Focus
- บทความนี้ เสนอเนื่องในโอกาสรำลึก 114 ปี ชาตกาล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ซึ่งท่านได้เขียนถึงท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในรอบ 2 ปี แห่งการมรณกรรม โดยระบุว่าท่านเป็นมิตรที่สนิท และรักใคร่ กับอาจารย์มาตั้งแต่ 14 ชันษา และสนิทในมิติอาจารย์กับศิษย์ เพราะขณะที่ท่านไปเรียนยังประเทศฝรั่งเศสนั้นมีอาจารย์ปรีดีเป็นผู้ดูแลในฐานะนักเรียนผู้ใหญ่ในช่วงตลอดเวลาหลายปีส่งผลให้มีความสนิทสนมกันอย่างยิ่ง
เนื่องในวันมรณกรรมของท่านอาจารย์ ปรีดี พนมยงค์ ได้เวียนมาบรรจบครบรอบปีที่ ๒ ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นมิตรที่สนิท และรักใคร่กับท่านอาจารย์ปรีดีเป็นเวลาสิบ ๆ ปี ตั้งแต่ข้าพเจ้ามีอายุ ๑๔ ปี จึงใคร่ ที่จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับท่านอาจารย์ปรีดี เพื่อเป็นการรําลึกถึงผู้วายชนม์
เหตุที่ข้าพเจ้าได้มาสนิทสนมกับท่านอาจารย์ปรีดีนั้น ก็เนื่องแต่ว่าเป็นธรรมเนียมที่ท่านราชทูตไทย (พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร) ประจําประเทศฝรั่งเศส ท่านจะต้องทรงมอบให้นักเรียนรุ่นผู้ใหญ่แต่ละคนเป็นผู้ดูแลนักเรียนผู้มีวัยน้อยหรือที่เพิ่งมาจากเมืองไทย ท่านได้ทรงเลือก และมอบให้ท่านอาจารย์ปรีดี ซึ่งขณะนั้นเป็นนักเรียนผู้ใหญ่ให้เป็นผู้ดูแลข้าพเจ้า เพื่อแนะนําชีวิตในต่างประเทศให้แก่ข้าพเจ้า และท่านอาจารย์ปรีดีก็ทําหน้าที่นั้นตลอดเวลาหลายปี ท่านอาจารย์ปรีดีกับข้าพเจ้าจึงสนิทสนมกันมาก
ถึงแม้ข้าพเจ้าจะเป็นนักเรียนอยู่ในความปกครองดูแลของสถานเอกอัครราชทูตในกรุงปารีสก็จริง แต่ก็ต้องข้ามไปเรียนหนังสือในประเทศอังกฤษตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นธรรมเนียมที่นักเรียนประเภทเช่นเดียวกับตัวข้าพเจ้านั้น เมื่อใดโรงเรียนในอังกฤษปิดเทอมก็ต้องมาเรียนภาษาฝรั่งเศสในประเทศฝรั่งเศส และเป็นเช่นนั้นตลอดมาเป็นเวลาหลายปี ข้าพเจ้าได้ถูกส่งให้ไปเรียนภาษาฝรั่งเศสที่เมือง “คอง”
ทั้งนี้เพราะถือว่าสําเนียงและคําพูดภาษาฝรั่งเศสของคนแคว้นนอร์มังดีนั้น เป็นภาษาและสําเนียงฝรั่งเศสที่ดีที่สุด และบังเอิญในขณะนั้น ท่านอาจารย์ปรีดีก็กําลังศึกษาวิชากฎหมายชั้นสูงอยู่ที่มหาวิทยาลัยที่เมืองนั้น ข้าพเจ้าได้ถูกส่งให้ไปพักอยู่ที่บ้านครอบครัวชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่รับนักเรียนไทยให้อาศัย และท่านอาจารย์ปรีดีและนักเรียนไทยอีกหลายคนพักอยู่ที่บ้านนั้นด้วย จึงกล่าวได้ว่าเมื่อเราอยู่บ้านเดียวกัน โดยเฉพาะข้าพเจ้ากับท่านอาจารย์ปรีดีอยู่ห้องเดียวกัน
