พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เป็นพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ มีฐานันดรศักดิ์รองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ถือว่าท่านปรีดีเป็นพระสหาย ทรงเรียกท่านปรีดีว่า “อาจารย์” พระองค์ทรงเชื่อในความบริสุทธิ์ของท่านปรีดี ที่มีผู้ใส่ร้ายท่านเกี่ยวแก่กรณีสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเชื่อในปรีชาสามารถทางด้านความรู้ และถือว่าท่านปรีดี เป็นพระสหายตลอดมา
เมื่อท่านผู้หญิงพูนศุขและครอบครัวทําพิธีรำลึกถึงคุณปาล พนมยงค์ ที่สมาคมธรรมศาสตร์ ที่ซอยงามดูพลี ทุ่งมหาเมฆ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลก็เสด็จไปร่วมงานด้วย แม้เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานครบร้อยวันแห่งการอสัญกรรมของท่านปรีดี ที่หอประชุมใหญ่ข้าพเจ้าก็เห็นกับตาว่าพระองค์ได้เสด็จไปร่วมในพิธีในครั้งนั้นด้วย เป็นการร่วมไว้อาลัยแก่พระสหายในครั้งสุดท้าย
พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เคยเสด็จไปปารีสและแวะเยี่ยมท่านปรีดี หลังจากพระองค์เสด็จกลับมาแล้วก็ได้ประทานสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ สยามไทม์ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๑๔ ในเรื่องที่พระองค์ได้เสด็จไปเยี่ยมท่านปรีดีว่า
“ฉันไปยุโรปเมื่อต้นฤดูร้อนเมษายนที่แล้ว ผ่านกรุงปารีสก็ได้แวะเยี่ยมหลวงประดิษฐ์ฯ ในฐานะเพื่อนฝูงที่เคยชอบพอกันแต่สมัยที่เป็นนักเรียนที่ประเทศฝรั่งเศส”
“เมื่อเราทั้งสองพบกันครั้งแรก หลังจากที่เราไม่ได้พบกันมา ๒๓ ปี จึงได้ถามไถ่ทุกข์สุขของกันและกันอยู่พักใหญ่แล้วหลังจากนั้นก็ชวนไปร่วมรับประทานอาหารที่ภัตตาคารเก่าแห่งหนึ่ง เพื่อรำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งเป็นนักเรียนด้วยกัน และสนทนากันในเรื่องต่าง ๆ อย่างเพื่อนรักเมื่อครั้งปฐมวัยเป็นเวลา ๕ ชั่วโมง ว่ากันในฐานะเพื่อนฝูงแล้ว หากจะไม่ยอมพบปะกันเมื่อมีโอกาสก็ออกจะใจจืดใจดำมากไป”
ผู้สื่อข่าวทูลถามว่า ขณะทรงสนทนากับหลวงประดิษฐ์ฯ หลวงประดิษฐ์ฯ ได้ปรารภเรื่องจะกลับมาประเทศไทยหรือไม่ พระองค์เจ้าภาณุฯ ตรัสว่า
“เป็นธรรมดาที่คนไทยทุกคน เมื่อจากประเทศไปนานย่อมอยากกลับมาสู่กลิ่นไอของประเทศชาติของตน ส่วนหลวงประดิษฐ์ฯ จะกลับมาหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของกฎหมายบ้านเมือง ถ้าหลวงประดิษฐ์ฯ จะกลับมาก็เป็นเรื่องของคนไทยทั้งชาติ หรือแม้บางทีผู้นำเพียง ๒-๓ คน ไม่อยากให้กลับก็กลับไม่ได้”
พระองค์เจ้าภาณุฯ ตรัสถึงเรื่องการเมืองว่า ถ้าผู้นำเพียง ๒-๓ คน จะกันไม่ให้หลวงประดิษฐ์ฯ กลับมา ซึ่งในฐานะเขาเป็นคนไทยคนหนึ่งก็จะเป็นบาปเวรอย่างหนัก โดยเฉพาะขณะนี้ หลวงประดิษฐ์ฯ อยู่ในปัจฉิมวัยแล้วย่อมต้องการที่จะกลับมาฝังกระดูกในบ้านเกิดเมืองนอน อย่างแน่ ๆ ผู้สื่อข่าวได้ ทูลถามว่า หลวงประดิษฐ์ฯ ในฐานะคุ้นเคยกับพระองค์ชายเป็นผู้มีอุดมคติเพียงใด พระองค์เจ้าภาณุฯ ตรัสว่า
“หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นบุคคลหนึ่งที่รักชาติบ้านเมืองมาก ส่วนความรักความต้องการหลวงประดิษฐ์ฯ อาจไม่ถูกทางสำหรับคนอื่นก็ได้”
