จดหมายจากเมืองจีน
หลิวยู่ซี้ เขียน
วาณี พนมยงค์ - สายประดิษฐ์ แปล
8 มีนาคม ค.ศ. 1994
คุณป้า[1] ที่เคารพรัก
ครอบครัวพนมยงค์ที่รักทุกคน
ผม[2] และอาจารย์หวัง[3] เดินทางกลับมายังปักกิ่งโดยสวัสดิภาพเมื่อเย็นวันที่ 23 กุมภาพันธ์
การเดินทางมากรุงเทพฯ ในครั้งนี้เป็นประสบการณ์ในชีวิตของผมที่มิอาจลืมเลือนได้ ความทรงจำที่งดงามและเปี่ยมสุขจะจารึกอยู่ในดวงใจของผมตลอดกาล สิ่งเหล่านี้จะเป็นกำลังใจให้ผมอุทิศทุกสิ่งในชีวิตเพื่อแสวงหาสัจจะความดีงามและสุนทรียภาพในโลกใบนี้
ณ โอกาสนี้ผมขอแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจมายังคุณป้าและสมาชิกในครอบครัวทุกคน ผมรำลึกอยู่เสมอว่า ครอบครัวพนมยงค์ได้พยายามฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการเป็นระยะเวลายาวนาน จึงส่งผลให้การแสดงที่กรุงเทพฯ ของพวกผมประสบความสำเร็จ ผมไม่สามารถยับยั้งความรู้สึกประทับใจนี้ได้
มิตรภาพของเราได้เริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 6 ณ กรุงปักกิ่ง ประกายไฟแห่งมิตรภาพได้ลุกโชติช่วงใหม่อีกครั้ง เมื่อผมกับภรรยา – โจวซื่อจิ่ง- ได้พบกับพี่สุดาโดยบังเอิญที่กรุงปารีสในช่วงทศวรรษที่ 8 และในทศวรรษที่ 9 นี้ ณ กรุงเทพฯ มิตรภาพของเราได้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พวกเราจะเคียงบ่าเคียงไหล่กันต้อนรับศตวรรษที่ 21 ที่รุ่งโรจน์ ผมเป็นนักฝันและเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีเสมอ ผมมีความเชื่อมันอย่างเต็มเปี่ยมต่ออนาคตของชาวตะวันออกและชาวเอเชีย โดย เฉพาะเชื่อมั่นอย่างยิ่งในอนาคตอันสดใสของประเทศจีนและประเทศไทย
เมื่อผมได้เหยียบบนผืนแผ่นดินไทย ทันใดนั้นผมก็หลงรักบ้านเมืองที่มีไมตรีจิตแห่งนี้ ประการแรก อาจเป็นเพราะนี่คือปิตุภูมิของมิตรที่แสนดีของผม ดังนั้น ผมจึงเฝ้าสังเกตด้วยความสนใจเป็นพิเศษขณะที่ผมใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ สิบกว่าวัน ผมประจักษ์แก่ตนเองว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่สวยงามและมีเสน่ห์ ราษฎรไทยขยันขันแข็งและฉลาดเฉลียว มีความโอบอ้อมอารีมิตรต่างแดน ผู้มาเยือน ราษฎรไทยรักความสวยความงาม ทุกหนทุกแห่งได้พบเห็นดอกไม้สวยงามบานสะพรั่งและงานศิลปะอันงดงาม ศิลปวัฒนธรรมไทยงามวิจิตร สวยสง่าและประณีต มีทั้งลักษณะพิเศษของตนและการผสมผสานวัฒนธรรมอันดีงามของต่างชาติ ประสบการณ์ในการสร้างชาติและบริหารประเทศของราษฎรไทย เป็นตัวอย่างที่ดีหลาย ๆ ด้านที่ราษฎรจีนควรศึกษา ทุกหนแห่งที่พวกผมได้ไปมา ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ หรือพัทยา หรือแผนกผู้โดยสารชั้น 1 ของสายการบินไทย พวกผมรู้สึกประทับใจกับการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพสูงและการบริการที่ดีเยี่ยม สิ่งเหล่านี้ได้เชื่อมความเข้าใจอันดีระหว่างราษฎร จีน-ไทย เป็นเหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้การแสดงดนตรีครั้งนี้พัฒนาขึ้นสู่ขั้นสูงอีกระดับหนึ่ง
สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่พบเห็นและได้ยินจากการมากรุงเทพฯ ครั้งนี้ ก็คือ ผมได้เรียนรู้เรื่องราวของรัฐบุรุษอาวุโสที่น่าเคารพ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนักการเมือง นักคิด และนักการศึกษาร่วมสมัยของประเทศไทยที่น่ายกย่องเชิดชู ทั้งยังเป็นมิตรเก่าที่เคารพของราษฎรจีน คุณูปการและจิตใจต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อของท่านเพื่อภารกิจที่ก้าวหน้าของประเทศชาติ จะจารึกลงในประวัติศาสตร์ของไทยและของมนุษยชาติ ดังนั้น พวกผมรู้สึกเป็นเกียรติยิ่งที่ได้รับเชิญจากมูลนิธิที่ได้รับการขนานนามด้วยชื่ออันทรงเกียรติของนายปรีดี พนมยงค์ ให้เปิดการแสดงดนตรีเดี่ยวไวโอลินเป็นครั้งแรกของนักดนตรีจีนในประเทศไทย ผมรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้รับใช้แม้เพียงน้อยนิดให้กับมูลนิธิปรีดี พนมยงค์
ผลพวงอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่งจากการเยือนประเทศไทย ก็คือ ได้มีโอกาสสัมผัสมิตรใหม่ที่น่านับถือมากหลาย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ทรงเมตตาเสด็จงานแสดงดนตรี นอกจากนี้ ดร.สายสุรี จุติกุล อดีตรัฐมนตรี ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ นายธนาคารและนักสังคมสงเคราะห์ชื่อดัง อีกทั้งนักวิชาการมีชื่อและมิตรชาวไทยจากวงการต่าง ๆ รวมทั้งผู้สนใจการดนตรี ผมขอขอบคุณอย่างจริงใจที่ท่านเหล่านี้ได้ให้การต้อนรับและเป็นกำลังใจแก่พวกผม ผู้ฟังชาวไทยที่เข้าฟังการแสดงดนตรีของผมทั้ง 3 รอบ เป็นผู้ที่ชื่นชอบศิลปะการดนตรี ขณะแสดงอยู่นั้นผมรู้สึกว่า สายตาของผู้ชมที่แฝงด้วยไมตรีจิต มีชีวิตชีวาและอารมณ์ร่วมกับเสียงดนตรีเป็นประกายเปล่งรัศมี ทำให้ลมหายใจและชีพจรบนเวทีและข้างล่างเวทีประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความสุขที่ผมได้รับสุดที่จะพรรณนา การที่ได้นำศิลปะการดนตรีอันน้อยนิดของผม มาแสดงให้ผู้ฟังที่น่ารักเช่นนี้ แม้ต้องตายไปในวินาทีนั้นก็ไม่เสียดาย
การแสดงดนตรีกลางแจ้งที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นความทรงจำที่ลืมเลือนมิได้ของผม พวกคุณสนองความต้องการของผมภายในเวลาอันจำกัด การเตรียมงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่มีที่ติ จึงทำให้การแสดงดนตรีครั้งนี้ประสบความสําเร็จอย่างไม่ได้คาดฝัน ผมขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย แม้กลับมาเมืองจีนแล้ว แต่ภาพการแสดงในวันนั้นกลับมาสู่ห้วงคิดของผมครั้งแล้วครั้งเล่า สำหรับผู้แสดงดนตรีแล้วเป็นประสบการณ์ที่อบอวลด้วยความสุขอย่างหาที่เปรียบมิได้ ในช่วงระยะเวลาหลายสิบปีมานี้ ผมได้มีโอกาสเปิดการแสดงดนตรีหลาบสิบครั้ง ในประเทศจีนและต่างประเทศ ผมเคยแสดงคอนเสิร์ตเดี่ยวไวโอลินที่ Theatre des Champs-Elypsees ณ กรุงปารีส มาแล้ว แต่ความประทับใจในครั้งกระนั้นก็สู้การแสดงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้
ในความคิดของผมเห็นว่า การแสดงดนตรีไม่จําเป็นต้องแสดงในท้องพระโรงหรือโรงคอนเสิร์ตลือชื่อของโลก ขอแต่ให้ผู้แสดงและผู้ฟังมีความเข้าใจ สื่อสาร ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกกันและกัน ก็สามารถสร้างจินตนาการทางดนตรีขึ้นในดวงใจ แสงสีส้มอมเทาของท้องฟ้ายามพลบค่ำ ในวันนั้น แผ่กระจายไปทั่วริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ร่มรื่น รายล้อมด้วยดอกไม้บานสะพรั่ง สายตาจากรูปปั้นของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เพ่งมองมายังบริเวณลานแสดงดนตรี พวกผมที่อยู่บนเวทีและเพื่อนชาวไทยที่อยู่ข้างล่างเวทีได้ร่วมกันสร้างจินตนาการทางดนตรีที่เปี่ยมด้วยความมีชีวิตชีวา ผมเชื่อว่าการแสดงในวันนั้นยังคงตรึงตราตรึงใจมิตรสหายที่อยู่ในที่นั้นทุกคน
ก่อนที่จะลาจากกันด้วยความอาลัยอาวรณ์ คืนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ผมได้มีโอกาสล่องแม่น้ำเจ้าพระยาในยามราตรี ค่ำคืนนั้นสวยงามดั่งบทกวี ดั่งภาพวาดและดั่งความฝัน ความเป็นกันเองของคุณป้าที่เคารพ และครอบครัวพนมยงค์ ตลอดจนไมตรีจิตของมิตรทั้งหลาย รวมทั้ง “ศิษย์” ที่แม้บางคนอายุมากกว่าผม ทำให้ผมอบอวลในบรรยากาศของความจริงใจและมิตรภาพ ความจริงใจระหว่างมนุษย์ด้วยกันเป็นสิ่งมีค่าสูงสุดในโลกนี้ และเป็นสิ่งที่ไม่อาจซื้อได้ด้วยเงินทอง ใต้แสงจันทร์เต็มดวง ลำน้ำผู้เป็นมารดาของเมืองไทยได้อ้าแขนอัน อบอุ่นโอบกอดนาวามิตรภาพลำน้อย ผมได้ชื่นชมทิวทัศน์ยามราตรีอันสวยงามของสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยความอิ่มอกอิ่มใจ บนเรือแว่วเสียงพูดคุยและเสียงหัวเราะครื้นเครง หลังจากรับประทานอาหารทะเลเลิศรสแล้ว ทุกคนยังสนทนากันถึงเรื่องค่าของคนและความใฝ่ฝันของตน ดวงใจที่จริงใจแต่ละดวงได้เรียงร้อย เป็นรุ้งหลากสี ส่งแสงเจิดจ้าในค่ำคืนวันเพ็ญ คืนอันมีเสน่ห์นี้ประทับอยู่ในใจของผมตลอดไป
การมาเยือนกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ นอกจากบรรลุความใฝ่ฝันนานปีของผมแล้ว ยังบรรลุความใฝ่ฝันก่อนจากไปชั่วนิรันดรของซื่อจิ่ง ภรรยาที่รักของผมด้วย ขณะอยู่กรุงเทพฯ ผมคิดถึงเธอตลอดเวลา และคิดว่า พวกคุณก็คงนึกถึงเธอเช่นกัน ผมพยายามกลั้นน้ำตาไม่ให้ไหลรินต่อหน้าพวกคุณ ผมรู้ด้วยว่า พวกคุณหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเธอต่อหน้าผม ด้วยเกรงว่าจะกระทบกระเทือนความรู้สึกของผม ผมทราบดีว่า คนเราเมื่อตายไปไม่สามารถฟื้นคืนชีพได้อีก ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่จะต้องก้าวไปข้างหน้าอย่างกล้าหาญ จึงจะควรค่าแก่ความรักของผู้ที่จากไปชั่วนิจนิรันดร์ ผมตระหนักดีว่า บนฟากฟ้าในสวรรค์ข้างบน ซื่อจิ่งย่อมเห็นภาพที่เบิกบานใจ เนื่องด้วยการพบกันอีกครั้งหนึ่งของเรา และความสำเร็จจากการแสดงดนตรี ซึ่งนำเธอไปสู่ความสุขในสัมปรายภพ
ผมได้รับการต้อนรับอันอบอุ่นจากครอบครัวพนมยงค์และมิตรชาวไทย ขณะเดียวกันผมก็รู้สึกกระดากใจว่า ผมมิได้ทำประโยชน์อะไรมากมาย ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมได้รับในครั้งนี้จะจารึกในดวงใจของผม เป็นกำลังใจให้ผมฟันฝ่าต่อไป อุทิศความสามารถอันน้อยนิดเพื่อมิตรภาพของราษฎรทั้งสองประเทศ เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีงามยิ่งขึ้นของมวลมนุษย์
