ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

จดหมายถึงบ้านอองโตนี จากหนุ่มลูกชาวนาผู้ตั้งชื่อบุตรชายว่า "ปรีดี"

25
กันยายน
2567

Focus

  • บทความนี้นำเสนอเรื่องราวของนายพิชัย เพ็ชรมะโนสัจจะ ผู้เขียนจดหมายถึงนายปรีดี พนมยงค์ ณ บ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส จำนวน 2 ฉบับในปี 2516 เกี่ยวกับการตั้งบุตรชายของตนเองว่า 'ปรีดี' และต่อมาได้มีจดหมายตอบกลับจากนายปรีดีถึงนายพิชัย จำนวน 1 ฉบับ

 


ภาพของพิชัย เพ็ชรมะโนสัจจะ คนที่ 2 ในแถวหลังจากด้านซ้าย และสวมเสื้อสีขาว

 

ปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่บ้านอองโตนีชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้รับจดหมายฉบับหนึ่งส่งมายัง นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสและอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของไทยซึ่งต้องเดินทางออกจากบ้านเกิดเมืองนอนแล้วระหกระเหินอยู่ในต่างแดนเพื่อลี้ภัยทางการเมือง โดยได้พำนักอยู่ในประเทศจีนยาวนานกว่า 21 ปี และย้ายมาพำนักในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1970 (ตรงกับ พ.ศ. 2513)

จดหมายลงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ฉบับนั้นเป็นลายมือเขียนด้วยดินสอโดยคนหนุ่มวัย 31 ปี ผู้มีนามว่า พิชัย เพ็ชรมะโนสัจจะ

เพื่อให้คุณผู้อ่านบังเกิดความรู้สึกราวกับได้ย้อนเวลาไปร่วมนั่งอ่านจดหมายอยู่เคียงข้าง นายปรีดี ผมจะขอยกเนื้อความของจดหมายทั้งฉบับมาแสดงให้เห็นดังนี้

 

เรียน พณ.ท่านปรีดี ที่เคารพ

ก่อนอื่นผมขอแนะนำตัวเองต่อท่านเสียก่อน ผมมีอาชีพเป็นลูกจ้างซึ่งขณะนี้ทำงานอยู่กับหน่วยพัฒนาประจำประเทศลาว บรรพบุรุษของผมมีพื้นเพเหมือนอย่างท่านคือกระดูกสันหลังของชาติ จะต่างกับท่านอยู่บ้างก็ตรงที่ผมมีฐานะค่อนข้างปานกลางถึงยากจน แต่ก็ไม่จนถึงขนาดเป็นหนี้เป็นสินเขา ฉะนั้นการศึกษาผมจึงได้รับแค่ระดับปานกลางคือมัธยม 8 โอกาสที่เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยของผมมีน้อยมาก คือว่ามันสมองของผมอาจยังไม่เข้าขั้นหนึ่ง และก็ปัจจัยในการเรียนขั้นอุดมศึกษาอีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้นผมเลยหางานทำกับองค์การของสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งผมได้ทุนมาเรียนวิชา COMPUTER ในสหรัฐอเมริกาและก็เป็นวิชาอาชีพติดตัวผมจนขณะนี้ ผมอายุ 31 ปี มีครอบครัวแล้ว ลูกสาว 1 คน 6 ขวบ ชาย 2 คน 5 ขวบและ 9 เดือน ผมมีความสนใจในการเมืองมาก แต่ผมก็ไม่มีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้ามากนัก เพราะหนังสือราคาแพง ๆ ไม่มีโอกาสจะค้นหาได้ นอกจากหยิบยืมห้องสมุดหรือคำบอกเล่าจากบางท่านที่เกิดก่อน จากการศึกษาโดยการบอกเล่าของผู้อื่นนี้แหละ ที่ผมต้องศึกษาเรื่องตัวท่านมากขึ้น เพราะเมื่อผมอายุ 18 ปี ผมมีความเชื่อมั่นว่าท่านเป็นคอมมูนิส คิดทำลายชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ ตลอดจนการปลงพระชนม์ ร.8 ท่านคงเดาถูกนะว่าผมมีความรู้สึกในตัวท่านอย่างไรในขณะนั้น จนกระทั่งผมอายุ 25 ปี มีเงินพอจะหาหนังสืออ่านและคบค้ากับบัณฑิตบางท่าน ผมจึงเริ่มมีความคิดเห็นต่อสู้กันขึ้น คือว่า ความรู้สึกเก่าๆก็ยังมีอยู่ แต่ความรู้ใหม่จากการอ่านการคิดและพิจารณาจากผลงานของท่านเมื่อคราวเสรีไทย ทำให้ผมเกิดความคิดอยากศึกษาความจริงจากตัวท่านมากขึ้น

