา ในเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังยืนยันว่ารากลึกของมันคือ ความไม่ไว้วางใจกัน ซึ่งเกิดจากฝ่ายความมั่นคงไปตั้งประเด็นหลักคือ เรื่องแบ่งแยกดินแดนแล้วก็ฝันอยู่ตรงนั้น แม้กระทั่งนอนหลับก็ฝันอยู่ว่าห้ามแบ่งแยกดินแดน ตอนนี้ประเด็นตรงนี้กลายเป็นประเด็นหลัก แล้วมันก็ไปกดทับเรื่องอื่นไปเรื่องสิทธิ เสรีภาพ พี่จะนับถือศาสนาอาจจะแต่งกาย จะศึกษา จะมีขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมยังไง ประเด็นนี้ไปกดทับบังหมด เหตุปัจจัยหลักไประแวงเรื่องนี้เรื่องแบ่งแยกดินแดนถามว่ามันมีคนคิดไหมมันมี แต่เชื่อว่ามันน้อยแล้วมันไม่มีพลังพอแต่พอเอาประเด็นนี้เป็นหลัก แล้วเอาไปกดทับอย่างอื่น ตรงอื่นก็เลยปะทุขึ้นมาเป็นปัญหาเพราะมันไปจำกัดสิทธิเสรีภาพแล้ว

ถามว่าทางออกจริง ๆ มันก็ต้องด้วยสันติวิธี แล้วด้วยสันติวิธีก็ไม่ได้ยุ่งยากคือ มันต้องให้มีการพูดคุยสันติภาพ แต่การพูดคุยสันติภาพก็ย้อนกลับไปไง มันจะสัมฤทธิ์ผลได้ด้วยสภาวะแวดล้อมเอื้อต่อการพูดคุย สภาวะแวดล้อมเอื้อต่อการพูดคุยก็คือว่ามันต้องมีสิทธิเสรีภาพก็ต้องกรุณาเลิกกฏหมายพิเศษนี้ ทำให้มันเกิดการพูดคุยแต่ตรงนี้อิทธิฤทธิ์ที่จะเกิดสัมฤทธิ์ผลได้มันก็จะกลับไปที่เรื่องการเมืองสำคัญมากตอนการเมืองถ้าไม่เกิดรัฐบาลข้ามขั้ว พี่ยืนยันว่ามันจะเกิดสัมฤทธิ์ผล เพราะว่าอะไรครับจุดยืนมันต้องแข็ง รัฐบาลต้องอยู่แข็งข้างล่างยืนยันด้วยนโยบายนี้ องค์ประกอบเป็นอย่างนี้แล้วมันจะไปได้ ฉะนั้นชุดความคิดที่มันก็จะเกิดขึ้นมันก็จะเกิดชุดความคิดแบบที่ว่าถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยมันก็จะเกิดชุดความคิดที่เราควรยึดคือ PHD คือ Peace Happinese แล้วก็ขับเคลื่อนสัมผัสได้ด้วย Dialog สันติภาพตรงนี้จะเป็นทางออกได้

 

 

ตรงนี้พี่ยืนยันว่า เนื่องจากเหตุปัจจัยที่ฝ่ายความมั่นคงเอาติดไว้ เรื่องแบ่งแยกดินแดน ซึ่งสุดท้ายก็วนกลับไปที่เราพูด แยมพูดเอกภาพ บูรณาการ สิ่งเหล่านี้สุดท้ายก็กลบไว้ด้วยเรื่องผลประโยชน์อีก แล้วทำให้ประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะช่วง 9 ปีของรัฐบาลยึดอำนาจ ทำให้โมเดลที่ควรจะไปที่พี่เปิดหัวไว้แล้วมันจะพัฒนาการมา จริงๆ ถ้าไม่เกิดการขบวนการยึดอำนาจรับรองว่าไม่เกิน 5 ปี เราเห็นแสงสว่างชัด ๆ จากกระบวนการพูดคุยสันติภาพแล้วมันจะเป็นทางออกประเทศได้

ฉะนั้นชุดความคิดที่ว่าเป้าหมายต้องชัด ความสงบความสุขสัมผัสได้จริงด้วยการพูดคุยสันติภาพก็ขอฝากไว้ แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งที่ผมได้กลับไปมีโอกาสไปเสนอแนะหรือขับเคลื่อนในนโยบายของรัฐบาล ผมยืนยันว่าผมจะใช้แนวหลักคิดนี้แล้ว สุดท้ายจะแก้ไขปัญหาได้ เพราะผมก็เป็นนักเรียนทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อย จปร. โรงเรียนการทหารต่างประเทศ แล้วก็มีความรู้ความเข้าใจ แล้วเป็นหัวหน้าพูดคุยคนแรกสันติภาพของประเทศไทย ผมเข้าใจปรัชญาในการแก้ไขปัญหานี้ แล้วขอย้ำผมมีจุดยืนและความมุ่งมั่นอุดมการณ์ที่จะเป็นแบบเดิม ขอเพียงที่วันใดที่ผมได้มีอำนาจเข้ามาเป็นส่วนในการบริหารประเทศรับรองครับ ในมิติความมั่นคงเราสามารถแสวงหาทางออกได้เสมอ ขอบคุณครับ

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย :

ขอบคุณพี่แมวด้วยนะคะ ก็หวังว่าเดี๋ยวพี่แมวก็ได้มีโอกาสเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้นะคะ

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=bX35ndG_MPg&t=76s

 

ที่มา : PRIDI Talks #27: 79 ปี วันสันติภาพไทย : “ถอดบทเรียน 2 ทศวรรษไฟใต้ : เพื่อเส้นทางสู่สันติภาพ” วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 10.30-12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์