ดังนี้ในเมื่อเรากินนอนเที่ยวเตร่ด้วยกันทุกวันทุกเวลาเป็นเวลาหลายปีก็สนิทสนมกันมาก นอกจากนี้แล้วท่านอาจารย์ปรีดีเป็นผู้มีนิสสัยที่ชอบถ่ายเทความรู้ที่ตนรู้ให้ผู้อื่นผู้ที่ใคร่จะได้รู้โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์ของประเทศยุโรป ข้าพเจ้าจึงได้รับความรู้จากท่านที่เป็นประโยชน์ทั้งขณะนั้นจนกระทั่งทุกวันนี้แก่การศึกษาและชีวิตภายหลังเป็นอันมาก และเมื่อหลายปีต่อมา สมเด็จพระบรมราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลนี้ได้ทรงพระกรุณา ทรงชวนและแนะนําให้ข้าพเจ้าย้ายไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา ซึ่งพระองค์ท่านกําลังทรงศึกษาวิชาแพทย์อยู่ที่เมืองบอสตัน และขณะนั้นยังมีคนไปศึกษาน้อยคน ข้าพเจ้ากับท่านอาจารย์ปรีดีซึ่งจบการศึกษาและกําลังจะกลับเมืองไทยจึงจากกัน
แต่เมื่อหลายปีที่หลังเมื่อข้าพเจ้ากลับมาเมืองไทย และทันทีที่ข้าพเจ้ากลับมาถึงเมืองไทย ท่านอาจารย์ปรีดีและพวกเพื่อนนักเรียนฝรั่งเศสเก่า ๆ ก็ต่างมาหาข้าพเจ้า และต่างมาพบปะกันตลอดเวลา ความสนิทสนมกลมเกลียวกันระหว่างข้าพเจ้ากับท่านอาจารย์ปรีดีและเพื่อนนักเรียนฝรั่งเศสก็เริ่มต้นใหม่ซึ่งขณะนั้นท่านอาจารย์ปรีดีกําลังเป็นข้าราชการและเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้ที่มีคนยกย่องนับถือมาก โดยเฉพาะในหมู่นักศึกษากฎหมายว่าเป็นผู้ที่มีความรู้วิชากฎหมายและเศรษฐศาสตร์มาก อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีความคิดเห็นที่ก้าวหน้าคนหนึ่งในประเทศ จึงมีลูกศิษย์ลูกหามาก และตอนนั้นยังไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และไม่ช้าต่อมาท่านอาจารย์ปรีดีก็ได้เป็นหัวแรงสําคัญที่สุดคนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตลอดจนเป็นผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยด้วย
แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นเป็นเหตุให้เกิดการแบ่งเขาแบ่งเราในความรู้สึกของคนไทยจํานวนมาก เช่น พวกคณะราษฎร์ก็จะกีดกันและไม่ไว้ใจและคบค้ากับพวกพระราชวงศ์และข้าราชการ รุ่นเก่า และพวกเราเองก็ไม่พอใจพวกผู้ก่อการ เป็นเหตุให้มิตรภาพระหว่างคนไทยด้วยกันเปลี่ยนแปลงไปมาก การเล่นพวกดังกล่าวนี้เป็นเหตุให้ประเทศไทยต้องสูญเสียคนที่ที่ยังสามารถจะเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองไปมากคน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง แม้แต่ขณะนี้ก็มีการ “แบ่งพวก การเล่นพวก” อยู่ เป็นเหตุให้ประเทศไทยยังไม่ได้ใช้และได้รับประโยชน์จากคนดีที่มีความคิดความรู้ความสามารถเท่าที่ควร