จนกระทั่งผมอายุ 27 ปี ผมมีลูกชายคนแรก ผมจึงตั้งชื่อว่าปรีดี เพราะคิดว่าท่านเป็นคนดีจริง แต่นั่นยังไม่พอ ผมยังศึกษาและค้นคว้าตามมีตามเกิด จนกระทั่งผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือซึ่งเก็บมาเล่าโดยนายสุพจน์ ด่านตระกูล และโลกของพระศรีอาริย์ ซึ่งเขียนโดย ดร. ไมตรี เด่นอุดม ผมจึงเชื่อมั่นว่าท่านเป็นรัฐบุรุษโดยแท้จริง ผมตั้งใจจะเขียนถึงท่านมานานแล้ว แต่ผมไม่ทราบที่อยู่ของท่าน จนกระทั่งผมได้หนังสือเล่มหนึ่งจากร้านนีติเวชช์ ตรงข้ามวัดพระแก้ว เกี่ยวกับราชวงศ์ซึ่งท่านเป็นผู้เขียนและ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผมเลยตัดสินใจเขียนจดหมายมาหาท่าน และหวังว่าท่านคงไม่รังเกียจที่จะอ่านจดหมายของผม ความประสงค์ของผม นอกจากจะเขียนมาขอประทานอนุญาตจากท่าน เพื่อให้ผมได้ตั้งชื่อลูกชายผมว่า "ปรีดี" ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับท่านแล้ว ผมยังต้องการขอขมาในความเข้าใจผิดในตัวท่านตลอดมาแต่แรกด้วย แต่ถึงอย่างไร ผมก็ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการชี้แจงให้คนส่วนมากได้เข้าใจในตัวท่านมากขึ้น ถึงแม้ว่าแรก ๆ ผมจะถูกคนเหล่านั้นเรียกว่าผม "แดง" ก็ตามที แต่ระยะหลัง ๆ เขาเหล่านั้นก็เข้าใจดีขึ้น เพราะผมไม่ได้บอกให้เขาเชื่อ แต่ผมบอกให้เขาใช้สมองคิดและพิจารณาตามเหตุผล หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ "มหาราษฎร์" เป็นอีกฉบับหนึ่งซึ่งผมรับประจำและก็พยายามชักชวนให้คนอ่านมากขึ้น และในที่สุดสิ่งที่ผมอยากพบอยากเห็นก็ปรากฏขึ้นใน "มหาราษฎร์" นั่นคือบทความที่เขียนโดยท่านเอง จากการอภิปรายในอังกฤษและเยอรมัน และผมหวังว่าท่านคงจะกรุณาเขียนบทความต่างๆอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมมาให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาข้อเท็จจริงอีก

ก่อนหน้านี้ผมได้จัดส่ง น.ส.พ. เดลินิวส์ ซึ่งลงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยอันเป็นที่รักของเรามาให้ท่านได้พิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหวังว่าท่านคงจะหาทางแก้ไขโดยการแนะนำหรืออะไรก็ตามแต่ เพื่อที่จะช่วยให้ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ของเรามีแต่ความเจริญก้าวหน้าต่อ ๆ ไป

ผมขอกราบเรียนด้วยความจริงใจว่า โครงการณ์เศรษฐกิจของท่านเมื่อ พ.ศ 2475 นั้น ช่างเหมาะสมกับประเทศไทยในขณะนี้เหลือเกิน ผมอยากเห็นโครงการณ์นั้นได้กลับมาใช้ในเมืองไทยอีกสักครั้ง เพราะขณะนี้บรรยากาศทางการเมืองเป็นของประชาชนโดยแท้แล้ว

     ขอแสดงความเคารพอย่างสูง
    พิชัย เพ็ชรมะโนสัจจะ

 

ปล. กรุณาตอบรับทราบด้วยครับ

 

สิ่งที่ปรากฏบนหน้ากระดาษจดหมายทำให้เราพอจะทราบว่า พิชัย เพ็ชรมะโนสัจจะ เป็นลูกชายของชาวนาไม่ผิดแผกจาก นายปรีดี แต่เขามิได้มีโอกาสร่ำเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เพราะด้วยฐานะของครอบครัวมีกำลังส่งเสียให้เรียนจนถึงเพียงแค่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 เขาจึงต้องหางานทำโดยเขาสมัครเป็นลูกจ้างในองค์การของประเทศสหรัฐอเมริกา

ความที่ พิชัย เป็นผู้มีความมานะอุตสาหะจึงได้รับทุนการศึกษาให้ไปเรียนด้านคอมพิวเตอร์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็กลายมาเป็นอาชีพติดตัวของเขา

หน้าที่การงานของ พิชัย ในขณะเขียนจดหมายคือเป็นลูกจ้างของหน่วยพัฒนาประจำประเทศลาว และหากพิจารณาถึงข้อมูลที่เขาระบุไว้บนหน้าซองจดหมายชนิดเร่งด่วน (express) อันมีภาพอนุสาวรีย์ท้าวสุนารีหรือ “ย่าโม” และลงชื่อจังหวัดนครราชสีมา (NAKORNRAJSIMA) ทั้งนามภาษาอังกฤษของเขาที่เขียนสะกดว่า Pichai Pechmanosaja และการจ่าหน้าซองว่าส่งมาจาก MGT/DSB, USAID/LAOS, VIENTIANE PO BOX 818. ก็ทำให้ทราบว่าจริงๆแล้ว พิชัย ทำงานอยู่กับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาหรือยูเอสเอด (United States Agency for International Development หรือ USAID) อันเป็นหน่วยงานอิสระของรัฐบาลสหรัฐฯที่มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือต่างประเทศเพื่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจระยะยาว ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1961 (ตรงกับ พ.ศ. 2504) ในสมัยที่ จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