นึกไม่ถึงเลยว่า จดหมายฉบับนี้จะเขียนเสียยืดยาว เกรงว่าจะเสียเวลาของพวกคุณ ไม่ทราบเป็นเพราะเหตุใด พอหยิบปากกาขึ้นมา ความคิดต่าง ๆ พรั่งพรูมาออกพร้อมกับความสุขและน้ำตา ผมขอให้จดหมายนี้เป็นสื่อแสดงความรู้สึกต่าง ๆ ของผมในการมาเยือนกรุงเทพฯ ทุกคำพูดทุกประโยคล้วนกลั่นกรองมาจากส่วนลึกของหัวใจ สุดที่จะพรรณนาได้ครบถ้วนกระบวนความ จึงขอเขียนเพียงแค่นี้ก่อน ผมหวังว่าวันเวลาที่เพิ่งผ่านไปเป็นอดีตนั้น ไม่เพียงแต่เป็นความทรงจำที่งดงาม หากจะเป็นการเริ่มต้นเพื่อวันข้างหน้าอันสดใสด้วย
ขออวยพรให้คุณป้าที่เคารพมีสุขภาพที่แข็งแรง อายุยืนนาน สมปรารถนา ในทุกสิ่งทุกประการ
ขออวยพรให้พี่ ๆ และน้อง ๆ ที่รัก สุขภาพแข็งแรง การงานรุ่งเรือง ครอบครัวมีความสุข
ขอสวัสดีและขอบคุณมายังมิตรทุกคนที่มีไมตรีจิต
สุดท้ายนี้ ขอให้มิตรภาพของเรายืนยาว จนกว่าจะพบกันอีก
เพื่อนที่ซื่อสัตย์ของพวกคุณ
หลิวยู่ซี้[4]
ป.ล.
1. ผมกับอาจารย์หวังเย่าหลิงเมื่อกลับถึงเมืองจีนแล้วก็เริ่มทำงานด้านการสอนดังเดิม อาจารย์หวังมีความประทับใจในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับผม เธอขอให้ผมแสดงความขอบคุณแทนเธอด้วย ขณะนี้ผมกำลังเร่งบันทึกการบรรเลงเพลงลงบนแผ่น CD. (การบันทึกคอนแชร์โต้เพลง “หญิงผมขาว” เรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีอีก 5 เพลงที่ผมดัดแปลงและประพันธ์ขึ้นนั้นยังไม่แล้วเสร็จ)
2. จดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นอย่างไม่ต่อเนื่องและไม่ได้มีการขัดเกลา ทุกอย่างเป็นจริงตามที่ผมนึกคิด ถ้าพวกคุณเห็นว่าเป็นการสมควรจะให้เพื่อนชาวไทยได้ทราบความรู้สึกนี้ จะช่วยขัดเกลาและลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่กรุงเทพฯ ก็ได้
3. การมาเมืองไทยครั้งนี้เสียดายอยู่อย่างหนึ่งที่ไม่มีโอกาสได้แสดงดนตรีถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระองค์ท่านเป็นมิตรแท้ที่ชาวจีนคุ้นเคย จึงหวังว่าโอกาสหน้าจะได้แสดงถวายหน้าพระพักตร์เพื่อแสดงมิตรภาพและความเคารพนับถือที่ราษฎรจีนมีต่อพระองค์ ผมขอความกรุณานำแถบบันทึกการแสดงดนตรีในครั้งนี้ถวายพระองค์ท่านแทนผมด้วย
[1] คุณป้า หมายถึง ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
[2] ศาสตราจารย์หลิวยู่ซี้ และศาสตราจารย์หวังเย่าหลิง เป็นนักดนตรีชื่อดังของจีน ท่านแรกเป็นนักไวโอลิน ท่านหลังเป็นนักเปียโน ทั้งสองได้รับเชิญจากมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ให้มาเปิดการแสดงที่กรุงเทพฯ ในระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2537
[3] โจวซื่อจิ่ง นักเปียโน ภรรยาของศาสตราจารย์หลิวยู่ เสียชีวิตแล้วเมื่อ พ.ศ. 2532
[4] หลิวยู่ซี้ : นักไวโอลินผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เกิดในตระกูลที่มีอัจฉริยะทางด้านดนตรีของจีน คือ ตระกูลหลิว สำเร็จวิชาการดนตรีจากสถาบันดนตรีชั้นสูงของปักกิ่ง ขณะนี้เป็นผู้สอนอยู่ในสถาบันแห่งนั้น เคยได้รับเชิญให้ไปแสดงเดี่ยวไวโอลินในหลายประเทศรวมทั้งได้รับการอัดแผ่นเสียงไว้ด้วย เคยได้รับเชิญจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้เป็นผู้ตัดสินการแข่งขันประกวดทางด้านไวโอลินนานาชาติที่กรุงปารีส