ผู้สื่อข่าวได้ทูลถามต่อไปว่า หากหลวงประดิษฐ์ฯ กลับมาในฐานะพระองค์เป็นเชื้อพระวงศ์อาวุโส พอตรัสตอบได้ไหมว่า คณะพระบรมวงศานุวงศ์จะเข้าพระทัยในปัญหานี้ประการใด พระองค์เจ้าภาณุฯ ตรัสตอบว่า
“ตอบไม่ได้ในความรู้สึกของคนอื่น แต่ในฐานะส่วนพระองค์แล้วเห็นว่า หากหลวงประดิษฐ์ฯ มีสิทธิ์สมบูรณ์ในทางกฎหมายและการเมืองก็ควรกลับมาได้”
พระองค์เจ้าภาณุฯ ตรัสถึงเรื่องเศรษฐกิจของไทยต่อไปอีกว่าเป็นเรื่องต้องแก้ไข และสภาวการณ์บ้านเมืองปัจจุบันมีเรื่องต้องแก้ไขอีกมากมาย แต่จะเจาะจงให้หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นผู้แก้ไขหรือใครนั้นเป็นเรื่องที่ตอบไม่ได้
พระองค์เจ้าภาณุฯ พูดถึงสุขภาพของหลวงประดิษฐ์ฯ ว่า แม้อายุจะอยู่ในขั้นปัจฉิมวัย แต่หลวงประดิษฐ์ฯ ยังมีพลานามัยสมบูรณ์ดีมากและยังมีมันสมองที่เฉียบแหลมมิได้หลงลืมไปตามวัย ขณะนี้หลวงประดิษฐ์ฯ ยังคงเป็นห่วงชาติบ้านเมืองอยู่มาก จะเห็นได้จากการที่ท่านได้สอบถามถึงปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับประเทศไทยหลายประการ
พระองค์เจ้าภาณุฯ ทรงตรัสในที่สุดว่า
“แม้หลวงประดิษฐ์ฯ จะมีความคิดเรื่องการเมืองประการใดก็ตามที แต่ในเรื่องส่วนตัวที่เคยร่วมรักใคร่กันมาก็ไม่เปลี่ยนแปลง และแม้ว่าใครจะเข้าใจว่าหลวงประดิษฐ์ เป็นคอมมิวนิสต์ก็ตามที ส่วนฉันเมื่อรู้อะไรมาก็พูดอย่างเปิดเผยและคนไทยคงเข้าใจว่าฉันไม่ใช่คอมมิวนิสต์เป็นแน่”
คำประทานสัมภาษณ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ซึ่งเป็นพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ได้ให้สัมภาษณ์เช่นนี้ย่อมเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ถ้าท่านปรีดี เป็นผู้วางแผนปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ ๘ ตามข่าวที่มีผู้บิดเบือนใส่คล้ายท่าน พระองค์ซึ่งเป็นพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่จะยังคบหาสมาคมกับท่านปรีดี อยู่อีกละหรือ ?
การใส่ร้ายท่านปรีดีนับเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ เป็นการทับถมคนดี ๆ คนที่มีความรู้ความสามารถอย่างไม่มีความละอายแก่ใจ เป็นเรื่องบัดซบที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยเรื่องหนึ่ง
ความรู้ความสามารถ และความเป็นคนรักชาติบ้านเมืองเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแม้แต่พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล อันเป็นพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ แล้วคนระดับธรรมดา ๆ จะไปเข้าใจผิดท่านได้อย่างไรกัน
หมายเหตุ : คงอักขรวิธีสะกด และรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ
เอกสารอ้างอิง :
- อรุณ เวชสุวรรณ, ท่านปรีดี กับพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล,” ใน ท่านปรีดี พนมยงค์ กับความจริงที่ถูกบิดเบือน. (กรุงเทพฯ: อรุณวิทยา, 2527), น. 31-35.
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้อง :
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล, (27 พฤศจิกายน 2567). เกี่ยวกับท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์.