องค์การยูเอสเอดปฏิบัติภารกิจทั้งในทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชีย ภูมิภาคละตินอเมริกา ภูมิภาคตะวันออกกลาง และพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของทวีปยุโรป

สำหรับ พิชัย นั้น เขาทำงานกับ USAID ประจำประเทศลาว

พิชัย ยังกล่าวอีกว่า เขามีความสนใจต่อการเมืองยิ่งนัก แต่ด้วยฐานะทางการเงิน จึงไม่สามารถซื้อหนังสือการเมืองที่ราคาสูงมาศึกษาได้ ต้องอาศัยยืมอ่านจากห้องสมุดต่าง ๆ รวมถึงรับฟังคำบอกเล่าจากผู้รู้

ย้อนไปในตอนที่ พิชัย อายุ 18 ปีเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2503 เขาก็เคยมีความเข้าใจผิดต่อ นายปรีดี เฉกเช่นเดียวกันกับคนไทยจำนวนมากในห้วงเวลานั้น โดยเฉพาะการเชื่อมั่นว่า นายปรีดี เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นภัยอันตรายต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลหรือในหลวงรัชกาลที่ 8 ซึ่งแน่นอนว่า ภาพของ นายปรีดี ย่อมมิแคล้วผู้ร้ายและช่างน่าเกลียดชังในสายตาของเขา

จวบจน พิชัย อายุล่วงมาถึง 25 ปีใน พ.ศ. 2510 เขาน่าจะทำงานกับองค์การของสหรัฐอเมริกาแล้ว และมีเงินเพียงพอที่จะซื้อหนังสือนำเสนอเนื้อหาทางการเมืองมาศึกษาค้นคว้า รวมถึงได้สนทนาแลกเปลี่ยนกับผู้รู้หลาย ๆ ท่าน

การอ่านหนังสือนับเป็นปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนทัศนคติของ พิชัย ที่เคยมีต่อ นายปรีดี ในแง่ลบให้กลายมาสู่ความเคารพและศรัทธา โดยเฉพาะผลงานโดดเด่นในเรื่องขบวนการเสรีไทย

กระทั่งราว พ.ศ. 2512 เมื่อ พิชัย อายุได้ 27 ปี ตอนนั้นเขาแต่งงานแล้ว มีบุตรสาวหนึ่งคน และบุตรชายคนแรกเพิ่งจะเกิดในปีนั้น โดยเขาตั้งชื่อบุตรชายคนนี้ว่า “ปรีดี”  นั่นก็เพราะเขาได้เปลี่ยนแนวคิดมาเลื่อมใสในตัวของ นายปรีดี พนมยงค์ อย่างมาก

ไม่เพียงเท่านั้น พิชัย ยังหมั่นเสาะหาหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวของ นายปรีดี มาศึกษาอยู่เนือง ๆ เช่น หนังสือหลายเล่มของ สุพจน์ ด่านตระกูล และหนังสือเรื่อง โลกพระศรีอารย์ของปรีดี พนมยงค์ ที่ ดร.ไมตรี เด่นอุดม แปลและเรียบเรียงมาจากงานของ ปิแอร์ ฟิสติ (Pierre Fistié) ซึ่งเป็นงานศึกษาแนวความคิดของ นายปรีดี จากเค้าโครงการเศรษฐกิจหรือสมุดปกเหลือง เป็นต้น

พิชัย เล่าอีกว่าเขาเคยได้หนังสือเล่มหนึ่งซึ่ง นายปรีดี เขียนเกี่ยวกับราชวงศ์มาจาก ร้านนิติเวชช์ ซึ่งเป็นร้านขายหนังสือกฎหมายที่มีชื่อเสียง ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้วหรือบริเวณที่เรียกขานกันว่า “หน้าพระลาน”

ต่อมาภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งขบวนการนิสิตนักศึกษาและประชาชนต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยและสามารถขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารได้สำเร็จ อีกทั้งในสังคมไทยเริ่มมีบรรยากาศของสิทธิเสรีภาพมากขึ้นกว่าเดิม พิชัย จึงตัดสินใจเขียนจดหมายลงวันที่ 16 ตุลาคมปีเดียวกันส่งถึง นายปรีดี ผู้กำลังพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส มีจุดประสงค์หลักเพื่อกล่าวขอขมาที่เขาเคยเข้าใจผิดต่อ นายปรีดี และขออนุญาตที่เขาได้ตั้งชื่อบุตรชายคนแรกตามชื่อของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งตอนนั้นบุตรสาวของเขาอายุ 6 ขวบ เด็กชายปรีดีอายุ 5 ขวบ และเขายังเพิ่งมีบุตรชายคนเล็กอายุ 9 เดือน