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมิตรภาพและความสนิทสนมระหว่างท่านอาจารย์ปรีดีกับข้าพเจ้าก็มิได้เปลี่ยนแปลงไปเลย เพราะว่าข้าพเจ้ามิได้โกรธเคืองหรือเกลียดชังท่านอาจารย์ปรีดี และท่านอาจารย์ปรีดีก็มิได้เคยมองและรังเกียจข้าพเจ้าว่าเป็นคนไทย มิตรภาพและความรักใคร่สนิทสนมของข้าพเจ้าและอีกพวกหนึ่ง ท่านอาจารย์ปรีดีจึงยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงจนจวบเท่าถึงกาลเวลาที่ท่านอาจารย์ปรีดีวายชนม์
ท่านอาจารย์ปรีดีมีกําเนิดเป็นเพียงราษฎรไทยทั่ว ๆ ไป คนหนึ่ง ที่เกิดและมีบ้านอยู่ข้างวัดพนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันจะเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์อีกแห่งหนึ่งที่เราร่วมกันสร้าง ความสามารถทั้งในวิชาความรู้ ความคิด ความสามารถ ทําให้ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่าน อาจารย์ปรีดีพุ่งขึ้นสูงส่งกว่าคนไทยคนอื่นอีกมากคน สมจริงดังพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จุฬาลงกรณปรมินทรมหาราชของชาวไทย ที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า
ฝูงชนกำเนิดคล้าย คลึงกัน
ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ แผกบ้าง
ความรู้อาจเรียนทัน กันหมด
ยกแต่ชั่วดีกระด้าง อ่อนแก้ฤๅไหวฯ
ข้าพเจ้าเป็นคนที่เชื่อกรรมหรือที่เรียกกันพล่อย ๆ ว่า “ดวง” ของคน และเชื่อว่าชีวิตของคนทุกคนย่อมจะต้องเป็นไปตามแนวแห่งกรรมประจําตัว จะไม่มีผู้ใดที่จะเลี่ยงพ้นจากกรรมได้ ดังนี้ดวงของท่านที่ได้พุ่งขึ้นสูงส่งอย่างน่าประหลาดคือ ท่านเป็นศาสตราจารย์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นรัฐมนตรีมาแทบทุกยุคทุกสมัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เป็นผู้สําเร็จราชการแผ่นดิน และยังมีชื่อเสียงไปทั่วโลกว่าเป็นผู้สามารถธํารงเกียรติศักดิ์ของชาติไทยไว้ได้ ทั้ง ๆ ที่ชาติเราได้ไปร่วมสงครามโลกครั้งที่สองที่แพ้สงคราม แต่เรากลับไม่ต้องรับกรรมตกอยู่ในสภาพของชาติผู้แพ้สงครามยิ่งกว่านั้นต่อมายังกลับได้เป็นชาติเล็กที่มีเกียรติยิ่ง
ครั้นแล้วชะตาชีวิตของท่านอาจารย์ปรีดีก็พลันกลับทําให้ท่านต้องตกต่ำลงมาจนถึงขั้นต่ำสุด ตลอดจนชะตาของท่านอาจารย์ปรีดีก็โหดร้ายต่อตัวท่าน ต่อลูกเมียท่านนานาประการ ถึงขนาดที่เกือบจะต้องตกเป็นคนไทยที่ไม่มีสิทธิ์ในแผ่นดินไทยซึ่งเป็นบ้านเมืองที่รักของท่าน
บางคนกล่าวโทษและปรักปรําว่า ทั้งสิ้นนี้ตัวของตัวท่านเองได้ก่อขึ้นเอง แต่บางคนก็เห็นว่า สิ่งที่ทําลายท่านที่แท้คือ ความสกปรกโสมมของการเมือง และนักการเมืองไทยบางคนต่างหาก แต่ที่แน่นอนไม่ว่าจะเป็นใคร หรือจะเป็นชะตากรรมใดก็ตาม จะทําลายได้ก็แต่ความเป็นอยู่ของตัวท่านเท่านั้น มีสามารถจะทําลายเกียรติคุณ และความดีที่ท่านอาจารย์ปรีดีได้สะสมไว้ให้คนไทยและชาติไทยได้เลย