พิชัย กล่าวด้วยว่าเขายังติดตามอ่านหนังสือพิมพ์ มหาราษฎร์ เป็นประจำ ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์แนวการเมืองที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเผด็จการทหารอย่างตรงไปตรงมา

มหาราษฎร์ เริ่มปรากฏโฉมและแสดงบทบาทอย่างแข็งขันช่วงปี พ.ศ. 2513 สำนักงานตั้งอยู่ในซอยวัฒนโยธินไม่ไกลจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จัดทำโดยกลุ่มของนักหนังสือพิมพ์ นักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้าอย่าง ปรีชา สามัคคีธรรม วีระ โอสถานนท์ ทวี เกตะวันดี ชวินทร์ สระคำ ยอดธง ทับทิวไม้ ทองใบ ทองเปาด์ และ นพพร สุวรรณพานิช อีกทั้งบรรดานิสิตนักศึกษาที่รวมตัวกันช่วงยุคก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ก็เข้าประจำกองบรรณาธิการและเป็นคอลัมนิสต์ เช่น ธัญญา ชุนชฎาธาร และ ธีรยุทธ บุญมี  นอกจากนี้ ยังมี สมชัย กตัญญุตานันท์ เจ้าของนามปากกา “ชัย ราชวัตร” วาดการ์ตูนวิพากษ์วิจารณ์การเมืองด้วย

รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรได้สั่งปิด มหาราษฎร์ อยู่หลายครั้ง ส่วนนักเขียนและคอลัมนิสต์ก็ถูกติดตามและจับกุมคุมขังบ่อย ๆ แต่ก็ยังเป็นหนังสือพิมพ์ที่ขายดีมากๆในหมู่ปัญญาชนและคนหัวก้าวหน้า

ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มหาราษฎร์ ยังคงเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างเข้มข้น กลายเป็นหัวหอกของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของหนังสือพิมพ์และประชาชน แต่ก็ต้องมายุติการออกหนังสือพิมพ์ในปี พ.ศ. 2519 เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งขณะนั้น ปรีชา สามัคคีธรรม หนึ่งในคณะผู้จัดทำ มหาราษฎร์ ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมนักข่าว ซึ่งเขาบอกเล่าถึงสถานการณ์ไว้เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2520 ว่า

"สำหรับปัญหาหนักอกที่สถาบันหนังสือพิมพ์ต้องเผชิญ และได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงภายหลังการปฏิรูปเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ทั้งการสั่งปิดหนังสือพิมพ์และการใช้มาตรการที่เข้มงวดต่อวงการหนังสือพิมพ์นั้น สมาคมนักข่าวฯ และสถาบันร่วมวิชาชีพอื่นก็ได้ประสานความสามัคคีกันเหนียวแน่นในอันที่จะทำความเข้าใจกับคณะปฏิรูปในช่วงต้นกับรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรในช่วงหลัง แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ความเพียรพยายามในอันจะเสริมสร้างความเข้าใจต่อกัน ไม่บรรลุเป้าประสงค์เท่าที่ควร

แต่ก็เป็นที่น่ายินดีที่ปรากฏว่า วงการหนังสือพิมพ์เราได้ผนึกความสามัคคีกันอย่างเหนียวแน่น เมื่อเผชิญกับกรณีที่คณะที่ปรึกษาของเจ้าพนักงานการพิมพ์ได้ออกมาตรการเกี่ยวกับการใช้ภาษาพูด ภาษาเขียน ในครั้งนั้นสถาบันหนังสือพิมพ์ ได้มีการประชุมพบปะหารือเพื่อหาทางคลี่คลายกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2519 ปรากฏว่า จากผลแห่งการแสดงพลังสามัคคีของพวกเรา ทางคณะที่ปรึกษาก็ได้มีการลดหย่อนผ่อนปรนความเข้มงวดพอสมควร”

ปรีชา สามัคคีธรรม เคยเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงต้นทศวรรษ 2500 เขาได้ร่วมประท้วงการขึ้นค่าสมัครสอบและกล่าวพาดพิงถึงบุคคลสำคัญในคณะปฏิวัติ ส่งผลให้ต้องถูกคัดชื่อออกจนพ้นสภาพการเป็นนักศึกษา เพราะแสดงความก้าวร้าวต่อฝ่ายทหาร ทั้ง ๆ ที่เขากำลังเรียนอยู่ชั้นปี 3 ทำให้ไม่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรปริญญา ปรีชา จึงก้าวเข้ามายึดอาชีพนักหนังสือพิมพ์ ดังเสียงเล่าของเขาว่า

ตอนที่ร่วมทำกิจกรรมในธรรมศาสตร์ มีรุ่นพี่ชวนไปทำงานข่าวเพราะเห็นว่าเราเล่าข่าวสนุก หนังสือพิมพ์กรุงเทพถือเป็นที่แรกของการเริ่มต้นอาชีพนักข่าวควบคู่กับชีวิตนักศึกษา แต่พอถูกมหาวิทยาลัยลบชื่อ เราไม่มีเงินเรียนจึงไปทำหนังสือพิมพ์เต็มตัว อยู่มา 3-4 ฉบับ  ทั้ง น.ส.พ.เสียงอ่างทอง ยุคที่คุณสนอง มงคล อดีตผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นบรรณาธิการ น.ส.พ.หลักเมือง  น.ส.พ.เดลินิวส์ ตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการ รับผิดชอบข่าวการเมือง ควบคูไปกับทำหนังสือพิมพ์รายสับดาห์ชื่อมหาราษฎร์ นอกจากงานหนังสือพิมพ์แล้วยังมีโอกาสไปทำข่าวทีวีอยู่พักหนึ่งที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี ยุคที่สถานีตั้งอยู่ย่านเจริญผล

ปรีชา ใช้นามปากกา “นายคชา” เขียน “งิ้วการเมือง” ลงในหนังสือพิมพ์ มหาราษฎร์ โดยนำนิยายจีนมาประยุกต์เพื่อล้อเลียนสภาพการเมืองของประเทศไทยด้วยอารมณ์ขัน

ผมเขียนล้อเลียนการเมืองสนุก ๆ นักการเมืองก็ไม่โกรธ อย่างพล.อ.กฤษณ์ ศรีวรา อดีตผบ.ทบ. ที่ถูกล้อว่าไปล่องเรือเพื่อปรึกษาหารือเรื่องการเมือง พอเขาอ่านงานเรา ก็โทรศัพท์หาโดยตรง ชี้แจงว่าไม่ได้ทำแบบนั้นเราก็เข้าใจและเขาก็เข้าใจเรา แต่ก็มีนักการเมืองที่โกรธ คือ ม.ร.ว .คึกฤทธิ์ ปราโมช เพระเราไปให้ฉายาว่า เฒ่าสารพัดพิษ

เรื่องราวของ นายปรีดี พนมยงค์ ยังมักจะได้รับการนำเสนอผ่าน มหาราษฎร์ เฉกเช่นคราวหนึ่ง วีระ โอสถานนท์ ได้เดินทางไปสัมภาษณ์ นายปรีดี ขณะพำนักที่ประเทศฝรั่งเศส แล้วนำบทสัมภาษณ์ลงมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ดังจะยกเนื้อความตอนหนึ่งที่ นายปรีดี ตอบคำถามเกี่ยวกับกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8  มาแสดงคือ

คุณวีระ โอสถานนท์ ถามว่า “มีผู้พูดกันว่า จอมพล ป. และ พล.ต.อ. เผ่า ได้หลักฐานกรณีสวรรคตใหม่นั้น ท่านจะบอกได้หรือไม่ว่าอะไร”

นายปรีดี พนมยงค์ ตอบว่า “แม้ศาลฎีกาซึ่งมีผู้พิพากษาคณะเดียว โดยมิได้มีการประชุมใหญ่ของผู้พิพากษาศาลฎีกาได้ตัดสินประหารชีวิตนายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศริน ไปแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ส่งตัวแทนไปพบผมในประเทศจีน (หลังจากที่คุณสังข์ได้รับจดหมายขอบคุณจากท่านปรีดีแล้ว) แจ้งว่าได้หลักฐานใหม่ที่แสดงว่า ผู้ถูกประหารชีวิตทั้งสามคนและผมเป็นผู้บริสุทธิ์

ฉะนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรให้ออกกฎหมายให้มีการพิจารณาคดีใหม่ด้วยความเป็นธรรม

ครั้นแล้วก็มีผู้ยุยงให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับพวกทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 โค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ในระหว่างที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปลี้ภัยอยู่ใน ส.ร.อ. ชั่วคราว ก็ได้กล่าวต่อหน้าคนไทยไม่น้อยกว่าสองพันคนถึงหลักฐานที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้มานั้น

อีกทั้งในระหว่างที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ย้ายจาก ส.ร.อ. มาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นก็ได้แจ้งแก่บุคคลไม่น้อยกว่าสองคนถึงหลักฐานใหม่นั้น พร้อมทั้งมีจดหมายถึงผมสองฉบับ ขอให้ผมอโหสิกรรมแก่การที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำผิดพลาดไปในหลายกรณี

ผมได้ถือคติของพระพุทธองค์ว่า เมื่อผู้รู้สึกตนผิดพลาดได้ขออโหสิกรรม ผมก็ได้อโหสิกรรม และขออนุโทนาในการที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ไปอุปสมบทที่วัดพุทธคยา"

ท่านปรีดีกล่าวให้สัมภาษณ์ในที่สุดว่า “พวกฝรั่งก็สนใจกันมาก เพราะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่มีอายุความ ความจริงอาจปรากฏขึ้น แม้จะล่วงเลยมาหลายร้อยปีก็ตาม

ทุกวันนี้ก็มีคนพูดซุบซิบกัน ถึงกับนักเรียนหลายคนถามผม ผมก็ขอตัวว่าเป็นเรื่องที่พูดไม่ออกบอกไม่ได้ในขณะนี้ จึงขอฝากอนุชนรุ่นหลังและประวัติศาสตร์ตอบแทนด้วย”

หนังสือพิมพ์ มหาราษฎร์ ยังได้ลงพิมพ์บทความที่เขียนโดย นายปรีดี ด้วย ไม่ว่าจะเป็นบทอภิปรายที่ได้แสดงในประเทศอังกฤษหรือประเทศเยอรมนี ซึ่งการเห็นบทความเหล่านี้สร้างความตื่นเต้นให้กับ พิชัย เป็นอย่างมาก

 

จดหมายของ พิชัย เดินทางจากเวียงจันทน์ ประเทศลาวมาถึงบ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และ นายปรีดี ก็ได้อ่านเนื้อความของจดหมาย ก่อนที่จะเขียนตอบกลับเป็นจดหมายลงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีเนื้อความว่า

 

เรียน คุณพิชัย เพ็ชรมะในสัจจะ

ได้รับจดหมายของคุณฉบับลงวันที่ 16 เดือนนี้และหนังสือพิมพ์กับนิตยสารหลายฉบับที่คุณได้ส่งมาให้ผมแล้ว ขอแสดงความขอบใจมายังคุณเป็นอันมากในความปรารถนาดีและความเข้าใจดีที่คุณได้มีต่อผม

1. ผมมีความยินดีให้สัตยาบรรณในการตั้งชื่อลูกชายคนแรกของคุณว่า “ปรีดีซึ่งเป็นชื่อเดียวกับผม ขอถือโอกาสนี้อวยพรให้เด็กชายปรีดี เพ็ชรมะในสัจจะ จงมีความเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ และเป็นพลเมืองดีในการรับใช้ชาติและราษฎรไทยให้พัฒนาก้าวหน้าสู่ความประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ทุกประการเทอญ

2. หนังสือพิมพ์และนิตยสารชนิดที่คุณได้ช่วยส่งมาให้ผมนั้น ผมได้รับจากญาติมิตรที่ส่งมาให้เป็นประจำอยู่แล้ว ฉะนั้นเพื่อเป็นการประหยัดค่าส่งและเพื่อที่จะให้ผู้อื่นที่สนใจมีโอกาสอ่านบทความและข่าวคราวในหนังสือเหล่านั้น ผมจึงขอให้คุณได้ส่งหนังสือเหล่านั้นแก่ผู้รักชาติคนอื่น ๆ สุดแท้แต่คุณจะเห็นสมควร โดยขอให้คุณถือว่าเป็นคุณูปการในการช่วยเผยแพร่ทรรศนะของผมและความจริงในประวัติศาสตร์ซึ่งผมขอขอบคุณมายังคุณอีกครั้งหนึ่งด้วย

3. บทความ ปาฐกถา และหนังสือที่ผมได้เขียนหรือกล่าวไว้นั้นซึ่งเป็นหนังสือที่พิมพ์แจกในระยะหลัง ๆ นี้ได้มอบให้คุณปราโมทย์ พึ่งสุนทร อดีตเลขานุการคนหนึ่งของผมเป็นผู้จัดพิมพ์ ฉะนั้นขอให้คุณเขียนจดหมายตรงไปยังคุณปราโมทย์ พึ่งสุนทร เพื่อขอให้ส่งหนังสือต่าง ๆ มายังคุณ ที่อยู่ของคุณปราโมทย์ พึ่งสุนทร คือ 810 ถนนตากสิน บุคคโล อ.ธนบุรี กรุงเทพมหานคร

ผมได้สอดนามบัตรของผมมาในซองจดหมายนี้เพื่อแนะนำคุณต่อคุณปราโมทย์ พึ่งสุนทร ขอให้คุณนำบัตรนี้ส่งไปยังคุณปราโมทย์ พึ่งสุนทรพร้อมกับจดหมายที่คุณจะเขียนถึงผู้นั้นด้วย

4. ผมยินดีที่คุณได้แสดงถึงการเป็นผู้มีคุณธรรมสูงสมดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงเทศนาสั่งสอนว่าให้บุคคลได้ละทิ้งทิฐิที่ตั้งอยู่บนอคติ เมื่อคุณมีความเข้าใจผิดในตัวผมในระยะแรกแล้วได้เขียนมาขอขมาในความเข้าใจผิดนั้น ผมมิได้ถือว่าคุณมีความผิดอย่างใดในตัวผมเลย เพราะความเข้าใจผิดของคุณเกิดขึ้นได้เนื่องจากพวกอธรรมที่ใช้กลอุบายหลอกลวงผู้บริสุทธิ์มากหลายมิใช่เฉพาะคุณเท่านั้นให้หลงเชื่อไปชั่วขณะ แต่ในที่สุดสัจจะก็ต้องปรากฏขึ้น คุณเป็นผู้ที่กล้าหาญยอมรับในความเข้าใจผิดเช่นนี้จึงควรได้รับความสรรเสริญ ดังนั้นผมจึงขออวยพรให้คุณและครอบครัวจงประสบศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลและเป็นพลังสำคัญส่วนหนึ่งของชาติและราษฎรไทยในการต่อสู้เพื่อบรรลุถึงซึ่งประชาธิปไตยสมบูรณ์

5. พร้อมกับเที่ยวเมล์อากาศนี้ ผมได้ส่งหนังสือ 4 เล่ม คือ (1) “ปรัชญาคืออะไร (2) “ความเป็นอนิจจังของสังคม” (3) “สำเนาคำฟ้องบริษัทสยามรัฐกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์กับพวก (4) “ศิษย์อาจารย์ มาให้คุณโดยทาง ป.ณ. อากาศประเภทเอกสารตีพิมพ์

ขอแสดงความนับถือ

 

หากลองสังเกตในจดหมายที่ นายปรีดี เขียนตอบกลับแล้ว จะพบการเอ่ยถึงนามสกุลของ พิชัย ว่า “เพ็ชรมะในสัจจะ” ทั้งนี้อาจเพราะจดหมายของ พิชัย เขียนเป็นลายมือด้วยดินสอ และตัวอักษรก็หวัด นายปรีดี จึงอ่านคำว่า “มะโน” ในนามสกุลกลายเป็น “มะใน”

หลายเดือนต่อมาซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นในปี พ.ศ. 2517 แล้ว พิชัย ยังส่งการ์ดกระดาษที่มีภาพแจกันดอกกุหลาบสีเหลืองและสีชมพู พร้อมไวโอลินวางเคียงข้าง โปรยถ้อยความว่า Happy Birthday To A Grand Person มายัง นายปรีดี ที่บ้านอองโตนีอีกครั้ง เพื่ออวยพรในวาระครบรอบวันเกิด 11 พฤษภาคม และแสดงความห่วงใยต่อการป่วยของรัฐบุรุษอาวุโส บนการ์ดยังมีบทกลอนภาษาอังกฤษว่า

 

    To wish a grand person

A birthday that bring

A special assortment

Of wonderful things

And then, when your birthday

Is over and done

May the year just ahead

Be your happiest one!

 

ส่วนเนื้อความของจดหมายอวยพรฉบับนี้ ก็มีความว่า

 

เรียน พณ.ท่านปรีดีที่เคารพ

ก่อนอื่นกระผมและครอบครัวใคร่ขออัญเชิญคุณพระศรีรัตนตรัยจงดลบันดาลขอให้ พณ. ท่านจงมีความสุข ความเจริญ  มีสุขภาพพลานามัยเข้มแข็ง เพื่อจะได้เป็นที่ยึดเหนี่ยวและแนะแนวทางให้กับชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งยังรอความหวังในการสร้างสรรค์สังคมใหม่ในบ้านเมืองและสังคมที่รักของชาวเราตลอดไป

กระผมทราบดีว่า การส่งบัตรมาอวยพรในวันคล้ายวันเกิดของท่าน (11 พฤษภาคม) นั้นช้ามากสำหรับผม แต่ก็ขอให้ท่านจงอภัยด้วยเถิด เมื่อประมาณเดือนเศษที่ผ่านมา กระผมและเพื่อนได้ทราบข่าวอาการป่วยของ พณ.ท่าน รู้สึกเป็นห่วงมาก แต่ไม่อยากจะเชื่อเพราะว่าส่วนมากพวกปฏิกิริยายังเต็มบ้านเต็มเมือง เขาเหล่านี้อาจสร้างข่าวหรือสถานการณ์ใดๆขึ้นก็ได้เพื่อเป็นการทำลายและขัดขวางความคิดเห็นของ พณ. ท่าน

ขณะนี้ พณ.ท่าน คงทราบแล้วว่าพวกเรา (สามัญชน) มีสิทธิ์และเสรีภาพมากขึ้น หาหนังสือที่เขียนถึงระบบสังคมนิยมอ่านได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะหนังสือชุดที่คุณสุพจน์เขียนออกจำหน่ายนั้น ผมเป็นเจ้าของทุกเล่ม รวมทั้งหมดความและข้อเขียนของ “มหาราษฎร์” ด้วย

กระผมยังมีนามบัตรของ พณ.ท่าน พร้อมทั้งคำแนะนำให้ไปพบคุณปราโมทย์นั้น กระผมขอขอบพระคุณอย่างยิ่ง แต่กระผมก็ยังไม่ส่งนามบัตรไปยังคุณปราโมทย์ เพราะกระผมต้องการนามบัตรของ พณ.ท่านเก็บไว้เป็นที่ระลึก เมื่อประมาณเดือนเศษที่ผ่านมา ผมมีโอกาสพบชายคนหนึ่ง ซึ่งทราบภายหลังว่าเคยเรียนที่ธรรมศาสตร์  อายุราว 60 กว่า ขณะนี้ทำงานอยู่องค์การ ร.ส.พ. ถนนศรีอยุธยา ชายคนที่กล่าวนี้มีรูป พณ.ท่านและคุณหญิงแนบไว้ในกระเป๋าเสื้อตลอดเวลา ทำให้ผมรู้สึกอิจฉา เราคุยกันสนุกดี แต่แล้วผมก็ลืมถามชื่อเขาจนได้

อ้อ กระผมลืมแนะนำตัวเองอีก ผมเคยทำงานอยู่ที่ลาวกับองค์การ USAID ขณะนี้ผมย้ายมาทำงานกับ U.S. EMBASSY แผนก DATA PROCESSING ประจำกรุงเทพ กระผมก็คงเป็นลูกจ้างประเภทสัญญาเช่นเคย ซึ่งไม่รู้ชะตากรรมของตัวเองดีนัก ด.ช.ปรีดี เพ็ชร์มะโนสัจจะ ที่ พณ.ท่านตั้งให้นั้น ขณะนี้อายุ 5 ขวบ กำลังเรียนอนุบาล 2 แต่เรียนไม่ค่อยเก่งนักหรอกครับ กระผมคิดว่าหากโตกว่านี้อาจจะดีขึ้นบ้าง

                              ด้วยความเคารพอย่างสูง
                             พิชัย เพ็ชรมะโนสัจจะ

 

สำหรับจดหมายที่ส่งมาเพื่ออวยพรในวาระครบรอบวันเกิดนี้ พิชัย ได้เปิดเผยให้ นายปรีดี ทราบอีกว่า เขาย้ายจากการทำงานกับองค์การ USAID ประจำประเทศลาวมาทำงานประจำแผนกการประมวลผลข้อมูลของสถานทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงเทพมหานครแทน โดยพำนักอยู่ละแวกย่านอโศก ถนนสุขุมวิท

พิชัย ยังเล่าว่า เขาได้พบกับชายผู้เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งยังคงศรัทธาต่อ นายปรีดี อยู่ไม่เสื่อมคลาย กระทั่งพกภาพถ่ายของ นายปรีดี และ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ แนบไว้กับกระเป๋าเสื้อตลอดเวลา แต่เขากลับลืมสอบถามชื่อ ชายผู้นี้ทำงานอยู่ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) แถวถนนศรีอยุธยา องค์การนี้มีหน้าที่หลักคือดำเนินกิจการขนส่งสินค้าให้บริการแก่หน่วยงานราชการ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2496 ภายหลังจากที่ นายปรีดี ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศแล้ว

ในตอนท้ายของจดหมาย พิชัย ได้พาดพิงถึง เด็กชายปรีดี เพ็ชรมะโนสัจจะ ซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 2

ผมยังค้นพบเรื่องราวของ พิชัย เพ็ชรมะโนสัจจะ (Pichai Pechmanosaja) ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์เมนเฟรม (mainframe computer) หรือคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่ใช้ประมวลผลข้อมูลจำนวนมากในองค์กรต่าง ๆ โดยเป็นการปิดสวิตช์ของคอมพิวเตอร์เมนเฟรมเป็นครั้งสุดท้ายในกรุงเทพมหานคร จึงทำให้ได้เห็นภาพของ พิชัย ที่ถ่ายร่วมกับชาวสหรัฐอเมริกาและคนไทยอีกหลายราย ซึ่งปรากฏใน State Magazine ประจำเดือนมกราคม ค.ศ. 1998 (ตรงกับ พ.ศ. 2541)

จดหมายทั้งสองฉบับของ พิชัย เพ็ชรมะโนสัจจะ คนหนุ่มลูกชาวนาผู้ทำงานกับหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาที่เขียนส่งถึง นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสและอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของไทยซึ่งพำนักอยู่ที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสามัญชนชาวไทยกับ นายปรีดี ไว้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว แม้ตอนแรกใครหลายคนจะเคยหลงเข้าใจผิดจนมองเห็น นายปรีดี ในทางร้าย แต่เมื่อพวกเขาเหล่านั้นได้ศึกษาเรียนรู้จนประจักษ์ต่อข้อเท็จจริงก็มีอันเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกมาเคารพและศรัทธาเลื่อมใสแทน ขณะที่ นายปรีดี เอง ก็หาได้ถือโทษโกรธเคืองผู้ที่ยังไม่รู้ความจริงดังที่แสดงออกผ่านจดหมายตอบกลับแล้ว

นั่นเพราะ นายปรีดี เป็นผู้ที่เชื่อมั่นว่า ต่อให้ความหลงผิดจะปกคลุมสังคมมานาวนานเพียงไร หากในท้ายที่สุดสัจจะหรือความจริงก็จะต้องปรากฏขึ้นเสมอ

 

 

 

หมายเหตุ : 

  • คงอ้กขร การสะกดคำ และรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ

 

เอกสารอ้างอิง :

  • จดหมายของพิชัย เพ็ชรมะโนสัจจะ ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2516
  • จดหมายตอบกลับของนายปรีดี พนมยงค์ ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2516
  • จดหมายอวยพรวันเกิดของพิชัย เพ็ชรมะโนสัจจะ
  • ปรีชา สามัคคีธรรม. ไม่กินก็เน่า ไม่เล่าก็ลืม. กรุงเทพฯ: มหาราษฎร์, 2564
  • สุพจน์ ด่านตระกูล, ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต (ฉบับสมบูรณ์). พิมพ์ครั้งที่ 3. นนทบุรี: สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม (ประเทศไทย), 2544.
  • State Magazine. No.410 (January 1998)
  • “ปรีชา สามัคคีธรรม นายคชา ผู้ร่ายปากกาเป็นอาวุธ” https://tja.or.th/view/news/1447893