ข้าพเจ้าเคยกล่าวอยู่เสมอว่า ชะตาหรือดวงของคนคนหนึ่งนั้น จะไปสมพงษ์หรือสัมพันธ์กับชะตาของคนอื่นได้ เช่น ไปสัมพันธ์กับกรรม หรือดวงของพ่อแม่ของผัวเมียของลูกเต้า ของญาติมิตรได้เป็นเบื้องต้น แต่ยังอาจไปสมพงษ์หรือสัมพันธ์กับชะตาชีวิตของคนอีกหลายสิบล้าน
แม้แต่กับดวงของประเทศ และถ้าจะพิจารณากันให้ละเอียดแล้วจะเห็นได้ชัดว่าดวงของท่านอาจารย์ปรีดีเป็นเช่นนั้น เพราะว่าชะตาหรือดวงของท่านนั้นมิใช่จะทําให้แต่ตัวท่านต้องตกระกําลําบากและเป็นผู้ที่สูญเสียแต่เพียงผู้เดียว แต่ยังทําให้คนไทยอีกมากมายหลายสิบล้านคนที่ต้องพลอยถูกกระทบกระเทือนและสูญเสียไปด้วย เห็นได้ง่าย ๆ ว่า คนไทยต้องสูญเสียวิชาความรู้ความสามารถและความคิดเห็นของท่านอาจารย์ปรีดี ซึ่งถ้าจะไม่ต้องได้รับเคราะห์กรรมดังกล่าวแล้ว ก็จะต้องยังทําประโยชน์ให้คนไทย และประเทศชาติได้อีกมากมาย แต่ต้องเสียโอกาสอันดีไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง และต้องเสียไปอย่างที่จะไม่มีทางกลับคืนมาได้อีกแล้ว
บัดนี้ท่านอาจารย์ปรีดีได้ตายจากไปแล้วจึงขอมิตรสหายและศิษยานุศิษย์ของท่านอาจารย์ปรีดี จงช่วยกันถนอมวิชาความรู้และความคิดที่ท่านได้ให้ไว้ และจงรักษากันไว้ในห้วงของความทรงจําและจงรักษากันไว้ในจิตใจให้จงดีเถิด เพื่อที่จะนําไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อความสุขความเจริญของคนไทยที่เรารักและที่เราควรต้องห่วงใยในอนาคตของเขายิ่งนัก
ภาคผนวก
ผลงานสำคัญด้านภาพยนตร์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล
ข้อมูลจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
ปิดทองหลังพระ (เศษที่เหลืออยู่)
ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เมื่อกลุ่มคนหนุ่มซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนอก นำโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล, พจน์ สารสิน และ ประสาท สุขุม ช่างถ่ายภาพยนตร์ไทยคนแรกที่ไปเรียนถ่ายทำภาพยนตร์ที่ฮอลลีวูด และเป็นสมาชิกสมาคมช่างถ่ายภาพยนตร์อเมริกัน (American Society of Cinematographer - A.S.C.) ได้รวมตัวกันก่อตั้ง บริษัท ภาพยนตร์ไทย จำกัด และสร้างโรงถ่าย “ไทยฟิล์ม” โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงมาตรฐานสากลแห่งที่สองของประเทศ ที่บริเวณทุ่งมหาเมฆ พวกเขาได้กลายมาเป็นคู่แข่งในการผลิตภาพยนตร์ ๓๕ มม. เสียงในฟิล์มรายสำคัญของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ซึ่งเปิดดำเนินการเป็นรายแรก
ในขณะที่ภาพยนตร์ของผู้สร้างรายอื่น ๆ ล้วนไม่ได้บันทึกเสียงในฟิล์ม แต่ใช้นักพากย์มาพากย์สดขณะฉาย โรงถ่ายไทยฟิล์มเริ่มผลิตภาพยนตร์เสียงออกฉายตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยมีผลงานมากถึง ๓ เรื่องในปีแรก ได้แก่ ถ่านไฟเก่า แม่สื่อสาว และ วันเพ็ญ ก่อนจะเงียบหายไปเกือบ ๑ ปี และกลับมาอีกครั้งในช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๓ (นับแบบปีปฏิทินปัจจุบัน) ด้วยเรื่อง ปิดทองหลังพระ และ ลูกทุ่ง แต่หลังจากนั้น บริษัทภาพยนตร์ไทยได้หมดทุนและจำต้องหยุดกิจการลง
อย่างไรก็ตาม โรงถ่ายไทยฟิล์มยังมีบทบาทสำคัญต่อเนื่อง เมื่อ ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ใช้โรงถ่ายที่ว่างอยู่และบุคลากรของไทยฟิล์มสร้างภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ออกฉายใน พ.ศ. ๒๔๘๔ ต่อมา รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ซื้อกิจการโรงถ่าย ให้กองทัพอากาศดำเนินการภายใต้ชื่อ “กองภาพยนตร์ทหารอากาศ” ทำหน้าที่ผลิตภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อให้รัฐบาล และได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง บ้านไร่นาเรา ออกฉายในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ช่วงที่ประเทศเข้าสู่ภาวะสงครามโลก ครั้งที่ ๒
จากนั้นไม่นาน ได้เกิดเหตุไฟไหม้อาคารแล็บล้างฟิล์มและที่เก็บฟิล์มของโรงถ่าย จนต้องยุติการดำเนินงาน ส่งผลให้ฟิล์มต้นฉบับภาพยนตร์ของไทยฟิล์มและกองภาพยนตร์ทหารอากาศสูญเสียไปหมดสิ้น ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ หอภาพยนตร์ได้ค้นพบฟิล์มสำเนาฉายของภาพยนตร์จากโรงถ่ายไทยฟิล์ม เรื่อง ปิดทองหลังพระ จำนวน ๑ ม้วน ความยาวประมาณ ๑,๐๐๐ ฟุต ปะปนอยู่กับเศษฟิล์มอื่น ๆ ในโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง
เมื่อตรวจสอบกับเรื่องย่อในสูจิบัตรของภาพยนตร์ พบว่าเป็นม้วนที่อยู่ในช่วงท้ายเรื่อง ประกอบด้วยสามฉาก ฉากแรกถ่ายนอกโรงถ่าย เป็นฉากสวนอาหารมะริดรมณีย์ ปรากฏให้เห็น ยม ผู้ร้ายของเรื่อง บังคับให้ มะริด เจ้าของสวนเรียกนางเอกคือ วัฒนา ซึ่งยมหมายปองอยู่ มาร้องเพลงบำเรอแก่เขา โดยมีวงดนตรีที่มี เอื้อ สุนทรสนาน เป็นนายวงบรรเลงจนจบเพลง ฉากนี้ตัดสลับกับฉากห้องพักนางบำเรอ ที่วัฒนาผู้มาทำงานใช้หนี้แทนชายคนรัก ใช้เป็นที่นั่งรอแขกเรียกอยู่กับเพื่อนนางบำเรอ และฉากสุดท้ายเป็นฉากในบ้าน ซึ่งมะริดกับ เถ้าแก่ฮั่วหยง คู่รักที่เพิ่งแต่งงานกัน ได้พบกับ อาจารย์สุก หมอดูและสามีเก่าของมะริด ที่จู่ ๆ ก็ปรากฏตัวขึ้น ทั้ง ๆ ที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าเขาตายแล้ว
ในบรรดานักแสดงตามบทบาทเหล่านี้ มีแค่ อบ บุญติด ผู้รับบท เถ้าแก่ฮั่วหยง ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของแฟนภาพยนตร์ยุคหลัง เพราะมีผลงานยืนนานไปจนถึงยุคภาพยนตร์ ๑๖ มม. ซึ่งเริ่มต้นขึ้นหลังสงครามโลก ครั้งที่ ๒ เศษภาพยนตร์เรื่อง ปิดทองหลังพระ เป็นตัวอย่างผลงานประเภทภาพยนตร์เรื่องเพียงเรื่องเดียวของโรงถ่ายไทยฟิล์ม ในยุคบริษัท ภาพยนตร์ไทย จำกัด ที่ยังหลงเหลืออยู่ เมื่อนำมาเทียบกับเศษภาพยนตร์เรื่อง เลือดชาวนา ซึ่งเป็นผลงานของโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงที่เหลือรอดมาเพียงเรื่องเดียวเช่นกัน ได้ทำให้เห็นถึงลักษณะภาพยนตร์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนของสองโรงถ่ายคู่แข่งสำคัญ รวมทั้งยังปรากฏให้เห็นฉากร้องเพลง ซึ่งเป็นจุดขายอย่างหนึ่งของหนังเสียงไทยในยุคแรก และไม่อาจหาดูได้จากเศษภาพยนตร์เลือดชาวนา
ความยาวเพียง ๑๐ นาทีของภาพยนตร์เรื่อง 'ปิดทองหลังพระ' ที่ตกทอดมาสู่คนรุ่นหลัง จึงมีคุณค่าทั้งในแง่การเป็นบทบันทึกของโรงถ่ายภาพยนตร์ที่เคยยิ่งใหญ่ และเป็นซากดึกดำบรรพ์ชิ้นสำคัญ ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์สามารถปะติดปะต่อภาพรวมในช่วงยุคทองของหนังเสียงไทย จากร่องรอยที่หลงเหลืออยู่แค่เศษเสี้ยว
ฟิล์ม ๓๕ มม. / ขาวดำ / เสียง / ๑๐.๕๑ นาที
๑๑ มกราคม ๒๔๘๒
ผู้สร้าง บริษัท ภาพยนตร์ไทย จำกัด
บริษัทสร้าง บริษัท ภาพยนตร์ไทย จำกัด
ผู้อำนวยการสร้าง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ผู้ประพันธ์ พระยาโกมารกุลมนตรี
ผู้กำกับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
ผู้ถ่ายภาพ ม.ร.ว. อนุศักดิ์หัสดินทร์, ประสาท สุขุม A.S.C.
ผู้ลำดับภาพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
ผู้กำกับศิลป์ เฉลิม พันธุ์นิล
ผู้บันทึกเสียง น้อย บุนนาค
ผู้ประพันธ์คำร้อง ม.ล. พวงร้อย อภัยวงศ์
วงดนตรี บริษัท ภาพยนตร์ไทย จำกัด
ผู้แสดง ลิขิต สารสนอง, สุภาพ สง่าเมือง, พนม สุทธาศิริ, อบ บุญติด, รวมพันธุ์, ป้าสุ่น
หมายเหตุ :
- อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
- อ้างอิงภาคผนวกจากบทความ ปิดทองหลังพระ (เศษที่เหลืออยู่) โดย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
- ข้อมูลปี พ.ศ. ของภาพยนตร์ปิดทองหลังพระที่ออกฉายก่อนการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ เมื่อ 1 มกราคม 2484 จะนับตามปฏิทินแบบเก่า (1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่)
เอกสารอ้างอิง :
- ภาณุพันธุ์ยุคล, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. เกี่ยวกับท่านอาจารย์ ปรีดี พนมยงค์ ใน อนุสรณ์วันครบรอบปีที่ 2 แห่งการถึงอสัญกรรมของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์บรรณาคม, 2528), 22-27.
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้อง :
- อรุณ เวชสุวรรณ, (27 พฤศจิกายน 2567). ท่านปรีดี พนมยงค์ กับ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล.